ตั้งกระดาษรอเย็บจักรเข้าเล่มเบื้องหน้าเราคือผลงานใหม่ล่าสุดของนักเขียนคนโปรด

ด้วยจรรยาบรรณบางประการ เราจึงไม่อาจเปิดเผยรายชื่อให้คุณร่วมตื่นเต้นไปด้วยได้ แต่กว่าบทความนี้จะเผยแพร่ ใครหลายคนคงได้จับจองเป็นเจ้าของพร้อมลายเซนต์ชื่อสร้างความอิ่มเอมใจ

และถ้าคุณพอจะติดตามสถานการณ์แผงหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กบ้านเราในช่วง 5 ปีหลังมานี้ คุณจะพบหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กปกสวย และเข้าเล่มหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ซึ่งในบรรดาหนังสือน้อยใหญ่รูปเล่มสนุกๆ เหล่านี้ นอกจากชื่อผู้เขียนและสำนักพิมพ์ ชื่อหนึ่งที่คุ้นตาเราอยู่เสมอคือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภาพพิมพ์

ตัดภาพกลับมา ระหว่างที่เดินผ่านตั้งกระดาษลดหลั่นกันไป กลิ่นกระดาษและน้ำหมึกไม่อบอวลอย่างที่คิด จะมีก็แต่เพียงเสียงของเครื่องจักรที่คลออยู่ตลอดบทสนทนาระหว่างเราและ จ๊อก-ชัยพร อินทุวิศาลกุล ทายาทหนุ่มรุ่นที่สองของโรงพิมพ์ภาพพิมพ์ หรือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภาพพิมพ์

และแม้จ๊อกจะยืนยัน ขอยกให้เครดิตของบรรยากาศคึกคักในวงการหนังสือแก่สำนักพิมพ์และนักออกแบบ ผู้มอบโจทย์ความต้องการแปลกๆ จนทำให้โรงพิมพ์ภาพพิมพ์มีโอกาสขยับขยายขอบเขตการทำงานและความสามารถ เราก็ตื่นเต้นในความตั้งใจของเขาอยู่ดี

ตื่นเต้นไปใหญ่เพราะระหว่างพูดคุยก็แอบคิดภาพเขาซ้อนทับกับ แกร์ฮาร์ด ชไตเดิล เจ้าของสำนักพิมพ์และโรงพิมพ์อันเลื่องชื่อในเยอรมนี ผู้เป็นสุดยอดนักทำหนังสือที่ใครๆ ก็อยากว่าจ้างให้แกร์ฮาร์ด ชไตเดิล ตีพิมพ์และดูแลการผลิตให้

แม้แวดล้อมของวงการนักอ่านในบ้านเราไม่เอื้อให้ใครมองเห็นความตั้งใจนี้มากนัก แต่ถ้าไม่ได้ความกล้าลอง กล้าเรียนรู้ และกล้าสนุก ของชายหนุ่มตรงหน้าเราคนนี้ หนังสือน้ำดีและหนังสือสำนักพิมพ์เล็กๆ น่าสนับสนุนคงดูไม่จืดทีเดียว ว่าแล้วก็เหลือบมองถุงหนังสือกองโตที่ได้จากงานหนังสือเมื่อหลายวันก่อนอย่างรู้สึกผิด ตั้งใจว่าจบข้อเขียนนี้คงจะได้ฤกษ์งามยามดีทำความรู้จักกันเสียที

ต่อให้บทความนี้เผยแพร่อยู่บนหน้าจอโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ช่วยอ่านที่ทันสมัย เราก็เป็นหนึ่งคนที่ค้านหัวชนฝาทุกครั้งที่ได้ยินใครบอกซ้ำๆ ว่าหนังสือและสิ่งพิมพ์กำลังจะตาย

ธุรกิจ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภาพพิมพ์ (พ.ศ. 2524)
ประเภทธุรกิจ : โรงพิมพ์
อายุ : 36 ปี
เจ้าของและผู้ก่อตั้ง : ธงชัย  อินทุวิศาลกุล,   จรินพร อินทุวิศาลกุล
ทายาทรุ่นที่สอง : จ๊อก-ชัยพร อินทุวิศาลกุล, โจ้-ชัยรินทร์ อินทุวิศาลกุล, เจ-ชัยฤทธิ์  อินทุวิศาลกุล

Create Outline : ส่งไฟล์ให้โรงพิมพ์

สำหรับเด็กชายที่ครอบครัวทำโรงพิมพ์ สนามเด็กเล่นของเขาไม่ได้มีหญ้านุ่มๆ ชิงช้า ม้าหมุน กระดานลื่น กระบะทราย หรือโครงเหล็กให้ปีนป่าย แต่เต็มไปด้วยกระดาษ กระดาษ และกระดาษ

ก่อนจะเป็นโรงพิมพ์ขนาดใหญ่อย่างทุกวันนี้ หจก. ภาพพิมพ์ เริ่มต้นจากตึกขนาด 4 ชั้น รับงานสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเป็นหลัก ทั้งโปสเตอร์ หนังสือ และนิตยสาร

จ๊อกเล่าย้อนไปถึงนิสัยรักการอ่านของเขาว่า ไม่ได้เป็นเพราะที่บ้านทำโรงพิมพ์ หากแต่เป็นการปลูกฝังจากแม่เมื่อครั้งสมัยทำงานอยู่ที่กรมประชาสงเคราะห์ ที่ทำให้ซึมซับการทำงานเพื่อส่วนรวมและสนใจกิจกรรม รวมไปถึงการเลือกเรียนต่อในคณะเศรษฐศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยที่มีหนังสือเป็นเครื่องมือชั้นดีของการพูดคุยหรือถกเถียงเรื่องราวน่าสนใจ

นอกจากงานผู้ช่วยวิจัยของอาจารย์ และการลงมือทำค่ายอาสาพัฒนาชุมชน จ๊อกมีความฝันเล็กๆ ก่อนมากลับมาทำโรงพิมพ์ที่บ้าน ว่าอยากเป็นอาสาสมัคร NGO ในทวีปแอฟริกา

น่าเสียดายที่โลกขาด NGO ฝีมือดีคนนี้ไป แต่ ณ มุมเล็กๆ มุมหนึ่งในวงการหนังสือของประเทศที่คนอ่านหนังสือเฉลี่ย 8 บรรทัดต่อปี กำลังมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น

ช่วง 3 ปีแรกของการเริ่มต้นงานผู้ช่วยทั่วไป จ๊อกเรียนรู้งานรับลูกค้าจากพ่อ สลับกับที่ยังคงทำโครงการเพื่อชุมชนอยู่ จนกระทั้งวันหนึ่งได้บังเอิญรู้จักกับเป้ (วาด รวี) ในร้านหนังสือที่แวะเวียนไปประจำ

“มันเป็นเรื่องของจังหวะจริงๆ นะ เราแค่ชอบหนังสือ เข้าร้านหนังสือ จนบังเอิญเจอคนทำสำนักพิมพ์ในร้านหนังสือ เราถือว่าพี่เป้เป็นคนสำคัญที่ทำให้รู้จักคนในวงการหนังสือมากขึ้น ประกอบช่วงนั้นเพื่อนของเพื่อนที่ทำกิจกรรมสมัยเรียน (วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง) ทำงานกับพี่โญ (ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา) สำนักพิมพ์ openbooks ที่เล่าเพียงจะบอกว่าไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องดวงนะ แต่เป็นเรื่องจังหวะจริงๆ เพราะปัจจัยที่ทำให้เรามาถึงทุกวันนี้มีหลายอย่างมาก เรียกว่าเป็นแรงผลักจากทุกคนให้ได้ลองทำอะไรใหม่ๆ” จ๊อกเล่าย้อนลำดับถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาเริ่มจริงจังและมั่นใจกับสิ่งที่ทำ

Digital Proof : ตรวจงานก่อนวางเพลต

หลังจากเริ่มทำงานให้สำนักพิมพ์ openbooks จ๊อกเริ่มสังเกตสิ่งที่โรงพิมพ์เป็นอยู่ แล้วตั้งคำถามถึงคุณภาพการพิมพ์ ความต้องการลูกค้า และเวลาส่งมอบที่แม่นยำ เป็นบทเรียนสำคัญบทเรียนแรกๆ ที่เขาใช้พิสูจน์ตัวเองก่อนรับไม้ต่อจากพ่ออย่างเต็มตัว

“พี่โญและทีมงาน openbooks ทุกคนสอนผมเยอะมาก ข้อเสนอแนะจากสำนักพิมพ์ทำให้ผมอยากทำงานให้ดีขึ้น ผมตัดสินใจลงทุนซื้อเครื่องพิมพ์ใหม่ เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องหารือกับพ่อ แจกแจงเรื่องค่าใช้จ่าย ต้นทุน ผลลัพธ์ที่ได้ รวมถึงช่วงเวลาคืนทุนอย่างชัดเจน ซึ่งสุดท้ายยอดขายที่เยอะขึ้นตามก็พิสูจน์ว่าการเปลี่ยนวิถีบางอย่าง และการใส่ใจในกระบวนการผลิต เป็นผลดี และเมื่อเริ่มทำงานได้ดีขึ้นก็มีคนรู้จักโรงพิมพ์ของเรามากขึ้น” จ๊อกเล่าว่าแม้การเปลี่ยนเครื่องพิมพ์จะเป็นเรื่องใหญ่ แต่เรื่องใหญ่ที่สุดคือกระบวนการทำงานที่เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

แล้วอะไรคือสัญญาณสำคัญที่บอกให้รู้ว่ามีบางสิ่งบางอย่างต้องเปลี่ยนให้ดีขึ้น จ๊อกยิ้มก่อนจะตอบออกมาว่า

“พอเริ่มสัมผัสความรู้สึกที่ดีจากการได้ทำสิ่งที่ดีให้ลูกค้า ไม่ใช่แค่เรื่องราคาการผลิตที่ต่ำสุด แต่เป็นเรื่องความใส่ใจกระดาษ งานที่ออกมา และรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เราทำให้เกิดขึ้นได้จริง ความรู้สึกนี้ก็ค่อยๆ แปลงเปลี่ยนเป็นพลัง และ passion ให้เราทำโรงพิมพ์ต่อไป ทำให้เราค่อยๆ มีความสุข ทำให้เราอยากทำให้ดีขึ้นๆ”

ทัศนคติของทีมงาน คือ สิ่งแรกๆ ที่จ๊อกตั้งใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลังจากค่อยๆ รับไม้ต่อจากพ่อ

“ทัศนคติในที่นี้หมายถึงเรื่อง ผลลัพธ์ที่เราจะไม่ยอมให้เกิดขึ้น เช่น พิมพ์หน้าขาด (เกิดหน้าที่เป็นกระดาษเปล่า) มีจุดสกปรกบนงานพิมพ์ หน้าสลับ ขนาดไม่ได้ สันไม่ตรง รายละเอียดเยอะแยะปลีกย่อยต่างๆ ที่ผ่านมาเราใช้วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไป หรือว่าคิดว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แต่สำหรับผม ผมจะไม่ยอม”

การเปลี่ยนแปลงอย่างที่สองคือ การให้ความสำคัญกับเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพ

“หลายครั้งปัญหาก็ไม่ได้เกิดจากคน แต่เป็นปัญหาที่เครื่องจักรมันไม่พร้อมกับการใช้งาน บางครั้งก็ซ่อมแซมกันไป ไม่ก็เปลี่ยนเครื่องจักร เปลี่ยนเพื่อให้เหมาะสมกับธุรกิจหนังสือมากขึ้น จากที่พิมพ์ได้เพลตละ 8 หน้าก็ซื้อเครื่องใหญ่ขึ้นเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้เหมาะสมความต้องการ คุณภาพคงไม่ต่างแต่รับงานได้เยอะขึ้น และเพื่อไม่ให้เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพการผลิต ผมคิดว่าควรจะทำให้เหลือแต่ปัญหาที่เกิดจาก human error หรือเรื่องทัศนคติในการทำงานซึ่งมันค่อยๆ เปลี่ยนแปลงได้”

จ๊อกยืนยันความเปลี่ยนแปลงของโรงพิมพ์ภาพพิมพ์ ไม่ได้เกิดจากยุคการเปลี่ยนผ่านสั้นๆ ของเขา หรือมาจากตัวเขา เพราะพบว่าบางปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นจากเครื่องจักรหรือคน แต่เป็นเรื่องระบบ แบบแผน และขั้นตอนในการทำงาน ดังนั้น การเข้ามาช่วยเรื่องบัญชีของโจ้ น้องชายคนกลาง และการวางระบบและโครงสร้างองค์กรใหม่ของเจ น้องชายคนสุดท้อง จึงเหมือนจิ๊กซอว์ตัวสำคัญที่เติมเต็มให้โรงพิมพ์ภาพพิมพ์ในยุคของทายาทรุ่นที่สองดำเนินอยู่อย่างน่าจับตามอง

Production : ขั้นตอนการผลิต

เพราะช่วงนี้สังเกตเห็นหนังสือหน้าตาแปลกดีบนแผง รวมถึงหนังสือสวยๆ จนทำให้เกิดปรากฏการณ์สั่งจองล่วงหน้าบนโลกออนไลน์มากมาย เราถามจ๊อกว่ากระบวนการผลิตของโรงพิมพ์มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน

“เรื่องนี้เครดิตอยู่ที่สำนักพิมพ์ไม่ใช่ที่โรงพิมพ์อย่างผม และจริงๆ มีตัวเลือกโรงพิมพ์ที่พร้อมให้บริการสิ่งพิมพ์ดีๆ เยอะมาก เพียงแต่ในแวดวงหนังสือบ้านเรามีผู้เล่นไม่มากนัก จึงทำให้เห็นงานของภาพพิมพ์บ่อย” จ๊อกเล่าพร้อมชี้จุดสังเกตของเรื่องนี้ที่พิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม สิ่งที่สวยงามมักได้รับความสนใจเสมอ

บ่อยครั้งที่รูปแบบหนังสือสะท้อนรสนิยมบางอย่างของบรรณาธิการหรือเจ้าของสำนักพิมพ์ นอกจากเนื้อหาและผู้เขียน มีรายละเอียดย่อยๆ มากมายที่แสดงถึงความใส่ใจของสำนักพิมพ์ ทั้งงานออกแบบ งานจัดหน้ากระดาษ การเลือกเนื้อกระดาษ วิธีการเข้าเล่ม ซึ่งเรื่องเหล่านี้มาพร้อมๆ กับราคาที่สำนักพิมพ์ต้องจ่าย

“กับโปรเจกต์แปลกๆ ยากๆ เราตั้งใจคิดค่าใช้จ่ายไม่แพงมากนักเพื่อแลกกับการทดลองเรียนรู้ และทำให้โปรเจกต์นั้นเกิด” ได้ยินอย่างนี้ คนทำหนังสืออย่างเราก็รู้สึกตื่นเต้นขึ้นมาทันที ก่อนที่จ๊อกจะเล่าขั้นตอนการทำ mock up ที่สำคัญไม่แพ้ขั้นตอนอื่นๆ

ชายหนุ่มตรงหน้าบอกเราว่า ขั้นตอนการเรียนรู้เกิดจากการลองผิดลองถูกที่แท้จริง ก่อนจะเป็นรูปเล่มที่สวยงาม จ๊อกและทีมงานแผนกต่างๆ จะคิดและทดลองทำ mock up ขึ้นมาหลายๆ ครั้ง ปรับ เพิ่มและลดทอนแบบจากโจทย์เพื่อความเป็นไปได้ในการผลิตให้ลูกค้าเห็น ก่อนตัดสินใจผลิตจริง

หนึ่งตัวอย่างโจทย์ mock up สนุกๆ อย่างหนังสือที่ไม่ใช้อ่าน เพื่อใช้สำหรับการทำภาพประกอบโปสเตอร์งานสัปดาห์หนังสือ ออกมาเป็นหนังสือที่ตัดส่วนของขอบกระดาษเป็นขั้นบันได

“ช่วงที่หาวิธีทำงานชิ้นนี้อาจไม่สวยงามมาก แต่ก็ทำให้รู้ว่าเราทำอะไรได้บ้าง”

จากตัวอย่างการพิมพ์ปกหนังสือ ภูมิปัญญามูซาชิ ฉบับ ECLIPSE ของสำนักพิมพ์ openbooks ปกสีดำสนิท พิมพ์สีเมทัลลิกซ้ำทีละครั้ง จำนวน 4 ครั้ง ออกแบบและพัฒนาความคิดโดย สันติ ลอรัชวี และ ณัฐพล โรจนรัตนางกูร แห่ง Practical Design Studio จ๊อกบอกว่าทั้งหมดเกิดขึ้นได้เพราะทุกคนพร้อมใจที่จะทำ ทั้งช่างพิมพ์และลูกค้าที่รู้ความคาดหวังของตัวเอง ช่วยผลักดันให้โรงพิมพ์ภาพพิมพ์ไปไกลกว่าข้อจำกัดที่เคยมี

“ผลดีในระยะสั้นคือเพิ่มศักยภาพของเรา ผลดีระยะยาวคือดีกับธุรกิจของเรา”

และจากที่ได้เห็นหนังสือสวยๆ แบบในทุกวันนี้ ก็ยิ่งทำให้จ๊อกรู้สึกชอบการทำหนังสือมากขึ้นๆ เช่นเดียวกับงานพิมพ์ที่เขาชอบมากๆ อย่างการพิมพ์ปกหนังสือ หากค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่ง จากสำนักพิมพ์บทจร

“เป็นเล่มที่ธรรมดามากนะ เข้าเล่มสันกาว แต่งานพิมพ์ปกและงานปั๊ม งานพิมพ์ 4 สี CMYK ธรรมดา แต่สิ่งที่ออกมามันสมบูรณ์แบบมากเลย องค์ประกอบ ตำแหน่งการปั๊มจม ปั๊มนูน ในขนาดและจังหวะที่พอเหมาะ มิติของความนูนความจม ทุกอย่างเรียบง่ายแต่ออกมาเป็นหนังสือที่สวยมาก ดีไซน์จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่ใช่แค่เรา แต่เป็นคนที่คิดมาก่อนหน้านี้”

Finishing : จัดส่งหนังสือ

ถ้าคุณเคยได้ยินเรื่องราว แกร์ฮาร์ด ชไตเดิล เจ้าของสำนักพิมพ์และโรงพิมพ์ที่เก่าแก่และเลื่องชื่อในเยอรมนี นักทำหนังสือผู้ทุ่มเทจิตวิญญาณให้กับทุกกระบวนการสมบูรณ์แบบ บุคคลที่ผู้มีอิทธิพลทั่วโลกว่าจ้างให้ผลิตหนังสือสารพัดแนว คุณจะมองเห็นความตั้งใจของจ๊อก (อ่านเรื่อง ‘How to Make a Book With Steidl : ในโรงพิมพ์ของคนทำหนังสืออันดับต้นของโลก’)

แกร์ฮาร์ด ชไตเดิล เป็นแรงบันดาลใจให้เขาในแง่ความตั้งใจในการทำงาน

หากแต่ถ้าเป็นเรื่องความฝัน ที่จะพาโรงพิมพ์ภาพพิมพ์ไปถึงจุดที่เป็นโรงพิมพ์ที่ดีที่สุดในภูมิภาคนี้ จ๊อกบอกว่า วิธีการไปสู่เป้าหมายนั้นจำเป็นต้องทำในสิ่งที่แตกต่างจากที่เป็นอยู่ ซึ่งทุกวันนี้เขาไม่ได้วิ่งหาลูกค้ามากมาย ทุกอย่างเกิดขึ้นและเติบโตอย่างออร์แกนิก จากกระแสปากต่อปาก

จ๊อกเล่าว่า เขารู้สึกดีใจทุกครั้งที่ได้ทำบางโปรเจกต์ที่ดีและมีความต้องการเฉพาะ ช่วยเพิ่มความตั้งใจที่จะเป็นโรงพิมพ์ที่ดีและมีคุณธรรม ผลิตสิ่งพิมพ์ที่มีคุณภาพได้ตามความต้องการของลูกค้า

“ทุกวันนี้ ลูกค้าที่พบก็มีความต้องการแปลกๆ ท้าทายและสนุกไปอีกแบบ” จ๊อกหัวเราะ

“อะไรทำให้โรงพิมพ์ภาพพิมพ์เติบโตสวนทางกระแสที่บอกว่าสิ่งพิมพ์กำลังจะตาย” เราถาม

“ภาพรวมของตลาดสิ่งพิมพ์ประกอบด้วย หนังสือพิมพ์ นิตยสาร สิ่งพิมพ์ส่งเสริมการขาย และพ็อกเก็ตบุ๊ก ซึ่งสัดส่วนที่โรงพิมพ์เราเกี่ยวข้องคือพ็อกเก็ตบุ๊กและสิ่งพิมพ์ขององค์กร ดังนั้นจึงไม่ได้รับผลกระทบกับการปิดตัวลงของสื่อและนิตยสารมากนัก และต่อให้เราอยู่ในตลาดพ็อกเก็ตบุ๊ก เราก็ไม่ใช่โรงพิมพ์เจ้าใหญ่ เรายังไม่เคยพิมพ์หนังสือขายดีด้วยซ้ำ ไม่ใช่ว่าเราเก่งเราเลยไม่ได้รับผลกระทบ แต่เป็นเพราะเราโชคดีที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มส่วนใหญ่ของตลาด”

ได้ยินคำตอบของจ๊อกแล้ว ก็ทำให้เรารู้สึกอยากเดินเข้าร้านหนังสือในทันที หวังอุดหนุนให้สำนักพิมพ์อิสระเจ้าเล็กๆ ไต่อันดับขายดีบ้าง

นอกจากคุณภาพของงานที่ทำ อีกสิ่งที่จ๊อกเชื่อและผลักดันให้คนในทีมเชื่อเหมือนกันคือ เรื่องการบริการ เป็นให้มากกว่าผู้รับจ้างพิมพ์ แต่คือการที่ปรึกษาทั้งในแง่เทคนิคการผลิตและการจัดการต้นทุนที่มีความซื่อตรงต่อวิชาชีพ

“เป็นความภาคภูมิใจในแง่วิชาชีพว่าเราไม่ได้เป็นมือรอง ไม่ได้แย่กว่าคนอื่น เราพยายามทำให้เห็นเป็นรูปธรรม เพื่อที่ทีมงานจะรับรู้ว่าคุณภาพเป็นเรื่องสำคัญ ทำอย่างไรให้ดีขึ้น และแบบไหนที่ยอมรับไม่ได้”

สิ่งที่พ่อ ผู้เริ่มต้นก่อตั้งโรงพิมพ์สอนเสมอ คือเรื่องความซื่อสัตย์ เช่น คิดราคามาตรฐาน ไม่เปลี่ยนสเปกลูกค้าโดยไม่บอกลูกค้าก่อน ไม่เบี้ยวเงินใคร ไม่จ่ายเงินใครช้า

“โตมาแบบนี้ผมก็แฮปปี้ที่จะทำแบบนี้ บางทีก็เป็นมากกว่าพ่อด้วยซ้ำ เช่น บางงานพ่อบอกว่าก็แค่แก้ไขแล้วส่งไปใหม่ แต่ผมรู้สึกว่าไม่ได้ ผมไม่แก้ มันต้องทำใหม่เท่านั้น ซึ่งก็เป็นค่าใช้จ่ายมหาศาลนะ แต่สำหรับผม นี่คือขั้นกว่าของคำว่าซื่อสัตย์ ผมทำแล้วสบายใจนะ พอมันจบลงผมก็รู้สึกว่าไม่ติดหนี้ใคร”

ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภาพพิมพ์ พ.ศ. 2524

จากบริษัทผลิตแม่พิมพ์ส่งให้โรงพิมพ์ใน พ.ศ. 2423 ก่อนผนวกร่วมหุ้นกับโรงพิมพ์ กลายเป็น ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภาพพิมพ์ ที่มีที่มาจากคำว่า ‘ภาพ’ หรือเพลท รวมกับคำว่า ‘พิมพ์’ คุณพ่อธงชัยเล่าความรู้สึกที่ส่งไม้ต่อให้แก่จ๊อกว่า หลังจากที่เริ่มเห็นแววและความตั้งใจผ่านการทำงาน คุณพ่อก็ถามจ๊อกอย่างจริงจังว่าชอบสิ่งที่ทำอยู่แล้วใช่ไหม

“นอกจากสอนเรื่องความซื่อสัตย์ การบริการลูกค้า ที่ไม่ปิดบัง ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ส่วนไหนผิดก็ยอมรับผิด ไม่โกงลูกค้า ที่สำคัญคือเรื่องความตั้งใจในการทำงาน ถ้าทำในสิ่งที่เราชอบอย่างไรก็ทำได้ดี ส่วนเรื่องการตลาดผมไม่ห่วงเพราะเขามีเพื่อนอยู่ในวงการอยู่แล้ว เหมือนผมสมัยก่อน (หัวเราะ) เป็นการทำการตลาดแบบปากต่อปาก ซึ่งเขาก็ทำได้ดี

“ผมเริ่มต้นจาก 0 ดังนั้น จะบอกเขาเสมอว่า หากจะทำอะไรให้คิดให้ดี คิดหน้าคิดหลัง อย่าเสี่ยงมาก เพราะมีตัวอย่างให้เห็นมากมาย กิจการพ่อแม่ที่ทำมา 40 – 50 ปีต้องมาเป็นหนี้สินเพราะการทำงานของคนรุ่นลูก ลงทุนไปเยอะๆ แล้วผิดพลาด เรื่องการลงทุนของจ๊อก ครั้งแรกก็ยังไม่มั่นใจ 100% มันมีความเสี่ยง แต่เท่าที่เห็นความตั้งใจ คอยมาอธิบายว่าลงทุนอะไร ความเสี่ยงและผลลัพธ์เป็นอย่างไร มีหลักการแนวคิดอะไรมาสนับสนุน ซึ่งผมรู้สึกพอใจนะ

“ผมเข้าใจว่าคนรุ่นใหม่ต้องการการเห็นผลเร็วๆ กล้าได้กล้าเสีย เป็นเรื่องที่ดีแต่ว่าไม่ใช่กับการทำธุรกิจนะ ธุรกิจต้องคิดถึงความมั่นคง ทำอะไรอย่างมั่นใจ ทีละขั้นทีละตอน step by step” คุณพ่อธงชัยกล่าวทิ้งท้าย

www.parbpim.com

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan