แรกเริ่มเดิมทีเราทำคอลัมน์ทายาทรุ่นสอง เพราะคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ค้นหากิจการเก่าแก่ที่เหล่าทายาทรุ่นสอง สาม สี่ ร่วมแรงร่วมใจให้ธุรกิจของครอบครัวยังอยู่ได้อย่างกิ๋บเก๋ในยุคสมัยใหม่นี้

แต่ยิ่งค้นหา เรายิ่งสนุกกับเรื่องราวของทายาทกิจการที่ไม่เหมือนกันเลยสักนิดแม้แต่กิจการเดียว

ครั้งแรกที่เราฟังเรื่องราวของทายาทรุ่นสองของบริษัทให้บริการเช่าอุปกรณ์ กล้อง ไฟ กริ๊ป (Equipment Rental House) ถ่ายหนัง ผู้มีความใฝ่ฝันทำงานสายเบื้องหลังภาพยนตร์เช่นเดียวกับพ่อของเขา แต่เมื่อผู้เป็นพ่อถือคำขาดไม่ยินยอมให้เลือกเดินทางในสายอาชีพนี้เพราะเห็นว่าเป็นอาชีพที่เหนื่อยกายและใจ จึงทำตามฝันของพ่อด้วยการเรียนจบวิชาเทคโนโลยีการบินจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งระหว่างทางก็เรียนรู้การทำหนังสั้นและตัดต่อกับเพื่อนจนชนะการประกวดหนังสั้นระดับประเทศ

ระหว่างที่ฟังเรื่องราวบนย่อหน้าแรกซึ่งไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของเรื่องราวทั้งหมด เราก็ตัดสินใจขอพูดคุยกับทายาทรุ่นสองคนนี้ทันที

นอกจากเป็นทายาทรุ่นสองของ ‘VS Service’ ปั๊ป-ภิไธย สมิตสุต เป็นโปรดิวเซอร์ ผู้กำกับภาพของภาพยนตร์และมิวสิกวิดีโอ เป็นช่างภาพอิสระ และเป็นผู้ผลิตหนังสั้นระดับรางวัลเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศ

ขอสปอยล์เนื้อหาเบื้องล่างสักนิดว่า ชีวิตของปั๊ปสนุกสนานไม่แพ้ภาพยนตร์ที่เราชื่นชอบ

จากนักเรียนเปียโนในโรงเรียนดนตรีที่มีความโหดระดับภาพยนตร์เรื่อง Whiplash สู่นักเรียนการบินที่รู้ตัวมาตลอดว่าตัวเองชอบจับกล้องมากกว่าจับแผงปุ่มควบคุมบังคับเครื่องบิน ก่อนจะพิสูจน์ตัวเองผ่านการทำงาน ตั้งแต่แบกไฟไปจนถึงการเป็นโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์โฆษณาของต่างประเทศที่มาถ่ายทำที่ประเทศไทย

ปัจจุบัน VS Service เป็นบริษัทให้เช่าอุปกรณ์ กล้อง ไฟ กริ๊ป (Equipment Rental House) สัญชาติไทยที่อยู่เบื้องหลังภาพยนตร์ระดับโลกอย่าง The Beach, Rambo, The Hangover 2 และอีกหลายเรื่อง รวมถึงภาพยนตร์และโฆษณา นอกจากการทำงานอย่างมืออาชีพที่พัฒนาวงการภาพยนตร์บ้านเราอยู่เรื่อยๆ แล้ว VS Service ยังมีโปรแกรมเด็กฝึกงานที่คูลที่สุดในวงการ และมี VS Film Fund เพื่อสนับสนุนหนังสั้นหรือหนังอินดี้ดีๆ ที่ต้องการทุน

จะว่าไป การดำเนินงานของ VS Service ในยุคของปั๊ปที่เราได้ฟังแล้วรู้สึกว่ามันสุดขีดนี้ อาจจะมีที่มาความอัดอั้นเกี่ยวกับความฝันที่มีมาทั้งหมด

ทายาทรุ่นสองของ VS Service ผู้ทิ้งเครื่องบินมาจับกล้องถ่ายหนัง
ทายาทรุ่นสองของ VS Service ผู้ทิ้งเครื่องบินมาจับกล้องถ่ายหนัง
ธุรกิจ : VS Service (พ.ศ. 2528)
ประเภทธุรกิจ : ผลิตภาพยนตร์ บริการเช่าไฟและอุปกรณ์ถ่ายภาพยนตร์
อายุ : 32 ปี
เจ้าของและผู้ก่อตั้ง : เจตน์สฤษฎิ์ สมิตนุกูลกิจ,  กัญญ์วรินทร์ สมิตนุกูลกิจ
ทายาทรุ่นที่สอง : ภิไธย สมิตสุต

3-2-1 Action

“คนชอบคิดว่าเราได้ออกกองถ่ายหนังตั้งแต่เด็ก คุ้นเคย จับขาไฟ จริงๆ เราจำอะไรอย่างนั้นไม่ได้เลย สิ่งเดียวที่จำได้คือช่วงที่ตามพ่อไปถ่าย The Beach ที่ภูเก็ต ไปอยู่ในกองถ่ายแป๊บหนึ่ง ไปสวัสดีแนะนำตัว ไม่ได้เข้าไปเพื่อทำงาน”

Rushing or Dragging

“จริงๆ ที่บ้านไม่ได้อยากให้ทำหนังเพราะมันเหนื่อย เขารู้ว่าวงการนี้ทำงานหนัก ทำให้ต้องอยู่ห่างไกลครอบครัว พ่อแม่ที่ทำงานวงการใดวงการหนึ่งเขาก็จะมองถึงลูกว่าอย่ามาทำแบบนี้เลย ไปทำอย่างอื่นดีกว่า เราเองก็ไม่ได้สนใจว่าจะทำหรือจะไม่ทำ ตอนนั้นไปเรียนที่อเมริกา มีกล้องตัวหนึ่งเล็กๆ ถ่ายหนังสั้นให้เพื่อน ซึ่งสมัยนั้นยังไม่ค่อยมีคนทำกันเท่าไหร่ เราก็รู้สึกชอบ เป็นคนที่คล่องเรื่องกล้องเล็กกล้องน้อยมาตลอด ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมมันคล่องมือ พยายามจับๆ จนทำเป็น เราก็ถ่ายวิดีโอให้เพื่อน ตัดต่อนู่นนี่นั่น หาวิธีทำเองทำไปเรื่อยๆ จนเข้ามหาวิทยาลัย”

จนเมื่อเข้าสู่ช่วงมหาวิทยาลัย ปั๊ปเล่าว่า ตอนนั้นคิดอย่างไรไม่รู้อยากเรียนเปียโน ช่วง ม.5 เพราะไปเจอครูคนหนึ่งที่เก่งมาก ซึ่งเขาผลักดันให้ปั๊ปซ้อมจน Whiplash เป็นความตั้งใจของปั๊ปที่ไม่ได้อยากเป็นนักเปียโนแถวหน้า แต่เพียงแค่อยากเรียนรู้และฝึกวินัยแบบนักดนตรี

ทายาทรุ่นสองของ VS Service ผู้ทิ้งเครื่องบินมาจับกล้องถ่ายหนัง

“เราแค่ประทับใจตอนที่ซ้อม เรารู้สึกว่าคนที่เก่งมากเขาเก่งมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วเราเป็นคนไม่เก่ง เราแค่พอไปได้ ซึ่งช่วงซ้อมกับครูคนนั้นเรารู้สึกว่าเก่งขึ้นมาเยอะมาก พยายามสู้กับคนเก่ง เราอยากลองเรียนดู แล้วไปเจอโรงเรียนของครูท่านนี้อีกทีเราก็อยากไป จริงๆ ช่วงนั้นเราดื้อด้วยเพราะแม่อยากให้เป็นนักธุรกิจ เป็นหมอ แต่เราอยากรู้ว่าถ้าเราซ้อมขนาดนี้เราจะตามเขาทันไหม”

เวลาผ่านไป 1 ปีที่ปั๊ปเรียนและซ้อมเปียโน 40 – 50 ชั่วโมงต่ออาทิตย์แบบในเรื่อง Whiplash เขาก็พบว่าถ้าเราซ้อมเยอะๆ แม้ไม่ได้เก่งและมีพรสวรรค์แต่เด็ก คนเราก็สามารถตามเพื่อนได้ขั้นหนึ่ง

ถ้าบทความนี้สามารถตัดภาพสลับและใส่ดนตรีเร้าใจไปด้วยได้ คุณจะเห็นว่าระหว่างช่วงที่สวมบทเป็น Miles Teller ในเวอร์ชันซ้อมเปียโนอยู่นั้น ปั๊ปก็ยังถ่ายทำหนังสั้นกับเพื่อนๆ ขนานไปด้วย

เข้าสู่องก์สองของหนัง จากนักเรียนดนตรีที่ขัดใจครอบครัว ปั๊ปค่อยๆ พบความสนุกจากวิชาการบินช่วงเรียนซัมเมอร์

“พอเรียนบินแล้วพ่อโอเคมาก ภาพในหัวผู้ปกครองไทยก็จะคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีทั้งรายได้และประสบการณ์ เราก็ลองดู ซึ่งพอเรียนจริงๆ มันสนุกมากนะ เรียนเครื่องบินเล็ก บินเร็ว บินช้า ไปนู่นมานี่ วิธีการเรียนสนุกมาก แต่พอขึ้นเครื่องบินใหญ่ทุกอย่างมันอัตโนมัติไปหมด แทนที่จะเป็นเรื่องการบิน มันกลายเป็นเรื่องขั้นตอนการทำงานมากกว่า ทำแบบนี้เพื่อให้เครื่องบินขึ้นแบบนี้ ทำแบบนั้นเครื่องจะบินขึ้นแบบนั้น ซึ่งเรารู้สึกมันน่าเบื่อมาก แต่เมื่อเรียนมาแล้วเราก็เรียนต่อไป จะเปลี่ยนอีกเราก็รำคาญตัวเอง เรียนจนได้ทุนนิดหน่อยจนจบ ซึ่งระหว่างทางเราก็เป็น บ.ก. ภาพของหนังสือพิมพ์โรงเรียน ตัดต่อ ทำงานในบริษัทโฆษณาเล็กๆ ถ่ายงานให้เขา จริงๆ เราชอบถ่ายมากกว่า”

และหนังสั้นที่ทำกับเพื่อนในช่วงระหว่างเรียนบินนี่เอง ที่สร้างแรงบันดาลใจและความมั่นใจในตัวเองว่าจะเดินทางสายนี้ “ช่วงนั้นมีเทศกาลของ Apple ให้ทำหนังส่งภายใน 24 ชั่วโมง ปรากฏได้รางวัลชนะที่ 1 มา รางวัลคือ MacBook Pro คนละเครื่องพร้อมโปรแกรม Final Cut”

ทายาทรุ่นสองของ VS Service ผู้ทิ้งเครื่องบินมาจับกล้องถ่ายหนัง
ทายาทรุ่นสองของ VS Service ผู้ทิ้งเครื่องบินมาจับกล้องถ่ายหนัง

Producer-Cinematographer Balance

หลังจากเรียนจบกลับมาเมืองไทย ด้วยรู้ตัวแน่ชัดว่าชอบอยู่หลังกล้องมากกว่าหลังแผงควบคุมการบิน ปั๊ปขัดใจพ่อด้วยการเริ่มงานในวงการเบื้องหลังเต็มตัวครั้งแรกด้วยงานโปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ BBC ที่มาถ่ายทำในประเทศไทย

เราถามปั๊ปด้วยความสงสัยว่า จากเด็กจบใหม่ที่ผ่านการทำหนังสั้นมาบ้าง เมื่อต้องรับบทเป็นโปรดิวเซอร์กองถ่ายโฆษณา รายการหรือภาพยนตร์สั้นต่างประเทศ เขาสามารถรับมือกับงานขนาดใหญ่ได้อย่างไร

“การเป็นโปรดิวเซอร์โฆษณาในที่นี้คือการใช้ Logic ตอนที่เราทำหนังสั้นกับเพื่อนสมัยเรียนอยู่อเมริกา เราก็ทำกันแบบไม่มีเงิน เราก็พอเข้าใจตรรกะการทำงานประมาณหนึ่ง พอมามีโอกาสทำงานสเกลใหญ่ขึ้น ด้วยทีมงานที่มาช่วยก็เคยทำงานนี้อยู่แล้ว ถ้าหากเราตรรกะลำดับการทำงานถูกต้องเขาก็ช่วยเหลือเราได้ตามงานที่ควรจะเป็น

“จากนั้นไม่นาน มีต่างชาติที่สนิทกันคนหนึ่งเป็นผู้กำกับมาถ่ายโฆษณาในไทย ช่วงที่ช่างภาพยังไม่มาเขาก็เอ่ยปากอยากถ่ายมวยไทยทำสารคดีเล่นๆ เราก็บอกเราถ่ายภาพเหมือนกันไปช่วยไหม ก็ได้ไปช่วยเขาถ่าย ปรากฏงานชิ้นนี้ได้รับ Vimeo Staff Picks เราก็ได้อานิสงส์จากงานชิ้นนี้ เวลาใครมาถาม Showreel งานเราก็จะส่งตัวนี้ให้ดูก่อน ซึ่งโดยเฉพาะต่างชาติเขาก็จะจำได้ เราคิดว่าเราโชคดีที่มีจังหวะเท่านั้นเอง”

เป็นช่วงเดียวกับที่ความกดดันจากที่บ้านค่อยๆ ลดน้อยลง เพราะตำแหน่งงานโปรดิวเซอร์ที่ได้รับแสดงให้เห็นว่าปั๊ปสามารถรับมือและมีความสุขกับการทำงาน ที่บ้านจึงเริ่มพูดเรื่องให้กลับไปทำงานเป็นนักบินน้อยลง ยิ่งเมื่อปั๊ปตัดสินใจเป็นช่างภาพเต็มตัว ที่บ้านก็เริ่มเห็นว่าคงไม่กลับไปบินอีกแน่นอน ก็ไม่ได้ว่าอะไรแล้ว

“น่าจะเป็นตอนเป็นโปรดิวเซอร์ งานมันก็สเกลใหญ่ พอปรับตัวเป็นช่างภาพมันก็โอเค เขาเห็นหน้ากองว่าเราทำอะไร ไม่ได้เป็นงานเล็กๆ เพราะฉะนั้น เขาก็จะเห็นว่า อ๋อ ทำอะไร อีกเหตุผลเราคิดว่าพอเขาเริ่มเห็นงานที่เราถ่ายในทีวี เขาสามารถส่งให้เพื่อนดู รู้สึกว่า เออ สิ่งเหล่านี้มันไปอยู่ในโทรทัศน์ ถึงแม้เราทำงานอินเตอร์มาก แต่สิ่งนั้นไม่ได้อยู่ในโทรทัศน์บ้านเรา เขาก็จะไม่ค่อยเท่าไหร่ แต่พอเห็นเป็นงานไทยและอยู่ในโทรทัศน์ไทยมันมีความรู้สึกอีกแบบหนึ่ง เราก็เลยคิดว่าเขาคงถูกใจแล้วมั้ง”

ทายาทรุ่นสองของ VS Service ผู้ทิ้งเครื่องบินมาจับกล้องถ่ายหนัง

I’m Into Something Good

ด้วยสายงานที่ใกล้เคียงกับธุรกิจที่บ้าน จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ปั๊ปจะค่อยๆ เข้ามาทำงานเต็มตัว

“ใจจริงเราก็อยากไม่ได้อยากทำมากนะ มันเหมือนคนที่ชอบทำอาหารแล้วไม่ควรเปิดร้านอาหาร เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่ทำตอนนี้เหมือนทำทุกอย่างให้เป็นแค่การถ่าย ไม่ได้สนใจธุรกิจมาก เราพยายามทำธุรกิจไม่ให้เป็นธุรกิจให้ได้ นี่เป็นความท้าทายที่ยากที่สุด มันต้องมีเงินมาเลี้ยงแต่ว่าก็พยายามทำอะไรแปลกๆ อย่าง มีโครงการรับเด็กมาฝึกงาน สนับสนุนหนังสั้นหรือหนังอินดี้ขนาดยาว เพื่อที่อนาคตเขามาเป็นลูกค้าเรา มากกว่าที่จะคิดถึงการวิ่งหาลูกค้าเพื่อธุรกิจอย่างเดียว”

ปั๊ปบอกว่า เขารู้ตัวว่าไม่เก่งธุรกิจ “ดังนั้น ช่างมันนะ เราทำในแบบที่เราอยากทำและคิดว่ามันน่าจะตอบโจทย์” แต่เมื่อฟังโปรเจกต์เด็กฝึกงานและการสนับสนุนภาพยนตร์ไทยเลือดใหม่แล้ว เราพบว่าสิ่งนี้ Mega Clever กว่าแผนธุรกิจใหญ่โตเป็นไหนๆ

“เด็กฝึกงานจาก VS Service ที่รับมา จริงๆ ไม่ต้องฝึกแล้วก็ได้ ไปเป็นช่างภาพได้เลย แต่สิ่งที่ได้จากที่นี่และสิ่งที่ต้องทำคือไปเป็นช่างไฟ ทุกคนมาเพราะอยากเรียนกล้อง อยากจับกล้อง แน่นอนเราไม่ให้จับ เราจะให้ไปเป็นช่างไฟ ไปขนขา ไปขนสาย ลากสาย เมื่อเขาจบไปเป็นช่างภาพหรือผู้กำกับอะไรก็ตามเขาก็จะคิดถึงสิ่งนี้ นึกถึงคนที่ทำงานแบบนี้ให้เขาอยู่”

ปั๊ปบอกว่า เขาพยายามสร้างเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งถ้าใครขยันก็จะได้อะไรกลับไปเยอะ

“เราชื่อเรื่องการสร้างคอมมูนิตี้จากที่เราพอมีโชคดีและช่วงจังหวะดี เมื่อมีโอกาสเราก็เลยให้สิ่งนั้นคนอื่นๆ บ้างเต็มที่ ใครอยากรู้อะไรเราพร้อมสอน สื่อสารในช่องทางออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กของ VS Service เราสอนบอกหมดเลยว่างานแบบนี้จัดแสงอย่างไร เพราะอะไร เป็นศาสตร์ที่ไม่ค่อยมีใครบอกจริงๆ มันเหมือนจะลึกลับนิดหนึ่งในกองถ่าย แต่เราบอกหมดเลย และเราพยายามเน้นให้เด็กๆ ที่เรียนจากที่นี่กลับไปแบ่งปันข้อมูล

“เราไม่สอนแค่เด็ก แต่เด็กก็สอนเราด้วย”

นอกจากนี้ยังมี VS Film Fund สนับสนุนภาพยนตร์ไทย รวมถึงการเป็นโปรดิวเซอร์ให้ภาพยนตร์อินดี้หลายๆ เรื่อง เช่นเรื่อง ดาวคะนอง สนับสนุนด้วยการให้ยืมอุปกรณ์ของบริษัทที่มีไปใช้ทำหนังเพื่อให้ทีมงานนำงบประมาณส่วนนี้ไปใช้ส่วนอื่นๆ อย่างงานองค์ประกอบศิลป์เรื่องบทแทน

เราถามปั๊ปถึงบทพิสูจน์ที่ทำให้พ่อค่อยๆ ใจอ่อน วางมือให้เขาเป็นผู้ดูแลการสั่งซื้อสินค้าใหม่ๆ ทั้งหมดของบริษัท

“มันไม่ได้อยู่ๆ ดีบอกพ่อแม่ว่าเราจะเข้ามาทำแล้วนะ เป็นการค่อยๆ เข้ามาช่วยมากกว่า เราเข้าใจเรื่องอุปกรณ์นานแล้ว ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม พอต้องคุยงานกับต่างชาติเพื่อสั่งของทำให้เราเริ่มรู้ว่ามีอะไร ต้องใช้อะไร จริงๆ ตั้งแต่ทำโปรดิวเซอร์แล้วเราก็จะเริ่มรู้ เขาก็จะมอบหมายให้เราดูเรื่องอุปกรณ์ว่าต้องซื้ออะไรบ้าง ซื้อเหล่านี้ได้เช่าแน่นอน เพราะมีหนังเข้ามาแบบนี้”

ทายาทรุ่นสองของ VS Service ผู้ทิ้งเครื่องบินมาจับกล้องถ่ายหนัง
ทายาทรุ่นสองของ VS Service ผู้ทิ้งเครื่องบินมาจับกล้องถ่ายหนัง

Like Father, Like Son

ปั๊ปเล่าว่า โดยหน้าที่แล้วพ่อทำตำแหน่งที่ชื่อว่า กาฟเฟอร์ (Gaffer) หรือมือขวาของช่างภาพ ทำหน้าที่รับทราบความต้องการของช่างภาพ ก่อนไปจัดแจงเพื่อให้ได้สิ่งนั้น ซึ่งเวลาช่างภาพต่างประเทศมาทำงานก็จะมีพ่อรับหน้าที่ตำแหน่งนี้คอยช่วยเหลือ

ซึ่งในวงการภาพยนตร์ต่างประเทศเขาคิดว่าพ่อเป็นกาฟเฟอร์ระดับต้นๆ ในประเทศ เพราะต่างชาติชอบการทำงานของพ่อที่ทั้งทำงานไว ช่วยคิดภาพรวมของหนังให้ออกมาดี บริหารจัดการทุกอย่างให้อยู่ในงบประมาณ เหล่านี้จึงเป็นเหตุผลให้หัวหน้าช่างภาพต่างประเทศเรียกใช้บริการพ่อและ VS Service เสมอมา

“จุดเปลี่ยนคือเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เราถ่ายงานแล้วหากาฟเฟอร์ที่ถูกใจไม่ได้ ก็เอ่ยปากให้เขาฟัง พ่อก็บอกว่า เขาว่างนะและทำให้ได้ ตอนแรกเราก็ลังเลว่าจะดีไหม เพราะประสบการณ์เราอาจจะยังน้อยเมื่อเทียบพ่อ แต่เราเองก็มี Vision บางอย่าง และการจะเอาพ่อมาเป็นกาฟเฟอร์ของตัวเองก็แปลกอยู่

สุดท้ายเราก็ลองดู และตอนนี้พ่อทำงานเป็นกาฟเฟอร์ด้วยกันทุกงาน เพราะเรารู้สึกทำงานแล้วเข้าใจกันดี ชอบทำงานกับเขาด้วย พอเราคิดอะไรเขาก็จะทำให้พร้อมหรือกำลังคิดอยู่ จริงๆ ก็แอบแปลกและเขินนิดหน่อยที่จะบอกพ่อให้ขยับไฟดวงนี้ให้หน่อยนะครับอย่างนั้น เขาก็ดูแฮปปี้ดีนะ พ่อเขาทำกับฝรั่งมาเยอะด้วย เขาจึงไม่ได้มีความคิดว่า เออ นี่พ่อนะ มาสั่งแบบนี้หรอ แต่ทำงานในส่วนของกาฟเฟอร์นี้อย่างมืออาชีพ”

ปั๊ปทิ้งท้ายคำแนะนำสำหรับใครที่ต้องรับช่วงต่อกิจการที่บ้านแม้สิ่งที่ผ่านมาจะไม่ตรงกับสิ่งที่ทำอยู่

ทายาทรุ่นสองของ VS Service ผู้ทิ้งเครื่องบินมาจับกล้องถ่ายหนัง

“หากต้องทำงานที่บ้าน ก็ลองมองว่าเราจะได้อะไรจากตรงนี้บ้าง อย่างที่เราเรียนเปียโน สิ่งที่เราได้ไม่ใช้ทักษะการเล่นดนตรีพลิ้ว แต่เราได้ความสนุกจากศิลปะ เราได้ซ้อม ได้รู้ว่าการทำงานอย่างหนักมันเป็นยังไง สิ่งที่ได้จากการเรียนบิน เขาสอนเสมอว่าเครื่องบินตกต้องทำอย่างไร แล้วเราก็ทำเหมือนเครื่องจะตกตลอดเวลาทุกครั้งที่ขึ้นบิน และพอมาอยู่ตรงนี้ กองถ่ายวุ่นวายมาก เกิดปัญหาได้ตลอดเวลา คนอาจจะวุ่นวายอยู่ตลอดเวลา เราก็แค่ทำสถานการณ์ให้เหมือนเครื่องบินจะตก ค่อยๆ แก้ไข อยู่ในสติที่ตั้งรับ

“เมื่อก่อนเราก็ต่อต้าน คิดว่าเราจะทำสิ่งที่เราอยากทำ หลังๆ มันเหมือนว่าบางสิ่งที่ได้มาหรือที่เข้ามามันเป็นช่วงจังหวะเวลา หากไม่ชอบในบางสิ่ง เราอยากให้คุณมองหาสิ่งที่ชอบเพื่อเป็นโจทย์เล็กๆ สร้างโอกาสในอนาคต บางทีเราได้งานมาแล้วงานนั้นไม่ใช่งานถนัดของเรา เราไม่อยากทำ ก็ให้คิดซะใหม่ว่า ไม่ต้องเต็มที่ว่าเราต้องทำ แต่ให้มองหาสิ่งที่เราน่าจะชอบเพื่อเป็นโจทย์พัฒนาสิ่งที่เราอยากทำ”

คุณจะพบว่าเส้นทางของทายาทรุ่นสองคนนี้โลดแล่นหลากหลายเส้นทาง ซึ่งด้วยพื้นที่อันน้อยนิดนี้เราขอเล่าเรื่องตอนจบให้ฟัง เรื่องราวที่น้องสาวเป็นแอร์โฮสเตสและน้องชายเรียนจบจากดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

หากคุณติดตามอ่านตั้งแต่ต้น คุณจะเผลอยิ้มเหมือนเราตอนนี้

 

VS Service (พ.ศ. 2528)

การบริการของบริษัท VS Service ในยุคเริ่มต้นไม่ใช่เพียงเป็นผู้ให้เช่าอุปกรณ์พร้อมทีมงานดูแลหน้ากองถ่าย แต่พ่อจะออกกองไปช่วยดูแลทีมงานด้วยถึงที่ ปั๊ปบอกว่าพ่อทำแบบนี้มาตลอดจนถึงทุกวันนี้ก็ยังเป็น

เสียดายว่าในวันที่นัดหมายคุณพ่อติดภารกิจสำคัญ แต่เราก็ได้ฟังเรื่องราวต่างๆ จากคุณแม่ผู้ร่วมก่อตั้งและเห็นพัฒนาการของ VS Service และลูกชายของเธอ แม่เล่าเหตุการณ์ทางฝั่งประเทศไทยในตอนปั๊ปตัดสินใจเรียนเปียโนที่อีกซีกโลกหนึ่งให้ฟังว่า “ตอนนั้นพ่อกับแม่ทำงานอยู่สิงคโปร์ พอปั๊ปโทรมาบอกว่าจะไปมอบตัวกับทางโรงเรียน เชื่อไหมแม่กับพ่อแทบจะบินไปแล้ว ถึงขนาดตั๋วเครื่องบินมีที่ว่างแค่ที่เดียวพ่อเขาก็จะบินไปคนเดียว ทิ้งแม้ไว้ที่สิงคโปร์เพื่อไปห้ามลูก แม่ก็นึกขำว่าพอตอนเขาขอเรียนทำหนังไปห้ามเขาบอกอย่าเลยมันเหนื่อย แต่หลังจากนั้นเขาก็ยอมไปเรียนการบินเสมอๆ ดู สุดท้ายจบการบิน

“ตอนแรกเราก็บอกพ่อนะว่าไม่มีใครดูแลต่อก็ไม่เป็นไร ถ้าลูกไม่อยากทำ แต่ก็รู้สึกดีนะที่เขาเลือกมารับผิดชอบทำงานตรงนี้” นอกจากจะแอบความภูมิใจในการทำงานและใช้ชีวิตอยู่เสมอ สิ่งเดียวที่แม่เป็นห่วงก็คือ เรื่องที่ปั๊ปมักจะพูดตรงๆ ตรงเกินไป จนบางทีคำพูดอาจจะเหมือนว่าไม่คิดถึงความรู้สึกคนอื่นๆ

www.vsservice.com

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan