ในโลกแฟนตาซี เรามีซูเปอร์ฮีโร่มากมาย ทั้งสไปเดอร์แมน แบทแมน ทำหน้าที่ปราบเหล่าร้ายยามค่ำคืน

แต่ในโลกความเป็นจริง เราก็มีเหล่าอเวนเจอร์สที่แอบช่วยเราอยู่โดยไม่รู้ตัวเช่นกัน พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้ใส่เครื่องแบบ ไม่ต้องแปลงร่าง แต่พวกเขาคือสัตว์ธรรมดาที่มีความสามารถไม่ธรรมดา

กิจกรรม Earth Appreciation 08 : Night Lives จะพาไปรู้จักกับเหล่าฮีโร่แห่งรัตติกาลกัน ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 4 แล้ว ที่ The Cloud ร่วมกับสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD จัดกิจกรรมพิเศษชวนคนเมืองมาเรียนรู้ธรรมชาติในสวนเบญจกิติ ครั้งนี้ต่างจากครั้งอื่นตรงที่เราจะมาเดินสวนในเวลากลางคืน เพื่อทำความรู้จักกับสัตว์หลายชนิดที่ดูเผิน ๆ อาจไม่น่ารัก แต่สำคัญยิ่งต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ในเมือง

ไม่แน่ว่า เมื่อเราได้รู้จักพวกเขามากขึ้น เราอาจมองเห็นความน่ารักที่ซ่อนอยู่ในตัวพวกเขาก็ได้ หรือต่อให้ยังทำใจมองว่าน่ารักไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็น่าจะได้เห็นความสำคัญและยินดีให้พวกเขาอยู่ร่วมเมืองกับเรา

วันนี้ เรามีวิทยากรมากันเป็นทีมใหญ่ เริ่มจากทีม Nature Play and Learn Club ที่นำโดย ทอม-อุเทน ภุมรินทร์, เอ้-ชุตินธร วิริยะปานนท์ และ บิ๊ก-ปกรณ์ คมขำ ตามมาด้วยผู้เชี่ยวชาญแมลงและแมงมุมจากมูลนิธิโลกสีเขียว นั่นคือ เจท-อธิปัตย์ อู่ศิลปกิจ ทีมแอดมินเพจ ‘นก หนู งูเห่า’ นำโดย อาร์ม-อัครชัย อักษรเนียม, อู๊ด-ปริญญา ภวังค์คะนันทน์ และ แบงค์-ธนาวุธ วรนุช รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศในเมืองอย่าง เต่าดร.ภควัต ทวีปวรเดช

ถ้าพร้อมแล้ว ไปเดินกันเลย

สำรวจสวนเบญจกิติตอนค่ำ ตามหาสรรพสัตว์ที่ออกมาใช้ชีวิตยามค่ำคืน ตั้งแต่บนฟ้าถึงในน้ำ
ทีมวิทยากร (จากซ้ายไปขวา) เจท-อธิปัตย์ อู่ศิลปกิจ, อาร์ม-อัครชัย อักษรเนียม, แบงค์-ธนาวุธ วรนุช, อู๊ด-ปริญญา ภวังค์คะนันทน์, บิ๊ก – ปกรณ์ คมขำ, ทอม-อุเทน ภุมรินทร์, เต่า-ดร.ภควัต ทวีปวรเดช และ เอ้-ชุตินธร วิริยะปานนท์

นักล่าน่ารัก

ก่อนจะไปเจอสัตว์ที่ดูน่ากลัว เรามาเริ่มจากสัตว์ที่ดูน่ารักกันก่อน นั่นจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก ‘นกเค้าจุด’ ผู้โด่งดัง วันนี้น้องทั้งสองตัวยังเกาะอยู่ที่ต้นไทรต้นเดิมที่เราเห็นคราวที่แล้ว

“ไม่ใช่นกเค้าทุกชนิดที่หากินกลางคืน บางชนิดหากินกลางวันก็มี เช่น นกเค้าแคระ ซึ่งอยู่ในป่า เป็นนกเค้าตัวเล็ก มีตาหลอกอยู่ด้านหลัง คือสีขนดูเหมือนลูกตา ส่วนเค้าจุดที่เราเจอนี้ เวลาหากินค่อนข้างยืดหยุ่น ส่วนใหญ่เป็นช่วงโพล้เพล้กับใกล้รุ่งสาง เขาจะกินพวกแมลงปีกแข็งหรือหนูตัวเล็ก ๆ เป็นผู้ช่วยเกษตรกรที่ดีมาก บริการกำจัดศัตรูพืช เช่น ด้วงมะพร้าว แบบไม่คิดค่าบริการเลย” ทอมเล่า

สำรวจสวนเบญจกิติตอนค่ำ ตามหาสรรพสัตว์ที่ออกมาใช้ชีวิตยามค่ำคืน ตั้งแต่บนฟ้าถึงในน้ำ

“พอถึงช่วงฤดูจับคู่ผสมพันธุ์ นกเค้าจุดตัวผู้จะหาของขวัญพวกหนอน แมลง มาให้ตัวเมีย เหมือนคนมอบแหวนให้กัน เพื่อแสดงว่าฉันดูแลเธอได้นะ แล้วถ้าตัวเมียยอมรับก็จะไปเลือกโพรงกัน”

นั่นคือความสำคัญของการมีต้นไม้ใหญ่ในเมือง เพราะนกกลุ่มนี้จะทำรังในโพรงไม้ ด้วยความที่มันเจาะโพรงเองไม่ได้ ก็เลยต้องหาต้นไม้ที่มีโพรงตามธรรมชาติ เช่น เกิดจากกิ่งไม้หักและมีเชื้อราเข้าไป ในพื้นที่ที่โพรงธรรมชาติมีน้อย เราอาจช่วยพวกเขาได้โดยการติดตั้งโพรงรังเทียม ซึ่งนกเค้าจุดต้องการขนาดอย่างน้อย 30 เซนติเมตร

“แต่ถ้าเป็นในป่า นอกจากโพรงธรรมชาติแล้ว มีสัตว์กลุ่มหนึ่งที่เรียกว่าเป็นวิศวกรของผืนป่า เช่น กลุ่มนกหัวขวาน พวกนี้เจาะโพรงได้ และโพรงที่มันไม่ใช้แล้วจะกลายเป็นบ้านมือสองให้สัตว์อื่น ๆ เช่น นกเค้า นกเงือก นกแก้ว ที่เจาะโพรงเองไม่ได้ แล้วก็มีพวกหมี เช่น หมีควาย หมีคน ช่วยทำหน้าที่เป็นวิศวกรเหมือนกัน เขาจะปีนต้นไม้ไปกินน้ำผึ้ง ตะกุยเปลือกไม้ แล้วพอเชื้อราเข้าไปจะเกิดโพรง กลายเป็นบ้านให้สัตว์อื่น ๆ” ทอมเล่าถึงการพึ่งพากันของสัตว์ต่าง ๆ ที่ทำให้เรารู้ว่า การมีสัตว์หลากหลายชนิดช่วยส่งเสริมให้ระบบนิเวศแข็งแรงขึ้นได้อย่างไร

สำรวจสวนเบญจกิติตอนค่ำ ตามหาสรรพสัตว์ที่ออกมาใช้ชีวิตยามค่ำคืน ตั้งแต่บนฟ้าถึงในน้ำ
นกเค้าจุด

ในขณะที่เรากำลังชื่นชมความน่ารักของนกเค้ากันอยู่นั้น ทอมก็เล่าว่า ความน่ารักของนกเค้านี้เองที่นำภัยมาสู่ตัวมัน โดยเฉพาะหลังจากภาพยนตร์เรื่อง แฮร์รี่ พอตเตอร์ ออกฉาย มีความต้องการนกเค้ามาเป็นสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก จนประชากรนกเค้าตามธรรมชาติลดลง ยิ่งไปกว่านั้น หลายคนที่ซื้อนกเค้ามาเลี้ยงมักไม่มีความรู้ในการเลี้ยงที่ดีพอ ให้อาหารไม่ถูกต้อง จนนกเค้าหลายตัวมีภาวะขาดแคลเซียม กระดูกพิการถาวร และกลับสู่ธรรมชาติไม่ได้ตลอดชีวิต หรือบางตัวก็บินชนพัดลมเพดานจนปีกขาดก็มีไม่น้อย

ผลที่ตามมาจากการที่นกเค้าลดลงก็คือ ธรรมชาติขาดผู้ควบคุมประชากรแมลง ดังนั้น เราจึงไม่ควรซื้อสัตว์ป่ามาเลี้ยง โดยวิธีที่ดีกว่าถ้าเราอยากชื่นชมความน่ารักของนกเค้า ก็คือการเก็บรักษาพื้นที่ธรรมชาติ พื้นที่สีเขียวในเมือง เก็บรักษาต้นไม้ใหญ่เพื่อให้พวกเขามีที่อยู่อาศัยและใช้ชีวิต เป็นความรักที่ไม่ต้องกักขัง พวกเขาก็จะช่วยเรากลับด้วยการกินแมลงศัตรูต้นไม้ของเราแบบฟรี ๆ

What the Frog!

ขณะที่ความมืดเข้าปกคลุมพื้นที่ สายฝนก็ยังโปรยปรายไม่หยุด ทำให้แผนเดิมที่กลุ่มวิทยากรตั้งใจจะวางกับดักแสงเพื่อดูผีเสื้อกลางคืนเป็นอันต้องล้มพับไป แต่ในอีกมุมหนึ่ง ช่วงเวลาฝนพรำเช่นนี้ก็ถือเป็นเวลาทองที่เหล่ากบเขียดกำลังเริงร่า ทำให้เรามีโอกาสเจอตัวพวกเขาง่ายขึ้น

เมื่อเราเดินเข้าสู่โซนพื้นที่ชุ่มน้ำ ก็ได้ยินเสียงสัตว์กลุ่มหนึ่งดังมาจากบึง เจทเล่าว่าการที่พวกเขาร้องก็เพื่อหาคู่ผสมพันธุ์ ไม่นานเราก็ได้สบตาหนึ่งในเจ้าของเสียง ซึ่งอาร์มจับมาให้พวกเราดู – น้องตัวนี้มีชื่อว่า ‘อึ่งอ่างบ้าน’

สำรวจสวนเบญจกิติตอนค่ำ ตามหาสรรพสัตว์ที่ออกมาใช้ชีวิตยามค่ำคืน ตั้งแต่บนฟ้าถึงในน้ำ
อึ่งอ่างบ้าน

“ชนิดนี้พบตามบ้านได้บ่อย เพราะปีนต้นไม้ ปีนผนังเก่ง ที่ผิวหนังของเขามีเมือกที่ลื่นมาก ถ้าสัมผัสจะเริ่มเหนียว เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ล่ากินมันได้ง่าย ๆ” อาร์มอธิบาย

เขาเล่าต่อว่า จุดเด่นของอึ่งอ่างคือพองตัวได้เมื่อรู้สึกถูกคุกคาม วันนี้เขาจับน้องขึ้นมาเพื่อการศึกษา เมื่อทุกคนได้เห็นแล้วก็ปล่อยน้องไป พอปล่อยตัวน้องก็แฟบลงอย่างชัดเจน

“สัตว์กลุ่มนี้ ผิวหนังจำเป็นต้องชื้นตลอดเวลาเพื่อแลกเปลี่ยนก๊าซ ถ้าผิวแห้งจะหายใจไม่ออก แม้ว่ามันจะหายใจด้วยปอดได้ แต่จะแบ่งสัดส่วนระหว่างปอดกับผิวหนัง ทางผิวหนังมีสัดส่วนค่อนข้างเยอะ” อาร์มอธิบายเหตุผลที่ทำให้สัตว์กลุ่มนี้ต้องอยู่ใกล้แหล่งน้ำแม้ว่าจะโตเต็มวัยแล้ว สำหรับอึ่งอ่างบ้าน ในช่วงฤดูแล้งมันจะขุดดินไปหลบเพื่อจำศีล ทำให้เราไม่ค่อยได้เห็น

ถัดจากอึ่งอ่าง ไม่นานเราก็ได้เจอเพื่อนของมันอีกชนิด ตัวนี้ตัวเล็กกว่า เขาคือ ‘ปาดบ้าน’ จุดเด่นของปาดคือ ปลายนิ้วมีตุ่มใหญ่ ๆ ที่มีความเหนียวเพื่อช่วยยึดเกาะกับผนังเวลาปีนป่าย ภาษาอังกฤษของปาดคือ Tree Frog

สำรวจสวนเบญจกิติตอนค่ำ ตามหาสรรพสัตว์ที่ออกมาใช้ชีวิตยามค่ำคืน ตั้งแต่บนฟ้าถึงในน้ำ
ปาดบ้าน

“ถ้าบ้านใครมีบ่อปลา อาจเคยเห็นโฟมสีเหลือง ๆ อยู่ข้างบ่อ นั่นคือโฟมของปาดบ้าน ช่วงมีฝน มันจะออกมาจับคู่ผสมพันธุ์ริมน้ำ บางทีก็เกาะตามใบไม้เหนือน้ำ ขี่หลังกัน สร้างโฟมออกมาแล้วก็วางไข่ ลูกปาดที่ออกจากไข่ก็จะหล่นลงไปในน้ำ กลายเป็นลูกอ๊อด ก่อนจะกลายมาเป็นปาดตัวจิ๋ว” อาร์มอธิบายวงจรชีวิตของปาด

นอกจากสองชนิดนี้แล้ว สวนแห่งนี้ยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกอีกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นคางคกบ้าน ที่มีจุดเด่นคือผิวหนังขรุขระและมีต่อมพิษที่ผิวหนัง เขียดน้ำนองหรือเขียดทราย ที่พบได้บ่อยในกรุงเทพฯ ตามแหล่งน้ำนิ่ง ลอยตัวในน้ำได้ แล้วก็ยังมีอึ่งน้ำเต้า อึ่งหลังจุด กบนา กบหนอง เขียดบัว และอื่น ๆ

สำรวจสวนเบญจกิติตอนค่ำ ตามหาสรรพสัตว์ที่ออกมาใช้ชีวิตยามค่ำคืน ตั้งแต่บนฟ้าถึงในน้ำ

หากถามว่าการที่เมืองมีเหล่ากบ เขียด ปาด อึ่งอ่าง คางคก สำคัญยังไง คำตอบก็คือสัตว์กลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญในการควบคุมประชากรแมลง เช่น แมลงเม่า ไปจนถึงแมลงศัตรูพืชอีกหลายชนิด พวกเขาจึงเป็นเหมือนเจ้าหน้าที่ของสวนที่ช่วยดูแลต้นไม้ให้เราอีกทางด้วย แม้แต่ลูกอ๊อดของพวกมันก็ช่วยกินลูกน้ำยุงลายได้ ทำให้ท่ามกลางความมืดตอนนี้ เราไม่ถูกยุงหาม

แต่ข่าวร้ายก็คือ ทุกวันนี้ประชากรกบทั่วโลกลดลงอย่างมาก ทั้งจากการสูญเสียที่อยู่อาศัย ไวรัส โรคและสารเคมีต่าง ๆ ทำให้กบหลายชนิดเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ดังนั้น การที่เราได้เห็นสัตว์กลุ่มนี้หลายชนิดยังเริงร่าอยู่ในสวนแห่งนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าดีใจ

Spider & Man

จากพื้นที่ชุ่มน้ำสู่ถนนสายหลักกลางสวน เจทชวนให้เราส่องไฟดูตามลำต้นของต้นไม้ใหญ่สองข้างทางพร้อมบอกว่า มีแมงมุมชนิดหนึ่งที่อยากให้ทุกคนได้เจอมาก นั่นคือ ‘แมงมุมเปลือกไม้ลายประดับ’ มันพรางตัวกับเปลือกไม้อย่างแนบเนียน วิธีการหาคือใช้ไฟฉายส่อง ถ้าเจอตัว จะเห็นตาของเขาสะท้อนแสงวาว ๆ เหมือนลูกแก้วเล็ก ๆ

“แมงมุมกลุ่มนี้พอแม่วางไข่ตรงไหน ลูกที่เกิดมาจะมีสีสันและลวดลายคล้ายกับสิ่งแวดล้อมตรงนั้น เช่น ถ้าไปเกิดใกล้ ๆ ไลเคน ลายจะเหมือนไลเคนตรงนั้น และพอโตสีก็จะไม่เปลี่ยนแล้ว” เจทเล่าถึงความมหัศจรรย์ของแมงมุมชนิดนี้

“โลกของแมงมุมมีหลากหลายมาก นอกจากจะมีแมงมุมเปลือกไม้ลายประดับที่พรางตัวกับต้นไม้แล้ว ก็มีแมงมุมบางชนิดที่พรางตัวเนียนเหมือนดอกไม้ หรือบางชนิดปลอมตัวเลียนแบบแมลง เช่น มด ผึ้ง แตน เพื่อจับกิน บางชนิดเดินบนน้ำได้ก็มี เช่น แมงมุมหมาป่า หรือถ้าเป็นในป่าก็มีแมงมุมกินปลาที่ดำน้ำได้ โดยจะมีแผ่นปิดก้น เหมือนมีระฆังครอบไว้ มันจะเป่าลมเข้าข้างในก่อนดำน้ำลงไป”

เหล่าแมงมุมที่เจทพูดถึงนี้ เป็นแมงมุมกลุ่มที่ไม่สร้างใย แต่จะใช้วิธีวิ่งไล่ตะครุบเหยื่อ พวกนี้เกิดมาบนโลกก่อนกลุ่มแมงมุมที่สร้างใย ซึ่งวิวัฒนาการขึ้นมาในภายหลัง

ด้วยความที่สายฝนยังโปรยลงมาไม่หยุด ทำให้เหล่าแมลงและแมงมุมไปหลบซ่อนตัวกัน เราเลยอดเจอแมงมุมเปลือกไม้ลายประดับในตำนาน แม้ว่าจะไม่เจอแมงมุม เราก็ได้เจอจิ้งจกชนิดหนึ่งที่มีสีสันพรางตัวเนียนกับเปลือกไม้แทน อาร์มบอกว่านี่คือ ‘จิ้งจกหางแบน’ จุดเด่นคือหางเป็นแผ่นลากไปกับเปลือกไม้ พบได้บ่อยตามต้นไม้ ถ้าเราหาเจอ

สำรวจสวนเบญจกิติตอนค่ำ ตามหาสรรพสัตว์ที่ออกมาใช้ชีวิตยามค่ำคืน ตั้งแต่บนฟ้าถึงในน้ำ
จิ้งจกหางแบน

“ในกรุงเทพฯ มีจิ้งจกประมาณ 5 ชนิด นอกจากจิ้งจกหางแบนแล้ว ก็มีจิ้งจกหางหนาม ที่หางเป็นทรงกระบอกและมีหนามเล็ก ๆ อีกชนิดคือจิ้งจกหางหนามหลังปุ่ม แล้วก็มีจิ้งจกดินสยามที่จะอยู่ตามพื้นดิน แล้วก็จิ้งจกหินสีจางที่เป็นสีครีม ๆ พบได้ตามบ้านทั่วไป” ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์เลื้อยคลานบอกจุดสังเกตที่อาจทำให้เราสนุกกับการมองจิ้งจกมากขึ้น

สำรวจสวนเบญจกิติตอนค่ำ ตามหาสรรพสัตว์ที่ออกมาใช้ชีวิตยามค่ำคืน ตั้งแต่บนฟ้าถึงในน้ำ

จากทางเดินริมถนน เราเข้าสู่พื้นที่ชุ่มน้ำอีกครั้ง เมื่อส่องไฟดูใต้ใบไม้ตามกอพืชน้ำ เราจะเห็นในสิ่งที่กลางวันไม่ค่อยเจอ นั่นคือใยแมงมุมมากมาย เพราะแมงมุมกลุ่มชักใยนี้ มักสร้างใยช่วงหัวค่ำเพื่อดักแมลงยามค่ำคืน

สำรวจสวนเบญจกิติตอนค่ำ ตามหาสรรพสัตว์ที่ออกมาใช้ชีวิตยามค่ำคืน ตั้งแต่บนฟ้าถึงในน้ำ
แมงมุมตาหกเหลี่ยม

จากก่อนหน้านี้เมื่อเราเห็นใยแมงมุม เราก็จะรู้แค่ว่านี่คือแมงมุม ตัวไหน ๆ ก็เหมือนกันหมด แต่คราวนี้เมื่อได้ลองสังเกตมากขึ้น การดูแมงมุมก็สนุกขึ้น เริ่มตั้งแต่การสังเกตรูปแบบของใย เจทเล่าว่ามีหลายแบบ เริ่มจากกลุ่มที่ชักใยเป็นวงกลมสวยงามแบบที่เราคุ้นเคย นั่นคือกลุ่ม ‘แมงมุมใยกลม’ ต่อด้วยกลุ่มที่สร้างใยยุ่งเหยิงที่เรียกว่ากลุ่ม ‘แมงมุมใยยุ่ง’ เจ้าของหยากไย่ตามมุมบ้าน ไปจนถึงกลุ่มที่ยิงใยเป็นเส้นยาว ๆ เดี่ยว ๆ เหมือนสไปเดอร์แมน ซึ่งมีฉายาว่า ‘นักล่าใยเดี่ยว’

หนึ่งในนักล่าใยเดี่ยวที่เราได้เจอหลายตัวในวันนี้ ก็คือ ‘แมงมุมเขี้ยวยาว’ ที่มีจุดเด่นคือปลายปากมีเขี้ยวคู่หนึ่งยาวเด่นชัด พวกนี้มักสร้างใยเหนือผิวน้ำเป็นเส้นยาว ๆ

“ในน้ำจะมีพวกริ้นหรือลูกน้ำยุง ซึ่งพวกนี้พอขึ้นจากน้ำ มันต้องใช้ระบบปั๊มเพื่อดันปีกออกมา ทำให้ต้องหาที่เกาะริมน้ำ แมงมุมชนิดนี้ก็จะสร้างใยเป็นเส้นไว้รอ พอพวกนี้มาเกาะ แมงมุมก็จับกิน” เจทเล่าถึงกลยุทธ์สุดล้ำของนักล่าใยเดี่ยว อีกหนึ่งผู้ควบคุมยุงในเมือง

เขาลองจับแมงมุมเขี้ยวยาวตัวหนึ่งมาใส่กล่องให้ทุกคนได้เห็นชัด ๆ และบอกว่า ตัวนี้เป็นตัวผู้ สังเกตได้จากปลายหนวดที่มีลูกตุ้มเหมือนนวม ข้างในบรรจุสเปิร์มไว้ เมื่อจับคู่ผสมพันธุ์ มันจะใส่นวมนี้เข้าไปที่รูเปิดข้างลำตัวของตัวเมียและหักหนวดนี้คาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวผู้ตัวอื่นมาผสมพันธุ์กับตัวเมียตัวนี้

สำรวจสวนเบญจกิติตอนค่ำ ตามหาสรรพสัตว์ที่ออกมาใช้ชีวิตยามค่ำคืน ตั้งแต่บนฟ้าถึงในน้ำ
แมงมุมเขี้ยวยาว

แต่ข่าวร้ายของพ่อบ้านใจกล้าก็คือ เมื่อผสมพันธุ์เสร็จ ตัวเมียมักจับตัวผู้กินเพื่อนำโปรตีนไปใช้สร้างไข่ ซึ่งเป็นพฤติกรรมเดียวกับกลุ่มตั๊กแตนตำข้าว แต่ถ้าตัวผู้ตัวไหนหนีทันก็โชคดีไป

นอกจากกลุ่มแมงมุมใยเดี่ยวแล้ว เราได้ทำความรู้จักกับแมงมุมใยกลมอีกหลายชนิด ชนิดที่เจอง่ายก็เช่น แมงมุมใยกลมหลังรักบี้ ที่ส่วนหลังเหมือนแบกลูกรักบี้ มักอยู่ตามยอดหญ้า เริ่มออกหากินช่วงน้ำค้างหยดแรกของค่ำคืน แต่ที่พิเศษของคืนนี้ก็คือ เราได้เจอแมงมุมเขี้ยวยาวตัวหนึ่งซึ่งปกติเป็นนักล่าใยเดี่ยว แต่ตอนนี้มันกำลังไต่อยู่บนใยกลม ๆ ของแมงมุมชนิดอื่น

“เวลาแมงมุมเดินบนใย มันจะเดินด้วยเล็บ ใช้เล็บเกี่ยวใย นี่คือเหตุผลที่ทำให้มันไม่ติดใยตัวเอง และเดินบนใยของแมงมุมตัวอื่นได้”

สำรวจสวนเบญจกิติตอนค่ำ ตามหาสรรพสัตว์ที่ออกมาใช้ชีวิตยามค่ำคืน ตั้งแต่บนฟ้าถึงในน้ำ
แมงมุมเขี้ยวยาวที่เดินบนใยของแมงมุมใยกลม

มาถึงคำถามสุดฮิตที่ต้องมีคนสงสัย นั่นก็คือแมงมุมมีพิษไหม เจทไขข้อข้องใจว่า แมงมุมทุกชนิดมีพิษ แต่ส่วนใหญ่พิษอ่อนและไม่เป็นอันตรายต่อคน ที่พิษร้ายจริง ๆ มีแค่ไม่กี่ชนิดเท่านั้น และส่วนใหญ่ถ้ามันไม่รู้สึกว่าถูกคุกคามแบบจวนตัว ก็มักหนีมากกว่าจะเข้ามาทำร้ายเรา

นอกจากแมงมุมแล้ว สัตว์อีกชนิดที่เหล่าวิทยากรพยายามมองหาในบึงนี้ก็คือเต่าบัว ซึ่งเคยมีคนเจอที่นี่ แต่น่าเสียดายที่วันนี้น้องไม่มาโชว์ตัว

พาเดินสวนเบญจกิติหลังตะวันตกดิน เยือนถิ่นแก๊งอเวนเจอร์ส หาคำตอบว่าทำไมสิ่งมีชีวิตพวกนี้ถึงเป็นซูเปอร์ฮีโร่ของเมือง

แม้เต่าบัวจะเป็นเต่าที่หน้าตาดูธรรมดา เหมือนเต่าที่เจอตามวัด แต่ทอมเล่าว่ามันเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ เพราะถูกคนจับไปทำยาเยอะ อีกทั้งปัญหาการสูญเสียที่อยู่อาศัย พื้นที่ชุ่มน้ำธรรมชาติหายไป บ่อน้ำใหญ่ในเมืองหลายแห่งก็ถูกทำเป็นขอบปูน ทำให้เต่าขึ้นมาเกาะพักไม่ได้ เพราะเต่าเหล่านี้หายใจด้วยปอด อยู่ในน้ำตลอดเวลาไม่ได้

แม้วันนี้เราจะไม่ได้เห็นเต่าบัว แต่แค่ได้รู้ว่าที่นี่เป็นสถานที่เหมาะสมที่น้องจะมีชีวิตอยู่แบบปลอดภัยได้ เราก็ดีใจแล้ว

มนุษย์ & ค้างคาว

ระหว่างเรากำลังส่องหาแมงมุม ดร.เต่า ก็ส่องไฟฉายกะพริบเรียกให้เราไปดูค้างคาวแม่ไก่ที่กำลังเกาะกินผลบนต้นโพธิ์ แต่เสียดายที่พอเดินไปถึง น้องก็บินผ่านหัวพวกเราไป

“ค้างคาวแม่ไก่เป็นค้างคาวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในไทย เป็นค้างคาวกินผลไม้ เวลาหากินจะห้อยหัวไต่ไปตามกิ่งไม้” ดร.เต่า เล่าให้ฟัง

พาเดินสวนเบญจกิติหลังตะวันตกดิน เยือนถิ่นแก๊งอเวนเจอร์ส หาคำตอบว่าทำไมสิ่งมีชีวิตพวกนี้ถึงเป็นซูเปอร์ฮีโร่ของเมือง
ค้างคาวแม่ไก่ภาคกลาง
ภาพ : ทรงพล สังข์งาม

ส่วนทางกลุ่มของทอมที่แยกไปอีกทาง ได้เจอกับฝูงค้างคาวขอบหูขาวกลางที่กำลังปาร์ตี้ผลสุกบนต้นตะขบ ซึ่งเขาเล่าว่า ค้างคาวกลุ่มนี้มีหน้าที่สำคัญในการช่วยต้นไม้กระจายเมล็ด และพวกเขาก็ไม่ได้กินแค่ผลไม้เท่านั้น แต่ยังกินน้ำหวานจากดอกไม้ด้วย ทำให้พวกเขาคือผู้ทำหน้าที่ผสมเกสรที่เข้าเวรกะกลางคืน ช่วยผสมเกสรดอกไม้ที่บานยามค่ำคืน เช่น ดอกทุเรียน ดอกสะตอ นั่นแปลว่าถ้าเราไม่มีค้างคาวกินผลไม้ เราก็อาจไม่มีทุเรียนกิน

พาเดินสวนเบญจกิติหลังตะวันตกดิน เยือนถิ่นแก๊งอเวนเจอร์ส หาคำตอบว่าทำไมสิ่งมีชีวิตพวกนี้ถึงเป็นซูเปอร์ฮีโร่ของเมือง
ค้างคาวขอบหูขาวกลาง
ภาพ : อุเทน ภุมรินทร์

ค้างคาวในไทยแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ คือค้างคาวกินผลไม้และค้างคาวกินแมลง ค้างคาวกินผลไม้ตาโต เพราะใช้ตามอง หน้าตาน่ารักเหมือนลูกหมาห้อยหัว แต่ถ้าเป็นค้างคาวกินแมลง ตาจะเล็กมาก เพราะใช้ระบบเสียงนำทางเป็นหลัก หรือที่เรียกว่า Echolocation ซึ่งมันจะรู้ตำแหน่งแมลงที่แม่นยำมาก ใบหน้าของมันแบน ๆ และยับยู่ยี่ หูกางใหญ่ ทำหน้าที่เหมือนจานดาวเทียมสะท้อนคลื่นเสียง

ส่วนเจทก็ชวนดูความแตกต่างที่เห็นได้ระหว่างบิน คือค้างคาวกินผลไม้จะไม่มีแผ่นปิดหาง ทำให้เวลาบินจะเห็นเหมือนมันใส่กางเกงขาก๊วย แต่ถ้าเป็นค้างคาวกินแมลง จะมีแผ่นปิดที่หาง เพราะมันใช้แผ่นนี้ตวัดแมลงเข้าปาก

บางคนถามถึงเรื่องเชื้อโรคในค้างคาว วิทยากรจากเพจ ‘นก หนู งูเห่า’ อธิบายว่า แม้ในร่างกายค้างคาวจะมีเชื้อโรค แต่ถ้าเราไม่ได้ไปสัมผัสมัน โอกาสติดเชื้อโรคก็น้อย เพราะค้างคาวพวกนี้ไม่ค่อยมายุ่งกับคน และเราอยู่ร่วมเมืองกับมันได้

พาเดินสวนเบญจกิติหลังตะวันตกดิน เยือนถิ่นแก๊งอเวนเจอร์ส หาคำตอบว่าทำไมสิ่งมีชีวิตพวกนี้ถึงเป็นซูเปอร์ฮีโร่ของเมือง

จากนั้น เราเดินมาจบที่บ่อวงกลมริมอัฒจันทร์ หรือที่ทีมวิทยากรตั้งชื่อให้ว่า ‘บ่อค้างคาว’ เพราะช่วงหัวค่ำมักมีค้างคาวกินแมลงบินฉวัดเฉวียนเพื่อโฉบกินแมลงที่ผิวน้ำ แต่ด้วยความที่ฝนตก แมลงไม่ออกมา โชว์นี้จึงเลื่อนเวลาออกไป จนกระทั่งก่อนที่เราจะแยกย้าย ฝนเริ่มซาพอดี ทำให้โชว์บินผาดโผนได้เริ่มขึ้น

“ค้างคาวกินแมลงช่วยเรากินยุงได้เยอะมาก ค้างคาวกินแมลง 1 ตัวอาจกินยุงได้มากถึง 1,300 ตัวใน 1 คืน” ทอมสรุปถึงความสำคัญของสัตว์ชนิดนี้

พาเดินสวนเบญจกิติหลังตะวันตกดิน เยือนถิ่นแก๊งอเวนเจอร์ส หาคำตอบว่าทำไมสิ่งมีชีวิตพวกนี้ถึงเป็นซูเปอร์ฮีโร่ของเมือง

“สิ่งมีชีวิตในเมืองทุกชนิดล้วนช่วยพยุงระบบนิเวศในเมือง อย่างต้นไม้ต่าง ๆ ในสวน เราไม่ต้องทำอะไร ก็จะมีสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ช่วยดูแลสวนให้เราฟรี ๆ 24 ชั่วโมง บางชนิดช่วยปลูกต้นไม้ บางชนิดช่วยผสมเกสร บางชนิดช่วยควบคุมศัตรูพืช ถ้าเราไม่ออกมาเรียนรู้ ไม่ทำความรู้จัก เราจะไม่มีทางเข้าใจว่าจะมีสัตว์เหล่านี้ไปทำไม เราจะมีงูเขียวพระอินทร์ มีตัวอ่อนแมลงปอ มีค้างคาวไปทำไม”

ส่วนเจทก็เสริมถึงประเด็นที่เป็นปัญหาใหญ่สำหรับสัตว์กลางคืนในทุกวันนี้ นั่นคือมลภาวะทางแสง ที่เมื่อความมืดยามค่ำคืนหายไป สัตว์หลายชนิดก็ใช้ชีวิตลำบากและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เช่น หิ่งห้อย ที่ใช้แสงเพื่อสื่อสารและหาคู่ แต่เมื่อกรุงเทพฯ เต็มไปด้วยแสงไฟ แสงเล็ก ๆ อย่างหิ่งห้อยจึงไม่อาจสู้ได้และหายไปจากเมืองกรุง ส่วนสัตว์ที่ต้องอพยพหลายชนิด เช่น นก แมลง ก็อาจบินหลงทิศเพราะแสงไฟในเมือง จนบินไม่ถึงจุดหมายและตายระหว่างทางจำนวนมาก แม้แต่ลูกเต่าทะเลที่เพิ่งฟักออกจากไข่ บางตัวก็ถูกดึงดูดด้วยแสงไฟในเมือง ทำให้มุ่งหน้าเข้าเมืองแทนที่จะลงทะเล

“วิธีแก้ง่าย ๆ อย่างหนึ่งก็คือการปรับรูปโคมไฟตามถนน จากที่เคยส่องกระจายทุกทิศ ก็ปรับโคมให้ส่องเฉพาะลงดิน หรือแสงไฟตามทางเดินก็อาจออกแบบให้ส่องเฉพาะพื้น ก็จะช่วยลดแสงฟุ้งกระจายขึ้นฟ้าได้”

พาเดินสวนเบญจกิติหลังตะวันตกดิน เยือนถิ่นแก๊งอเวนเจอร์ส หาคำตอบว่าทำไมสิ่งมีชีวิตพวกนี้ถึงเป็นซูเปอร์ฮีโร่ของเมือง

เจองูกับเจอแขก ไม่ต้องตีทั้งแขก ไม่ต้องตีทั้งงู

ขณะที่เรากำลังเดินกลับไปที่ทางออกของสวน กลุ่มวิทยากรด้านสัตว์เลื้อยคลานก็พาเราไปพบกับงู 2 ตัว ซึ่งเขาบอกว่า น้องคืองูเขียวหางไหม้ตาโต ตัวหนึ่งตาขวาบอด สังเกตจากที่ไม่มีลูกตาขวา

“ในกรุงเทพฯ มีงูเขียวหางไหม้ 2 ชนิด คือหางไหม้ตาโตกับหางไหม้ท้องเหลือง แต่ไม่ใช่งูเขียวทุกชนิดที่มีพิษ บางชนิดพิษอ่อนมากและไม่เป็นอันตราย เช่น งูเขียวพระอินทร์ งูเขียวปากจิ้งจก งูเขียวปากแหนบ ส่วนบางชนิดไม่มีพิษ เช่น งูเขียวกาบหมาก ซึ่งตัวค่อนข้างใหญ่” แบงค์อธิบาย

พาเดินสวนเบญจกิติหลังตะวันตกดิน เยือนถิ่นแก๊งอเวนเจอร์ส หาคำตอบว่าทำไมสิ่งมีชีวิตพวกนี้ถึงเป็นซูเปอร์ฮีโร่ของเมือง
งูเขียวหางไหม้ตาโตที่ตาขวาบอด

ในขณะที่ทุกคนกำลังตื่นเต้นกับงูตรงหน้า ทอมก็บอกว่า หากเราเจองูเข้าบ้านและไม่แน่ใจว่าเป็นชนิดไหน ก็ถ่ายภาพและส่งไปถามในไลน์ ‘งูเข้าบ้าน’ (Line ID : @sde5284v) ได้ จะมีทีมผู้เชี่ยวชาญจากเพจ ‘นก หนู งูเห่า’ และกลุ่ม ‘siamensis’ คอยตอบให้ และถ้าเป็นงูพิษก็เรียกกู้ภัยให้มาช่วยจับได้

ขณะที่คนมากมายกำลังมุงล้อมงู 2 ตัวที่อยู่ตรงกลางวง แบงค์วิทยากรของเราใช้ไม้รูปตัวยูเกี่ยวไว้ไม่ให้น้องเลื้อยไปใกล้คนเกินไป เอ้ก็บอกเพื่อให้ทุกคนลดความกลัวงูลงว่า ถ้าเราไม่ทำอะไรให้เขารู้สึกไม่ปลอดภัย เขาก็ไม่ทำอะไรเรา

พาเดินสวนเบญจกิติหลังตะวันตกดิน เยือนถิ่นแก๊งอเวนเจอร์ส หาคำตอบว่าทำไมสิ่งมีชีวิตพวกนี้ถึงเป็นซูเปอร์ฮีโร่ของเมือง
งูเขียวหางไหม้ตาโต

“ลองดูก็ได้ค่ะ ถ้าเราลองยืนนิ่ง ๆ ไม่ไปทำอะไรเขา เขาจะแค่เลื้อยผ่านเราและหาทางออก” เอ้ชวนให้ทุกคนทำการทดลองเล็ก ๆ

จากนั้นวิทยากรก็เริ่มปล่อยงูให้เป็นอิสระ เจ้างูเลื้อยไปทางผู้เข้าร่วมทริปคนหนึ่ง ซึ่งยืนนิ่งไม่ขยับ ท่ามกลางความลุ้นของทุกคน…

และก็เป็นจริงอย่างที่เอ้พูด แม้งูจะเลื้อยผ่านเท้าของผู้ร่วมทริปคนนั้น มันก็ไม่ได้มีท่าทีที่จะฉกใด ๆ และเลื้อยผ่านไปอย่างชิลล์ ๆ

“งูรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ ปกติถ้าได้ยินเสียงเราเข้าใกล้ เขาก็มักจะเลื้อยหนีไปก่อน แต่ถ้าประจันหน้ากันแบบกะทันหัน เราก็แค่นิ่ง แล้วเขาก็จะเลื้อยหนีไป” เอ้สรุป ซึ่งเป็นบทสรุปเดียวกับที่ ทรงกลด บางยี่ขัน แห่ง The Cloud กล่าวไว้ตอนท้ายของกิจกรรมว่า หากเราทำความเข้าใจ เราและสัตว์เหล่านี้ก็อยู่ร่วมเมืองกันได้

“หลายครั้งเรามีอคติกับความไม่คุ้นเคย มีอคติกับสัตว์บางประเภทที่รู้สึกว่าน่ากลัว น่าเกลียด แล้วก็แก้ปัญหาด้วยความคิดที่ว่า อย่าอยู่ร่วมกันเลย ฆ่าบ้าง ตีบ้าง วันนี้ที่วิทยากรชวนให้เราลองจับสัตว์หลายชนิด ก็เพื่ออยากให้เรารู้สึกว่า มันก็ไม่ได้น่าเกลียดน่ากลัวหรือน่าขยะแขยงนี่นา เขาก็เป็นเพื่อนร่วมโลกกับเราได้

“เมืองนี้ โลกใบนี้ เป็นของสิ่งมีชีวิตทุกอย่าง เราควรจะอยู่ร่วมกันได้ แต่ก่อนที่จะอยู่ร่วมกันได้ เราก็ต้องรู้จักและเข้าใจกันก่อน หลังจากนั้นเราก็จะอยู่ร่วมกันแบบมีบทบาทหน้าที่ของตนเองและเกื้อกูลกัน”

พาเดินสวนเบญจกิติหลังตะวันตกดิน เยือนถิ่นแก๊งอเวนเจอร์ส หาคำตอบว่าทำไมสิ่งมีชีวิตพวกนี้ถึงเป็นซูเปอร์ฮีโร่ของเมือง

Writer

Avatar

เมธิรา เกษมสันต์

นักเขียนอิสระ เจ้าของเพจ ‘Nature Toon การ์ตูนสื่อความหมายธรรมชาติ’ สนใจเรื่องธรรมชาติ ระบบนิเวศ สรรพสัตว์ โลกใต้ทะเล และการใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีผลงานหนังสือแล้ว 2 ชุด คือ ‘สายใยที่มองไม่เห็น’ และ ‘สายใยใต้สมุทร’

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ