จะมีสักกี่คนที่ผ่านวัยเรียนมาโดยไม่รู้จักรองเท้านันยาง

ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี ที่ผ่านมา รองเท้านันยางอยู่คู่เท้านักเรียนไทยมาหลายต่อหลายรุ่น ทั้งใส่ไปเรียน ใส่เตะบอล และใส่เหยียบส้นเดินเล่นกับเพื่อนหลังเลิกเรียน

คุณจักรพล จันทวิมล เป็นอีกคนที่ ‘โตมากับรองเท้านันยาง’ อย่างแท้จริง นอกจากเขาจะเป็นนักเรียนที่ใส่รองเท้านันยางแล้ว เขายังรับหน้าที่ผู้ทดลองใช้รองเท้ารุ่นใหม่ และเป็นผู้หิ้วรองเท้าไปส่งให้เพื่อนที่ฝากซื้อ

ปัจจุบันเขาคือ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและการขาย บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ทายาทรุ่นที่สามของนันยาง ชายผู้ใส่เบอร์รองเท้านันยางของเขาไว้บนนามบัตรชวนพวกเรามานั่งคุยที่สำนักงานชั่วคราวของบริษัท ในระหว่างที่สำนักงานหลักกำลังปรับปรุงเพื่อรอตำนานบทใหม่

ชื่อนันยางไม่ได้เกี่ยวกับยาง และไม่ได้เป็นรองเท้านักเรียนมาแต่กำเนิด

รองเท้านันยางมีต้นกำเนิดมาจากประเทศสิงค์โปร์ คำว่า ‘นันยาง’ เป็นภาษาจีนกลาง ออกเสียงว่า ‘หนันหยาง’ แปลว่า ทะเลใต้ นำเข้ามาในเมืองไทยโดยผู้บริหารรุ่นหนึ่งของตระกูลซอโสตถิกุล เมื่อเห็นว่าเมืองไทยมีตลาดและวัตถุดิบสำคัญอย่างยางพารา คุณวิชัย ซอโสตถิกุล จึงเจรจาขอนำแบรนด์และแบบของรองเท้าผ้าใบนันยางมาผลิตในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2496

นันยางถือเป็นรองเท้าคุณภาพดี ทนทาน และราคาประหยัด ในยุคนั้นนันยางจึงเป็นที่นิยมในกลุ่มคนที่ต้องเดินเยอะและเดินในที่สมบุกสมบัน เช่น คนทำงานในไร่ ในสวน คนที่ต้องเดินในที่ขรุขระ และคนที่ต้องเดินไกลๆ

นอกจากรองเท้าผ้าใบแล้ว นันยางยังมีสินค้าพี่น้องร่วมแบรนด์ที่คนไทยเรียกติดปากว่า ‘รองเท้าแตะช้างดาว’ เพราะคนยุคนั้นมักจะเรียกชื่อสินค้าตามโลโก้มากกว่าชื่อแบรนด์ รองเท้าแตะนันยางที่มีโลโก้เป็นรูปช้างอยู่คู่กับดาว จึงถูกเรียกว่า ‘รองเท้าแตะช้างดาว’ เรื่อยมา

จุดเปลี่ยนสำคัญครั้งหนึ่งของนันยางเกิดขึ้นในช่วงปี 2500 คุณเพียรศักดิ์ ซอโสตถิกุล ทายาทรุ่นที่สอง ผู้ชื่นชอบกีฬาแบดมินตัน และได้รับตำแหน่งนายกสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยในเวลาต่อมา ปรับให้นันยางเป็นรองเท้าที่เหมาะกับการใส่เล่นแบดมินตัน ทั้งเปลี่ยนรูปทรงและเปลี่ยนพื้นรองเท้าให้เป็นสีเขียวซึ่งเป็นสีพื้นรองเท้าแบดมินตันในยุคนั้น จนกลายมาเป็นรองเท้าผ้าใบรุ่นยอดนิยมที่อยู่ยงคงกระพันมาถึง 60 ปี ถ้ารองเท้ารุ่นระดับตำนานของโลกอย่าง Adidas Stan Smith มาจากรองเท้าเทนนิส Converse Chuck Taylor มาจากรองเท้าบาสเกตบอล นันยาง 205-S ก็ต้องบอกว่ามาจากรองเท้าแบดมินตัน

เมื่อรองเท้าผ้าใบจากโลกตะวันตกเข้ามาทำการตลาดในเมืองไทย คนเริ่มรู้สึกว่ารองเท้าไม่ใช่แค่รองเท้าอีกต่อไป และรองเท้าแต่ละคู่ต่างก็มีหน้าที่เฉพาะ ไม่สามารถใส่คู่เดียวทำทุกอย่างได้อีกต่อไป นันยางจึงต้องหาฐานที่มั่นให้กับตัวเองว่าจะเป็นรองเท้าที่เหมาะสำหรับใส่ทำอะไร

กลายเป็นรองเท้านักเรียน

ช่วงประมาณปี 2515 นันยางมองเห็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจ เป็นกลุ่มอาชีพที่มีจำนวนคงที่ในทุกปี และมีจำนวนมากถึง 1 ใน 4 ของประชากรไทย คนกลุ่มนี้ต้องการรองเท้าที่แข็งแรงและมีหน้าตาเหมือนกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่นันยางถนัด อาชีพนี้คือ นักเรียน

แม้นันยางจะเน้นทำตลาดรองเท้านักเรียน แต่ก็ยังได้รับการยอมรับในอีกหลายหน้าที่ อย่างเช่นรองเท้าที่ใส่สำหรับกีฬาที่ต้องการการยึดเกาะพื้นโดยเฉพาะตะกร้อ นันยางกลายเป็นรองเท้าตะกร้อที่ใส่กันทั้งนักตะกร้อสมัครเล่น ไปจนถึงนักตะกร้อทีมชาติไทย และทีมชาติเพื่อนบ้าน

ตลาดของนันยางครอบคลุมไปทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลาดเพื่อนบ้านที่ใหญ่ที่สุดคือ เมียนมา เพราะคนที่นั่นชอบใส่รองเท้าแตะ ใส่กันในทุกวาระโอกาส รองเท้าแตะตราช้างดาวที่ทั้งทนและถูกจึงได้รับความนิยมมากตั้งแต่พม่ายังไม่เปิดประเทศ พ่อค้าต้องใช้วิธีหิ้วข้ามแดนด้วยการเหน็บไปกับขอบโสร่งรอบเอว แล้วใส่ไปอีกคู่ เพื่อเอากลับไปขายที่พม่า

คนอินโดนีเชียใช้รองเท้าผ้าใบนันยางเป็นรองเท้านักเรียนเหมือนเมืองไทย นอกจากนี้ นันยางยังขยายตลาดไปยังจีน ลาว กัมพูชา เวียดนาม บังกลาเทศ แล้วก็ปากีสถาน

เน้นฟังก์ชันก่อนแฟชั่น

ถ้าให้จินตนาการภาพผู้ใช้นันยาง หลายคนคงเห็นภาพตรงกันว่า เป็นเด็กผู้ชาย ม.ปลาย เรียนสายศิลป์ มีความสุขกับการใช้ชีวิตนอกห้องเรียน แต่ก็ยังรักษาการเรียนไว้ในระดับที่ไม่แย่ นั่งหลังห้องแต่ก็ไม่รบกวนใคร เป็นเด็กที่คุณครูอาจเอือมระอานิดๆ แต่เป็นคนอัธยาศัยดีเป็นที่รักของเพื่อนๆ พวกเราต่างเห็นภาพแบรนด์ตรงกัน เพราะเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมา ไม่ต้องใช้พรีเซนเตอร์ ไม่ต้องมีมาสคอต แต่เกิดจากประสบการณ์จริงของผู้ใช้ซึ่งเป็นเด็กชายหลายยุคหลายสมัย

คุณจักรพลต่อยอดความแข็งแรงของแบรนด์ด้วยการนำประสบการณ์ร่วมนี้มาทำให้เป็นภาพที่ชัดขึ้นผ่านการสื่อสารการตลาด รู้ว่าตัวเองเป็นใคร คอยดูแลให้แบรนด์ไม่สูญเสียตัวตน

“บางคนอาจคิดว่ามันเก่า มันเชย แต่แบบนี้มันก็ดีอยู่แล้ว มันเป็นทางของเรา” คุณจักรพลเล่าถึงแนวคิดทางการตลาดซึ่งแตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ อย่างชัดเจน

รองเท้าถือเป็นสินค้าแฟชั่นที่มักจะออกรุ่นใหม่บ่อยๆ เพื่อกระตุ้นยอดขาย แต่นันยางไม่ได้คิดแบบนั้น นันยางจะออกสินค้ารุ่นใหม่ก็ต่อเมื่อมั่นใจว่ามันจะอยู่ได้อย่างต่ำก็ 10 ปี แนวคิดนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นไปได้ เพราะรองเท้าผ้าใบรุ่น 205-S สุดคลาสสิก และรองเท้าแตะช้างดาวสีขาวฟ้า ก็ผลิตซ้ำในรูปแบบเดิมมาหลายสิบปี

แต่ไม่ได้หมายความว่า นักการตลาดอย่างเขาไม่ได้คิดอะไรใหม่

ก้าวใหม่ของรองเท้าแตะตราช้างดาว

รองเท้าแตะช้างดาวมีหน้าตาเหมือนเดิมมาตั้งแต่ปี 2499 แน่นอนว่า เมื่อรองเท้ามีหน้าตาแบบเดิม ลูกค้าก็เป็นกลุ่มเดิม แต่วันหนึ่งคุณจักรพลก็พบตลาดใหม่ที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งต้องการรองเท้าราคาถูกที่ทนทานและไม่มองหารองเท้าตามแฟชั่น คนกลุ่มนั้นคือ พระสงฆ์

รองเท้าแตะช้างดาวที่เป็นที่นิยมสำหรับถวายให้พระสงฆ์อยู่แล้ว แต่อาจจะติดเรื่องสีสันซึ่งดูไม่สำรวม คุณจักรพลจึงเดินสายพูดคุยกับพระคุณเจ้าหลายนิกายเพื่อหาเฉดสีรองเท้าที่เหมาะสม จนกลายมาเป็นรองเท้าแตะสีน้ำตาลที่สวยจนคนทั่วไปก็อยากซื้อหามาใส่

จะบอกว่านันยางไม่สนใจเรื่องแฟชั่นเลยก็ไม่ถูกนัก เพราะรองเท้าแตะช้างดาวรุ่น Basic สีขาวดำ ราคา 99 บาท ก็ถูกแชร์ทั่วโลกออนไลน์เมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา และขายดีแบบที่เรียกว่าผลิตไม่ทัน คุณจักรพลเล่าว่า ไอเดียแรกสุดไม่ได้ตั้งใจรองแบบรองเท้ามินิมอลเจาะกลุ่มชาวเก๋ แต่ตั้งใจจะเจาะตลาดในประเทศพม่า เพราะคนที่นั่นชอบใส่รองเท้าแตะคีบสีดำ แต่ออกแบบไปออกแบบมาก็จับคู่กับสีขาวตามคอนเซปต์ของความเรียบง่าย แถมยังแถมวิธี Mix and match ว่าถ้าเราซื้อรองเท้าสีขาวล้วน และดำล้วนอย่างละคู่ จะเอามาผสมสีให้สนุกยังไงได้บ้าง

เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณจักรพลเล่าถึงวิธีคิดในการทำการตลาดของนันยาง เขามักจะเล่าถึงอินไซต์ของลูกค้าประกอบเสมอ อินไซต์อย่างหนึ่งที่นำไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ของนันยางก็คือ เมื่อนักเรียนได้ลองใช้รองเท้าผ้าใบนันยางแล้วมักจะความจงรักภักดีกับแบรนด์ ไม่ค่อยเปลี่ยนใจไปใช้แบรนด์อื่น ดังนั้นทายาทรุ่นสามของนันยางจึงเห็นว่า นันยางควรจะขยายฐานผู้ใช้ไปให้ถึงเด็กประถมเพื่อจะได้ผูกปิ่นโตกันยาวๆ 12 ปี แต่ปัญหาคือ ภาพลักษณ์ของนันยางที่ถูกใจวัยรุ่นมักจะไม่ค่อยถูกใจพ่อแม่เด็กประถม การจะจับตลาดเด็กกลุ่มนี้ให้ได้ต้องหาทางสื่อสารกับผู้ตัดสินใจซื้อซึ่งก็คือพ่อแม่

คุณจักรพลจึงตามหาอินไซต์ของพ่อแม่ว่า อะไรคือเหตุผลหลักในการเลือกซื้อรองเท้านักเรียนประถม เขาพบว่า พ่อแม่อยากได้รองเท้าที่นุ่มและเบา นันยางเลยหาทางออกแบบรองเท้านักเรียนคู่น้อยให้ทั้งนุ่มและเบา แถมราคาไม่แพง เป็นวิธีคิดที่น่าสนใจมาก แทนที่จะเปลี่ยนแบรนด์ตัวเองให้เป็นเด็กเรียบร้อยเพื่อไม่ให้ขัดใจพ่อแม่ แต่กลับหาวิธีอื่นให้ดึงดูดใจให้พ่อแม่ซื้อนันยางให้ลูกแทน

บุกตลาดนักเรียนหญิง

สินค้าใหม่อีกชิิ้นจากฝีมือของทายาทรุ่นสามที่กลายเป็นกระแสเมื่อปีที่แล้วคือ รองเท้าผ้าใบผู้หญิง นันยางชูการ์ จุดเริ่มต้นมาจากความต้องการขยายกลุ่มผู้ใช้นันยาง เดิมเด็กนักเรียนผู้หญิงไม่ชอบนันยางเพราะไม่สวย และดูแมนเกิน นอกจากนั้นในแต่ละสัปดาห์นักเรียนหญิงต้องใส่รองเท้าผ้าใบแค่วันเดียว เลยไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก

เมื่อพบอินไซต์ที่ชัดเจนขนาดนี้ คุณจักรพลก็เลยแก้เกมด้วยไอเดียที่น่าสนใจ เมื่อนักเรียนหญิงต้องการรองเท้าที่สวยหวาน นันยางก็เลยออกแบบรองเท้าที่สวย สีหวาน และมีหลายสีให้เลือก เพื่อสร้างความตื่นเต้นในหมู่นักเรียนหญิง จากรองเท้าพละที่นักเรียนหญิงไม่ค่อยให้ความสำคัญ กลายมาเป็นรองเท้าที่ใส่ได้บ่อยขึ้น แค่เปลี่ยนจากเชือกสีขาวตามระเบียบโรงเรียน มาเป็นริบบิ้นสีหวานที่แถมมาพร้อมรองเท้า แค่นี้ก็ใส่เที่ยวได้แล้ว

นันยางชูการ์ได้รับการตอบรับที่ดีระดับเป็นปรากฏการณ์ในโลกออนไลน์ เพราะไม่ใช่แค่โดนใจนักเรียนหญิงเท่านั้น แต่ยังได้ใจจากสาวๆ ที่พ้นวัยเรียนมาแล้วด้วย นั่นอาจจะเป็นครั้งแรกที่สาวๆ หลายคน​เพิ่งรู้ว่า นันยางไม่ได้ขายในห้างสรรพสินค้า เนื่องจากเธอไม่เคยซื้อรองเท้านันยางมาก่อนในชีวิต (รวมทั้งเราด้วย)  

รองเท้าที่ไม่มีขายในห้าง

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า นันยางไม่มีหน้าร้านในห้างสรรพสินค้า มีวางขายในห้างบ้างแค่ช่วงก่อนเปิดเทอม ร้านที่คุณจะหาซื้อนันยางได้ตลอดทั้งปีก็คือ ร้านขายรองเท้าตามตลาดทั่วไป และอีกร้านที่เหนือความคาดหมายมากก็คือ ร้านขายเครื่องก่อสร้างอย่างไทวัสดุ เพราะเป็นรองเท้าโปรดที่ช่างชอบใช้ โดยเฉพาะช่างที่ต้องปีนหลังคา

แม้ว่าเราจะหาซื้อนันยางตามห้างสรรพสินค้าไม่ได้ แต่คุณจักรพลก็ตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ด้วยการขายออนไลน์ผ่านลาซาด้าแทน ข้อดีของออนไลน์อีกอย่างก็คือ ทำให้โปรเจกต์ใหม่ๆ ของนันยางเป็นจริงได้ง่ายขึ้น

“ก่อนหน้านี้เวลาจะออกสินค้าใหม่ให้คนรู้ก็ต้องทำหนังโฆษณา ต้องใช้งบมหาศาล ทำให้การทำสินค้าใหม่จำนวนไม่เยอะ ไม่มีทางคุ้มทุนแน่ๆ แต่เดี๋ยวนี้เราลองใช่ฝ้วิธีที่ใช้งบน้อยลง กล้าลองมากขึ้น และวางแผนละเอียดขึ้น ทำให้เราออกสินค้าใหม่ได้ง่ายขึ้น” คุณจักรพลอธิบายข้อดีอีกอย่างของออนไลน์

แต่การพัฒนาด้านออนไลน์ก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด คุณจักรพลเล่าว่า การลงทุนในสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน แล้วธุรกิจก็อยู่มาได้ คนรุ่นก่อนย่อมต้องตั้งคำถามเป็นธรรมดา เขาจึงต้องพยายามหาข้อมูลไปอธิบายและโน้มน้าวให้ผู้บริหารรุ่นก่อนเข้าใจ

น้องคนเล็กของตระกูลกับแบรนด์ที่มีมูลค่าสูงสุดของครอบครัว

คุณจักรพลเป็นน้องคนเล็กของรุ่นที่สามที่เข้ามาทำหน้าที่ดูแลเรื่องการตลาดของนันยางเป็นหลัก และก็ยังช่วยดูแลเรื่องการตลาดและโฆษณาให้แบรนด์อื่นๆ ของครอบครัวด้วย ด้วยความที่เป็นน้องคนเล็กที่สุดเราก็เลยอดสงสัยไม่ได้ว่า แล้วพอเข้ามาทำงานในฐานะผู้บริหารคนหนึ่ง เขาได้ประสบปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ หรือถูกท้าทายในเรื่องนี้บ้างไหม

เขาตอบว่า ไม่เลย ซึ่งเป็นคำตอบที่เราไม่ได้คาดมาก่อน

เขาเสริมรายละเอียดให้เราคลายสงสัยต่อว่า เป็นเพราะธุรกิจนี้ไม่ได้มีเฉพาะคนในครอบครัวเท่านั้น มีคนนอกด้วย การวัดผลงาน การเลื่อนขั้น และการให้เงินเดือน ก็จะถูกตัดสินอย่างเป็นระบบ อย่างตัวเขาเองก็ต้องสร้างผลงานจนได้รับความไว้วางใจให้ขึ้นมาบริหารตราสินค้านี้เช่นเดียวกัน

ที่สำคัญที่สุด คือการให้เกียรติซึ่งกันและกัน คนที่เข้ามารับช่วงต่อก็ต้องให้เกียรติคนที่สร้างธุรกิจนี้มา และเข้าใจว่าอะไรเป็นสิ่งที่เขามองหาในธุรกิจ ส่วนผู้บริหารรุ่นก่อนที่ได้ส่งไม้ต่อให้กับคนรุ่นลูกก็ต้องให้เกียรติในความรู้ความสามารถในฐานะมืออาชีพคนหนึ่งเช่นเดียวกัน

“ทุกโปรเจกต์จะต้องทำรายได้ให้กับบริษัท” นี่คือหลักคิดง่ายๆ ของน้องคนเล็กของตระกูลผู้กุมชะตากรรมของตำนานอย่างรองเท้านักเรียนนันยางเอาไว้ “ถ้าโปรเจกต์ไหนผู้ใหญ่ไม่สนับสนุน เราก็พับไป เหมือนถ้าทำงานในบริษัทแล้วเจ้านายไม่อนุมัติเราก็ไม่ได้ทำเหมือนกัน”

แม้ว่าจะเป็นสินค้าที่ขายดีเป็นอันดับหนึ่งในประเภทรองเท้านักเรียน และเป็นสินค้าประเภทที่มีฐานผู้ใช้เพิ่มเข้ามาทดแทนกลุ่มที่เลิกใช้ไปอย่างอัตโนมัติทุกปีการศึกษา แต่บริษัทก็ต้องการรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปีตามธรรมชาติของธุรกิจ คุณจักรพลมองว่าการขึ้นราคาไม่ใช่วิธีหลักที่อยากจะนำมาใช้ เขาจึงใช้วิธีหาตลาดใหม่ๆ โดยมีหลักคิดที่การสร้างรายได้ให้กับบริษัทและต้องเป็นการเข้าหากลุ่มผู้ใช้ที่ยั่งยืนเหมือนกับที่ครอบครัวรุ่นก่อนๆ เคยทำมา

ทายาทรุ่นสามทุกคนไม่ได้เข้ามาทำธุรกิจของครอบครัว

คุณจักรพลเล่าว่า ลูกพี่ลูกน้องในรุ่นเดียวกับเขาทั้งหมด 24 คนนั้นไม่ได้เข้ามาทำกิจการของครอบครัวกันทุกคน ครอบครัวค่อนข้างที่จะให้อิสระกับการที่แต่ละคนจะเลือกอาชีพของตัวเอง เขาได้ให้ความรู้กับเราว่าตามทฤษฎีแล้วกิจการของครอบครัวจะถูกลดทอนลงไปเรื่อยๆ ตามเจนเนอเรชั่น ซึ่งนั่นเป็นเรื่องปกติ สำหรับกิจการที่อาจจะไม่เข้ากับยุคสมัยอีกต่อไปแล้วหรือครอบครัวที่ไม่มีผู้สืบทอด จาก 100% ในรุ่นที่หนึ่งก็จะเหลือ 50% ในรุ่นที่สอง และ 10% 4% ในรุ่นต่อๆ มา

ฉะนั้น การทำกิจการครอบครัวสำหรับเขาก็เป็นงานปกติงานหนึ่งที่ก็ต้องใช้ความรู้ความสามารถให้เต็มที่

สำหรับการดำเนินกิจการของรุ่นที่ 3 นี้ ครอบครัวซอโสตถิกุลทำให้เป็นทางการมากขึ้นโดยจัดให้มีสภาครอบครัวที่แต่ละบ้านจะต้องส่งตัวแทนมาพูดคุยและวางแผนตัดสินใจเกี่ยวกับกิจการของครอบครัว มีกฎระเบียบสำหรับสมาชิกครอบครัวที่จะเข้ามาบริหาร อย่างเช่นจะต้องเริ่มต้นทำงานในบริษัทอื่นมาก่อน และเมื่อย้ายกลับมาบริษัทตัวเองต้องเริ่มจากระดับพนักงานเหมือนคนอื่นๆ

ความธรรมดาในวันที่เรานิยมความธรรมดา

การปรับตัวแบบไม่ต้องเปลี่ยนแปลง และธุรกิจยังเป็นไปได้ด้วยดีในโลกไม่ว่ายุคไหนของนันยาง คือการทำอะไรธรรมดาๆ กับรองเท้าหน้าตาธรรมดาๆ และเรียกมันว่า ความคลาสสิก ผ่านมา 60 ปี เราก็คงจะพูดได้แล้วว่าบางทีความธรรมดาก็ทำให้เกิดความนิยมชมชอบที่ไม่ถูกกำหนดด้วยการเวลา แต่ได้รับการยอมรับจากคุณภาพที่นันยางได้มอบให้ลูกค้ามาอย่างซื่อตรง

คำถามสุดท้ายก่อนจาก เราถามคุณจักรพลว่า เขาอยากเห็นนันยางเป็นอย่างไรในอนาคต

เขาบอกว่า อยากเห็นนันยางอยู่กับโลกยุคใหม่ได้ต่อไป และอยากจะเห็นวันที่นันยางฉลองครบ 100 ปี

ภาพ: facebook.com/NanyangLegend

Writer

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

อดีตนักโฆษณาที่เปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักเล่าเรื่องบนก้อนเมฆ เป็นนักดองหนังสือ ชอบดื่มกาแฟ และตั้งใจใช้ชีวิตวัยผู้ใหญ่ไปกับการสร้างสังคมที่ดีขึ้น

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล