“บ้านน้อยหน่าเป็นร้านบาร์เบอร์”

อยู่ๆ เราก็หลุดเข้าไปในภาพยนตร์เรื่องโปรดอย่าง แฟนฉัน (พ.ศ. 2546) มีฉากร้านตัดผมชาย มีเด็กหญิงที่ชื่อน้อยหน่า มีบรรยากาศและเสียงเพลงเก่าๆ จะต่างก็เพียงแต่ช่างใหญ่ของร้านตัดผมชายร้านนี้ไม่ใช่คุณพ่อศิลปินหนุ่มใหญ่ แต่เป็นแม่ติ๋ว – สุวรรณดา กายะ หญิงสาวผู้เปลี่ยนใจจากกรรไกรและโรลม้วนผมทันทีที่ได้ลองปัตตาเลี่ยนเมื่อ 37 ปีก่อน ก่อนจะมีร้านเป็นของตัวเองชื่อ “ติ๋วบาร์เบอร์” ที่สยามสแควร์ในยุคที่สยามสแควร์มีร้านตัดผมชายเรียงรายอยู่ถึง 30 ร้าน

ตัดภาพกลับมาที่ปัจจุบัน อดีตแสนเท่ยังคงมีให้เราเห็นและหลงเหลืออยู่บ้างตามเสื้อผ้าหน้าผมของคนรุ่นใหม่ที่โหยหาอดีตอันโก้เก๋ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะมาเร็วไปเร็วเหมือนใจใครหรือเปล่า

ความตั้งใจเดิมเราแค่อยากชวนผู้รับช่วงต่อร้านติ๋วบาร์เบอร์ มาผู้คุยในฐานะลูกเขยเบอร์แรกของคอลัมน์ทายาทรุ่นสอง ผู้รับช่วงต่อและแปลงเปลี่ยนร้านของแม่ยายให้กลับมาเป็นที่นิยมและอยู่รอดได้ในยุคสมัย แต่เนื้อความด้านล่างนี้กลับไม่มีศัพท์แสงแสดงไลฟ์สไตล์ฮิปสเตอร์หนุ่มวินเทจสักนิด

ความกิ๊บเก๋และบรรยากาศเก่าๆ ของบาร์เบอร์ที่แท้จริงเมื่อ 23 ปีก่อนต่างหากที่ หนอน-ชุมพร สังข์วิเลิศ ผู้เป็นลูกเขย และ น้อยหน่า-จารุลักษณ์ กายะ ผู้เป็นลูกสาว ตั้งใจเก็บรักษาและถ่ายทอดมันออกมาผ่านทำเลเดิมอย่างร้านที่สยามสแควร์และสาขาเอกมัยอันเป็นที่นัดหมายของเราในวันนี้ นอกจากจะเปลี่ยนความคิดที่เคยมีกับร้านตัดผมชายไปตลอดกาลแล้ว เรายังสนุกกับการจินตนาการตามถึงบาร์เบอร์ที่มากกว่าการเป็นบาร์เบอร์

ในที่สุด เราก็ได้รู้จักชายหนุ่มผู้แต่งงานกับน้อยหน่าในหนังเรื่อง แฟนฉัน เสียที แถมหลายปีผ่านไป น้อยหน่าและสามียังคงสานต่อกิจการที่บ้านและทำให้บรรยากาศของบาร์เบอร์กลับมาอีกครั้ง

 
Tew’s Barber กับบรรยากาศสยามสแควร์ยุคเรืองรอง ในมือของทายาท (และลูกเขย) รุ่นที่สอง
Tew’s Barber กับบรรยากาศสยามสแควร์ยุคเรืองรอง ในมือของทายาท (และลูกเขย) รุ่นที่สอง
ธุรกิจ: Tew’s Barber Shop (พ.ศ. 2537)
ประเภทธุรกิจ: ร้านตัดผมชาย
อายุ: 23 ปี
เจ้าของและผู้ก่อตั้ง: สุวรรณดา กายะ
ทายาทรุ่นที่สอง: หนอน-ชุมพร สังข์วิเลิศ (ลูกเขย)น้อยหน่า-จารุลักษณ์ กายะ (ลูกสาว)

ในความทรงจำสีจาง…จาง

คงจะเป็นการอยู่นอกเหนือประเด็นเกินไป หากผู้เขียนจะสอบถามเรื่องราวความรักและย้อนกลับไปสืบจุดเริ่มต้นของคนทั้งคู่ เราจึงทราบที่มาสั้นๆ ก่อนรับช่วงเปลี่ยนแปลงติ๋วบาร์เบอร์ว่า คุณน้อยหน่าเป็นพนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง ขณะที่คุณหนอนเป็นอดีตช่างภาพจาก บางกอกโพสต์ และก่อนจะเข้าสู่สาระเป็นทางการ เราขอแอบเอามือจิกหมอนเขินความคู่ของคนคู่นี้สักหน่อย ชื่อหนอนกับน้อยหน่า ไม่เพียงเสียงที่พ้องกัน ความหมายถึงความอยู่เคียงคู่กันก็เหนียวแน่นไม่แพ้

“จำได้ว่าลูกค้าที่ร้านเป็นผู้ใหญ่หมดเลย เราเองยังเด็กมากๆ จึงไม่ค่อยมาอยู่หน้าร้าน เวลาลูกค้ามาถึงจะได้รับเชิญเข้าห้องและรับการบริการอยู่ในนั้นจนเสร็จ” น้อยหน่าเล่าถึงความทรงจำหลังจากเจี๊ยบตัดหนังยางน้อยหน่าในฉากจบของหนัง ไม่สิ น้อยหน่าคนนี้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับน้อยหน่า นักเรียนชั้นประถมสี่ หัวหน้าทีมนำเต้นเพลง รักคือฝันไป ในงานวันเด็กของโรงเรียน

สำหรับ ‘ห้อง’ ที่น้อยหน่าคนนี้พูดถึง เราขออธิบายด้วยการฉายภาพไดอะแกรมสามมิติล้ำๆ ผ่านตัวหนังสือให้คุณนึกภาพตามว่าเป็นห้องบริการตัดผมระดับ VIP ที่มอบความเป็นส่วนตัว บริการทุกอย่างทุกๆ ขั้นตอน ทุกระดับ ประทับใจโดยช่างเพียงคนเดียว ซึ่งมีรูปแบบมาจากห้องตัดผมในโรงแรมดุสิตธานี

“สมัยก่อนร้านบาร์เบอร์ทั้ง 30 ร้านในสยามสแควร์จะให้บริการตัดผมแบบห้อง VIP ทั้งหมด ไม่ได้เป็นโต๊ะเรียงแบบที่เห็นในร้านตัดผมชายปัจจุบัน โดยทุกร้านในสมัยนั้นจะเป็นรูปแบบเดียวกันคือมีโซฟา และช่างนั่งอยู่ตรงโซฟา พอลูกค้าเข้าร้านมาช่างก็จะเดินเข้าไปตัดผม ถ้าเป็นคนรุ่นเราที่อายุ 30 – 40 ก็จะไม่ค่อยทันแล้ว สมัยนี้มีร้านแบบนี้ตอนนี้ให้เห็นอยู่ร้านเดียวในสยาม” หนอนเล่าถึงบรรยากาศร้านตัดผมชายในยุคเฟื่องฟูให้เราฟังด้วยตาเป็นประกาย

เมื่อเราถามถึงบรรยากาศสมัยก่อนทั้งหมด ทั้งหนอนและน้อยหน่าบอกให้เราอดใจรอเพื่อถามจากแม่ติ๋ว ซึ่งเราก็ขอยืนยันอีกเสียงว่าสนุกจนน่านำไปทำหนังสารคดีส่งประกวดเมืองคานส์ แต่ถ้าคุณรอไม่ไหว เราอนุญาตให้ scroll down ลงไปอ่านบทสัมภาษณ์แม่ติ๋วด้านล่างก่อนได้ตามอัธยาศัย โดยที่ไม่ลืมเลื่อนกลับขึ้นมาที่จุดเดิมตรงนี้

หนึ่งในตัวอย่างบรรยากาศที่หนอนเล่าไปยิ้มไปก็คือ “สมัยก่อนจะมีลูกค้าประจำคนหนึ่ง บ้านอยู่ไกลมาก แต่มาที่ร้านสาขาสยามทุกวัน มาสระผมและหลับไป จะว่าไปเป็นไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นนั้นที่ต้องมาสยามเป็นกิจวัตร มาซื้อของ เข้าร้านทำผมเพื่อผ่อนคลาย แล้วจบด้วยมื้อเย็นที่ร้านสีฟ้า ที่น่ารักคือไม่เพียงใจดี หมั่นซื้อข้าวและน้ำดื่มมาฝากช่างที่ร้านอยู่เสมอ คนขับของลูกค้าท่านนี้ยังสนิทสนมกับคนที่ร้านราวกับเป็นส่วนหนึ่งของร้าน ระดับบรรจุเข้าเป็นพนักงานเพราะจะมาที่ร้านเวลา 11 โมงก่อนจะกลับไปตอน 4 โมงเย็น”

Tew’s Barber กับบรรยากาศสยามสแควร์ยุคเรืองรอง ในมือของทายาท (และลูกเขย) รุ่นที่สอง

หมั่นคอยดูแลและรักษาดวงใจ

จนกระทั้งในช่วง พ.ศ. 2547 – 2548 การเข้ามาของซาลอนที่ทำให้คนรุ่นใหม่ห่างจากบาร์เบอร์ออกไป ติ๋วบาร์เบอร์ในยุคของแม่จึงปรับกลยุทธ์ด้วยการเพิ่มช่างตัดผมสำหรับผู้หญิงเข้ามา แต่นั่นทำให้ลูกค้าเก่าๆ ซึ่งเป็นลูกค้าผู้ใหญ่ไม่กล้าเข้า เพราะรู้สึกไม่ได้รับความเป็นส่วนตัวอย่างที่เคย

ซาลอน คือร้านทำผมทั้งหญิงและชาย “เหมือนเราเป็นเพลงลูกทุ่ง แล้วซาลอนเป็นเพลงสตริง” พ่อกับแม่ที่นั่งฟังสัมภาษณ์อยู่ข้างๆ รีบเสริม

บาร์เบอร์จะถูกมองว่าเป็นสิ่งที่เชยไม่ทันสมัย

“เมื่อก่อนบาร์เบอร์ไม่ได้มีเครื่องไม้เครื่องมือมากนัก ขณะที่ซาลอนมีเครื่องมือจากญี่ปุ่น หม้ออบ เครื่องดัดลอน ยืดผม ทำสี ทำทรีตเมนต์ ประกอบการแต่งร้านที่ดูโฉบเฉี่ยว มีเก้าอี้เก๋ๆ มีเตียงสระผม ดูทันสมัย และยังมีสถานีช่างคนนี้รับผิดชอบการตัด คนนั้นรับผิดชอบการสระผม มีคนบริการมากมาย ดูสะดวกสบายไปหมดทุกสิ่ง มีสมาคมแบ่งปันความรู้การเกล้าผม ทำสี ทำไฮไลต์ แต่บาร์เบอร์มีอย่างมากก็แค่รองทรงสูง กลาง และต่ำ

Tew’s Barber กับบรรยากาศสยามสแควร์ยุคเรืองรอง ในมือของทายาท (และลูกเขย) รุ่นที่สอง
Tew’s Barber กับบรรยากาศสยามสแควร์ยุคเรืองรอง ในมือของทายาท (และลูกเขย) รุ่นที่สอง

“เมื่อถึงจุดหนึ่ง เรารู้สึกว่าถึงเวลาที่ร้านต้องปรับเปลี่ยนให้ทันยุคทันสมัยเพราะเด็กสมัยใหม่ไม่เคยชินเขาก็ไม่กล้าเข้าร้านบาร์เบอร์ ความตั้งใจเราอยากให้มีลูกค้าทุกวัย ตั้งแต่วัยรุ่นไปถึงวัยทำงาน” น้อยหน่าเล่าถึงจุดเปลี่ยนของการเริ่มปรับโฉมร้านติ๋วบาร์เบอร์ใหม่

“ตอนนั้นกระแสบาร์เบอร์ก็ยังไม่ค่อยมี เราก็คิดออกแบบว่าจะทำร้านอย่างไรให้บาร์เบอร์กลับมา”

“ก่อนหน้านี้ผมเองตัดผมกับที่ร้านมาตลอด เราสัมผัสถึงความพิเศษของการบริการที่เราอยากรักษาให้สิ่งนี้อยู่ต่อไปและอยากให้คนอื่นๆ ได้มาสัมผัส จึงบอกแม่ว่าขอเก็บบริการทั้งหมดที่เคยมีเอาไว้ จะปรับก็เพียงรูปร่างหน้าตาของร้าน โดยเพิ่มตัวตนความเป็นบาร์เบอร์ลงไปและสร้างแบรนด์เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ

“เรื่องการทำร้านใหม่ สิ่งที่แม่ขออันดับแรกๆ คือ ต้องมีห้องบริการแบบส่วนตัว ตอนแรกก็คิดว่าจะมีดีไหมเพราะค่อนข้างกินพื้นที่ร้าน แต่มาวันนี้เราพบว่าการมีอยู่ของห้องส่วนตัวทำให้ร้านเราแตกต่างจากที่อื่นๆ และเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงๆ ตั้งแต่ร้านของแม่ เราไม่ได้จัดขึ้นมาใหม่” หนอนผู้ทำหน้าที่ดูแลควบคุมการปรับโฉมเล่าไอเดียเริ่มต้น

ซึ่งช่วงแรกของการเปิดร้านหลังการรีโนเวต หนอนเล่าว่ามีทั้งลูกค้าเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างเพราะคนยังไม่คุ้นกับร้านตัดผมสไตล์บาร์เบอร์ “5 ปีก่อนคนไม่ได้ฮิตทรงวินเทจแบบตอนนี้ แล้วเราก็เชียร์ให้เขาตัดแบบนั้น ในขณะที่เทรนด์ผมยุคนั้นคือญี่ปุ่นๆ เกาหลีๆ ซอยผม ทำสีผม พอเราไปไถผมเขาด้วยปัตตาเลี่ยนก็จะมีคนที่เข้าใจและไม่เข้าใจ” โชคดีว่าผ่านไป 1 ปีเทรนด์ทรงผมวินเทจก็กลับมาฮิตในหมู่หนุ่มๆ พอดี

“เรื่องทรงผมมันเป็นเทรนด์มาและไป ร้านจึงต้องคุยกันอยู่เสมอ เป็นตัวเองบ้าง ปรับให้เข้ากับเทรนด์และความต้องการของลูกค้าบ้าง พยายามมีทรงผมหลากหลายมากขึ้นโดยคุยกับช่างให้เข้าใจ ช่างที่ตัดผมตั้งแต่สมัยแม่ทำร้านยังอยู่กับเรา 1 คน นอกนั้นเป็นช่างรุ่นใหม่จากหลากหลายเส้นทางมาก บางคนจบสถาปัตย์ฯ มา จบวิศวะฯ จบดุริยางค์ฯ ก็มี” และเนื่องจากทักษะและประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ช่างของทางร้านจึงต้องผ่านช่วงเวลาฝึก 2 – 3 เดือนเพื่อเข้าใจวัฒนธรรมและหัวใจสำคัญอย่างการบริการ

จากที่เคยคิดว่าร้านตัดผมผู้ชายให้บริการตัดผม โกนหนวด จัดเซ็ตให้เข้าทรงและจบไป ติ๋วบาร์เบอร์ทำให้เราเรียนรู้บริการบาร์เบอร์ดั้งเดิม ผ่านขั้นตอน 1 – 10 ของการบริการ ที่มีตั้งแต่เสิร์ฟน้ำดื่มดับกระหาย ถ้าลูกค้ามาร้อนๆ ช่างจะเช็ดและเป่าไดร์ให้ก่อนพูดคุยเรื่องทรงผมสักพัก และเตรียมตัวตัดผม กันทรงเก็บทรงให้เรียบร้อย พูดคุยกับลูกค้าอย่างเหมาะสม

Tew’s Barber กับบรรยากาศสยามสแควร์ยุคเรืองรอง ในมือของทายาท (และลูกเขย) รุ่นที่สอง
Tew’s Barber กับบรรยากาศสยามสแควร์ยุคเรืองรอง ในมือของทายาท (และลูกเขย) รุ่นที่สอง

ไม่เคยรักใครเท่าติ๋ว

ติ๋วบาร์เบอร์ พ.ศ. 2555

“ถ้าเทียบกับสเกลของร้านสมัยก่อน แม่มีช่างผม 30 คน ช่างเล็บ 5 – 6 คน ขณะที่ร้านเรามีช่าง 10 คนใน 2 สาขา เทียบกับลูกค้าของแม่จึงมีเยอะกว่า ช่างตัดผมแข่งกันวิ่งรอกลงเวลา แต่ปัจจุบันไม่เป็นแบบนั้นแล้ว ช่างตัดผมน้อยลง แต่ลูกค้าที่เข้ามาตัดผมยังมีเยอะเท่าเดิม ถึงแม้จะมีช่างไม่เยอะแต่เราก็คุมคุณภาพการบริการให้ดีงามเหมือนร้านสมัยแม่” น้อยหน่า ทายาทผู้ดูแลติ๋วบาร์เบอร์รุ่นที่สองและรุ่นที่สาม (ในท้อง) เทียบให้ฟังถึงความแตกต่างระหว่างร้าน 2 ยุค

“งานตัดผมเป็นงานฝีมือจริงๆ ช่างแต่ละคนก็จะมีวิธีการที่จะสร้างสรรค์แตกต่างกันออกไป ซึ่งบาร์เบอร์จะแตกต่างกับซาลอนตรงที่ช่างจะจบงานทั้งหมดคนเดียวตั้งแต่ สระ-ตัด-เซ็ต จึงต้องกำหนดเวลาการให้บริการต่อลูกค้า 1 ท่าน” หนอนเสริม และด้วยความไม่เคยชินของลูกค้าเรื่องระบบจองคิว ทำให้ติ๋วบาร์เบอร์ถูกเข้าใจว่าเป็นร้านตัดผมฮิปๆ หยิ่งๆ อยู่เสมอ

“แรกๆ ยังเป็นระบบ walk-in อยู่ ก่อนจะมีเปิดจองเพื่อจัดระบบคิว flow ในร้าน และความเป็นส่วนตัวของลูกค้า ในช่วงแรกคนก็อาจจะยังไม่ชินที่ต้องจองคิว ซึ่งจริงๆ ต่อให้ไม่ใช่ร้านติ๋วบาร์เบอร์ แต่เป็นร้านตามตลาดในต่างจังหวัดที่มีช่างตัดคนเดียว ลูกค้าก็โทรจองถามช่างว่าว่างอยู่ไหม ต้องนัดช่างเหมือนกัน”

เราถามถึงจุดเด่นของติ๋วบาร์เบอร์ที่มีมากกว่าการตัดผม แต่แทนที่จะได้รับคำตอบหรูหรา หนอนกลับเลือกจะเล่าจุดที่ตัวเองไม่เก่ง “เรารู้ว่าเราไม่ได้เก่งเรื่องเคมีมากอย่างเรื่องย้อมผมและดัดผม เราพอทำได้แต่เป็นในสไตล์ old-school จริงๆ เน้นเราตัดผมเป็นส่วนใหญ่”

Tew’s Barber กับบรรยากาศสยามสแควร์ยุคเรืองรอง ในมือของทายาท (และลูกเขย) รุ่นที่สอง
Tew’s Barber กับบรรยากาศสยามสแควร์ยุคเรืองรอง ในมือของทายาท (และลูกเขย) รุ่นที่สอง

ก่อนจะเล่าความดีงามของเก้าอี้ไฟฟ้าที่มีมาตั้งแต่ยุคของแม่ว่า “เก้าอี้ที่ร้านมีมาตั้งแต่รุ่นแม่ เป็นเก้าอี้ไฟฟ้า ปรับเอนนอนสระผมในห้องนั้นเลย ลูกค้าที่ไม่ชินพอตัดผมเสร็จเขาก็พยายามลุกออกจากเก้าอี้ เราก็ถาม ‘พี่จะไปไหนครับ สระผมตรงนี้เลย’ พอสระเสร็จช่างก็จะเอาผ้ามาปิดตา มีอโรม่านิดๆ ให้รู้สึกผ่อนคลาย”

สมัยก่อนติ๋วบาร์เบอร์มีบริการขัดรองเท้าหนัง ขัดเข็มขัด แต่เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยติ๋วบาร์เบอร์จึงเปลี่ยนบริการเสริมมาเป็นบริการล้างแว่นตาแทน

รวมไปเรื่องจัดแต่งทรงผม “ช่วงเริ่มต้นปรับรูปแบบ เราใส่ Pomade ให้ลูกค้า ลูกค้าบอก ‘ขอล้างออก’ (หัวเราะ) แต่เดี๋ยวนี้ไม่แล้ว คนเข้าใจมากขึ้น ลูกค้าชาวต่างชาติก็มีมากขึ้น อย่างชาวสิงคโปร์จะจองตัดกับเราตลอด” จากนั้นหนอนจึงก็พัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองในชื่อ bad taste ซึ่งมี 2 สูตร ได้แก่ สูตรออริจินัล ช่วยให้ผมอยู่ทรงสวยงาม และสูตรธรรมชาติ ทำให้ผมดูมี volume เซ็ตเหมือนไม่เซ็ต

หลังจากรับช่วงต่อติ๋วบาร์เบอร์อย่างเป็นทางการ ทั้งสองคนก็เจอหัวใจของแบรนด์ติ๋วบาร์เบอร์ที่ทำให้ทั้งคู่อยากเก็บรักษาสิ่งเหล่านี้เอาไว้

“หนึ่งคือ เรื่องการบริการ สองคือ เรื่องทำเลร้านที่สยามซึ่งเราอยากรักษาไว้ เดิมทีก่อนร้านเป็นของแม่ คนเช่าเดิมก็ทำร้านตัดผมมาก่อน สามคือ สไตล์และทรงผม ของเราจะออกแนวเรียบร้อยแต่ยังให้ความเป็นผู้ชายอยู่ ดูเป็นผู้ชายสะอาดสะอ้าน”

สิ่งที่พิสูจน์ผลของการรับช่วงต่อในสายตาของทั้งคู่ก็คือ การที่ลูกค้ายอมรับระบบจองและโทรมาจองอยู่เรื่อย รวมไปถึงสายสัมพันธ์ระหว่างลูกค้าและคนในร้านที่กลายมาเป็นเพื่อน

“เราเห็นสิ่งที่แม่ทำมาตลอด เราผูกพัน เราอยากจะรักษาสิ่งนี้ไว้ให้คนรุ่นต่อไปสัมผัสและเข้าใจการบริการของบาร์เบอร์ว่าเป็นอย่างไร ก่อนหน้านี้แม่เป็นห่วงเรื่องการปรับรูปแบบร้าน กลัวว่าเราจะปรับจนไม่เหลืออะไรเลย (หัวเราะ) กลัวลูกค้าเดิมไม่เข้า รวมถึงเรื่องความเข้าใจเรื่องทฤษฎีและเทรนด์ทรงผมซึ่งช่างตัดผมเก่าๆ จะไม่เชื่อเพราะเห็นว่าเราตัดผมไม่เป็น” น้อยหน่าทิ้งท้ายความตั้งใจค่อยๆ รอการพิสูจน์

Tew’s Barber กับบรรยากาศสยามสแควร์ยุคเรืองรอง ในมือของทายาท (และลูกเขย) รุ่นที่สอง

ขณะที่หนอนเชื่อเรื่องการทำให้เห็นว่าจะพิสูจน์สิ่งที่คนรุ่นเราเชื่อและตั้งใจทำ ไปพร้อมๆ กับการใส่รายละเอียดเรื่องการบริการและไอเดียอื่นๆ เพื่อให้ทันกับยุคสมัยและความต้องการของคนยุคใหม่ แม้ต้องต่อสู้กับความไม่เข้าใจของช่างรุ่นเก่า

“แต่ถึงกระนั้นการทำธุรกิจกับที่บ้านสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน พ่อแม่ ลูกเขย สะใภ้ ก่อนมารับช่วงเราก็ต้องคุยกับแม่เยอะว่าแม่ทำอะไรมาบ้าง สิ่งที่เราควรจะทำคืออะไร แล้วประยุกต์ในทิศทางของเรา ระหวางนั้นจะเห็นว่าเกิดการพูดคุยกันอยู่เสมอ”

คุยกันจบเราก็นึกขึ้นได้ว่า เราไม่ได้พูดคุยเรื่องทรงผมของคุณผู้ชายจนเกิดความเข้าใจมากขึ้นเท่าไหร่ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น เพราะเราปล่อยให้เป็นหน้าที่ของช่าง ความตั้งใจบันทึกบรรยากาศให้คงอยู่และปรับเปลี่ยนคุณค่าที่มากกว่าตัวเงินนี้ให้อยู่รอดต่อไปต่างหากที่เรารัก

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าตั้งแต่ต้นจนจบบทสนทนา เราไม่แปลกใจสักนิดว่าทำไมเจี๊ยบถึงไม่ได้ครองรักกับน้อยหน่า แม้น้อยหน่าคนนี้จะคนละคนกับน้อยหน่าคนนั้นก็ตาม

ติ๋วบาร์เบอร์ (พ.ศ. 2537)

ออกตัวสักนิดว่าล้อมกรอบของทายาทรุ่นสองตอนนี้จะยาวกว่าที่เคย แม่เริ่มจากการเป็นช่างตัดผมผู้หญิง (พ.ศ. 2523) และอยากลองตัดผมผู้ชายดูบ้าง จึงไปเรียนวิชาบาร์เบอร์เพื่อเติม ก่อนจะติดใจความเรียบง่ายของการตัดผมผู้ชาย “ทั้งวิธีการตัดผมที่มีแค่ทรงสั้น กลาง และยาว และนิสัยสบายๆ ของลูกค้าผู้ชาย ถ้าเป็นทรงผมผู้หญิงลูกจะว่าเดี๋ยวสั้นไปยาวไปบ้างล่ะ เอียงบ้างล่ะ” แม่ติ๋วเล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นความหลงใหลในปัตตาเลี่ยน

ราวกับแม่ติ๋วจะอ่านสีหน้าที่แสดงคำถามถึงเรื่องการอัพเดตเทรนด์ทรงผมใหม่ๆ ในสมัยก่อนของเราออก แม่ติ๋วรีบเล่าให้ฟังว่า “สมัยนั้นต้องหมั่นไปเรียนวิชาในโรงเรียนสอนทำผมและชมรมช่างตัดผมชายอยู่เรื่อยๆ มีแข่งขันตัดผมเหมือนมีเพื่อนคอยอัพเดตเทรนด์กัน”

บาร์เบอร์ในยุคนั้นถือเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของผู้ชาย เพราะทั้งมอบประสบการณ์ผ่อนคลาย และเป็นแหล่งรวมตัวและพบปะกลุ่มเพื่อนก่อนเดินเที่ยวกินข้าวกันที่สยามสแควร์ “สมัยก่อนลูกค้าผู้ใหญ่บางคนเขาจะมีเครื่องดื่มติดตัวมาเอง แล้วบอกขอนั่งดื่มรอเพื่อนในร้านของเรา บ้างก็ดื่มไปด้วยตัดผมไปด้วย อันที่จริงผู้ใหญ่เขาไม่เที่ยวผับบาร์กันเท่าไหร่” ถือว่าเป็นกิจกรรมผ่อนคลายอย่างที่สุด “เมื่อก่อนยังไม่มีระบบจอง ลูกค้ามาถ้าช่างว่างก็จะตัดเลย ถ้าช่างไม่ว่างก็มาใหม่วันหลัง ลูกค้าสมัยก่อนเขามาสยามทุกวัน มากินข้าว มาซื้อเสื้อผ้า แหล่งศูนย์รวมผู้คนเพราะยังไม่มีห้างสรรพสินค้า”

แล้วอะไรคือนิยามของความติ๋วบาร์เบอร์ เราถาม และสิ่งนั้นก็คือ การมอบความสบายใจและความเป็นกันเอง การบริการที่มากกว่าการบริการ และความเป็นส่วนตัวที่ติ๋วบาร์เบอร์ให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง “ลูกค้าบางคนมาถึงก็หลับเลย พักผ่อนของจริง” แม่ติ๋วหัวเราะก่อนจะทิ้งท้ายความรู้สึกที่มีต่อ ติ๋วบาร์เบอร์ ในยุค พ.ศ. 2560

“เราไม่ค่อยห่วงอะไรนะ เขาเห็นสิ่งที่เราทำมาตั้งแต่เด็ก”

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan