KohMunnork Private Island by Epi[K]urean Hotels & Lifestyle คือรีสอร์ตหนึ่งเดียวบนเกาะมันนอกที่ไม่เพียงผ่านร้อนหนาว แต่ผ่านแดด ลมฝน มาแล้วหลายฤดูกาล

เราขับรถจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่หมู่เกาะมัน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เพื่อมาพบกับ วิน-วินชนะ พฤกษานานนท์ ทายาทรุ่นที่ 2 ผู้มารับช่วงต่อกิจการการดูแลรีสอร์ตส่วนตัว ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะเล็กๆ กลางทะเลอ่าวไทยแห่งนี้

อย่าเพิ่งติดภาพหรูหราจับต้องไม่ได้เมื่อพูดคำว่ารีสอร์ตส่วนตัว เพราะ ‘เกาะมันนอกรีสอร์ท’ แห่งนี้มีจุดเด่นที่ความเรียบง่ายและธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ แถมสิ่งที่ทายาทรุ่นที่ 2 คนนี้กำลังเดินหน้าผลักดันอย่างเต็มตัวอยู่ตอนนี้ คือความใส่ใจเรื่องขยะมหาสมุทร ที่กำลังเป็นภัยคุกคามน่านน้ำทั่วโลกรวมถึงเกาะมันนอกด้วยเช่นกัน

‘เกาะมันนอกรีสอร์ท’ ไม่เคยทำมาร์เก็ตติ้งเลยตลอดหลายปีที่ผ่านมา การกระโจนเข้าสู่ความดุเดือดของสมรภูมิโซเชียลมีเดีย และกลายเป็นรีสอร์ทที่ถูกพูดถึงมากมายบนโลกออนไลน์ รวมถึงเป็นจุดหมายปลายทางในฝันของใครหลายคน เกาะเล็กๆ แห่งนี้ทำได้อย่างไร

เราจะพาคุณข้ามน้ำข้ามทะเลไปค้นหาคำตอบกัน

เกาะมันนอก

จุดเริ่มต้นเล็กๆ บนเกาะเล็กๆ

“ตั้งแต่มาครั้งแรกเราก็รักและผูกพันกับเกาะมันนอก เป็นธุรกิจครอบครัวที่ญาติๆ ช่วยกันทำมาตลอด แต่เมื่อก่อนไม่ใช่แบบนี้เลย เป็นรีสอร์ตห้องพัดลม ผ้าห่มสีส้มแจ๊ด ผมก็คิดมาตลอดว่ารีสอร์ตบ้านเราเซอร์มาก ไม่ต้องหรูหราเพื่อดึงดูดลูกค้า เพราะเรามีจุดขายคือความสงบและธรรมชาติมาตลอดหลายสิบปี” วินเล่าพร้อมชี้ให้ดูเรือนพักเล็กๆ ที่ทอดตัว ซุกซ่อนขนานไปกับชายหาดและป่าธรรมชาติเขียวชอุ่ม

เกาะมันนอก

เกาะมันนอกรีสอร์ตมีห้องพักทั้งสิ้น 22 ห้องถ้วน จำนวนเท่าเดิมกับตอนเปิดกิจการเมื่อหลายสิบปีก่อนเป๊ะ

“เราไม่สามารถเพิ่มสิ่งปลูกสร้างบนเกาะแห่งนี้ได้ตามใจ ขอสัมปทานพื้นที่ไว้เท่าไหร่ ก็ต้องทำภายใต้กรอบเท่านั้น จะต่อเติมเกินเขตที่ดินที่ทำข้อตกลงเอาไว้ไม่ได้ อธิบายง่ายๆ ก็คือ สมมติว่าแปลนบ้านเราเป็นสี่เหลี่ยม บ้านของเราจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงยังไงแปลนก็ต้องเป็นสี่เหลี่ยมเท่าเดิม เราแค่เปลี่ยนการตกแต่งข้างใน ซึ่งก็เปลี่ยนมาเรื่อยๆ”

วินอธิบายว่า เกาะมันนอกมีเนื้อที่ประมาณ 95 ไร่ แต่พื้นที่ในการทำ ‘เกาะมันนอกรีสอร์ท’ คิดเป็นเพียง 1 ใน 4 ของเนื้อที่เกาะทั้งหมดเท่านั้นเอง

เกาะมันนอก เกาะมันนอก

เรือไม้ลำโตจอดลงช้าๆ ในอ่าวด้านหน้าเกาะ จากตรงนี้เราต้องต่อเรือบดลำเล็กเข้าสู่ชายหาด แม้จะห่างจากท่าเรือแหลมตาล จังหวัดระยอง แค่ 11 กิโลเมตร แต่ก็ใช้เวลานั่งเรือประมาณ 45 นาที ระหว่างทางเราแล่นเรือผ่านเกาะมันใน เกาะมันกลาง ก่อนจะมาถึงเกาะที่ตั้งอยู่ริมนอกชายฝั่งมากที่สุดอย่างเกาะมันนอก

“ด้วยความที่รีสอร์ตของเรามีเรือขาไปและกลับเข้าฝั่งแค่วันละเที่ยวเดียว บางทีก็มีลูกค้ามาไม่ทันขึ้นเรือบ้าง เพราะเรือจะออกตรงเวลาคือบ่ายโมงตรง ในกรณีที่ลูกค้าตกเรือ มี 2 ทางเลือกด้วยกัน คือเหมาสปีดโบ๊ต ไม่ก็จ้างเรือประมงของชาวบ้านให้แล่นตรงมาส่งที่เกาะ ถ้าลูกค้าสายลุยหน่อยส่วนใหญ่จะเลือกอย่างหลัง” วินเล่ายิ้มๆ

ประเมินด้วยสายตาฝ่าละอองแดดยามบ่าย เกาะมันนอกมีลักษณะกลมรี และมีความเป็นธรรมชาติอยู่มาก ส่วนกลางของเกาะเป็นป่า ด้านตะวันออกเป็นหาดทรายขาวละเอียดตลอดแนว ถัดมาด้านตะวันตกมีโขดหินสีสวยวางตัวลดหลั่นลงสู่แนวปะการังน้ำตื้น

เกาะมันนอก เกาะมันนอก

“สมัยแรกของการทำรีสอร์ตพื้นที่ทั้งหมดบนเกาะเป็นป่า เราพยายามตัดต้นไม้เดิมทิ้งให้น้อยที่สุดเพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนธรรมชาติ สร้างทางเดินเล็กๆ ให้สามารถเดินได้รอบเกาะเพื่อดูทิวทัศน์ของทะเลอ่าวไทย ผมอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เด็ก สิ่งที่ทำเป็นกิจวัตรทุกเช้าคือการเดินดูความเรียบร้อยรอบเกาะ สมัยเด็กๆ เวลาไปเดินรอบเกาะผมไม่เคยสังเกตว่าขยะมหาสมุทรที่พัดมาเกยตื้นตามแนวชายฝั่งหรือหาดต่างๆ บนเกาะมันเยอะขนาดไหน จนเมื่อเวลาผ่านไป ผมโตขึ้นและเริ่มรับรู้ได้ว่าปริมาณขยะทางทะเลมันเยอะขนาดไหน เอาแค่ว่าบนเกาะเล็กๆ อย่างเกาะมันนอกก็นับว่ามหาศาลแล้ว”

ขยะในท้องทะเล แต่มีที่มาจากบนชายฝั่ง

วินบอกว่า ขยะมหาสมุทรเหล่านี้มีตั้งแต่หลอดพลาสติก ขวดน้ำ แผ่นโฟม เชือกไนล่อน แผ่นสังกะสี ไปจนถึงก้านลูกกวาด ยิ่งถ้าเป็นประเภทที่สามารถแตกหักได้ เมื่อถูกน้ำทะเลซัดมันจะกระจัดกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จนไม่แปลกใจที่มีข่าวการพบซากขยะพลาสติกนับร้อยชิ้นในท้องสัตว์ทะเลที่เผลอไปกินมันเข้าอย่างไม่รู้ตัว

เกาะมันนอก เกาะมันนอก

“ผมตั้งคำถามมาตลอดนะว่าขยะพวกนี้มันมาจากไหนนักหนา บางชิ้นเก็บมาพลิกดูฉลาก โอ้โห ลอยมาจากเวียดนาม ก่อนจะมาเป็นรุ่นผม แม้จะไม่ได้มีระบบแยกขยะอย่างเป็นระบบ แต่เราก็จัดการขยะจากรีสอร์ตอย่างดี ขนขยะทุกชิ้นขึ้นเรือเพื่อนำไปเข้าระบบจัดการขยะบนฝั่ง ดังนั้น ขยะรอบเกาะเหล่านี้ไม่ใช่ขยะจากรีสอร์ตเลยแม้แต่ชิ้นเดียว” ขยะมหาสมุทรสามารถลอยไปได้ไกลแสนไกลข้ามหลายน่านน้ำเป็นร้อยปี โดยไม่ย่อยสลาย เช่นเดียวกับขยะที่ลอยมาขึ้นฝั่งรอบเกาะมันนอก

“คนส่วนใหญ่มักคิดว่าขยะในทะเลเป็นเรื่องไกลตัว เพราะเวลาไปเที่ยวทะเล เรามักเห็นชายหาดที่ถูกจัดการขยะเรียบร้อยแล้ว ทำให้ไม่รู้ความร้ายแรงของปัญหานี้ มันคือขยะพลาสติกจำนวนมหาศาลแบบที่เราแทบจะจินตนาการไม่ออกเลยนะถ้าไม่เคยลงมาสัมผัส”

น้ำมะพร้าวเย็นๆ ทั้งลูกถูกยกมาเสิร์ฟทั้งลูก วินหยิบหลอดกระดาษขึ้นมาพร้อมอธิบายว่า “ตอนนี้เกาะมันนอกรีสอร์ทเปลี่ยนมาใช้หลอด คอตต้อนบัด และแปรงสีฟันกระดาษ เราพยายามลดการใช้พลาสติกแบบ Single-use และหันมาใช้วัสดุย่อยสลายได้ทั้งหมดแทน เราซื้อตู้น้ำดื่มมาตั้งบริเวณ Common Area ถ้าคุณพกกระบอกน้ำมาหรือขอยืมแก้วน้ำจากทางรีสอร์ต เราให้คุณกดน้ำดื่มเย็นๆ ได้ไม่จำกัดเลย ถือเป็นการช่วยโลกลดภาระเรื่องขยะพลาสติก”

เกาะมันนอก

เกาะมันนอก

สิ่งที่วินตั้งใจทำมาโดยตลอดนับตั้งแต่รับช่วงต่อกิจการจากทายาทรุ่นหนึ่ง คือการสร้างความเข้าใจและความตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ทุกคนบนเกาะ

“ผมดูแลรีสอร์ตในส่วนของ Marketing และ Operation ในขณะที่พี่สาวดูแลเรื่องงบประมาณและการเงิน ตั้งแต่เริ่มเข้ามาช่วยดูแลรีสอร์ต ผมพยายามอธิบายความรุนแรงของปัญหาพลาสติกโลกและประเทศไทย โดยเริ่มจากคนในครอบครัวก่อน เมื่อครอบครัวเข้าใจแล้วก็ค่อยมาอธิบายคนงานต่อ ซึ่งก็ต้องมีวิธีสื่อสารกับพวกเขาด้วยนะ ไม่ใช่ว่าเราอินกับเรื่องนี้ แล้วจะสามารถเข้ามาเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย อยู่ดีๆ มาบอกเขาเฉยๆ เขาไม่เชื่อและไม่มีทางเข้าใจ”

วินบอกว่า สิ่งที่ทำได้เร็วและง่ายที่สุดคือการแยกขยะ แม้ที่ผ่านมาเกาะมันนอกเก็บขยะทุกชิ้นออกไปทิ้งตามระบบจัดการขยะมูลฝอยบนฝั่งก็จริง แต่ก็ยังไม่เคยมีระบบแยกขยะแบบจริงๆ จังเกิดขึ้นบนเกาะจนกระทั่งถึงรุ่นของเขา

เกาะมันนอก

“การคัดแยกประเภทขยะจะช่วยให้เราสามารถนำขยะไปใช้ต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ จริงๆ ทุกคนเคยเรียนเรื่องนี้มาแล้วตั้งแต่เรียนที่โรงเรียน ต่อให้ไม่เรียน การแยกขยะก็เป็นเรื่อง Common Sense ที่จำง่ายมาก มันแบ่งเป็นแค่สามสี่ประเภทเท่านั้นเอง คือขยะย่อยสลายได้ ขยะรีไซเคิล ขยะทั่วไป แล้วก็ขยะอันตราย เรารู้อยู่แล้วว่าขวดพลาสติกมีมูลค่า สามารถถูกนำไปรีไซเคิลต่อได้ ดังนั้น ก็อย่าทิ้งปะปนกับเศษอาหาร เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปรีไซเคิล เท่านั้นเอง”

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการสร้างขยะเฉลี่ยอยู่ที่อันดับ 70 – 80 ของโลก ประชากร 1 คนผลิตขยะเฉลี่ย 1.1 – 1.5 กิโลกรัมต่อวัน ขยะตกค้างในไทยหากนำมากองรวมกันจะมีขนาดเท่ากับตึกใบหยก 147 ตึก จากจำนวนขยะที่กล่าวมา มีการจัดการที่ถูกต้องตามกรรมวิธีเพียง 49% เท่านั้น ในขณะที่อีก 51% ของขยะทั้งหมดไม่สามารถกำจัดได้ จึงเกิดการทับถมสะสมเป็นกองขยะขนาดมหึมาและบางส่วนถูกทิ้งลงทะเล กลายเป็นปัญหาขยะมหาสมุทรที่เกาะมันนอกและน่านน้ำทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่

“สิ่งที่ผมกำลังพยายามทำอยู่ตอนนี้ คือปุ๋ยชีวภาพจากขยะย่อยสลายได้และเศษอาหารจำพวก Food Waste ที่เกิดจากการกินดื่มบนเกาะ ความท้าทายคือรีสอร์ตของเราอยู่บนเกาะสัมปทาน ทำให้พื้นที่มีจำกัด เลยต้องหาจุดที่เหมาะสมที่สุดในการหมักปุ๋ย เพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องกลิ่นไปรบกวนแขกที่มาพักที่รีสอร์ต และเพื่อลดภาระให้กับระบบจัดการขยะบนฝั่ง ขยะประเภทไหนเราจัดการให้จบบนเกาะได้เราก็จะทำ แล้วอีกอย่างต้นไม้บนเกาะก็จะได้ปุ๋ยฟรีๆ มาบำรุงด้วย”

เกาะมันนอก

เกาะมันนอก

หมั่นคอยดูแลรักษาดวงใจ

วินเล่าว่า ช่วงแรกๆ ที่เขาพยายามผลักดันเรื่องขยะบนเกาะคนงานไม่ค่อยพอใจ เพราะไม่เข้าใจปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในภาพกว้าง เลยกลายเป็นเหมือนวินพยายามเพิ่มภาระงานให้โดยไม่จำเป็น “แรกๆ ผมก็เดินเก็บเองทุกวัน เพราะเกรงใจที่จะเอ่ยปาก” แต่ขยะที่ลอยมาขึ้นฝั่งรอบเกาะเล็กๆ ที่ใช้เวลาเดินแค่ 1 ชั่วโมงก็รอบแล้วกลับมีจำนวนมากมายกว่าที่คิด

วินเลยชักชวนเพื่อนๆ คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ มาเดินและดำน้ำ Snorkeling เก็บขยะรอบเกาะแบบจริงๆ จังๆ “ก่อนมาทุกคนก็ไม่ได้คิดอะไรมาก ตามๆ กันมาสนุกสนาน พอมาเจอสภาพจริงเท่านั้นแหละ เก็บเสร็จ เครียดคิ้วขมวดกันกลับไปเลย เพราะเพื่อนผมหลายคนก็เพิ่งเคยมาเห็นเต็มๆ ตาครั้งแรกว่าขยะมหาสมุทรมันใกล้ตัวขนาดไหน ถ้าคุณไม่มีรองเท้าแตะ เดินหาได้เลยครับ แป๊บเดียวก็ได้ครบคู่ พร้อมใส่”

ในขณะเดียวกัน วินเริ่มได้รับฟีดแบ็กจากแขกที่มาพักซึ่งเดินเล่นรอบเกาะไปเจอขยะบนหาดด้านหลัง และเข้าใจว่าทางรีสอร์ตนำไปทิ้งไว้ ทั้งที่จริงๆ ขยะเหล่านั้นไม่ใช่ขยะจากรีสอร์ตเลย “พื้นที่ในความดูแลของเรามีแค่บริเวณรีสอร์ตที่ได้รับสัมปทานมาเท่านั้น ที่เหลืออีก 3 ใน 4 เป็นพื้นที่ของกองทัพเรือไทย แต่เราก็มองทั้งเกาะเป็นเหมือนบ้านของเรา เราก็ไม่สบายใจที่จะเห็นบ้านเราสกปรก”

วินเล่าต่อว่า “รีสอร์ตของเราไม่ได้บริหารงานด้วยระบบโรงแรมจ๋า เราอยู่กันแบบครอบครัว คนงานเก่าแก่บางคนอยู่กับเรามาตั้งแต่ผมเกิดเสียอีก แน่นอนว่าเขารู้สึกรัก ผูกพัน และหวงแหนเกาะ ไม่ต่างไปจากผม เพียงแค่เขาไม่รู้ เขาเห็นขยะพลาสติกในทะเลมาตลอดชีวิตจนเขาเคยชินและไม่ได้คิดว่ามันเป็นปัญหา ซึ่งก็มาจากการที่เขาไม่ได้รับข้อมูลภาพกว้างเรื่องสิ่งแวดล้อมเท่าผมหรือคนรุ่นใหม่อย่างเราๆ”

เกาะมันนอก

เกาะมันนอกรีสอร์ทจึงตัดสินใจปิดทำการเดือนละ 2 วัน ไม่รับแขกมาเข้าพัก และตั้งเป็น Big Cleaning Days ในแต่ละเดือนเพื่อทำความสะอาดเกาะ โดยตั้งแต่เช้าตรู่วินจะแบ่งคนงานออกเป็น 2 ทีม เดินกระจายไป 2 ด้านของเกาะ อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะคิดว่าก็แค่เก็บขยะเอง ไม่เห็นจะยากตรงไหน ต้องใช้เวลาตั้ง 2 วันเลยหรอ

ตอนแรกเราก็คิดแบบนั้นเหมือนกัน จนได้ลองเดินรอบเกาะเพื่อเก็บขยะกับวิน และค้นพบความจริงอันโหดร้ายว่าขยะที่ถูกคลื่นซัดจนแตกเป็นชิ้นเล็กๆ นั้นเก็บยากมาก ลองนึกภาพลังโฟมที่ชาวประมงใช้ใส่ปลา แต่เปื่อยเป็นผุย เม็ดโฟมขนาดไม่เกิน 1 เซนติเมตร หรือแม้แต่เชือกไนล่อนที่แช่น้ำทะเลมาจนยุ่ยได้ที่และแตกเป็นฝอยเส้นเล็กๆ ไปจนถึงพลาสติกที่โดนแดดเผาจนละลายติดกรังอยู่บนโขดหิน ทุกอย่างกระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณ เกาะเล็กๆ เลยกลายสภาพเป็นเกาะกว้างใหญ่ไพศาลไปในบัดดล

“ตอนนี้ผมทำจุด Check Point และเอาถังขยะไปวางไว้ตามหาดต่างๆ รอบเกาะ ถ้าแขกที่มาพักไปเดินเล่นแล้วช่วยเก็บขยะเหล่านั้นใส่ถังก็ถ่ายภาพมาให้เราดู เรามีเครื่องดื่มฟรีให้ ถือเป็นการสร้าง Awareness ให้เด็กๆ ที่มาพักรู้ว่าแม้จะมาเที่ยว มาพักผ่อน ก็ต้องรับผิดชอบขยะของตัวเองด้วย”

เกาะมันนอก เกาะมันนอก

ด้วยความที่จบสถาปัตย์ ช่วงแรกวินจึงมาช่วยดูแลในส่วนของ Maintenance ก่อน โดยการเข้ามาช่วยซ่อมจุดนั้นจุดนี้ในรีสอร์ต “วัสดุทุกชนิดที่อยู่กับทะเลมีระยะการใช้งานที่สั้นมาก ไม้ดีๆ โดนแดด ลม ละอองความชื้น ใช้ไปไม่กี่ปีก็กรอบหมด รีสอร์ตเราเปลี่ยนไม้มาหลายรอบมาก จนผมจำไม่ได้แล้วว่าเปลี่ยนไปกี่รอบ

“ก่อนหน้าที่จะลงมารับช่วงกิจการเต็มตัวผมไม่เข้าใจอะไรเลย ผมมีแค่ความฝันว่าอยากทำให้รีสอร์ตที่เราผูกพันมาตั้งแต่เด็กสวยกว่านี้ ดังกว่านี้ เป็นที่รู้จักกว่านี้ คิดแค่นั้น แต่ไม่ได้คิดถึงขั้นตอนและกระบวนการเลยว่า ‘มันต้องทำยังไงวะ’ ช่วงแรกก็ช็อกไปเหมือนกัน ด้วยความที่เราเป็นคนค่อนข้างใจร้อน เลยต้องปรับตัวและยอมในบางเรื่องบ้างในการทำงาน ยิ่งมาทำงานบริหารยิ่งต้องใจเย็น

“ผมเป็นคนละเอียดมาก และช่วงแรกก็ปล่อยวางไม่เป็น มาถึงก็สั่งงานและคาดหวังงานที่ดีมากๆ จากเขา แต่ในความเป็นจริงมันไม่ได้ง่ายแบบนั้น ผมเริ่มเรียนรู้ที่จะปล่อยวางบ้าง ถอยให้คนงานบ้างก่อนในบางจุด แล้วค่อยๆ ตะล่อมเขาอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะคนงานเขาทำงานอยู่หน้างาน มันมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่เราต้องพยายามเข้าใจเขาด้วย เขาเหนื่อย เขาท้อแท้ มีปัญหาเรื่องเงิน มีปัญหาเรื่องครอบครัว ผมค่อยๆ เรียนรู้ความเป็นจริงว่าในการทำงานมันมีองค์ประกอบและรายละเอียดอื่นๆ อีกเยอะมาก”

เกาะมันนอก

เกาะมันนอก

การตลาดแบบชวนเพื่อนมาเยี่ยมบ้าน

หลังจากนั้นวินเริ่มเข้ามาดูแลเรื่องการตลาดและประชาสัมพันธ์ “รีสอร์ตเราไม่เคยทำมาร์เก็ตติ้งมาก่อน แต่เรารู้ว่าเราอยากสร้างภาพจำให้เกาะมันนอกรีสอร์ทผ่านจุดขายและความยูนีกของเรา เราน่าจะเป็นรีสอร์ตไม่กี่แห่งที่มีเวลาตัดไฟ พอ 9 โมงเช้าปุ๊บเราตัดไฟปั๊บ เหมือนบังคับกลายๆ ว่าคุณต้องออกมาเจอสายลม แสงแดด และใช้ชีวิตกลางแจ้งริมทะเลได้แล้วนะ

“ที่ตัดไฟไม่ใช่เพราะไฟไม่พอ เรามีเครื่องปั่นไฟที่เพียงพอต่อความต้องการตลอด 24 ชั่วโมง แต่การพักเครื่องปั่นไฟมันก็เหมือนการให้เกาะได้พักจากควันที่ปล่อยออกมา เครื่องปั่นไฟก็คือเครื่องยนต์ชนิดหนึ่ง การทำงานและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซน์เหมือนกันเลย” วินเล่ายิ้มๆ

วินเล่าต่อว่า จริงๆ แล้วเกาะมันนอกรีสอร์ทไม่มีงบมาร์เก็ตติ้ง “เราไม่มีงบจ้างบล็อกเกอร์แพงๆ มาโปรโมต เราเลยอาศัยการเชิญเขามามากกว่า เหมือนชวนเพื่อนมาค้างที่บ้าน เลี้ยงข้าวเลี้ยงน้ำและดูแลแบบมิตรภาพแทน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังคงอยู่ในโจทย์ที่ต้องการสร้างภาพจำให้รีสอร์ต”

เกาะมันนอก

เกาะมันนอก

บล็อกเกอร์ทุกคนที่ได้รับคำเชื้อเชิญมาเยี่ยมบ้านบนเกาะเล็กๆ กลางทะเลแห่งนี้ มีอิสระเต็มที่ในการถ่ายทอดความเป็นเกาะมันนอกตามสไตล์ของตัวเอง โดยสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันเปี๊ยบและเราคิดว่านี่แหละคือภาพจำของเกาะมันนอกอย่างที่วินตั้งเป้าหมายไว้ตั้งแต่แรก สิ่งนั้นก็คือ ‘ความเป็นมิตร’ ที่ได้อารมณ์แบบเวลาเราไปค้างอ้างแรมที่บ้านเพื่อนเป๊ะ

“พอเริ่มมีบล็อกเกอร์เข้ามา เราก็เริ่มมี Engagement กับคนมากขึ้น คนที่มาพักได้รับประสบการณ์ดีๆ ก็พร้อมบอกต่อ เวลาเราโพสรูปหรือข้อความในเพจ Facebook หรือ Instagram แขกของเราจะเข้ามามีบทสนทนาพูดคุยกับเราเสมอ ทั้งคอมเมนต์ด้วยเรื่องราวความประทับใจตอนที่เขามาพัก หรือแชร์ส่งต่อไปให้เพื่อนๆ เป็นเหมือน Community เล็กๆ บนโลกออนไลน์ที่เรามีร่วมกัน และหวังว่าไม่ช้าก็เร็วเราจะได้พบกันอีกที่เกาะมันนอก”

ภาพเส้นขอบฟ้าสุดลูกหูลูกตาจากสะพานไม้สีธรรมชาติ ความสวยงามแบบไร้การปรุงแต่งที่ทำให้ใครหลายๆ คนตกหลุมรักเกาะมันนอกจนต้องกลับมาซ้ำแล้วซ้ำอีก

เกาะมันนอก

“ผมมองว่าการทำรีสอร์ตในยุคนี้มันต้องเป็นมากกว่าแค่ที่พัก แต่มันคือพื้นที่ที่มีชีวิต และพร้อมจะเติบโตไปกับมนุษย์ด้วย ผมเคยเจอแขกที่มาพักรีสอร์ตของเราตั้งแต่เขายังเรียนมหาวิทยาลัย มากับเพื่อนๆ ตอนนั้นผมยังเด็กอยู่เลย ต่อมาเขาก็พาแฟนมา มาขอแต่งงาน มาฮันนีมูน จนมีลูกก็พาลูกมา จนเมื่อเร็วๆ นี้ครบรอบแต่งงาน เขากลับมาอีกครั้งแค่ 2 คน อ๋อ ที่แท้ เขาทิ้งลูกไว้ที่บ้านแล้วมาสวีทกัน 2 คน

“รีสอร์ตของเราอยู่มาแล้วนานแล้ว เป็นเสี้ยวหนึ่งในความทรงจำที่แตกต่างในแต่ละช่วงวัย เป็นส่วนหนึ่งที่เติบโตไปพร้อมกับชีวิตทั้งของครอบครัวผมและแขกที่มาพักทุกคน ทั้งหมดนี้คือคุณค่าทางจิตใจที่ทำให้เรามีกำลังใจที่จะพัฒนารีสอร์ตให้ดียิ่งขึ้นทั้งในเชิงธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในอนาคต”

เกาะมันนอก

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล