‘ติ๊ด ติ๊ด’ เสียงนาฬิกาจับเวลาดังร้องบอกว่าน้ำร้อนสีทองใสพร้อมให้รินเสิร์ฟใส่จอกน้ำชาแล้ว

หลังจากสูดกลิ่นชาจีนชื่อไม่คุ้น จนน้ำร้อนในมือพออุ่นๆ เราก็เริ่มต้นชวนผู้ชงชาเปิดบทสนทนา

ทันทีที่เห็นบรรจุภัณฑ์ของแบรนด์ชาชื่อคุ้นในรูปแบบอื่นๆ ทั้งยังมีการสื่อสารในโซเชียลมีเดียสนุกสนานขัดกับภาพจำของธุรกิจเก่าแก่ The Cloud ก็ขอทำนัดพิเศษกับ คุณอิศเรศ อุณหเทพารักษ์ ทายาทรุ่นที่ 3 ของใบชาตราสามม้า ผู้สนุกกับการใช้โซเชียลมีเดียเปลี่ยนภาพลักษณ์ของธุรกิจครอบครัวอายุ 81 ปีให้เข้าถึงกลุ่มตลาดคนรักชา และยังคงรักษาภูมิปัญญาการทำธุรกิจครอบครัวอย่างจริงใจอันเป็นจุดแข็งสำคัญที่ทำให้แบรนด์ใบชาตราสามม้าเป็นอยู่ในใจและในชีวิตประจำวันของเราอย่างไม่หายไปไหน

ใบชาตราสามม้า

ไม่ว่าคุณจะชอบดื่มชาหรือไม่ ต้องมีอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิตที่คุณเคยดื่มชาของใบชาตราสามม้า

นั่นเพราะ กว่า 80% ของลูกค้าชาตราสามม้าเป็น Passive Drinker หรือลูกค้าที่ดื่มชาของชาตราสามม้าโดยไม่รู้ตัว ได้แก่ น้ำชาในร้าน MK สุกี้ ที่ใช้ใบชาตราสามม้าเบอร์ 1 มาหลายสิบปี ชามะลิของร้าน Blue Elephant ชาจีนในร้านอาหารจีนของโรงแรมดุสิตธานี ชาจีนในร้านบาร์บีคิวพลาซ่า และชาจีนในร้านก๋วยเตี๋ยวหรืออาหารตามสั่งทั่วไป ไปจนถึงชาบรรจุขวดพร้อมดื่มบางแบรนด์ก็ใช้ใบชาตราสามม้าเป็นส่วนผสมหลัก

จิบชาร้อนๆ ไปพร้อมกับฟังเรื่องราวของธุรกิจ ‘ใบชาตราสามม้า’ ในมือทายาทรุ่นที่ 3 นี้ด้วยกัน

เพื่ออรรถรส คุณอิศเรศแนะนำวิธี ‘ดื่มชา 3 คำ’ แบบคนจีนโบราณง่ายๆ

หลังจากจิบคำแรกเข้าปากเขาจะยังไม่กลืน แต่อมไว้ก่อนให้พออุ่น จากนั้นจิบคำที่ 2 ลงไปผสมกันน้ำในปากเพื่อไม่ให้น้ำร้อนจัด แล้วจึงจิบคำที่ 3 ตาม จากนั้นจะกลืนเพียงครึ่งเดียวก่อนให้น้ำชาอยู่ระหว่างคอ ซึ่งจะทำให้ปากมีกลิ่นชาอบอวลแม้หายใจออก

ขอตัวไปตั้งไฟกาน้ำร้อนก่อนนะคะ

ใบชาตราสามม้า ใบชาตราสามม้า

ธุรกิจ : ใบชา ตราสามม้า (พ.ศ. 2480)
ประเภทธุรกิจ : โรงงานผลิตและจำหน่ายชาจีนคุณภาพ
อายุ : 81 ปี
ผู้ก่อตั้ง : คุณปู่เซ็ง แซ่อุ้ย (บริษัท ห้างใบชาอุ้ยปอกี่ จำกัด)
ทายาทรุ่นที่สอง : คุณสุภชัย อุณหเทพารักษ์ (บริษัท ใบชาสามม้า จำกัด)
ทายาทรุ่นที่สาม : คุณอรรถกร อุณหเทพารักษ์ และคุณอิศเรศ อุณหเทพารักษ์

Specialty ของวงการชา

นอกจากสินค้าดั้งเดิมของทางบริษัทอย่างใบชาเบอร์ 1 และเบอร์ 3 ที่แฟนๆ รู้จักกันเป็นอย่างดีจากบรรจุภัณฑ์ที่คุ้นตาในร้านค้าและร้านสะดวกซื้อ ในเครื่องถวายสังฆทานและเครื่องอัฐบริขาร ในชุดชงชาโปรดของอาม่า และศาลตี่จู่เอี้ยหรือศาลเจ้าที่ประจำบ้าน

ใบชาตราสามม้า

ใบชาตราสามม้า

อิศเรศเล่าว่า ใบชาตราสามม้ายังมีชาพันธุ์พิเศษ หรือ Specialty ของวงการชา ให้เลือกสรรมาหลายสิบปีแล้ว เพียงแต่ยังไม่เคยสื่อสาร โดยในยุคของทายาทรุ่นสาม อิศเรศและพี่ชายตั้งใจจะนำเสนอความหลากหลายของชา เริ่มจากการเสาะหารสชาติชาพิเศษจากความชอบส่วนตัว ผ่านการศึกษาประวัติความเป็นมาและเอกลักษณ์ของชาชนิดนั้นๆ เช่น ชาอันซีเบลนดิ้ง ซึ่งเป็นชาสูตรพิเศษที่ทางร้านคิดร่วมกับไร่ชาที่เมืองจีน โดยจะให้กลิ่นหอมอ่อนๆ และราคาไม่แพง และยังมีชาตานฉง หรือชาเกรดสูงที่มีกลิ่นหอมธรรมชาติคล้ายลิ้นจี่ ชาปูขนที่มีกลิ่นหอมอ่อนคล้ายนม ไปจนถึงชาเขียวจีนขึ้นชื่อหลายๆ ชนิด เช่น ชาหลงจิ่ง ชาหอยทากมรกตฤดูใบไม้ผลิ เป็นต้น

“ช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วงของแต่ละปี เป็นช่วงเวลาที่พวกเราทุกคนจะวุ่นอยู่กับการชิมชารสชาติแปลกๆ ที่ถูกส่งมาจากเมืองจีน เพื่อคัดสรรชาชั้นดีและนำเสนอแก่ผู้บริโภคในเมืองไทยให้ได้ชิมชาในมิติที่หลากหลายขึ้น” อิศเรศเล่าบรรยากาศการทำงานที่เขาตื่นเต้นทุกครั้ง

ใบชาตราสามม้า

ด้วยประวัติศาสตร์ของการดื่มชาจีนที่มีมาอย่างยาวนานนับพันปี ไม่เอื้อให้ธุรกิจค้าใบชามีนวัตกรรมเท่าธุรกิจใหม่ๆ อิศเรศเล่าว่า สิ่งที่เขาทำได้และเป็นหน้าที่ในความรับผิดชอบของเขาก็คือ ดูแลคุณภาพของชาให้มีกลิ่นและรสชาติคงที่ตลอดทั้งปี นั่นเพราะใบชาเป็นสินค้าเกษตร มีทั้งฤดูกาลที่อร่อยและไม่อร่อย จึงเป็นงานที่ท้าทายต้องอาศัยความชำนาญและความใส่ใจ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าที่มีคุณภาพดีสมราคา รวมถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้เก็บรักษาและคงคุณภาพใบชาได้ดีและยาวนานยิ่งขึ้น

นอกจากอุปกรณ์ชงชากังฟูแบบดั้งเดิมที่ประกอบด้วยจอกชา ตุ๊กตาเลี้ยงน้ำชา และเครื่องไม้เครื่องมืออื่นๆ ใบชาสามม้ายังนำเสนอ กา 3 in 1 ที่จะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ให้เข้าถึงอรรสรถของชาได้ง่ายขึ้น

ร้านชาจีนที่ชอบคุยกับลูกค้า

ใครหลายคนอาจจะมองว่าการทำการตลาดในโซเชียลไม่เข้ากับธุรกิจขายใบชาจีนสักเท่าไหร่

แต่กับใบชาตราสามม้า ถือเป็นข้อยกเว้น

ที่ผ่านมา ใบชาสามม้าเคยใช้เงินกว่า 10 ล้านบาทสำหรับประชาสัมพันธ์การรีแบรนด์ชาสามม้าแบบซอง ทั้งลงหน้าโฆษณาในนิตยสารชื่อดัง ทำโฆษณาโทรทัศน์ และสปอตวิทยุกว่าครึ่งปี แต่สารนั้นไม่เคยไปถึงกลุ่มเป้าหมายที่นับวันจะเล็กลงเรื่อยๆ ยิ่งคนไม่เห็นว่าการดื่มชาจีนเป็นไลฟ์สไตล์ที่โก้เก๋เท่าเครื่องดื่มอื่นๆ ก็ยิ่งทำให้วิธีการของสื่อกระแสหลักใช้ไม่ได้ผลกับธุรกิจใบชาตราสามม้า และต่อให้ได้ผลในแง่ของการเป็นที่จดจำได้ ก็ยังต้องสื่อสารความรู้เรื่องการชงชาและอรรสรถจากการดื่มอยู่ดี

ใบชาตราสามม้า ใบชาตราสามม้า ใบชาตราสามม้า

“ต่อให้ลูกค้าเห็นและจดจำผลิตภัณฑ์ได้ แต่เขาคงไม่เข้าใจว่าชาจีนที่ดีเป็นยังไง ชาของเรามีเรื่องราวยังไง เพราะเราไม่อาจสื่อสารเรื่องทั้งหมดนี้ภายใน 15 – 30 วินาทีได้ ซึ่งเรายินดีให้ลูกค้าโทรมาสอบถามได้ตลอดเวลา สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผมเข้ามารับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว มีโทรศัพท์เข้ามาถามเรื่องชาไม่เกิน 10 ครั้ง แต่เมื่อเราเริ่มมีโซเชียลมีเดีย ลูกค้าก็กล้าส่งข้อความมาถามเราได้ทุกเวลา” อิศเรศเล่าติดตลก

ชาชนิดนี้มีเอกลักษณ์ ประวัติ และความเป็นมายังไง กลิ่นเป็นยังไง ใครควรดื่ม ควรดื่มเมื่อไหร่ เช้า กลางวัน หรือก่อนนอนดี วิธีชง วิธีเก็บรักษา คือชุดคำถามที่พบบ่อย

ใบชาตราสามม้า ใบชาตราสามม้า

ตลอด 2 ปีครึ่งของเพจเฟซบุ๊ก ความตั้งใจและความเอาใจใส่ของทายาทรุ่นสามที่ต้องการสื่อสารกับลูกค้าอย่างตรงไปตรงมาอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่พลิกโฉมธุรกิจใบชาของครอบครัว และจากการทำเพจ ทำให้อิศเรศและทีมงานได้รับข้อความดีๆ จากลูกค้ามากมาย หนึ่งในนั้นเขียนมาเล่าประสบการณ์การดื่มชา พร้อมเขียนขอบคุณที่ทำให้เขาย้อนเวลากลับไปถึงวันที่นั่งดื่มชาพร้อมคุณปู่และคุณพ่อ และในอนาคต อิศเรศตั้งใจจะเปิด YouTube Channel เพื่อสาธิตวิธีการชงชา และรีวิวชาแต่ละชนิด รวมถึงเล่าเรื่องราวชาชนิดใหม่ๆ ที่อยากแนะนำก่อนนำมาขายจริง

พิธีชิมชา

หัวใจของใบชาตราสามม้า คือการบริการที่อยากให้ทุกคนได้ชิมก่อนซื้อ

“มีหลายครั้งที่ลูกค้าเดินเข้ามาที่หน้าร้านโดยไม่รู้เลยว่าเขาต้องการชาแบบไหน ที่นี่จึงมีเจ้าหน้าที่ ผู้เชี่ยวชาญ แนะนำและชงให้ดื่ม โดยเราจะบอกก่อนเสมอว่าถ้าดื่มแล้วไม่ชอบไม่ต้องซื้อนะ เพื่อที่ลูกค้าไม่รู้สึกกดดัน เราขอเพียงคุณซื้อรสชาติที่คุณชอบมันจริงๆ” อิศเรศเล่าพลางรินชาตานฉงส่งให้เรา

ใบชาตราสามม้า ใบชาตราสามม้า ใบชาตราสามม้า

สำหรับมือใหม่ที่อยากลองชิมชาคัดสรร แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นจากตรงไหน ทางชาสามม้ายินดีให้คำแนะนำ พร้อมทั้งจัดชุดขนาดทดลองในรูปแบบซีรีส์ชาสนุกๆ ขายในราคาย่อมเยาบนหน้าเพจเฟซบุ๊ก เช่น ตอนนี้มีซีรีส์ชาตานฉง 3 ก๊ก หรือ 3 ผู้กล้าร่วมสาบานใต้ต้นท้อ ประกอบด้วยชาซิ่งเหรินเซียง (杏仁香) หอมกลิ่นแอพริคอตผสมอัลมอนด์เหมือนเล่าปี่ผู้สุภาพอ่อนโยน ชายาสื่อเซียง (鴨屎香) หรือชาหอมขี้เป็ดกลิ่นบางเบาแต่อบอวลเหมือนกวนอูผู้เงียบขรึมแค่ซื่อสัตย์มั่นคง และชาหวางจือเซียง (黃枝香) กลิ่นเกสรดอกพุดเหลืองรสชาติชัดเจนชุ่มคอนานเหมือนเตียวหุยผู้ตรงไปตรงมา

ไม่ใช่แค่บริการลูกค้าที่ตั้งใจมาซื้อชา ที่นี่ยังมีตู้น้ำชาเย็นๆ พร้อมดื่มบริการแก่ทุกคนที่เดินผ่านไปผ่านมา บุรุษไปรษณีย์ คนขับรถรับ-ส่งเอกสาร แท็กซี่ คนกวาดถนน ซึ่งทุกคนที่รู้จะแวะมาดื่มทุกครั้งที่เดินผ่าน เป็นความตั้งใจที่ร้านทำมาเป็นสิบปีแล้ว เพราะอยากให้ทุกคนที่ผ่านไปผ่านมาได้ดื่มชาจริงๆ โดยเป็นชาเกรดเดียวกันกับที่ขายที่ร้าน และที่ไม่พูดถึงเลยไม่ได้คือพนักงานส่งของหรือหน่วยอัศวินม้าเร็วของชาตราสามม้า ซึ่งได้รับคำชมจากลูกค้าออนไลน์มากที่สุดทั้งเรื่องความเร็วในการจัดส่งสินค้า ความสุภาพ และมารยาทดี

ใบชาตราสามม้า ใบชาตราสามม้า

โรงเรียนโรงงานน้ำชา

“ทุกปิดเทอมใหญ่ เด็กผู้ชายทุกคนในครอบครัวจะได้รับมอบหมายให้เข้าไปทำงานที่ออฟฟิศ พวกเราจะไม่ได้วิ่งเล่นกับเพื่อนจนกว่าจะถึงเวลา 1 สัปดาห์ก่อนโรงเรียนเปิด” อิศเรศเล่าบรรยากาศเมื่อครั้งเป็นเด็กฝึกงานที่ออฟฟิศของครอบครัว แม้จะทำหน้าที่เพียงช่วยทอนสตางค์และหยิบส่งสินค้า แต่ประสบการณ์และความสนุกในช่วงเวลานั้น ทำให้เขาตัดสินใจเรียนต่อด้านการตลาดอย่างไม่ลังเล

“ขายของได้เงินมาแล้วต้องนอนหลับสนิทด้วย” คือคำสอนของคุณปู่ผู้ก่อตั้ง

ทั้งต้องซื่อสัตย์กับตัวเองและลูกค้า หรือการรู้จักของที่ตัวเองขายจริงๆ ชิมแล้วรู้ว่าอะไรคือรสชาติที่ดี ก่อนนำเสนอลูกค้าในราคาที่เหมาะสม

ใบชาตราสามม้า ใบชาตราสามม้า

“ยุคสมัยนี้ ผมมีโอกาสคุยกับลูกค้าบางคนแค่ครั้งเดียว ถ้าคุยแล้วไม่ประทับใจ ลูกค้าก็ไม่กลับมาอีก เพราะเขามีตัวเลือกที่เยอะมาก ต่อให้เป็นสินค้าที่เขาชอบ เขาก็จะมีความสนใจไม่เกินครึ่งนาที แม้ไม่อาจอธิบายทั้งหมด แต่อย่างน้อยต้องไม่ทำให้เขารู้สึกแย่กับเรา” อิศเรศเล่าบทเรียนการทำธุรกิจจากโรงเรียนโรงงานน้ำชาที่เขาโตมา

หรือแม้แต่โจทย์ยากๆ อย่างการบริการหลังการขาย อิศเรศเล่าว่า เมื่อลูกค้ามีปัญหากับตัวสินค้า เขาจะรับฟังทุกอย่างเพื่อหาทางแก้ไขปัญหานั้นไปพร้อมกัน เพราะเห็นความพอใจของลูกค้าเป็นเรื่องสำคัญ จากแนวคิด ‘การคบค้าสมาคมกันไปนานๆ’ ไม่ใช่การค้าขายแบบ ‘ตีหัวเข้าบ้าน’

สินค้ารับประกันความพอใจ

กฎบริษัทข้อหนึ่งของใบชาตราสามม้า เวลาที่มีโทรศัพท์โทรเข้ามาร้องเรียน อิศเรศและพี่ชายซึ่งเป็นผู้บริหารจะเป็นคนรับสายเหล่านี้เท่านั้น

“วันหนึ่งมีสายจากลูกค้าที่ซื้อใบชาตราสามม้าเบอร์ 3 จากร้านค้าเจ้าประจำทั้งหมด 2 กล่อง เขาโทรมาแจ้งว่าใบชาที่ต้มลอยตัวไม่ยอมจมเหมือนทุกที มีกลิ่นและรสชาติที่เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม จากที่ฟังผมรู้อยู่แล้วว่าหากไม่ใช้น้ำเดือดชง ใบชาจะไม่คลายตัวและไม่จม กลิ่นและรสชาติก็จะไม่ออก ผมก็บอกไปว่า เท่าที่ฟังน้ำที่ต้มน่าจะไม่เดือด แต่ลูกค้าก็ยืนยันว่ากาไม่มีปัญหา ผมจึงขอชื่อที่อยู่เพื่อนำใบชาไปเปลี่ยนกลับมาทดสอบว่ามีปัญหาอะไร ซึ่งลองแล้วไม่มีปัญหาอะไร 2 วันต่อมาผมก็โทรไปถามอีก ลูกค้าก็บอกว่าก็ยังเหมือนเดิม ผมจึงบอกว่า ใบชาล็อตใหม่ล่าสุดเพิ่งมาถึงที่ออฟฟิศ จะขอวิ่งไปเปลี่ยนให้ใหม่ แต่ปัญหาก็ไม่คลี่คลาย จนเราขออนุญาตคืนเงินเต็มจำนวนให้

“2 วันต่อมาลูกค้าโทรกลับมาบอกว่า ที่ผมเคยบอกว่าน้ำไม่เดือด ตอนแรกก็คิดว่าคงปัดความรับผิดชอบ แต่เมื่อเห็นความตั้งใจที่วิ่งรถจากเยาวราชไปดอนเมืองถึง 3 ครั้ง เลยตัดสินใจเอากาน้ำร้อนไปให้ช่างตรวจดู ก็พบว่าจุดเดือดของกามีปัญหาจริง จึงโทรมาขอโทษด้วยความจริงใจ เราก็ดีใจ ไม่ใช่เพราะอยากเอาชนะนะ แต่เราอยากร่วมแก้ปัญหากับเขา” อิศเรศเล่าตัวอย่างของการให้บริการอย่างตั้งใจ

ซึ่งนโยบาย Money Back Guarantee เป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยคุณปู่

โดยท่านสอนว่า “เลือกสินค้าที่ดีที่สุด ในราคาที่เหมาะสมที่สุด เพื่อนำเสนอแก่ลูกค้าของเรา ถ้าลูกค้าไม่พอใจในสินค้าของเรา ก็ต้องทำการคืนเงินให้คุณลูกค้า จบ”

อิศเรศบอกว่า เมื่อเขาตกตะกอนดีๆ จึงได้เห็นปรัชญาการบริหารความเสี่ยงที่สอดแทรกอยู่ภายใต้นโยบายนี้ของคุณปู่ ซึ่งเป็นวิธีการรับมือกับปัญหาที่ดี โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เรื่องทั้งดีและร้ายจะขยายออกไปในวงกว้างได้ในเวลาที่สั้นมากๆ เขายกย่องการมองการณ์ไกลของคุณปู่

ใบชาตราสามม้า ใบชาตราสามม้า

ชาๆ ได้พร้าเล่มงาม

ในการทำธุรกิจ กับบางเรื่องถ้าเรายังยึดติดกับคำสอนของคนรุ่นเก่า โดยที่ไม่พยายามจะปรับเปลี่ยนให้ร่วมสมัย ก็คงจะเป็นการทำธุรกิจที่สุ่มเสี่ยงกับการโดนทิ้งไว้ข้างหลัง ยิ่งในวันนี้ที่อะไรๆ ก็ขยับไปข้างหน้าด้วยความเร็วสูง ผู้คนมีความสนใจในสิ่งสิ่งหนึ่งเพียงแค่ไม่กี่วินาที พอๆ กับที่จะหมดความสนใจบางเรื่องภายในเสี้ยวนาทีเช่นกัน

“เราต้องไม่ลืมว่าการขายสินค้าให้ผู้บริโภคในปัจจุบัน ผู้ขายมีโอกาสเพียงครั้งเดียวในการสื่อสารกับผู้บริโภค ถ้าเราไม่อาจทำให้ผู้บริโภคไว้วางใจเราได้ การขายในครั้งต่อๆ ไป ก็คงเป็นไปได้ยาก เคยมีลูกค้าถามว่า ทำไมเราไม่ทำระบบหน้าร้านออนไลน์ เราก็รับฟังและนำเรื่องนี้มาหารือกันต่อนะ เพียงแต่รู้สึกว่ายังไม่เหมาะกับบริษัทของเราในตอนนี้”

ระบบหน้าร้านออนไลน์อาจจะสะดวกสบายทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย แต่สำหรับอิศเรศและทีมงานที่รอคอยโอกาสสื่อสารความรู้ความเข้าใจเรื่องชาจีนกับกลุ่มลูกค้า เขายืนยันว่าจะขอใช้เวลาสื่อสารเรื่องชากับผู้บริโภคโดยตรงก่อนแม้จะใช้พลังและเวลามากกว่า

ใบชาตราสามม้า ใบชาตราสามม้า

ธุรกิจใบชาที่เต็มไปด้วยกำลังวังชา

ช่วงท้ายของการสนทนา อิศเรศให้คำแนะนำถึงทายาทรุ่นที่สองหรือมากรุ่นกว่านั้น ของกิจการไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามว่า คนที่รับช่วงต่อกิจการหรืออยู่ในยุคนั้นๆ จำเป็นคงต้องศึกษาตลาด กระแสของโลกที่จะส่งผลต่อธุรกิจของคุณ ทั้งลองค้นหาวิธีที่จะตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย รู้จักปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ และสำคัญคือ การค่อยๆ แนะนำลูกค้าแบบไม่ยัดเยียดเกินไป “คนสมัยก่อนเขาจะไม่มาลงรายละเอียดว่าต้องน้ำเดือดเท่าไหร่ แค่ใส่น้ำเดือดให้เต็มเป็นพอ แต่สมัยนี้คนมีมุมมองและการสุนทรีย์การใช้ชีวิตต่างไปจากเดิม คนสนใจเรื่องราว และการสื่อสารบนพื้นฐานความเป็นจริง เพื่อให้เขารู้สึกมีอารมณ์ร่วมกับสิ่งที่เขาใช้หรือบริโภค” ตัวแทนทายาทรุ่นสามของใบชาตราสามม้าเล่า ก่อนจะทิ้งท้ายความตั้งใจต่อไป

“ผมกับพี่ชายตั้งใจจะสานต่อธุรกิจครอบครัวให้เดินหน้าไปอย่างมั่นคง เพราะเราต้องไม่ลืมว่าธุรกิจนี้ไม่ได้หล่อเลี้ยงเฉพาะชีวิตของลูกหลานเท่านั้น แต่เรายังมีพนักงานอีกกว่า 60 ชีวิตหรือ 60 ครอบครัวที่ต้องดูแลด้วย เมื่อพนักงานมาทำงานให้เรา ก็เหมือนกับเขาฝากชีวิตไว้กับเราด้วย การจะมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ก็ยังคงตั้งอยู่บนพื้นฐานของการขยับขยายไปแบบพอตัว ก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างช้าๆ แต่มั่นคง เพื่อที่เวลาเกิดปัญหาขึ้นก็จะไม่กระทบกับธุรกิจโดยรวม”

ใบชาตราสามม้า

บริษัท ห้างใบชาอุ้ยปอกี่ จำกัด (พ.ศ. 2480)

ขณะที่ชาฝรั่งมีการแต่งกลิ่นสังเคราะห์ที่ให้ความรู้สึกแตกต่างไปขึ้นกับความชอบ ชาจีนเป็นชารสชาติจากธรรมชาติแท้มาจากภูมิปัญญานับพันปี เมื่อชงชากลิ่นธรรมชาติกับน้ำร้อน กลิ่นที่ได้จะไม่ฉุนเท่าชาที่แต่งกลิ่นสังเคราะห์ แต่เมื่ออุณหภูมิน้ำลดลงกลิ่นของชาสังเคราะห์ก็จะบางเบาตามไปด้วย ขณะที่กลิ่นของชาธรรมชาติจะยังคงอยู่อย่างนั้นจนหมดแก้ว

“ในการทำงานร่วมกับไร่ชาทั้งไทยและจีน นอกจากเลือกสรรรสชาติแบบที่เราชื่นชอบ เรายังร่วมกันพัฒนากลิ่นและรสชาติให้คงเอกลักษณ์และอร่อยเสมอ” อิศเรศเล่าความตั้งใจ ก่อนจะอธิบายกระบวนการทำชาแบบดั้งเดิมที่อาศัยทักษะไม่น้อย เริ่มจากการผึ่งใบชาบนลานขนาดใหญ่ เมื่อความชื้นในใบชาระเหยในอากาศที่ระดับหนึ่ง ใบชาจะเริ่มพลิกคล้ายสัญญาณเตือนว่าได้ที่แล้ว จากนั้นเก็บใบชาเข้าสู่ที่ร่ม แล้วนวด จากนั้นผึ่งให้โดนออกซิเจน ในขั้นตอนนวดและผึ่งอาจจะทำซ้ำมากกว่า 1 ครั้ง ขึ้นกับประเภทของชาที่อยากได้ จากนั้นย่างไฟจนแห้งเพื่อหยุดกระบวนการหมักตัว

ในวันที่คุณปู่เซ็งตัดสินใจเริ่มต้นกิจการค้าขายใบชา ท่ามกลางเสียงคัดค้านเพราะมีเจ้าใหญ่ๆ ที่แข็งแรงแล้วในตลาด สิ่งที่คุณปู่เซ็งทำเมื่อไปติดต่อร้านค้าคนกลางเพื่อฝากขาย คุณปู่จะขอเข้าไปในครัว แล้วต้มน้ำชงชาให้พวกเขาดื่ม ทำแบบนี้บ่อยๆ จนสนิทกัน ก่อนจะเปลี่ยนคู่ค้าให้มาเป็นลูกค้าจนได้

เนื่องจากที่ใกล้ๆ ในเขตเมืองมีแบรนด์ชาเจ้าใหญ่ที่ครองตลาดอยู่แล้ว คุณปู่จึงจำเป็นต้องขี่จักรยานบรรทุกชาออกไปไกลถึงชานเมือง และทำแบบนี้ทุกๆ วัน จนกระทั้งวันหนึ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญซึ่งทำให้แบรนด์ ‘สามม้า’ เป็นที่รู้จักในวงกว้าง

วันนั้นคือวันที่บริษัทออกบูธครั้งแรกใน “งานมหกรรมแสดงสินค้านานาชาติครั้งที่ 1” ปี พ.ศ. 2506 ที่สวนลุมพินี ซึ่งนอกจากเลือกทำเลตรงหัวมุมของ 3 แยกแล้ว คุณปู่เซ็งยังสั่งออกแบบและสร้างบูทให้คล้ายเก๋งจีนขนาดใหญ่ พร้อมทั้งตะโกนประโยคทองอย่าง “ซื้อใบชาแถมกะละมัง” ซึ่งกะละมังที่ว่าคือ จอกชาพร้อมชื่อและเบอร์โทรบริษัทสั่งผลิตพิเศษจากฮ่องกง นำมาซึ่งยอดขายถล่มทลาย และงานนี้เองที่ช่วยให้ชื่อเสียงของชาสามม้ากระจายออกไปในวงกว้าง จนกิจการเติบโตขึ้นในเวลาต่อๆ มา

 

Facebook |  ใบชาตราสามม้า

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล