หลักใหญ่ใจความสำคัญของธุรกิจเพื่อสังคม ไม่ใช่เรื่องปลายทางว่าผลจากรายได้จะกระจายสู่สังคมและผู้ด้อยโอกาสเท่าไหร่ แต่เป็นโจทย์ตั้งต้นของการเริ่มกิจการ โจทย์ที่มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยที่มีการดำเนินงานอย่างธุรกิจ มีสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์จนเกิดกลไกตลาดที่ควรจะเป็น

ในวันที่ ศ. นพ.เทพ หิมะทองคำ เริ่มก่อตั้งโรงพยาบาลเทพธารินทร์ โรงพยาบาลเฉพาะทางโรคเบาหวาน จากโจทย์เล็กๆ ในใจที่อยากทำเรื่องการดูแลรักษาโรคเบาหวานแบบเป็นทีม และในเมื่อไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นในหน่วยงานภาครัฐได้ เขาก็ขอเริ่มทำในสิ่งที่เชื่อและอยากเห็นด้วยตัวเอง

โรงพยาบาลเทพธารินทร์ในวันนี้เป็นมากกว่าโรงพยาบาลเฉพาะทางเรื่องโรคเบาหวานและไทรอยด์ เพราะที่นี่เชื่อว่ามากกว่าหัวใจของการรักษาคือความสำคัญของการป้องกันโรค ทุกส่วนในโรงพยาบาลได้รับคิดมาอย่างดีเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและความเข้าใจในโรค ข้อมูลการรักษาทางการแพทย์ที่เคยดูเป็นของขมๆ กลับสนุกสนานขึ้นทันตา

จะมีโรงพยาบาลสักกี่แห่งในประเทศนี้ ที่อยากให้คุณสุขภาพร่างกายแข็งแรงเพื่อไม่ต้องกลับมาเป็นลูกค้าของโรงพยาบาล

หากมองจากขนาดของกิจการและผลประกอบการทางตัวเลข โรงพยาบาลเทพธารินทร์ในยุคแรกอาจไม่เข้าข่ายคำจำกัดความของกิจการเพื่อสังคมซะทีเดียว แต่หากมองจากโจทย์เริ่มต้นที่อยากแก้ไขปัญหาการรักษาโรคเบาหวาน เราก็ขอทดเรียกไว้ในใจว่าโรงพยาบาลแห่งนี้ว่ากิจการเพื่อสังคม

จะว่าไปถ้าคุณได้อ่านเรื่องราวด้านล่างแล้วเห็นตรงกันจะใช้วิธีการทดไว้ในใจด้วยก็ได้นะ เรายินดี

ทายาทรุ่นสองในตอนนี้ จึงมีชื่อเรียกเล่นๆ ว่า ทายาทรุ่นสองของกิจการเพื่อสังคมที่สืบทอดกิจการด้วยกิจการเพื่อสังคม

มาดูกันว่าแล้วทายาทรุ่นสองที่ไม่ใช่หมอจะสืบทอดกิจการโรงพยาบาลอย่างไร

ธุรกิจ : โรงพยาบาลเทพธารินทร์ (พ.ศ. 2528)
ประเภทธุรกิจ : โรงพยาบาล
อายุ : 32 ปี
เจ้าของและผู้ก่อตั้ง : ศ. นพ.เทพ หิมะทองคำ, จิตราภา หิมะทองคำ
ทายาทรุ่นที่สอง : ธัญญา วรรณพฤกษ์,  ธารินทร์ หิมะทองคำ

โรงพยาบาลเทพธารินทร์ พ.ศ. ๒๕๒๘

โดยทั่วไปของธุรกิจเอกชนจะเริ่มต้นจากการเห็นช่องว่าของตลาดและการคิดถึงผลกำไรเป็นที่ตั้ง

แต่สำหรับที่นี่ โจทย์ของการเริ่มต้นโรงพยาบาลเทพธารินทร์เมื่อ 32 ปีก่อน คือการทำเรื่องการดูแลรักษาโรคเบาหวานแบบเป็นทีม เพราะเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ได้รับจากสหรัฐอเมริกา ทั้งจากการเรียน Liberal Art จาก University of California, Berkeley ปริญญาแพทยศาสตร์จาก University of Wisconsin-Madison และการฝึกฝนด้านอายุรกรรมต่อมไร้ท่อจากหน่วยงานของ Harvard University ก่อนกลับมาเป็นอาจารย์แพทย์เฉพาะทางเรื่องต่อมไร้ท่อที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อผลักดันให้เกิดงานวิจัยเรื่องฮอร์โมนและต่อมไร้ท่อในประเทศไทย ก่อนที่จะศึกษาเรื่องโรคเบาหวานอย่างจริงจังในเวลาต่อมา

“โรคเบาหวานเป็นเรื่องของฮอร์โมน ในตอนนั้นเราไม่สามารถทำอะไรได้ในโรงเรียนแพทย์ เพราะการศึกษาเรื่องเบาหวานอย่างรอบด้านต้องใช้บุคลากรสหสาขาวิชาชีพมาช่วย เพราะมีทั้งเรื่องของอาหาร การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เรื่องการดูแลเท้า เป็นการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม เป็นสาเหตุให้ผมลาออกมาสร้างโรงพยาบาลแห่งนี้ เพราะอยากจะเห็นการดูแลโรคเบาหวานในประเทศไทยให้ได้มาตรฐาน เราเริ่มจากสร้างบุคลากรใหม่ขึ้นมาแม้ว่า demand supply หรือความต้องการของผู้ป่วยและแพทย์ยังมีไม่มากในยุคนั้น ทั้งแพทย์จากต่างประเทศ พยาบาล โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญเรื่องเท้าจากโรงพยาบาลโรคเรื้อนที่ได้รับการฝึกฝนจากต่างประเทศ” คุณหมอผู้ก่อตั้งเล่าถึงกระบวนการแรกเริ่มในวันที่ความเข้าใจเรื่องการรักษาโรคเฉพาะทางนี้ยังจำกัด

หนึ่งในโจทย์สำคัญของโรงพยาบาลเทพธารินทร์ คือรักษาให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานไม่ต้องลงเอยด้วยการตัดขา คุณหมอเทพจึงกลับไปศึกษาเรื่องนี้ที่สหรัฐอเมริกาเพราะที่นั่นมีแพทย์เฉพาะทางเรื่องเท้า จนพบว่าปัจจัยสำคัญคือการทำงานร่วมกันระหว่างหมอเท้าและหมอด้านเส้นเลือด องค์ความรู้นี้ถือเป็นปัจจัยความสำเร็จเรื่องหนึ่งของโรงพยาบาล จากเดิมถ้าผู้ป่วยโรคเบาหวานมีแผลที่เท้าจะต้องลงเอยที่แผนกศัลยกรรมเท่านั้น

จากความสำเร็จในครั้งนั้น สร้างแรงบันดาลใจให้คุณหมอและทีมแพทย์สหสาขายังคงศึกษาและพัฒนาความรู้และถ่ายทอดอยู่เสมอ ซึ่งการดูแลรักษาโรคเบาหวานแบบเป็นทีม ประกอบด้วยแพทย์เบาหวาน วิทยากรเบาหวาน จักษุแพทย์ อายุรแพทย์โรคไต อายุรแพทย์ระบบประสาท ทันตแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเท้า พยาบาล เภสัชกร ผู้ช่วยแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกกำลังกาย นักกำหนดอาหาร และทีมงานคนสำคัญที่สุดคือตัวคนไข้เอง

Dream A Little Dream of Me

เราถามธัญญาถึงความทรงจำของเธอเกี่ยวกับโรงพยาบาลและงานของพ่อ เธอบอกเราว่าแสนธรรมดาไม่พิเศษเกินที่ใครจะคาดเดา ภาพจำของการนั่งรอคอยพ่อตามวอร์ดของโรงพยาบาลหนึ่งก่อนจะไปโรงเรียน วันสุดสัปดาห์อยู่ตาม OPD ของอีกโรงพยาบาลหนึ่ง หรือคลินิกตามชุมชน จนอายุ 11 ปีที่ครอบครัวย้ายบ้านมาอยู่บนโรงพยาบาลแห่งนี้ 24 ชั่วโมง

“เราเรียนจบช่วงวิกฤตเศรษฐกิจพอดี และมีโอกาสเริ่มงานแรกในสายงานที่ปรึกษา เงินเดือนตอนนั้นเยอะกว่าผู้จัดการโรงพยาบาลไม่รู้กี่เท่า แต่ด้วยวัฒนธรรมการทำงานที่ไม่ตอบโจทย์จึงตัดสินใจมาช่วยงานที่บ้าน”

ขณะที่ธารินทร์เป็นอดีตนักเรียนเตรียมแพทย์ (pre-med) สนุกและหลงใหลไปกับทฤษฎีในวิชาเศรษฐศาสตร์จึงเลือกเดินทางสายการเงินก่อนจะมาช่วยดูแลในส่วนการเงินและการลงทุน เป็นทีมสนับสนุนสำคัญที่ช่วยให้โรงพยาบาลดำเนินไปด้วยดีในฐานะการเป็นกิจการไปพร้อมๆ กับเจตนารมณ์ของพ่อในส่วนงานที่ไม่สร้างรายได้

“ก่อนหน้านี้ผมเคยฝึกงานอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผมก็คิดว่าวันหนึ่งจะพาโรงพยาบาลเราเข้าระดมทุนในตลาดทุน แต่เมื่อมาสัมผัสโครงสร้างธุรกิจโรงพยาบาลจริงๆ เราพบว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแข่งขันกับโรงพยาบาลอื่นๆ ที่มีอัตราการเติบโตอยู่ตลอดซึ่งเรารู้ตัวว่าเราไม่ใช่ ถ้าคุณจะแสวงหากำไรสูงสุดมันแปลว่ามีใครต้องเสียประโยชน์ และนอกจากกิจการทั่วไปแล้วโรงพยาบาลเรามีเป้าหมายอื่นๆ ด้วย ในวันที่รับผิดชอบหน้าที่บริหารตรงนี้ผมก็รับนโยบายของพ่อมาด้วยและเราก็เห็นตรงกันมากๆ ต่อให้โรงพยาบาลเราไม่คำนึงถึงผลกำไรสูงสุด แต่ผมก็ต้องทำให้พอมีกำไรเพื่อนำส่วนนั้นลงทุนในโครงการหรือสิ่งที่โรงพยาบาลอยากทำแม้ไม่สร้างผลกำไรได้”

Your Sugar. Yes, please

เราถามถึงการแบ่งงานกันทำระหว่างคุณหมอผู้ก่อตั้งและทายาททั้งสอง ที่แม้จะไม่ได้เป็นแพทย์แต่ใช้ความเชี่ยวชาญของตัวเองบริหารงานและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อสานต่อความตั้งใจ ผ่านงานสื่อสารของธัญญาและงานบริหารจัดการระบบการเงินของธารินทร์

ขณะที่คุณหมอเทพยังคงทำงานเชิงนโยบายร่วมกับหน่วยงานระดับชาติเพื่อผลักดันให้ทุกสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพตระหนักและเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพ เช่น การทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อบรมบุคลากรกว่า 2,000 คนจากทั่วประเทศ เพิ่มโอกาสการรักษาเท้าไว้ถึง 80% ทั้งยังได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยให้ร่วมพัฒนาหลักสูตรเรื่องโภชนาการและผลิตนักกำหนดอาหารรุ่นใหม่

หนึ่งในผลงานที่ทายาทรุ่นที่หนึ่งภูมิใจคือ การได้รับทุนจาก World Diabetes Foundation (WDF) จากประเทศเดนมาร์ก สนับสนุนการเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องเท้าและสหสาขาวิชาชีพไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 24 แห่งทั่วประเทศไทย

“จากแต่ก่อนที่ต้องรอให้เป็นโรคเบาหวานก่อนค่อยมารักษา เมื่อมาถึงปัจจุบันเราอยากให้คนหันมาใส่ใจป้องกันมากขึ้นซึ่งเป็นหน้าที่ของการสื่อสารเป็นหลัก แต่ถ้าจะมีข้อมูลที่สื่อสารมากมายขนาดนี้เราก็คงต้องมีทีมทำงานสื่อสารจริงจังของตัวเอง” ธัญญาเล่าที่มาของการทำงานในยุคการบริหารของเธอ

สิ่งที่แตกต่างชัดเจนจากกรบริหารงานในรุ่นหนึ่งคือ โรงพยาบาลมีทีมงานเยอะขึ้น ทั้งทีมกิจกรรม ทีมสื่อสาร ขององค์กรที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ และด้วยตำแหน่งผู้บริหาร เราสงสัยว่าทำไมธัญญาจึงต้องลงมือดูแลส่วนสื่อสารและกิจกรรมส่งเสริมการรักษาและป้องกันโรคทั้งหมดด้วยตัวเอง

“จริงๆ เราคิดว่าก็คงเพราะเราชอบด้วยไม่งั้นคงทำไม่ได้หรอก อีกส่วนหนึ่งคือถ้าไม่ใช่เราทำแล้วใครจะทำ เนื้อหาเหล่านี้เราซึมซับมาตั้งแต่เด็ก อยู่ในการประชุมงาน อยู่ในงานเขียนที่ทำอยู่เสมอ เราเองเข้าใจธรรมชาติของคนทำงานสร้างสรรค์และคนทำงานฝั่งเนื้อหาข้อมูล

“ทุกสิ่งที่ทำเป็นไปตามนโยบายในงานวิจัยนะ เริ่มจากมีทีมงานเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน ก่อนจะค่อยๆ ขยายงานที่ไม่ใช่แค่เรื่องเบาหวานอย่างเดียว ทำอาคารที่ชื่อว่าไลฟ์สไตล์ เพื่อให้เกิด lifestyle promotion บูรณาการมากกว่าที่จะเป็นแค่สถานพยาบาลโดยเนื้อหาทั้งหมดมาจากข้อมูลทางการแพทย์ และอาคาร lifestyle ไม่ใช่ศูนย์ศูนย์หนึ่งที่ดูแลสุขภาพกายใจ แต่มันคือพื้นที่ที่ประกอบกันทั้งอาคารที่ประกอบกันให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็นทางเดินบันได คุณเข้ามาในเทพธารินทร์ไม่ต้องเสียเวลาป้องกันเบาหวานเพราะทุกอิริยาบถจากส่วนต่างๆ ในโรงพยาบาลช่วยป้องกันเบาหวานได้โดยไม่รู้ตัว”

ธัญญาบอกว่ารูปแบบสื่อที่หลากหลายในโรงพยาบาลเกิดจากการค่อยๆ คิด ค่อยๆ เรียนรู้ของทีมงานที่แม้ไม่ได้มีพื้นฐานด้านสื่อมาก่อนแต่มีใจรักและรู้จักใฝ่หาข้อมูลพัฒนาจนออกมาเป็นสื่อทั้งรายการทีวี ภาพยนตร์แอนิเมชันให้ความรู้ กราฟิกเพื่อการสื่อสารข้อมูล และด้วยอุปกรณ์เครื่องมือและทักษะด้านการทำสื่อที่ครบครันของฝ่ายงาน นอกจากงานภายในแล้วยังสร้างรายได้จากการรับผลิตสื่อสำหรับเนื้อหาลักษณะนี้ให้กับหน่วยงานภายนอกด้วย

“แต่ก่อนเบาหวานคือเรื่องน้ำตาลในเลือด เดี๋ยวนี้เบาหวานคือความดัน ไขมัน หัวใจ อัมพาต เส้นเลือดในสมอง สิ่งที่ป้องกันได้คือเรื่องรู้จักการดำเนินชีวิต อารมณ์ จิตใจ ถ้าถามว่าเราจะพาโรงพยาบาลไปถึงจุดไหน มองในระยะใกล้ๆ เราอยากแค่ทำไอเดียที่มีทั้งหมดให้เป็นจริง”

“เราค่อยๆ เปลี่ยนไปไม่เหมือนโรงพยาบาลเข้าทุกที ทุกที” คุณหมอเทพกล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ

โรงพยาบาลที่เน้นการป้องกันโรคโดยไม่กลัวว่าเมื่อคนแข็งแรงแล้วเขาจะไม่กลับมารักษาโรค

โรงพยาบาลที่สนับสนุนให้คนไข้เล่าเรื่องส่วนตัวให้หมอฟัง

“โดยปกติของการรักษา ผู้ป่วยเรามักจะมุ่งรักษากับหมอเฉพาะทางที่เก่งที่สุดโดยขาดหมอที่ปรึกษา ที่นี่สนับสนุนให้หมอดูแลมากกว่าอวัยวะ และสนับสนุนให้คนใช้มีหมอประจำตัวที่จะรู้ตื้นลึกหน้าบางเรื่องส่วนตัวคนไข้ซึ่งส่งผลต่อร่างกายและจิตใจที่แท้จริงก่อนให้คำปรึกษาเรื่องการรักษาเมื่อจำเป็นต้องใช้แพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะ” ธัญญาเล่าถึงความตั้งใจของบริการรักษา ก่อนจะทิ้งท้ายถึงโปรเจกต์กิจการเพื่อสังคมของเธอ

กิจการเพื่อสังคม ‘NCD Buster’ หรือมือปราบโรค Noncommunicable diseases (NCDs) กลุ่มโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบัน เพื่อให้กลุ่มคนทำงานตระหนักถึงความเสี่ยงของการละเลยสุขภาพ ด้วยวิธีการนำเสนอโปรแกรมดูแลสุขภาพที่จัดทำให้เหมาะกับแต่ละบริษัท ขณะเดียวกันก็แบ่งกำไรส่วนหนึ่งไปจัดโปรแกรมตรวจสุขภาพให้ชุมชนที่อยู่ห่างไกล

“สิ่งหนึ่งที่รวมทุกคนในครอบครัวได้เพราะเราเชื่อในสิ่งที่เรากำลังทำเหมือนกัน เราเชื่อในการทำเพื่อสังคม และอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราอยู่ได้คือการยอมรับตัวตนที่แตกต่างกัน” ธัญญากล่าวสั้น พร้อมทั้งยิ้มหวานๆ ให้เรา

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan