แม้จะคิดมาในใจแล้วว่าวันนี้จะเลือกหยิบน้ำแอปเปิ้ลมาดับร้อน แต่ทันทีเปิดตู้เย็นรับกลิ่นไอจางๆ มือก็เอื้อมหยิบน้ำส้มกล่องเดิม

หน้าตาบรรจุภัณฑ์อาจจะเปลี่ยนไปตามกาลและสมัย แต่ชื่อตราสัญลักษณ์ที่คุ้นเคยก็ยังยิ้มต้อนรับเราที่ชั้นเครื่องดื่มเย็นอยู่เสมอ ทั้งยังแอบดีใจทุกครั้งที่เห็น ‘มาลี’ ในร้านค้าต่างบ้านต่างเมือง

ตอนที่ The Cloud เริ่มต้นทำคอลัมน์ทายาทรุ่นสอง

มาลี เป็นหนึ่งในแบรนด์ลำดับต้นๆ ที่เราสนใจ

นอกจากผลไม้กระป๋อง น้ำผลไม้ และน้ำมะพร้าวที่กำลังเป็นที่สนใจในตลาดต่างประเทศ มาลีในมือ คุณแจง-รุ่งฉัตร บุญรัตน์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ กำลังไปไกลกว่านั้น

จากเด็กหญิงผู้มีความฝันที่อยากเป็นนักธุรกิจตั้งแต่ 6 ขวบ วันนี้เธอต่อแนวคิดการทำงานที่พ่อสอน จนออกมาเป็นกรอบการทำงานเรื่องคิดถึงคนอื่น ด้วยการใช้วิถีทางธุรกิจ รวมกับการคิดค้นวิจัย สร้างมูลค่าเพิ่มให้วัตถุดิบ จนสามารถเปลี่ยนคุณภาพชีวิตของทุกคนที่เกี่ยวข้อง

หนึ่งในตัวอย่างจากทั้งหมดได้แก่ มาลีมีสินค้าใหม่ Coconut Vinegar หรือน้ำส้มสายชูหมักที่ทำจากน้ำมะพร้าว เป็นสินค้าราคาสูงที่คนต่างชาตินิยมกินเพื่อสุขภาพ จากน้ำมะพร้าวที่ไม่ใช่เกรดสำหรับการบรรจุลงกล่อง นำมาผ่านกระบวนการหมักที่เป็นนวัตกรรมใหม่ที่มาลีคิดค้นขึ้น ทำให้เพิ่มมูลค่าจากเดิมหลายสิบเท่า

และยังมีอีกหลายเรื่องราวที่มาลีกำลังจะเปลี่ยนไป จากกรอบความคิดที่เป็นวัฒนธรรมครอบครัว และวัฒนธรรมองค์กร อย่างการคิดถึงคนอื่น เพื่อจะเติบโตไปด้วยกัน

รุ่งฉัตร บุญรัตน์

ธุรกิจ : บริษัท มาลีกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (พ.ศ. 2521)
ประเภทธุรกิจ : โรงงานน้ำผลไม้และแปรรูปสินค้าเกษตร
อายุ : 40 ปี
เจ้าของ : ฉัตรชัย บุญรัตน์
ทายาทรุ่นที่สอง : รุ่งฉัตร บุญรัตน์
1

เพาะเมล็ด ดูแลต้นอ่อน

ผู้บริหารน้ำผลไม้มาลี

“เราจำได้เลยว่าตอนเรียนอยู่ชั้น ป.2 ครูที่โรงเรียนถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร”

“เราตอบไปว่าอยากเป็นนักธุรกิจ และตั้งแต่วันนั้นความฝันนี้ก็อยู่กับเราตลอดไม่เคยเปลี่ยน”

ความฝันของเด็กหญิงแจงในวัย 6 ขวบช่างแตกต่างจากเพื่อนร่วมชั้นที่แย่งจับจองอาชีพนางฟ้าบนเครื่องบิน

เพราะที่ทำงานของพ่ออยู่ตึกมณียา หรืออาคารที่อยู่ติดด้านขวาของโรงเรียนมาแตร์เดอี ขณะที่ที่ทำงานของแม่อยู่ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ชิดลม หรืออาคารตรงข้ามกับโรงเรียน เพราะฉะนั้น ในเวลาหลังเลิกเรียน ถ้าเด็กหญิงแจงไม่อยู่ที่ทำงานของพ่อ เธอก็จะอยู่ที่ทำงานของแม่

ความฝันน้อยๆ ของเธอจึงเกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจจากที่เห็นพ่อและแม่เข้าประชุมและเซ็นเอกสารอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับการฝึกงานช่วยปั๊มเช็คล่วงหน้ากับฝ่ายบัญชี บ้างก็รับหน้าที่ช่วยทำลายเอกสาร เอากระดาษไปย่อย

“ภาพนักธุรกิจในหัวเราตอนเด็กๆ คือคนที่นั่งสั่งงานที่โต๊ะทำงาน เซ็นเช็ค พอโตมาจึงได้เรียนรู้ว่ามีหลายเรื่องที่ต้องรับผิดชอบมาก และล้วนเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการบริหารคน ซึ่งก่อนหน้านี้เราไม่รู้สึกถึงความกดดันจากการดูแล จัดการ บริหารคน มาก่อน หน้าที่ผู้บริหารไม่ได้ดูแลแค่บริษัท แต่ต้องรับผิดชอบคนอีกหลายชีวิต หลายครอบครัว” คุณแจงเล่า

จนกระทั่งช่วงเรียนมหาวิทยาลัย คุณแจงก็พบว่าจริงๆ มีอาชีพอื่นๆ ที่เธอสนใจอีกมากมาย เช่น ทนาย นักประชาสัมพันธ์ เธอจึงใช้เวลาทุกช่วงปิดเทอมฝึกงานสายอื่นๆ และนั่นยิ่งทำให้เธอแน่ใจว่า เธอรักงานสายธุรกิจ เหมือนที่คุณพ่อคุณแม่ คุณปู่คุณย่า คุณตาและคุณยายเธอเป็น

2

ย้ายต้นกล้า (ต้องกล้า) ลงดิน

ผู้บริหาร

รุ่งฉัตร บุญรัตน์

คุณแจงเล่าว่าตอนแรกเธอผูกพันกับธุรกิจของครอบครัวคุณแม่มากกว่านิดหน่อย เพราะเป็นห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกที่มีของสวยงาม ทุกครั้งที่เธอเดินเล่นในนั้นเธอจะรู้สึกอยากอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบนี้ ได้ใช้ชีวิตสบายๆ ในเมือง เพราะเมื่อก่อนเวลาที่คุณพ่อพาไปทำงาน นั่นคือการพาไปฟาร์มวัว ไปไร่สับปะรด ซึ่งเธอยังไม่รู้สึกคุ้นเคยกับโรงงานและฟาร์มเท่าไหร่

“พอโตขึ้นแล้วได้สัมผัสกับงานทั้งสองฝั่ง เราก็รู้สึกว่าธุรกิจทางบ้านคุณแม่มีญาติพี่น้องคอยช่วยมากมาย การที่เราเป็นส่วนหนึ่งก็อาจจะสร้างการเปลี่ยนแปลงไม่ได้มาก เพราะความสามารถและประสบการณ์เรายังน้อย แต่ถ้าอยู่ช่วยงานคุณพ่อ ซึ่งท่านมักจะพูดอยู่เสมอว่าผลจากสิ่งที่เราทำไม่ได้ส่งผลต่อแค่บริษัท แต่ส่งผลถึงระดับประเทศ หมายความว่ามีเรื่องของเกษตรกรและระบบเศรษฐกิจอยู่ด้วย เขาก็มักจะเล่าภาพใหญ่แบบนี้ให้ฟังอยู่เสมอ”

“และจริงๆ คุณพ่อท่านทำงานบริษัทไม่มาก แต่จะทำงานกับภาคสังคมเยอะกว่า เช่น ทำงานให้กับสภาอุตสาหกรรมและหอการค้า เขาก็จะพาเราไปรู้จักผู้ใหญ่ ได้เห็นความคิดและฟังมุมมองที่ใหญ่กว่าแค่งานบริษัท เราก็เลยรู้สึกว่าสิ่งนี้ มีอะไรให้เราสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ทำให้เราอยากที่จะพัฒนาและทำให้ดีกว่าที่เป็นอยู่” คุณแจงเล่าเหตุผลที่ทำให้เธอตัดสินใจเข้ามาเรียนรู้งานที่มาลี

ช่วง 2 ปีแรกของการฝึกงานในบริษัทมาลีเพื่อทดลองว่านี่คือสิ่งที่เธออยากทำจริงๆ ใช่ไหม

เธอเริ่มจากงานในระดับปฏิบัติการทั้งหมด จนมีครั้งหนึ่งที่ไปออกตรวจงานที่ต่างจังหวัด คุณแจงเห็นกล่องน้ำผลไม้มาลีอยู่ในถังขยะหน้าร้านค้าเล็กๆ เธอบอกว่านี่เป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่าสินค้าของมาลีเข้าถึงผู้คนมากมายขนาดนี้

“ที่ผ่านมา แม้ว่าคุณพ่อจะทำมาลี แต่เราไม่เคยรู้เลยว่าสิ่งนี้ใกล้ชิดและเข้าถึงผู้บริโภคอย่างไร หรือไปไกลขนาดไหนในประเทศนี้ เรารู้สึกว่านี่เป็นโอกาสที่เราจะได้ทำสินค้าดีๆ และส่งต่อไปยังผู้บริโภคทั่วประเทศและทั่วโลกเลยนะ ก็ยิ่งรู้สึกสนุกที่จะทำงาน และตัดสินใจชัดเจนว่าเราจะมาทำงานที่นี่” คุณแจงยิ้ม

3

รดน้ำ พรวนดิน

น้ำผลไม้มาลี

เมื่อเข้าสู่มาลีกรุ๊ปอย่างเต็มตัวแล้ว คนรุ่นใหม่อย่างคุณแจงมีโจทย์ที่อยากเปลี่ยนแปลงหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้องค์กรอย่างไรบ้าง เราถาม

คุณแจงก็รีบสารภาพทันทีว่า เธอเป็นคนรุ่นใหม่ที่หัวโบราณ

“ทุกวันนี้ เราจะเห็นบทความมากมายที่พูดถึงการทำงานกับคนรุ่นใหม่ ทั้งวิธีคิด วิธีทำงาน ซึ่งล้วนแตกต่่างกันไปตามยุคสมัย เหมือนที่เราได้ยินบ่อยๆ ว่าคนรุ่นใหม่จะมีภาพจำว่าต้องการเห็นผลเร็ว อยากเปลี่ยนแปลง และคิดเร็วทำเร็ว  แต่สำหรับแจง แจงชะลอความเร็วของตัวเองลง อดทนรอเวลาที่เหมาะสม ใช้เวลาเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากผู้ใหญ่หรือเพื่อนร่วมงาน  ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนสิ่งต่างๆ”

ช่วง 2 ปีแรกเธอจึงทำตัวเป็นเหมือนฟองน้ำ ที่ซึมซับความรู้และความรู้สึก เพราะอยากรู้ว่าพนักงานรุ่นพี่ที่อยู่มา 25 – 30 ปี เขาคิดอะไรอยู่ และทำไมเขาถึงเลือกทำสิ่งนี้ ก่อนจะตัดสินใจเรียนต่อด้านการบริหาร จนเมื่อมั่นใจว่ามีความรู้และประสบการณ์มากพอ เธอจึงเริ่มมีไอเดียวางแผนและกลยุทธ์ แล้วลงมือเปลี่ยนแปลงตามแผนงานเมื่อเข้าสู่ปีที่ 4 ของการทำงาน เริ่มมีการขยับคน จัดตำแหน่งงาน เพื่อให้ทีมงานเข้าที่ วางรากฐานเรื่องวัฒนธรรมองค์กรอย่างจริงจัง มีการวางกลยุทธ์ มีแนวคิดใหม่ๆ ในการขยายธุรกิจให้กว้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเน้นการส่งออกไปยังต่างประเทศมากขึ้น การปรับสัดส่วนของ product portfolio หรือแม้แต่การวางกลยุทธ์ด้าน Digital Marketing

“เราคิดว่าการที่เรามีความอดทนในช่วงแรก ทำให้คนยอมรับเราในระดับหนึ่งว่าเราไม่ใช่คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาแล้วมุ่งแต่จะเปลี่ยนเพราะคิดว่าการศึกษาดีกว่าคนที่อยู่มาก่อน ถ้าจะเปลี่ยนก็ทำไปด้วยกัน ไม่ใช่เกิดจากการบังคับของผู้บริหาร” คุณแจงเล่า ก่อนจะเสริมว่าเป็นความคิดที่ครอบครัวปลูกฝังนิสัยคนไทยเรื่องอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ แม้ว่าเธอจะได้รับการศึกษาและเติบโตในต่างประเทศ

4

เติบโต…ไปด้วยกัน

ฉัตรชัย บุญรัตน์

ที่มาของแนวคิดการคิดถึงคนอื่นก่อนของมาลี

คุณแจงเล่าว่าเป็นวัฒนธรรมของครอบครัว ที่คุณพ่อจะพูดเสมอว่า “บนโลกความเป็นจริง เมื่อมีคนได้เปรียบก็ย่อมมีคนเสียเปรียบ อะไรที่เรายอมเสียเปรียบได้บ้าง โดยที่เราไม่เดือดร้อนมากนักเราก็ควรยอม แต่ต้องรู้ว่าเราเสียเปรียบตรงไหน และก็ต้องพูดให้เขารู้ด้วยว่าเรายอมเสียเปรียบเขา ไม่ใช่เสียเปรียบเพราะเราไม่ทัน” เป็นที่มาของชุดความคิดเรื่องการคิดถึงคนอื่น

“พอมาทำงานบริษัท เราก็ถามตัวเองว่าทำไมถึงอยากทำธุรกิจ เราไม่ได้อยากรวย หรืออยากมีอะไรเยอะขึ้น เพราะเท่าที่มีอยู่นี้ก็พอใช้ คำถามคือแล้วความตั้งใจที่อยู่เหนือการกระทำของเราทั้งหมดคืออะไร เราตื่นนอนมาทำงานเพื่ออะไร เราก็พบว่าจริงๆ เราอยากสร้างการเปลี่ยนแปลง ใช่! เราอยากมีผลลัพธ์ทางตัวเลขและยอดเงินที่ดี แต่นั่นก็เพื่อที่จะทำให้เรามีเครื่องมือให้เราทำอะไรได้มากกว่า”

และคำตอบของคุณแจงก็คือ Growing Well Together

“โอเค เมื่อก่อนเราอาจจะนึกถึงแต่ผู้ถือหุ้น เพราะเราเป็น Public Company เราต้องมีความรับผิดชอบต่อเขา แต่ความจริงแล้วเราลืมคนข้างหลังที่เป็นเบื้องหลังความสำเร็จของทุกอย่าง ใครบ้างที่เกี่ยวข้องกับเรา พนักงาน ผู้บริโภค เกษตรกร”

ทุกอย่างที่คุณแจงคิดจะมี Why ต่อท้ายเสมอ

ทำไมต้องดูแลพนักงาน Why เพราะเขาจะได้ดูแลครอบครัวเขาให้ดียิ่งขึ้น

ทำไมต้องทำสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ Why เพราะสุขภาพที่ดีเป็นรากฐานการใช้ชีวิตที่ดี

ทำไมเกษตรกรกลุ่มคนที่ทำอาชีพหลักของประเทศ ที่ทำให้ประเทศได้เปรียบทางการแข่งขัน แต่ทำไมเรากลับทำให้เขาแข็งแรงขึ้นไม่ได้ ยิ่งมาลีในฐานะที่เป็นคนที่ใช้ผลผลิตทางเกษตรค่อนข้างเยอะ มาลีพอจะทำอะไรได้บ้าง จึงนำไปสู่การจัดตั้งบริษัทใหม่ๆ หรือการทำ Agricultural Development

5

ออกดอก ออกผล

น้ำผลไม้มาลี

“ทุกอย่างที่คิด ไม่ได้ทำเพราะเราต้องการเป็นผู้ให้เพียงอย่างเดียวนะ แต่จะทำอย่างไรให้การช่วยเหลือนั้นอยู่ในกระบวนการทำงานจริงๆ เราได้ เขาได้ เช่น ถ้าแจงสามารถทำให้บริษัท Malee Applied Sciences (MAS) ประสบความสำเร็จได้ ก็จะเป็นความภาคภูมิใจที่สุดในอาชีพการงานของเรา”

คุณแจงยกตัวอย่าง “เรามองว่า สมมติถ้ามะพร้าวราคาตลาด 10 บาท เราจะทำอย่างไรให้เราสามารถซื้อมะพร้าวลูกละ 13 บาท เพราะหนึ่ง คิดถึงตัวเองก่อนเลยนะว่าเราต้องการลดความเสี่ยงเรื่องการขาดแคลนวัตถุดิบ ในอนาคตที่น้ำมะพร้าวเป็นที่ต้องการของตลาด ทำอย่างไรให้เรามีวัตถุดิบอยู่ตลอด เราก็ต้องซื้อในราคาที่แพงขึ้น”

“สอง การรับซื้อมะพร้าวที่ราคา 13 บาทดีต่อเกษตรกร เพราะเขาจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ขณะเดียวกันเราไม่อยากขึ้นราคาผู้บริโภค เพราะฉะนั้น เราจะทำอะไรกับพวก Waste เช่น กาบ กะลา เปลือกมะพร้าว และนำไปสร้าง By Product ที่มีมูลค่าสูงขึ้นได้บ้าง เราจึงจัดตั้งบริษัทนี้ขึ้นมา และเต็มไปด้วยนักวิจัย เพื่อช่วยกันหาคำตอบให้กับโจทย์ของเราในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบที่เรามีให้มากที่สุด”

คุณแจงเล่าว่าเธอคิดไปถึงขั้นจะทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มจริงๆ เช่นอาจจะเอาบางส่วนที่สกัดได้ไปทำเครื่องสำอางหรือวัตถุดิบทำอาหาร ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการวิจัย

“มีสินค้าตัวแรกออกมาแล้วชื่อว่า Vintico เป็น Coconut Vinegar ที่นำน้ำมะพร้าวเกรดที่ไม่สามารถแพ็กลงกล่องหรือขวดได้ มาหมักเป็น Coconut Vinegar นอกจากจะเป็นวิธีที่สามารถช่วยเกษตรกรในการรับซื้อน้ำมะพร้าวทุกเกรดแล้ว กระบวนการหมักที่เป็นนวัตกรรมใหม่ของเรายังเพิ่มคุณค่าของสารที่มีคุณประโยชน์ในน้ำมะพร้าวได้มากกว่าวิธีเดิมๆ มาก โดยสินค้านี้ขายขวดละ 1,800 บาท เป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์เรื่องสุขภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดทางยุโรปและอเมริกา” คุณแจงเล่าพร้อมส่งแพ็กเกจหรูของ Vintico ให้เราดู

จริงๆ มาลีก็เป็นองค์กรที่แข็งแรง เป็นแบรนด์น้ำผลไม้ที่คนรัก แล้วอะไรคือเหตุผลที่ทำให้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองใหม่ เราถาม

คุณแจงตอบทันทีว่า เหตุผลสำคัญก็คือความยั่งยืน

สิ่งที่มาลีคิดและทำในวันนี้แก้ไขปัญหาได้ในระยะยาวกว่า

จากโจทย์ที่เรียบง่ายของคุณแจงว่า “ทำอย่างไรให้มาลีดูแลคนที่อยู่ใกล้ชิดได้เยอะขึ้น มากขึ้น”

“เราย้ำเสมอว่าเราไม่ได้เปลี่ยนเพราะเราอยากให้มีการเปลี่ยนแปลง หรือเพราะมันเป็นเทรนด์ หรือเพราะคนชอบพูดว่าโลกเปลี่ยนตลอดเวลาและเราต้องหมุนตามให้ทัน แต่เราเปลี่ยนเพราะเรามีจุดประสงค์ชัดเจนว่าจะเปลี่ยนเพื่ออะไร”

6

เก็บเกี่ยว…ประสบการณ์และความสุข

น้ำส้ม

แม้จะเป็นทายาทรุ่นสองของมาลี แต่การมารับช่วงต่อไม่ใช่เรื่องง่าย

คุณแจงเล่าให้ฟังว่าช่วงแรกของการทำงานเธอรู้สึกหนักมาก เพราะถ้า Performance ไม่ดีก็จะได้รับคำแสดงความคิดเห็นจากทุกทิศทุกทางทาง ทั้งครอบครัว ผู้ถือหุ้น พนักงาน

ซึ่งสิ่งที่ได้เรียนรู้ก็คือ เธอเลือกที่จะเลือกฟังสิ่งที่เป็นประโยชน์ และปล่อยสิ่งที่ไม่ใช่ทิ้งไป

ส่วนในเนื้องานบริหาร เป็นเพราะได้รับความไว้วางใจจากพ่อ ซึ่งบอกคุณแจงเสมอว่าต่อให้ลองทำแล้วเจ๊งหรือพลาดพลั้งก็ยังดีเพราะมีเขายังอยู่ช่วยแก้ไข เพราะถ้าเขาจับมือให้เดินไปเรื่อยๆ เมื่อวันที่ต้องทำงานแล้วพลาดพลั้งตามลำพังจะทำอย่างไร

อะไรคือสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานร่วมกัน เราถาม

คุณแจงยกตัวอย่างจากที่เห็นคุณพ่อเป็นคนไม่ยึดติดกับความสำเร็จในอดีต และพร้อมที่เปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อให้ธุรกิจไปข้างหน้า เนื่องจากเมื่อก่อนธุรกิจหลักของครอบครัวคือสับปะรดกระป๋อง แต่เพราะความผันผวนทางเศรษฐกิจ ทำให้สิ่งนี้ไม่ใช่ธุรกิจที่ยั่งยืนแบบที่ครอบครัวต้องการ จึงผันตัวมาทำเครื่องดื่มมากขึ้น

หรือถ้าเป็นเรื่องการทำงาน คุณแจงเรียนรู้วิธีการเจรจาต่อรองวิธีการคุยกับคน วิธีการให้เกียรติคน ซึ่งคุณพ่อของเธอพูดเสมอว่าความเคารพนั้นต้องมาจากใจเขาจริงๆ ไม่ใช่มาเพราะเป็นลูกสาวเจ้าของบริษัท เพราะฉะนั้น การวางตัว การพูดจา การเข้าใจคนทำงาน ทุกอย่างก็มีผล

พ่อลูก

“เมื่อก่อนไม่เข้าใจว่าทำไมพ่อชอบทำงานภาคสังคมเยอะ ทำไมไม่ทำงานบริษัทให้โตขึ้นมากกว่านี้”

“จนวันหนึ่งเราก็รู้ว่า เราคงมองแต่ตัวเองไม่ได้ แต่ต้องมองให้กว้างขึ้น” คุณแจงเล่าก่อนที่พ่อจะเฉลยให้ฟังว่า สิ่งหนึ่งที่พ่อได้จากการทำงานกับภาครัฐและเอกชน เป็นการเรียนรู้วิธีการทำงานร่วมกับผู้อื่น

“ความจริงแล้วธุรกิจเราก็ไม่ได้ใหญ่โตมากมาย ดังนั้น การได้ทำงานร่วมกับผู้ใหญ่ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นวิธีที่จะสร้างโอกาสการเรียนรู้ได้ง่ายที่สุด”

ในขณะที่เรื่องชีวิต นอกจากขอให้เป็นคนดี คุณแจงเล่าว่าพ่อและแม่ไม่เคยปิดบังเรื่องการทำงานหรือเรื่องอะไรกับลูกเลย ไม่ว่าจุดต่ำสุด จุดสูงสุด หรือใครที่ดีกับครอบครัวมากก็จะสอนให้รู้บุญคุณ หรือไม่ว่าท่านทั้งสองจะทะเลาะกันเรื่องอะไรลูกๆ ก็จะรับรู้ทั้งหมด

“นี่เป็นสิ่งที่เราซาบซึ้งมากๆ เพราะทำให้เรามีภูมิต้านทานที่ดีขึ้น จนเพื่อนมักจะบอกว่าเราทำงานหนักแต่ไม่เคยเห็นเราเครียด หรือเมื่อมีปัญหาอะไรก็สามารถแก้ได้ง่าย เพราะมีสติเป็นสำคัญ” คุณแจงยิ้มก่อนจะทิ้งท้ายคำแนะนำสำหรับคนรุ่นใหม่กับการสานต่อกิจการครอบครัวว่า

“ถ้าไม่มีใจแจงก็คงไม่มาทำ ที่มาทำเพราะสนุกกับมันมากจริงๆ เพราะเห็นโอกาสของธุรกิจนี้จริงๆ ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นกับทุกครอบครัว บางธุรกิจอาจจะเป็นช่วงขาลงแล้วจริงๆ ก็ได้ ซึ่งก็ต้องคุยกันว่ามันควรที่จะทำต่อมั้ย หรือเปลี่ยนไปเป็นอะไร”

“เมื่อก่อนก็เคยมีความคิดอย่างไปลองหาประสบการณ์ข้างนอกเหมือนกัน แต่มาคิดดูแล้วมันไม่มีที่ไหนที่จะได้ประสบการณ์เยอะเท่าที่นี่ เราอยากเข้าประชุมผู้บริหารเราก็ทำได้ อยากจะเข้าไปฟังเซลส์ หรือดูเนื้องานส่วนไหนก็ทำได้ ดังนั้น ในเมื่อเรามีโอกาสมากกว่าคนอื่น เราก็ควรคว้าโอกาสในการเรียนรู้นี้ไว้”

Malee

บริษัท มาลีกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (พ.ศ. ๒๕๒๑)

ประสบการณ์กว่า 40 ปีในธุรกิจสินค้าเกษตรของคุณพ่อ ฉัตรชัย บุญรัตน์ ประธานกรรมการ บริษัท มาลีกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นหลังจากเข้ามาช่วยครอบครัวซึ่งทำธุรกิจนมข้นหวานกระป๋อง ตราโรบินฮู้ด เมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว ในยุคนั้นประเทศกำลังมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแผนแรก แก้ไขปัญหาสินค้านำเข้าด้วยการคุมราคาขายในประเทศ ประกอบกับต้นทุนนำเข้านมผงจากต่างประเทศขึ้นลงผันผวนอยู่ตลอดเวลา ส่งผลต่อยอดขายที่ยากจะคาดการณ์

และระหว่างที่เดินทางไปพักผ่อนที่หัวหินหลังจากเรียนจบกลับมาจากต่างประเทศ คุณพ่อก็พบกับสับปะรดราคาถูกเพราะสินค้าล้นตลาดจนต้องทิ้งไว้ข้างทาง จึงตัดสินใจสร้างโรงงานแปรรูปสับปะรดกระป๋อง แต่สับปะรดเจ้าปัญหาจะล้นตลาดอยู่เพียงเดือนเดียวเท่านั้น คุณพ่อจึงศึกษาพัฒนาเทคโนโลยีที่ทำให้สับปะรดออกผลตลอดทั้งปี ด้วยการลงมือทำไร่สับปะรด สร้างเทคโนโลยี สอนชาวบ้าน และรับซื้อผลผลิตมาทำสับปะรดกระป๋องส่งออกเป็นเจ้าแรกๆ ของไทย โดยตอนนั้นยังไม่มีแบรนด์เป็นของตัวเอง จนกระทั้งมีคู่แข่งในตลาดมากมาย

“ในอดีต เรามักจะเห็นว่าบริษัทในบ้านเรารับองค์ความรู้จากต่างประเทศมากกว่าจะพัฒนาเป็นของตัวเอง ส่งผลไปถึงเรื่องตลาดด้วย คงจะดีถ้าเรามีแบรนด์ที่แข็งแรง มีอำนาจพอที่จะดูแลวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ และตลาด พาสินค้าแบรนด์ชื่อไทยวางขายตามที่ต่างๆ สร้างความภูมิใจแม้จะเป็นเพียงส่วนเล็กน้อย”

เมื่อเริ่มคิดจะมีแบรนด์เป็นของตัวเอง แทนที่จะสร้างขึ้นมาใหม่ คุณพ่อเลือกที่จะทำแบรนด์ไทยที่เป็นที่รักมากมายอยู่แล้วในตอนนั้นให้แข็งแรงมากขึ้นด้วยความสามารถที่มี จึงตัดสินใจรับช่วงต่อกิจการแบรนด์มาลีจากเจ้าของเดิม

สิ่งที่มาลีในมือของคุณพ่อเชื่อและทำมาตลอด 40 ปี คือแนวคิดเรื่องการคิดถึงคนอื่น

“ตอนที่ผมทำผมไม่ได้เรียกสิ่งที่ทำว่า Growing Well Together สวยงามแบบสมัยนี้หรอก เราคิดแค่ว่าถ้าองค์ความรู้ที่เราเรียนมาพอจะสามารถช่วยเกษตรกรผลิตวัตถุดิบได้ดีขึ้นทั้งคุณภาพและปริมาณได้ก็คงดี ก่อนหน้านี้เราเคยคิดอยากจะทำเอง แต่ก็พบว่าสิ่งที่เราต้องการนั้นควบคุมและดูแลลำบาก ที่สำคัญสู้ชาวบ้านที่เขาทำมาอย่างเชี่ยวชาญไม่ได้หรอก และถ้าหากปล่อยให้เกษตรกรเขาทำเองก็อาจจะเสียโอกาสบางอย่างไป เราจึงเริ่มทำ Learning Center ทดลองทำก่อนเมื่อผลลัพธ์ออกมาดีก็ส่งต่อให้ชาวบ้านนำไปปรับใช้”

สำหรับเรื่องธุรกิจ ทุกคนมักจะเห็นแต่มุมที่ประสบความสำเร็จ แต่ไม่รู้ว่าที่อีกด้านหนึ่งหรือเบื้องหลังทั้งหมดนี้เขาต้องผ่านอะไรมา เพื่อปูพื้นฐานความเข้าใจ และเขาก็จะภูมิใจในความสำเร็จของทุกคนในวันนี้ คุณพ่อจึงเลือกที่จะเปิดเผยให้ลูกๆ เห็นการทำงานที่ทั้งดีและร้าย สมหวังและผิดหวัง ช่วงเวลาความยากลำบาก และนั่นก็ยิ่งทำให้ทายาทรุ่นสองของมาลีมุ่งมั่นและตัดสินใจรับช่วงต่อธุรกิจของครอบครัว

“ความรู้ความสามารถของลูกๆ ดีกว่าพวกเราอยู่แล้ว เพราะเราให้การศึกษาเขาเต็มที่ แต่สำหรับเรื่องประสบการณ์ ถ้าผมเป็นลูก แล้วมีพ่อที่เข้าใจคอยให้คำปรึกษาเรื่องที่ต้องอาศัยประสบการณ์ ก็คงจะช่วยลดระยะทางการเรียนรู้ไปได้มาก

“กับการทำงานแล้ว ไม่ว่าจะงานอะไรก็ตามไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องรุ่นอายุที่ต่างกันหรอก ต้องเริ่มจากเข้าใจตัวตนเขาก่อน ต้องพยายามคิดว่าเขาจะคิดหรือเข้าใจมันว่าอย่างไร ถ้าสิ่งนั้นไม่ดีก็แค่พูดให้เขาฟัง จะเชื่อหรือไม่นั่นอีกเรื่องหนึ่ง สิ่งที่คนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าจะได้ตอบแทนจากการทำงานร่วมกันคือ Learning Curve ซึ่งหาซื้อจากที่ไหนไม่ได้ พ่อแม่เลี้ยงลูกอย่างหวังดีแหละ แต่ด้วยความหวังดีที่คิดว่าความคิดของตัวเองถูก ก็เลยพยายามให้เขาคิดเหมือนกันกับเรา ซึ่งเป็นไปไม่ได้หรอก” คุณพ่อทิ้งท้ายข้อคิดเรื่องการทำงานร่วมกันระหว่างคน 2 รุ่น

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล