ทายาทรุ่นสองของ The Cloud ตอนนี้ เธอเป็นลูกสาวคนเล็กของโรงงานผลิตเตาเผาศพแบบไร้มลพิษรายใหญ่ของประเทศ

อดีตนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ทิ้งโอกาสการเป็นสถาปนิกของบริษัทออกแบบที่สิงคโปร์ เพื่อมารับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว ออกแบบเตาเผาไร้มลพิษทุกประเภทให้มีหน้าตาทันสมัย ได้มาตรฐานสากล

ก่อนจะต่อยอดธุรกิจด้วยการบุกเบิกบริการฌาปนกิจสัตว์เลี้ยงครบวงจร ในชื่อ Pet Master ให้บริการตั้งแต่เตาเผาไร้มลพิษสำหรับสัตว์เลี้ยง พิธีศาสนา พวงหรีดดอกไม้ สวดบังสุกุล ลอยอังคาร บริการถ่ายรูป และทุกความต้องการของคนรักสัตว์เลี้ยง ไปพร้อมๆ กับศึกษาเพื่อเพิ่มช่องทางธุรกิจของครอบครัว

จากโรงงานผลิตเตาเผาที่คิดถึงสิ่งแวดล้อม ต่อยอดเป็นธุรกิจที่บริการคนรักสัตว์อย่างเข้าใจ สู่การเป็นแบรนด์เครื่องประดับที่นำงานวิทยาศาสตร์และงานออกแบบมาบรรจบกัน เปลี่ยนของที่มีคุณค่าทางใจให้มีมูลค่าทางใจ

ฟังดูเป็นเรื่องเหลือเชื่อ และไม่เกี่ยวข้องกันเป็นที่สุด แต่ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจริง

Gemories

มาฟังเรื่องราวและแนวคิดการต่อยอดธุรกิจสนุกๆ ของ พลอย – ภัสสร ภัสสรศิริ เจ้าของแบรนด์ Gemories (เจมโมรีส์) เครื่องประดับที่ใช้นวัตกรรมเปลี่ยนอัฐิหรืออินทรีสารของบุคคลหรือสัตว์เลี้ยงอันเป็นที่รักให้กลายเป็นอัญมณีมีค่า

มีคนเคยบอกว่า ไม่ว่าจะร้ายหรือดี ความทรงจำก็เป็นสิ่งที่มีค่าต่อชีวิตของใครคนหนึ่ง

ในวันที่เรายังเห็น สัมผัส จดจำกันได้อยู่

โปรดใช้มันสร้างความทรงจำที่มีค่ามากที่สุด

Gemories
ธุรกิจ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภัทรพันธ์อุตสาหการ (พ.ศ. 2530), บริษัท สยาม อินซีนเนอร์เรเตอร์ จำกัด (พ.ศ. 2552)
ประเภทธุรกิจ : ผลิตและจำหน่ายเตาเผาไร้มลพิษทุกประเภท
อายุ : 31 ปี
ผู้ก่อตั้ง : ปรีชา ภัสสรศิริ, ดร. อรวรรณ ภัสสรศิริ
ทายาทรุ่นที่สอง : พลอย – ภัสสร ภัสสรศิริ ก่อตั้ง บริษัท เพ็ท มาสเตอร์ จำกัด (พ.ศ. 2553), บริษัท เจมโมรีส์ (ประเทศไทย) จำกัด (พ.ศ. 2559), บริษัท เจมโมรีส์ (สิงคโปร์) จำกัด (พ.ศ. 2561)

ลูกไม้ใต้ต้น

ถ้าคุณโตมาในครอบครัวที่มีพ่อเป็นวิศวกรทำธุรกิจผลิตเตาเผา มีแม่เป็นอาจารย์และนักวิจัยที่ทำวิจัยเรื่องมลพิษ บทสนทนาบนโต๊ะอาหารจึงหนีไม่พ้นเรื่องมลพิษ สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี วนและเวียนอยู่อย่างนั้น

พลอยเล่าถึงความทรงจำต่อธุรกิจของครอบครัวว่า แม้เธอจะไม่ได้สนใจเป็นพิเศษ จนเลือกเรียนวิศวกรรมศาสตร์เหมือนพ่อ หรือวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเหมือนแม่ แต่เธอก็พอจะเห็นความสำคัญจากสิ่งที่ซึมซับอยู่เรื่อยมา

Gemories

“ช่วงที่ต้องเลือกทำงาน thesis จบ เป็นช่วงเดียวกับที่คุณแม่เพิ่งจบงานวิจัยเรื่องการศพและและพิธีกรรมทางศาสนาของศาสนาต่างๆ เราสนใจจึงต่อยอดร่วมกับเทคโนโลยีการผลิตเตาเผาของคุณพ่อ ออกมาเป็นงานออกแบบสถานที่สำหรับใช้เผาศพในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพราะคิดว่าถ้าเกิดขึ้นจริงในสังคมได้คงจะดี” พลอยเล่า

ผลจากการทำ thesis ในครั้งนั้น ทำให้พลอยเริ่มมีความมั่นใจ ในความรู้เชิงลึกเรื่องการจัดการศพ การฌาปนกิจ เทคโนโลยี ความต้องการของตลาด ความเชื่อและพิธีกรรมของแต่ละศาสนา สร้างแรงบันดาลใจให้เธออยากต่อยอดความรู้ที่มี สร้างสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่เร็วๆ

มันจะหัวก้อยต้องเสี่ยงกัน

ต่อมาบริษัทสถาปนิกที่สิงคโปร์ที่พลอยเคยไปฝึกงาน ติดต่อชวนให้เธอไปเริ่มงานที่นั่นหลังเรียนจบ เสนอเงินเดือนที่สูงพร้อมให้ทุนเรียนต่อปริญญาโทระหว่างทำงานทันที

“เป็นโอกาสที่ดีมากนะ แต่เราก็มาคิดอีกทีว่า เราอยากทำอะไรที่มีประโยชน์กับสังคมบ้านเรา อยากต่อยอดโครงการ thesis ที่เริ่มไว้ และอยากอยู่ใกล้คุณพ่อคุณแม่เพราะท่านก็อายุมากขึ้นแล้ว จึงตัดสินใจออกจากเมืองกลับไปอยู่บ้านที่ปทุมธานี ตั้งใจศึกษาเรื่องเทคโนโลยีเตาเผาจากคุณพ่อ ช่วยงานส่วนที่ออกแบบเตาเผาใหม่ และอื่นๆ” พลอยเล่าถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ

Gemories

จากคนที่อยู่กับงานออกแบบเท่ๆ สวยงาม พอมาเจองานเครื่องจักร พลอยบอกว่าเป็นใครก็คงแอบเซง ดังนั้นแทนที่จะทำเตาหน้าตาเหมือนเตา เธอจึงออกแบบไฟเบอร์หุ้มส่วนเหล็กทั้งหมดเหมือนรถยนต์ จากที่คนเห็นเตาแล้วกลัวมลพิษ กลัวสิ่งที่อยู่ในเตา ก็จะรู้สึกเปลี่ยนไป แต่ก็ได้ไม่ทำได้อย่างอิสระอย่างที่เธอคิด เพราะทั้งช่างที่ช่วยทำและผู้ซื้อไม่เห็นถึงความสำคัญของการมีเตาที่หน้าตาสวยงามเท่าไหร่

และเพื่อสร้างโอกาสให้โรงงานรับงานที่ใหญ่ขึ้น สร้างรายได้ให้โรงงานมากขึ้น พลอยยืนยันว่าจะนำระบบ ISO ข้อระเบียบมาตรฐานการผลิตมาใช้ในโรงงาน นอกจากข้อร้องขอที่มากขึ้นแล้ว  ยังมีเรื่องต้องอ่านหนังสือให้ออก และทำรายการตรวจสอบเป็น ซึ่งเหตุการณ์นั้นทำให้พนักงานลาออกไป 30 คนจากที่มี 60 คน

“เรารู้ว่ามันยาก แต่เราก็ไม่ยอมผ่อนยอมอ่อน เพราะเราคิดว่ามีประโยชน์ต่อบริษัทในอนาคตจริงๆ ซึ่งถ้าเราไม่กล้า ใจอ่อน ตัดสินใจเลิกทำและไปร้องขอให้พนักงานที่ลาออกกลับมา วินาทีนี้นั้นเราก็ไม่น่าเชื่อถือแล้ว ที่สำคัญบริษัทเราก็จะอยู่เท่าเดิม รายได้เท่าเดิม สินค้าไม่พัฒนาขึ้น เป็นงานใหญ่งานแรกที่คิดจะทำ เลยทำให้เสียความมั่นใจไปเยอะมากเลยเพราะเราต้องการเป็นผู้นำ เราพร้อมแล้วที่จะทำเรื่องพัฒนาระบบ แต่ผลคือมีพนักงานครึ่งหนึ่งไม่เชื่อเรา ทำให้ต้องสร้างทีมใหม่ มั่นใจในการสร้างทีมใหม่ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเรา”

Pet Master

หลังจากเรียนรู้งานในโรงงานเตาเผาได้สักระยะหนึ่ง สุนัขพันธุ์ชิสุเพื่อนรักวัยเด็กที่ตอนนั้นอายุ 18 ปี ซึ่งถือว่าแก่มากแล้วไม่สบาย และหมอวินิจฉัยว่าจะอยู่ได้อีกเพียง 6 เดือน

ด้วยความรักและผูกพันเพราะอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่ ป.4 พลอยจึงคิดจะทำพิธีให้เหมือนคนเพราะเขาเป็นเหมือนเพื่อนเหมือนคนในครอบครัวคนหนึ่ง พลอยเริ่มจากพยายามจะนำเตาที่ออกแบบไปตั้งตามวัด โดยรอคอยว่าอีก 6 เดือนจะไว้ใช้เผาชิสุของตัวเอง

ระหว่างที่นั้นเธอก็เริ่มสนใจจะต่อยอดเป็นธุรกิจให้บริการฌาปนกิจสัตว์เลี้ยงอย่างจริงจัง เพราะเห็นช่องว่างทางการตลาด ในสมัยนั้นมีบริการเผาสัตว์เลี้ยงแค่ที่วัด เช่น วัดคลองเตยใน ซึ่งเป็นชุมชนที่คนชอบนำสัตว์เลี้ยงมาเผา เจ้าอาวาสจึงต้องแยกเตาเผา และยังไม่มีเอกชนเจ้าไหนเปิดให้บริการทั้งที่เป็นตลาดที่มีความต้องการอยู่เยอะมาก คนรักสัตว์อยากได้โลงศพที่ออกแบบเพื่อสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ อยากให้มีดอกไม้ อยากให้มีพิธีกรรม

Gemories

“อีกเหตุผลมาจากการที่เห็นคุณพ่อทำธุรกิจกับภาครัฐ ซึ่งบางทีต้องรองบประมาณทำให้รายได้ที่เกิดขึ้นไม่มีความแน่นอน” จึงเป็นที่มาของ Pet Master ธุรกิจฌาปณกิจสัตว์เลี้ยงแสนรักครบวงจร ที่มีจุดเด่นคือเตาเผาไร้มลพิษสำหรับสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ เป็นนวัตกรรมเตาเผาไฟฟ้ารักษ์โลกที่ต่อยอดมาจากธุรกิจครอบครัว

พลอยเริ่ม Pet Master จากการพูดคุยกับเจ้าอาวาส แล้วออกแบบแผนธุรกิจเสนอขายทางวัด เพื่อให้เห็นว่าการลงทุนซื้อเตาเผาจาก Pet Master จะสร้างรายได้แก่วัดผ่านทางใดบ้าง บางวัดตัดสินใจซื้อไปทำ และบางวัดก็ขอให้ Pet Masterเป็นพาร์ทเนอร์หรือการให้เช่าพื้นที่ดำเนินธุรกิจแทน เพราะไม่อยากให้รบกวนกับกิจของสงฆ์ 

Save as…

เมื่อ Pet Master ดำเนินการไปได้ 6 ปี โรงงานก็เริ่มมีปัญหาเรื่องรายได้เพราะมีคู่แข่งสำคัญอย่างจีนและเกาหลีแย่งส่วนแบ่งในตลาดไปถึง 60 % เพราะมีเทคโนโลยีและต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า

“เรามีความคิดว่าในอนาคตเราอาจจะต้องปิดโรงงานอยู่ตลอดเวลา เพราะเราสังเกตเห็นตั้งแต่เราเริ่มทำ Pet Master ค่าแรงในโรงงานนั้นสูงขึ้นทุกวัน ค่า R&D ที่เราลงทุนกับเทคโนโลยีเตาเผาเยอะมาก เราจึงวางแผนไว้ว่าเพื่อที่จะทำให้โรงงานเราอยู่รอด เราจะต้องออกจากโครงสร้างธุรกิจแบบเดิมที่ผลิตและจำหน่ายเตาเผาไร้มลพิษเพื่อขายเพียงอย่างเดียว ในอีก 3 – 5 ปีข้างหน้า โดยเป็นแผนการที่เตรียมไว้เงียบๆ เพราะกลัวจะกระทบกระเทือนจิตใจคุณพ่อซึ่งท่านสร้างสิ่งนี้มากับมือและดูแลมาตลอด 30 ปี”

Gemories

ระหว่างที่พลอยทำ Pet Master เธอเล่าว่ามีลูกค้าหลายคนขอเก็บกระดูกหรือส่วนอื่นๆ ไว้ไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม บางคนขอเก็บขนแล้วเย็บเป็นตุ๊กตาหมี บางคนเก็บกระดูกอัดเป็นล็อกเกต บางคนนำไปผสมเซรามิก จุดประกายให้พลอยคิดถึงการเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ให้กลายเป็นของมีค่า

โจทย์ของพลอยมีอยู่ว่า จากกระดูกสุนัขที่ประเมินค่าไม่ได้ หากทำเป็นเครื่องประดับซึ่งมีค่ามีราคาก็คงจะดี เช่นเคยเธอเริ่มจากศึกษาเรื่องทุกอย่างที่เธอไม่รู้พร้อมๆ กับปรึกษาคุณพ่อคิดหาเทคโนโลยีที่จะทำให้คอนเซปต์นี้เกิดขึ้นจริง

“ตอนนั้นพ่อก็ยังไม่เชื่อ เพราะถ้าหากจะทำต้องใช้ความรู้ด้านเทคนิคที่สูงมาก กว่าจะใช้กระบวนการเปลี่ยนให้เป็นพลอยสักเม็ด แม้ท่านจะไม่เห็นด้วยแต่ก็ยังแอบไปศึกษาหาวิธีการมาให้ ว่าจะมีทางที่เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน” หลังจากนั้นไม่นานคุณพ่อก็แนะนำให้พลอยคุยกับเพื่อนที่มีความรู้ด้านนี้ดีให้รู้จัก ไปพร้อมๆ กับศึกษาวิธีการของต่างประเทศที่เปลี่ยนกระดูกให้กลายเป็นเพชร แต่ในไทยยังไม่มีใครทำได้เพราะนอกจากองค์ความรู้เรื่องเทคโนโลยีขึ้นสูงแล้ว ต้นทุนในการคิดค้นและผลิตค่อนข้างสูงตาม ทำให้ราคาสูงเกินกว่าจะเข้าถึง

กำเนิดพลอย

Gemories

หลังจากมีแผนในใจว่าจะทำอัญมณีเครื่องประดับจากอัฐิและอินทรีสารแห่งความทรงจำของบุคคลหรือสัตว์เลี้ยงอันเป็นที่รัก เลือดนักวิจัยจากแม่ส่งให้พลอยรักการศึกษาและเก็บข้อมูลเชิงลึกก่อนเริ่มลงมือทำสิ่งใดจริงจัง

“ด้วยเพราะเราเรียนสถาปัตย์ เราก็คิดว่าการเก็บอัฐิอยู่บนกำแพงวัดอาจจะทำให้ทัศนวิสัยโดยรวมไม่น่ามองเท่าไหร่” พลอยตั้งคำถามสไตล์นักออกแบบที่สนใจการแก้ไขปัญหาจากสิ่งที่เห็นตรงหน้าเป็นสำคัญ เช่นเดียวกับที่ผ่านมา เธอใช้เวลาเก็บข้อมูลเรื่องการเก็บอัฐิและกระบวนการอื่นๆ ผ่านการพูดคุยกับเจ้าอาวาสไม่ต่ำกว่า 100 วัด

ก่อนจะคุยกับวิศวกรและช่างในโรงงานถึงเทคนิคหรือตัวช่วย ไม่ว่าจะความร้อน หรือเรื่องแรงอัดที่เหมาะสม ไปพร้อมๆ กับศึกษาวิธีการที่ต่างประเทศใช้เปลี่ยนกระดูกให้กลายเป็นเพชร แต่ในไทยยังไม่มีใครทำได้เพราะนอกจากองค์ความรู้เรื่องเทคโนโลยีขึ้นสูงแล้ว ต้นทุนในการคิดค้นและผลิตค่อนข้างสูงตาม จนทำให้ราคาสูงเกินกว่าจะเข้าถึง ซึ่งพลอยแอบนำรายได้ที่สะสมจากการทำ Pet Master ทั้งหมด ไปลงทุนกับโปรเจกต์ Gemories โดยเวลา 5 ปีที่ผ่านมานั้น พลอยลงทุนเรื่องเทคโนโลยีและค่าใช้จ่ายในงานวิจัยทั้งสิ้น 30 – 40 ล้านบาท

Gemories
Gemories

“อะไรทำให้คุณต้องลงแรงและลงเงินทุนมากมายขนาดนี้” เราถาม

“เหตุผลเบื้องหลังจริงๆ ของการทำสิ่งนี้คือ เราเคยเจอเหตุการณ์กับตัวเองที่เกือบจะสูญเสียคุณแม่เพราะท่านตกเขาสูง 70 เมตรที่ภูฏาน แต่ก็โชคดีที่ท่านไม่เป็นอะไรมาก ส่วนตัวเราเป็นคนติดคุณพ่อคุณแม่ เราก็คิดตลอดเวลาว่าถ้าวันหนึ่งเขาไม่อยู่แล้ว เราจะทำยังไงดี เราไม่อยากเก็บเขาไว้ไกลตัว เรากลัวลืมเขา กลัวลืมคำพูดเขา สมมติมีพี่น้อง 3 คนอยู่คนละที่กัน การเก็บกระดูกพ่อแม่ท่านไว้ที่วัดแล้วทำบุญปีละครั้งถึงสองครั้ง คงไม่ดี” พลอยตอบ

พลอยเสริมอีกเหตุผลที่เราเห็นตามด้วยอย่างจริงจัง นั่นคือ คนยุคใหม่อาจจะไม่สันทัดเรื่องประเพณี พิธีกรรมระลึกถึงบรรพบุรุษอย่างคนสมัยก่อน เธอจึงคิดว่าคงจะดีถ้าเปลี่ยนสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจ

“ตั้งใจจะทำเพราะเราอยากได้เอง” พลอยสารภาพ

Gemories

แบรนด์ Gemories เกิดขึ้นจากการสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์ในโครงการ ITAP โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ ผ่านการคิดค้นวิจัยร่วมกันกว่า 3 ปี จนเกิดนวัตกรรมใหม่ที่เลียนแบบการเกิดพลอยตามธรรมชาติ ทำให้เก็บความทรงจำอันล้ำค่าไว้ในรูปแบบที่สวยงามและสามารถสัมผัสได้

โดยขั้นตอนของการเปลี่ยนมวลสารเป็นพลอยเม็ดสวยนั้นประกอบด้วย การรับมวลสาร จากนั้นวัดค่าธาตุมวลสาร สกัดมวลสารคาร์บอนจากแคลเซียมบริสุทธิ์เตรียมผลิต ผสมสารประกอบการเกิดพลอย นำมวลสารที่เตรียมไว้ไปหลอมแล้วเทใส่แม่พิมพ์จะได้ก้อนพลอยดิบ นำก้อนพลอยไปอบ ตรวจสอบคุณภาพพลอยดิบ เจียระไนอย่างพิถีพิถัน จนได้พลอยสกัดจากสารประกอบจากความทรงจำเตรียมพร้อมขึ้นเรือนเป็นเครื่องประดับ

เป็นความทรงจำส่วนบุคคล โปรดใช้วิจารณญาณในการรับชม

“จริงๆ แล้วพื้นฐานชีวิตคนเราต้องการของยึดเหนี่ยวทางจิตใจ เมื่อก่อนอาจจะมีพระเครื่อง หรือความเชื่ออะไรบางอย่าง แต่สิ่งที่เราทำเป็นเรื่องของความทรงจำส่วนบุคคลที่ไม่มีมูลค่าใดเทียบเท่า ยกตัวอย่างเช่น มีลูกค้าที่เล่าว่าคุณพ่อชอบใช้ปากกาด้ามนี้ จึงอยากดังพลอยที่ปลายปากกาเดิมออกและเปลี่ยนอัฐิของท่านให้เป็นพลอยใส่ที่ปลายปากกาพกติดตัว”

ในขณะที่ต่างประเทศ เขาเปลี่ยนอัฐิให้กลายเป็นเครื่องประดับติดตัวเพื่อแก้ปัญหาการจัดเก็บอัฐิ เนื่องจากค่าใช้จ่ายของการฝั่งศพ 1 แห่งไม่ว่าจะวิธีการใดนั้นมีมูลค่าที่สูงมาก เขาจึงมีเทคโนโลยีขึ้นมาแก้ปัญหา ขณะที่สำหรับคนไทยนั้น เรื่องจิตใจต้องมาก่อน จะเห็นว่าบางคนทุ่มเต็มที่กับค่าใช้จ่ายในการทำศพเป็นเรื่องของจิตใจและหน้าตาครอบครัว

“พลอยจึงคิดว่าสิ่งนี้น่าจะตอบโจทย์ บางครอบครัวอาจจะไม่รับ เพราะชอบประเพณีเดิม แต่สำหรับใครที่ต้องการความเรียบง่าย คิดถึงจิตใจก่อนศาสนาหรือความเชื่อต่างๆ ก็จะตอบโจทย์”

แม้จะเปิดทำการได้เพียง 2 ปี แต่ก็ได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากกลุ่มลูกค้าที่สนใจทั้งไทยและต่างประเทศ รวมถึงพาร์ทเนอร์ธุรกิจที่สนใจอยากให้ Gemories ช่วยต่อยอดธุรกิจของตัวเอง เช่น โรงพยาบาลสัตว์ โรงพยาบาลเรื่องฟัน อนาคตอาจจะมีร้านดอกไม้ ซึ่งสามารถขายแพกเกจนำดอกไม้ที่แห้งแล้วมาทำเป็นแหวนได้ ให้เศษเสี้ยงของความทรงจำนั้นยังอยู่ไม่หายไปตามกาลเวลา

Gemories

“ตอนนี้ที่เราทำมี สายสิญจน์ที่ใช้ของแต่งงาน รางวัลของที่ได้รับที่อาจจะแห้งเหี่ยวตามกาลเวลา ก็เอามาทำเป็นเครื่องประดับไว้ส่งต่อสืบทอดกันไป”

ในอนาคต พลอยตั้งใจขยายตลาดไปยังประเทศที่เป็นเกาะก่อน

เพราะพื้นที่การฝังศพที่นั่นมีจำกัด เช่น ฮ่องกง ซึ่งประเทศนี้ก็มีความสนใจเรื่องแฟชั่นเครื่องประดับ มีกำลังซื้อ รวมถึงสิงคโปร์ ไต้หวัน เพราะสินค้าเราจึงค่อนข้างตอบโจทย์เขา โดยเฉพาะคนเชื้อชาติจีนยุคใหม่ ชอบเครื่องประดับและเชื่อมั่นในงานฝีมือของคนไทยมาก โดยให้การยอมรับงานของเราในระดับพรีเมียม

Gemories
 

ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภัทรพันธ์อุตสาหการ (พ.ศ. 2530)

โรงงานภัทรพันธ์อุตสาหการ เริ่มจากการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเตาเผาไร้มลพิษทุกประเภท ได้แก่เตาเผาขยะของรัฐบาล เตาเผาศพไร้มลพิษที่อยู่ตามวัด และเตาเผาขยะติดเชื้อตามโรงพยาบาล มีตั้งแต่ขนาดที่ อบต. ใช้ โรงพยาบาลใช้ ไปจนถึงระดับภูมิภาค นั่นคือตั้งแต่ 1 – 300 ตัน มีผลิตทุกขนาดตามความต้องการใช้งาน

เมื่อองค์ความรู้เรื่องเทคโนโลยีและวิศวกรรมเตาเผาจากคุณพ่อ ความรู้เรื่องมลพิษและสิ่งแวดล้อมจากคุณแม่ ผสมกับความรู้เรื่องการออกแบบของพลอย เตาเผาในยุคที่มีทายาทรุ่นสอง เป็นมากกว่าเตาเผาไร้มลพิษ เพราะรู้จักต่อยอดธุรกิจเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

ชวนให้คิดว่าคนที่จะลบคำสบประมาทและความเป็นไปไม่ได้ต่างๆ ออกไปได้นั้น มีแค่เราลองตั้งคำถามจากที่เป็นอยู่ แล้วเปลี่ยนความเป็นไปไม่ได้ ให้กลายเป็นความเป็นไปได้ยาก จนในที่สุดกลายเป็นความเป็นไปได้

เช่นเดียวกับคำแนะนำสำหรับทายาทรุ่นสองของพลอยที่เธอทิ้งท้ายไว้

“ถ้ามองให้ดีเราจะเห็นว่าในธุรกิจหนึ่งประกอบด้วยหน้าที่มากมายซึ้งล้วนสำคัญนะ เราเชื่อว่าคนหนึ่งคนเรียนรู้อะไรก็ได้นะ ต่อให้คุณจะเรียนจบแฟชั่นดีไซน์มา แต่ที่บ้านทำรับเหมาก่อสร้าง

และมองตัวเองให้ออกมาว่าสนใจส่วนไหนในธุรกิจของครอบครัว

“อย่างเราเอง ช่วง 6 แรกที่ทำงานกับที่บ้าน เราเลือกที่จะสังเกตการณ์ทุกอย่างและพูดให้น้อยที่สุด มองดูว่ากิจกรรมของแต่ละคนคืออะไร เพื่อหาส่วนที่ตรงกับความสนใจของเรา แล้วเข้าไปช่วยแก้ปัญหา”

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล