โขม แปลว่า ละเอียด

พัสตร์ แปลว่า ผ้า

โขมพัสตร์ จึงแปลว่า ผ้าที่ละเอียดอย่างยิ่ง

โขมพัสตร์ เป็นแบรนด์ผ้าพิมพ์ลายสัญชาติไทยที่ยังคงทำด้วยมือทั้งหมด ตั้งแต่วาดลายลงบล็อกสกรีน ผสมสี และเลือกคู่สีที่ใช้กับผ้าจนเกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่เห็นเป็นต้องจำได้

Khom จากโขมพัสตร์ แบรนด์ผ้าพิมพ์ลายทำมือที่มีอายุกว่า 70 ปี ในมือทายาทรุ่นที่สาม

เรารู้จัก ‘โขมพัสตร์’ ครั้งแรกตอนที่คุยกับ Indigo Skin กางเกงยีนส์แบรนด์ไทยคุณภาพ ที่เก่งเรื่องใส่รายละเอียดลูกเล่นความเป็นไทยลงไปจนถูกใจคนรักยีนส์ทั่วโลก

เป็นการทำความรู้จักกันสั้นๆ ที่รู้เพียงว่า ผ้าชั้นในของกระเป๋ากางเกงยีนส์รุ่นหนึ่งของ Indigo Skin ใช้ผ้าพิมพ์ลายไทยของโรงงานโขมพัสตร์ เพียงเท่านี้ก็รู้สึกว่า ช่างเป็นแบรนด์ผ้าไทยที่สุขุมมิใช่เล่น

ทันที The Cloud รู้ว่า โขมพัสตร์ ในมือทายาทรุ่นที่สาม กำลังสร้าง Khom (โขม) แบรนด์ใหม่ที่สนุกสนานขึ้นด้วยสีสันและลวดลาย เพราะลดทอนรายละเอียดความเป็นไทยจนเกิดเป็นกราฟิกที่เข้าถึงง่าย เราก็ขอนัดพบ คุณกจง-อัสสยา ทิมบลิค ที่ร้านโขมพัสตร์ สาขาสุขุมวิท 40 ในช่วงสายวันหนึ่ง

Khom จากโขมพัสตร์ แบรนด์ผ้าพิมพ์ลายทำมือที่มีอายุกว่า 70 ปี ในมือทายาทรุ่นที่สาม

Khom จากโขมพัสตร์ แบรนด์ผ้าพิมพ์ลายทำมือที่มีอายุกว่า 70 ปี ในมือทายาทรุ่นที่สาม

นอกจากเรื่องความเป็นมาของแบรนด์ ไปจนถึงเรื่องราวการรับช่วงต่อของอดีตนักการธนาคาร เราพบว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้บางสิ่งยืนหยัดอยู่ต่อไป ไม่ใช่แค่เรื่องการปรับตัวให้ทันสมัย แต่เป็นการรู้จักแก่นและตัวตนของเรา และเลือกรักษาสิ่งที่สำคัญ

พูดไปคุณคงไม่เชื่อ ว่าระหว่างที่สนทนาและเขียนบทความนี้อยู่ เจ้าผ้าพิมพ์ลายนับร้อยนับพันของโขมพัสตร์ ในชั้นตรงหน้า ปลุกสัญชาตญาณแม่บ้านญี่ปุ่นในตัวดิฉันจนเสียสมาธิไปหมด

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคุณจะใจแข็งพอ ไม่ลุกไปเลือกลายผ้ามาทำชุดกระโปรงก่อนที่จะอ่านบทความนี้จบ

Khom จากโขมพัสตร์ แบรนด์ผ้าพิมพ์ลายทำมือที่มีอายุกว่า 70 ปี ในมือทายาทรุ่นที่สาม
ธุรกิจ : แบรนด์โขมพัสตร์ (พ.ศ. 2491)
ประเภทธุรกิจ : แฟชั่นและสิ่งทอ
อายุ : 70 ปี
ผู้ก่อตั้ง : พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช กฤดากร, หม่อมเจ้า ผจงรจิตร์ กฤดากร
ทายาทรุ่นที่สอง : ม.ร.ว. ภรณี รอสส์, ม.ร.ว. อัจฉรียา คงสิริ, ม.ร.ว. วิภาสิริ วุฑฒินันท์
ทายาทรุ่นที่สาม : คุณนันทสิริ อัสสกุล (น้ำผึ้ง), คุณอัสสยา ทิมบลิค (กจง)  (พ.ศ.2549)

พ่อพิมพ์ แม่พิมพ์

แรกเริ่มเดิมทีกระบวนการของผ้าโขมพัสตร์หนึ่งผืนจะเริ่มตั้งแต่การทอผ้าด้วยมือ จนแล้วเสร็จออกมาเป็นผ้าผืนสำเร็จ ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุคทายาทรุ่นสองที่เริ่มเป็นธุรกิจเต็มตัว พี่น้องทั้งสามซึ่งเป็นผู้บริหารตัดสินใจหยุดการทอผ้าเพื่อให้เวลากับการพัฒนาทักษะการพิมพ์ลายผ้า การออกแบบลาย และการทำสี จนโขมพัสตร์กลายเป็นแบรนด์ที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้

“โขมพัสตร์ในยุคของคุณแม่ (ม.ร.ว. อัจฉรียา คงสิริ) ซึ่งเป็นทายาทรุ่นสอง หลังจากเรียนจบจากวัฒนาวิทยาลัย ก็เลือกเรียนต่อด้านวิศวเคมีที่เยอรมนี เพื่อศึกษาเรื่องสีโดยตรง ก่อนจะกลับมาทำงานที่บ้าน โดยคุณแม่จะทำงานกับทางโรงงานโดยตรง ขณะที่คุณป้า (ม.ร.ว. ภรณี รอสส์) จะดูเรื่องการออกแบบเสื้อผ้าและดูแลแฟชั่นโชว์ทั้งหมด และคุณน้า (ม.ร.ว. วิภาสิริ วุฑฒินันท์) จะดูแลธุรกิจทั้งการเงินและบริหารบุคลากร” คุณกจงเริ่มเล่าเส้นทางของโขมพัสตร์ก่อนมาถึงมือของเธอKhom จากโขมพัสตร์ แบรนด์ผ้าพิมพ์ลายทำมือที่มีอายุกว่า 70 ปี ในมือทายาทรุ่นที่สาม

บรรยากาศโรงงานโขมพัสตร์ในความทรงจำของคุณกจง นอกจากจะมีเครื่องจักรเครื่องโตและอบอวลไปด้วยความร้อนเพราะเครื่องทำงานตลอดเวลา ยังเรียงรายด้วยคนงานที่ขะมักเขม้นพิมพ์ผ้าด้วยมือกันมาตั้งแต่ยุคก่อตั้งโรงงาน ขณะที่เรื่องการออกแบบลวดลายส่วนใหญ่จะได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งรอบตัวที่พบเจอ ไม่ได้มีแนวทางหลักการมากมายนัก จนกระทั่งโรงละครแห่งชาติเข้ามาติดต่อขอให้โขมพัสตร์พัฒนาวิธีการทำผ้าเกี้ยว ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นผ้าสำหรับใส่เข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ เพื่อนำผ้าไปใช้สำหรับใส่แสดงละคร

“คุณชายยง (ม.ร.ว. ยงสวาสดิ์ กฤดากร) เห็นจึงแนะนำว่า น่าจะนำผ้าเกี้ยวมาต่อยอดเป็นสินค้าเพื่อเก็บรักษาลายนี้ไว้ และจนถึงวันนี้ก็ยังมีคนมาหาซื้อผ้าเกี้ยวอยู่มากมาย” คุณกจงเล่าที่มาของลายผ้าสำคัญของโขมพัสตร์

Khom จากโขมพัสตร์ แบรนด์ผ้าพิมพ์ลายทำมือที่มีอายุกว่า 70 ปี ในมือทายาทรุ่นที่สาม

Khom จากโขมพัสตร์ แบรนด์ผ้าพิมพ์ลายทำมือที่มีอายุกว่า 70 ปี ในมือทายาทรุ่นที่สาม

ลายเซ็น

คุณอาจจะสงสัยเหมือนกันกับเราว่า ใครคือกลุ่มลูกค้าที่ซื้อผ้าพิมพ์ลายไทย

และคำตอบของคุณกจงก็สร้างความประหลาดใจไม่น้อย เมื่อเธอบอกเราว่า กลุ่มลูกค้าของโขมพัสตร์ส่วนใหญ่ คือ คนไทย ขณะที่กลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติเริ่มรู้จักและให้ความสนใจโขมพัสตร์ ก่อนหน้าคุณกจงมารับช่วงต่อจากคุณแม่และพี่น้องไม่นาน ก่อนจะเสริมว่า สมัยนี้ก็ยังมีคนซื้อผ้าไปตัดเสื้ออยู่ และไม่ได้มีแค่ผ้าลายไทยทั้งหมดที่เป็นที่นิยม โขมพัสตร์ยังมีผ้าพิมพ์ลายดอกไม้หวานๆ  และกราฟิกเท่ๆ อีกด้วย

“แม้ยอดขายจะขึ้นๆ ลงๆ ตามระบบเศรษฐกิจ สิ่งที่ช่วยให้โขมพัสตร์ดำเนินมาถึงทุกวันนี้คือ แนวคิดของคุณแม่ที่ยึดถือเสมอมาว่า อย่าลงทุนเกินตัว ทำเท่าที่กำลังเราพอจะทำได้ ให้เราอยู่ได้ แค่ไม่ขาดทุน” คุณกจงยิ้มตอบเมื่อเราย้ำถามผลประกอบการโดยรวม

นอกจากลายและสีของผ้าโขมพัสตร์จะแตกต่างจากผ้าทั่วไป สิ่งที่คนไม่เห็นคือ กรรมวิธีการผลิตผ้าพิมพ์ลายที่ทำด้วยมือทั้งหมด จึงไม่น่าแปลกใจที่ผ้าพิมพ์ลายของโขมพัสตร์จะให้สีเฉพาะแตกต่างกันในรอบการผลิต

Khom จากโขมพัสตร์ แบรนด์ผ้าพิมพ์ลายทำมือที่มีอายุกว่า 70 ปี ในมือทายาทรุ่นที่สาม

คัดลายมือ

จากเรื่องราวของทายาทรุ่นสอง ที่พี่น้องทั้งสามแยกย้ายศึกษาต่อ เพราะรู้ว่าต้องกลับมารับช่วงต่อกิจการที่ครอบครัวประกอบการด้วยใจรักในสิ่งที่ทำ แต่คุณแม่ของคุณกจงก็ไม่เคยสร้างความกดดันหรือความคาดหวังของการเลือกเส้นทางสายนี้แต่อย่างใด

“ท่านอยากให้เราเลือกชีวิตแบบที่ต้องการเอง เราจึงเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ ก่อนจะทำงานสายการเงินและธนาคารเหมือนคุณพ่อ จนเมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี เป็นช่วงจังหวะเดียวกับที่ต้องย้ายตามสามีไปต่างประเทศ เราจึงตัดสินใจใช้เวลาช่วงนั้นกลับไปเรียนปริญญาโทการจัดการอุตสาหกรรมสิ่งทอ เรียนรู้ถึงกรรมวิธีของการผลิต รู้จักเส้นใยเนื้อผ้าชนิดต่างๆ จากนั้นสมัครเข้าทำงานเพื่อหาประสบการณ์ในบริษัททำวอลเปเปอร์ชื่อ de Gournay ที่ลอนดอน เป็นบริษัทครอบครัวที่ขึ้นชื่อเรื่องการเขียนลายด้วยมือเช่นเดียวกับโขมพัสตร์”

“เมื่อมารับช่วงต่อธุรกิจโรงงานผ้าอย่างเต็มตัว วินาทีนั้นรู้เลยมั้ยว่าเราเกิดมาเพื่อสิ่งนี้” เราถาม ตามประสาแฟนคลับของงานผ้าพิมพ์ลาย

“ไม่ถึงขนาดนั้น แต่เพราะเห็นมาตั้งแต่เด็ก เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นงานที่ยากเกินไป เหมือนอยู่ในจิตใต้สำนึก” คุณกจงตอบ

ถึงกระนั้นก็ไม่ใช่เรื่องงานอยู่ดี ที่อดีตนักการธนาคารดาวรุ่งจะเปลี่ยนกลับมาทำงานสายการผลิตและออกแบบซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิง โขมพัสตร์ในมือทายาทรุ่นสามอยู่ภายใต้การดูแลของคุณน้ำผึ้ง ลูกพี่ลูกน้องผู้รับหน้าที่ดูแลเรื่องการสื่อสารและการตลาด และคุณกจง ดูแลฝ่ายพัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์ ทั้งในโรงงานและงานออกแบบทั้งหมด

Khom จากโขมพัสตร์ แบรนด์ผ้าพิมพ์ลายทำมือที่มีอายุกว่า 70 ปี ในมือทายาทรุ่นที่สาม

Khom จากโขมพัสตร์ แบรนด์ผ้าพิมพ์ลายทำมือที่มีอายุกว่า 70 ปี ในมือทายาทรุ่นที่สาม

ลายสะดวก

“ต่อให้เราอยากเปลี่ยนแปลงอะไรมากแค่ไหน เราพบว่าต้องเริ่มจากลงมือทำให้ดู เพื่อให้เกิดภาพเข้าใจที่ตรงกัน เพราะเขาจะไม่เข้าใจว่าคอลเลกชันคืออะไร จำเป็นแค่ไหน เพราะเมื่อก่อนใช้วิธีผลิตลายใหม่ตามรายสะดวก แต่เราอยากทำให้เกิดคอนเซปต์ มีคอลเลกชัน รู้จักนำเสนอเรื่องราวของเราออกไปสู่ลูกค้า” คุณกจงเล่าถึงสิ่งที่เธอเข้ามาเปลี่ยนแปลง สร้างชีวิตชีวาให้กับแบรนด์อายุ 60 ปีในเวลานั้น

จนถึงวันนี้ 10 ปีแรกของการรับช่วงต่อ คุณกจงใช้เวลาช่วงแรกกับการดูแลระบบการทำงาน เริ่มจากระบบบาร์โค้ด ซึ่งที่ผ่านมาใช้วิธีบันทึกทุกอย่างด้วยลายมือ แต่เมื่อเริ่มนำซอฟต์แวร์มาใช้ ก็พบว่าระบบเบื้องหลังการจัดเก็บข้อมูลต่างหากที่สำคัญ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้เวลาไม่น้อย

ลำดับต่อมา ได้แก่ การทำแผนการกระตุ้นยอดขาย เพราะจะตั้งรับให้ลูกค้ามาหาเหมือนแต่ก่อนคงไม่ได้ เธอจึงคิดถึงการทำแบรนดิ้งจากแบรนด์ที่มี ทำอย่างไรจึงจะส่งต่อแก่นของโขมพัสตร์ไปสู่คนรุ่นใหม่

“เข้ามาทำจริงถึงได้รู้ว่าการสร้างแบรนด์นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โชคดีมากที่เรามีแบรนด์และสายงานการผลิตที่แข็งแรง โชคดีที่สุดคือเราไม่ได้ปล่อยมือจากสิ่งเหล่านี้ไป” คุณกจงเล่า

Khom จากโขมพัสตร์ แบรนด์ผ้าพิมพ์ลายทำมือที่มีอายุกว่า 70 ปี ในมือทายาทรุ่นที่สาม

Khom จากโขมพัสตร์ แบรนด์ผ้าพิมพ์ลายทำมือที่มีอายุกว่า 70 ปี ในมือทายาทรุ่นที่สาม

ออกลายมาเลย ออกลายให้เห็น

สิ่งที่สังเกตได้ชัดเจนระหว่าง แบรนด์โขมและแบรนด์โขมพัสตร์ คือสีสันที่มีและลวดลายที่ลดทอนรายละเอียดไทยๆ บางส่วนออก จนเป็นลายผ้าที่สีสวยดูร่วมสมัย

คุณกจงเล่าที่มาให้ฟังว่า เธอเริ่มจากสังเกตตัวเองว่า ที่ผ่านมาไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ของครอบครัวมากนักนั้นเป็นเพราะอะไร พบว่าไม่ว่าจะด้วยสีสัน ลวดลายหรือแบบทรง เธออยากจะลองทำเสื้อผ้าในแบบที่เธออยากซื้อใส่

จากเมื่อก่อนที่โขมพัสตร์ขายผ้าพิมพ์ลาย 90 % เดี๋ยวนี้มีสัดส่วนเป็น 60 % ที่เหลือเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปและข้าวของเครื่องใช้ ทั้งการนำลายผ้ามาประยุกต์ทำสีใหม่ เปลี่ยนให้เข้าถึงได้และใช้งานได้จริง และเปลี่ยนแบบทรงการตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปให้ร่วมสมัยขึ้น

“สนุกมากนะ เมื่อคิดได้อย่างนั้น เราก็สนุกกับการต่อยอด ทดลอง เสาะหา สร้างสรรค์สีหรือคู่สีใหม่ๆ โดยมีแรงบันดาลใจจากสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา และการเดินทางที่เรามักจะชอบสังเกตการแต่งตัวของคนท้องถิ่น วัฒนธรรมต่างๆ แล้วนำกลับมาคิดต่อ”

Khom จากโขมพัสตร์ แบรนด์ผ้าพิมพ์ลายทำมือที่มีอายุกว่า 70 ปี ในมือทายาทรุ่นที่สาม

ขายผ้า เอาเถอะหนา…รอด

ระหว่างชวนคุณกจงคุยเรื่องความเหมือนและต่างของการทำธุรกิจในแต่ละยุค อยู่ๆ ก็นึกอิจฉาคนที่ทำธุรกิจสมัยก่อน เพราะยังไม่มีเทคโนโลยีสื่อสารเร็วอย่างปัจจุบัน ทำให้ผู้ประกอบการยุคนั้นไม่สามารถเห็นความเป็นไปของร้านคู่แข่งได้ ยกเว้นว่าจะปลอมตัวไปสืบราชการลับถึงร้านเขา

“ซึ่งก็ทำให้เราจดจ่อ ทำในสิ่งที่อยากทำ และทำออกมาให้ดี จนกระทั่งออกมาเป็นสินค้าหรือบริการ ที่แม้แต่เราเองก็อยากซื้ออยากใช้” แม้จะอาศัยจุดแข็งของแบรนด์เรื่องคุณภาพทำการตลาดแบบปากต่อปาก มาถึงวันนี้คุณกจงก็ยอมรับกับเราว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ท้าทาย และเธอก็กำลังเรียนรู้อย่างจริงจัง

“ถึงแม้เราไม่มีคู่แข่งที่พิมพ์ผ้าด้วยมือ หรือมีลายเยอะแยะอย่างเรา ขณะเดียวกันตัวเลือกในตลาดมีเยอะขึ้น คนเลือกซื้อผ้าไปตัดน้อยลง และเมื่อลงมาเล่นในตลาดเสื้อผ้าสำเร็จรูป ก็เจอกับตัวเลือกที่มีมากกว่าหลายเท่า หลายสไตล์ หลายระดับ สิ่งที่เราต้องทำคือการสร้างสิ่งใหม่ๆ โดยไม่ให้เสียเอกลักษณ์ของเรา

“ที่สำคัญเราคิดว่าอาจจะทำธุรกิจแต่พอดีๆ พอให้มีความสุขกับการทำงาน แต่ว่าอย่าให้ขาดทุน หรือทำให้เราสามารถดูแลพนักงานเราได้ เพราะไม่ว่าจะบรรยากาศที่โรงงานหรือในออฟฟิศของโขมพัสตร์ก็มีความเป็นครอบครัวมากๆ ไม่เพียงพวกเราจะสืบทอดกันมา 3 รุ่น ตัวพนักงานเองเขาก็ส่งผ่านกันมาและทุกคนก็รักสิ่งที่ทำ” คุณกจงเล่า

Khom จากโขมพัสตร์ แบรนด์ผ้าพิมพ์ลายทำมือที่มีอายุกว่า 70 ปี ในมือทายาทรุ่นที่สาม Khom จากโขมพัสตร์ แบรนด์ผ้าพิมพ์ลายทำมือที่มีอายุกว่า 70 ปี ในมือทายาทรุ่นที่สาม

เราจะทำดีที่สุด

ฟังดูเหมือนจะง่าย แต่คุณกจงยอมรับกับเราว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะอย่างที่เรารู้กันว่าในโลกของธุรกิจแฟชั่นและไลฟ์สไตล์นั้นเดินหน้าเร็ว และเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จะทำอย่างไรให้แบรนด์ของเรายังคงอยู่ในกระแสธารานี้

และขณะที่ส่วนของงานสร้างสรรค์ต้องมองไปข้างหน้า เราก็ไม่อาจจะวิ่งได้ทันที โดยละเลยระบบการทำงานที่มีอยู่ก่อน ทั้งวิธีคิดทำงานแบบใหม่และการเลือกสรรออกแบบหน้าร้าน เพื่อเป็นตัวแทนนำเสนอสิ่งที่ทุกคนตั้งใจทำงานออกมา

ที่สำคัญคือการยอมรับว่า กระบวนการนี้ต้องการเวลา

“เรามักจะบอกตัวเองเสมอว่า จำเป็นต้องให้เวลากับการสร้างแบรนด์นี้อย่างน้อย 3 ปี ถึงจะรู้ว่าสิ่งนี้คือคำตอบของการรับช่วงต่อแบรนด์หรือไม่ เร็วเกินไปถ้าจะรีบตัดสินสิ่งที่ทำในวันนี้” คุณกจงพูดถึงโขมแบรนด์น้องใหม่ที่อายุเพียง 8 เดือน ก่อนจะทิ้งท้ายคำแนะนำว่า

“มักจะมีคนถามจงเสมอว่า มีคำแนะนำอะไรสำหรับแบรนด์ใหม่ๆ บ้าง เราพบว่าคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยมีเวลาให้ตัวเอง ทำให้เขายอมแพ้กับสิ่งที่ทำได้ง่ายๆ และเร็วเกินไป ทั้งที่อาจจะต้องรอดู ยอมให้ขาดทุนก่อนใน 2 – 3 คอลเลกชันก่อนจะคืนทุนมา เช่นเดียวกับที่เราอยากให้แบรนด์ Khom ที่เราเพิ่งสร้างขึ้นมานี้ ตั้งตัวและเติบโตได้อย่างแบรนด์โขมพัสตร์ และอยากให้สินค้าของเราไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่เราตั้งเอาไว้ โดยที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์อย่างแข็งขัน”

Khom จากโขมพัสตร์ แบรนด์ผ้าพิมพ์ลายทำมือที่มีอายุกว่า 70 ปี ในมือทายาทรุ่นที่สาม
Khom จากโขมพัสตร์ แบรนด์ผ้าพิมพ์ลายทำมือที่มีอายุกว่า 70 ปี ในมือทายาทรุ่นที่สาม
Khom จากโขมพัสตร์ แบรนด์ผ้าพิมพ์ลายทำมือที่มีอายุกว่า 70 ปี ในมือทายาทรุ่นที่สาม
ภาพ : Khomapastr

โขมพัสตร์ (พ.ศ. 2491)

โรงงานโขมพัสตร์ที่หัวหิน ก่อตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หรือประมาณปี ค.ศ. 1948 โดย พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช กฤดากร และหม่อมเจ้า ผจงรจิตร์ กฤดากร โดยมีจุดเริ่มต้นจากเหตุการณ์ทางการเมืองยุคหนึ่ง ทำให้ท่านตาและท่านยายของคุณกจงต้องย้ายไปอยู่ที่เวียดนาม

“เป็นจังหวะเดียวกับที่ท่านตาไม่ได้ทำงานราชการแล้ว จึงเริ่มทำธุรกิจเพื่อจุนเจือครอบครัว โดยเริ่มจากลงมือย้อมผ้าแพรขาย และเพราะพูดภาษาฝรั่งเศสได้ จึงติดต่อซื้อสีจากต่างประเทศเข้ามา ก่อนจะกลับมาตั้งโรงงานที่หัวหิน และพัฒนารูปแบบส่งต่อความเชี่ยวชาญจนเป็นโขมพัสตร์ในทุกวันนี้”

“จากความรักที่มีต่อผ้า ผสมความตั้งใจของท่านตาที่อยากนำลายไทยมาอยู่บนผ้าด้วยวิธี screenprint ไม่แน่ใจว่าเป็นเจ้าแรกสุดหรือไม่ แต่เราเป็นเจ้าแรกๆ ที่ทำลายผ้าด้วยวิธีการนี้ ซึ่งยุคนั้นนิยมเขียนลายไทยด้วยมือทั้งหมด ทำให้กระบวนการผลิตผ้าลายไทยจำเป็นต้องใช้เวลา” คุณกจงเล่าย้อนความตั้งใจแรกเริ่มของผู้ก่อตั้งโขมพัสตร์จากคำบอกเล่าของครอบครัว

โขมพัสตร์ในยุคแรกเริ่มนั้น แม้จะเริ่มต้นแบรนด์จากความรัก ทดลองและลงมือทำด้วยตัวเอง จนออกมาเป็นผ้าพิมพ์ลายไทยคุณภาพดี แต่กระแสการตอบรับของตลาดไม่เป็นอย่างที่คิด เพราะคนยุคนั้นมีรสนิยมและชื่นชอบสินค้าจากประเทศตะวันตก ไม่นิยมลายไทยบนผ้ามากนัก ผู้ก่อตั้งจึงปรับจากลายไทยมาเป็นลายวิถีชีวิตคนไทย แล้วนำเสนอสินค้าที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ชาติตะวันตก เช่น กิจกรรมทานน้ำชาตอนบ่าย ทำหมอน ผ้าพันคอ และอื่นๆ นับจากวันนั้น โขมพัสตร์ก็เริ่มเป็นที่รู้จักในตลาด แต่หลังจากนั้น 4 ปี พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช กฤดากร ก็สิ้นพระชนม์ โขมพัสตร์จึงได้รับการดูแลและสานต่อโดยท่านยายของคุณกจงทั้งหมด

แม้จะไม่ได้อยู่ร่วมเหตุการณ์ในตอนนั้นเพราะเกิดไม่ทัน คุณกจงก็เล่าเรื่องโขมพัสตร์ที่จดจำจากภาพถ่ายว่า สิ่งหนึ่งที่แน่ใจคือ ที่ตั้งโรงงานเป็นแหล่งปลูกฝ้ายชั้นดีของประเทศ และก่อนจะมีเครื่องจักรผลิตผ้าแบบสมัยนี้ หลังพิมพ์ผ้าเสร็จจะต้องนำผ้าไปตากแดดเรียงกันเป็นแถวยาวๆ

จนถึงวันนี้ เป็นเวลา 70 ปีแล้ว ที่ผ้าพิมพ์ลายสัญชาติไทยแบรนด์นี้อยู่มาอย่างยาวนาน

“คิดว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้โขมพัสตร์ยังคงอยู่สร้างสรรค์คุณค่าและความสวยงามแบบไทยๆ ท่ามกลางกระแสที่ไหลเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา” เราถามทายาทรุ่นที่สาม

“สำหรับเราคิดว่าคงเป็นเพราะเรายังคงรักษากรรมวิธีการผลิตและเทคนิคที่ใช้แบบเดิมไว้ทั้งหมด และสิ่งนี้ทำให้คนกลับมาหาเราจริงๆ ต่อให้ปัจจุบันจะมีตัวเลือกมากมายในตลาดแค่ไหน สำหรับคนที่หลงใหลชื่นชอบการประดิดประดอย คุณภาพ และความประณีตของเรา ก็จะยังคงติดตามเราอยู่

“และอาจจะเป็นด้วยเราไม่ได้มีความทะเยอทะยาน อยากจะเติบโตเกินกำลังที่เราจะทำไหว เพราะในวันที่เราตัดสินใจลงทุนกับบางเรื่องมากจนเกินไป ก็อาจจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้ และเพื่อให้ธุรกิจยังคงดำเนินต่อไปได้ เพียงแต่วันนี้ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องเติบโตไปอีกขั้น” คุณกจงตอบ

กรุงเทพมหานคร :
โขมพัสตร์ สาขาสำนักงานใหญ่ ถนนนเรศ โทร. 0-2266-8415 / โขมพัสตร์ และโขม สาขาสุขุมวิท Miracle Mall สุขุมวิท  ซอย 41 โทร. 0-2260-8889 / โขม ecotopia ชั้น 4 ห้างสรรพสินค้า Siam Discovery
ประจวบคีรีขันธ์ :
Flagship store หัวหิน โทร. 0-3251-1250
www.facebook.com/khomapastrfabrics

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล