เคยได้ยินมาว่าธุรกิจครอบครัวที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น เมื่อเดินทางมาถึงรุ่นที่ 3 จะเหลืออยู่รอดเพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น บวกกับการได้เห็นทางเลือกและทางรอดของคนรุ่นใหม่ที่หลากหลายกว่าการกลับไปสานต่อธุรกิจที่บ้าน ก็ทำให้เราอดไม่ได้ที่จะพยักหน้าเห็นด้วยตามนั้น

ในวันที่กรุงเทพฯ เพิ่งผ่านพ้นพายุฝนกระหน่ำ เรามีนัดกับ กานต์-อาจฤทธิ์ ประดิษฐบาทุกา ทายาทรุ่นที่ 4 ผู้เป็นหนึ่งในสิบเปอร์เซ็นต์นั้น

ทันทีที่เราเปิดประตูและเดินเข้าไปในร้านเซ่งชง บนถนนนครสวรรค์ ตำแหน่งที่ตั้งร้านแห่งใหม่ หลังจากเปิดทำการมาอย่างยาวนานกว่า 119 ปี บนถนนเจริญกรุง กลิ่นของหนังที่อบอวลไปทั่วร้าน เข้มข้นราวกับรวมเอาความตั้งใจของหลวงประดิษฐบาทุกา ช่างทำรองเท้าหลวงเมื่อสมัยรัชกาลที่ 6 คุณทวดผู้ก่อตั้งและทายาทที่ร่วมกันรักษา

รอหน่อยนะคะ” คุณแม่ของกานต์พูดพลางจัดแจงพื้นที่ที่ละลานตาไปด้วยวัสดุจากหนังนานาชนิดให้เรานั่งคอยคุณกานต์ซึ่งกำลังเดินทางมาจากการปฏิบัติหน้าที่ดูแลเครื่องทรงม้าทั้งหมดที่ใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9

ยังไม่ทันที่เราจะหายตื่นเต้นจากการได้เห็นเครื่องหนัง ทั้งรองเท้าเงาวับสุดคลาสสิก กระเป๋าทรงเก๋ เข็มขัดหลากสไตล์ และอุปกรณ์สำหรับขี่ม้า ที่กระจายอยู่ตามมุมต่างๆ ของร้าน คุณกานต์ก็เดินเข้ามา

เราสงสัยว่าอะไรที่ทำให้ว่าที่วิศวกรหนุ่มในวัย 20 ต้นๆ ที่กำลังจะได้ทำงานในสายงานที่เขาเรียนจบ ตัดสินใจรับช่วงกิจการซึ่งมีอายุกว่า 100 ปีต่อจากคุณปู่ แม้เขาจะย้ำว่าเป็นเพราะโชคชะตาและความบังเอิญ แต่บทสนทนาเคล้ากลิ่นหนังข้างล่างนี้ทำให้เราไม่อาจเทใจเชื่อทั้งหมด

ธุรกิจ: ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลเซ่งชง พ.ศ. 2439
ประเภทธุรกิจ: ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องหนัง
อายุ: 121 ปี
เจ้าของและผู้ก่อตั้ง: หลวงประดิษฐบาทุกา
ทายาทรุ่นที่สี่: นายอาจฤทธิ์ ประดิษฐบาทุกา, นายชยาศิส ประดิษฐบาทุกา

หนังภาคที่หนึ่ง : ลมหายใจของเครื่องหนังของคุณทวด

“ก่อนหน้านี้เราก็ไม่คิดว่าจะต้องมาทำ แม้ว่าคุณปู่จะพยายามปลูกฝังมาตั้งแต่อายุ 6 – 7 ขวบ จำได้ว่าได้รับมอบหมายให้ตรวจนับแผ่นหนังหนาๆ ที่ใช้ทำเข็มขัดเมื่อมีคนมาส่งที่บ้าน คอยนับว่าหนังมาทั้งหมดกี่มัด ครบตามจำนวนที่สั่งไหม พอนับเสร็จ ปู่ก็จะให้เงินช่วยทำงานครั้งละ 100 บาท” กานต์ย้อนความทรงจำวัยเด็กของเขาเกี่ยวกับร้านเซ่งชงในอดีต

ก่อนจะเล่าบรรยากาศของร้านเครื่องหนังร้านแรกๆ ในประเทศไทยที่มีคุณปู่ (ทายาทรุ่นที่ 2) ผู้สืบทอดการทำเครื่องหนังมาจากคุณทวดเป็นหัวเรือใหญ่ให้ฟังว่า คุณปู่เป็นคนรุ่นเก่าที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม สังเกตได้จากรองเท้าทรงโบราณที่มีอยู่เต็มร้าน และแนวคิดที่สืบทอดเจตนารมณ์ของคุณทวดเรื่องคุณภาพของสินค้าในร้าน

“มีอยู่ช่วงหนึ่งที่หนังเทียมหรือ PVC เข้ามาตีตลาดหนังแท้ และธุรกิจหนังส่วนใหญ่ก็พยายามปรับตัวด้วยเปลี่ยนไปใช้หนังเทียมแทน แต่คุณปู่ไม่ทำ ท่านยังยืนยันที่จะใช้แต่หนังแท้เท่านั้น เพราะคิดถึงความทนทานทำให้ทุกครั้งที่ลูกค้าคิดจะซื้อเครื่องหนัง เขาจะตรงมาที่นี่ ปู่จะสอนเสมอว่ากำไรไม่สำคัญเท่าชื่อเสียงและความเชื่อมั่นของลูกค้า เราเองก็ซึมซับจากสิ่งนี้”

ธุรกิจเครื่องหนังในยุคของคุณปู่ ดำเนินการอย่างราบรื่นผ่านกาลเวลา จนกระทั่งเวลาล่วงเลยไปถึงวันที่ความชรามาเยือนจนทำต่อไม่ไหว จึงปล่อยเซ่งชงให้กับพนักงานและช่างทำหนังดูแลกิจการ แม้จะเผชิญกับภาวะขาดทุนเรื่อยมา แต่จะไม่ยอมให้กิจการถูกปิดไปต่อหน้าต่อตาในขณะที่คุณปู่ยังมีชีวิตอยู่

ในเวลานั้น กานต์ว่าที่บัณฑิตวัย 20 ต้นๆ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ผูกพันกับร้านเครื่องหนังมาทั้งชีวิตจึงตัดสินใจเอ่ยปากต่อลมหายใจให้กับร้านเครื่องหนังสุดที่รักของคุณปู่ หลังจากที่เขาเห็นร้านมีภาวะสุญญากาศมานานถึง 10 ปี

หนังภาคที่สอง : อยู่ที่เรียนรู้ อยู่ที่ยอมรับมัน

หลังจากการตัดสินใจรับภาระอันยิ่งใหญ่ บัณฑิตวิศวกรรมอุตสาหการก็จัดการเปลี่ยนแปลงร้าน โดยเริ่มจากการขายเครื่องหนังค้างสต็อกทั้งหมดเพื่อนำเงินจำนวนนั้นมานับหนึ่งใหม่

ตอนนั้นผมไปดูหนังเรื่อง มหา’ลัยเหมืองแร่ ชีวิตพระเอกในเรื่องที่มีเงินติดตัววันแรกและวันสุดท้ายเท่าเดิม คือไม่มีเงินเก็บสักบาท แต่เสียเวลาไปถึง 4 ปี ผมก็คิดว่าถ้าเกิดเราทำ 4 ปีแล้วเจ๊ง เราจะเป็นยังไง ผมคิดอย่างงั้นเลย แม้จะกลัวๆ กล้าๆ แต่ผมก็ขอลอง” กานต์เล่าย้อนไปถึงช่วงที่เป็นเด็กจบใหม่ที่ทำให้เขากล้าได้กล้าเสีย

ความยากคือเราไม่รู้อะไรเลย มีแต่ความคาดหวังที่ผู้ใหญ่ส่งมาว่าเราจะทำแล้วรอดไหม ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจว่ามันจะรอดหรือเปล่าด้วย แต่ก็พยายามเรียนรู้กับคนยุคเก่าให้มากที่สุด ทั้งจากช่างของร้าน จากพนักงานที่เห็นเรามาตั้งแต่เด็กๆ จากการสืบค้นข้อมูลต่างๆ ด้วยตัวเอง เรียนรู้ว่าหนังมีกี่ประเภท มีวิธีการคัดเลือกยังไง หนังที่ดีเป็นยังไง ก่อนหน้านี้เย็บด้วยมือไม่เป็นก็ต้องหัดเย็บให้ได้” กานต์เล่าถึงหลักสูตรเรียนรู้กระบวนการสืบทอดร้านตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ จากผู้รู้ในวงการและการปรึกษาครอบครัว ซึ่งภายหลังพี่ชายก็ตัดสินใจมาช่วยกันด้วย กานต์เล่าว่าทั้งหมดนี้เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผ่านการทำผิดๆ ถูกๆ เยอะมากกว่าที่คิดไว้

นอกจากพนักงานและช่างเครื่องหนังมากประสบการณ์จะทำหน้าที่เป็นครูให้กับเขาในช่วงที่ธุรกิจเปลี่ยนผ่าน ขณะเดียวกันเขาเองก็ต้องดูแลและบริหารกิจการ ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่ท้าทายผู้ประกอบการรุ่นใหม่เสมอมา เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่คนรุ่นใหม่อย่างเขาต้องบริหารคนรุ่นพ่อรุ่นแม่

ตอนแรกเขาจะไม่ฟังเราเลย เพราะเขาเชื่อว่าทำอย่างนี้มายี่สิบกว่าปีแล้ว เราก็ทำอะไรไม่ได้ แต่เราต้องสื่อสาร ทำให้เขาเห็นว่ามันต้องเปลี่ยนแล้วนะ เราก็พยายามอธิบายกับช่างว่า ขอปรับตรงนี้นิดหน่อย เพราะมันไม่ได้จริงๆ รวมกับความเห็นจากลูกค้าด้วย ช่างเก่าๆ เขาก็จะเริ่มฟัง” กานต์ไม่เพียงการหาเหตุผลเพื่อมาเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนในร้าน แต่เขายังต้องหาเหตุผลมาเพื่อหักล้างความเชื่อเดิมๆ ที่มีอยู่ในตัวเองด้วย

เราเป็นวิศวกรที่มาอยู่ในวงการแฟชั่น เราก็จะมีชุดความคิดบางอย่างจากวิศวกรรมอุตสาหการ เช่น การลดต้นทุน ตอนแรกผมไม่เข้าใจว่าทำไมรองเท้าต้องสต็อกเยอะขนาดนี้ เราต้องลดสต็อกสิ เพราะเราเรียนมาว่าสต็อกคือความสูญเสีย พอมาใช้ชีวิตจริงมันไม่ใช่ บางทีเราจำเป็นต้องมีสต็อกเพื่อให้มีของขายตลอด จะได้ไม่เสียโอกาส

เรื่องความสวยงาม เมื่อก่อนเราก็คิดว่าเลือกหนังถูกๆ ก็ได้ แต่บางทีทำออกมาแล้วมันไม่สวยเลย คือหนังมันจะมีการคัดเลือก แบ่งเป็นเกรดเอ บี ซี แล้วก็พ่นสี หนังที่ดีคือหนังที่ไม่มีแผล ผิวจะเนียน หนังเกรดไม่ดีคือมันจะมีรอย มีแผล ซึ่งเขาก็จะหาวิธีมาทำให้มันดี คือพ่นสีหนาๆ ทับให้มองไม่เห็น คนซื้ออาจดูไม่รู้หรอก แต่เรารู้ เราก็ไม่ทำ”

ความไฟแรงของกานต์ผลักดันให้เขากล้าฝ่าฟันกับปัญหาที่เข้ามา ในขณะเดียวกันก็เป็นอัตตาชั้นดีที่เขาค้นพบจากการได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคลัสเตอร์เครื่องหนัง หรือกลุ่มผู้ประกอบการเครื่องหนังตั้งแต่ต้นน้ำอย่างกลุ่มธุรกิจฟอกหนัง ไปจนถึงปลายน้ำอย่างผู้จัดจำหน่ายเครื่องหนังทุกประเภท

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเราเป็นผู้ประกอบการที่เด็กที่สุดในกลุ่ม เราก็คิดว่าเราแน่ที่สุด เรานี่มันเก่งที่สุด ซึ่งในความจริงแล้วจริงๆ เราไม่ได้เก่งกาจขนาดนั้น ความคิดเราเด็กมาก เด็กก็คือจะลุยอย่างเดียว ถึงขนาดที่คิดว่าเราเก่งกว่าผู้ใหญ่ เวลาผ่านไปเราพบว่าผู้ใหญ่ทุกคนในกลุ่มประสบการณ์เขาสูงกว่าเรามาก เขาผ่านร้อนผ่านหนาวมามากกว่าเราไม่รู้เท่าไหร่ จากนั้นเราก็ได้เรียนรู้อะไรจากเขามามากมาย ช่วงที่ทำรองเท้าแบบใหม่ ถ้าใส่ไม่สบาย ผมก็จะหิ้วไปถามเขา เขาก็ยินดีสอน”

หนังภาคที่สาม : อดทนเก็บความในใจ

ระหว่างที่กานต์พาเราเดินชมเครื่องหนังในร้าน ไล่เรียงตั้งแต่รองเท้าหนังราคาย่อมเยาที่ไม่มีวัสดุ PVC ซึ่งไม่ระบายความร้อนและไม่ซับเหงื่อเจือปน เราแอบสังเกตเห็นว่ารองเท้าหนังผู้ชายในร้านนั้นมีตั้งแต่ขนาดจิ๋วไปจนถึงขนาดใหญ่กว่ามาตรฐานทั่วไป ทั้งยังเห็นทรงรองเท้าหนังคลาสสิกมากมายวางตั้งอยู่

เรื่องแบบทรงของรองเท้าเราปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยขึ้น เช่น มีแบบทรงที่หัวแหลมขึ้นมาหน่อย มีดีไซน์ขึ้นมาบ้าง แต่เมื่อทดลองตลาดจริงแล้วปรากฏว่าไม่ได้ผลตอบรับที่ดี จึงต้องยังคงรักษาแบบทรงหัวตัดเอาไว้ เป็นการเรียนรู้ผ่านการทำงานจริงๆ มาตลอด” กานต์เล่าเสริมเรื่องแบบทรงและความนิยมของทรงเก่าๆ อย่างรองเท้าทรงหน้ากากและทรงโลตัส ที่ใครเห็นเป็นต้องคุ้นเคย เพราะพวกเราล้วนจดจำได้ว่าเป็นคู่โปรดของคุณปู่ในสมัยหนุ่ม

เราถามกานต์ถึงความพิเศษเล็กๆ ของรองเท้าเซ่งชงที่เขาภูมิใจ ซึ่งนอกจากวัสดุชั้นดีที่สืบทอดและรักษาความตั้งใจของบรรพบุรุษ หัวใจของการบริการที่คิดถึงลูกค้าเป็นสำคัญก็ทำให้เราอดยิ้มตามไม่ได้

เป็นความตั้งใจของร้านเราว่า ทุกคนที่มาตามหารองเท้าที่นี้ต้องมีรองเท้าใส่กลับไป” ถ้าเป็นร้านทั่วไปรองเท้าเบอร์ใหญ่สุดอาจจะอยู่ที่เบอร์ 45 แต่ที่ร้านเซ่งชงกานต์บอกว่ามีถึงเบอร์ 51 หรือแม้กระทั้งเบอร์เล็กที่สุดอย่างเบอร์ 36 ก็หาได้ที่ร้านเซ่งชง

อีกหนึ่งความพิเศษของรองเท้าเซ่งชงคือ พื้นรองเท้า โดยกานต์ตัดสินใจไม่เลือกใช้แบบทรงสำเร็จรูปยอดนิยม แต่จะเลือกใช้ของโรงงานที่เทพื้นร้องเท้าแยกต่างหาก ซึ่งมีข้อดีคือทำให้พื้นรองเท้าแข็งแรงและทนทาน แม้จะทำให้ต้นทุนต่อคู่มีราคาสูงขึ้น

เรื่องงานออกแบบ เราให้อิสระกับช่างทุกคนในการทำงาน แต่ทรงไหนที่ไปลอกเลียนแบบเขา แม้จะนิดๆ หน่อยๆ เราจะไม่ยอม” ร้านเซ่งชงในยุคสมัยของกานต์อาจจะให้อิสระกับช่างออกแบบเต็มที่ แต่ก็มีข้อจำกัดและมีกฎที่เขาตั้งไว้เพื่อรักษาความเชื่อมั่นของร้านตามที่คุณปู่สอน

ที่บนชั้นสองของร้านเต็มไปด้วยอุปกรณ์ขี่ม้าเรียงรายและอัดแน่นจนพวกเราตื่นเต้นไปหมด ของไม่คุ้นตาอย่างอานหนังที่นั่งขี่ม้า อุปกรณ์ขี่ม้า ไปจนถึงรองเท้าบู๊ทคุณภาพดี เป็นอีกกลุ่มสินค้าที่ฟื้นชีวิตชีวาให้กับเซ่งชงในยุคสมัยนี้ไม่แพ้รองเท้า กระเป๋า และเข็มขัดหนัง คุณภาพดีข้ามยุคสมัย ซึ่งหลักเกณฑ์ในการเลือกสรรและผลิตสินค้าของเซ่งชงที่มีมาอย่างยาวนานก็คือ ความต้องการของลูกค้า

ร้านเราเป็นร้านทำเครื่องหนังที่รับทำทุกอย่างที่ทำจากหนัง ส่วนใหญ่จะเริ่มจากมีคนมาหาถามว่ามีสิ่งนี้ มีสิ่งนั้นขายหรือเปล่า ซึ่งเมื่อมีคำถามนี้หลายๆ ครั้งเข้า เราก็จะหามาให้ เช่นเดียวกับอุปกรณ์ขี่ม้าทุกชิ้นในร้านที่เริ่มจากคำถามและความต้องการใช้งานของลูกค้าเป็นหลัก”

ก่อนบทสนทนาจะจบลง เราถามถึงสิ่งที่กานต์ภาคภูมิใจที่สุดของการรับช่วงต่อดูแลกิจการที่สืบต่อกันมาถึง 5 แผ่นดิน ไม่ใช่เพราะแสงสะท้อนของบรรยากาศช่วงหลังฝนตกแน่ๆ ที่ทำให้เขาตาเป็นประกายเมื่อได้ยินคำถามนี้ กานต์รีบผายมือไปยังเครื่องทรงม้าพระที่นั่งที่ใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พร้อมพูดเสียงเบาๆ แต่หนักแน่นว่า

อันนี้เลย ที่สุดในชีวิตแล้ว”

น้อยคนนักที่จะรู้ว่ากานต์และทีมงานของร้านเซ่งชงคือผู้อยู่เบื้องหลังการประยุกต์เครื่องทรงม้าโบราณทั้งหมด เราเองก็เพิ่งรู้ในวันที่ติดต่อขอสัมภาษณ์เขาครั้งแรก เขาจึงปฏิเสธเราในตอนนั้น เพราะกำลังยุ่งกับการจัดเตรียม จนกระทั่งในวันที่ได้พบและพูดคุยกับเขา เขาก็ยังไม่ขอเล่ารายละเอียดมาก เพราะเชื่อและบอกตัวเองเสมอว่าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ในงานสำคัญ สิ่งที่เขาทำได้ไม่ใช่การบอกเล่าเรื่องนี้ แต่เป็นการตั้งใจทำเครื่องหนังของเขา คุณปู่ และคุณทวด ให้ดีที่สุดเท่านั้น

ก็เหมือนกับตอนที่เราย้อนถามเขาถึงบรรยากาศของร้านเครื่องหนังร้านแรกของประเทศ เพียงเพราะหวังว่าจะได้ยินเรื่องราวยิ่งใหญ่ นั่นยิ่งที่ให้เราได้เห็นว่า หนึ่งในภูมิปัญญาที่ล้ำค่าอย่างศาสตร์ความรู้เรื่องเครื่องหนังที่มีกว่า 120 ปี นั้นมีความอ่อนน้อมถ่อมตนและการรักษาความเชื่อในสิ่งที่ทำเป็นสำคัญ

Facebook l เซ่งชง เครื่องหนัง

ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลเซ่งชง พ.ศ. 2439

เพราะเห็นว่าคุณแม่ของกานต์แอบมาร่วมฟังระหว่างการพูดคุยอยู่เป็นระยะ เราจึงถือโอกาสนี้พูดคุยกับคุณแม่ด้วย คุณแม่เล่าว่า ก่อนที่กานต์จะเข้ามาทำ เซ่งชงเป็นร้านเรื่องหนังเก่าๆ ไม่มีสินค้าใหม่ในร้านและปล่อยให้ลูกจ้างดูแลกันเองในทุกส่วน เพราะคุณแม่มีงานประจำที่ต้องรับผิดชอบ

เราเป็นมนุษย์เงินเดือน แม่เป็นครู พ่อเป็นทหาร เราก็ไม่อยากให้ลูกทำ เพราะไม่รู้ว่าเขาจะทำได้ยังไง เราไม่แน่ใจในศักยภาพของเขา แต่พอเขาทำแล้วมันดีขึ้น เราก็ยินดีและภูมิใจกับเขา ดีใจที่บรรพบุรุษได้ให้อาชีพกับลูกโดยที่เราไม่คาดฝันว่าเขาจะมาทำตรงนี้ และแม้เราจะไม่ได้ชื่อว่าเข้ามาทำงานที่นี่เต็มตัว แต่เราก็เป็นเหมือนแม่คนอื่นๆ นั่นคือไม่ว่าลูกจะทำอะไร เราก็จะช่วยสนับสนุนเขา” คุณแม่กล่าวทิ้งทาย ก่อนจะชี้ชวนให้ดูภาพถ่ายเครื่องทรงม้าพระที่นั่งสำหรับพระราชพิธีสำคัญ พร้อมอธิบายแบบทรงตามรูปแบบประเพณีโบราณ

Writer

Avatar

นันท์นภัส พลเศรษฐเลิศ

เด็กฝึกงานที่กำลังรอรับปริญญา ใช้ชีวิตไปมาๆระหว่างกรุงเทพฯ-ศรีสะเกษ รักการอยู่บ้าน พอๆกับการอยู่นอกบ้าน ยังไม่ชัดว่าจะได้ประกอบอาชีพอะไร แต่ตั้งใจจะหัดขีดเขียนให้ดี

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ