22 สิงหาคม 2020
4 K

“คุณพอจะบอกฉันได้ไหมคะว่า ทำไมจึงมีรูปปั้นนิโคลา เทสลา อยู่ที่น้ำตกไนแอการาแห่งนี้” 

ช่างเป็นคำถามที่กำปั้นทุบดินอะไรอย่างนั้น มิน่าล่ะ พนักงานหญิงสูงวัยที่กำลังคิดราคาของที่ระลึกให้ฉันอยู่ดีๆ ถึงกับชะงักมอง และจ้องเข้ามาในดวงตาของฉันอยู่ครู่หนึ่ง เหมือนจะพิจารณาหาความกระจ่างของคำถามนั้น หรือเธออาจกำลังคิดว่านี่ฉันอุตส่าห์รู้จักนิโคลา เทสลา (Nikola Tesla) แต่ไม่รู้ความเกี่ยวพันระหว่างเทสลากับน้ำตกไนแอการาจริงๆ หรือนี่อยู่ก็เป็นได้ 

niagara falls canada, รู้จักความอัจฉริยะของ Nikola Tesla ผ่านพลัง น้ำตกไนแอการา แคนาดา, อเมริกา

“เพราะเทสลามีส่วนสำคัญในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่น้ำตกไนแอการาน่ะค่ะ” เธอเดาใจเก่งมาก แถมอัธยาศัยดีชวนฉันคุยต่อ ก่อนจะตบท้ายว่า “ที่ฝั่งแคนาดาก็มีรูปปั้นของเทสลาด้วยเหมือนกันนะคะ เผื่อคุณสนใจจะข้ามไปดู” 

โอ ขอบคุณมากเลย เป็นข้อมูลที่เยี่ยมมากเพราะฉันไม่เคยรู้มาก่อน จริงๆ แล้วขอบอกตามตรงว่ากระทั่งตัวนิโคลา เทสลา เอง ฉันก็เพิ่งรู้จักได้ไม่ถึง 10 ปีดีด้วยซ้ำ ต่างจากโทมัส เอดิสัน (Thomas Edison) เจ้านายเก่าที่ภายหลังกลายมาเป็นคู่แข่งของเขา ที่ใครต่อใครรวมทั้งฉันต่างคุ้นเคยกับชื่อดี เพราะได้เรียนเรื่องราวของเอดิสันตั้งแต่ยังเป็นเด็ก

เพราะความบังเอิญเดินผ่านรูปปั้นนิโคลา เทสลา ที่อุทยานแห่งรัฐน้ำตกไนแอการานี่เอง การมาเที่ยวน้ำตกแห่งนี้ของเราจึงมีเรื่องราวของเทสลาให้ฉันได้ศึกษาไปด้วย จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องนี้ไปโดยปริยาย 

Fortissimo เสียงของสายน้ำ 

niagara falls canada, รู้จักความอัจฉริยะของ Nikola Tesla ผ่านพลัง น้ำตกไนแอการา แคนาดา, อเมริกา
น้ำตกไนแอการา 
niagara falls canada, รู้จักความอัจฉริยะของ Nikola Tesla ผ่านพลัง น้ำตกไนแอการา แคนาดา, อเมริกา
น้ำตกเกือกม้า (Horseshoe Falls)  
niagara falls canada, รู้จักความอัจฉริยะของ Nikola Tesla ผ่านพลัง น้ำตกไนแอการา แคนาดา, อเมริกา
น้ำตกอเมริกันและน้ำตกไบรดัล วีล (American and Bridal Veil Falls)

ทันทีที่ก้าวออกจากรถ โสตประสาทของฉันก็ทำงานหนักทันที เพราะทั้งเสียงยวดยานพาหนะ เสียงดนตรีจากลำโพงร้านค้า เสียงสนทนาและเสียงตะโกนของผู้คนรอบกาย อื้ออึงปนเปกันไปหมด กลบเสียงของน้ำตกที่ควรจะได้ยินแต่ไกล ตามที่มีนักเดินทางบันทึกไว้เมื่อนานมาแล้วไปเสียสิ้น 

จากลานจอดรถไปน้ำตก เราเลือกนั่งรถรางไปตั้งหลักที่เกาะแพะ (Goat Island) ที่อยู่ข้างในสุดของอุทยานกัน เพื่อจะได้เดินเที่ยวย้อนกลับออกมาจนถึงทางออก เกาะแพะเป็นเกาะธรรมชาติขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่กลางแม่น้ำไนแอการาตอนบน ตรงช่วงที่สายน้ำกำลังจะไหลลงหน้าผา กลายเป็นน้ำตกเกือกม้า (Horseshoe Falls) พอดี น่าตื่นตาตื่นใจมากจริงๆ กับการได้เห็นมวลน้ำจำนวนมหาศาลไหลทะลักพลุ่งพล่านผ่านหน้าเราไปอย่างใกล้ชิดแบบนี้ อัตราการไหลของแม่น้ำตรงช่วงนี้ถือว่าแรงที่สุดของแม่น้ำทั้งสายเลยทีเดียว เมื่อไหลลงไปกระทบกับพื้นเบื้องล่าง ก็ทำให้เกิดละอองไอน้ำขาวฟุ้งกระจายครอบคลุมไปทั่ว เป็นความมหัศจรรย์ที่ยากจะบรรยาย

สังเกตสีหน้าของนักท่องเที่ยวในบริเวณนี้ดูเอาก็แล้วกัน หากพอจะมีคำพูดใดที่หลุดรอดออกจากปากของพวกเขาอยู่บ้างก็คงจะเป็น โอ้ ว้าว อา อุวา เค โบนิต้า อะไรประมาณนั้น ขึ้นอยู่กับว่าใครถนัดภาษาอะไร 

ขออธิบายเพิ่มเติมนิดหนึ่งว่า น้ำตกไนแอการาเป็นชื่อเรียกที่รวมถึงน้ำตก 3 แห่ง คือน้ำตกเกือกม้า (Horseshoe Falls) น้ำตกไบรดัล วีล (Bridal Veil Falls แปลว่าผ้าคลุมหน้าเจ้าสาว) และน้ำตกอเมริกัน (American Falls) โดย 2 ใน 3 แห่ง คือน้ำตกไบรดัล วีล กับน้ำตกอเมริกัน ตั้งอยู่บนแผ่นดินฝั่งอเมริกา ในขณะที่น้ำตกเกือกม้า มีรูปร่างหน้าตาตามชื่อของมันเลย ตั้งอยู่ในเขตของประเทศแคนาดา จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่าน้ำตกแคนาดา

niagara falls canada, รู้จักความอัจฉริยะของ Nikola Tesla ผ่านพลัง น้ำตกไนแอการา แคนาดา, อเมริกา
แม่น้ำไนแอการาบริเวณเหนือน้ำตกเกือกม้า มองออกไปจากเกาะแพะ อาคารที่เห็นอยู่บนฝั่งตรงข้ามคืออุโมงค์ผันน้ำของเขื่อนเก็บน้ำ (International Control Dam)
niagara falls canada, รู้จักความอัจฉริยะของ Nikola Tesla ผ่านพลัง น้ำตกไนแอการา แคนาดา, อเมริกา
จุดชมวิวบนเกาะแพะ (Goat Island) ด้านที่ติดกับน้ำตกเกือกม้า 
niagara falls canada, รู้จักความอัจฉริยะของ Nikola Tesla ผ่านพลัง น้ำตกไนแอการา แคนาดา, อเมริกา

จริงๆ ถ้าไม่มีเกาะกลางแม่น้ำอย่างเกาะแพะกับเกาะลูน่ามาขวางอยู่ตรงช่วงที่น้ำกำลังจะไหลลงผาพอดี สายน้ำคงไม่แยกจากกันเป็น 3 สาย จนกลายมาเป็นน้ำตก 3 แห่ง แต่จะเป็นน้ำตกขนาดมหึมาเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น ตอนแรกๆ ฉันก็งงกับที่มาที่ไปของน้ำตกทั้งสามนี้ ต้องดูภาพมุมสูงแบบสายตานกจึงเข้าใจมากขึ้น 

ฉันนั่งมองสายน้ำช่วงที่ไหลไปเป็นน้ำตกเกือกม้าอยู่นานจนคนในครอบครัวมาตาม บอกให้ไปชมอีกด้านของเกาะแพะบ้างเป็นไร ฝั่งที่เป็นน้ำตกไบรดัล วีล น่ะ ตรงสุดทางด้านนั้นของเกาะแพะมีสะพานให้เดินข้ามไปยังเกาะลูน่าที่เป็นเกาะขนาดเล็กจิ๋วแต่สำคัญ เพราะที่ตั้งของมันนี่แหละที่แบ่งสายน้ำออกเป็นน้ำตก 2 แห่ง ข้างหนึ่งเป็นน้ำตกไบรดัล วีล อีกข้างเป็นน้ำตกอเมริกัน 

niagara falls canada, รู้จักความอัจฉริยะของ Nikola Tesla ผ่านพลัง น้ำตกไนแอการา แคนาดา, อเมริกา
รูปปั้นนิโคลา เทสลา ในอุทยานแห่งรัฐน้ำตกไนแอการา 
niagara falls canada, รู้จักความอัจฉริยะของ Nikola Tesla ผ่านพลัง น้ำตกไนแอการา แคนาดา, อเมริกา

ในบริเวณนั้นเองที่ฉันเห็นรูปปั้นของนิโคลา เทสลา เข้าและด้วยความสงสัย จะเสิร์ชหาข้อมูลแต่ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต จนต้องไปถามพนักงานในร้านขายของที่ระลึกนั่นไง ความแรงของแม่น้ำไนแอการาบริเวณน้ำตกไบรดัล วีล น้อยกว่าตรงช่วงที่เป็นน้ำตกเกือกม้าอยู่มาก แถมมีเกาะแก่งเล็กๆ กระจายอยู่ทั่ว ทำให้พอมีสัตว์อย่างเป็ด ห่าน และเต่า ได้มาอาศัยอยู่บ้าง 

ออกจากตรงนั้น ตอนแรกเราตั้งใจว่าจะลงลิฟต์ไปยังแม่น้ำไนแอการาตอนล่าง เพื่อไปชมน้ำตกอย่างใกล้ชิดกันบ้าง ต้องบอกก่อนนะคะว่าตลิ่งของแม่น้ำไนแอการาตอนล่างมีลักษณะเป็นโกรกธาร เหมือนหุบผาชัน ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Gorge ซึ่งมีความลึกมากจนต้องลงลิฟต์ไปดู จริงๆ ถ้าเขาทำทางให้เดินลงไปดูก็คงจะมีคนเดินกันอยู่หรอก แต่ว่าเขาไม่ทำ ถ้าอยากดูต้องลงลิฟต์ไปดูในส่วนที่เรียกว่า Cave of the Wind ซึ่งเราถอดใจก่อน เมื่อเห็นแถวที่ยาวเหยียดเป็นงูกินหาง 

niagara falls canada, รู้จักความอัจฉริยะของ Nikola Tesla ผ่านพลัง น้ำตกไนแอการา แคนาดา, อเมริกา
niagara falls canada, รู้จักความอัจฉริยะของ Nikola Tesla ผ่านพลัง น้ำตกไนแอการา แคนาดา, อเมริกา

เมื่อลงไม่ได้เราก็ขึ้นค่ะ เราเลือกขึ้นไปดูวิวในจุดที่สูงขึ้นไปอีก คือบนหอสังเกตการณ์ (Observation Tower) ชื่อเป็นหอก็จริง แต่มันมีลักษณะเหมือนสะพานมากกว่า พื้นที่ที่ยื่นออกไปจากชายฝั่งที่มากพอสมควรนี่เองที่ทำให้เรามองเห็นด้านหน้าของน้ำตกอเมริกัน แม้จะทแยงมุมอยู่สักหน่อยก็ตาม แต่ไม่เป็นไร เดี๋ยวเราไปนั่งเรือ Maid of the Mist ต่อจากนี้เราก็จะได้เห็นน้ำตกจากด้านหน้าแบบเต็มตาเลยล่ะ 

Maid of the Mist เป็นเรือนำเที่ยวที่แล่นอยู่ในแม่น้ำไนแอการาตอนล่าง มีจุดหมายคือพาชมน้ำตกทั้งสามแห่งอย่างใกล้ชิด ใกล้ขนาดที่ว่าต้องใส่เสื้อกันฝนชมกันเลยทีเดียว เรือนี้เปิดให้บริการมาตั้งแต่ ค.ศ. 1846 แล้วโดยเริ่มจากการเป็นเรือโดยสารข้ามฟากก่อน แต่เพียง 2 ปีเท่านั้นก็ปรับเปลี่ยนมาเป็นเรือนำเที่ยว เพราะมีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำขึ้นในบริเวณนั้น เนื่องจากน้ำตกไนแอการาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับต้นๆ ของสหรัฐฯ และแคนาดา เรือ Maid of the Mist จึงต้อนรับนักท่องเที่ยวจำนวนเกินล้านทุกปี ทั้งที่เปิดให้บริการจากเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคมเท่านั้น 

niagara falls canada, รู้จักความอัจฉริยะของ Nikola Tesla ผ่านพลัง น้ำตกไนแอการา แคนาดา, อเมริกา
นักท่องเที่ยวรอลงเรือ Maid of the Mist
niagara falls canada, รู้จักความอัจฉริยะของ Nikola Tesla ผ่านพลัง น้ำตกไนแอการา แคนาดา, อเมริกา
เรือ Maid of the Mist 
niagara falls canada, รู้จักความอัจฉริยะของ Nikola Tesla ผ่านพลัง น้ำตกไนแอการา แคนาดา, อเมริกา
น้ำตกเกือกม้า มองออกไปจากเรือ Maid of the Mist

บุคคลมีชื่อเสียงที่เคยนั่งเรือ Maid of the Mist ชมน้ำตก ได้แก่ ประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวลต์ (Theodore Roosevelt), ประธานาธิบดีมิคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachyov), พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ครั้งยังทรงพระยศเป็นเจ้าชาย เจ้าหญิงไดอาน่ากับพระโอรสทั้งสองพระองค์ มาริลิน มอนโร (Marilyn Monroe), แบรด พิตต์ (Bradley Pitt), สตีเฟ่น ฮอว์กิน (Stephen Hawking) ฯลฯ 

ความรู้สึกขณะเข้าใกล้มวลน้ำที่มีพลังมหาศาลนั้นยากจะบรรยาย โดยเฉพาะบริเวณน้ำตกเกือกม้าที่ชั่วขณะหนึ่งเราจะมองไม่เห็นและไม่ได้ยินอะไรเลย นอกเหนือไปจากละอองน้ำขาวโพลนรอบตัวเรากับเสียงของน้ำตกเท่านั้น เสียงที่ไม่อาจใช้ภาษาถอดออกมาเป็นคำได้ แต่ความกึกก้องอย่างต่อเนื่องของมันช่างมีพลัง จนทำให้ฉันอดนึกถึงคำพูดของกุสตาฟ มาห์เลอร์ (Gustav Mahler) นักประพันธ์เพลงคลาสสิกชาวออสเตรียไม่ได้

กุสตาฟเอ่ยว่า “At last, Fortissimo” เมื่อครั้งที่ได้มาเห็นน้ำตกไนแอการาเป็นครั้งแรก Fortissimo เป็นคำในวงการดนตรี ใช้เรียกท่อนดนตรีที่ต้องบรรเลงดังมาก ลองนึกถึงวงซิมโฟนีออร์เคสตรา เวลาเครื่องดนตรีทุกชิ้นพร้อมใจกันบรรเลงบทเพลงด้วยไดนามิกที่ดังมากดูแล้วกัน ว่ามันทั้งกระหึ่ม มีพลัง สอดประสานกัน และสะกดเราไว้ได้ขนาดไหน เสียงของสายน้ำตรงนี้ก็ยิ่งใหญ่ และตรึงเราไว้ได้ไม่ต่างกันเลย 

โรงไฟฟ้าพลังน้ำ

niagara falls canada, รู้จักความอัจฉริยะของ Nikola Tesla ผ่านพลัง น้ำตกไนแอการา แคนาดา, อเมริกา

แม่น้ำไนแอการา มีที่มาจากคำว่า Onguiaahra เป็นภาษาของชนพื้นเมืองอเมริกันเผ่าอิรอกัวส์ (Iroquois) มีความหมายว่า ช่องแคบ เนื่องจากมันเชื่อมอยู่ระหว่างผืนน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง โดยไหลจากทะเลสาบอิรีทางตอนใต้ไปยังทะเลสาบออนทาริโอทางทิศเหนือ ความยาวของแม่น้ำอาจไม่มาก เพียง 58 กิโลเมตรเท่านั้น แต่ความแรงของมันทำให้ชาวเมืองที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำพยายามหาวิธีนำมาใช้ประโยชน์ในวงกว้างนานแล้ว แต่ยังไม่สบความสำเร็จเท่าใด 

จนกระทั่ง ค.ศ. 1893 ที่มีโครงการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ จึงเปิดประมูลหาผู้ดูแลระบบจ่ายไฟฟ้าขึ้น สุดท้ายคณะกรรมการพิจารณาให้บริษัทเวสติงเฮ้าส์ อิเล็กทริก ที่หนุนระบบไฟฟ้ากระแสสลับได้งานไป เพราะมีแผนการที่เป็นไปได้สูงด้วยราคาที่ต่ำกว่า ชนะคู่แข่งคือบริษัทเอดิสัน เยเนอรัล อิเล็กทริก ของโทมัส เอดิสัน ที่สนับสนุนไฟฟ้ากระแสตรง 

บริษัทเวสติงเฮ้าส์ อิเล็กทริก มีดีอะไรน่ะเหรอ หนึ่ง มีสิทธิบัตรหม้อแปลงและมอเตอร์เหนี่ยวนำไฟฟ้ากระแสสลับที่นิโคลา เทสลา พัฒนาขึ้นอยู่ในมือ และสอง มีนิโคลา เทสลา เป็นที่ปรึกษาโครงการ ข้อดีของไฟฟ้ากระแสสลับคือสามารถเดินทางไกลโดยที่แรงไม่ตก และปรับระดับแรงดันได้ ซึ่งตรงกันข้ามกับไฟฟ้ากระแสตรง โรงไฟฟ้าพลังน้ำที่น้ำตกไนแอการาเริ่มผลิตและจ่ายไฟฟ้าเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1896 ให้กับเมืองบัฟฟาโลที่อยู่ห่างออกไปถึง 41 กิโลเมตร สร้างความฮือฮาเป็นอย่างมาก ทำให้เมืองบัฟฟาโลได้ชื่อว่าเป็น City of Light และกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมในเวลาต่อมา

นิโคลา เทสลา อัจฉริยะที่โลกลืม

niagara falls canada, รู้จักความอัจฉริยะของ Nikola Tesla ผ่านพลัง น้ำตกไนแอการา แคนาดา, อเมริกา

นิโคลา เทสลา เกิดเมื่อ ค.ศ.1856 ที่ประเทศยูโกสลาเวียในสมัยนั้น หรือโครเอเชียในปัจจุบัน การมีส่วนร่วมพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่น้ำตกไนแอการาถือเป็นความฝันของเทสลาเลยก็ว่าได้ เพราะตอนเด็กๆ เขาประทับใจกับพลังของน้ำตกไนแอการาที่เห็นในรูปภาพ จนจินตนาการเห็นเป็นล้อขนาดใหญ่ที่หมุนไปด้วยพลังงานของมัน 

เทสลาบอกกับลุงของเขาว่า วันหนึ่งเขาจะไปอเมริกาเพื่อทำความคิดนั้นให้เป็นจริงขึ้นมา ค.ศ. 1884 เทสลาก็ได้มาอเมริกาจริงๆ เมื่อผู้บริหารบริษัทสาขาของโทมัส เอดิสัน ในกรุงปารีส ที่เทสลาทำงานด้วยเป็นเวลา 2 ปี เห็นแววนักประดิษฐ์ผู้ยิ่งใหญ่ในตัวเขา จึงแนะนำให้เขาเดินทางไปสมัครงานกับเอดิสันที่นครนิวยอร์ก เอดิสันรับเทสลาเข้าทำงานทันที ช่วงแรกๆ ต่างคนต่างปลื้มในความเป็นอัจฉริยะของกันและกัน แต่เพียงไม่ถึงปี เทสลาก็ลาออกจากบริษัทของเอดิสันเพราะความเห็นเกี่ยวกับกระแสไฟฟ้าที่ต่างกันคนละขั้ว สงครามกระแสไฟฟ้าหรือ War of Currents ที่เป็นคำเปรียบเปรยถึงการแข่งขันระหว่างไฟฟ้าสองระบบจึงเริ่มต้นขึ้น

หากดูรายการสิ่งประดิษฐ์ของนิโคลา เทสลา จะต้องทึ่งกับสมองอันชาญฉลาดของเขานะ แต่ละชิ้นล้วนมีส่วนเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ของเรา นอกจากระบบไฟฟ้ากระแสสลับที่เราใช้กันทั่วไปในปัจจุบันแล้ว มอเตอร์เหนี่ยวนำไฟฟ้าก็เป็นส่วนประกอบสำคัญภายในอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ที่เราใช้กันด้วย ยังมีขดลวดไฟฟ้าที่ต่อมาเรียกกันว่าขดลวดเทสลา อุปกรณ์ส่งสัญญาณวิทยุ จักรกังหันไร้ใบพัด (Tesla Turbine) เครื่องถ่ายภาพด้วยรังสีเอ็กซ์ (Shadowgraph หรือ X Ray ในเวลาต่อมา) เครื่องกำเนิดสัญญาณความถี่สูง (Oscillator) เครื่องวัดความเร็วติดรถยนต์ และอื่นๆ อีกมาก 

งานหลายชิ้นเกิดก่อนเวลาอันควร จึงไม่ได้รับความสนใจในยุคสมัยของเขา อย่างรีโมตคอนโทรลที่เทสลาขอจดทะเบียนสิทธิบัตรแต่ไม่ได้รับอนุญาต หรืองานวิจัยเกี่ยวกับคลื่นแรงโน้มถ่วงที่มีชื่อว่า การสูญเสียพลังงานในพัลซาร์ดาวคู่นิวตรอน (Double Neutron Star Pulsar) ก็ถูกผู้คนมองข้ามไป เพราะคิดว่าเป็นเพียงเรื่องเพ้อฝัน จนเขาถูกตั้งฉายาว่านักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง แต่ทฤษฎีนี้ก็ได้รับการพิสูจน์ว่ามีจริงเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี่เอง 

เทสลาเป็นเจ้าของสิทธิบัตรมากถึง 300 รายการ แต่ชีวิตของเขากลับลุ่มๆ ดอนๆ มาตลอด อาจเป็นเพราะบุคลิกของเขาที่รักความสันโดษ หมกมุ่นอยู่กับการคิดค้นโดยไม่ใส่ใจว่าจะได้อะไรตอบแทน ดูโครงการหอคอยวอร์เดนคลิฟ (Wardenclyffe Tower) เป็นตัวอย่างก็ได้ เทสลาตั้งใจใช้โลกใบนี้เป็นสื่อนำไฟฟ้า เพื่อให้ทุกคนบนโลกมีกระแสไฟฟ้าใช้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ถ้าโครงการไม่ล่ม ป่านนี้เราคงได้ใช้ไฟฟ้าฟรีกันไปแล้ว แต่ก็น่าสงสัยอีกแหละว่านักลงทุนจะยอมไหม ก่อนจะมีคำถามตามมาอีกว่า เพราะเหตุนี้หรือเปล่าที่ทำให้โครงการนี้ไม่สามารถไปต่อ

ถึงอย่างไร เทสลาก็เป็นคนดังคนหนึ่งในยุคของเขา แต่สิ่งที่ทำให้ชื่อของเขาเงียบหายไปเป็นเวลาหลายทศวรรษคืองานวิจัยเรื่อง ‘โทรกำลัง’ (Teleforce) (หรือที่เรียกกันภายหลังว่า รังสีหายนะ-Death Ray) ค.ศ. 1940 นิโคลา เทสลา ในวัย 84 ปีให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ The New York Times ว่า เขาพร้อมจะเปิดเผยความลับเกี่ยวกับ ‘โทรกำลัง’ ที่มีอานุภาพหลอมละลายเครื่องยนต์ของเครื่องบินในระยะไกลต่อรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อนำไปใช้ป้องกันประเทศ แต่รัฐบาลไม่ได้ให้ความสนใจ

จนกระทั่งเทสลาเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลวในเดือนมกราคม ค.ศ. 1943 ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐอเมริกาเพิ่งเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ไม่นาน ทางกองทัพกลัวว่าอันตรายจะเกิดหากเอกสารของนิโคลา เทสลา ตกไปอยู่ในมือฝ่ายตรงข้าม และด้วยความที่เทสลานั้นตัวคนเดียว ไม่มีทายาทสืบทอด กองทัพจึงแจ้งให้หน่วยงานเอฟ บี ไอ ทำเรื่องยึดทรัพย์สินของเขาด้วยขั้นตอนที่ลับที่สุด และห้ามไม่ให้ใครพูดถึงงานของเขาอีก ชื่อของนิโคลา เทสลา จึงเลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คนนับแต่นั้นมา

สัมผัสด้วยตาที่ฝั่งแคนาดา

niagara falls canada, รู้จักความอัจฉริยะของ Nikola Tesla ผ่านพลัง น้ำตกไนแอการา แคนาดา, อเมริกา

“ถ้าอยากเห็นน้ำตกไนแอการาแบบพาโนรามา ต้องไปดูที่ฝั่งแคนาดา” ใครหลายคนกล่าวไว้ วันรุ่งขึ้น เราจึงกลับมาที่อุทยานน้ำตกไนแอการาอีกครั้ง แต่คราวนี้เดินข้ามสะพานสายรุ้ง (Rainbow Bridge) จากเมือง Niagara Falls City ไปยัง Niagara Falls City กัน 

เอ๊ะ ยังไง คือทั้งสองประเทศต่างตั้งชื่อเมืองที่ตั้งอยู่ตรงข้ามกันตรงนี้ว่า ไนแอการา ฟอลส์ ซิตี้ เหมือนกันนั่นเอง น้ำตกไนแอการาทางฝั่งอเมริกามีสถานะเป็นอุทยานแห่งรัฐ แต่ทางฝั่งแคนาดามีลักษณะเหมือนเมืองริมแม่น้ำทั่วไป มีรั้วกั้น มีทางเท้าให้เดินขนานไปกับแม่น้ำและถนน โดยที่อีกฟากฝั่งของถนนเป็นที่ตั้งของร้านรวง โรงแรม และคาสิโน เต็มไปหมด บรรยากาศจึงคึกคักและผู้คนออกจะหนาตากว่าฝั่งอเมริกาอยู่มาก 

จากสะพานสายรุ้งไปสุดทางที่น้ำตกเกือกม้า ฉันมีภารกิจ 2 อย่าง หนึ่ง หาจุดที่เคยมาโพสต์ท่าถ่ายรูปเมื่อนานมาแล้ว ดูวันเดือนปีในภาพถ่ายที่นำติดตัวมาด้วยนับได้ 20 ปีพอดี จึงวนหาอยู่นาน แต่ในที่สุดก็เจอ ฉากหลังเป็นน้ำตกอเมริกันนี่เอง 

niagara falls canada, รู้จักความอัจฉริยะของ Nikola Tesla ผ่านพลัง น้ำตกไนแอการา แคนาดา, อเมริกา
ภาพถ่ายในอดีตของผู้เขียนเทียบกับน้ำตกอเมริกันในปัจจุบัน
niagara falls canada, รู้จักความอัจฉริยะของ Nikola Tesla ผ่านพลัง น้ำตกไนแอการา แคนาดา, อเมริกา
รูปปั้นของนิโคลา เทสลา ที่ฝั่งแคนาดา

ส่วนภารกิจต่อไป คือตามหารูปปั้นของนิโคลา เทสลา ที่สมาชิกในครอบครัวช่วยกันมองหาจึงใช้เวลาไม่นาน รูปปั้นของเทสลาทางฝั่งแคนาดายืนโดดเด่นอยู่บนมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ หันหน้าไปทางน้ำตกเกือกม้าที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขาตอนเด็กๆ ติดตั้งเมื่อ ค.ศ. 2006 เพื่อเฉลิมฉลองอายุ 150 ของเทสลา โดยมีโบสถ์เซนต์ จอร์จ ออโธดอกซ์เซอร์เบียประจำเมืองไนแอการาเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ ส่วนรูปปั้นของเทสลาทางฝั่งอเมริกานั้น รัฐบาลยูโกสลาเวียมอบเป็นของขวัญให้รัฐบาลอเมริกันเมื่อ ค.ศ. 1976 

นอกจากภารกิจที่ตั้งไว้แล้ว เราไม่ลืมชมบรรยากาศของเมืองและความงามของน้ำตกไนแอการากันด้วย ทางฝั่งแคนาดามีกิจกรรมให้ทำเยอะแยะมากมาย ทั้งซิปไลน์ที่ขนานไปกับแม่น้ำ หอคอยชมวิว สวนสนุก หรือจะลงลิฟต์ไปดูด้านหลังของน้ำตกเกือกม้า ที่เรียกกันว่า Journey Behind The Falls ก็ได้ ซึ่งอย่างหลังนี่ฉันแนะนำเป็นอย่างยิ่ง แต่สมาชิกอีกสองคนไม่สนใจ เพราะอยากนั่งมองน้ำตกแบบชิลล์ๆ มากกว่า พวกเขาจึงได้สิทธ์นั้น เพราะฉันเคยไปชมมาแล้ว 

หลายคนบอกว่า ฝั่งแคนาดาโชคดีเพราะได้เห็นน้ำตกทั้งสามแบบเต็มๆ จากด้านหน้าซึ่งก็จริงนะ แต่เสียงและสัมผัสที่ได้จากแม่น้ำไนแอการาที่ฝั่งอเมริกา ก็ให้ความรู้สึกที่หาไม่ได้จากฝั่งแคนาดาเช่นกัน 

niagara falls canada, รู้จักความอัจฉริยะของ Nikola Tesla ผ่านพลัง น้ำตกไนแอการา แคนาดา, อเมริกา
niagara falls canada, รู้จักความอัจฉริยะของ Nikola Tesla ผ่านพลัง น้ำตกไนแอการา แคนาดา, อเมริกา
niagara falls canada, รู้จักความอัจฉริยะของ Nikola Tesla ผ่านพลัง น้ำตกไนแอการา แคนาดา, อเมริกา
niagara falls canada, รู้จักความอัจฉริยะของ Nikola Tesla ผ่านพลัง น้ำตกไนแอการา แคนาดา, อเมริกา

เรานั่งเล่นอยู่ในสวนสาธารณะควีนวิกตอเรียที่มองออกไปเห็นน้ำตกเกือกม้า มีนักท่องเที่ยวเดินขวักไขว่ไปมา ภายใต้พื้นดินที่เราเหยียบอยู่นี้ มีระบบคลองส่งน้ำจากเขื่อนเก็บน้ำที่ตั้งอยู่เหนือน้ำตกไปยังโรงผลิตกระแสไฟฟ้าที่อยู่ห่างออกไปราว 7 กิโลเมตร ที่แม่น้ำตอนล่าง ใต้พื้นดินฝั่งอเมริกาก็เช่นกัน เพราะสองประเทศทำสนธิสัญญาจัดการแม่น้ำร่วมกัน โดยมีรายละเอียดต่างๆ บอกไว้อย่างชัดเจน เช่น ในเวลากลางวันของฤดูร้อน ซึ่งเป็นช่วงพีกของการท่องเที่ยว น้ำที่ไหลมาเป็นน้ำตกจะต้องมีปริมาณไม่ต่ำกว่า 100,000 ลูกบาศก์ฟุตต่อวินาที นั่นหมายถึงว่าในช่วงเวลานี้ เขื่อนจะดึงน้ำไปเก็บได้น้อย ทั้งนี้เพื่อเอาใจนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ 

แต่พอตกกลางคืน ปริมาณการไหลของน้ำตกลดลงเป็น 50,000 ลูกบาศก์ฟุตต่อวินาที เพื่อให้เขื่อนดึงน้ำไปเก็บได้เต็มที่ และเป็นปริมาณเดียวกันกับตลอด 24 ชั่วโมงในช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว เว้นเสียแต่ว่าน้ำจะกลายเป็นน้ำแข็งก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ตามตำราบอกว่า จริงๆ แล้วเป็นเพียงบริเวณพื้นผิวหน้าเท่านั้น เพราะภายใต้น้ำแข็งที่เห็นนั้น น้ำในแม่น้ำยังคงไหลเป็นปกติ เพราะฉะนั้นเขาจึงมีกฎห้ามลงไปเดินเล่นเด็ดขาดเมื่อเห็นน้ำในแม่น้ำเป็นน้ำแข็ง เพราะเคยมีบทเรียนมาก่อน 

เมื่อ ค.ศ. 1912 ที่แผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่แยกตัว ทำให้น้ำในแม่น้ำไหลทะลักมาอย่างเร็ว ผู้คนต่างหนีเอาชีวิตรอดกันจ้าละหวั่น แต่มี 3 รายที่หนีไม่ทัน ถูกน้ำพัดพาไปในขณะที่ตัวยังอยู่บนแผ่นน้ำแข็ง ก่อนจะถูกซัดหายไปในบริเวณที่เรียกว่าวังน้ำวน (Niagara Whirlpool) ซึ่งปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของแม่น้ำไนแอการา มีบริษัทนำเที่ยวพานักท่องเที่ยวนั่งเรือยนต์ไปสัมผัสแรงเหวี่ยงในบริเวณนั้น ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนการเที่ยวของเราด้วยเช่นกัน

เราใช้เวลาชมน้ำตกอยู่ที่ฝั่งแคนาดาจนค่ำมืด ชมพลุไฟเหนือน้ำตกที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกวันในฤดูร้อน ก่อนจะเดินข้ามแดนกลับมายังฝั่งอเมริกา

niagara falls canada, รู้จักความอัจฉริยะของ Nikola Tesla ผ่านพลัง น้ำตกไนแอการา แคนาดา, อเมริกา
น้ำตกเกือกม้าในเวลากลางคืน
niagara falls canada, รู้จักความอัจฉริยะของ Nikola Tesla ผ่านพลัง น้ำตกไนแอการา แคนาดา, อเมริกา
พลุไฟเหนือน้ำตกไนแอการาที่จัดขึ้นทุกค่ำตลอดฤดูร้อน

เทสลามอเตอร์ 

ค.ศ. 2018 มีเด็กเกิดใหม่ในอเมริกาที่พ่อแม่ตั้งชื่อให้ว่า ‘เทสลา’ รวม 109 คน (ข้อมูลจากสำนักประกันสังคมสหรัฐฯ) ตามชื่อยี่ห้อรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าของผู้บริหารคนดังอย่างอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ถ้าดูย้อนหลังไป จะเห็นว่าชื่อนี้เริ่มเป็นที่นิยมมาตั้งแต่ ค.ศ. 2010 แล้ว ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่บริษัทเทสลาเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์พอดี 

จริงๆ อีลอน มัสก์ ไม่ใช่ผู้ก่อตั้งบริษัทเทสลา แต่เขาเริ่มเข้ามาในฐานะนักลงทุนใหญ่ เพราะสนใจแนวคิดเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าและชอบชื่อนี้มาก ชื่อนั้นสำคัญไฉน ก็มากพอที่เขายอมจ่าย 75,000 เหรียญสหรัฐฯ แลกกับชื่อ ‘เทสลา’ ที่ชายชาวแคลิฟอร์เนียจดทะเบียนการค้าไว้ไปก่อนหน้าเขา 

niagara falls canada, รู้จักความอัจฉริยะของ Nikola Tesla ผ่านพลัง น้ำตกไนแอการา แคนาดา, อเมริกา
ภาพ : www.businessinsider.com

บริษัทเทสลาเปิดตัวรถยนต์รุ่นแรกที่มีชื่อว่า Model X เมื่อ ค.ศ.2015 สร้างความสนใจและปลุกกระแสให้กับวงการรถยนต์ จริงๆ แล้วบริษัทเทสลาไม่ใช่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายแรกของโลก แต่มีเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า กับการตลาดที่แหวกแนวและชัดเจน ทำให้ได้รับความเชื่อมั่น จนกลายเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ที่มีมูลค่าสูงสุดในขณะนี้ ทั้งที่ยังไม่มีกำไรจากการขายเลยด้วยซ้ำ

ความสำเร็จของบริษัทเทสลา มอเตอร์ (เปลี่ยนเป็นบริษัท เทสลา อินคอร์เปอร์เรท ใน ค.ศ. 2017) มีส่วนช่วยให้ชื่อของนิโคลา เทสลา กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง เรื่องราวของเขาได้รับการเผยแพร่มากขึ้น หลายคนที่เพิ่งรู้จักผลงานของเขาก็จะสงสัยแบบฉันนี่แหละว่า ทำไมเด็กๆ จึงไม่ได้เรียนเรื่องของเขาในโรงเรียน ค.ศ. 005 นิโคลา เทสลา ได้รับการลงคะแนนเสียงให้เป็นบุคคลสำคัญหนึ่งในจำนวนร้อยคนของสหรัฐอเมริกา ที่จัดโดยสถานีโทรทัศน์ Discovery 

niagara falls canada, รู้จักความอัจฉริยะของ Nikola Tesla ผ่านพลัง น้ำตกไนแอการา แคนาดา, อเมริกา
สถานีทดลอง Wardenclyffe ของเทสลาที่ Long Island นครนิวยอร์ก หอคอยที่เห็นในภาพถูกรื้อไปนานแล้ว เหลือไว้แต่อาคารที่เคยใช้เป็นห้องปฏิบัติการ ค.ศ.2013 มีการระดุมทุนสาธารณะ จนซื้อสถานที่มาได้ ก่อนจะเริ่มก่อตั้งเป็นศูนย์วิทยาศาตร์เทสลา
ภาพ : www.pbs.org 

ปัจจุบันสถานที่ที่เขาเคยใช้ชีวิตมีคนสนใจเพิ่มมากขึ้น กลุ่มคนรักนิโคลา เทสลา หลายกลุ่มพยายามผลักดัน เพื่อจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และศูนย์การเรียนรู้ขึ้นในสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับเขา เช่น Tesla Science Center at Wardenclyffe ที่ระดมทุนจนซื้อสถานที่ที่เคยเป็นสถานีทดลองของเทสลามาได้ หรือ Tesla at Niagara Museum ที่เป็นโรงงานไฟฟ้าแห่งแรกของน้ำตกไนแอการา นี่แค่ในสหรัฐฯ เท่านั้นนะ ในยุโรปโดยเฉพาะประเทศโครเอเชียและเซอร์เบีย (เทสลาเป็นชาวเซิร์บที่เกิดในโครเอเชีย) นี่แทบจะเรียกได้ว่าบูชาเทสลากันเลยเชียว

โปสการ์ดจากไนแอการา 

niagara falls canada, รู้จักความอัจฉริยะของ Nikola Tesla ผ่านพลัง น้ำตกไนแอการา แคนาดา, อเมริกา
โปสการ์ดจากไนแอการา

ฉันกับลูกชาย เราต่างมีโปสการ์ดที่เขียนเสร็จเรียบร้อยติดตัวคนละใบไปไหนมาไหนด้วยหลายวันแล้ว ที่ยังไม่ได้ส่งเพราะยังไม่ได้ติดสแตมป์ เรามัวเที่ยวเพลินจนเผลอคิดว่ายังพอมีเวลา แต่ไปๆ มาๆ วันนี้เป็นวันสุดท้ายแล้ว เราปิดท้ายด้วยการมาเที่ยวเมืองลูอิสตันที่เป็นเมืองเล็กๆ ตั้งอยู่ค่อนไปทางท้ายของแม่น้ำและไม่ไกลจากวังน้ำวนไนแอการา จึงเหมาะเป็นจุดรับนักท่องเที่ยวที่สนใจไปสัมผัสความเชี่ยวกรากของแม่น้ำตรงช่วงนั้นกัน

หลังจากเปียกปอนกับทัวร์เรือยนต์ (Whirlpool Jet Boat) กันมาแล้ว เราเลือกเดินเล่นอยู่แถวนั้นกันต่อ ตลิ่งของแม่น้ำเมืองลูอิสตันนั้นเปิดโล่ง ตั้งอยู่ในระดับเดียวกับแม่น้ำ ไม่มีลักษณะเป็นโกรกธารอีกต่อไป และเป็นเช่นนี้ไปจนถึงปลายน้ำ น้ำในแม่น้ำไหลริน ลดความแรงลงมาก จนมีผู้คนนำแพยางมาลอยเล่นกันประปราย เราใช้เวลาช่วงบ่ายอยู่ที่เมืองนี้ โดยไม่ลืมแวะที่ทำการไปรษณีย์กันด้วย

โปสการ์ด 2 ใบ เป็นภาพน้ำตกไนแอการาเหมือนกันแต่ห่างกันเกือบร้อยปี ใบหนึ่งเพียงข้ามแม่น้ำไนแอการาไปไม่ไกลก็ถึงมือผู้รับ ส่วนอีกใบคงใช้เวลารอนแรมข้ามแผ่นดินและมหาสมุทรอยู่พักใหญ่จึงเดินทางไปถึง… 

จากเพื่อนถึงเพื่อน และจากหลานถึงยาย


ข้อมูลอ้างอิง 

  • Three lose their lives when ice bridge breaks. Buffalo Evening News, February 5, 1912.
  • www.niagarafrontier.com
  • www.ssa.gov/oact/babynames/

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

พิมพมาศ ยี

แม่เต็มเวลาที่สนุกกับงานขีดเขียนและค้นคว้า โดยเฉพาะกับเรื่องที่ตัวเองกำลังสนใจ รู้แล้วชอบบอกต่อจึงมักจะชอบเล่าเกร็ดความรู้ที่เพิ่งอ่านหรือดูมาให้คนใกล้ตัวฟังจนบางครั้งคนฟังบ่นว่าเมื่อยหู ทำให้เกิดกิจกรรมที่ทำแล้วชอบเพิ่มมาอีกหนึ่งคือทำหนังสือบันทึกเรื่องราวต่างๆ เก็บไว้ให้คนใกล้ตัวได้อ่านแทน