คุณอาจจะไม่คุ้นชื่อ Qualy แต่ถ้าคุณชื่นชอบการเดินดูของดีไซน์สวยเก๋ในร้านรวงต่างๆ ไม่ว่าจะในไทยหรือต่างประเทศ เราเชื่อว่าคุณต้องเคยทำความรู้จักผ่านสายตา หรืออาจจะเคยซื้อหาไปจับฉลากงานปีใหม่ หรือใช้เป็นของขวัญในโอกาสและเทศกาลสำคัญ

น้อยคนจะรู้ว่า แบรนด์เครื่องใช้และของแต่งบ้านหน้าตาน่ารักนี้ เป็นสินค้าแบรนด์ไทยแท้พ่อและแม่ให้มา

ไจ๋-ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ นักออกแบบและเจ้าของแบรนด์ เล่าให้ฟังว่า มีคนใกล้ตัวไปเที่ยวต่างประเทศและซื้อของแบรนด์ Qualy มาฝาก เพราะเห็นว่าเขาสนใจงานออกแบบสินค้าสไตล์นี้ โดยไม่รู้ว่าของที่ซื้อมาฝากนั้นเป็นผลงานของเขา

ก็จะไม่ให้เข้าใจผิดได้อย่างไร หน้าตาและรูปทรงหรูหรา บวกฟังก์ชันการใช้งาน ลูกเล่นที่คิดมาเป็นอย่างดีแล้ว จัดจ้านไม่แพ้สินค้าสัญชาติอิตาลี ญี่ปุ่น หรือประเทศที่โดดเด่นเรื่องงานออกแบบ

นอกจากเรื่องที่แบรนด์ใช้งานออกแบบเปลี่ยนภาพจำของสินค้าพลาสติกราคาถูก เราสนใจเรื่องราวการรับช่วงต่อของทายาทรุ่นสองโรงงานผลิตชิ้นส่วนพลาสติกที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม และสร้างแบรนด์สินค้าที่สานต่อความฝันของป๊า ผู้เริ่มต้นโรงงานด้วยการสร้างเครื่องจักรด้วยตัวเอง

และนี่เครื่องเรื่องราวการรับช่วงต่อโรงงานผลิตชิ้นส่วนพลาสติก ที่ทายาทรุ่นสองใช้งานออกแบบที่รัก สร้างมูลค่าพลาสติก และคุณค่าของงานออกแบบที่ดีจนได้รับการยอมรับในระดับสากล

Qualy
Qualy
ธุรกิจ : บริษัท เซ็นต์หลุยส์พลาส – โมล์ด จำกัด (พ.ศ. 2520), บริษัท นิว อาไรวา จำกัด (พ.ศ. 2547)
ประเภทธุรกิจ : โรงงานผลิตชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับใช้ในงานอุตสาหกรรม
อายุ : 41 ปี
เจ้าของและผู้ก่อตั้ง : นพรัตน์ ศุภเมธีกูลวัฒน์, อุไรวรรณ ศุภเมธีกูลวัฒน์
ทายาทรุ่นที่สอง : ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์, ทศพล ศุภเมธีกูลวัฒน์, ศุกลรัตน์ ศุภเมธีกูลวัฒน์

โรงงานผลิตชิ้นส่วน ที่ต่อเติมชีวิต

“บรรยากาศโรงงานตอนเด็กๆ จำได้ว่าที่บ้านเก่าและโรงงานมีเครื่องจักรตัวที่ป๊าสร้างเอง จากการเก็บเงินซื้อเหล็กมาสร้างเป็นเครื่องฉีดพลาสติก สมัยนั้นที่โรงงานมีแม่เป็นพนักงานเพียงคนเดียว ทำหน้าที่ฉีดพลาสติก และของเล่นของเราก็คือ พลาสติกที่เพิ่งฉีดออกมา” ไจ๋เล่าประกอบการชี้ชวนดูอัลบั้มภาพสีจางๆ

ในช่วงปิดเทอม เด็กชายไจ๋ เด็กฝึกงานรหัส 01 จะรับหน้าที่ขัดแม่พิมพ์เหล็กสำหรับการฉีดพลาสติก โดยใช้กระดาษทรายขัดจนแม่พิมพ์เหล็กไม่มีรอยใดๆ สักรอยเดียว ก่อนจะขยับขยายเรียนรู้งานคุมเครื่องฉีดพลาสติก ตรวจนับของ บรรจุของ ประกอบชิ้นส่วน และอีกหลากหลายหน้าที่ในโรงงาน

ด้วยเพราะเป็นลูกชายคนโต ไจ๋รู้ตัวอยู่แล้วว่ามีหน้าที่ดูแลธุรกิจนี้ต่อจากครอบครัว พอๆ กับที่รู้ตัวว่าชอบงานศิลปะและการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ไม่ชอบทำอะไรเดิมๆ ซึ่งขัดแย้งกับกระบวนทำซ้ำๆ ของการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม และหากยิ่งซ้ำแบบมากยิ่งดีต่อกิจการเพราะไม่เพิ่มต้นทุน

Qualy

จนเมื่อมาเจองานนิทรรศการแสดงผลงานนักเรียนออกแบบผลิตภัณฑ์ ทำให้พบว่าศาสตร์ที่อยู่ตรงกลางระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ซึ่งเป็นสิ่งที่ครอบครัวคาดหวัง และคณะวิชาทางศิลปะซึ่งเป็นสิ่งที่เขาสนใจ ไจ๋จึงหอบหิ้วแผนการเรียนไปเจรจากับครอบครัว ก่อนจะใช้เวลาว่างระหว่างรอผลสอบซึ่งเขาเลือกคณะสถาปัตยกรรมทั้งสี่อันดับ ไปฝึกงานโรงงานเพื่อนป๊าเพื่อเรียนรู้วินัยและความรับผิดชอบ ทำทุกอย่างเหมือนพนักงานใช้แรงงานคนหนึ่ง เจาะรู ตัดเหล็ก ยกของ แล้วแอบคิดว่าหากสอบไม่ติดจะขอทำงานนี้ต่อไป

ชีวิตการเป็นนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สนุกแค่ไหน เราถาม

“ยิ่งเข้าไปเรียน ยิ่งพบว่าใช่เลย นี่คือสิ่งที่ตามหา ตอนเด็กๆ เราไม่ได้มีของเล่นมากมายอย่างใคร เราโตมากับโรงงาน เล่นของที่มีอยู่ในนั้นแหละ เอาชิ้นส่วนพลาสติกมาประกอบเป็นหุ่นยนต์แบบที่เราชอบ บางทีก็หยิบเศษไม้ของโรงงานใกล้บ้านมาประกอบด้วย เป็นสิ่งที่ติดตัวเรามาตลอด” ไจ๋เล่าด้วยตาเป็นประกาย ซึ่งจากข้าวของเครื่องใช้ กลไกเครื่องมือที่ซึมซับทุกวัน ยิ่งทำให้เขาเข้าใจและเรียนรู้การทำผลิตภัณฑ์เร็ว เมื่อต้องเรียนวิชาเกี่ยวกับพลาสติกที่ทุกคนไม่ชอบ เขาจึงเป็นที่ปรึกษาแก่เพื่อนๆ และอาจารย์

นพรัตน์ ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์
 นพรัตน์ ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์

โปรเจกต์เรียนต่อ เพื่อให้กิจการครอบครัวได้ไปต่อ

ระหว่างนั้นสถานการณ์ที่บ้านเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี หากจะเดินหน้าทางธุรกิจนี้ต่อจะต้องมีการลงทุนเพิ่ม ซื้อเครื่อง CNC หรือเครื่องกลึงแกะสลักเหล็กเพื่อทำแม่พิมพ์สำหรับผลิตพลาสติก เป็นเครื่องที่สั่งการด้วยระบบคอมพิวเตอร์ แต่หากครอบครัวไม่เห็นว่าควรทำต่อก็จะหยุดเทคโนโลยีไว้แค่นั้น

“เราก็บอกให้ป๊ามั่นใจว่าชอบสิ่งที่เรียนจริงๆ และสิ่งนี้จะสามารถต่อยอดธุรกิจในอนาคตได้ ป๊าจึงกลับไปเป็นนักเรียน ศึกษาเทคโนโลยี เรียนรู้ G Code ไฟล์สั่งการ CAD CAM โปรแกรมเขียนแบบเมื่อ 20 ปีก่อน”

ในขณะที่เพื่อนรุ่นเดียวกันไปฝึกงานบริษัทออกแบบ ไจ๋ฝึกโรงงานผลิตแม่พิมพ์

เลือกทำวิทยานิพนธ์ออกแบบเครื่องจักรสำหรับใช้ทำต้นแบบ ให้สามารถกลึง ขัด ตัด เจาะในเครื่องเดียว เป็นงานที่คนในโรงงานมาร่วมด้วยช่วยกันทำ ยิ่งทำให้เราเรียนรู้ท้ังเื่องซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ เข้าใจกลไกตัวเครื่อง และการทำงานร่วมกับคน

Qualy
Qualy

หลังเรียนจบ ไจ๋เริ่มต้นทำงานกับบริษัทรับออกแบบและตกแต่งภายใน ในส่วนงานออกแบบของที่ระลึก เรียนรู้ทักษะการขายสินค้า รับส่งของ และหลังจบงานออกแบบและผลิตสินค้าต้นแบบด้วยความรวดเร็วทำให้งานในเดือนต่อๆ ของไจ๋ค่อนข้างว่าง จึงตัดสินใจกลับไปช่วยงานที่บ้านเต็มตัว

 วิชาการผลิต การตลาด การสร้างแบรนด์ ระดับปริญญาโทที่เรียนและลงมือทำพร้อมกันทั้งครอบครัว

งานแรกที่ทำในฐานะพนักงานโรงงานพลาสติกเต็มเวลา คือดูแลและใช้เครื่อง CNC ใช้โปรแกรม CAD CAM รับงาน ควบคู่ไปการรับทำงานออกแบบนอกเวลางานไปด้วย

“เมื่อก่อนลูกค้าไม่ได้สั่งงานด้วยการเขียนแบบมาให้นะ แต่มาพร้อมชิ้นส่วนต้นแบบสั่งงานให้เราทำตาม บางทีก็มา 2 ชิ้น ขอด้านบนแบบนี้ ด้านล่างแบบอีกชิ้น แล้วประกอบขึ้นมาเป็นชิ้นส่วนใหม่ ดังนั้นความภูมิใจในงานที่ทำในสมัยก่อนคือ การมีข้อต้นแบบ 1 ชิ้น และเราสามารถทำได้เหมือนเปี๊ยบเลย โดยไม่ใช้คอมพิวเตอร์”

ความรู้ด้านการออกแบบและทักษะคอมพิวเตอร์ที่มีทำให้โรงงานในมือของเขาได้เปรียบเรื่องการรับงานที่ต้องอาศัยการอ่านแบบ ซึ่งแม้จะเป็นการผลิตเพียงชิ้นส่วนเล็กๆ จากส่วนประกอบของสินค้าทั้งหมด แต่ไจ๋คิดว่านี่คือการเรียนรู้รายละเอียดการผลิตงานที่หาไม่ได้จากที่ไหน

หลังจากเรียนรู้กระบวนการผลิตงานพอประมาณ ช่วงปี 2003 ไจ๋ตัดสินใจทำแบรนด์ของตัวเอง

คำถามก็คือ ไจ๋ทำอย่างไร เพราะที่โรงงานของป๊า ทุกคนเก่งเรื่องผลิต ขึ้นรูป เจาะรู ไม่มีใครขายของเป็นสักคน

ไจ๋รีบเล่าว่า ปีนั้นน้องชายเรียนการตลาดอยู่ชั้นปีสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยมหิดล เขาจึงเริ่มออกแบบและทำแม่พิมพ์รอ

สินค้าชุดแรกก็คือ แก้วน้ำ เหยือก ถาด และจานรองแก้ว

และแผนการตลาดเดียวที่ไจ๋คิด คือการไปร่วมงาน BIG งานแสดงสินค้าระดับประเทศ ก่อนจะตามมาด้วยการจดชื่อบริษัท ตั้งชื่อแบรนด์ เรียนรู้ระบบการจัดส่งสินค้าไปต่างประเทศ

ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์

“ถ้าเป็นเรื่องการผลิตไม่เป็นรองใคร แต่สำหรับการขายทุกคนใหม่หมด ไม่มีใครมีประสบการณ์มากกว่าใคร เหมือนมาเรียนรู้ระบบการขายและการทำแบรนด์ไปพร้อมกัน” ไจ๋เล่าย้อนถึงประสบการณ์ออกงานแฟร์ครั้งแรก

เพราะอยากให้งานที่ออกมาแปลกและแตกต่าง ไจ๋เลือกใช้วิธีการออกแบบที่ผิดกฎเกณฑ์ของการออกแบบพลาสติกทั้งหมด จากเดิม การผลิตสิ่งของพลาสติกต้องหนาเท่ากันทั้งชิ้น แต่สินค้าชุดแรกของแบรนด์จะหนาๆ บางๆ สร้างปัญหาในการทำแบบและการผลิตไม่น้อย

หลังจากออกงาน BIG มีห้างร้านติดต่อขอนำสินค้าไปวางขายในลักษณะการฝากวาง มีเงื่อนไขว่าจะต้องมียอดซื้อสินค้าภายในระยะเวลาที่กำหนด ไม่เช่นนั้นจะยกเลิก ทั้งครอบครัวจึงตื่นเต้นและแอบไปสังเกตที่ชั้นขายของเสมอ

“ในใจคิดวางแผนไว้แล้วว่าถ้าขายไม่ได้ ก็จะไปซื้อมาเอง” ป๊าบอก

โชคดีที่เรื่องนี้ไม่ต้องถึงมือป๊า หลังจากสินค้าเป็นที่รู้จัก ก็ทำให้ค่อยๆ ขยับจากสินค้าที่ซ่อนตัวในร้านออกมาเฉิดฉายบนชั้นวางสินค้าขายดีหน้าร้าน ทำให้แบรนด์ชุดที่สองออกมา

หนึ่งในข้อควรปฏิบัติที่ป๊าแนะนำเรื่องการทำงานร่วมกันระหว่างคนรุ่นแรกและรุ่นสอง คือเรื่องความใจกว้าง (อ่านต่อด้านล่างในส่วนล้อมกรอบ) ซึ่งไจ๋เห็นด้วยกับเรื่องความใจกว้างของป๊า

“เพราะถ้าสนใจเรื่องตัวเลข เรื่องการทำวิจัยความต้องการของตลาด งานของเราคงไม่ได้ผลิตออกมา แม้เราจะมีต้นทุนที่ถูกกว่าคนอื่นเพราะผลิตแม่พิมพ์ได้เอง” ไจ๋กำลังพูดถึงงานชุดที่สองที่ผลิตแอปเปิ้ลลูกโตออกมา ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อมากมาย โดยเฉพาะที่คั้นน้ำส้มรูปทรงประหลาด ที่ได้รับโอกาสขึ้นปกหนังสือนิตยสารเกี่ยวกับการออกแบบด้วย

Qualy

รัก-ออกแบบให้ได้

อะไรทำให้เชื่อมั่นว่าการใช้งานออกแบบมาจับกับพลาสติกซึ่งคนทั่วไปอาจจะไม่เข้าใจจะไปได้ดี เราถาม

ไจ๋บอกในทันทีว่าเป็นคำถามเดียวกับที่เขาตั้งไว้ในใจเมื่อเห็นสินค้างานดีไซน์ในร้าน Loft ว่าทำไมของแต่งบ้านที่ทำจากพลาสติกจากอิตาลีและเยอรมนีแพงจัง แต่เชื่อในเรื่องการนำเสนอสิ่งใหม่ๆ จะสร้างอำนาจต่อรองได้ และแอปเปิ้ลลูกโตเป็นสิ่งพิสูจน์เรื่องนี้  หลังจากงาน BIG ปีที่ 2 ของ Qualy แอปเปิ้ลก็กลายเป็นสินค้าตัวแรกที่ส่งออกไปต่างประเทศ

แอปเปิ้ลเต็มตู้คอนเทนเนอร์ที่กำลังเดินทางไปสเปนในช่วงเวลานั้น ส่งสัญญาณในใจไจ๋ว่าต่อไปนี้สิ่งที่แบรนด์ทำจะแปลกใหม่และพิเศษเสมอ

Qualy

ความพิเศษของผลิตภัณฑ์ที่เห็นครั้งแรกอาจจะไม่รู้ว่าคืออะไร แต่เมื่อทำความรู้จักแล้ว จะพบว่ามีอะไรซ่อนอยู่ หรือสามารถใช้ทำอะไรได้มากกว่าที่มองเห็น

“โดยปกติของดีไซน์จะถูกจำแนกเป็นของใช้ฟุ่มเฟือย เพราะถ้าจะจ่ายเงินเพื่อใช้งานถูกกว่านี้ก็ใช้ได้ แต่เรามีความคิดว่าเราควรใช้ของให้เต็มประสิทธิภาพที่มีหรือใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยทั่วไปของของใช้ คนเราก็จะหยิบมาใช้เมื่อต้องการ และนำไปเก็บเมื่อไม่ใช้ เราก็คิดว่าแล้วทำไมถึงไม่มีของที่ทั้งใช้งานได้และตั้งโชว์ได้ในคราวเดียว เป็นทั้งของใช้ที่ดี สร้างภาพลักษณ์ ดีต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ได้มาเพื่อการใช้งานฟังก์ชันเดียวแต่ก่อเกิดประโยชน์เพราะสามารถใช้งานได้หลากหลาย” ไจ๋เล่าถึงสิ่งที่เขาเชื่อและสร้างให้แบรนด์มีคาแรกเตอร์ที่แตกต่าง

Qualy เป็นแบรนด์สินค้าดีไซน์เจ้าแรกๆ ที่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม ผ่านแนวคิดบางอย่างที่แตกต่าง เช่น การทำแก้วให้หนาขึ้น 2 เท่าเพื่อการใช้งานที่นานขึ้น 10 เท่า หรืองานพลาสติกคราฟต์ๆ ที่เกิดจากการผลิตด้วยแม่พิมพ์อันใหญ่อันเดียว แต่สามารถผลิตภาชนะ 3 รูปแบบ ซึ่งใช้เทคนิคฉีดพลาสติกแล้วปล่อยให้ไหลบนแม่พิมพ์ ทำให้แต่ละชิ้นจะไม่เหมือนกันเลย ซึ่งถ้าเป็นงานของโรงงานพลาสติกที่อื่นก็คงถูกปัดตกในขั้นตอน QC แล้ว

Qualy
Qualy เปลี่ยนโรงงานผลิตชิ้นส่วนพลาสติกมาสร้างแบรนด์สินค้าดีไซน์ระดับโลก
Qualy เปลี่ยนโรงงานผลิตชิ้นส่วนพลาสติกมาสร้างแบรนด์สินค้าดีไซน์ระดับโลก

หัวใจสำคัญที่ทำให้ของ Qualy แตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ คือการออกแบบสินค้าที่ตอบโจทย์การใช้งานจริงๆ

“นอกจากข้อมูลอินไซด์ที่พบจากการใช้งานชีวิตประจำวัน นักออกแบบของ Qualy ต้องตอบให้ได้ว่าสินค้าของเราจะพัฒนาให้ชีวิตดีขึ้นอย่างละนิดอย่างละหน่อยอย่างไร อาจจะใส่อะไรเพิ่มลงไป เช่น ที่เปิดขวดฝาเกลียวและฝาจีบ” ไจ๋เล่า

และหลังจากออกงานแสดงสินค้าต่างประเทศครั้งแรกที่ งาน Ambiente งานแสดงสินค้าประเภทของขวัญ นาฬิกา เครื่องประดับ ของใช้ในบ้าน และเฟอร์นิเจอร์ ที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต มีเรื่องราวสนุกๆ อย่างการตื่นเต้นเกาะกระจกร้านของตัวแทนที่ฝรั่งเศส หรือเรื่องเรียนรู้ผิดๆ ถูกๆ อย่างการหอบหิ้วสินค้าในกระเป๋าเดินทางช่วงเดินสายไปงานแฟร์ เพราะเข้าใจว่าจะสามารถเร่เหมือนระบบการขายฝากได้

มาวันนี้ Qualy มีตัวแทนจำหน่ายกระจายสินค้าไปแล้วทั่วโลก จึงไม่แปลกที่จะสร้างความเข้าใจผิดว่าเป็นสินค้าแบรนด์ต่างประเทศ

และในอนาคต Qualy ตั้งใจที่ช่วยเปิดโอกาสแก่นักออกแบบไทยทั้งรุ่นเก่าและใหม่ ที่อาจจะพบปัญหาเรื่องการส่งออกสินค้าเหมือน Qualy เมื่อ 14 ปีก่อน ให้สามารถพบช่องทางและกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสมของตัวเอง

Qualy เปลี่ยนโรงงานผลิตชิ้นส่วนพลาสติกมาสร้างแบรนด์สินค้าดีไซน์ระดับโลก
Qualy เปลี่ยนโรงงานผลิตชิ้นส่วนพลาสติกมาสร้างแบรนด์สินค้าดีไซน์ระดับโลก

ทีมครอบครัว

สิ่งหนึ่งที่เรารับรู้อย่างชัดเจนตลอดการสนทนาคือการทำงานร่วมกันเป็นทีมของคนทั้งครอบครัว

“ลักษณะการทำงานที่สอนกันต่อๆ มา จะใช้งานใคร เราก็ควรทำสิ่งนี้เป็นเสียก่อน ในช่วงที่เราไม่ได้ใหญ่โตมาก เราก็ต้องใช้ทุกอย่างที่เป็นเครื่องมือและระบบภายในอย่างคุ้มค่า หากจะใช้ใครทำอะไรเราก็ต้องสอนเขา ชี้แนะเขา ถ้าเป็นทีมกีฬา เราจะเป็นเหมือนกัปตันทีมที่ลงไปแข่งด้วย มากกว่าเป็นผู้จัดการทีมที่นั่งขอบสนาม” ไจ๋เล่า แล้วเสริมถึงวิธีการทำงานร่วมกัน

“อาจจะต้องสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่เกิดการยอมรับระหว่างการพูดคุยในครอบครัว มากกว่าใช้กฎมาตราความเป็นพ่อ-ลูก พี่-น้อง ส่งผลต่อการตัดสินใจเรื่องสำคัญ และการวิจารณ์การทำงานเพื่อระหว่างกันเพื่อการทำงานอย่างมืออาชีพ”

Qualy เปลี่ยนโรงงานผลิตชิ้นส่วนพลาสติกมาสร้างแบรนด์สินค้าดีไซน์ระดับโลก

ก่อนจะจบบทสนทนา เราขอให้ไจ๋ทิ้งท้ายคำแนะนำสำหรับใครก็ตามที่ต้องทำงานของครอบครัว

“เราต้องหาที่ยืนของตัวเองให้ได้ ตอบตัวเองว่าเราถนัดอะไร เรามีความสุขที่จะทำในตำแหน่งไหน มองหาว่าพรสวรรค์หรือความสามารถที่มีจะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจครอบครัวยังไง เอาตรงนั้นมาประยุกต์ สำคัญคือ ถ้าไม่มีก็คงลำบาก เพราะความรับผิดชอบที่มีจะกลายเป็นสิ่งที่เราใช้บอกตัวเองว่าเราไม่อยากทำเลย ลองจินตนาการถึงบริษัทที่คุณลาออกไม่ได้ คุณจะทำตัวอย่างไร ธุรกิจครอบครัวมันไม่ได้มีแค่ครอบครัวเรา แต่มีครอบครัวพนักงาน ทุกคนก็มีความคาดหวังว่าอยากจะเติบโตไปในแบบไหน ไม่ใช่คุณอยากจะเลิกก็เลิก”

Qualy เปลี่ยนโรงงานผลิตชิ้นส่วนพลาสติกมาสร้างแบรนด์สินค้าดีไซน์ระดับโลก
ภาพ: Qualy Design

เซ็นต์หลุยส์พลาส – โมล์ด พ.ศ. 2520

ป๊าเริ่มต้นทำโรงงานผลิตชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับใช้ในงานอุตสาหกรรมด้วยความคิดแค่ว่าขอให้สิ่งที่ทำนั้นอยู่รอด ครอบครัวอยู่รอด จึงรับจ้างผลิตชิ้นส่วนตามแบบ “สมัยเป็นลูกจ้าง ป๊าเคยทดลองทำงานให้เต็มที่ที่สุดจนไม่มีเวลาใช้เงิน เพื่อจะดูว่าเราจะไปถึงจุดไหน มีเงินเหลือเก็บเท่าไหร่ เราพบว่า ช่วงเวลาที่ทดลอง 1 ปีนั้นมีรายได้ไม่เกินไปกว่ารายได้ทั้งปี แตกต่างกับการเป็นเจ้าของกิจการเอง”

ไม่ต่างกันกับเรา ป๊าเล่าว่า ในสมัยก่อนป๊าสังเกตคนรุ่นพ่อ (อากง) ที่มักจะเลือกทำสิ่งที่เชื่อต่อๆ กันมาโดยไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงอะไร แต่ในยุคสมัยที่ทุกอย่างรวดเร็วใหม่หมด การเปิดใจและให้โอกาสตัวเองเป็นสูตรสำคัญที่ทำให้ชีวิตและธุรกิจประสบความสำเร็จ

ความรวดเร็วและสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดในยุคของป๊า คือ การมาของเครื่องจักรและเทคโนโลยียุคแรก ทำให้เรารู้ว่าความคิดกลัวว่าเครื่องจักรจะมาแย่งงานจนคนตกงานมีมาหลายสิบปีแล้ว มีอยู่ในทุกยุค ทุกสมัย

ในยุคที่โรงงานต้องเปลี่ยนไปสู่การใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีในกระบวนการผลิต ป๊าตัดสินใจเร่งเรียนรู้ระบบคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ให้รู้จักใช้เครื่องจักรในโรงงานเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด ต่างกับเพื่อนในรุ่นเดียวกันที่ถอดใจ

“สมัยที่เรารับผลิตชิ้นส่วนให้ลูกค้า เวลาไปเจอสินค้าที่เราทำในห้าง เราก็แอบคิดฝันถึงสินค้าที่เราทำเองในสักวันหนึ่ง ของที่เราสามารถกำหนดทิศทางและคุณภาพได้ จริงๆ ทุกคนในบ้านก็คิดเหมือนกัน เราก็รอเวลาจนลูกๆ เรียนจบ” ป๊า เล่าเสริมว่าการรับช่วงต่อกิจการครอบครัวในอุดมคตินั้น ครอบครัวควรเริ่มต้นด้วยการปูพื้นฐานให้ลูกๆ รู้สึกว่าพ่อแม่ทำงานนี้แล้วสบาย มีความก้าวหน้า

“ไม่ว่าอย่างไร สิ่งที่สำคัญที่สุด เราต้องมั่นใจว่าลูกๆ เราทำได้ ขนาดเราไม่ได้เรียนหนังสือมากมายเรายังทำได้เลย แล้วเด็กๆ รุ่นใหม่ที่ได้รับความรู้พื้นฐานที่ดีตั้งแต่แรก เราก็ต้องมั่นใจในตัวเขา จะทำให้เขาก็จะมีความเชื่อมั่นใจตัวเอง ข้อถัดมา คือ คนเป็นพ่อเป็นแม่ต้องใจกว้าง ไม่มีเรื่องใดที่จะราบรื่นไปทั้งหมด ล้มเหลวบ้าง สำเร็จบ้าง เราเองก็ยังต้องเจอ จึงคอยเป็นพี่เลี้ยงให้เขา ถ้าเห็นท่าทางไม่ดี เราก็คุยกันได้ แต่ส่วนไหนที่น่าจะผ่านไปได้ดีก็ต้องปล่อยให้เขาทำ ต้องวางใจและเชื่อมั่นในตัวเขา ถ้าเป็นเรื่องธุรกิจ ป๊าสอนเสมอเรื่อง อย่าทำอะไรเกินตัว เรื่องคุณธรรมและความซื่อสัตย์ อะไรที่แบ่งปันได้ก็ให้แบ่งปัน” ป๊าย้ำซ้ำๆ

Website: QUALY

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan