“โอฮาโย โกะไซมัส!” (อรุณสวัสดิ์ค่ะ!)
“อะริกะโต for coming!” (ขอบคุณที่มานะคะ!)
ประโยคที่ออกจากใจ อย่างไรก็ต้องส่งถึงผู้รับแน่นอน
เราทักทายในฐานะแฟนคลับแดนอาทิตย์อุทัยที่พูดญี่ปุ่นแทบจะไม่ได้
โชคดีที่แขก ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นประธานบริษัทจากเกียวโตทั้ง 3 คน ยิ้มรับอย่างสดใสพร้อมโค้งให้เราอย่างสุภาพ
ครั้งนี้ The Cloud ซ้อมเปิดประเทศด้วยการเปิดบ้านต้อนรับทูตวัฒนธรรมผู้มาส่งต่อความเป็นญี่ปุ่นผ่านผลิตภัณฑ์ดั้งเดิม 3 ชิ้นจาก 3 บริษัท บอกเลยว่าประวัติศาสตร์ยาวนาน งานคราฟต์ไม่ธรรมดา คุณภาพคือที่หนึ่ง และความตั้งใจส่งต่อวัฒนธรรมไปทั่วโลกคือเป้าหมายที่ไม่ไกลเกินเอื้อม

ทาสุคุ อิโนะอุเอะ คือประธานบริษัทชาเขียว ROKUBEI ที่ก่อตั้งมาจากธุรกิจครอบครัวอายุ 2 ศตวรรษ ทำให้สินค้าของพวกเขามีคุณภาพล้นแก้ว คนดื่มสุขกาย เกษตรกรท้องถิ่นสบายใจ คนญี่ปุ่นชงได้ คนต่างชาติชงไม่เป็นก็มีแบบ Shake ไว้บริการ
ซาโอริ นิชิคาวา เธอคือประธานบริษัทกระดาษ NISHIKAWA PAPER ผู้รับช่วงต่อมาจากคุณปู่ที่เริ่มธุรกิจมาตั้งแต่เมื่อร้อยปีก่อน สมุดทุกเล่มผลิตจากกระดาษคุณภาพดีของประเทศ โดยช่างฝีมือดั้งเดิมที่คงความละเอียดละออไว้ตั้งแต่ปก เนื้อกระดาษ ยันสันที่บรรจงเย็บด้วยมือ
ซาชิโกะ ทันโนะ ทายาทรุ่นสองของบริษัทโคมไฟ YAHIRO DENKI ผู้นำแสงสว่างสู่บ้านของชาวญี่ปุ่นมานานกว่า 50 ปี พวกเขายกระดับแสงไฟให้มาพร้อมความงาม โดยซึมซับวัฒนธรรมญี่ปุ่นเอาไว้อย่างเต็มเปี่ยมผ่านวัสดุ การออกแบบ และงานฝีมือ เพื่อให้โคมไฟทุกชิ้นเป็นงานคราฟต์ที่มีเพียงชิ้นเดียวบนโลก
แค่ฟังน้ำจิ้มตอนที่พวกเขาแนะนำตัวก็ใจสั่น สั่นเพราะความอยากได้ปนความอยากรู้
ทั้ง 3 บริษัทมาจากเกียวโต เมืองวัฒนธรรมที่เก่าแก่และคละคลุ้งด้วยกลิ่นอายของประวัติศาสตร์ แต่กว่าธุรกิจดั้งเดิมเหล่านี้จะก่อร่างสร้างตัวมาเป็นบริษัทในปัจจุบัน เรื่องราวของพวกเขาเป็นอย่างไรบ้าง
เราขอทานวุ้นแปลภาษาเพื่อพากายทิพย์ของทุกท่านไปเยือนญี่ปุ่นให้หายคิดถึงกันเลย อิตะดะคิมัส~
YAHIRO DENKI
สำนักโคมไฟ
ยกระดับแสงสว่างในเรือนให้มาเยือนพร้อมความงาม
ครอบครัวของ ซาชิโกะ ทันโนะ เริ่มต้นธุรกิจส่งต่อแสงสว่าง YAHIRO DENKI ที่เมืองฮิงะชิโอซะกะมายาวนานกว่า 54 ปี นับตั้งแต่ปี 1968 โดยเธอรับช่วงต่อมาจาก โคจิ ทันโนะ ผู้เป็นพ่อ
ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเพื่อยกระดับโคมไฟงานคราฟต์ให้เป็นสินค้าส่งออกทั่วโลก โดยทันโนะหันมาให้ความสำคัญเรื่องการออกแบบและความสวยงามมากขึ้น นอกเหนือจากประโยชน์ใช้สอยและความปลอดภัยที่คุณพ่อของเธอสร้างมาตรฐานเอาไว้อยู่แล้ว


“ยุคหนึ่งมีงานเข้ามาน้อยลง ฉันจึงอาสาเป็นคนไปหาลูกค้า โดยเริ่มตระหนักถึงเรื่องการออกแบบ
“รุ่นแรกเริ่มต้นจากการทำโคมไฟธรรมดา เช่น ติดตั้งไฟในโรงงาน แต่รุ่นของฉันใช้โคมไฟในการประดับตกแต่ง เรายังมีช่างฝีมือทั้งงานไม้ งานผ้า งานแก้ว งานไฟ งานเชื่อม ซึ่งเป็นช่างดั้งเดิม ถามว่าดั้งเดิมขนาดไหน บางคนอยู่มาก่อนฉันเกิด พวกเขาเลี้ยงฉันมาตั้งแต่เด็กเลย (หัวเราะ) จนตอนนี้ฉันบริหารบริษัทได้แล้ว”
โคมไฟของทางร้านเป็นงานสั่งผลิต มีนักออกแบบทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติร่วมกันสร้างสรรค์พลังไฟและงานศิลป์ให้เหมาะสมแก่สถานที่ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม โรงอาบน้ำ ร้านอาหาร ภัตตาคาร ห้องสมุด คลับบาร์ พื้นที่ส่วนตัว หรือพื้นที่สาธารณะ ซึ่งสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอีกอย่างคือมีลูกค้าต่างชาติเยอะกว่าเดิม
ทันโนะเชื่อว่า ของดีต้องมีที่ให้แสดงออกและเผยแพร่ให้คนรับรู้ ไม่ใช่แค่ความสามารถอันโดดเด่น แต่ยังรวมถึงวัสดุที่เป็นของดีของประเทศ และความพิถีพิถันที่ถือเป็นเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นด้วย
“เราอยากสื่อสารเรื่องวัสดุและศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นโคมไฟคิริโกะ โคมไฟโจจิ โคมไฟคุมิโกะ ทำจากกระดาษ แก้ว ไม้ ไม้ไผ่ หรือผ้า ผลงานทั้งหมดถูกส่งไปตั้งแต่ฮอกไกโดถึงโอกินาว่าด้วยฝีมือของสมาชิกเพียง 24 คนในบริษัทที่มีตั้งแต่หนุ่มสาวจนถึงวัยชรา
“วัถุดิบของญี่ปุ่นดีทั้งนั้นเลย แต่คนในประเทศไม่ได้เห็นความสำคัญมากนัก คนที่สนใจกลับเป็นชาวต่างชาติ เพราะฉะนั้นเลยอยากสื่อสารให้รับรู้” ทันโนะเล่า


เธอเสริมว่า เอกลักษณ์ของคนญี่ปุ่นคือความใส่ใจ เพราะฉะนั้นเธอจึงใส่ใจทุกขั้นตอน ทุกอย่างถูกทำให้เป็นจริงโดยช่างฝีมือตัวจริง ซึ่งทำให้โคมไฟมีคุณภาพระดับโลก
“ระยะเวลา 50 ปีที่พวกเขาทำงานมาทำให้ฉันไม่ต้องกังวลเรื่องรูปร่างหรือการเชื่อมเหล็กแม้แต่น้อย มันเนี้ยบและปลอดภัยตามมาตรฐาน Product Safety of Electrical Appliances and Materials (PSE)”
ทันโนะบอกเคล็ดลับอีกอย่างว่า เธอไม่เคยมองคนในบริษัทเป็นพนักงาน เพราะพวกเขาคือหุ้นส่วนทางธุรกิจคนสำคัญที่ช่วยสร้างทีมเวิร์กให้เกิดขึ้น โดยคติของเธอคือ ทุกคนจะต้องมีความสุขทั้งในระดับร่างกายและจิตวิญญาณ ตั้งแต่ผลิตงานจนถึงส่งมอบงาน ซึ่งต้องถึงอย่างปลอดภัย สะอาด ตรงเวลา เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่าที่ใช้บริการ ส่วนคนทำก็ภาคภูมิใจ

“นำเสนอความเป็นญี่ปุ่นลงไปในผลงาน คือเรื่องความละเอียดอ่อน พิถีพิถัน และคุณภาพ เช็กทุกขั้นตอน แต่สุดท้ายคนที่เช็กและ QC ได้ดีที่สุดคือลูกค้า”
เมื่อพูดถึงเรื่องวัสดุ ทันโนะยกตัวอย่างสินค้าซีรีส์ใหม่ที่บริษัทภูมิใจนำเสนอในชื่อว่า GOLDBLU Lamp ซึ่งมี ‘แผ่นทอง’ ที่พบได้ในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญ
“แผ่นทองนี้เบาและบาง ซึ่งบางเป็นพิเศษกว่าที่อื่น พบแค่ที่เมืองคานาซาวะ จังหวัดอิชิคาวา เมื่อนำไปส่องไฟจะไม่ได้แสงสีทอง แต่ได้เป็นแสงสีเงิน”

เราลองสัมผัสโคมไฟนั้นดู ภายนอกเป็นแก้ว แต่ภายในคือวัสดุล้ำค่า ทันโนะบอกว่า คนทำแผ่นทองต้องเป็นช่างฝีมือที่เชี่ยวชาญเท่านั้น นอกจากนี้ เหตุผลที่เลือกวัสดุใหม่มานำเสนอก็เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ประเทศและการเผยแพร่วัฒนธรรม เธออยากให้ช่างทุกคนรู้ว่า ผลงานของพวกเขาได้บินลัดฟ้ามาโชว์ที่ต่างประเทศแล้ว และฝีมือของพวกเขาจะถูกโจษจัน ไม่ใช่ถูกลืมไปตามยุคสมัย
“โคมไฟทุกอันมีเพียงชิ้นเดียวบนโลก เพราะเป็นสินค้าที่ทำด้วยมือทั้งหมด เราอยากให้บ้านของทุกคนมีบรรยากาศที่ดี ไม่ว่าจะเป็นสไตล์ญี่ปุ่นหรือไม่ มันคือการทำให้ศิลปะและงานแขนงนี้ยังคงอยู่”
ทันโนะทิ้งท้ายว่า หากใครอยากลองเปิดประสบการณ์เวิร์กชอปทำโคมไฟคุมิโกะ ก็สามารถไปเยือนโชว์รูมของเธอได้ในเดือนตุลาคมปีหน้า ทุกคนยินดีต้อนรับ!


YAHIRO DENKI
Website : http://yahirodenki.com/
Facebook : https://www.facebook.com/yahirodenki.co.jp
NISHIKAWA PAPER
สำนักกระดาษ
สมุดทำมือดั้งเดิมโดยช่างฝีมือหัตถาเทพ
กระดาษสีขาวและช่างมือทอง คือสิ่งที่ทุกท่านจะได้พบเมื่อมาเยือนบริษัท NISHIKAWA PAPER ธุรกิจเก่าแก่ของครอบครัวนิชิคาวาที่คัดสรรกระดาษคุณภาพเยี่ยมของประเทศ มาเปลี่ยนเป็นสมุดทำมือแบบดั้งเดิมที่มีเอกลักษณ์คือ ‘ทำเองทุกขั้นตอน’ และคุณก็ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของเหล่าปรมาจารย์ได้
“ตั้งแต่รุ่นคุณปู่ก็ทำงานเกี่ยวกับกระดาษมาประมาณร้อยกว่าปี ช่วงปลายของยุคไทโชเริ่มมีการผลิตกระดาษ ต่อมาช่วงปี 1960 เราใช้ชื่อ NISHIKAWA PAPER ส่วนบริษัทก่อตั้งมา 48 ปี นับตั้งแต่ปี 1975” ซาโอริ นิชิคาวา ทายาทของบริษัทเริ่มเล่า


เยื่อไม้ผ่านนานากรรมวิธีออกมาเป็นแผ่นสีขาวบาง หากปล่อยไว้ก็คงเป็นเพียงกระดาษวาดภาพหรือของตกแต่งธรรมดา แต่ครอบครัวนิชิคาวามองเห็นคุณค่าที่มากกว่านั้น พวกเขาจึงแต่งองค์ทรงเครื่องให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์สมุดจด สมุดสะสมตราประทับ บานพับ ไปจนถึงกล่องอเนกประสงค์ และสินค้าสั่งผลิตอื่น ๆ มีการเพิ่มสีสันและลวดลายให้ดึงดูดคนรุ่นใหม่ แต่ยังคงไว้ซึ่งความพิถีพิถันทุกรายละเอียด ตั้งแต่การทากาว จนถึงการเข้าเล่มด้วยเส้นด้าย
ธุรกิจกระดาษก้าวผ่านกาลเวลาที่รุ่งเรืองจนถึงวันที่เริ่มร่วงโรย แต่ใบไม้ก็ยังไม่เคยหมดต้น นิชิคาวาและแขกในออฟฟิศของเราเห็นพ้องต้องกันว่า ชาวญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับการใช้สมุดจด ทำให้สินค้ายังเป็นที่ต้องการ เพียงแต่รูปแบบอาจเปลี่ยนไปตามออเดอร์
ส่วนสมุดสไตล์ดั้งเดิมบนโต๊ะเป็นสิ่งที่เรารู้สึกแปลกตา
เจ้าของบริษัทกางสมุดออกมาราวกับกางบานพับ หน้าปกสีสันสดใสถูกแปะลงบนกระดาษแข็งอีกทีเพื่อความคงทน เนื้อกระดาษสีขาวภายในทั้งหนาและลื่น รองรับได้ตั้งแต่ดินสอจนถึงน้ำหมึกของพู่กัน
เธอชี้ให้เราดูช่องว่างระหว่างหน้ากระดาษที่ใช้นิ้วสอดเข้าไปได้ ด้านในเนื้อกระดาษหยาบแต่นุ่ม ดูไม่เหมาะกับการเขียนด้วยพู่กัน เพราะน้ำหมึกคงแผ่กระจายจนอ่านไม่ออก
สมุดดั้งเดิมของญี่ปุ่นเป็นการใช้กระดาษ 1 แผ่น ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็น 2 เท่าของหน้าปก พับครึ่ง ให้เหลือขนาดเท่าสมุด โดยนำพื้นผิวที่เรียบและลื่นไว้ด้านนอก ส่วนผิวที่ไม่ได้ใช้เอาไว้ด้านใน จากนั้นจึงนำมาต่อกันด้วยกาวเป็นรูปแบบบานพับ เท่านี้ก็จะได้กระดาษที่หนาตามสไตล์ดั้งเดิม แถมยังไม่เห็นรอยกาวแม้แต่น้อย


“เดี๋ยวนี้ยังมีคนมาสั่งผลิตอยู่ เพราะใช้เป็นสมุดสะสมตราประทับเวลาไปศาลเจ้า ปั๊มตราลงไปไม่ทะลุ เขียนด้วยพู่กันก็ไม่ซึม ทนทานและสวยงาม เป็นของที่ขาดไม่ได้ เพราะเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมของเรา
“สมุดเหล่านี้คือความมั่นใจและความภูมิใจ จริง ๆ กระดาษมีหลากหลายแบบมากกว่าที่ใครคิด เรานำสิ่งเหล่านั้นมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ด้วยสองมือของช่างเก่าแก่ แนวคิดของเราคือการส่งความสุขและคุณภาพของกระดาษญี่ปุ่นผ่านผลงานอย่างจริงใจ” เธออธิบาย
ธุรกิจแปรรูปกระดาษนิชิคาวาขึ้นชื่อเรื่องความพิถีพิถัน ตั้งแต่ต้นทางจนถึงกระบวนการสุดท้าย
“กระดาษผลิตจากต้นไม้หลายพันธุ์ ทั้งต้นโคโสะ ต้นมิสึมาตะ และต้นกัมปิ ซึ่งอย่างหลังเป็นไม้ราคาแพงที่ตอบโจทย์คนเขียนพู่กัน ในอดีตเวลาเขียนวรรณคดีหรือบทกลอนจะเขียนตัวเล็กมาก ถ้ากระดาษไม่ดี รอยพู่กันที่เขียนจะแตก ดังนั้น กระดาษที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่มองข้ามไม่ได้
“เราใส่ใจเรื่องนี้มาก ทุกครั้งก่อนจะนำกระดาษตัวใหม่ออกขาย ต้องใช้พู่กันไปลองเขียนก่อนเพื่อเช็กว่าลายเส้นแตกไหม ถ้าแตกก็ไม่ขาย” ประธานบริษัทย้ำกับเรา



การยกระดับสินค้าเก่าแก่ไม่ใช่เพียงการพัฒนาคุณภาพ แต่การบริการเองก็ต้องไม่หยุดอยู่กับที่
ในปี 2023 เมื่อญี่ปุ่นเปิดประเทศ บริษัทของเธอจะเปิดกิจกรรมเวิร์กชอปอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวและแบ่งปันวัฒนธรรมที่ตกทอดมากว่า 1 ศตวรรษ
“เรามีช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญในบริษัทประมาณ 20 คน ซึี่งฝีมือสุดยอด ผลิตได้สูงสุด 1,500 เล่ม ทำด้วยมือนะคะ มีแค่บางขั้นตอนที่ใช้เครื่องทุ่นแรง เช่น ตอนกดกระดาษ เพราะถ้าจับด้วยมือบ่อย ๆ อาจทำให้เสียหาย หากท่านไหนสนใจสามารถติดต่อมาที่บริษัท มาเยี่ยมโรงงานได้
“ช่างฝีมือของเราพร้อมสอนให้ทุกท่านออกแบบและลองทำสมุดของตัวเอง ท่านจะได้รู้จักประวัติของเรา เห็นการผลิตจริง แต่ที่เยี่ยมที่สุดคือการได้ลงมือทำเอง แล้วสมุดเล่มนั้นก็จะมีเพียงเล่มเดียวบนโลกและเป็นของคุณ”
นิชิคาวาทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงที่บ่งบอกถึงความรักที่มอบให้กับสิ่งที่ทำ
การปูทางครั้งใหม่นี้เกิดขึ้นเพื่อให้ทั่วโลกรู้ว่า ‘นี่คือกระดาษที่ดีที่ควรค่าแก่การถูกใช้งาน’
พูดแล้วก็อยากได้มาครอบครองตามคำเรียกร้องสักเล่ม

NISHIKAWA PAPER
Website : http://nishikawashigyo.com/
Instagram : https://www.youtube.com/channel/UCBIFaD3OJ5amyxJvkvg-0SQ
ROKUBEI TEA
สำนักชาเขียว
จงรักษาคุณภาพเสมือน ‘การดื่มชามีได้แค่ครั้งเดียว’
เมืองอุจิ ไม่ได้มีเพียงวัดเบียวโดอินให้ท่องเที่ยว แต่ยังเป็นบ้านเกิดของ ‘ชาอุจิ’ อันลือลั่น
ใต้ท้องฟ้าสีครามสดใส คือไร่สีเขียวที่เติบโตพร้อมประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ไม่ว่าจะบ้านไหนก็ขาดการชงชาไปไม่ได้
ครอบครัวของ ทาสุคุ อิโนะอุเอะ จึงไม่เคยหยุดพัฒนาเครื่องดื่มชนิดนี้ตราบจนถึงปัจจุบัน
ส่วนตัวเราคิดว่า หากปล่อยให้ของดีกลายเป็นเพียงผลิตภัณฑ์ธรรมดาที่โลกไม่รู้จักก็คงน่าเสียดาย


ROKUBEI ไม่ได้เน้นชาเพียงชนิดเดียว หากแต่รวบรวมสุดยอดชามาจากทั่วประเทศ เพื่อจำหน่ายและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นมัทฉะ เซนฉะ เกียวคุโระ โฮจิฉะ เก็นไมฉะ มัทฉะคาปูชิโน มัทฉะลาเต้ โฮจิฉะคาปูชิโน หรือโฮจิฉะลาเต้ ภายใต้การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคแบบดั้งเดิม แบบ Shake (เขย่าดื่ม) แบบถุงชง และแบบซอง
นอกจากนี้ยังมีการต่อยอดสินค้า จำหน่ายเป็นขนมหวานที่ผลิตจากชาคุณภาพ ทั้งคุกกี้และช็อกโกแลต รวมถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่แก้ว ถ้วย ชาม กาน้ำ เครื่องปั้นดินเผาคิโยมิซุยากิ (Kiyomizuyaki) โทโคยาเมะยากิ (Tokonameyaki) และฮาซามิยากิ (Hasamiyaki) ซึ่งทุกอย่างถือเป็นสิ่งสำคัญในการยกระดับประสบการณ์การดื่มชาให้กับทุกคน
“เรามีร้านอยู่ใกล้วัด Daitokuji ในเกียวโต เป็นธุรกิจของครอบครัว ขายผลิตภัณฑ์คุณภาพ ปลอดสารพิษ แม้ตัวบริษัทเพิ่งเปิดมาเพียง 6 ปี แต่ครอบครัวของผมทำมาตั้งแต่ปี 1818 เลยมั่นใจว่าประสบการณ์มากกว่า 200 ปี ย่อมทำให้คุณภาพยอดเยี่ยมแน่นอน
“ปัจจุบัน ภารกิจของเราคือการส่งชาญี่ปุ่นไปทั่วโลก” ทาสุคุ อิโนะอุเอะ เล่าอย่างภูมิใจ
บริษัทของเขามีหลักการประจำใจคือ ‘Ichigo Ichie’ (一期一会) เป็นสุภาษิตโบราณ หมายความว่า ‘พบกันครั้งเดียว’ เพราะฉะนั้น ต้องทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ซึ่งนำไปปรับใช้กับการต้อนรับแขกและการทำงานอื่น ๆ ได้ ยกตัวอย่าง พิธีชงชา ที่ไม่ว่าจะเป็นผู้ชงหรือผู้ดื่มก็ต้องมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้แก่กัน โดยอิโนะอุเอะถือว่า หลักการนี้เป็นวัฒนธรรมและจุดเด่นของบริษัทไม่ต่างจากสินค้า


“ชาญี่ปุ่นมีประวัติศาสตร์ยาวนาน เดิมทีมาจากจีนเมื่อเกือบ 2,000 ปีก่อน ยุคแรกเริ่มถือเป็นเครื่องดื่มที่ไม่ใช่ใครก็กินได้ ต้องอยู่ในวงศ์ชั้นสูง แต่พอเวลาผ่านไปก็เริ่มแพร่หลาย
“มันมีรสอูมามิในตัว มีสารแอลธีอะนีน (L-Theanine) ที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายตามธรรมชาติ และมีสารแคทีชิน (Catechin) ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ผมดื่มแล้วรู้สึกแข็งแรง” เขารีวิวประโยชน์ พร้อมแจกสินค้าสีเขียวและน้ำตาลสดใสให้ถึงมือ
วงการนักดื่มเติบโตไม่หยุดจนชากลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่มีปลายทางไปไกลถึงอเมริกา นอกจากแต่ละสายพันธุ์จะให้รสชาติอันเป็นเอกลักษ์ ดินแต่ละพื้นที่ยังมอบรสชาติที่แตกต่างเช่นเดียวกับไวน์ที่ได้จากองุ่นคนละแปลง
ROKUBEI คัดเลือกชาออร์แกนิก ปลอดสารพิษชั้นดีจากเกษตรกรท้องถิ่นทั่วประเทศโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง พวกเขาเดินทางไปถึงไร่ เพื่อคัดเลือกและตรวจสอบคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานของ Japan Organic and Natural Foods Association (JONA) USDA Organic และ European Union organic
“เรามองว่าเกษตรกรเป็นเพื่อนร่วมงานคนสำคัญ การไปเยือนถึงไร่ทำให้พวกเขาได้รับรายได้โดยตรง ถือเป็นการสร้างอาชีพ สร้างความภูมิใจ และสร้างกำลังใจให้ผู้ผลิต
“หลังจากได้วัตถุดิบมา เป็นหน้าที่ของพวกเราที่จะออกแบบและหาวิธีส่งต่อไปทั่วโลก เพราะเราคิดว่าเราไม่ได้แค่ส่งชา แต่เราส่งออกวัฒนธรรมอันงดงาม
“ผมมีจัด Tea Tour เพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมการผลิตให้เป็นที่ท่องเที่ยว จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ในหลายด้าน เช่น ชงชาอย่างไรให้อร่อย นอกจากนี้ยังนำเสนอเรื่องศิลปะและลายเส้นโบราณเอาไว้บนถุง”
เราเห็นกบโวยวาย กระต่ายถือกิ่งไม้ไล่หวดลิงจ๋อที่พกหมวกเหมือนชาวไร่
เรื่องราวของเหล่าสรรพสัตว์ที่เลียนแบบท่าทางมนุษย์ เรียกว่า Chōjū-jinbutsu-giga เป็นภาพวาดบนม้วนกระดาษเก่าแก่ของญี่ปุ่น คาดว่าวาดขึ้นช่วงกลางศตวรรษที่ 12 เดิมเป็นของวัดโคซังจิ ในเกียวโต ส่วนในปัจจุบันถือเป็นสมบัติชาติ ถูกเก็บรักษาเอาไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติเกียวโตและโตเกียว
อิโนะอุเอะ เลือกภาพโบราณเหล่านี้มาใช้บนบรรจุภัณฑ์ เพื่อสื่อถึงประวัติศาสตร์และศิลปะที่ควรค่าแก่การเผยแพร่ เช่นเดียวกับธุรกิจครอบครัวที่ทายาทรุ่นใหม่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลกว่าเก่า
ปัจจุบัน ชาไม่ใช่แค่เครื่องดื่มเพิ่มความอบอุ่นหรือเอาไว้ต้อนรับแขก แต่เป็นทั้งพืชเศรษฐกิจ เอกลักษณ์ของชาติ และของกำนัลที่ส่งต่อวัฒนธรรมอันงดงามของพวกเขา


ROKUBEI TEA
Website : https://rokubei-tea.com/en
Youtube : https://www.youtube.com/channel/UCBIFaD3OJ5amyxJvkvg-0SQ
ก่อนจบการสนทนาอย่างเป็นทางการ แขกผู้มีเกียรติทั้งสามได้ส่งมอบของที่ระลึกให้เราเพื่อเป็นการเชื้อเชิญไปเที่ยวประเทศของพวกเขา โดยทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคือ อยากให้คนไทยได้สัมผัสและรู้จักความเป็นญี่ปุ่นที่ลึกซึ้งกว่าเก่า ไม่ว่าจะผ่านการเวิร์กชอปสมุดทำมือ ทำโคมไฟคุมิโกะ หรือลองเข้าพิธีชงชา ทั้งหมดคือการส่งต่อวัฒนธรรมอันมีค่าที่เขารักและไม่อยากให้หายไป
“โดโมะ อาริกาโตโกไซมัส” (ขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง)
“มาตะ ไอมะโช” (แล้วพบกันใหม่)
เราบอกลาเจ้าของภาษาที่โค้งให้อย่างพร้อมเพรียง แล้วพบกันที่ประเทศญี่ปุ่น!
