เมื่อเอ่ยถึงนินจา คนส่วนใหญ่มักนึกถึงชายในชุดดำที่แฝงตัวอยู่เหนือคานคอยแอบฟังบทสนทนาของชาวบ้าน เมื่อถูกจับได้ก็จะปาดาวกระจาย ‘ชูริเค็น’ ใส่แล้วปล่อยระเบิดควันเพื่อพรางตัวหลบหนีไปในช่วงชุลมุน ภาพจำเหล่านี้แทบทั้งหมดถูกสร้างขึ้นโดยนิยาย ละคร ภาพยนตร์ รวมไปถึงการ์ตูนทั้งของญี่ปุ่นและต่างประเทศ

เกริ่นนำมาแบบนี้ หลายคนคงสงสัยว่า ตกลงแล้วนินจาจริงๆ ไม่ได้เป็นเช่นนั้นใช่ไหม

คำตอบถือ แม้ภารกิจแฝงตัวเพื่อหาความลับเป็นหน้าที่จริงแท้แน่นอนของนินจา แต่ส่วนที่ใส่สีใส่ไข่ลงไปก็มีมาก ซึ่งก็ไม่แปลกเลยที่จินตนาการดูจะก้าวล้ำไปไกล เพราแม้แต่นักวิชาการเองก็ยังไม่ค่อยรู้อะไรมากเกี่ยวกับนินจา สมกับที่ชื่อนินจามีความหมายว่า “คนที่แอบกระทำการใดๆ โดยไม่ให้ผู้อื่นรู้”

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความลึกลับน่าค้นหากลับเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของนินจา อีกทั้ง ‘นินจุตสึ’ หรือศาสตร์แห่งการเป็นนินจาก็เป็นเทคนิคการปฏิบัติงานที่ดูคูลเอามากๆ คงจะดีไม่น้อยถ้าเราสามารถเรียนรู้วิชาของนินจาในโลกปัจจุบัน แถมได้ปริญญามาครองแบบเก๋ๆ สักใบ

และวันนี้ฝันก็เป็นจริงแล้วสำหรับผู้อยากได้ปริญญาสาขา ‘นินจาศึกษา’ มาครอบครอง 

แต่ก่อนตัดสินใจทุบกระปุกไปสมัครเรียน เรามาทำความรู้จักนินจากันสักหน่อยดีไหม

ชิโนบิ,นินจุตสึศึกษา
ชิโนบิ,นินจุตสึศึกษา
ภาพ : vintageninja.net 

นินจาคืออะไร

ในทางประวัติศาสตร์ เดิมทีนินจามีชื่อเรียกว่า ‘ชิโนบิ’ (เสียงอ่านอีกแบบของตัวอักษร ‘นิน’ ในนินจา) มีบทบาทหน้าที่สำคัญตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 14 จนถึงช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 หน้าที่สำคัญที่สุดของชิโนบิคือการรวบรวมข้อมูล

ในสมัยสงครามกลางเมืองหรือช่วงศตวรรษที่ 15 – 16 การปกครองภายในประเทศของญี่ปุ่นเป็นแบบกระจายอำนาจ จึงเกิดมีแคว้นที่ปกครองตัวเองขึ้นทั่วประเทศ ไดเมียวหรือเจ้าผู้ครองแคว้นต่างมีชิโนบิในสังกัดเพื่อสร้างความได้เปรียบในการป้องกันตน 

หน้าที่ของชิโนบิมีมากมาย เช่น แฝงตัวเข้าไปหาข่าวดินแดนของข้าศึก ลอบวางเพลิง ทำลายเป้าหมาย จู่โจมในยามวิกาล ซุ่มโจมตี น่าสังเกตว่าทั้งหมดนี้แทบไม่เกี่ยวกับกับการสู้รบ เพราะถ้าเป็นไปได้ชิโนบิต้องหลีกเลี่ยงการต่อสู้ให้ได้มากที่สุด เนื่องจากพวกเขาต้องพยายามมีชีวิตรอดกลับไปรายงานข้อมูลของศัตรูให้เจ้านายทราบ ถ้าจับพลัดจับผลูตายไปเสียก่อน สิ่งที่อุตส่าห์ลงแรงไว้ก็คงสูญเปล่า 

ด้วยเหตุนี้วิชาการต่อสู้แบบนินจาที่เรียกว่า ‘นินจุตสึ’ จึงอัดแน่นไปด้วยภูมิปัญญา เล่ห์กลสนตะพาย เรียกว่าทำยังไงก็ได้ให้ไม่ตายนั่นแหละคือชิโนบิที่ดี  

แต่งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา เมื่อหมดยุคสงครามกลางเมืองเข้าสู่ยุคเอโดะหรือราวศตวรรษที่ 16 บทบาทของนินจาก็เริ่มลดลง นินจาส่วนหนึ่งได้กลายเป็นนักรบชั้นล่างทำหน้าที่อารักขาไดเมียว และดูแลความสงบเรียบร้อยในเมืองรอบปราสาท ส่วนนินจาอีกไม่น้อยก็หันไปเป็นเกษตรกรที่ยังมีฐานะเป็นนักรบแทน

ชิโนบิ,นินจุตสึศึกษา
ภาพ : vintageninja.net 
ชิโนบิ,นินจุตสึศึกษา
ภาพ : vintageninja.net 

อิงะริวและโคกะริว : สุดยอดสไตล์นินจา

เมื่อเอ่ยถึงนินจา สถานที่ที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้คือเมืองอิงะและเมืองโคกะ อิงะเป็นเมืองในจังหวัดมิเอะ ส่วนโคกะเป็นเมืองในจังหวัดชิงะ ทั้งสองเมืองต่างได้ชื่อว่าเป็นถิ่นกำเนิดของนินจา มีสไตล์นินจาเป็นของตัวเองที่ชื่อว่า ‘อิงะริว’ และ ‘โคกะริว’

อันที่จริงเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นตำรับของศาสตร์แห่งนินจามีอยู่หลายแห่ง แต่อิงะและโคกะมีชื่อปรากฏอยู่ในหนังสือภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ชื่อ ‘โอมิโยจิชิเรียกุ’ (ค.ศ.1734) ว่าเป็นเมืองแห่งสุดยอดฝีมือของนินจา ทั้งสองเมืองนี้ตั้งอยู่ติดกันโดยมีเนินเขาคั่นกลาง มีภูมิประเทศที่คล้ายคลึงกันคือถูกโอบล้อมด้วยเนินเขาสลับซับซ้อนชวนให้ผู้หลุดเข้าไปรู้สึกราวกับอยู่ในเขาวงกต เหมาะแก่การหลบซ่อนตัวและหลีกลี้จากโลกภายนอก 

ในยุคสงครามกลางเมืองที่เหล่าไดเมียวต่อสู้ฟาดฟันกันเพื่อขยายอาณาบริเวณ ดินแดนแห่งนี้กลับเป็นอิสระจากอำนาจของไดเมียว นักรบแห่งอิงะและโคกะต่างร่วมมือกันปกครองตนเอง แม้ว่าท้ายที่สุดแล้วพวกเขาจะไม่อาจต้านทานกำลังของแม่ทัพใหญ่เช่น โอดะ โนบุนางะ หรือ โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ แต่ศิลปะการต่อสู้อันน่าทึ่งของพวกเขาก็ได้รับการยอมรับและยังเป็นตำนานเล่าขานกันสืบต่อมาจนทุกวันนี้

จุดเริ่มต้นของหลักสูตร ‘นินจาและนินจุตสึศึกษา’

เมื่อนินจาได้ฝากฝีมือจนกลายมาเป็นหน้าตาของเมืองเสียขนาดนี้ แน่นอนว่าทั้งอิงะและโคกะต่างก็ย่อมใช้นินจามาเป็นสัญลักษณ์และจุดขายของเมือง หากเราได้ไปเที่ยวทั้งสองเมืองนี้ สิ่งที่พลาดไม่ได้คือการไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์นินจา ดูนินจาโชว์ แต่งตัวแบบนินจา ปฏิบัติภารกิจแบบนินจา ซื้อของที่ระลึกเกี่ยวกับนินจา ฯลฯ แต่เมืองอิงะดูจะล้ำหน้าไปมากกว่า เพราะได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมิเอะสร้างหลักสูตร ‘นินจาและนินจุตสึศึกษา’ ให้เรียนเสียเลย  

ที่มาที่ไปของหลักสูตรนี้มีอยู่ว่า ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.2012 มหาวิทยาลัยมิเอะได้ร่วมมือกับหอการค้าอุเอโนะ (อดีตเมืองอุเอโนะ ปัจจุบันเป็นเขตที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองอิงะ) และเมืองอิงะ จัดตั้งองค์กรที่ชื่อว่า The Iga cooperation field ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการศึกษา วัฒนธรรม และการวิจัยอันจะนำไปสู่การพัฒนาเมืองอิงะ และด้วยความที่เมืองอิงะมีชื่อเสียงระดับโลกในฐานะเป็นเมืองต้นกำเนิดนินจา การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับนินจาจึงกลายเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักขององค์กรนี้ 

ชิโนบิ,นินจุตสึศึกษา
ภาพ : allabout-japan.com/en/article/2079

ต่อมาใน ค.ศ.2017 ได้มีการก่อตั้งศูนย์วิจัยนินจานานาชาติขึ้นในมหาวิทยาลัยมิเอะเพื่อผลักดันการวิจัยเกี่ยวกับนินจา เป็นศูนย์กลางการวิจัยเกี่ยวกับนินจาในระดับนานาชาติ และมีส่วนร่วมในการสร้างความเจริญอย่างยั่งยืนให้แก่เมืองมิเอะ ศูนย์วิจัยแห่งนี้นอกจากจะมีหน้าที่หลักในการสร้างฐานข้อมูลนินจา ยังมีบทบาทในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับนินจาทั้งในด้านการสำรวจเอกสารทางประวัติศาสตร์และศึกษาเนื้อหาของ ‘นินจุตสึโชะ’ หรือตำราพิชัยยุทธของนินจาในเชิงวิทยาศาสตร์เพื่อค้นหาความจริงเกี่ยวกับศาสตร์แห่งนินจา เมื่อเตรียมความพร้อมทุกด้านเรียบร้อย ในที่สุดหลักสูตรปริญญาโท ‘นินจาและนินจุตสึศึกษา’ ก็ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกในเดือนเมษายน 2018

เรียนอะไรในหลักสูตร ‘นินจาและนินจุตสึศึกษา’

ว่ากันว่า อยากได้ลูกเสือก็ต้องเข้าถ้ำเสือ

ดังนั้น ถ้าอยากรู้เรื่องหลักสูตรนินจา ก็ย่อมต้องไปถามคนสอน

แล้วใครจะมารู้เรื่องนี้ดีไปกว่า หนึ่งในผู้ก่อตั้งหลักสูตรนินจาและนินจุตสึศึกษา ศาสตราจารย์ ดร.ยามาดะ ยูจิ รองประธานศูนย์วิจัยนินจานานาชาติ มหาวิทยาลัยมิเอะ ผู้ซึ่งชาวไทยที่ชื่นชอบนินจาทั้งหลายน่าจะประทับใจกับความรอบรู้เมื่อครั้งมาเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ NINJA 101: นินจาศึกษาเบื้องต้น ในกิจกรรม J-Talk: Diggin’ Culture ของเจแปนฟาวน์เดชั่นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2020 ที่ผ่านมา 

คุยกับผู้สอน ‘นินจาและนินจุตสึศึกษา’ หลักสูตรปริญญานักรบนิรนามของญี่ปุ่นที่เมืองอิงะ, ศาสตราจารย์ ดร.ยามาดะ ยูจิ
คุยกับผู้สอน ‘นินจาและนินจุตสึศึกษา’ หลักสูตรปริญญานักรบนิรนามของญี่ปุ่นที่เมืองอิงะ, ศาสตราจารย์ ดร.ยามาดะ ยูจิ

อ.ยามาดะเล่าให้ฟังถึงเนื้อหาของหลักสูตรว่า “หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรบัณฑิตศึกษา เพื่อสร้างนักวิจัยและการศึกษาเฉพาะทาง ผู้เข้าเรียนจะต้องผ่านการสอบเข้าด้วยข้อสอบเกี่ยวกับนินจา เรียนวิชานินจาเพื่อเก็บหน่วยกิต และเขียนวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับนินจา ในหลักสูตรนี้ ผมสอนวิธีอ่านเอกสารโบราณและการเขียนผลงานทางวิชาการ” 

ฟังดูแล้วไม่เห็นต่างจากการเรียนปริญญาโททั่วไปที่เน้นด้านทฤษฎีเลย หลายคนที่อยากเป็นนินจาอาจเริ่มผิดหวัง แต่ช้าก่อน อย่าเพิ่งรีบถอดใจ

“ในหลักสูตรนี้ นอกจากการเรียนภาคทฤษฎีแล้วยังมีการฝึกภาคปฏิบัติด้วย ผู้เรียนจะได้ฝึกใช้ร่างกาย และเทคนิคการเอาตัวรอดแบบนินจา รวมถึงการใช้อาวุธพื้นฐานของนินจาจาก อ.คาวาคามิ จินอิจิ หัวหน้าตระกูลบังของโคกะริวรุ่นที่ 22 

“การฝึกภาคปฏิบัตินี้ไม่ใช่วิชาบังคับ แต่ก็มีหน่วยกิตให้ คนส่วนใหญ่จะลงเรียนกันเพื่อให้รู้วิธีการใช้ร่างกายแบบนินจา ผมก็ได้ลองฝึกเหมือนกัน แต่แค่เริ่มต้นก็รู้แล้วว่าไม่ค่อยไหว (หัวเราะ) อย่างไรก็ตาม การมีภาคปฏิบัติด้วยเป็นสิ่งที่ดีมาก นอกจากนี้ เมื่อปีที่แล้วมีการหัดทำอาหารยังชีพแบบนินจาที่เรียกว่า ‘เฮียวโรงัน’ ส่วนปีนี้มีการฝึกเขียนจดหมายด้วยหมึกล่องหนและการก่อควัน ‘โนโรชิ’ เพื่อส่งสัญญาณ”

ใครบ้างที่มาเรียนหลักสูตรนินจา แล้วเรียนไปทำไม ทำงานอะไรได้บ้าง

อ.ยามาดะ เคยเดินทางไปบรรยายเรื่องของนินจาในประเทศต่าง ๆ มาแล้วประมาณ 20 ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ทุกแห่งล้วนมีกระแสตอบรับดีมาก แต่อาจเพราะหลักสูตรเพิ่งเปิดตัวได้ไม่นาน ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้ขณะนี้ยังมีผู้เรียนไม่มากนัก 

คุยกับผู้สอน ‘นินจาและนินจุตสึศึกษา’ หลักสูตรปริญญานักรบนิรนามของญี่ปุ่นที่เมืองอิงะ, ศาสตราจารย์ ดร.ยามาดะ ยูจิ
คุยกับผู้สอน ‘นินจาและนินจุตสึศึกษา’ หลักสูตรปริญญานักรบนิรนามของญี่ปุ่นที่เมืองอิงะ, ศาสตราจารย์ ดร.ยามาดะ ยูจิ

“ปีนี้หลักสูตรเพิ่งเปิดเป็นปีที่สาม จึงมีนักศึกษาที่จบออกไปเพียงคนเดียว ตอนนี้เรามีนักศึกษาอยู่รวมเจ็ดคน เป็นชาวญี่ปุ่นห้าคนและชาวจีนสองคน

“นักศึกษาราวครึ่งหนึ่งเป็นคนที่ทำงานเกี่ยวกับนินจาอยู่แล้ว มีคนหนึ่งทำงานในโชว์ของ Hattori Hanzo and The Ninjas ที่ปราสาทนาโกย่าในจังหวัดอะอิจิ อีกคนหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของ Japan Ninja Council ซึ่งควบคุมดูแลองค์กรที่เกี่ยวกับนินจาทั้งหมดในประเทศญี่ปุ่น แล้วก็ยังมีนักศึกษาที่เพิ่งเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาเอกคนหนึ่งที่ก่อนหน้านี้เคยอยู่โอซาก้า แต่ตอนนี้ย้ายมาอยู่ที่เมืองอิงะ 

“แกอยากใช้ชีวิตเหมือนนินจา เลยหันมาทำการเกษตรและทำโฮมสเตย์ แถมเปิดสำนักฝึกวิชานินจาของตัวเองด้วย ส่วนนักศึกษาจีนบอกว่าอยากทำวิจัยเกี่ยวกับนินจาเลยมาเรียน เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มของคนที่ชอบเรื่องนินจาและมีความรู้พื้นฐานมาก่อน รวมถึงในอนาคตก็อยากทำงานเกี่ยวกับนินจา”

แต่ว่ากันตามตรง งานเกี่ยวกับนินจาอาจหาไม่ได้ง่ายนักสำหรับชาวไทย ไม่สิ คงยากสำหรับชาวโลกด้วย ในประเด็นนี้ อ.ยามาดะ อธิบายว่า

“หลักสูตรนี้จะช่วยทำให้ผู้เรียนมีความเข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นอย่างลึกซึ้งผ่านการศึกษาเรื่องเกี่ยวกับนินจา คุณอาจเรียนเกี่ยวกับนินจาในแง่มุมของประวัติศาสตร์ หรือถ้าสนใจแนวการ์ตูน ก็อาจมองนินจาในฐานะเป็นภาพที่ถูกสร้างขึ้นมา นินจาสามารถเป็นช่องทางที่ทำให้มองวัฒนธรรมญี่ปุ่นหลายแบบ ถ้าไม่อยากเรียนแต่เรื่องของญี่ปุ่น จะศึกษาเปรียบเทียบนินจากับกลุ่มคนทำนองเดียวกันในวัฒนธรรมไทย หรือดูว่าการ์ตูนนินจาของญี่ปุ่นถูกมองอย่างไรในสังคมไทยก็ได้” 

คุยกับผู้สอน ‘นินจาและนินจุตสึศึกษา’ หลักสูตรปริญญานักรบนิรนามของญี่ปุ่นที่เมืองอิงะ, ศาสตราจารย์ ดร.ยามาดะ ยูจิ

ต้องมีพื้นความรู้แค่ไหนถึงจะได้เรียนหลักสูตรนี้

เช่นเดียวกับการเรียนในระดับบัณฑิตศึกษาทั่วไปในมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่น ผู้เรียนควรต้องมีความรู้ภาษาญี่ปุ่นในระดับ N1 เพราะต้องฟังบรรยายและอ่านข้อมูลภาษาญี่ปุ่น อันที่จริงถ้าอ่านภาษาโบราณออกจะยิ่งดีมาก เพราะเอกสารส่วนใหญ่เป็นข้อมูลประวัติศาสตร์ที่เขียนไว้ด้วยภาษาโบราณ…

โอ้โห อะไรกันนักหนา แค่เรียนภาษาญี่ปุ่นให้ได้ N1 ก็หืดจับแล้ว 

แต่ก็ไม่ต้องตกใจ ใครที่ขวัญเสียไปแล้วก็โปรดเรียกสติกลับมา เพราะอ.ยามาดะบอกว่า “ภาษาโบราณเมื่อเข้ามาได้แล้วค่อยมาฝึกอ่านก็ได้ ตอนสอบเข้ายังไม่จำเป็นต้องอ่านเป็น คนที่อยากทำวิจัยแนวสมัยใหม่ก็ไม่จำเป็นต้องอ่านด้วยซ้ำ”

อย่างไรก็ตาม ลำพังความรู้ภาษาญี่ปุ่นอย่างเดียวก็คงไม่พอจะให้เราฝ่าด่านเข้าไปเรียนได้ เพราะในการสอบเข้าก็จะมีคำถามเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานของนินจา! ตรงนี้แหละที่ต้องวัดกึ๋นกันเล็กน้อย บอกใบ้ให้เลยว่า คงต้องพุ่งไปสั่งหนังสือ 3 เล่มที่อ.ยามาดะเขียนเกี่ยวกับนินจามานั่งนอนอ่านให้ขึ้นใจ ถามว่าโหดไปไหม อ.ยามาดะ ตอบอย่างอารมณ์ดีว่า

“หนังสือที่ต้องอ่านดูเหมือนมีหลายเล่มก็จริง แต่น่าจะอ่านได้หมดไม่ยาก ขอบเขตของคำถามก็อยู่ในวงจำกัด ไม่กว้างเท่ากับคนที่อยากจะสอบเข้าด้านประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นหรือประวัติศาสตร์ตะวันออกที่ต้องอ่านหนังสือเยอะกว่ามาก ดังนั้นผมว่าไม่น่าจะยากมากสำหรับคนที่ชอบเรื่องนินจาอยู่แล้ว”

ชาวญี่ปุ่นในปัจจุบันมองนินจาอย่างไร

คุยกับผู้สอน ‘นินจาและนินจุตสึศึกษา’ หลักสูตรปริญญานักรบนิรนามของญี่ปุ่นที่เมืองอิงะ, ศาสตราจารย์ ดร.ยามาดะ ยูจิ
ภาพ : vintageninja.net 
คุยกับผู้สอน ‘นินจาและนินจุตสึศึกษา’ หลักสูตรปริญญานักรบนิรนามของญี่ปุ่นที่เมืองอิงะ, ศาสตราจารย์ ดร.ยามาดะ ยูจิ
ภาพ : vintageninja.net 
คุยกับผู้สอน ‘นินจาและนินจุตสึศึกษา’ หลักสูตรปริญญานักรบนิรนามของญี่ปุ่นที่เมืองอิงะ, ศาสตราจารย์ ดร.ยามาดะ ยูจิ
ภาพ : vintageninja.net 

นอกจากเรื่องหลักสูตร อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจและไหนๆ แล้วก็อยากถามผู้เชี่ยวชาญอย่าง อ.ยามาดะ ก็คือ ทุกวันนี้ชาวญี่ปุ่นมองนินจาอย่างไร เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัว จนถึงเมื่อประมาณ 20 กว่าปีก่อน นินจาที่ปรากฏตัวในละครพีเรียดของญี่ปุ่นยังสวมชุดดำเดินเพ่นพ่านกันตั้งแต่ตอนกลางวันอยู่เลย 

“เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้วครับ” อ.ยามาดะ หัวเราะ “ถึงจะสร้างละครย้อนยุคขึ้นมาใหม่ ก็คงไม่มีนินจาแบบนั้นให้เห็นอีกแล้ว ส่วนหนึ่งเพราะมีการนำผลการศึกษาไปใช้ในการเขียนบทละครมากขึ้น ตัวผมเองก็เคยถูกถามข้อมูลเกี่ยวกับนินจาบ่อยๆ นอกจากนี้ การสร้างภาพยนตร์และละครของญี่ปุ่นในปัจจุบันจะไม่ค่อยทำเรื่องแนวแฟนตาซี เท่าเรื่องราวแนวสมจริง มีละครอิงประวัติศาสตร์หลายเรื่องที่นินจามีบทบาทสำคัญ แต่ก็ไม่ได้มีภาพลักษณ์เหนือจริง ตรงกันข้ามกลับมีการโฟกัสไปที่บทบาทหน้าที่ของนินจามากกว่าจะไปเน้นเรื่องการใช้คาถา หรือแปลงร่างเป็นกบ หรือหายตัวได้เหมือนแต่ก่อน” 

คนในยุคปัจจุบันควรเรียนรู้อะไรจากนินจา

สำหรับ อ.ยามาดะ วิถีแห่งนินจาคือปรัชญา แนวทางการใช้ชีวิตของพวกเขาคือค่านิยมที่ไม่เคยล้าหลัง

“อักษร 忍 (นิน) ในคำว่านินจาเกิดขึ้นจากการนำอักษร 刃 (ใบมีด) มาวางไว้ใต้心 (หัวใจ) อักษรนี้จึงแสดงให้เห็นถึงจิตใจอันหนักแน่นมั่นคง ต่อให้มีมีดมาจ่อหัวใจก็ไม่หวั่นไหว นอกจากนี้ นิน ยังมาจากคำว่า忍耐 (นินตะอิ) หรือการอดทนอดกลั้นซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนินจา น่าเสียดายว่า คนญี่ปุ่นเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับค่านิยมความอดทน 

“คนอายุรุ่นเดียวกับผมหลายคนทั้งหญิงและชายถูกตั้งชื่อว่า ‘ชิโนะบุ’ แต่ตั้งแต่ผมมาสอนที่มหาวิทยาลัยมิเอะ ไม่มีนักศึกษาที่ชื่อชิโนะบุเลยแม้แต่คนเดียว ผมเลยรู้สึกว่า สำหรับคนในปัจจุบัน การอดทนอดกลั้นถูกมองว่าเป็นค่านิยมที่ไม่ดี 

“ตรงกันข้าม การแสดงความคิดเห็นของตัวเองออกมากลับน่าชื่นชมกว่า ผมว่าการยืนหยัดในความเห็นของตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ แต่ค่านิยมที่สร้างชาติญี่ปุ่นมานั้นคือความอดทน เช่นที่จักรพรรดิโชวะเคยมีพระราชดำรัสว่า 「堪え難きを堪え、忍び難きを忍び」(แม้เป็นเรื่องที่ยากจะอดทนแต่ก็ต้องอดทนให้ได้) ผมคิดว่าการเสียสละที่จะอดทนและทำเพื่อส่วนรวมเป็นวิธีคิดที่สร้างชาติญี่ปุ่นให้เป็นปึกแผ่นขึ้นมา นี่เป็นแนวคิดที่ควรนำกลับมาทบทวนคุณค่าอีกครั้ง 

คุยกับผู้สอน ‘นินจาและนินจุตสึศึกษา’ หลักสูตรปริญญานักรบนิรนามของญี่ปุ่นที่เมืองอิงะ, ศาสตราจารย์ ดร.ยามาดะ ยูจิ

“นอกจากนี้ นินจาจะไม่พูดโอ้อวดว่าตัวเองได้ทำงานอะไรลงไป แม้ว่างานที่นั้นจะยิ่งใหญ่เพียงใด พวกเขาไม่อยากสร้างชื่อเสียงทิ้งไว้ให้คนรู้จัก ความจริงเขาไม่อยากพูดถึงแม้แต่ผลงานของตัวเองด้วยซ้ำ อาจกล่าวได้ว่า การไม่โอ้อวดตนคือวิถีของนินจา ผมว่านี่เป็นวิธีคิดที่แสนจะเป็นญี่ปุ่น ถึงจะในแบบโบราณสักหน่อยก็เถอะ เพราะคนญี่ปุ่นทุกวันนี้ชอบทำเปลือกนอกให้ดูดี แต่กลับให้ความสำคัญต่อเนื้อหาข้างในน้อยลงมาก ผมว่าในอดีตคนญี่ปุ่นไม่ได้เป็นแบบนี้” 

เสน่ห์ของนินจา

ผลจากการวิจัยของ อ.ยามาดะ และเหล่านักวิชาการมีส่วนอย่างมากที่ทำให้ทุกวันนี้นินจาไม่ได้ถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนพิเศษที่มีความสามารถเหนือมนุษย์ หรือถูกสร้างภาพให้เป็นสายลับผู้น่าขันอีกต่อไป ตรงกันข้าม นินจากลายเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ จับต้องได้ และมีปรัชญาในการดำเนินชีวิตที่ลึกซึ้ง ควรค่าแก่การนำมาประยุกต์ใช้ในสังคมปัจจุบัน  

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของนินจาที่ได้รับการเปิดเผยยังมีน้อยมาก จนบัดนี้เราก็ยังไม่รู้ชัดว่า นินจาเป็นใคร หรือทำงานอะไรกันแน่ มองในมุมกลับ สิ่งนี้เองที่ทำให้ยังมีพื้นที่เหลือในการจินตนาการภาพของนินจาและค้นหาความจริงเกี่ยวกับพวกเขาในเชิงวิชาการ 

“ผมว่าการที่เราไม่ค่อยรู้ว่าตัวตนที่แท้จริงของนินจาคืออะไร เป็นเสน่ห์ของการศึกษาเรื่องราวของนินจา”  

บทสรุปสั้นๆ ของ อ.ยามาดะ น่าจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนตรงประเด็นว่าทำไมกลุ่มคนนิรนามที่พยายามลบเลือนตัวตน กลับยังเป็นที่สนใจของผู้คนมาจนถึงปัจจุบัน

คุยกับผู้สอน ‘นินจาและนินจุตสึศึกษา’ หลักสูตรปริญญานักรบนิรนามของญี่ปุ่นที่เมืองอิงะ, ศาสตราจารย์ ดร.ยามาดะ ยูจิ
ภาพ : vintageninja.net 

Write on The Cloud

บทเรียนจากต่างแดน

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ บทเรียนจากต่างแดน’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เรามีของขวัญส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer

Avatar

ชมนาด ศีติสาร

อาจารย์ นักวิชาการ นักแปล และแม่หมา 2 ตัว เคยได้ชื่อว่า “อยู่ญี่ปุ่นมาครึ่งชีวิต” ตอนเริ่มทำงาน แต่ตอนนี้สัดส่วนเหลือหนึ่งในสาม ถึงหนึ่งในสี่เมื่อไรจะไปเป็นบาริสต้าและขายก๋วยเตี๋ยวเรือ