‘Nimnim Noodle’ คือแบรนด์เส้นไข่ขาวที่เป็นนวัตกรรมครั้งแรกของโลก ซึ่งคิดค้นโดยคนไทย

ทั้งหมดเริ่มมาจากงานวิจัยสมัยเรียนปริญญาเอกด้านโภชนาการของ เกรท-อุมาพร บูรณสุขสมบัติ ที่อยากทำอาหารสำหรับผู้ป่วยชนิดนี้ด้วยเหตุผล 3 ข้อ

หนึ่ง เธอเห็นปัญหาของผู้ป่วยที่ต้องกินไข่จำนวนมาก แต่โดนจำกัดอยู่ที่รูปแบบเดิมๆ หากไม่กินก็ไม่มีโปรตีนจากไข่เข้าไปฟื้นฟูร่างกาย ทำให้ร่างกายคนป่วยแย่ลงเรื่อยๆ

สอง เธอมาตีโจทย์ต่อว่า ไข่ขาวสามารถปรับเป็นรูปแบบใดได้บ้าง ถ้าดูตามโครงสร้างวิทยาศาสตร์ โปรตีนของไข่ขาวมีลักษณะลื่น น่าจะนำมาทำเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวได้ 

สาม ก๋วยเตี๋ยวเป็นอาหารที่ทั้งคนไทย คนเอเชีย และทั่วโลก รู้จักดีอยู่แล้ว ถ้าทำขึ้นมาน่าจะเป็นประโยชน์อย่างกว้างขวาง โดยเริ่มจากกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ป่วยก่อน แล้วค่อยขยายไปยังกลุ่มคนรักสุขภาพ

Nimnim Noodle นวัตกรรมเส้นไข่ขาวครั้งแรกของโลกคิดโดยคนไทย ที่อยากให้คนป่วยได้กินของอร่อย

ธุรกิจเติบโตจากงานวิจัยบนหน้ากระดาษ เป็นแบรนด์ที่ปัจจุบันส่งออกไปยังหลายประเทศ ทำให้ทั้งผู้ป่วย ครอบครัวผู้ป่วย และคนรักสุขภาพ มีความสุขกับการกินอาหารมากขึ้น แต่เธอคงทำไม่สำเร็จ หากไม่มีอีกสองแรงสำคัญอย่าง ฟิ้ง-ปณัสสา กาญจนวิเศษ นักธุรกิจหลายอุตสาหกรรมผู้เข้ามาดูแลเรื่องการขายและการตลาด และ ตื๋อ-วรวีร์ เชาวน์พิชญ์ชยา ผู้มีประสบการณ์ด้านอุตสาหกรรมอาหารหลากหลาย

“เราต้องทำให้ผู้ป่วยได้กินของมีประโยชน์ ไม่เป็นโทษ และที่สำคัญ มันต้องอร่อย เพราะถ้าไม่อร่อย เขาจะลองครั้งเดียวแล้วก็เลิก” นั่นคือความตั้งใจของ Nimnim Noodle ทั้งในวันนั้นและวันนี้

Nimnim Noodle นวัตกรรมเส้นไข่ขาวครั้งแรกของโลกคิดโดยคนไทย ที่อยากให้คนป่วยได้กินของอร่อย

ฉีกซอง

เกรทและฟิ้งรู้จักกันสมัยเป็นดีเจรุ่นแรกของ Center Point ส่วนเกรทกับตื๋อเจอกันตอนทำงานที่บริษัทนำเข้าวัตถุดิบอาหาร จนมาเป็นพาร์ตเนอร์ทำธุรกิจขายสินค้าอาหารสุขภาพ เพราะอยากขายของดีๆ ที่ตัวเองเลือก ที่ตัวเองกิน ที่ตัวเองอยากได้ 

7 ปีให้หลัง เธอตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาเอกด้านโภชนาการที่มหาวิทยาลัยมีชื่อแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ นิ่มนิ่ม เส้นไข่ขาว ในวันนี้

การเรียนครั้งนั้นแตกต่างจากงานที่เกรทเคยทำก่อนหน้า พื้นฐานที่เธอมีคือการประดิษฐ์อาหารขึ้นใหม่จากวัตถุดิบต่างๆ โดยไม่เอาเงื่อนไขธรรมชาติมาจำกัดไอเดียตัวเอง ขณะที่นักโภชนาการที่ทำงานกับโรงพยาบาลจะเลือกอาหารที่มีอยู่แล้วในท้องตลาดมาให้ผู้ป่วยบริโภค

เธอเปรียบเทียบให้ฟังว่า “ยกตัวอย่างเช่น อาหารที่ผู้ป่วยต้องกินประจำอย่างไข่ต้ม ถ้าเป็นนักโภชนาการ เขาจะเอาไข่ต้มไปเสิร์ฟผู้ป่วยเลย แต่เราเป็นนักวิทย์ด้วยเลยคิดต่อว่าทำอย่างไรให้มันกินง่ายขึ้น และทุกคนกินได้ ก็ออกมาเป็นเส้นไข่ขาว”

โจทย์แรกคือการแก้ปัญหาให้ผู้ป่วย เรื่องอาหารเป็นโจทย์สำคัญของทั้งครอบครัวที่ต้องหาทางออกร่วมกัน ฟิ้งเป็นอีกคนที่เจอปัญหานี้ คุณพ่อของเธอเป็นมะเร็งนานถึง 10 ปี ตลอดเวลานั้นเห็นพ่อกินไข่ขาวทุกวันจนกินไม่ไหว ร่างกายแย่ลง

“มันเป็นวงจร ถ้าผู้ป่วยต้องกินไข่ขาว พอไม่กิน โปรตีนไม่เข้าสู่ร่างกาย ร่างกายก็สร้างเม็ดเลือดหรือภูมิคุ้มกันไม่ได้ พอไม่มีภูมิคุ้มกันก็ไม่ฟื้นฟู พอไม่ฟื้นฟูก็ต้องนอนโรงพยาบาล วนไปแบบนี้”

Nimnim Noodle นวัตกรรมเส้นไข่ขาวครั้งแรกของโลกคิดโดยคนไทย ที่อยากให้คนป่วยได้กินของอร่อย

ก่อนจะลงเอยที่ไข่ขาว เธอทดลองโปรตีนใกล้ตัวหลายชนิด เช่น โปรตีนถั่วลันเตา โปรตีนข้าวกล้อง และโปรตีนถั่วเหลือง แต่พบว่าไข่ขาวมักเป็นสิ่งที่คุณหมอพูดถึงเสมอ โดยเฉพาะกับผู้ป่วยโรคไตหรือมะเร็ง ที่สำคัญ ให้เนื้อสัมผัสดีที่สุด การทดลองจึงต้องคำนึงถึง 3 องค์ประกอบ

หนึ่ง กายภาพ เส้นลื่นไป เส้นแข็งไป เส้นสากไป แบบนี้เป็นเรื่องทางกายภาพทั้งหมด

สอง ประสาทสัมผัส โดยทดลองกับผู้บริโภคหลายกลุ่ม ทั้งผู้ป่วย คนสุขภาพดี ผู้สูงอายุ ว่ากินแล้วรู้สึกยังไง จนได้สูตรที่อร่อยและเป็นที่ยอมรับ

สุดท้ายสำคัญที่สุด โภชนาการ เพราะตั้งธงว่ากลุ่มเป้าหมายคือผู้ป่วย 

“อาหารจำพวกเส้นปกติจะมีแป้ง ถ้าเส้นของเรามีแป้งอีก ผู้ป่วยก็จะได้รับส่วนเกินที่เขาไม่ต้องการ เราจึงตั้งใจทำเส้นที่มีโปรตีนสูง ไม่มีแป้ง และไม่ใส่ไขมันลงไป เพื่อให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานทานได้ด้วย ข้อจำกัดเหล่านี้คือความยาก แต่ต้องทำเพื่อให้ผู้ป่วยได้กินของมีประโยชน์ ไม่เป็นโทษ และที่สำคัญ มันต้องอร่อย เพราะถ้าไม่อร่อย เขาจะลองครั้งเดียวแล้วก็เลิก”

Nimnim Noodle นวัตกรรมเส้นไข่ขาวครั้งแรกของโลกคิดโดยคนไทย ที่อยากให้คนป่วยได้กินของอร่อย

เทเส้น

จริงอยู่ที่ไอเดียของนิ่มนิ่มตั้งต้นมาจากงานวิจัยปริญญาเอก แต่เพราะถูกคิดมาอย่างถี่ถ้วน โดยคนที่เคยทำงานในแวดวงอาหารจริงๆ เลยทำให้ไอเดียนี้มีศักยภาพมากกว่าผลวิจัยบนหน้ากระดาษ จนได้รับความสนใจจากนักลงทุน

เกรทเล่าว่า “ตอนทำวิจัยนี้ขึ้นมา อาจารย์ท่านหนึ่งบอกเราว่า ถ้าไม่มีนายทุน เธอทำต่อไม่ได้หรอก ซึ่งตอนนั้นเราแค่อยากเรียนจบ ไม่คิดว่าจะต้องทำเป็นธุรกิจด้วยซ้ำ แต่พออาจารย์พูดแบบนี้ เราก็เลยวิ่งหานักลงทุน นำเสนอให้เขาลงทุนกับโปรเจกต์นี้ของเรา จะได้เรียนให้ผ่านไป

“จุดเปลี่ยนคือตอนที่มีนักลงทุนสนใจเราจริงๆ เลยทำให้อาจารย์ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่สนใจอยากได้มันมากขึ้น ก็เลยมาชวนเราไปทำด้วยกัน ในตอนนั้นเราจึงอยากจะช่วยและพาไปรู้จักกับคอนเนกชั่นธุรกิจที่เรามี เพราะเคารพและไว้ใจว่าเราจะโตไปด้วยกัน แต่พอเกิดล็อกดาวน์ เราไม่ได้ไปมหาวิทยาลัย หลังจากนั้นถึงได้รู้ว่า เขาไปจดทะเบียนตั้งบริษัทของเขา และเพิ่มหุ้นส่วนซึ่งเป็นคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้เรียบร้อยแล้ว และบอกว่าตัวเองเป็นคนคิดค้น โดยไม่มีชื่อเราอยู่ในนั้นเลย”

ที่ลุกขึ้นมาเล่าเรื่องนี้ให้เราฟัง เธอไม่ได้ต้องการทำร้ายอีกฝ่ายหรือมองว่าเป็นคู่แข่ง แต่เพราะอยากให้เป็นอุทาหรณ์ให้คนอื่นๆ ที่อาจกำลังเจอสถานการณ์คล้ายๆ กัน ให้ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเอง และปกป้องสินค้าที่ทำมาด้วยอุดมการณ์

“เราอาจจะเคยได้ยินบ่อยๆ ไหม เช่น อาจารย์เคลมผลงานลูกศิษย์ หัวหน้าเคลมผลงานลูกน้อง หรือเมนูของเชฟใหญ่อาจจะมาจากไอเดียของเด็กในครัวก็ได้ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจนชิน แต่มันถูกต้องหรือเปล่า 

“หลังจากเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนในสายงานต่างๆ ฟัง หลายคนตอบเหมือนกันว่า ‘เราก็เคยเจอ’ ตัวเราเองไม่อยากมีเรื่องอะไร เพียงแต่อยากเรียกความชอบธรรมของเราคืนมา ฟิ้งไม่ยอม ตื๋อไม่ยอม ครอบครัวเราทุกคนสนับสนุน”

ฟิ้ง ผู้มีคอนเนคชันมากมายในวงการธุรกิจและกฎหมายเป็นแรงสำคัญ เริ่มจากทำทุกอย่างให้ถูกต้อง ตามกฎหมายตั้งแต่วันแรกที่ตั้งบริษัทนี้ขึ้นมา

ปรุงเส้น

สินค้าของนิ่มนิ่ม เส้นไข่ขาว มี 3 แบบ

เส้นออริจินัล เรียกว่า เส้นไข่ขาว ลักษณะคล้ายๆ ขนมจีน แต่มีความเด้งกว่า

เส้นหมี่ไข่ขาว เหมือนเส้นหมี่จริงจนลูกค้าไม่เชื่อว่าไม่ใส่แป้ง

สปาเกตตี้ไร้แป้ง มีเนื้อสัมผัสคล้ายๆ เส้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต้ม

พวกเขาทดลองกันมามากกว่า 30 สูตร ด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ช่วยจำลองการเคี้ยวของคนโดยได้ความช่วยเหลือจาก Food Innopolis และศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารแห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ในด้านห้องแลปและเครื่องมือทดลอง ก่อนจะให้คนลองทานจริงๆ แล้วค่อยๆ พัฒนาต่อ

เส้นไข่ขาวของนิ่มนิ่มในช่วงแรกต้องเก็บในตู้เย็น และมีอายุแค่ 1 เดือนเท่านั้น ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของผู้บริโภคในประเทศอากาศร้อนอย่างบ้านเรา การขนส่งต้องใช้แบบเย็นซึ่งราคาแพงมาก แถมยังการันตีไม่ได้ว่าเจ้าหน้าที่จะควบคุมอุณหภูมิไว้คงที่เสมอ หรือบางทีตำแหน่งวางอยู่ใกล้ช่องแอร์ ก็ทำให้เส้นแข็งโดยไม่ตั้งใจ 

“หรือต่อให้เราส่งไปในอุณหภูมิที่เหมาะสม พอไปถึงบ้านลูกค้า ถ้าเขาไม่อยู่บ้าน ไม่ได้เอาเข้าตู้เย็นทันที สินค้าก็ไม่ปลอดภัยแล้ว เราจึงพัฒนาต่อให้เก็บได้ถึงหนึ่งปี โดยยังยึดธงหลักธงเดิม คือไม่ใส่สารกันเสีย เพื่อให้ผู้บริโภคยังทานเส้นของเราในราคาที่จับต้องได้และปลอดภัย”

ในวันที่งานวิจัยบนกระดาษกลายเป็นธุรกิจ นักวิจัยเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้พัฒนาสินค้า นอกจากผู้ป่วยและครอบครัว ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักให้การตอบรับอย่างดีเยี่ยม ยังมีกลุ่มคนรักสุขภาพ หรือคนที่ต้องการลดน้ำหนักแบบ Ketogenic Diet ให้ความสนใจมากเช่นกัน

“สิ่งหนึ่งที่เราได้รู้คือ วิธีคิดของนักวิจัยกับตำแหน่ง Research & Development ในบริษัทมันไม่เหมือนกัน งานวิจัยต้องการเปเปอร์ ไม่ว่าจะเพื่อเรียนจบหรือเลื่อนขั้น เราต้องมีเอกสารที่พิสูจน์ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด เพราะนักวิจัยอยู่ในสายงานวิชาการ สิ่งที่วัดความสำเร็จของเขาคือสิ่งที่จับต้องได้ เขาต้องการตัวเลข เขาต้องการแนวคิดเป็นระบบ ทุกเลขบนเปเปอร์ต้องมีที่มาที่ไป และอาจจะไม่ต้องคำนึงถึงผลลัพธ์ว่าจะกินได้ไหม ต้นทุนเท่าไหร่ มันจะกระจายไปถึงใครบ้าง 

“พอมามองมุมธุรกิจ มันต่างไปเลย เราจะคิดถึงผู้บริโภคเป็นหลัก เขาต้องการอะไร อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องมองความเป็นไปได้ในเรื่องต้นทุนด้วย ถ้าเราทำทุกสิ่งทุกอย่างให้เลิศเลอเพอร์เฟกต์มาก ราคาสูง ลูกค้าซื้อไม่ได้ ก็จบอยู่แค่นั้น”

เสิร์ฟ

สิ่งหนึ่งที่เราชอบมากเกี่ยวกับนิ่มนิ่ม และไม่ใช่ทุกแบรนด์จะทำแบบเดียวกัน คือการใส่รีวิวพร้อมรูปถ่ายของลูกค้าและตั้งให้เป็นหน้าหลัก เพราะสินค้าบางชนิดต้องอาศัยรีวิวที่จริงใจในการขาย ขณะเดียวกัน ฟีดแบ็กดีๆ ก็ช่วยเรื่องจิตใจคนทำงานด้วยเช่นกัน

‘คุณพ่อคุณแม่กินแล้วชอบนะ’

‘ลูกที่ปกติอมข้าว ร้องอยากจะกินเส้นไข่อีก’

‘เสียดายเนอะที่ตอนนั้นไม่มีสินค้าแบบนี้’

‘โห ถ้าตอนนั้นได้กินเส้นนี้ หายเร็วกว่านี้อีก’

‘ขอบคุณที่ทำสินค้าดีๆ แบบนี้ออกมานะ’

นี่เป็นเพียงคอมเมนต์บางส่วนที่ส่งเข้ามาพร้อมรูปถ่ายจานอาหารที่ลูกค้าตั้งใจทำอย่างพิถีพิถัน 

“ล่าสุดเพิ่งมีคนแซวว่า CI แบรนด์ไม่ได้เลย” ตื๋อหัวเราะ

“จริงๆ เราไม่ได้มีความรู้ด้านการตลาด แค่รู้สึกว่าการที่ลูกค้าอุตส่าห์จัดจานอย่างสวยงาม บางคนตั้งใจทำคลิปมาให้ แปลว่าเขาให้เกียรติเรา เราต้องให้เกียรติเขากลับ โดยการลงรูปและเรื่องราวของเขา หน้ารีวิวเลยกลายเป็นที่ที่รวมกำลังใจของเรา ถึงแม้ว่า CI มันจะไม่ได้ก็ตาม” เกรทเสริม

หน้ารีวิวเต็มไปด้วยเมนูอาหารหลากหลายที่ปรุงด้วยเส้นไข่ขาวของนิ่มนิ่ม ฉากหลังมาจากคนละบ้าน แสงในภาพก็มาจากคนละที่ แต่ดูแล้วจริงใจอย่างบอกไม่ถูก นอกจากเป็นหน้าที่รวมกำลังใจของคนขาย ยังเป็นแรงบันดาลใจของคนซื้อให้เข้าครัวทำอาหารเอง

นิ่มนิ่ม เส้นไข่ขาว ไม่ได้ถูกคิดค้นมาเพื่อให้ขายของได้ สั่งซื้อ สรุปยอด ส่งของ แล้วจบไป แต่ผ่านการวิเคราะห์มารอบด้านแล้วว่า สินค้าทุกชิ้นต้องปลอดภัย มีการสื่อสารว่าเหมาะกับผู้ป่วยโรคอะไร กินคู่กับอะไรได้ กินคู่กับอะไรไม่ได้ และที่สำคัญคือ วางตัวเป็นที่ปรึกษา คอยให้ข้อมูลที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ

“คนซื้อสินค้าเราไม่ได้ต้องการแค่อาหารที่ปลอดภัยและอร่อย แต่เขาต้องการใครสักคนที่จะให้ข้อมูลเขาได้ ทำให้เขาเชื่อมั่น เหมือนเราเป็นลูกหลานในบ้านเขาที่คอยดูแลเขา

“เวลามีคนป่วยในบ้าน ครอบครัวคือคนที่เครียด ต้องหาอาหารให้ผู้ป่วย คนป่วยคนเดียว ทั้งบ้านคือป่วยหมดนะ ป่วยใจที่เป็นห่วง ไม่รู้จะหาอะไรให้ทาน และไม่รู้ว่าสิ่งที่เอาให้กินมันถูกต้องหรือเปล่า ถ้าเราพอจะให้ข้อมูลเขาได้ เราก็อยากเล่าให้เขาฟัง”

แข็งแรง

ความตั้งใจของนิ่มนิ่มในวันนี้ไม่เปลี่ยนไปจากวันแรก ยังตั้งใจคิดค้นอาหารที่ปลอดภัยและอร่อยให้ผู้ป่วย คนลดน้ำหนัก และคนรักษาสุขภาพ แต่เป้าหมายจะใหญ่ขึ้นไปอีก พวกเขาอยากนำนวัตกรรมอาหารไทยไปสู่ตลาดโลก ขยายไลน์โปรดักต์ให้หลากหลายมากขึ้น โดยจะเริ่มจากแกงไทยโซเดียมต่ำและไม่มีน้ำตาล มาพร้อมผักให้ฉีกซองแล้วกินได้เลย

“วิธีคิดเหมือนกัน เราต้องสร้างความเชื่อมั่น และที่สำคัญต้องทำให้สะดวกสบาย ฉีกถุงเส้นไข่ ฉีกถุงแกง ก็พร้อมกินเลย ใครอยากเพิ่มเนื้อสัตว์ก็นำไปต้ม ส่วนผักมีอยู่ในถุงอยู่แล้ว เพราะผ่านการคิดมาแล้วว่าผู้ป่วยทานได้ ผักชนิดไหนทานไม่ได้จะไม่ใส่ลงไป ซึ่งเป็นอีก Pain Point ของเครื่องปรุง Low Sodium ทั่วไป ผู้ป่วยโรคไตซื้อไปเอาไปผัดกับผักที่บ้าน ก็ไม่รู้อยู่ดีว่าต้องใช้ผักชนิดไหน เราเลยทำให้ครบถ้วน”

ฟิ้ง มีคอนเนกชันในแวดวงธุรกิจ ดูแลเรื่องฝ่ายขายและการตลาดเป็นหลัก

เกรท รับผิดชอบเกี่ยวกับการคิดค้นสินค้า พัฒนา และการผลิตทั้งหมด

ตื๋อ มีความรู้ด้านกราฟิก คอยดูแลเรื่องแพ็กเกจจิ้ง และพัฒนาให้เป็นของขวัญแทนใจให้ผู้ป่วยและคนที่เราห่วงใย

ทั้งสามมองว่านิ่มนิ่มยังเล็ก ไม่มีเงินทุนมากมายและมีทรัพยากรจำกัด จึงใช้สกิลล์ที่แต่ละคนมีให้เกิดประโยชน์สูงสุด การลงมือเองเลยทำให้บทเรียนธุรกิจเข้มข้นขึ้นไปอีก 

ตื๋อบอกว่า ระหว่างทางมีปัญหาเข้ามาทำให้ปวดหัว แต่ทุกปัญหามีทางแก้ ถ้าเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ทำนั้นดี ก็ไม่ต้องสงสัยในตัวเอง แต่มุ่งพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้ลูกค้าได้สิ่งที่ดีที่สุด

สำหรับฟิ้ง เคยสงสัยว่าสินค้า Made in Thailand จะไปได้ไกลแค่ไหน ต่างประเทศจะยอมรับไหม แต่พอได้ไปยืนตรงนั้น ทำที่ไหนไม่ใช่ปัญหา ถ้าของดีและมีประโยชน์ต่อผู้บริโภคจริงๆ ยังไงก็โตได้แน่นอน

ส่วนเกรท ผู้อยู่ในห้องแล็บ และไม่เคยมั่นใจว่าสินค้าที่ทำจะมีคนชอบหรือไม่ ฟีดแบ็กลูกค้าทำให้รู้ว่า ถ้าตัวเองเชื่อว่าของดี ลองใช้แล้วดี ลูกค้าก็จะรู้สึกแบบเดียวกัน

“นิ่มนิ่มทำให้พวกเราได้รู้ว่า บนโลกนี้ยังมีผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานกับการกินอาหารอีกมากมาย แปลว่านวัตกรรมด้านอาหารสำหรับผู้ป่วยยังขาดอีกเยอะ แล้วก็เป็นสิ่งที่จำเป็นมากขึ้นทุกวัน เพราะบ้านเราเป็นสังคมผู้สูงอายุ อีกหน่อยคนสุขภาพดีก็จะอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งอายุที่มากขึ้นก็มาพร้อมโรคภัยไข้เจ็บ นั่นเลยเป็นกำลังใจให้เราทำต่อ เราต้องทำให้ชีวิตของเขาสุขภาพดี ให้เขามีความสุขในการได้กินอาหารที่ดี”

‘นิ่มนิ่ม’ มาจากสัมผัสของเส้น และเป็นคำพูดที่เกรทพูดบ่อยตอนทดลองในห้องแล็บ

ส่วนชื่อ ‘บริษัท แข็งแรงทุกวัน จำกัด’ เกิดจากความต้องการให้มีรอยยิ้มเล็กๆ ที่มุมปากของคนที่เห็นชื่อบนกล่องหรือเวลาโอนเงิน ถือเป็นการอวยพรลูกค้าให้แข็งแรงทุกวันไปด้วยเลย

Lessons Learned

  • ทำสินค้าดีที่ตัวเองเลือก ตัวเองกิน ตัวเองใช้ และอยากแนะนำให้คนอื่นต่อ ยึดมั่นกับสิ่งนี้ในทุกก้าว และการตัดสินใจในการทำธุรกิจโดยไม่ลืมความตั้งใจแรก ไม่อะลุ่มอล่วย ซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ต่อลูกค้า ต่อคนทำงานด้วยกัน เช่น นิ่มนิ่มตั้งใจจะทำเส้นไข่ขาวที่ปลอดภัย ไม่มีแป้ง และต้องอร่อย ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งถือว่ายังทำไม่สำเร็จ
  • ให้ความสำคัญกับฟีดแบ็ก ฟีดแบ็กดีๆ จะเป็นกำลังใจให้ไปต่อ ฟีดแบ็กไม่ดีก็นำมาปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น
  • สินค้าดีแล้วยังดีได้อีก และเรายังสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้เสมอ หมั่นพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค ทั้งในเรื่องคุณภาพและการใช้งาน 
  • คิดใหญ่ไว้ก่อนไม่เสียหาย ใครจะคิดว่าจะมีคนทำเส้นจากไข่ขาวแบบไม่มีแป้งได้ มองเป้าหมายให้ไกลและวางแผนให้รัดกุม ค่อยๆ ก้าวไปในสเกลที่ควบคุมไหว แบ่งหน้าที่หุ้นส่วนตามความถนัด และใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน