การทำงานหนักมาถึง 11 ปีไม่ได้ไร้ประโยชน์ ชื่อเสียงที่ผมมีช่วยทำให้สังคมดีขึ้นได้ นับเป็นการคืนให้สังคมและเป็นบุญของชีวิต” 

นิชคุณ หรเวชกุล บอกเราในวันที่เขาโลดแล่นอยู่ในวงการบันเทิงระดับเอเชียมากว่าทศวรรษ พร้อมไปกับทำงานเพื่อสังคมในฐานะ Friend of Unicef อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 

การเติบโตในวงการบันเทิงต่างประเทศเปิดโอกาสให้เขาได้เจอโลกกว้าง เปิดหูเปิดตาเก็บประสบการณ์หลากหลาย แต่การร่วมทำงานสังคมในบ้านเกิดนับเป็นการเปิดมุมมองให้เขาได้รับรู้ปัญหาในสังคมไทยมากมายที่ถูกเร้นไว้และเราส่วนใหญ่มองข้ามมาตลอด 

ความสำเร็จและชื่อเสียงอาจเคยเปลี่ยนแปลงชีวิตของเด็กขี้อายให้กลายเป็นซูเปอร์สตาร์ที่ใครต่างคลั่งไคล้ แต่การทำงานเพื่อสังคมได้หล่อหลอมมุมมองชีวิต ความคิด และจิตใจของเขาให้แตกต่างไปจากเดิม

ไม่ว่าจะเป็นการนิยามความสำเร็จใหม่ ความเข้าใจสัจธรรมของงานและวงการ ไปจนถึงความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสังคมในประเทศไทยให้ได้

ทุกเรื่องที่เขาเล่ามาคล้ายบอกเป็นนัยว่า ณ วันนี้เขารู้ชัดแล้วว่า คุณค่าที่แท้จริงของชีวิตคืออะไร

นิชคุณ หรเวชกุล ในวัย 31 ที่มีการทำงานเพื่อสังคมเป็นแรงผลักดันให้เดินหน้าต่อในวงการบันเทิง

จากจุดเล็กๆ ที่เคยมองข้าม

นับตั้งแต่ค่าย JYP เปิดตัวนิชคุณเป็นหนึ่งในสมาชิกวง 2PM เส้นทางในชีวิตของเด็กชายขี้อายคนนี้ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เขากลายเป็นนักร้องและไอดอลชื่อดังในประเทศเกาหลีใต้ที่มีโอกาสเดินทางไปทำงานในสถานที่ไม่ซ้ำแต่ละวัน ถึงขนาดเดินทาง 3 ประเทศใน 1 วัน โดยแทบไม่ได้หยุดพัก

กลุ่มแฟนคลับของนิชคุณเคยเก็บสถิติว่าใน 1 ปี (ปี 2014) เขาเดินทางด้วยเครื่องบินเป็นระยะทาง 195,540 กิโลเมตร นับว่าเดินทางรอบโลกได้ 4.88 รอบ หรือหากจะนับไประยะทางไปดวงจันทร์ก็ได้เกือบครึ่งทางทีเดียว

แต่ท่ามกลางโลกใบใหญ่ที่เขาได้เดินทางไป ไม่เคยมีที่ใดกระตุกให้หัวใจของเขาสั่นสะเทือนจนไม่เคยลืมได้ เท่ากับพื้นที่แห่งหนึ่งในเมืองหลวงของประเทศไทย ที่หลบเร้นความเหลื่อมล้ำมากมายภายใต้ความศิวิไลซ์ของเมือง

“ท่ามกลางตึกสูงและความหรูหราของกรุงเทพ มีจุดที่ไม่รู้ว่าเราต่างมองไม่เห็นหรือบางคนเลือกที่จะไม่มองมันเราต่างขับรถผ่านบนทางด่วนทุกวัน แต่ไม่เคยรับรู้เลยว่าข้างล่างทางด่วนนั้นมีชุมชนขนาดใหญ่ ที่คนอาศัยอยู่ในนั้นมีความเป็นอยู่ที่ไม่ดีและแทบไม่มีอะไรเลย” เขาเริ่มเล่าถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ซ่อนอยู่

และชุมชนที่เขาพูดถึงนั้นคือ ชุมชนคลองเตย

หลังจากที่ได้มาทำงานเพื่อสนับสนุนการรณรงค์ด้านสิทธิเด็กกับยูนิเซฟ นิชคุณมีโอกาสลงพื้นที่เยี่ยมเด็กๆ ในชุมชนแห่งนี้ และได้สัมผัสสภาพความเป็นอยู่จริงที่เขาจำได้ขึ้นใจ จนปฏิญาณกับตัวเองว่าต้องหาทางช่วยเหลือเด็กๆ เหล่านี้ให้มีชีวิตดีกว่าเดิมให้ได้ 

นิชคุณ Friend of Unicef
นิชคุณ Friend of Unicef

“ผมจำภาพเด็กๆ ที่อยู่ที่คลองเตยได้ดี จำได้ทั้งกลิ่นและสภาพแวดล้อมที่มีทั้งหนู แมลงสาบ ผมไม่รู้ว่าเราปล่อยให้พวกเขาอยู่อย่างนั้นได้ยังไง ทั้งที่ไม่ได้เป็นความผิดของพวกเขาเลยแม้ว่าเขาจะเกิดมาตรงนั้น ผมว่าเราต้องช่วยเหลือกัน ด้วยความเป็นคนไทยด้วยกัน และเป็นมนุษย์ที่อยู่ร่วมในโลกใบเดียวกัน”

แม้ชีวิตและการทำงานส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ที่ประเทศไทย แต่ไม่ว่าครั้งไหนที่กลับมาบ้านแห่งนี้ เขาจะอุทิศเวลาว่างที่มี แม้จะเพียงไม่กี่ชั่วโมง ให้การทำงานด้านรณรงค์ช่วยเหลือเด็กในโครงการมากมายของยูนิเซฟ

“ผมรู้สึกผิดมาก เพราะทำงานอยู่ต่างประเทศตลอด ไม่มีโอกาสได้ไปลงพื้นที่เยี่ยมน้องๆ ในจังหวัดไกลๆ แต่พยายามหาเวลาทำงานนี้ให้มากกว่าเดิมให้ได้ ที่ผ่านมา สิ่งที่ผมได้ดีที่สุดคือการเป็นกระบอกเสียงที่เล่าเรื่องราวปัญหาที่มีมากมายเกินไปผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กและผ่านสื่อต่างๆ เพื่อเรียกให้ทุกคนหันมาสนใจและมาช่วยเหลือกันได้ นั่นคือสิ่งที่ผมต้องทำ”

นิชคุณ หรเวชกุล ในวัย 31 ที่มีการทำงานเพื่อสังคมเป็นแรงผลักดันให้เดินหน้าต่อในวงการบันเทิง

ก่อร่างความคิดและจิตใจ

นิชคุณยอมรับว่า การได้รับรู้ปัญหาสังคมมากมายจากการทำงานนี้ ส่งผลต่อความคิดและจิตใจจนถึงกับเปลี่ยนแปลงการมองโลกของเขาใหม่ และมองเห็นถึงความสำคัญของ ‘การให้’ มากขึ้นกว่าเดิม

“การทำงานเพื่อสังคมเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันให้ผมทำงานในวงการและเดินหน้าต่อไป เพราะรู้ว่าชื่อเสียงที่ได้สร้างมาไม่ไร้ความหมาย ผมใช้ความเป็นดาราและชื่อเสียงที่มีมาใช้คืนกลับให้สังคมได้

“ผมบอกแฟนคลับเสมอว่า วันเกิดผมไม่ต้องซื้อของขวัญมาให้เลยนะ เอาเงินที่ซื้อของขวัญไปบริจาคดีกว่า แล้วเขาก็ทำจริง และส่ง Certificate จากยูนิเซฟมาให้ ดูแล้วมีความสุขและชื่นใจมาก ผมบอกแฟนคลับว่า ถือว่าเป็นการทำบุญร่วมชาติกัน ชาติหน้าจะได้เกิดมาด้วยกันอีกนะ” เขาจบประโยคด้วยรอยยิ้มที่สื่อมาจากใจ

ชีวิตเป็นเหมือนคลื่น

“เมื่อก่อนผมอาจวัดความสำเร็จด้วยการมองว่า ‘เราจะได้ที่เท่าไหร่’ เพลงที่ออกมาต้องติดชาร์ตเป็นที่หนึ่งให้ได้ หรือต้องมีโฆษณาที่มีหน้านิชคุณแปะอยู่ตามบอร์ดรถไฟฟ้าเมืองไทยมากมายแค่ไหน จนคนเกาหลีมาไทยเขาต้องเทกซ์มาหาว่า เจอคุณอีกแล้วนะ แต่เดี๋ยวนี้ผมไม่ได้มองเรื่องแบบนั้นแล้ว”

นิชคุณย้อนเล่าถึงวันที่เขาเคยใช้ชีวิตอยู่กับการไล่ล่าอันดับ แคร์ปริมาณผลงานที่คิดเอาว่านั่นคือการยืนยันถึงความสำเร็จ

 “แต่วันนี้ผมไม่ได้คิดว่าตัวเองต้องดังขนาดไหน” เขาเรียบเรียงความคิดและเล่าต่อไป “ผมไม่กังวลว่าจะต้องมียอด Follower เท่าไหร่ จะต้องดังกว่าใครคนไหน คอนเสิร์ตก็ไม่จำเป็นต้องมีคนมาดูถึงขนาด 15,000 คน เพราะล่าสุดที่แสดงให้คนสองสามพันคนได้ดูแล้วมีความสุขสนุกกัน แล้วผมก็ได้เห็นหน้าทุกคนตรงนั้น นั่นก็นับเป็นความสำเร็จแล้ว 

“เพราะฉะนั้น ความสำเร็จของ ณ เวลานี้คือการที่ได้ทำสิ่งที่ผมรัก ทำให้คนที่รักผมภูมิใจและมีความสุข เท่านั้นพอ” เขาสรุปนิยามความสำเร็จที่แตกต่างจากเดิมไปให้เราฟังเช่นนี้ โดยที่ตัวเขาเองก็ไม่รู้ว่าความคิดนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

นิชคุณ หรเวชกุล ในวัย 31 ที่มีการทำงานเพื่อสังคมเป็นแรงผลักดันให้เดินหน้าต่อในวงการบันเทิง

อาจเป็นเพราะยิ่งโตยิ่งเข้าใจสัจธรรมของชีวิตด้วยใช่ไหม-เราลองถาม

“เป็นเพราะผมเข้าใจว่าดาราคืออาชีพหนึ่ง แต่ไม่ใช่จิตใจของคนใดคนหนึ่ง” เขาว่ามาทันที

“การที่เราคิดว่าตัวเองต้องเป็นดาราตลอดเวลาทำให้เราเป็นโรคทางจิตใจได้เลยนะ” เขาอธิบาย “เมื่อเราขึ้นสูงสุด จากนั้นดิ่งลงมา การยึดติดกับการเป็นดาราทำให้เราเป็นโรคซึมเศร้าได้เลยนะ แต่สำหรับผม ผมรู้แล้วว่านี่คืออาชีพอาชีพหนึ่งที่ผมต้องทำไปจนกว่าผมอยากเลิกทำ ถ้าผมจะลงก็คือลง ถ้ามีคนอยากเรียกใช้อยู่ อยากให้ผมทำงาน ผมก็ทำ แต่ถ้าไม่มี ก็ไม่เป็นไร ผมไปทำกิจกรรมอื่นก็ได้

 “ที่คิดได้อย่างนี้ อาจเพราะผมได้รับคำสอนที่ดีจากพ่อแม่ที่ว่า ‘ไม่ให้ยึดติดกับอะไรมากเกินไป’ คุณพ่อจะบอกเสมอว่า อยู่อย่างพอเพียงก็พอ ส่วนคุณแม่จะเปรียบเทียบให้เข้าใจว่า ชีวิตมีสูงก็ต้องมีต่ำ เหมือนกับคลื่น ที่ต้องมีคลื่นลูกใหม่เข้ามาเรื่อยๆ และซัดแรงกว่าเดิม เราเอาชนะคลื่นลูกหลังเราไม่ได้ เราต้องโดนซัดตลอด ห้ามมันไม่ได้”

ในวัย 31 ปี ที่เข้าใจแก่นแท้ของชีวิตและปล่อยวางการยึดติดที่เคยมีมาได้ เราอยากรู้ว่าความสุขที่สุดของเขาในเวลานี้คืออะไร

“การที่ได้ไปเที่ยวกับครอบครัว” เขาตอบทันทีด้วยสายตาเป็นประกาย “เมื่อต้นปีผมไปโร้ดทริปกับพี่น้องที่อเมริกา ปีหน้าเล็งอยู่ว่าจะพาคุณแม่ไปที่ไหน” เขาหันไปยิ้มกับคุณแม่ ก่อนเล่าว่าการที่เขาได้ดูแลครอบครัวเป็นความสุขยิ่งใหญ่ที่หาอะไรเปรียบไม่ได้

“ตอนนี้กำลังสร้างบ้านใหม่ น้องสาวที่เป็นอินทีเรียเป็นคนออกแบบตกแต่งบ้านอยู่ อีกไม่นานก็น่าจะเสร็จแล้ว” เราเห็นรอยยิ้มเปี่ยมด้วยความสุขในดวงตาและใบหน้าของเขา

นิชคุณ หรเวชกุล ในวัย 31 ที่มีการทำงานเพื่อสังคมเป็นแรงผลักดันให้เดินหน้าต่อในวงการบันเทิง

จากจุดที่เล็กที่สุดในสังคมสู่ผลลัพธ์มหาศาล

ในปีนี้นิชคุณได้ร่วมรณรงค์ให้เด็กๆ เห็นถึงความสำคัญของการอ่าน ในโครงการเด็กทุกคนอ่านได้ Every Child Can Read 

“ผมคิดว่านี่คือโครงการที่ดีที่สุดของยูนิเซฟ เพราะการอ่านเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก” 

การเติบโตมากับการส่งเสริมจากครอบครัวให้รักการอ่าน โดยเริ่มจากการ์ตูนพุทธประวัติแทนการดูรายการโทรทัศน์ หล่อหลอมให้นิชคุณกลายเป็นคนที่หลงเสน่ห์ของหนังสือ และบอกอย่างเต็มปากว่า การอ่านเหมือนเป็น Magic เพราะเขาได้สัมผัสเรื่องน่าอัศจรรย์เช่นนั้นด้วยตัวเอง

Friend of Unicef

“เรื่องที่เหมือน Magic ที่สุดที่ผมเจอคือ นักเขียนคนหนึ่งที่ผมชอบมากชื่อ Paulo Coelho ที่เขียนเรื่อง The Alchemist มาฟอลโลว์ผมในทวิตเตอร์ เพราะผมทวีตเกี่ยวกับหนังสือเรื่องนี้เยอะมาก แล้วเขาก็ส่งหนังสือเรื่องนี้พร้อมลายเซ็นมาให้

“ผมนั่งอ่านหนังสือของเขาแบบไม่ลุกไปไหนเลย จนหันมามองนาฬิกาถึงรู้ว่าผ่านไปแล้วหลายชั่วโมง เขาเล่าเรื่องเก่งมาก ผมวาดภาพในหัวตามที่เขาบรรยาย คนนี้จะหน้าตาเป็นอย่างไร สถานการณ์ตรงนี้จะมีกลิ่น เสียง สี อย่างไร เหมือนการสร้างภาพยนตร์ในหัวเราเลย นี่คือเสน่ห์ของการอ่าน”

นิชคุณ หรเวชกุล ในวัย 31 ที่มีการทำงานเพื่อสังคมเป็นแรงผลักดันให้เดินหน้าต่อในวงการบันเทิง
Friend of Unicef

แม้เราต่างรู้ดีว่าการอ่านสำคัญต่อการเติบโตของชีวิตและจิตใจ แต่การอ่านในยุคที่เด็กเข้าถึงสื่อดิจิทัลได้ง่าย และสนุกไปกับความบันเทิงและเรื่องราวของผู้คนในโซเชียลเน็ตเวิร์กมากมาย แต่นิชคุณเห็นว่าท่ามกลางความท้าทายใหญ่หลวงนี้ ใช่ว่าจะไม่มีทางออกใด 

“นอกเหนือจากผมหรือ Influencer หลายคนจะช่วยกันโพสต์แนะนำหนังสือดีๆ ให้คนอยากอ่านและบอกต่อกันไปแล้ว การปลูกฝังการอ่านที่ดีควรเริ่มจากจุดเล็กที่สุดในสังคม นั่นคือครอบครัว พ่อแม่อาจซื้อหนังสือมาสักเล่ม อ่านให้ลูกฟัง ให้เขาจำได้ว่าหนังสือสนุกแค่ไหน เมื่อเขาคุ้นเคยและอยากอ่านเองบ้าง ผลที่ได้รับจะมีมากมายมหาศาล

“มันเหมือนการโยนก้อนหินเล็กๆ ลงในน้ำ แล้วผิวน้ำจะกระเพื่อมเป็นวงใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่มีสิ้นสุด”  นิชคุณสรุปพร้อมรอยยิ้มเปี่ยมหวัง คล้ายกับว่าการเปรียบเทียบที่ว่านี้ก็เป็นความมุ่งมั่นในใจอีกหลายอย่างที่พร้อมลงมือทำเพื่อคืนกลับให้สังคมกว้างอย่างแท้จริง

Friend of Unicef

ผู้สนใจร่วมบริจาคเพื่อสนับสนุนแคมเปญ Every Child Can Read ได้ผ่านบริการ CenPay ณ จุดแคชเชียร์ และ กล่องบริจาคที่ร้านเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์, ท็อปส์ มาร์เก็ต, ท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์ และท็อปส์ เดลี่ ทุกสาขา ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562 – 31 สิงหาคม 2565 ร่วมแคมเปญ Every Child Can Read ได้แล้ววันนี้ผ่านกิจกรรม #อ่านสัปดาห์ละเล่ม ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่แฟนเพจ Tops Thailand – ท็อปส์ ไทยแลนด์ หรือ www.unicef.or.th/abookaweek

Writer

Avatar

เชิญพร คงมา

อดีตเด็กยอดนักอ่านประจำโรงเรียน ชอบอ่านพอๆ กับชอบเขียน สนุกกับการเล่าเรื่องราวรักการเที่ยวเล่น ติดชิมของอร่อย และสนใจธรรมะ