ตุ่งดุ่งดุง ดุ๊งตุงดุ่งดุง

ตุ่งดุ่งดุง ตุ่งดุงดุ่งดุง *

แค่ฮัมทำนองเพียงนิดเดียวคนไทยทั้งประเทศก็รู้ว่า เรากำลังจะพูดถึงเรื่องอะไร

The Cloud มีนัดหมายพิเศษกับ คุณอลงค์กร จุฬารัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายผลิต บริษัท ทริลเลี่ยนส์ แอนด์ ทรีไลอ้อนส์ จำกัด ทายาทรุ่นสองเจ้าของรายการ กระจกหกด้าน เพื่อพูดคุยเรื่องราวการรับช่วงต่อรายการสารคดีชุดแรกของประเทศไทย การปรับโฉมและต่อยอดในยุคที่การทำสื่อไม่ใช่เรื่องซับซ้อนอีกต่อไป

จุดแข็งเรื่องเนื้อหาและความถูกต้องของข้อมูลเป็นข้อได้เปรียบสำคัญที่ทำให้รายการ กระจกหกด้าน ยังคงอยู่ แต่ก็นิ่งนอนใจไม่ได้ เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคและตลาดเปลี่ยนไปดุดันกว่าเดิม

ในยุคที่คุณอาจสงสัยว่า จะยังมีใครดูรายการสารคดีอีกเหรอ

คลังเทปฟุตเทจจำนวนมหาศาลของรายการกว่า 4,000 ตอนตรงหน้าเรา กำลังบอกว่า คำถามนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก

กระจกหกด้าน,กระจกหกด้านบานใหม่,กระจกหกด้าน คนพากย์,กระจกหกด้าน เพลง

แม้วันนี้ทำนองเพลงเดิมจะมีจังหวะเร็วและกระชับขึ้น เสียงบรรยายที่คุ้นหูมีบทบาทน้อยลงไป เรากำลังสนใจการปรับตัวของรายการสารคดีเจ้านี้ พร้อมๆ กับติดตามบทบาทใหม่ของ คุณสุชาดี มณีวงศ์ เจ้าของรายการและผู้ให้เสียงบรรยายในรายการมาตลอด 38 ปี ในรายการไชโยโอป้า รายการทอล์กโชว์เล็กๆ สนุกๆ แต่มีสาระดีๆ มาฝากเช่นเคย

เชิญรับชมเรื่องราวของรายการ กระจกหกด้าน  ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง จนถึงวันที่อยู่ในมือทายาทรุ่นที่สอง

ไม่ว่าคุณจะดูรายการ กระจกหกด้าน ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ อย่าแปลกใจถ้าคุณอ่านจบแล้วอยากกินขนมทองหยิบ ทางหยอด และฝอยทอง

หมายเหตุ: เพลงเปิดรายการมีที่มาจากเพลง Dancing Flames ของ Mannheim Steamroller จากอัลบั้ม Fresh Aire IV ในปี 1981 ก่อนรายการ กระจกหกด้าน ออกอากาศตอนแรกเพียง 2 ปีเท่านั้นและยังคงเป็นเพลงที่มีทำนองติดอยู่ในใจ ในบทสนทนาด้านล่างมีคำตอบว่าทำไมเจ้าของรายการถึงมีหูที่ล้ำและเลือกหยิบเพลงอาวองการ์ดเพลงนี้มาเป็นแบรนดิ้งของรายการ

กระจกหกด้าน,กระจกหกด้านบานใหม่,กระจกหกด้าน คนพากย์,กระจกหกด้าน เพลง
ธุรกิจ: บริษัท ทริลเลี่ยนส์ แอนด์ ทรีไลอ้อนส์ จำกัด (พ.ศ. 2521) รายการกระจกหกด้าน (พ.ศ. 2525)
ประเภทธุรกิจ: ผู้ผลิตสื่อวิดีโอและรายการสารคดีโทรทัศน์
อายุ: 40 ปี
ผู้ก่อตั้ง: สุชาดี มณีวงศ์
ทายาทรุ่นที่สอง: จุฬาพิช มณีวงศ์,   ผศ.ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์,   อลงค์กร จุฬารัตน์ และอรอรีย์ จุฬารัตน์

เริ่มต้นจากนักขายโฆษณาของคณะละคร และเจ้าของรายการเพลงสากล

อลงค์กรเกิดและเติบโตมาในครอบครัวที่ทั้งพ่อและแม่ทำงานด้านสื่อ

คุณสุชาดี มณีวงศ์ ผู้เป็นแม่ เริ่มต้นงานด้านสื่อสารมวลชนด้วยประสบการณ์ทำงานกับหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย ก่อนจะไปช่วยพี่สามีซึ่งเป็นผู้จัดละครช่อง 3 ยุคแรกๆ ชื่อคณะ ‘ลักษมีการละคร’ ในส่วนงานขายโฆษณา ซึ่งในสมัยที่ยังไม่มีเอเจนซีมากนักในบ้านเรา อลงค์กรเล่าว่า แม้คุณสุชาดีจะไม่มีประสบการณ์จากรั้วมหาวิทยาลัย แต่เพราะเธอเป็นคนตั้งใจทำงานแข็งขันและเต็มที่เหมือนผู้ชาย จึงเป็นที่เอ็นดูของผู้ใหญ่ในวงการ

“ตอนเด็กๆ พ่อกับแม่ยังพาไปทำงานที่โรงถ่ายละครที่หนองแขมด้วย กลางค่ำกลางคืนดึกดื่นที่เขาถ่ายละครกันอยู่ เราก็นอนหลับอยู่บนเตียงซึ่งเป็นฉากหนึ่งในการถ่ายทำ เล่นเป็นลูกโดยไม่รู้ตัว ชีวิตที่เติบโตด้วยแวดล้อมของสีสันวงการบันเทิง ทำให้ผมไม่คิดอยากทำงานด้านนี้” อดีตนักศึกษาสถาปัตย์จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เล่าย้อนความทรงจำที่มีต่องานของครอบครัว

ในวันที่ตัดสินใจเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง คุณสุชาดีเริ่มจากเห็นโอกาสในวงการวิทยุ เพราะสมัยนั้นยังไม่มีใครเป็นเจ้าของหรือเจ้าใหญ่ในตลาด หากใครอยากจัดรายการเป็นของตัวเอง ก็เพียงเช่าซื้อเวลาจากเจ้าของช่อง และทำได้เลยโดยอิสระ

“น้อยคนจะรู้ว่าคุณแม่จัดรายการเพลงมาก่อน หลายคนตกใจเมื่อรู้ว่าท่านฟังเพลงหลากหลายแนวมาก คลาสสิก ป๊อป ร็อก ร็อกแบบเฮฟวีเมทัล ร็อกแรงๆ” ไม่แปลกใจว่าทำไมเพลงไตเติ้ลของรายการ กระจกหกด้าน จึงกลายเป็นอมตะ

กระจกหกด้าน,กระจกหกด้านบานใหม่,กระจกหกด้าน คนพากย์,กระจกหกด้าน เพลง
กระจกหกด้าน,กระจกหกด้านบานใหม่,กระจกหกด้าน คนพากย์,กระจกหกด้าน เพลง

จากรายการเพลงสากล 1 ชั่วโมง ค่อยๆ เติบโตเป็น 2 – 3 ชั่วโมง และขยับขยายจำนวนวัน

“ส่วนหนึ่งมาจากความสามารถในการหาโฆษณาของแม่ สมัยนั้น ธุรกิจยังไม่นิยมทำการตลาดเพราะขายดีกันอยู่แล้ว สิ่งที่แม่ทำคือ ใช้คอนเนกชันที่มี บางครั้งไม่รู้จักเจ้าของบริษัทหรือที่เรียกว่านายห้าง ก็เดินตรงเข้าไปติดต่อ ถ้านายห้างฟังดูแล้วสนใจ หรืออยากให้โอกาส เขาก็ให้เงินไปทำเลย”

แม้จะเป็นรายการวิทยุ แต่คุณสุชาดีก็เลือกที่จะไม่จัดรายการสด เพราะสำหรับเธอการควบคุมปัจจัยที่เกิดขึ้นได้จะทำให้ทำงานง่ายกว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เธอจึงใช้วิธีอัดเสียงและเลือกเพลงให้เจ้าหน้าที่เทคนิคตัดต่อเป็นเทปเดียวกันราวกับกำลังจัดรายการสด

สารคดีโทรทัศน์ชุดแรกของประเทศที่ผลิตโดยคนไทย

จุดเปลี่ยนทำให้เริ่มต้นรายการ กระจกหกด้าน มาจากวันหนึ่งในปี 2522 เมื่อธนาคารกรุงเทพจัดประกวดสารคดีโทรทัศน์ความยาว 30 นาที “ยุคนั้นเป็นยุคที่คนทำทีวีน้อยมากๆ ถ้าไม่ทำรายการสดหรือละครก็จะเป็นการซื้อรายการเข้ามาฉาย ตอนนั้นแม่ยังไม่ได้คิดถึงขั้นทำโทรทัศน์ แต่คุยกับเพื่อนพ้องในวงการทั้งเอเจนซี่และบริษัทผลิตรายการต่างๆ ที่รู้จักคุ้นเคยกันว่าลองดูไหม โดยแม่เป็นคนทำบท” ผลปรากฏว่าสารคดีที่ทำได้รับรางวัลชนะเลิศ คุณสุชาดีจึงนำไอเดียไปเสนอ คุณชาติเชื้อ กรรณสูต ที่ช่อง 7

“ไหนๆ ก็จะทำแล้ว ทำทุกวันเลยละกัน ฉายวันละ 15 นาที” นี่คือโจทย์ใหญ่จากนายสถานีเมื่อ 38 ปีที่แล้ว

ในยุคแรก รายการ กระจกหกด้าน ออกอากาศทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 18.00 น. หลังข่าว 6 โมงเย็น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการออกอากาศ

กระจกหกด้าน,กระจกหกด้านบานใหม่,กระจกหกด้าน คนพากย์,กระจกหกด้าน เพลง
กระจกหกด้าน,กระจกหกด้านบานใหม่,กระจกหกด้าน คนพากย์,กระจกหกด้าน เพลง

ความฝันของทายาทรุ่นสองผู้อยากทำรายการวาไรตี้โชว์

ขณะที่พี่ชายคนรองเข้ามาช่วยงานที่บ้านอย่างเต็มตัว หลังเรียนจบออกแบบภายใน จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทั้งเขียนบทและออกกองไปถ่ายทำ เพราะเป็นเรื่องที่ตรงกับความสนใจ

อลงค์กรเริ่มมีความสนใจงานโฆษณา งานครีเอทีฟ และงานด้านสื่อสารมวลชน จากการพบปะลูกค้าและเพื่อนพ้องเอเจนซี่ที่มาใช้บริการห้องอัดเสียง จึงเลือกเรียน TV Production พร้อมๆ กับเข้าเรียนคอร์สทำภาพยนตร์เล็กๆ น้อยๆ ที่นิวยอร์ก

“งานสถาปัตย์ที่เรียนมาก็ใช้ความคิดสร้างสรรค์ แต่ระหว่างที่อยู่ในโลกความฝันนั้นมันมีความจริง ความถูกต้อง ความเหมาะสม ประกอบกับอสังหาริมทรัพย์หรือบรรยากาศการทำงานออกแบบในยุคนั้นไม่เฟื่องฟูเท่าปัจจุบัน พอได้เห็นการทำงานและวิธีคิดของคนโฆษณา คนประเภทที่หยุดคิดไม่ได้เลย เราก็อยากเป็นแบบนั้น อยากทำงานที่ผลักดันและท้าทายเราตลอดเวลา”

กระจกหกด้าน,กระจกหกด้านบานใหม่,กระจกหกด้าน คนพากย์,กระจกหกด้าน เพลง

อลงค์กรเล่าว่า สิ่งที่เขาได้จากการเรียนที่นิวยอร์กคือ โลกที่กว้างขึ้น

“เมื่อตั้งใจว่าจะเดินเส้นทางนี้แล้วสิ่งที่เราทำ คือ ดูให้มาก ขณะที่โทรทัศน์บ้านเรามี 4 ช่อง ที่อเมริกามีเป็นร้อยช่อง ตอนนั้นยังไม่ได้สนใจสารคดี แต่กำลังสนใจรายการวาไรตี้โชว์ซึ่งตอนนั้นบ้านเรายังไม่มี คนแรกที่ทำรายการทอล์กโชว์ของประเทศคือ อาจารย์สมเกียรติ อ่อนวิมล ซึ่งได้ไอเดียจากการมาเรียนและใช้ชีวิตในสหรัฐอเมริกาเหมือนกัน ระหว่างที่ดูเราก็อัดเป็นเทปเก็บไว้ทั้งหมด ชอบ Saturday Night Live และรายการอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับเพลง” เหตุการณ์ในช่วงนั้นทำให้อลงค์กรแอบคิดในใจว่าจะทำรายการวาไรตี้แบบที่ชอบของตัวเองเมื่อกลับมาประเทศไทย

กระจกหกด้าน,กระจกหกด้านบานใหม่,กระจกหกด้าน คนพากย์,กระจกหกด้าน เพลง

แต่สิ่งแรกที่อลงค์กรทำหลังเรียนจบกลับมา คือ สอบใบผู้ประกาศ เพื่อรับช่วงต่อรายการวิทยุเต็มตัว เพราะนโยบายจากสถานีวิทยุที่อยากให้เป็นรายการเพลงจัดสดมากกว่า ซึ่งตรงกับความฝัน ที่นอกจากฝันอยากเป็นวิศวกรแต่จับพลัดจับผลูเรียนสถาปัตย์ เขามีความฝันเล็กๆ ว่าอยากเป็นนักจัดรายการวิทยุและนักเขียนอย่างคุณสุชาดี แม่ของเขา

ขณะที่อลงค์กรดูแลรายการวิทยุควบคู่ไปกับงานโปรดิวเซอร์ รับผิดชอบผลิตสารคดีสั้นรองรับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการสื่อประชาสัมพันธ์ รายการ กระจกหกด้าน ก็ยังคงเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เริ่มทำรายการ แฟ้มประวัติอาชญากรรม สารคดีกึ่งละครอาชญากรรมที่ทำจากแฟ้มอาชญากรรมจากกองปราบที่ปิดสำนวนคดีไปแล้ว และรายการอื่นๆ ยิ่งทำให้รู้ว่าบริษัทมีความเชี่ยวชาญงานสารคดีโทรทัศน์มากกว่ารายการรูปแบบอื่นมากแค่ไหน

กระจกหกด้านบานใหม่

จุดเปลี่ยนของการมารับช่วงต่อรายการ กระจกหกด้าน เต็มตัวของอลงค์กร เริ่มขึ้นหลังจากที่พี่ชายคนรองตัดสินใจเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยตามความฝัน และการมาถึงของจังหวะที่บริษัทต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน

กระจกหกด้าน,กระจกหกด้านบานใหม่,กระจกหกด้าน คนพากย์,กระจกหกด้าน เพลง

“เมื่อถึงจุดหนึ่งที่แม่เข้าไปขายงานลูกค้าด้วยวิธีการเดิมไม่ได้อีกต่อไป เพราะมีช่องว่างระหว่างวัยของเราและเอเจนซี่ รวมกับแนวทางที่ต่างกัน จากวันหนึ่งที่ขายไอเดียโดยตรงกับนายห้าง ใช้ใจซื้อใจ ทุกวันนี้มีพิธีตรีตรองระหว่างทางมากมาย จึงเป็นหน้าที่ของเรา ใช้ศาสตร์ที่เรียนมานั่นคือศิลปะ บวกกับความตรงไปตรงมา ถ้างานดีก็ขายง่าย”

งานของอลงค์กรคือคิดแผนธุรกิจเพื่อเพิ่มตลาด ด้วยการรับงานที่เป็นโฆษณาเพิ่มขึ้น

“โชคดีที่เราเริ่มต้นแผนงานนี้ในยุคที่เฟื่องฟูสุดๆ สังเกตได้จากสัปดาห์หนึ่ง เรามีงานสารคดีสั้น 1 นาทีเพื่อการโฆษณาถึง 13 ชิ้น เมื่อเวลาผ่านไป ลูกค้าก็เปลี่ยน เริ่มอยากให้เล่าความเกี่ยวข้องระหว่างเนื้อหาและผลิตภัณฑ์ ทางสถานีโทรทัศน์ก็เป็นห่วงภาพลักษณ์ไม่อยากให้คนมองว่าเป็นสถานีโทรทัศน์ที่เห็นแก่การโฆษณา”

กระจกหกด้าน,กระจกหกด้านบานใหม่,กระจกหกด้าน คนพากย์,กระจกหกด้าน เพลง

รายการ กระจกหกด้านบานใหม่ มาในจังหวะที่มีการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มผู้ชม ตลาดและนโยบายจากนายสถานี ซึ่งมาจากโจทย์ 2 ข้อ “ข้อแรก เราไม่ใช่รายการเดียวที่ทำสารคดีเหมือนแต่ก่อน แฟนคลับหรือกลุ่มคนดูที่เคยมีลดน้อยถอยลงตามความสนใจ ข้อสอง เราต้องเปลี่ยน ไม่งั้นคนที่ดู กระจกหกด้าน จะเหลือเพียงกลุ่มคนที่สนใจเนื้อหาสาระล้วนๆ ดูจบแล้วไปใช้สอบในห้องเรียน การเปลี่ยนรูปแบบรายการ เป็นเรื่องที่คุยกันในครอบครัวมานานแล้ว ไม่ใช่แค่เรื่องเทคนิคและอุปกรณ์ แต่เป็นวิธีการ ความหลากหลายของเนื้อหา”

วิธีการมีเพียงข้อเดียว นั่นคือต้องชนะใจคุณสุชาดีให้ได้ ต้องทำให้เธอมั่นใจ อลงค์กรและทีมงานจึงทดลองทำตอนแรกของ กระจกหกด้านบานใหม่ ขึ้นมา ซึ่งมีชื่อตอนว่า ‘ส้มตำ’ และถือเป็นการพลิกบทบาทครั้งแรกของคุณสุชาดี จากคุณป้าผู้บรรยายเรื่องด้วยเสียงระนาบเดียว เป็นคุณป้าผู้เล่าเรื่องส้มตำด้วยน้ำเสียงใหม่ มีอารมณ์ร่วม และจังหวะรับส่ง บวกกับการมีตัวละครดำเนินเรื่อง มีดนตรีประกอบที่ร่วมสมัย มี Motion Graphic เล่าเรื่องให้เข้าใจง่ายขึ้นง่ายขึ้น

“กระแสตอบรับดีเกินคาด เราไม่คิดมาก่อนว่าคลิปจะกระจายและไปได้เร็วขนาดนี้ ไปถึงพันทิป เป็นไวรัล เป็นที่พูดถึงของสื่อต่างๆ หลังจากทดลองทำกับเทปนั้น เราก็ตั้งต้นหาทีมงานใหม่ ผสมกับทีมงานเดิมที่มีจุดแข็งเรื่องข้อมูล เกิดเป็น กระจกหกด้านบานใหม่ ออกอากาศเพียงเดือนละครั้ง”

กระจกบานใหม่ที่ส่องความสนใจของคนดู

จากคนที่ไม่เคยชื่นชมความงามของผนังวัดวาอาราม แต่ชื่นชอบปราสาทพระราชวังเก่าในต่างประเทศมากกว่า วันหนึ่งก็พบว่าความสวยงามของกระเบื้องและกระจกแบบไทยๆ ก็สวยงามไม่แพ้ต่างประเทศ

“เรานั่งดูวัดพระแก้ว เห็นกระจกเกรียบ กระจกบางๆ บางมากๆ บางเท่ากระดาษติดประดับเสา ซึ่งนำเข้าจากต่างประเทศก่อนใช้กรรไกรค่อยๆ ตัด นำไปติดเสาทีละชิ้น เหมือนเวลาเราดูคนทอผ้า เห็นกระบวนการกว่าจะได้มาของผ้าหนึ่งผืนก็ทำให้รู้สึกถึงคุณค่าและความมหัศจรรย์ เราจึงค่อยซึมซับทีละนิดๆ และเริ่มรู้สึกถึงแง่งามของงานที่ทำ เพราะสิ่งที่สำคัญที่นอกจากมีประโยชน์ต่อผู้ชมแล้ว เราซึ่งเป็นคนทำงานก็ได้เรียนรู้เพิ่มพูนขึ้น” อลงค์กรยังเล่าอีกว่า เขาบอกไม่ได้ว่าเริ่มรู้สึกรักสารคดีเมื่อไหร่ แต่เขามั่นใจแล้วว่ากำลังทำสิ่งที่ถูกที่ถูกทาง ซึ่งหล่อเลี้ยงชีวิตและความคิดให้เติบโตขึ้นตามวัย

กระจกหกด้าน,กระจกหกด้านบานใหม่,กระจกหกด้าน คนพากย์,กระจกหกด้าน เพลง

การเลือกเรื่องมานำเสนอของ กระจกหกด้านบานใหม่ เหมือนหรือแตกต่างจากเดิมอย่างบ้าง เราสงสัย

“มีเรื่องในกระแสบ้าง แต่จะหยิบส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ชมมานำเสนอ และพยายามลงรายละเอียดมากขึ้น ที่ผ่านมา เนื้อหาในอดีตนำเสนอเรื่องนามธรรม เรื่องที่หยิบกลับมาใช้กับชีวิตจริงไม่ได้ สมัยนี้เราต้องดูความสนใจของผู้ชม เช่น เนื้อหาที่ผู้ชมตามไปเที่ยวได้ หรือหยิบจับง่ายขึ้น เปรียบเป็นร้านอาหาร สมัยก่อนฉันทำอร่อยทุกคนต้องมากินนะ แต่เดี๋ยวนี้เราต้องวางตัวว่าเราก็เป็นหนึ่งในร้านอาหารที่มีอยู่มากมาย และอยากให้คนใหม่ๆ เข้ามาลองกิน เพราะฉะนั้น ก็ต้องรู้ว่าคนอยากกินอะไร เพื่อจะได้เสิร์ฟเมนูที่คนชอบกัน”

การรักษามาตรฐานการทำงานที่มีมาตั้งแต่รายการออกอากาศวันแรก

ภายใต้ตัวเลขจำนวนตอนที่ออกอากาศกว่า  4,000 ตอน ตลอดระยะเวลา 38 ปี ของรายการสารคดีปกิณกะ มีเนื้อหาที่เล่าถึงเรื่องศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ชีวิตความเป็นอยู่ ภูมิปัญญาไทย ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว เทคโนโลยีและวิทยาการ และกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ทั้งเรื่องเก่าที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ และสิ่งใหม่ร่วมสมัย

อย่างที่เรารู้โทรทัศน์ไม่เหมือนสื่อรูปแบบอื่น หากมีเนื้อหาหนักหนาเกินไป ผู้ชมจะเปลี่ยนหนีไม่อยากดู

แต่กลับกลายเป็นว่า สิ่งเหล่านี้เป็นจุดแข็งของแบรนด์ รายการ กระจกหกด้าน ที่ยากจะลอกเลียนแบบ

“ที่นี่เราให้ความสำคัญกับข้อมูล และความถูกต้องของเนื้อหา การได้มาซึ่งบทนั้นต้องผ่านการทำงานที่เข้มข้น ตั้งแต่การเขียนโครงเรื่องเพื่ออธิบายลำดับการเล่าเรื่อง โดยบททุกบทจะผ่านตาของคุณสุชาดีเอง เพราะเธอจะไม่ยอมให้มีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องแม้เพียงนิดเดียว ไม่ได้หมายความว่าไม่เคยผิดพลาด แต่เกิดขึ้นน้อยมาก นับครั้งได้ และไม่ใช่เรื่องผิดพลาดหนักหนาสาหัส

กระจกหกด้าน,กระจกหกด้านบานใหม่,กระจกหกด้าน คนพากย์,กระจกหกด้าน เพลง

“ยิ่งทุกวันนี้ สื่อยิ่งให้ความสำคัญกับเรื่องความถูกต้องน้อยลง แต่เราก็ยังยืนยันที่จะทำ เรื่องการผลิตก็เช่นกัน แม้จะเป็นรายการสารคดี 15 นาที เราก็ใช้เวลาถ่ายทำถึง 8 คิว เยอะเกินไหมล่ะ” อลงค์กรเล่าว่า เขาพยายามจะลดความละเอียดของการถ่ายทำเพื่อให้การทำงานในส่วนตัดต่อและอื่นๆ ง่ายขึ้น แต่เขาก็ยอมรับว่า จำเป็นต้องรักษามาตรฐานของการทำงานที่สร้างมาตั้งแต่ในอดีต

“นอกจากเรื่องเนื้อหาที่ถูกหรือผิด ผมเรียนรู้เรื่องการทำธุรกิจจากแม่ ซึ่งท่านจะไม่ทำสิ่งที่ตัวเองไม่เชี่ยวชาญ และทำธุรกิจโดยไม่สร้างหนี้ คนทำธุรกิจสมัยนี้อาจจะบอกว่า หัวโบราณไม่กล้าเสี่ยง แม้ว่าการเสี่ยงเป็นโอกาสที่สร้างความมั่งคั่ง แต่ใครจะรู้ถ้าวันนั้นเราตัดสินใจทำบริษัทให้ใหญ่โตเป็นหนี้เป็นสิน เราก็อาจจะไม่ได้มี กระจกหกด้าน หรือมีบริษัทที่อยู่มาถึงทุกวันนี้ก็ได้ อย่างช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ทุกคนเจอปัญหา เราก็เจอ และสารคดีก็เป็นตัวเลือกแรกของประเภทรายการโทรทัศน์ที่จะถูกตัดโฆษณา เราเคยเจอมาหมดแล้ว วิธีการคือ หนึ่ง เมื่อไม่มีหนี้ก็ไม่มีอะไรต้องกังวลมากนัก และสอง หาวิธีรอดกันไป” อลงค์กรเล่าถึงสิ่งที่เรียนรู้จากแม่

กระจกหกด้าน,กระจกหกด้านบานใหม่,กระจกหกด้าน คนพากย์,กระจกหกด้าน เพลง

กระจกหกด้าน ด้านที่อยู่ในโลกออนไลน์

“แม้จะเป็นแผนการที่คิดมานานแล้ว แต่เราก็เริ่มเดินทางสู่โลกออนไลน์ช้ามาก ผลจากการทำรายการมาเกือบ 40 ปี ทำให้เรามีสารคดีกว่า 4,000 เรื่องอยู่ในมือ เป็นรายการเดียวในโลกที่ได้ถ่ายทำพระบรมมหาราชวังโดยสมบูรณ์ ถ่ายทำทุกพระที่นั่ง เมื่อ 20 ปีก่อน ยังมีเทปอยู่นะ แต่ยังไม่รู้ว่าจะใช้วิธีโอนถ่ายยังไง ก่อนหน้านี้เมื่อออกอากาศในโทรทัศน์จบก็สูญหายไป ไม่เคยถูกนำมาใช้ประโยชน์หรือทำให้เกิดผลทางธุรกิจ” อลงค์กรเล่าความตั้งใจค้นหาสื่อรูปแบบอื่นๆ ที่ลงตัวกับความเชี่ยวชาญและสิ่งที่มี

ปัจจุบัน นอกจากจะสร้างเว็บไซต์ mirror6.com เพื่อรวบรวมสิ่งดีของไทยนำเสนอแก่ชาวต่างชาติและคนรุ่นใหม่ คัดสรรแลเผยแพร่เนื้อหาที่เคยออกอากาศไปแล้วแต่ยังร่วมสมัยอยู่ อลงค์กรยังเริ่มทำรายการออนไลน์ชื่อ ‘ไชโยโอป้า’ นำเสนอเนื้อหาในแบบรายการ กระจกหกด้าน  แต่ย่อยง่ายและดูสนุก ซึ่งเป็นการพลิกบทบาทครั้งสำคัญของคุณสุชาดี

EP.5 โอป้า VS อรอรีย์

ควันหลงวันแม่ เมื่อโอป้าอยากได้ของที่อตก.ตลาดซึ่งได้ชื่อว่ามีของครบ แต่ราคาก็ชวนสลบ มาดูลีลาการเลือกซื้อของ และต่อรองแบบแม่ค้าสะอื้นของโอป้า ผ่านอรอรีย์ ลูกสาวขาร็อค ที่ทั้งลุ้น วุ่น และฮา ใน “ไชโย โอป้า” ตอน “อตก.จ๋า โอป้ามาแล้วจ้ะ” #ไชโยโอป้า #mirror6สำหรับใครที่พลาดตอนก่อนหน้า ติดตามรายการ ไชโยโอป้า ย้อนหลังได้ที่ https://mirror6.com/channels/chaiyo-opa

Posted by ไชโย โอป้า on Sunday, August 12, 2018

ไม่ใช่แค่สร้างรายการขึ้นมาเพื่อให้คนรู้จักเราในรูปแบบใหม่ แต่อลงค์กรอยากให้คุณสุชาดีผู้มีความสุขกับการทำงาน ยังมีไฟและมีแรงแข็งขันอยู่ตลอด

“วันหนึ่งรายการ กระจกหกด้าน อาจจะหายไปเหมือนรายการอื่นๆ แต่ในวันนี้เราขอทำอย่างเต็มที่ เพราะสิ่งที่คงไว้คือ ชื่อของ กระจกหกด้าน ที่จะยังไม่หายไปไหน” อลงค์กรทิ้งท้าย

กระจกหกด้าน,กระจกหกด้านบานใหม่,กระจกหกด้าน คนพากย์,กระจกหกด้าน เพลง
กระจกหกด้าน,กระจกหกด้านบานใหม่,กระจกหกด้าน คนพากย์,กระจกหกด้าน เพลง
 

บริษัท ทริลเลี่ยนส์ แอนด์ ทรีไลอ้อนส์ จำกัด พ.ศ. ๒๕๒๑

บริษัท ทริลเลี่ยนส์ แอนด์ ทรีไลอ้อนส์ จำกัด เริ่มต้นจากการผลิตสารคดีชุด ‘พญาแถน’ เล่าความเชื่อของชาวอีสานที่มีต่อตำนานบั้งไฟ เพื่อส่งเข้าประกวดโครงการ สารคดีธนาคารกรุงเทพ จนได้รับรางวัลชนะเลิศ เป็นที่มาให้นำไอเดียผลิตรายการสารคดีไปเสนอยังสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 แล้วจึงเริ่มทำรายการ กระจกหกด้าน ออกอากาศตอนแรกเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2525 ถือเป็นสารคดีชุดแรกของประเทศที่ผลิตโดยคนไทย โดยออกอากาศทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 18.00 น.

นอกจากเป็นเจ้าของรายการ กระจกหกด้าน บริษัทยังดำเนินกิจการวิทยุ วางสื่อโฆษณา และผลิตรายการเพลง ออกอากาศที่สถานีวิทยุ FM 96.5 ดำเนินรายการโดยคุณสุชาดี มณีวงศ์ ก่อนจะผลิตรายการวิทยุทาง FM99 FM95 FM105 FM96 cและ FM105.5 ในเวลาต่อมา ความสำเร็จจากรายการ กระจกหกด้าน ต่อยอดให้เริ่มผลิตรายการโทรทัศน์อื่นเพิ่มเติม เช่น สารคดีชุดบันทึกวันหยุด ในปี 2530 และก่อนจะเริ่มผลิตสารคดีสั้น ความยาว 1 – 2 นาที โดยเป็นทั้งรายการให้ความรู้และส่งเสริมแผนการตลาด เพื่อรองรับตลาดที่เปลี่ยนไป นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นผู้ผลิตรายการ ร้อยเรื่องเมืองไทย และ รูปสวยรวยรส

ปัจจุบัน รายการ กระจกหกด้าน ในรูปแบบโฉมใหม่ จัดอยู่ในหมวดรายการโทรทัศน์ประเภทสารคดีปกิณกะกึ่งวาไรตี้ ความยาว 15 นาที ออกอากาศทุกวันพุธและพฤหัสบดี เวลา 17.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เนื้อหาครอบคลุมศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ชีวิตความเป็นอยู่ ภูมิปัญญาไทย ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว เทคโนโลยีและวิทยาการ และกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ทั้งเรื่องเก่าที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ และสิ่งใหม่ร่วมสมัย ทั้งหมดนี้รับชมย้อนหลังได้ที่เว็บไซต์ mirror 6

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan