13 พฤศจิกายน 2019
47 K

นิธิ สถาปิตานนท์ เป็นสถาปนิกระดับตำนานของประเทศไทย

เขาเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่ขับเคลื่อนวงการสถาปัตยกรรมร่วมสมัยของประเทศมาเกือบครึ่งศตวรรษ

เขาเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทสถาปนิก 49 (A49) หนึ่งในบริษัทสถาปนิกที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดของประเทศไทย

เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (แบบร่วมสมัย) ประจำ พ.ศ. 2544

เขาได้รับรางวัลในด้านการออกแบบเยอะมาก

นิธิ สถาปิตานนท์ สถาปนิกและผู้ก่อตั้งบริษัท A49 ผู้เชื่อว่าลูกค้าเป็นผู้ร่วมงาน ไม่ใช่พระเจ้า

ตัวอย่างผลงานออกแบบที่เขาชอบเป็นพิเศษคือ หอประชุมนวมภูมินทร์ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร, วัดสุนันทวนาราม จังหวัดกาญจนบุรี, สถานปฏิบัติธรรมศศิภาวัน จังหวัดนครราชสีมา, บ้านริมใต้-สายธาร จังหวัดเชียงใหม่ และ กระทรวงการต่างประเทศ กรุงเทพมหานคร

นิธิ สถาปิตานนท์ ปฏิเสธการขอนัดสัมภาษณ์หลายครั้ง เขาให้เหตุผลว่า ตอนนี้วางมือจากบริษัท A49 แล้ว ถ้าจะให้พูดถึงงานของบริษัท ควรจะเป็นบทบาทของผู้บริหารชุดปัจจุบันมากกว่า

ในวาระที่บริษัทสถาปนิก 49 มีอายุครบ 35 ปี นิธิ สถาปิตานนท์ ยินดีนั่งสนทนากับ The Cloud ในเรื่องของชีวิต ความคิด และการทำงานที่ผ่านมา

เราชวนสถาปนิกวัย 72 ปี คุยเรื่องต่างๆ แล้วเรียบเรียงออกมาเป็นก้อนความคิดที่ตกผลึกแล้วตามวันและวัย ให้ได้เรียนรู้กัน

นิธิ สถาปิตานนท์ สถาปนิกและผู้ก่อตั้งบริษัท A49 ผู้เชื่อว่าลูกค้าเป็นผู้ร่วมงาน ไม่ใช่พระเจ้า

01

ความฝันของผมคือการสร้างบริษัทสถาปนิกอย่างที่ผมอยากเห็น ผมขลุกอยู่กับความฝันนี้มาห้าสิบปี”

“ผมอยากสร้างบริษัทที่ทุกคนทำงานกับผมด้วยความมุ่งมั่นสร้างงานสถาปัตยกรรมที่ดี และไม่ฝักใฝ่เรื่องรับสินจ้างรางวัล สินบน ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นเรื่องสำคัญในวิชาชีพ เป็นจรรยาบรรณที่สถาปนิกที่ดีต้องตระหนัก นอกจากค่าออกแบบแล้ว เราจะไม่ยุ่งเรื่องการรับผลประโยชน์อื่น เราจะทำงานอย่างใสสะอาดและเป็นมืออาชีพจริงๆ”

02

ผมไม่เอาชื่อตัวเองมาตั้งเป็นชื่อบริษัท แต่ใช้ชื่อกลางๆ เพื่อให้วันที่ผมเกษียณแล้วบริษัทต้องยังอยู่ได้”

“นี่คือปรัชญาที่ผมมองยาวขนาดนั้นเลย คนคือหัวใจในการสร้างองค์กร สิ่งที่ผมทำคือ สร้างคน ทำให้เขารักบริษัท เป็นส่วนหนึ่งของบริษัท สถาปนิกทุกคนต้องอยู่ด้วยกันอย่างมีชีวิตที่มั่นคงทั้งตัวเขาและครอบครัว วันที่ผมเกษียณแล้ว ผมขอไม่ยุ่งเลยทั้งนโยบาย ทั้งการบริหาร ผมก็ไปเขียนรูปเขียนหนังสือโดยไม่ต้องคิดเรื่องบริษัท แต่องค์กรยังขับเคลื่อนต่อไปได้ ทุกคนยังเข้มแข็งเมื่อผมออกไปแล้ว”

03

“งานของคนอื่นอยู่บนกระดาษ แต่งานของเราเป็นอาคาร”

“งานของสถาปนิกมีเกียรติน่าภาคภูมิใจตรงที่งานของเราไม่ได้ทำเพื่อวันนี้และพรุ่งนี้เท่านั้น แต่เป็นสิ่งก่อสร้างที่จะอยู่บนโลกใบนี้ไปอีกเป็นร้อยๆ ปี ถ้างานของเราดีมีคุณภาพก็จะมีคนมาอนุรักษ์ต่อไปอีก แม้ว่าเราจะตายไปแล้ว แต่งานของเราก็ยังอยู่ไปอีกเป็นพันปี”

นิธิ สถาปิตานนท์ สถาปนิกและผู้ก่อตั้งบริษัท A49 ผู้เชื่อว่าลูกค้าเป็นผู้ร่วมงาน ไม่ใช่พระเจ้า

04

เราจะเก่งในกระดาษไม่ได้ ต้องตัดสินกันตอนสร้างเสร็จ”

“คนเราจะเก่งไม่เก่งก็คุยไปเหอะ แต่สุดท้ายมีแค่ผลงานเท่านั้นที่จะบอกได้ว่าบริษัทนี้ใช้ได้ สถาปนิกหลายคนเริ่มเป็นที่รู้จักด้วยผลงานที่สร้างเสร็จแล้วไม่กี่ชิ้น มีแต่ผลงานเท่านั้นที่จะพิสูจน์ฝีมือของคุณได้ว่าเก่งจริงไหม

“ผมไม่เคยพูดว่า A49 เป็นบริษัทสถาปนิกที่ดีที่สุด ดังที่สุด หรือใหญ่ที่สุด เราต้องให้คนอื่นมองเรา ต้องให้คนอื่นพูด ไม่มีใครเก่งอยู่บนยอดได้ตลอด ถ้าอยากรักษาแชมป์ก็ต้องทำงานให้หนัก รักษามาตรฐานไว้ให้ได้”

05

“อย่าเรียกว่าทำงานหนัก เพราะผมไม่รู้ว่าทำงานหนักเป็นยังไง”

“ผมไม่ได้บ้างาน ผมแค่ให้เวลากับงาน ผมไม่เครียดกับการทำงาน เวลาทำงานจะงานใหญ่แค่ไหน ใช้เวลาแค่ไหน ผมก็คุยตลกได้ตลอดเวลา ความเครียดจะทำลายทุกอย่าง ทำลายบรรยากาศการทำงานของคนอื่นด้วย ต้องไม่เครียด สิ่งที่ทำมาตลอดชีวิตผมทำมันด้วยความรัก เลิกงานห้าทุ่มก็โอเค เลิกตีหนึ่งก็โอเค ทำจนเช้าก็โอเค ทำงานด้วยความรักทำให้ไม่รู้สึกว่ามันหนัก เราอยากจบงานให้สวย ทำให้ดีที่สุด ก็ต้องใช้เวลากับมัน”

06

ผมให้เวลากับการคิดเยอะที่สุด”

“ผมให้เวลากับการคิดเต็มที่ เป็นช่วงเวลาที่ผมให้ความสำคัญที่สุดในชีวิต แต่ก็ต้องแบ่งเวลาสำหรับขั้นตอนอื่นๆ ด้วย พอคิดจบแล้วเด็กๆ จะได้มาลุยเขียนแบบต่อได้ มีเวลาให้เขาเอาไปเตรียมเขียนแบบ”

นิธิ สถาปิตานนท์ สถาปนิกและผู้ก่อตั้งบริษัท A49 ผู้เชื่อว่าลูกค้าเป็นผู้ร่วมงาน ไม่ใช่พระเจ้า

07

“การคุยกับเจ้าของบ้าน แค่มองตาก็ต้องอ่านเขาให้ออก”

“เราต้องเข้าใจเจ้าของบ้าน เข้าไปให้ถึงใจคนให้ได้ จะออกแบบบ้านสักหลังต้องมีจิตวิทยา ป้อนคำถามไป คุยกับเขาต้องสังเกตว่าเขาเห็นด้วยกับสิ่งที่เราพูดไหม ต้องพยายามปะติดปะต่อว่าลึกๆ แล้วเขาชอบอะไร อยากได้อะไร ถ้าเราอ่านออกก็จะสร้างบ้านให้ถูกใจเขาได้

“สถาปนิกต้องพูดเก่ง ต้องมีจิตวิทยาสูง ทำให้ลูกค้าคล้อยตามได้ น้ำเสียงก็สำคัญ สิ่งพวกนี้ต้องฝึกนะ ต้องพูดให้สั้นที่สุด พูดให้เข้าเป้า อย่าพูดอะไรฟุ้งเฟ้อมาก ถ้าพูดแล้วลูกค้าเบื่อก็ต้องพูดเรื่องอื่น พูดติดตลกบ้าง พูดเรื่องซีเรียสไม่ให้ซีเรียส อยู่ที่ไหวพริบ

“ท้ายที่สุดแล้วจะสวยแปลกใหม่อลังการแค่ไหน ต้องอยู่ในงบประมาณที่เขามีอยู่ในใจ ถ้าเกินต้องมีเหตุผลที่เขารับได้ เช่นแพงเพราะวัสดุที่ใช้แพงมาก ถ้าไม่ใช้วัสดุนี้ราคาก็จะถูกลง”

08

“ลูกค้าไม่ใช่พระเจ้า”

“ผมพูดเสมอว่า ลูกค้าที่มาหาผมไม่ใช่พระเจ้าที่จะมาสั่งเราได้ทุกเรื่อง ผมจะไม่ยอมให้ลูกค้าข่มผม หรือว่าไม่ให้เกียรติผม ถ้าไม่ให้เกียรติเมื่อไหร่ก็เลิกกันเมื่อนั้น เขามาจ้างผมก็เพราะผมเป็นสถาปนิกที่จะสร้างสิ่งที่ดีให้เขา ถ้าจะให้ทำตามสิ่งที่เขาฝันมาทั้งหมด เช่นอยากได้บ้านโรมันมีโดม ผมก็ไม่ทำ เราต้องมีจุดยืน

“ลูกค้าคือผู้ร่วมงานของผม เราต้องทำงานเป็นทีมเดียวกัน นั่งคุยกัน ทำความเข้าใจกัน ทำงานร่วมกันตลอดเวลา ถึงจะได้อะไรที่สมหวังทั้งคู่”

นิธิ สถาปิตานนท์ สถาปนิกและผู้ก่อตั้งบริษัท A49 ผู้เชื่อว่าลูกค้าเป็นผู้ร่วมงาน ไม่ใช่พระเจ้า

09

ผมออกแบบบ้านผมให้เป็นที่อยู่อาศัยของผม ไม่ได้เอาไว้โชว์ใคร”

“บ้านคือที่อยู่อาศัยที่เหมาะกับคนที่เข้าไปอยู่ แต่ละคนมีความต้องการไม่เหมือนกัน บ้านผมก็เหมาะกับชีวิตของผมและภรรยาคือ เราไม่ชอบรับรองแขก ผมไม่เคยเชิญลูกค้าไปเลี้ยงที่บ้านเลย พอบอกว่าไม่รับแขก บ้านก็ไม่ต้องมีห้องรับแขก ไม่มีห้อง Sit down dinner ขนาดยี่สิบคน เดินเข้าบ้านมาก็เจอครัว Kitchen Pantry เป็นที่นั่งกินข้าวสี่ห้าคน ไม่เจอห้องรับแขก ใครจะยอมรับได้หรือเปล่าไม่รู้ แต่ผมชอบของผมแบบนี้ ผมมีเฉลียงใหญ่ๆ อันหนึ่งร้อยกว่าตารางเมตร เป็นหัวใจของบ้านเลย ผมใช้เฉลียงนั่งอ่านหนังสือ กินข้าวเช้า มองไปเห็นสระว่ายน้ำเล็กๆ เห็นสนาม เป็นหัวใจของบ้าน เป็นพื้นที่ที่ใช้มากที่สุดในบ้าน มีความสุขมาก ถ้ามีเพื่อนหรือพนักงานไปกินข้าวปีใหม่ ก็เลี้ยงที่เฉลียงนั่งกับพื้นกัน

“สถาปนิกบางคนทำบ้านไว้โชว์ ให้ลูกค้ามาดูบ้าน ผมไม่เคยเชิญลูกค้าไปที่บ้านเลยนะ ไม่อยากให้เขาดูบ้านผม เพราะชีวิตความเป็นอยู่ของผมเรียบง่ายมาก ไม่มีอะไรหรูหราเลย”

10

บ้านผมผมออกแบบคนเดียว แล้วเอาแบบไฟนอลให้เมียดู”

“เราไม่เคยออกแบบงานด้วยกัน เนื่องจากเมียผม (ศาสตราจารย์เลอสม สถาปิตานนท์ อดีตคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ) มั่นใจในตัวผม เขาเชื่อว่าผมทำได้ดี ผมก็ออกแบบไปเสร็จแล้วก็ไปบอกว่าคอนเซปต์เป็นแบบนี้ เราจะอยู่กันแบบนี้นะ ต้องทำบ้านให้ใหญ่โต ไม่มีห้องรับแขก เขาก็เห็นด้วย เรารู้นิสัยกัน เขาก็ไม่ชอบรับแขก ก็สบาย ลูกผมก็เป็นสถาปนิก ถ้าต้องปรึกษาทุกคนไม่จบหรอก”

นิธิ สถาปิตานนท์ สถาปนิกและผู้ก่อตั้งบริษัท A49 ผู้เชื่อว่าลูกค้าเป็นผู้ร่วมงาน ไม่ใช่พระเจ้า
นิธิ สถาปิตานนท์ สถาปนิกและผู้ก่อตั้งบริษัท A49 ผู้เชื่อว่าลูกค้าเป็นผู้ร่วมงาน ไม่ใช่พระเจ้า
นิธิ สถาปิตานนท์ สถาปนิกและผู้ก่อตั้งบริษัท A49 ผู้เชื่อว่าลูกค้าเป็นผู้ร่วมงาน ไม่ใช่พระเจ้า

11

ทำหนังสือไม่ได้ร่ำรวย แต่เราต้องทำ”

“ผมได้เรียนรู้จากหนังสือของสถาปนิกจำนวนมาก จากหลายประเทศ ในเอเชียผมซื้อหนังสือของอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลี แต่สถาปนิกไทยไม่มีใครคิดทำหนังสือเลย ทุกคนมุ่งหวังแต่จะหาเงินจากวิชาชีพ ออกแบบอาคารได้เงินแน่ๆ แต่ทำหนังสือติดลบ ต้องลงทุน ผมทำงานมายี่สิบปี คนไทยก็ยังไม่มีใครทำหนังสือ เราเริ่มล้าหลังกว่าประเทศเพื่อนบ้านแล้ว เด็กรุ่นหลังจะศึกษาอะไร คอนเซปต์ที่ครูบาอาจารย์หรือรุ่นพี่คิดก็ไม่มีการถ่ายทอดต่อ ไม่ช่วยพัฒนาวิชาชีพของเราเลย ถ้าผมไม่ทำหนังสือ ประเทศไทยล้าหลังแน่ๆ ถึงเวลาที่ผมต้องลงทุนทำหนังสือแล้ว

“หนังสือของสำนักพิมพ์ Li-Zenn ไม่ได้ทำเพื่อผลงานของบริษัท A49 อย่างเดียวเท่านั้น ผมอยากผลักดันให้สถาปนิกทุกคน ใครอยากเผยแพร่ผมยินดีพิมพ์ให้เลย ทำให้วันนี้มีหนังสือของสถาปนิกไทยเข้าไปอยู่ในตลาดในภูมิภาคนี้สองร้อยปกแล้ว ผลงานของสถาปนิกไทยก็เป็นที่รู้จัก

เปิดมาสิบกว่าปี ห้าปีแรกอาจจะล้มลุกคลุกคลาน เราไปงาน Frankfurt Book Fair มาตั้งห้าปี เผื่อจะมีใครสั่งหนังสือเรา แต่ไม่มีเลย ยุโรปกับอเมริกาไม่ให้เครดิตหนังสือจากเอเชียเลย เขารู้สึกว่ายูลอกผลงานพวกไอทั้งนั้นเลย เราสู้ในตลาดเอเชียได้ เริ่มเป็นที่รู้จักกว้างขวาง ตอนนี้ไม่กำไรนะ แต่อยู่ได้แล้ว มันทำให้รู้ว่าทำหนังสือไม่รวย

12

งานสถาปัตยกรรมในโลกมันเกือบจะเหมือนกันหมดแล้ว”

“อิทธิพลของสื่อสมัยใหม่ โดยเฉพาะสื่อดิจิทัลทำให้งานเกือบจะเป็นภาษาเดียวกันหมด ซึ่งมันน่าเสียดาย แต่ละประเทศ แต่ละพื้นถิ่น มีอัตลักษณ์ของตัวเอง ต้องรักษาไว้ ต้องภาคภูมิใจกับมัน อย่างงานสถาปัตยกรรมของศรีลังกา เขาก็ยังเก็บความเป็นศรีลังกาไว้ได้ มีชื่อเสียงในระดับโลกด้วยตัวตนของเขา ถ้าเราทิ้งไปหมดแล้วดูจากนิตยสารอย่างเดียว ในที่สุดสถาปัตยกรรมทั้งโลกก็จะเหมือนกันหมด คือเป็นกล่องสี่เหลี่ยม บางคนบอกภูมิใจว่าเป็นโมเดิร์น เป็นสากลแล้ว แต่ฝรั่งเขาไม่ตื่นเต้นด้วยนะ เขาบอกไอ้พวกนี้ลอกกูมา กูทำมาก่อนพวกมึง”

ภาพสเกตช์ ภาพลายเส้น แปลน

13

ถ้าไม่มีใครทำแล้วผมทำ มันจะอยู่กับโลกนี้ไปอีกนาน”

“ลายเส้นแบบนี้เมื่อห้าสิบปีร้อยปีที่แล้วมีคนวาดกันเยอะนะ ตอนนี้สถาปนิกหลายคนทำได้นะ แต่ไม่มีใครเสียเวลาทำแล้ว ตั้งแต่ตอนเริ่มอาชีพนี้ผมเขียนตีฟ (Perspective) เองเป็นส่วนใหญ่ ยุคผมเวลาเราเขียนออกแบบอะไรมันมีความสัมพันธ์ระหว่างสมองที่คิดกับมือที่เขียน ออกมาเป็นลายเส้นของแต่ละคน มันก็จะมีคนนี้เขียนสวย คนนั้นเขียนสไตล์นี้ ยุคนี้เส้นมาจากคอมพิวเตอร์หมด เส้นสายเป็นภาษาเดียวกันหมดทั้งโลก

“ผมชอบเขียนลายเส้นมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว ผมทำธิสิสเรื่องสวนสัตว์ ผมอาจจะเป็นคนแรกของประเทศที่ทำธิสิสด้วยเขียนภาพทั้งหมดแบบฟรีแฮนด์ ไม่ว่าจะเป็นภาพสเกตช์ ภาพลายเส้น แปลน เป็นอะไรก็ตาม เป็นฟรีแฮนด์หมด ไม่มีเศษสเกล โมเดลก็ใช้ดินน้ำมันปั้น

“ที่ผมรวมเป็นเล่มได้เพราะผมไม่เคยทิ้งมัน ตอนเรียนกับตอนนี้ฝีมือต่างกันเยอะมาก เขียนแล้วจะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ละเอียดขึ้น เขียนต้นไม้เหมือนขึ้น ผมอยากจะสอนเด็กรุ่นใหม่ว่า คุณทำแล้วต้องทำต่อเนื่องนะ ไม่ต้องกลัวว่าจะเหมือนผม หรือกลัวไม่สวย ต้องฝึกไปเรื่อยๆ เรียนรู้ด้วยตัวเอง แก้ไปเรื่อยๆ คุณก็จะมีลายเซ็นของตัวเอง

ภาพสเกตช์ ภาพลายเส้น แปลน
ภาพสเกตช์ ภาพลายเส้น แปลน

14

ทุกครั้งที่ว่าง ไม่มีอะไรทำ ผมจะกลับมาเขียนรูปทันที”

“ผมวาดรูปเป็นงานอดิเรก รูปนึงใช้เวลาวาดสิบวัน เขียนแล้วไม่เบื่อ บางทีลืมตัวนั่งห้อยเท้าวาดไปแปดชั่วโมง สิบชั่วโมง เท้าบวมเพราะเลือดไม่เดิน ผมไม่อยากให้เวลาผ่านไปเฉยๆ เราก็แก่ตัวมากขึ้น อายุเจ็ดสิบสองแล้ว ไม่รู้ว่าสายตาจะเขียนได้อีกกี่ปี

“ผมเลือกเขียนภาพที่คิดว่าเขียนด้วยลายเส้นแล้วสวย เส้นคือความละเอียด ต้นไม้ผมเขียนสวยแน่ ก้อนหินสวยแน่ เวลาเส้นสโตรกลงไปจะได้อารมณ์ของก้อนหิน เส้นที่เราวาดลงไปเป็นพันๆ หมื่นๆ เส้น มันให้ภาพเขียนโรแมนติกกว่าภาพถ่ายเยอะ อะไรก็ตามที่หลับตาแล้วเห็นว่าเขียนด้วยเส้นแล้วสวย เช่น ต้นไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ หิน กำแพงหิน บ้านที่มีลายไม้ แผ่นไม้ ผมจะเขียนรูปนั้น แต่ถ้าเป็นวิวทั่วไป วาดแล้วออกมาไม่สวย

“กิ่งไม้ต้องวาดทับกันเป็นสิบชั้น วาดแล้วลบไม่ได้ ต้องจินตนาการว่ากิ่งไหนอยู่หน้ากิ่งไหนอยู่หลัง ค่อยๆ แกะไป ถึงใช้เวลาเป็นสิบวัน

“ผมไม่ได้ทำเพื่อเงิน ไม่เคยขายรูปออริจินัลเลย ตอนนี้เขียนมาเจ็ดสิบแปดสิบรูปแล้ว ถ้าคนรุ่นหลังอยากมาศึกษางานที่ผมทำก็ทำได้ ถ้าผมมีโอกาสจะสร้างมิวเซียมโชว์รูปผมอย่างเดียว อาจมีเป็นร้อยรูป หรือไม่ก็มอบรูปทั้งหมดให้พิพิธภัณฑ์ที่ไหนสักแห่งที่ผมตายไปแล้วก็ยังแสดงงานต่อได้ ผมทำหนังสือรวมภาพก็ด้วยเหตุผลนี้ มันจะได้อยู่ตลอดไป เล่มนี้เป็นเล่มที่สอง ปีหน้าจะพิมพ์เล่มที่สาม”

ภาพสเกตช์ ภาพลายเส้น แปลน
ภาพสเกตช์ ภาพลายเส้น แปลน

15

“ต้นไม้อัศจรรย์ มีชีวิต มีความงดงาม ในตัวของมัน

“เวลาไปเจอต้นไม้ที่ฟอร์มสวยๆ ใบอลังการ ผมอดไม่ได้ที่ถ่ายรูปแล้วกลับมาเขียน ผมมีรูปต้นไม้จากหลายประเทศมาก ต้นไม้สวยได้ด้วยสัดส่วนของมัน แล้วก็มีความสมดุลในตัวเอง ซ้ายขวา หน้าหลัง ถ้าไม่สมดุลมันก็อยู่ไม่ได้ ดูแล้วสดชื่นในทุกฤดูกาล

“เวลาออกแบบอาคาร ผมคิดตลอดว่าตรงนี้ต้องมีต้นไม้ใหญ่ ต้นไม้ตรงนี้เป็นแบ็กกราวนด์ ต้นไม้ตรงนี้เป็นโฟร์กราวนด์ งานของผมจะคิดเรื่องต้นไม้ไปด้วย ทำให้แต่ละงานโรแมนติก”

ภาพสเกตช์ ภาพลายเส้น แปลน

16

อาชีพนี้ไม่ทำให้ผมรวย แต่ผมภูมิใจที่ได้ทำ”

“ผมพูดกับเมีย กับลูก กับคนในบริษัท แบบนี้ ผมไม่ได้หวังจะร่ำรวย แค่ทำด้วยความรัก งานฟรีผมก็ทำตลอด ให้ออกแบบวัดก็ทำ ทำอาคารเล็กๆ ก็ทำ ก็อยู่ได้อย่างมั่นคง และผมไม่เคยเบ้ไปทำอย่างอื่นเลย มุ่งมาทางวิชาชีพสถาปนิกอย่างเดียว”

17

ตอนผมเป็นศิลปินแห่งชาติ มีคนคิดว่าต้องออกแบบวัดได้ เลยมาขอให้ผมออกแบบวัด”

“ในชีวิตผมไม่เคยออกแบบวัด ไม่เคยคิดจะทำงานสถาปัตยกรรมไทย แต่พอมีคนมาขอให้ทำมันก็ท้าทาย ในที่สุดก็คิดว่า ในอดีตคนที่ออกแบบวัด ออกแบบเจดีย์ ก็ไม่ได้เรียนสถาปัตย์ แต่เขาทำได้ ทำด้วยความชำนาญ ด้วยจิตวิญญาณของเขา ก็สวยงาม เป็นลายเส้นของเขา แต่ผมรู้จักเรื่องสัดส่วน ความแข็งแรงของอาคาร รู้เรื่องงานวิศวกรรม ผมก็น่าจะทำได้ พอก่อสร้างเสร็จคนก็ชอบ ก็เริ่มมั่นใจขึ้น เลยทำมาเรื่อยๆ

“โรงเรียนวชิราวุธอยากจะทำหอประชุมใหม่เป็นอาคารแบบไทย ซึ่งสถาปนิกทั่วไปไม่กล้าทำ คนในบริษัทผมก็ไม่มีใครกล้าทำ รู้สึกว่าทำงานไทยไม่เป็น แต่ผมบอกว่า มาลองศึกษาลองทำกัน ค่อยๆ คิดรายละเอียด ก็ออกมาสวยงาม

“ผมบอกพระหรือคนที่ว่าจ้างทุกคนว่า อย่าคาดหวังว่าผมจะออกแบบวัดแบบไทยประเพณีให้นะ ผมทำไม่เป็น ถ้าให้ผมทำมันจะเป็นตัวตนผม ผมทำศาลาปฏิบัติธรรมให้ คุณหญิงศศิมา ศรีวิกรม์ เป็นโมเดิร์นไทยเลย ก็ออกมาเป็นเจดียร์คริสตัลแห่งแรกของไทยเลย”

18

คนขับรถ ยาม แม่บ้าน ผมก็พาเขาไปเที่ยวต่างประเทศ”

“สมัยเป็นสถาปนิกผมคุยกับคนในบริษัทได้ทุกระดับ ซีเนียร์ จูเนียร์ ดราฟต์แมน ไปกินข้าวกับเขา นั่งเล่นไพ่กับเขา นั่นคือคาแรกเตอร์ของผม ตอนนี้ผมเป็นเจ้าของบริษัทอารี พร็อพเพอร์ตี้ แมเนจเม้นท์ ดูแลอาคาร พนักงานของผมคือ แม่บ้าน คนขับรถ ยาม ผมก็พาเขาไปเที่ยวต่างประเทศ แยกทริปกับของ A49 นะ ผมพาพวกนี้ไปเที่ยวลาว พม่า กัมพูชา ปีที่แล้วไปไต้หวัน แค่เขาได้นั่งเครื่องบิน ได้กินอะไรแปลกๆ เขาก็ตื่นเต้นแล้ว”

19

ถ้าผมส่งเสียใครให้เขามีอนาคตได้ ผมก็จะทำ”

“พอชีวิตเริ่มลงตัว ไม่ใช่รวยนะ แต่ก็พอมีเงิน ผมมีลูกคนเดียว มีหลานคนเดียว ถ้าผมเห็นว่าเด็กคนไหนมีแวว มีความซื่อสัตย์ผมก็สนับสนุนเขาเต็มที่

“มีเด็กคนหนึ่งชื่อ ดอล บุญมั่น เป็นลูกคนงานก่อสร้าง ตอนผมเปิดบริษัทใหม่ๆ ผมไปพบเขาที่ไซต์ก่อสร้าง อายุเจ็ดแปดขวบ เขาเดินมาถามผมว่า พี่มาทำอะไร ผมก็บอกว่ามาดูที่จะก่อสร้าง เขาก็เดินหายเข้าไปในบ้าน เอาน้ำเย็นใส่ถาดมาให้ผม เราก็ เฮ้ย เด็กคนนี้แปลกมาก เขาบอกว่ามาจากต่างจังหวัด ตอนนี้ปิดเทอมพ่อแม่มาทำงานก็ตามมาด้วย ถ้าเปิดเทอมก็กลับไปอยู่กับปู่ย่า ผมถามว่าไม่อยากอยู่กรุงเทพฯ เหรอ ถ้าอยากอยู่เดี๋ยวผมส่งเรียน มาอยู่บ้านผมได้ ไปคุยกับพ่อแม่เลย

“หายไปเป็นเดือน วันหนึ่งพ่อแม่ก็โทรหาผม เขาคุยกับลูกแล้ว ลูกอยากอยู่กรุงเทพฯ ก็มาอยู่บ้านผม ส่งเรียนได้สักสี่ปี พ่อแม่เขาก็ไปทำงานกับ คุณปิยะ ภิรมย์ภักดี คุณปิยะถามว่า ทำไมเอาลูกไปให้คนอื่นเลี้ยง เอากลับมาเดี๋ยวเขาส่งเสียเอง คุณปิยะก็ขอกลับไปเลี้ยง ตอนนี้ดอลกลายเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทบุญรอดแล้ว ขับรถบีเอ็มคันเบ้อเริ่ม เขามาหาผมทุกปีใหม่เลย จะขอความช่วยเหลืออะไรจากบุญรอด เขาช่วยได้หมดเลย

“อั๊ตเป็นลูกคนขับรถ เป็นเด็กผู้ชาย อยู่กับผมมาตั้งแต่เกิด โตมาในบ้านผม ผมกับเมียผมรักเหมือนลูกคนหนึ่ง ก็ส่งเรียนจนจบ นี่ก็กำลังจะส่งไปเรียนปริญญาโทที่อังกฤษ การส่งเขาเรียนก็เหมือนเราสร้างคนขึ้นมาคนหนึ่งเลยนะ”

นิธิ สถาปิตานนท์ สถาปนิกและผู้ก่อตั้งบริษัท A49 ผู้เชื่อว่าลูกค้าเป็นผู้ร่วมงาน ไม่ใช่พระเจ้า

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan