“โอฮาโย โกะไซมัส!” (อรุณสวัสดิ์ค่ะ!)

“อะริกะโต for coming!” (ขอบคุณที่มานะคะ!)

ประโยคที่ออกจากใจ อย่างไรก็ต้องส่งถึงผู้รับแน่นอน

เราทักทายในฐานะแฟนคลับแดนอาทิตย์อุทัยที่พูดญี่ปุ่นแทบจะไม่ได้

โชคดีที่แขก ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นประธานบริษัทจากเกียวโตทั้ง 3 คน ยิ้มรับอย่างสดใสพร้อมโค้งให้เราอย่างสุภาพ

ครั้งนี้ The Cloud ซ้อมเปิดประเทศด้วยการเปิดบ้านต้อนรับทูตวัฒนธรรมผู้มาส่งต่อความเป็นญี่ปุ่นผ่านผลิตภัณฑ์ดั้งเดิม 3 ชิ้นจาก 3 บริษัท บอกเลยว่าประวัติศาสตร์ยาวนาน งานคราฟต์ไม่ธรรมดา คุณภาพคือที่หนึ่ง และความตั้งใจส่งต่อวัฒนธรรมไปทั่วโลกคือเป้าหมายที่ไม่ไกลเกินเอื้อม

ชา โคมไฟ กระดาษ : งานคราฟต์ดั้งเดิมโดยช่างเกียวโตที่อยากส่งต่อวัฒนธรรมญี่ปุ่นไปทั่วโลก

ทาสุคุ อิโนะอุเอะ คือประธานบริษัทชาเขียว ROKUBEI ที่ก่อตั้งมาจากธุรกิจครอบครัวอายุ 2 ศตวรรษ ทำให้สินค้าของพวกเขามีคุณภาพล้นแก้ว คนดื่มสุขกาย เกษตรกรท้องถิ่นสบายใจ คนญี่ปุ่นชงได้ คนต่างชาติชงไม่เป็นก็มีแบบ Shake ไว้บริการ

ซาโอริ นิชิคาวา เธอคือประธานบริษัทกระดาษ NISHIKAWA PAPER ผู้รับช่วงต่อมาจากคุณปู่ที่เริ่มธุรกิจมาตั้งแต่เมื่อร้อยปีก่อน สมุดทุกเล่มผลิตจากกระดาษคุณภาพดีของประเทศ โดยช่างฝีมือดั้งเดิมที่คงความละเอียดละออไว้ตั้งแต่ปก เนื้อกระดาษ ยันสันที่บรรจงเย็บด้วยมือ

ซาชิโกะ ทันโนะ ทายาทรุ่นสองของบริษัทโคมไฟ YAHIRO DENKI ผู้นำแสงสว่างสู่บ้านของชาวญี่ปุ่นมานานกว่า 50 ปี พวกเขายกระดับแสงไฟให้มาพร้อมความงาม โดยซึมซับวัฒนธรรมญี่ปุ่นเอาไว้อย่างเต็มเปี่ยมผ่านวัสดุ การออกแบบ และงานฝีมือ เพื่อให้โคมไฟทุกชิ้นเป็นงานคราฟต์ที่มีเพียงชิ้นเดียวบนโลก

 แค่ฟังน้ำจิ้มตอนที่พวกเขาแนะนำตัวก็ใจสั่น สั่นเพราะความอยากได้ปนความอยากรู้ 

ทั้ง 3 บริษัทมาจากเกียวโต เมืองวัฒนธรรมที่เก่าแก่และคละคลุ้งด้วยกลิ่นอายของประวัติศาสตร์ แต่กว่าธุรกิจดั้งเดิมเหล่านี้จะก่อร่างสร้างตัวมาเป็นบริษัทในปัจจุบัน เรื่องราวของพวกเขาเป็นอย่างไรบ้าง

เราขอทานวุ้นแปลภาษาเพื่อพากายทิพย์ของทุกท่านไปเยือนญี่ปุ่นให้หายคิดถึงกันเลย อิตะดะคิมัส~

YAHIRO DENKI

สำนักโคมไฟ

ยกระดับแสงสว่างในเรือนให้มาเยือนพร้อมความงาม

ครอบครัวของ ซาชิโกะ ทันโนะ เริ่มต้นธุรกิจส่งต่อแสงสว่าง YAHIRO DENKI ที่เมืองฮิงะชิโอซะกะมายาวนานกว่า 54 ปี นับตั้งแต่ปี 1968 โดยเธอรับช่วงต่อมาจาก โคจิ ทันโนะ ผู้เป็นพ่อ

ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเพื่อยกระดับโคมไฟงานคราฟต์ให้เป็นสินค้าส่งออกทั่วโลก โดยทันโนะหันมาให้ความสำคัญเรื่องการออกแบบและความสวยงามมากขึ้น นอกเหนือจากประโยชน์ใช้สอยและความปลอดภัยที่คุณพ่อของเธอสร้างมาตรฐานเอาไว้อยู่แล้ว

ทาสุคุ อิโนะอุเอะ คือประธานบริษัทชาเขียว ROKUBE, ซาโอริ นิชิคาวา เธอคือประธานบริษัทกระดาษ NISHIKAWA PAPER, ซาชิโกะ ทันโนะ ทายาทรุ่นสองของบริษัทโคมไฟ YAHIRO DENKI
ชา โคมไฟ กระดาษ : งานคราฟต์ดั้งเดิมโดยช่างเกียวโตที่อยากส่งต่อวัฒนธรรมญี่ปุ่นไปทั่วโลก

“ยุคหนึ่งมีงานเข้ามาน้อยลง ฉันจึงอาสาเป็นคนไปหาลูกค้า โดยเริ่มตระหนักถึงเรื่องการออกแบบ

“รุ่นแรกเริ่มต้นจากการทำโคมไฟธรรมดา เช่น ติดตั้งไฟในโรงงาน แต่รุ่นของฉันใช้โคมไฟในการประดับตกแต่ง เรายังมีช่างฝีมือทั้งงานไม้ งานผ้า งานแก้ว งานไฟ งานเชื่อม ซึ่งเป็นช่างดั้งเดิม ถามว่าดั้งเดิมขนาดไหน บางคนอยู่มาก่อนฉันเกิด พวกเขาเลี้ยงฉันมาตั้งแต่เด็กเลย (หัวเราะ) จนตอนนี้ฉันบริหารบริษัทได้แล้ว”

โคมไฟของทางร้านเป็นงานสั่งผลิต มีนักออกแบบทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติร่วมกันสร้างสรรค์พลังไฟและงานศิลป์ให้เหมาะสมแก่สถานที่ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม โรงอาบน้ำ ร้านอาหาร ภัตตาคาร ห้องสมุด คลับบาร์ พื้นที่ส่วนตัว หรือพื้นที่สาธารณะ ซึ่งสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอีกอย่างคือมีลูกค้าต่างชาติเยอะกว่าเดิม

ทันโนะเชื่อว่า ของดีต้องมีที่ให้แสดงออกและเผยแพร่ให้คนรับรู้ ไม่ใช่แค่ความสามารถอันโดดเด่น แต่ยังรวมถึงวัสดุที่เป็นของดีของประเทศ และความพิถีพิถันที่ถือเป็นเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นด้วย

“เราอยากสื่อสารเรื่องวัสดุและศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นโคมไฟคิริโกะ โคมไฟโจจิ โคมไฟคุมิโกะ ทำจากกระดาษ แก้ว ไม้ ไม้ไผ่ หรือผ้า ผลงานทั้งหมดถูกส่งไปตั้งแต่ฮอกไกโดถึงโอกินาว่าด้วยฝีมือของสมาชิกเพียง 24 คนในบริษัทที่มีตั้งแต่หนุ่มสาวจนถึงวัยชรา

“วัถุดิบของญี่ปุ่นดีทั้งนั้นเลย แต่คนในประเทศไม่ได้เห็นความสำคัญมากนัก คนที่สนใจกลับเป็นชาวต่างชาติ เพราะฉะนั้นเลยอยากสื่อสารให้รับรู้” ทันโนะเล่า

ชา โคมไฟ กระดาษ : งานคราฟต์ดั้งเดิมโดยช่างเกียวโตที่อยากส่งต่อวัฒนธรรมญี่ปุ่นไปทั่วโลก
ชา โคมไฟ กระดาษ : งานคราฟต์ดั้งเดิมโดยช่างเกียวโตที่อยากส่งต่อวัฒนธรรมญี่ปุ่นไปทั่วโลก
ภาพ : YAHIRO DENKI

เธอเสริมว่า เอกลักษณ์ของคนญี่ปุ่นคือความใส่ใจ เพราะฉะนั้นเธอจึงใส่ใจทุกขั้นตอน ทุกอย่างถูกทำให้เป็นจริงโดยช่างฝีมือตัวจริง ซึ่งทำให้โคมไฟมีคุณภาพระดับโลก 

“ระยะเวลา 50 ปีที่พวกเขาทำงานมาทำให้ฉันไม่ต้องกังวลเรื่องรูปร่างหรือการเชื่อมเหล็กแม้แต่น้อย มันเนี้ยบและปลอดภัยตามมาตรฐาน Product Safety of Electrical Appliances and Materials (PSE)”

ทันโนะบอกเคล็ดลับอีกอย่างว่า เธอไม่เคยมองคนในบริษัทเป็นพนักงาน เพราะพวกเขาคือหุ้นส่วนทางธุรกิจคนสำคัญที่ช่วยสร้างทีมเวิร์กให้เกิดขึ้น โดยคติของเธอคือ ทุกคนจะต้องมีความสุขทั้งในระดับร่างกายและจิตวิญญาณ ตั้งแต่ผลิตงานจนถึงส่งมอบงาน ซึ่งต้องถึงอย่างปลอดภัย สะอาด ตรงเวลา เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่าที่ใช้บริการ ส่วนคนทำก็ภาคภูมิใจ

ชา โคมไฟ กระดาษ : งานคราฟต์ดั้งเดิมโดยช่างเกียวโตที่อยากส่งต่อวัฒนธรรมญี่ปุ่นไปทั่วโลก
ภาพ : YAHIRO DENKI

“นำเสนอความเป็นญี่ปุ่นลงไปในผลงาน คือเรื่องความละเอียดอ่อน พิถีพิถัน และคุณภาพ เช็กทุกขั้นตอน แต่สุดท้ายคนที่เช็กและ QC ได้ดีที่สุดคือลูกค้า”

เมื่อพูดถึงเรื่องวัสดุ ทันโนะยกตัวอย่างสินค้าซีรีส์ใหม่ที่บริษัทภูมิใจนำเสนอในชื่อว่า GOLDBLU Lamp ซึ่งมี ‘แผ่นทอง’ ที่พบได้ในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญ

“แผ่นทองนี้เบาและบาง ซึ่งบางเป็นพิเศษกว่าที่อื่น พบแค่ที่เมืองคานาซาวะ จังหวัดอิชิคาวา เมื่อนำไปส่องไฟจะไม่ได้แสงสีทอง แต่ได้เป็นแสงสีเงิน”

ชา โคมไฟ กระดาษ : งานคราฟต์ดั้งเดิมโดยช่างเกียวโตที่อยากส่งต่อวัฒนธรรมญี่ปุ่นไปทั่วโลก

เราลองสัมผัสโคมไฟนั้นดู ภายนอกเป็นแก้ว แต่ภายในคือวัสดุล้ำค่า ทันโนะบอกว่า คนทำแผ่นทองต้องเป็นช่างฝีมือที่เชี่ยวชาญเท่านั้น นอกจากนี้ เหตุผลที่เลือกวัสดุใหม่มานำเสนอก็เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ประเทศและการเผยแพร่วัฒนธรรม เธออยากให้ช่างทุกคนรู้ว่า ผลงานของพวกเขาได้บินลัดฟ้ามาโชว์ที่ต่างประเทศแล้ว และฝีมือของพวกเขาจะถูกโจษจัน ไม่ใช่ถูกลืมไปตามยุคสมัย

“โคมไฟทุกอันมีเพียงชิ้นเดียวบนโลก เพราะเป็นสินค้าที่ทำด้วยมือทั้งหมด เราอยากให้บ้านของทุกคนมีบรรยากาศที่ดี ไม่ว่าจะเป็นสไตล์ญี่ปุ่นหรือไม่ มันคือการทำให้ศิลปะและงานแขนงนี้ยังคงอยู่”

ทันโนะทิ้งท้ายว่า หากใครอยากลองเปิดประสบการณ์เวิร์กชอปทำโคมไฟคุมิโกะ ก็สามารถไปเยือนโชว์รูมของเธอได้ในเดือนตุลาคมปีหน้า ทุกคนยินดีต้อนรับ!

ชา โคมไฟ กระดาษ : งานคราฟต์ดั้งเดิมโดยช่างเกียวโตที่อยากส่งต่อวัฒนธรรมญี่ปุ่นไปทั่วโลก
ภาพ : YAHIRO DENKI
ชา โคมไฟ กระดาษ : งานคราฟต์ดั้งเดิมโดยช่างเกียวโตที่อยากส่งต่อวัฒนธรรมญี่ปุ่นไปทั่วโลก

YAHIRO DENKI

Website : http://yahirodenki.com/ 

Facebook : https://www.facebook.com/yahirodenki.co.jp 

NISHIKAWA PAPER

สำนักกระดาษ 

สมุดทำมือดั้งเดิมโดยช่างฝีมือหัตถาเทพ

กระดาษสีขาวและช่างมือทอง คือสิ่งที่ทุกท่านจะได้พบเมื่อมาเยือนบริษัท NISHIKAWA PAPER ธุรกิจเก่าแก่ของครอบครัวนิชิคาวาที่คัดสรรกระดาษคุณภาพเยี่ยมของประเทศ มาเปลี่ยนเป็นสมุดทำมือแบบดั้งเดิมที่มีเอกลักษณ์คือ ‘ทำเองทุกขั้นตอน’ และคุณก็ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของเหล่าปรมาจารย์ได้

“ตั้งแต่รุ่นคุณปู่ก็ทำงานเกี่ยวกับกระดาษมาประมาณร้อยกว่าปี ช่วงปลายของยุคไทโชเริ่มมีการผลิตกระดาษ ต่อมาช่วงปี 1960 เราใช้ชื่อ NISHIKAWA PAPER ส่วนบริษัทก่อตั้งมา 48 ปี นับตั้งแต่ปี 1975” ซาโอริ นิชิคาวา ทายาทของบริษัทเริ่มเล่า

ทาสุคุ อิโนะอุเอะ คือประธานบริษัทชาเขียว ROKUBE, ซาโอริ นิชิคาวา เธอคือประธานบริษัทกระดาษ NISHIKAWA PAPER, ซาชิโกะ ทันโนะ ทายาทรุ่นสองของบริษัทโคมไฟ YAHIRO DENKI
ชา โคมไฟ กระดาษ : งานคราฟต์ดั้งเดิมโดยช่างเกียวโตที่อยากส่งต่อวัฒนธรรมญี่ปุ่นไปทั่วโลก

เยื่อไม้ผ่านนานากรรมวิธีออกมาเป็นแผ่นสีขาวบาง หากปล่อยไว้ก็คงเป็นเพียงกระดาษวาดภาพหรือของตกแต่งธรรมดา แต่ครอบครัวนิชิคาวามองเห็นคุณค่าที่มากกว่านั้น พวกเขาจึงแต่งองค์ทรงเครื่องให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์สมุดจด สมุดสะสมตราประทับ บานพับ ไปจนถึงกล่องอเนกประสงค์ และสินค้าสั่งผลิตอื่น ๆ มีการเพิ่มสีสันและลวดลายให้ดึงดูดคนรุ่นใหม่ แต่ยังคงไว้ซึ่งความพิถีพิถันทุกรายละเอียด ตั้งแต่การทากาว จนถึงการเข้าเล่มด้วยเส้นด้าย

ธุรกิจกระดาษก้าวผ่านกาลเวลาที่รุ่งเรืองจนถึงวันที่เริ่มร่วงโรย แต่ใบไม้ก็ยังไม่เคยหมดต้น นิชิคาวาและแขกในออฟฟิศของเราเห็นพ้องต้องกันว่า ชาวญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับการใช้สมุดจด ทำให้สินค้ายังเป็นที่ต้องการ เพียงแต่รูปแบบอาจเปลี่ยนไปตามออเดอร์ 

ส่วนสมุดสไตล์ดั้งเดิมบนโต๊ะเป็นสิ่งที่เรารู้สึกแปลกตา

เจ้าของบริษัทกางสมุดออกมาราวกับกางบานพับ หน้าปกสีสันสดใสถูกแปะลงบนกระดาษแข็งอีกทีเพื่อความคงทน เนื้อกระดาษสีขาวภายในทั้งหนาและลื่น รองรับได้ตั้งแต่ดินสอจนถึงน้ำหมึกของพู่กัน

เธอชี้ให้เราดูช่องว่างระหว่างหน้ากระดาษที่ใช้นิ้วสอดเข้าไปได้ ด้านในเนื้อกระดาษหยาบแต่นุ่ม ดูไม่เหมาะกับการเขียนด้วยพู่กัน เพราะน้ำหมึกคงแผ่กระจายจนอ่านไม่ออก 

สมุดดั้งเดิมของญี่ปุ่นเป็นการใช้กระดาษ 1 แผ่น ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็น 2 เท่าของหน้าปก พับครึ่ง ให้เหลือขนาดเท่าสมุด โดยนำพื้นผิวที่เรียบและลื่นไว้ด้านนอก ส่วนผิวที่ไม่ได้ใช้เอาไว้ด้านใน จากนั้นจึงนำมาต่อกันด้วยกาวเป็นรูปแบบบานพับ เท่านี้ก็จะได้กระดาษที่หนาตามสไตล์ดั้งเดิม แถมยังไม่เห็นรอยกาวแม้แต่น้อย

คุยงานคราฟต์กับ 3 สำนักดั้งเดิมแห่งเมืองเกียวโต ที่อยากส่งต่อความพิถีพิถันและวัฒนธรรมญี่ปุ่นผ่านชา โคมไฟ และกระดาษ
คุยงานคราฟต์กับ 3 สำนักดั้งเดิมแห่งเมืองเกียวโต ที่อยากส่งต่อความพิถีพิถันและวัฒนธรรมญี่ปุ่นผ่านชา โคมไฟ และกระดาษ

“เดี๋ยวนี้ยังมีคนมาสั่งผลิตอยู่ เพราะใช้เป็นสมุดสะสมตราประทับเวลาไปศาลเจ้า ปั๊มตราลงไปไม่ทะลุ เขียนด้วยพู่กันก็ไม่ซึม ทนทานและสวยงาม เป็นของที่ขาดไม่ได้ เพราะเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมของเรา

“สมุดเหล่านี้คือความมั่นใจและความภูมิใจ จริง ๆ กระดาษมีหลากหลายแบบมากกว่าที่ใครคิด เรานำสิ่งเหล่านั้นมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ด้วยสองมือของช่างเก่าแก่ แนวคิดของเราคือการส่งความสุขและคุณภาพของกระดาษญี่ปุ่นผ่านผลงานอย่างจริงใจ” เธออธิบาย

ธุรกิจแปรรูปกระดาษนิชิคาวาขึ้นชื่อเรื่องความพิถีพิถัน ตั้งแต่ต้นทางจนถึงกระบวนการสุดท้าย

“กระดาษผลิตจากต้นไม้หลายพันธุ์ ทั้งต้นโคโสะ ต้นมิสึมาตะ และต้นกัมปิ ซึ่งอย่างหลังเป็นไม้ราคาแพงที่ตอบโจทย์คนเขียนพู่กัน ในอดีตเวลาเขียนวรรณคดีหรือบทกลอนจะเขียนตัวเล็กมาก ถ้ากระดาษไม่ดี รอยพู่กันที่เขียนจะแตก ดังนั้น กระดาษที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่มองข้ามไม่ได้

“เราใส่ใจเรื่องนี้มาก ทุกครั้งก่อนจะนำกระดาษตัวใหม่ออกขาย ต้องใช้พู่กันไปลองเขียนก่อนเพื่อเช็กว่าลายเส้นแตกไหม ถ้าแตกก็ไม่ขาย” ประธานบริษัทย้ำกับเรา

คุยงานคราฟต์กับ 3 สำนักดั้งเดิมแห่งเมืองเกียวโต ที่อยากส่งต่อความพิถีพิถันและวัฒนธรรมญี่ปุ่นผ่านชา โคมไฟ และกระดาษ
คุยงานคราฟต์กับ 3 สำนักดั้งเดิมแห่งเมืองเกียวโต ที่อยากส่งต่อความพิถีพิถันและวัฒนธรรมญี่ปุ่นผ่านชา โคมไฟ และกระดาษ
คุยงานคราฟต์กับ 3 สำนักดั้งเดิมแห่งเมืองเกียวโต ที่อยากส่งต่อความพิถีพิถันและวัฒนธรรมญี่ปุ่นผ่านชา โคมไฟ และกระดาษ
ภาพ : NISHIKAWA PAPER

การยกระดับสินค้าเก่าแก่ไม่ใช่เพียงการพัฒนาคุณภาพ แต่การบริการเองก็ต้องไม่หยุดอยู่กับที่ 

ในปี 2023 เมื่อญี่ปุ่นเปิดประเทศ บริษัทของเธอจะเปิดกิจกรรมเวิร์กชอปอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวและแบ่งปันวัฒนธรรมที่ตกทอดมากว่า 1 ศตวรรษ

“เรามีช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญในบริษัทประมาณ 20 คน ซึี่งฝีมือสุดยอด ผลิตได้สูงสุด 1,500 เล่ม ทำด้วยมือนะคะ มีแค่บางขั้นตอนที่ใช้เครื่องทุ่นแรง เช่น ตอนกดกระดาษ เพราะถ้าจับด้วยมือบ่อย ๆ อาจทำให้เสียหาย หากท่านไหนสนใจสามารถติดต่อมาที่บริษัท มาเยี่ยมโรงงานได้

“ช่างฝีมือของเราพร้อมสอนให้ทุกท่านออกแบบและลองทำสมุดของตัวเอง ท่านจะได้รู้จักประวัติของเรา เห็นการผลิตจริง แต่ที่เยี่ยมที่สุดคือการได้ลงมือทำเอง แล้วสมุดเล่มนั้นก็จะมีเพียงเล่มเดียวบนโลกและเป็นของคุณ” 

นิชิคาวาทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงที่บ่งบอกถึงความรักที่มอบให้กับสิ่งที่ทำ

การปูทางครั้งใหม่นี้เกิดขึ้นเพื่อให้ทั่วโลกรู้ว่า ‘นี่คือกระดาษที่ดีที่ควรค่าแก่การถูกใช้งาน’

พูดแล้วก็อยากได้มาครอบครองตามคำเรียกร้องสักเล่ม

ชา โคมไฟ กระดาษ : งานคราฟต์ดั้งเดิมโดยช่างเกียวโตที่อยากส่งต่อวัฒนธรรมญี่ปุ่นไปทั่วโลก
ภาพ : NISHIKAWA PAPER

NISHIKAWA PAPER

Website : http://nishikawashigyo.com/ 

Instagram : https://www.youtube.com/channel/UCBIFaD3OJ5amyxJvkvg-0SQ

ROKUBEI TEA

สำนักชาเขียว 

จงรักษาคุณภาพเสมือน ‘การดื่มชามีได้แค่ครั้งเดียว’

เมืองอุจิ ไม่ได้มีเพียงวัดเบียวโดอินให้ท่องเที่ยว แต่ยังเป็นบ้านเกิดของ ‘ชาอุจิ’ อันลือลั่น 

ใต้ท้องฟ้าสีครามสดใส คือไร่สีเขียวที่เติบโตพร้อมประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ไม่ว่าจะบ้านไหนก็ขาดการชงชาไปไม่ได้ 

ครอบครัวของ ทาสุคุ อิโนะอุเอะ จึงไม่เคยหยุดพัฒนาเครื่องดื่มชนิดนี้ตราบจนถึงปัจจุบัน

ส่วนตัวเราคิดว่า หากปล่อยให้ของดีกลายเป็นเพียงผลิตภัณฑ์ธรรมดาที่โลกไม่รู้จักก็คงน่าเสียดาย

ทาสุคุ อิโนะอุเอะ คือประธานบริษัทชาเขียว ROKUBE, ซาโอริ นิชิคาวา เธอคือประธานบริษัทกระดาษ NISHIKAWA PAPER, ซาชิโกะ ทันโนะ ทายาทรุ่นสองของบริษัทโคมไฟ YAHIRO DENKI
คุยงานคราฟต์กับ 3 สำนักดั้งเดิมแห่งเมืองเกียวโต ที่อยากส่งต่อความพิถีพิถันและวัฒนธรรมญี่ปุ่นผ่านชา โคมไฟ และกระดาษ

ROKUBEI ไม่ได้เน้นชาเพียงชนิดเดียว หากแต่รวบรวมสุดยอดชามาจากทั่วประเทศ เพื่อจำหน่ายและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นมัทฉะ เซนฉะ เกียวคุโระ โฮจิฉะ เก็นไมฉะ มัทฉะคาปูชิโน มัทฉะลาเต้ โฮจิฉะคาปูชิโน หรือโฮจิฉะลาเต้ ภายใต้การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคแบบดั้งเดิม แบบ Shake (เขย่าดื่ม) แบบถุงชง และแบบซอง

นอกจากนี้ยังมีการต่อยอดสินค้า จำหน่ายเป็นขนมหวานที่ผลิตจากชาคุณภาพ ทั้งคุกกี้และช็อกโกแลต รวมถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่แก้ว ถ้วย ชาม กาน้ำ เครื่องปั้นดินเผาคิโยมิซุยากิ (Kiyomizuyaki) โทโคยาเมะยากิ (Tokonameyaki) และฮาซามิยากิ (Hasamiyaki) ซึ่งทุกอย่างถือเป็นสิ่งสำคัญในการยกระดับประสบการณ์การดื่มชาให้กับทุกคน

“เรามีร้านอยู่ใกล้วัด Daitokuji ในเกียวโต เป็นธุรกิจของครอบครัว ขายผลิตภัณฑ์คุณภาพ ปลอดสารพิษ แม้ตัวบริษัทเพิ่งเปิดมาเพียง 6 ปี แต่ครอบครัวของผมทำมาตั้งแต่ปี 1818 เลยมั่นใจว่าประสบการณ์มากกว่า 200 ปี ย่อมทำให้คุณภาพยอดเยี่ยมแน่นอน

“ปัจจุบัน ภารกิจของเราคือการส่งชาญี่ปุ่นไปทั่วโลก” ทาสุคุ อิโนะอุเอะ เล่าอย่างภูมิใจ

บริษัทของเขามีหลักการประจำใจคือ ‘Ichigo Ichie’ (一期一会) เป็นสุภาษิตโบราณ หมายความว่า ‘พบกันครั้งเดียว’ เพราะฉะนั้น ต้องทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ซึ่งนำไปปรับใช้กับการต้อนรับแขกและการทำงานอื่น ๆ ได้ ยกตัวอย่าง พิธีชงชา ที่ไม่ว่าจะเป็นผู้ชงหรือผู้ดื่มก็ต้องมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้แก่กัน โดยอิโนะอุเอะถือว่า หลักการนี้เป็นวัฒนธรรมและจุดเด่นของบริษัทไม่ต่างจากสินค้า

คุยงานคราฟต์กับ 3 สำนักดั้งเดิมแห่งเมืองเกียวโต ที่อยากส่งต่อความพิถีพิถันและวัฒนธรรมญี่ปุ่นผ่านชา โคมไฟ และกระดาษ
ภาพ : ROKUBEI TEA

“ชาญี่ปุ่นมีประวัติศาสตร์ยาวนาน เดิมทีมาจากจีนเมื่อเกือบ 2,000 ปีก่อน ยุคแรกเริ่มถือเป็นเครื่องดื่มที่ไม่ใช่ใครก็กินได้ ต้องอยู่ในวงศ์ชั้นสูง แต่พอเวลาผ่านไปก็เริ่มแพร่หลาย 

“มันมีรสอูมามิในตัว มีสารแอลธีอะนีน (L-Theanine) ที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายตามธรรมชาติ และมีสารแคทีชิน (Catechin) ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ผมดื่มแล้วรู้สึกแข็งแรง” เขารีวิวประโยชน์ พร้อมแจกสินค้าสีเขียวและน้ำตาลสดใสให้ถึงมือ

วงการนักดื่มเติบโตไม่หยุดจนชากลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่มีปลายทางไปไกลถึงอเมริกา นอกจากแต่ละสายพันธุ์จะให้รสชาติอันเป็นเอกลักษ์ ดินแต่ละพื้นที่ยังมอบรสชาติที่แตกต่างเช่นเดียวกับไวน์ที่ได้จากองุ่นคนละแปลง

ROKUBEI คัดเลือกชาออร์แกนิก ปลอดสารพิษชั้นดีจากเกษตรกรท้องถิ่นทั่วประเทศโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง พวกเขาเดินทางไปถึงไร่ เพื่อคัดเลือกและตรวจสอบคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานของ Japan Organic and Natural Foods Association (JONA) USDA Organic และ European Union organic

“เรามองว่าเกษตรกรเป็นเพื่อนร่วมงานคนสำคัญ การไปเยือนถึงไร่ทำให้พวกเขาได้รับรายได้โดยตรง ถือเป็นการสร้างอาชีพ สร้างความภูมิใจ และสร้างกำลังใจให้ผู้ผลิต

“หลังจากได้วัตถุดิบมา เป็นหน้าที่ของพวกเราที่จะออกแบบและหาวิธีส่งต่อไปทั่วโลก เพราะเราคิดว่าเราไม่ได้แค่ส่งชา แต่เราส่งออกวัฒนธรรมอันงดงาม 

“ผมมีจัด Tea Tour เพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมการผลิตให้เป็นที่ท่องเที่ยว จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ในหลายด้าน เช่น ชงชาอย่างไรให้อร่อย นอกจากนี้ยังนำเสนอเรื่องศิลปะและลายเส้นโบราณเอาไว้บนถุง”

เราเห็นกบโวยวาย กระต่ายถือกิ่งไม้ไล่หวดลิงจ๋อที่พกหมวกเหมือนชาวไร่ 

เรื่องราวของเหล่าสรรพสัตว์ที่เลียนแบบท่าทางมนุษย์ เรียกว่า Chōjū-jinbutsu-giga เป็นภาพวาดบนม้วนกระดาษเก่าแก่ของญี่ปุ่น คาดว่าวาดขึ้นช่วงกลางศตวรรษที่ 12 เดิมเป็นของวัดโคซังจิ ในเกียวโต ส่วนในปัจจุบันถือเป็นสมบัติชาติ ถูกเก็บรักษาเอาไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติเกียวโตและโตเกียว

อิโนะอุเอะ เลือกภาพโบราณเหล่านี้มาใช้บนบรรจุภัณฑ์ เพื่อสื่อถึงประวัติศาสตร์และศิลปะที่ควรค่าแก่การเผยแพร่ เช่นเดียวกับธุรกิจครอบครัวที่ทายาทรุ่นใหม่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลกว่าเก่า

ปัจจุบัน ชาไม่ใช่แค่เครื่องดื่มเพิ่มความอบอุ่นหรือเอาไว้ต้อนรับแขก แต่เป็นทั้งพืชเศรษฐกิจ เอกลักษณ์ของชาติ และของกำนัลที่ส่งต่อวัฒนธรรมอันงดงามของพวกเขา

คุยงานคราฟต์กับ 3 สำนักดั้งเดิมแห่งเมืองเกียวโต ที่อยากส่งต่อความพิถีพิถันและวัฒนธรรมญี่ปุ่นผ่านชา โคมไฟ และกระดาษ

ROKUBEI TEA

Website : https://rokubei-tea.com/en

Youtube : https://www.youtube.com/channel/UCBIFaD3OJ5amyxJvkvg-0SQ 

ก่อนจบการสนทนาอย่างเป็นทางการ แขกผู้มีเกียรติทั้งสามได้ส่งมอบของที่ระลึกให้เราเพื่อเป็นการเชื้อเชิญไปเที่ยวประเทศของพวกเขา โดยทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคือ อยากให้คนไทยได้สัมผัสและรู้จักความเป็นญี่ปุ่นที่ลึกซึ้งกว่าเก่า ไม่ว่าจะผ่านการเวิร์กชอปสมุดทำมือ ทำโคมไฟคุมิโกะ หรือลองเข้าพิธีชงชา ทั้งหมดคือการส่งต่อวัฒนธรรมอันมีค่าที่เขารักและไม่อยากให้หายไป

“โดโมะ อาริกาโตโกไซมัส” (ขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง)

“มาตะ ไอมะโช” (แล้วพบกันใหม่)

เราบอกลาเจ้าของภาษาที่โค้งให้อย่างพร้อมเพรียง แล้วพบกันที่ประเทศญี่ปุ่น!

ทาสุคุ อิโนะอุเอะ คือประธานบริษัทชาเขียว ROKUBE, ซาโอริ นิชิคาวา เธอคือประธานบริษัทกระดาษ NISHIKAWA PAPER, ซาชิโกะ ทันโนะ ทายาทรุ่นสองของบริษัทโคมไฟ YAHIRO DENKI

Writer

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ