ทันทีที่เครื่องมือนำทางแจ้งบอกว่าเรามาถึงหมุดหมายที่ตั้งโรงงานเหล็กย่านสุขสวัสดิ์ เราก็เกิดอาการประหม่าเล็กๆ เพราะนึกจินตนาการถึงภาพฉากโรงงานเหล็กสุดแข็งแกร่ง เครื่องมือเครื่องจักรใหญ่โตที่มาพร้อมเสียงดังอึกทึก

จนเจอเข้ากับรั้วโรงงานสีชมพูสดใส พร้อมการปรากฏตัวของ ปิ่น-ศรุตา เกียรติภาคภูมิ ศิลปินและนักออกแบบเจ้าของแบรนด์ PiN (พิน) หนึ่งในทายาทรุ่นสองของโรงงานเหล็กแห่งนี้

“โห เท่จัง” ปิ่นบอกกับเราในแรกพบที่เห็นว่าเป็นทีมงานผู้หญิงร่างบางกับภารกิจจัดทำบทความทายาทโรงงานเหล็ก อันที่จริงเราก็เขินที่จะเขียนถึงตัวเองแบบนี้ แต่นั่นก็เพื่อให้คุณผู้อ่านติดตามบทบรรยายย่อหน้าถัดไปได้ทัน

เราเดินตามปิ่นผ่านเขตพื้นที่เครื่องจักรใหญ่เข้าไปถึงสตูดิโอเล็กๆ ของเธอ พร้อมอุทานในใจดังๆ ว่า ‘โห เท่จัง’ ตามไปด้วยตลอดทางเดินที่เรียงรายไปด้วยผลงานจาก PiN Metal Art ทำพวกเราตื่นเต้นเหมือนอยู่โอเอซิสแกลเลอรี่อย่างไรอย่างนั้น

PiN ทายาทรุ่นสองผู้เปลี่ยนเศษเหล็กในโรงงานของที่บ้านให้กลายเป็นโคมไฟแบรนด์ดังระดับโลก

PiN ทายาทรุ่นสองผู้เปลี่ยนเศษเหล็กในโรงงานของที่บ้านให้กลายเป็นโคมไฟแบรนด์ดังระดับโลก

PiN ทายาทรุ่นสองผู้เปลี่ยนเศษเหล็กในโรงงานของที่บ้านให้กลายเป็นโคมไฟแบรนด์ดังระดับโลก

ก่อนอื่นเราอยากแนะนำให้รู้จักกับปิ่นสั้นๆ ปิ่นเป็นน้องสาวคนเล็กในจำนวน 3 พี่น้องทายาทรุ่นสองของโรงงานเหล็กผู้รับผลิตลูกล้อ บานเลื่อน กุญแจ บานสวิง อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ต่างๆ เธอนำเศษชิ้นส่วนจากการผลิตในโรงงานเหล่านี้มาต่อยอดเป็นผลงานศิลปะสร้างมูลค่าจากเดิมกว่าร้อยเท่า และยังกลายเป็นแบรนด์ของแต่งบ้านแบรนด์ดังที่ใครๆ ก็หลงรัก แต่ปิ่นไปไกลกว่าการแปรเปลี่ยนเศษวิเศษให้กลายเป็นงานสร้างมูลค่าและความงาม

ความพิเศษแรก ไม่เพียงการเดินสายแสดงงานดีไซน์แฟร์ระดับโลกอย่าง MAISON&OBJET ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส ถึง 4 ปีซ้อน รวมถึงงานดีไซน์แฟร์ทั่วโลก ทั้งเดนมาร์ก อังกฤษ ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย PiN ยังได้รับการยอมรับทั้งจากรางวัลด้านการออกแบบระดับประเทศและอาเซียน และจากยอดออร์เดอร์มากมายทั้งในไทยและต่างประเทศ ปิ่นเล่าให้ฟังว่า “ที่ประทับใจที่สุดคือ เรามียอดสั่งซื้อกว่า 100 ชิ้นตั้งแต่ครั้งแรกที่ออกงานแฟร์ BIG+BIH 2012 ที่ไทย และหลังจากที่มีออร์เดอร์จากอเมริการ้อยกว่าชิ้น ปีถัดมาเขาก็สั่งอีก 300 ชิ้น ซึ่งเป็นจำนวนกว่าครึ่งคอนเทนเนอร์ ทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะงานแฟร์ รางวัลที่ได้รับ และยอดสั่งซื้อต่างๆ เราดีใจมากที่ได้บอกให้โลกรู้ว่าเราคนไทยก็ไม่ด้อยไปกว่าใคร ให้ชาวต่างชาติรับรู้ว่าเรามีดีและไม่ธรรมดานะ”

ความพิเศษที่สอง เธอเชื่อในเรื่องราวชีวิตของคนในโรงงานแบบที่ป๊าของเธอเชื่อ บทสนทนาด้านล่างจึงไม่ได้คุยกับเธอในมุมของการออกแบบอย่างที่เธอเคยชิน แต่เราชวนคุยเรื่องคุณค่าขององค์ความรู้ 2 ยุคสมัยและการสืบทอดกิจการในยุคสมัยที่คนรุ่นใหม่คอยจะวิ่งหนี

เป็นครั้งแรกที่เราไม่รู้สึกหงุดหงิดใจสักนิดที่มีเสียงเครื่องจักรดังแทรกบทสนทนาระหว่างเรา ไม่รู้ว่าเพราะเรื่องราวด้านล่างนี้หรือไม่ แต่เราคิดว่ามีส่วนไม่มากก็น้อย

PiN ทายาทรุ่นสองผู้เปลี่ยนเศษเหล็กในโรงงานของที่บ้านให้กลายเป็นโคมไฟแบรนด์ดังระดับโลก

ธุรกิจ: ห้างหุ้นส่วนจำกัดโชติอนันต์โลหะกิจ (พ.ศ. 2528)
ประเภทธุรกิจ: โรงงานอุตสาหกรรม (เหล็ก) ผลิตฮาร์ดแวร์และชิ้นส่วนต่างๆ
อายุ: 32 ปี
เจ้าของและผู้ก่อตั้ง: พรพิพัฒน์ เกียรติภาคภูมิ, กรนิภา เกียรติภาคภูมิ
ทายาทรุ่นที่สอง:
ปาน-อชิร เกียรติภาคภูมิ
เปิ้ล-ปัญญดา เกียรติภาคภูมิ
ปิ่น-ศรุตา เกียรติภาคภูมิ [บริษัท พิน เมททัล อาร์ต จำกัด (พ.ศ. 2555)]

ช่างไม่รู้อะไรบ้างเลย ในความคุ้นเคยกันอยู่ มันแฝงอะไรบางอย่างที่มากกว่านั้น

“ไปโรงเรียนครูชอบให้เขียนว่าที่บ้านทำงานอะไร เราก็เขียนว่ารับจ้างผลิต สมัยนั้นบ้านเรายังเป็นโรงงานปั๊มเหล็กเล็กๆ และเราก็เด็กมากๆ ไม่รู้ว่าที่บ้านทำงานอะไร จนโตมาก็ยังไม่รู้ว่าบ้านทำอะไรกันแน่” ปิ่นเล่าถึงความทรงจำสมัยยังเป็น ด.ญ. ปิ่น เมื่อต้องกรอกอาชีพผู้ปกครองในแบบสอบถามของโรงเรียน ถ้ายังจำกันได้ เราจะรู้ว่าสำหรับเด็กแล้วการระบุคำว่าธุรกิจส่วนตัวหรือค้าขายนั้น เป็นคำที่มีความหมายเข้าใจยากกว่าคำว่า ครู ตำรวจ พยาบาล

“พอโตถึงเริ่มรู้ว่าสิ่งที่ป๊าทำเรียกว่าผู้รับจ้างผลิต ถือว่าเป็นส่วนงานสำคัญในยุคอุตสาหกรรม 3.0 ที่ป๊าเริ่มจากการเป็นช่างเหล็กในโรงงาน ก่อนจะสร้างโรงงานเป็นของตัวเองและขยับขยายโรงงานมาในตำแหน่งที่ตั้งปัจจุบัน”

ปัจจุบัน โรงงานห้างหุ้นส่วนจำกัดโชติอนันต์โลหะกิจยังคงเป็นผู้รับผลิตลูกล้อ บานเลื่อน กุญแจ บานสวิง อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ต่างๆ

แม้ความทรงจำที่มีเกี่ยวกับโรงงานของปิ่นจะไม่เด่นชัดนัก แต่เรื่องราวในอดีตไม่หายไปไหน อย่างน้อยๆ ก็ถูกบันทึกไว้ในชิ้นส่วนแห่งกาลเวลา เช่นภาพถ่ายกองโตที่ปิ่นยกมาให้เราดูตรงหน้า ทั้งยังบอกเราว่าระหว่างค้นรูปภาพเก่าเพื่อถ่ายประกอบการสัมภาษณ์นี้ เธอเจอรูปภาพเก่าๆ รูปภาพโต๊ะทำงานตัวเก่าของพ่อ บทบันทึกเรื่องราวระหว่างที่พ่อเดินทางไปดูงานเครื่องจักรที่โอซาก้า รูปถ่ายที่แม่ส่งให้พ่อไว้ดูเล่น สมุดอวยพรงานแต่งงานพ่อกับแม่ และอื่นๆ ที่ทำให้ทั้งครอบครัวพูดคุยเรื่องราวสมัยอดีตจนลืมเวลากินข้าว

“ช่วงเรียนมัธยมปลาย มีอยู่วันหนึ่งครูประจำชั้นมาเยี่ยมที่บ้านและเห็นกองเศษเหล็กวางเต็มบ้านไปหมด ครูก็พูดว่า ‘ปิ่นรู้ไหมว่าสิ่งที่ปิ่นมีอยู่มันล้ำค่ามาก’ ตอนนั้นเราเพิ่ง ม.4 เอง เรายังไม่เข้าใจอะไร เราสนใจเรื่องศิลปะและกำลังค่อยๆ เติบโตในทางนั้น และระหว่างการเรียนศิลปะเราพบจิตใจและความรู้สึกนึกคิด การถ่ายทอดและสื่อสารออกมาผ่านงานศิลปะ เรื่อยมาจนเรียนมหาวิทยาลัย”

เป็นธรรมดาที่เราจะละเลยสิ่งแสนธรรมดารอบตัวเรา และสำหรับปิ่นความธรรมดานั้นมาในรูปแบบสิ่งรบกวนจิตใจก่อนจะค่อยๆ สร้างความรู้สึกและมุมมองด้านใหม่ที่เปลี่ยนเส้นทางและการค้นหาตัวตน

PiN ทายาทรุ่นสองผู้เปลี่ยนเศษเหล็กในโรงงานของที่บ้านให้กลายเป็นโคมไฟแบรนด์ดังระดับโลก

“ก่อนหน้านี้เราไม่ชอบโรงงาน เราเกลียดโรงงานนี้ เพราะเราเจอสิ่งเหล่านี้ทุกวัน เสียงสะท้านหัวใจจากเครื่องจักรเครื่องใหญ่ มันเกลียดไปหมด ตื่นมาด้วยเสียงเครื่องจักร เราคิดแง่ลบกับโรงงานนี้เสมอ ยิ่งช่วงเรียนศิลปะในมหาวิทยาลัยเราก็ทำงานกับความโศกเศร้า ความหม่นหมอง จนช่วงปีที่ 2 มีวิชา Art Environmental ที่ว่าด้วยเรื่องเอามลภาวะมาทำงานศิลปะ ในตอนนั้นเราตีโจทย์ในใจว่ามลภาวะของเราคือบ้านของเรา เราคิดลบกับมันมากๆ จนเกิดเป็นงานชิ้นหนึ่ง

“วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ที่เงียบมาก ไม่มีเสียงเครื่องจักรเดิน มีแค่เรากับป๊าสองคนทำงานอยู่ที่ห้องพิมพ์ ตัวชิ้นงานเราประกอบจากการเอาเหล็กมาทำเป็นกล่องบ้านมีหลังคา แปะตกแต่งด้วยเศษเหล็ก แล้วใส่กล่องเสียงที่อัดเสียงเครื่องจักรทำงานพร้อมตุ๊กตาเด็ก 3 ตัวร้องไห้หาป๊าและม้าไว้ในบ้านหลังนั้น” ปิ่นอธิบายถึงงานศิลปะที่ทำร่วมกันกับพ่อ

ในวันนั้นเอง ปิ่นได้พบกับความรู้สึกใหม่ จากที่เคยคิดว่าโรงงานเหล็กที่เห็นทุกวันคือความเศร้าและหม่นหมองของชีวิต เธอพบความสุขและความรู้สึกพิเศษระหว่างที่คิดงานและสร้างชิ้นงานนี้ออกมาด้วยกันกับพ่อ “ภาวะจิตใจที่ได้ทำงานร่วมกันกับพ่อในเวลานั้นมันพิเศษมากๆ จากเดิมที่เราพยายามจะสื่อว่าสิ่งนี้คือมลภาวะ เรากลับพบความสุขที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนทางความคิดเราเลยนะ เราพบว่าเรามีความสุขนี่หว่า แต่ทำไมเราสื่อสารว่าสิ่งนี้ไม่ดีนะ เรามีความสุขมากที่ได้นั่งคุย ได้นั่งสร้างงาน ด้วยกันกับพ่อ”

หลังจากนั้นปิ่นก็ทำงานศิลปะเรื่อยมาจนกลับมาทำงานเพนต์บนผ้าใบแบบที่ชอบ โดยที่ปิ่นก็คิดกลับไปว่าทำไมเธอถึงชอบเพนต์งานออกมาให้มีสีเหมือนสนิม ทำไมต้องพยายามจำลองสนิมของเหล็กในขณะที่มีเหล็กอยู่เต็มบ้าน ทำไมไม่ใช้เหล็กมาทำงานศิลปะ จึงเป็นที่มาของงาน thesis ชิ้นสำคัญของชีวิต

“เป็นงาน thesis เรื่องสภาพชีวิตของคนงานในโรงงานอุตสาหกรรม ผ่านเทคนิคภาพพิมพ์ที่ใช้วิธีสกรีนภาพถ่ายคนงานลงบนแผ่นเหล็ก ถือเป็นงานที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เรารู้และสำนึกกว่าถ้าไม่มีเขาก็ไม่มีเรา

จากคนที่เคยเกลียดเสียงเครื่องจักร เปลี่ยนมาฟังเสียงของคนงาน เสียงชีวิต และลมหายใจของเรา ของคนงาน ของป๊าและม้าที่เลี้ยงเราตั้งแต่เล็กจนโต”

PiN ทายาทรุ่นสองผู้เปลี่ยนเศษเหล็กในโรงงานของที่บ้านให้กลายเป็นโคมไฟแบรนด์ดังระดับโลก

PiN ทายาทรุ่นสองผู้เปลี่ยนเศษเหล็กในโรงงานของที่บ้านให้กลายเป็นโคมไฟแบรนด์ดังระดับโลก

เธอ เธอทั้งนั้นที่ทำ ให้ช่วงชีวิตของฉันน่าจดจำ

“สิ่งที่เราเป็นเราอย่างทุกวันนี้เพราะเห็นแบบอย่างจากป๊า มันยากมากนะ สิ่งที่เขาถือไว้ คนงานกี่ชีวิตและเบื้องหลังชีวิตของคนงานเหล่านี้อีก ป๊าบอกเลิกไม่ได้ มันเป็นชีวิตที่เชื่อมโยงกันและกันอยู่” ปิ่นบอกเราขณะเตรียมตัวถ่ายรูปพร้อมหน้าพี่น้องทั้งสาม

“เรื่องการรับสืบทอดธุรกิจ จริงๆ เราทั้งสามพี่น้องต่างก็มีแนวทางเป็นของตัวเอง พี่ชายเปิดและดูแลสาขาโรงงานป๊า พี่สาวดูแลโรงงานในส่วนของการขายและอื่นๆ เพราะจบมาตรงสายงาน เรียนปริญญาตรีวิศวกรรมอุตสาหการและปริญญาโทการจัดการ จะมีก็แต่เราที่แยกออกมาแนวทางนี้”

PiN ทายาทรุ่นสองผู้เปลี่ยนเศษเหล็กในโรงงานของที่บ้านให้กลายเป็นโคมไฟแบรนด์ดังระดับโลก PiN ทายาทรุ่นสองผู้เปลี่ยนเศษเหล็กในโรงงานของที่บ้านให้กลายเป็นโคมไฟแบรนด์ดังระดับโลก

เราถามปิ่นถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้นักเรียนศิลปะอนาคตไกลเลือกทำงานกับที่บ้าน ปิ่นบอกเราว่าต้องขอบคุณโชคชะตาที่ทำให้เธอเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองอย่างจริงจัง

“ย้อนกลับไปช่วงปี 3 เพื่อนที่สนิทก็เริ่มถามถึงแผนหลังเรียนจบ ตอนนั้นเราได้แต่บอกไปว่าคงกลับไปช่วยงานที่บ้าน แต่ยังคิดไม่ออกว่าจะทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อนก็พูดให้สติเราว่าถ้ากลับไปช่วยงานที่บ้านแต่ไม่ได้ทำอะไรที่พัฒนางานของบ้านให้ดีขึ้นแล้วจะมาเรียนศิลปะทำไม” เป็นจุดเริ่มต้นให้ปิ่นค้นหาทางตรงกลางระหว่างงานศิลปะและกิจการโรงงานเหล็กของป๊า

“’คุณค่า ความงาม และความหมาย’ ศิลปะสอนให้เรามองสิ่งต่างๆ ให้ลึกลงไปได้มากกว่าที่สิ่งนั้นเป็น เรามองเห็นความงามของเศษเหล็กที่โรงงานเตรียมขายทิ้ง มองหาความหมายที่อยู่ภายใต้ความรู้สึกของคนงานระหว่างกดปั๊มเหล็ก ตั้งคำถามกับช่องว่างระหว่างเศษเหล็ก แล้วเราก็พบสิ่งนั้นจากเครื่องจักรทุกตัวของที่บ้าน เราพบความคิดสร้างสรรค์จากองค์ความรู้เกี่ยวกับศิลปะที่ร่ำเรียนมา”

PiN ทายาทรุ่นสองผู้เปลี่ยนเศษเหล็กในโรงงานของที่บ้านให้กลายเป็นโคมไฟแบรนด์ดังระดับโลก

Make Good Old Things New

ไม่มีเศษ ไม่มีส่วน เพราะเศษชิ้นส่วนทุกชิ้นเต็มไปด้วยเรื่องราวที่ดำเนินอยู่ในโรงงาน

“เศษวิเศษ สิ่งเหล่านี้มันต้องพิเศษมากกว่าที่เป็น สิ่งที่เคยถูกเหยียบย่ำมาตลอดเราต้องยกขึ้นมาให้สูงขึ้นให้ได้

“ป๊า ปิ่นขอเศษเหล็กและคนงาน 1 คน” นี่คือคำขอเดียวที่ปิ่นขอจากพ่อในวันที่เธอเริ่มต้น PiN Metal Art Studio สินค้าของแบรนด์ PiN (พิน) เริ่มต้นเล็กๆ จากเชิงเทียนและนาฬิกา ก่อนจะกลายเป็นโคมไฟ โต๊ะ ประติมากรรมตั้งพื้นและประดับผนัง ซึ่งทุกชิ้นงานผ่านการเชื่อมต่ออย่างประณีตจากช่าง

“PiN (พิน) คือหมุดเหล็กชิ้นเล็กๆ ที่ต่อประกอบขึ้นมากลายเป็นสินค้าใหม่ กลายเป็นของตกแต่งบ้าน เป็นชิ้นงานศิลปะ เป็น the creative item ที่มาจากเศษเหล็กในโรงงานของป๊าที่มีอยู่มากมายและหลากหลายแพตเทิร์น ทั้งยังมีความพิเศษเพราะสามารถดัดสร้างได้ด้วยมือ และมีความเป็นไปได้ที่จะทำลวดลายสวยงามเฉพาะ งานเหล่านี้ทำให้เราเข้าใจโรงงานมากขึ้น และรับรู้ความยากลำบากที่ป๊าสร้างทุกอย่างขึ้นมา ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องทำให้ได้ เราต้องทำให้งานของเรามีส่วนในการหล่อเลี้ยงโรงงานนี้”

PiN ทายาทรุ่นสองผู้เปลี่ยนเศษเหล็กในโรงงานของที่บ้านให้กลายเป็นโคมไฟแบรนด์ดังระดับโลก PiN ทายาทรุ่นสองผู้เปลี่ยนเศษเหล็กในโรงงานของที่บ้านให้กลายเป็นโคมไฟแบรนด์ดังระดับโลก

ปิ่นเล่าว่าเธอพิสูจน์ตัวเองกับพ่อ ด้วยการแสดงความตั้งใจที่จะทำให้เกิดผลผลิตจากเศษเหล็กจริงๆ ให้ได้ และคอยรายงานความคืบหน้ากับพ่ออยู่เสมอ

“เราอยากแบ่งเบาภาระของโรงงานด้วยแนวทางของตัวเอง เป็นทางของเราที่เขายอมรับและสามารถเกื้อหนุนกันและกันได้ ตั้งโจทย์ของตัวเองและต้องทำให้ได้ ในเมื่อไม่รู้เรื่องธุรกิจก็ไปลงสมัครเข้าอบรมกับสถาบันและหน่วยงานส่งเสริมการค้าขององค์กรต่างๆ แต่ในที่สุดคนที่จะให้ความรู้เรื่องธุรกิจเราได้ดีที่สุดก็คือคนใกล้ตัวอย่างป๊านี่เอง”

เราถามถึงผลงานชิ้นพิสูจน์ตัวเองที่เธอประทับใจ เธอก็รีบชี้มือไปที่รูปต้นคริสต์มาสต้นยักษ์ใหญ่ที่ติดอยู่ที่โต๊ะทำงานพร้อมชวนให้เราตื่นเต้นตามไปด้วยว่า “ต้นคริสต์มาสที่หน้าสยามดิสคัฟเวอรี่ ปี 2013 เป็นงานที่ป๊ากับม้าตื่นเต้นกันมากๆ เราเป็นผู้หญิงที่รับงานเหล็กขนาดใหญ่ ที่สำคัญคือเรื่องโครงสร้างที่มีวิศวกรมาเกี่ยวข้องซึ่งได้ลูกชายของเพื่อนป๊ามาช่วย เป็นความรู้สึกที่ดีมากที่รุ่นพ่อโทรคุยกับรุ่นพ่อให้รุ่นลูกรู้จักและช่วยเหลือกัน”

New Life of Waste, New Life of Welder

นอกจากเศษเหล็กจะมีชีวิตใหม่แล้ว คนที่ทำก็ต้องมีชีวิตใหม่ที่ดีขึ้นด้วย

“ทุกวันนี้มูลค่าของชิ้นงานจาก PiN สูงกว่าเหล็กที่ป๊าขายอีกหลายเท่า น้ำหนักของเศษเหล็กกิโลกรัมละ 15 บาท เราแปลงเปลี่ยนเป็นกระจกสวยมูลค่ากว่า 6,000 บาท ซึ่งสิ่งที่เปลี่ยนไปคือประสบการณ์คนดูนะ ถ้าไม่บอกว่าเป็นเศษเหล็กคนก็คงไม่รู้ว่าเป็นเศษเหล็ก ทุกคนคิดว่าเป็นแพตเทิร์น ความตั้งใจจริงของเราก็คือ เราอยากเปลี่ยนการรับรู้ของคน ว่าเหล่านี้ไม่ใช่เศษแต่เป็นลูกไม้เหล็กที่เรานำมาร้อยเรียงใหม่”

ปิ่นบอกเราว่าสิ่งที่เธอทำคือ new life of waste และสิ่งสำคัญต่อไปคือ new life of welder เพื่อทำให้ช่างเชื่อมมีชีวิตใหม่ที่ดีขึ้นด้วย

“เราเรียนรู้จากการสังเกตระบบการทำงานแบบเก่าจากป๊า หรืออุตสาหกรรมแบบ 3.0 นั่นคือ ลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำที่สุดและขายให้ได้จำนวนมากที่สุดถึงจะได้เงินจำนวนมาก แต่ของเราไม่ใช่แบบนั้น เราทำน้อยแต่เราได้มาก เราเอาเศษเหล็กจำนวนหนึ่งกับคนงานเพียงไม่กี่คนสร้างสรรค์งานที่สร้างมูลค่าขนาดใหญ่เทียบเท่ากับที่ป๊าทำมาทั้งหมด สำคัญที่สุดคือ สิ่งที่ป๊าทำก็ยังต้องมีอยู่เพื่อคนที่อยู่

“สิ่งที่คิดต่อมาคือ แล้วเราจะทำอย่างจะเปลี่ยนงานเชื่อมที่อาศัยแรงงานมีฝีมือมาเป็นงานประกอบเพื่อให้คนงานในโรงงานสามารถช่วยเราทำงานนี้ได้ด้วย ในอนาคตอาจจะผลิตงานทั้งจากเศษเหล็กและเหล็กที่เกิดจากการปั๊มในโรงงานด้วย” ปิ่นเล่าความตั้งใจต่อไปพร้อมกับเดินนำเราไปดูต้นแบบผลงานชิ้นใหม่ ซึ่งแม้เราจะนึกภาพตามแบบที่เสร็จสมบูรณ์แล้วไม่ออก เราก็ยังคงตื่นเต้นอยู่ดีกับการคิดค้นวิธีใช้เทคนิคประกอบชิ้นส่วนเพื่อให้พนักงานทุกคนในโรงงานมีส่วนร่วมสร้างสรรค์งานชิ้นนี้ไปด้วยกัน

PiN ทายาทรุ่นสองผู้เปลี่ยนเศษเหล็กในโรงงานของที่บ้านให้กลายเป็นโคมไฟแบรนด์ดังระดับโลก PiN ทายาทรุ่นสองผู้เปลี่ยนเศษเหล็กในโรงงานของที่บ้านให้กลายเป็นโคมไฟแบรนด์ดังระดับโลก

PiN ทายาทรุ่นสองผู้เปลี่ยนเศษเหล็กในโรงงานของที่บ้านให้กลายเป็นโคมไฟแบรนด์ดังระดับโลก

“ความมุ่งหวังของเราคืออยากให้คนงานภูมิใจในสิ่งที่ทำ ไม่ใช่นั่งเบื่อกับสิ่งที่เห็นอยู่ทุกวัน”

สิ่งที่ปิ่นทำอยู่เธอบอกว่าเป็นเรื่องการเอาชนะตัวเอง “เราเคยถามป๊าว่า ป๊าไม่เหนื่อยบ้างหรอ ป๊าตอบว่า ปิ่นก็ดูในหลวงสิลูก ท่านทรงงานหนักกว่าเราขนาดไหน ท่านยังไม่เหนื่อยเลย ป๊าพูดถึงในหลวงให้เราฟังเสมอ และอีกเรื่องที่ป๊าสอนก็คือให้เราเห็นคุณค่าของคน ป๊าบอกเสมอว่าถ้าไม่มีพวกเขาก็ไม่มีเรา

“สำหรับคนที่ไม่เข้าใจกันและกัน การเชื่อมต่อระหว่างรุ่นหนึ่งและรุ่นสองอาจจะเป็นเรื่องที่ยาก แต่ก็อยากให้ดื้ออย่างมีเหตุผลมากกว่า เราตอบคำถามพ่อกับแม่ได้หรือเปล่า และตอบคำถามตัวเองเกี่ยวกับสิ่งที่จะทำต่อไปได้แค่ไหน ไม่จำเป็นว่าคุณจะรับช่วงต่อกิจการที่บ้านหรือไม่ เพียงแค่คุณตอบตัวเองให้ได้ว่าสิ่งที่ทำอยู่สร้างความสุขแก่ตัวเอง แก่พ่อและแม่ จริงไหม ถ้าหากไม่มีความสุข ให้ฝืนก็คงยาก” ปิ่นทิ้งท้ายก่อนจะออกไปตามป๊าผู้รอคอยการสัมภาษณ์ลำดับต่อไปอยู่ห่างๆ

สำหรับโรงงานและสตูดิโอแห่งนี้ ไม่เพียงปิ่นและพี่ๆ ทั้งสองจะร่วมมีส่วนในการชุบชีวิตเศษชิ้นส่วน ยังช่วยกันเชื่อมร้อยชีวิตผู้คนในโรงงานของป๊า สร้างมูลค่าและคุณค่าของชีวิตทุกคนเข้าด้วยกัน

และสำหรับเรา คนที่อยู่ห่างไกล อย่างน้อยวันนี้เสียงสะท้อนของเครื่องจักรใหญ่ในโรงงานที่เราได้ยินก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

PiN ทายาทรุ่นสองผู้เปลี่ยนเศษเหล็กในโรงงานของที่บ้านให้กลายเป็นโคมไฟแบรนด์ดังระดับโลก

PiN
Website: www.pinmetalart.com/
Facebook: Pin Metal Art
ภาพ: PiN Metal Art

ห้างหุ้นส่วนจำกัดโชติอนันต์โลหะกิจ พ.ศ. 2528

เพื่อพัฒนาระดับความสนิทสนมจากการใช้เวลา 2 ชั่วโมงนี้ร่วมกัน เราถือโอกาสเรียกคุณพ่อของปิ่นว่า ‘ป๊า’ ตามอย่างเธอด้วย

ป๊าเล่าชีวิตการทำงานที่เริ่มตั้งแต่อายุ 14 ปี จากค่าแรงวันละ 3 บาท และบางวันยอมแลกแรงงานกับข้าวต้มมื้อเดียวเพื่อเรียนรู้วิชา หาประสบการณ์จากโรงงานเหล็กดัด แม้จะไม่ได้เรียนหนังสือระดับชั้นสูงมากนัก ป๊าก็เล่าให้ฟังว่าเรียนรู้ลักจำสูตรหาพื้นที่วงกลม 2πr มาจากการทำงานในโรงงานถังน้ำมันรถไฟ “จดไว้เป็นไดอารี่เลยนะ” ป๊าบอกเรา

ด้วยพื้นที่จำกัด เราจึงไม่อาจเล่าเรื่องราวของป๊าโดยละเอียดตั้งแต่ต้นจนจบได้ จึงอยากจะให้คุณนึกภาพตามคำอธิบายของเราถึงพระเอกหนุ่มลูกคนจีนผู้สู้ชีวิต คนที่ไม่เคยเกี่ยงงาน ขยันและมีความคิดสร้างสรรค์อยู่เสมอ ทำงานไปพร้อมๆ กับเรียนรู้วิชาจากโรงงานเหล็กทั้งเล็กและใหญ่จนวันหนึ่งเติบโตมีกิจการเป็นของตัวเอง มีครอบครัวที่อบอุ่น ใช่แล้ว เรื่องราวของป๊าเรียบง่ายตามผลลัพธ์ของความทุ่มเทที่ถูกต้อง

“ด้วยความคิดในใจตั้งแต่เด็กว่าเราต้องทำได้ เราต้องมีโรงงานให้ได้”

ป๊าบอกสูตรลับความมุ่งมั่นแก่เราว่าให้มีความมุ่งมั่นและอย่าท้อ ตั้งใจทำสิ่งที่เราชอบทำและทำออกมาอย่างไม่หยุดยั้ง

“การทำงานของป๊า ป๊าไม่ได้คิดว่าจะหยุดอยู่แค่ตรงนี้ หรือหยุดอยู่แค่การส่งต่อให้ลูกๆ ทำนะ เราก็ยังต้องดำเนินต่อไป ถามว่าเหนื่อยไหม ก็เหนื่อยนะ แต่คนที่เหนื่อยเยอะกว่าเราก็มี” ป๊าส่งพลังงานให้แก่เรา ก่อนจะทิ้งท้ายถึงความรู้สึกที่มีต่องานของปิ่นและแอบป้องปากชวนให้เรามาฟังเรื่องราวโรงงานเหล็กต่อในคราวหน้า

“ปิ่นเอาเศษเหล็กป๊าไปทำ ป๊าก็ว่าดี แต่ป๊าจะบอกเสมอว่าต้องพัฒนาอีก ทำให้ดีกว่านี้ยิ่งขึ้นไปอีก ป๊าคิดแค่ว่าถ้าเขาอยากทำ ให้เขาได้ลองทำไปเลย ทำให้ดีที่สุด”

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล