“กลิ่นหนังและบรรยากาศของที่นี่ เหมือนโรงงานทำเบาะหนังจักรยานเก่าแก่ของอังกฤษไม่มีผิด” ช่างภาพหนุ่มของเราเอ่ยปาก ทำให้เราเผลอสูดกลิ่น และยิ้มให้กับรองเท้าทรงคุ้นตาหลายสิบคู่ตรงหน้า สะกดใจกลั้นไว้ใม่ให้หยิบมาลองจนทำเลอะเทอะ

และเหตุผลที่เรายืนอยู่ใน ‘บักเซ้ง’ โรงงานรองเท้าหนังเล็กๆ ย่านวงเวียนใหญ่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรื่องราวยุคเรืองรองของที่นี่

โรงงานทำรองเท้าหนังเล็กๆ ของช่างมีฝีมือที่มีกำลังผลิต ช่าง 1 คนทำรองเท้าวันละ 1 คู่ สู่การเป็นรองเท้าหนังเจ้าแรกๆ ที่ขายในห้างไทยไดมารู และรับจ้างผลิตส่งออกประเทศในตะวันออกกลางและยุโรป จนมีรายได้ปีละ 200 ล้านบาท

ถ้าป๊าเกิดในยุคนี้ เราคงได้คุยกับป๊าเรื่องอายุน้อยร้อยล้านแทน

และอีกส่วนเป็นเพราะเรื่องราวการชุบชีวิตโรงงานรองเท้าหนัง ผ่านสร้างแบรนด์รองเท้าเป็นของตัวเองหลังจากเปิดโรงงานมากว่า 65 ปี ด้วยวิธีคิดของทายาทรุ่นสามที่เป็นนักการตลาด ครีเอทีฟโฆษณา และนักออกแบบภายใน โรงงานรองเท้าหนัง

ต้นทุนองค์ความรู้เรื่องรองเท้าหนังชั้นดีของครอบครัวต่อยอดให้ เก๋-บุณยนุช วิทยสัมฤทธิ์ สร้างแบรนด์กระเป๋าและรองเท้าแฟชั่นหรู เติบโตในวงการแฟชั่นและได้รับการยอมรับในระดับโลก ก่อนจะชวนพี่ชายทั้งสอง ซ้ง-ประสงค์ วิทยสัมฤทธิ์ และ เม้ง-ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ กลับบ้านมาเริ่มต้นแบรนด์ Youngfolks แบรนด์จากความรักของพี่น้องนี้ด้วยกัน

เราเคยได้ยินความเชื่อที่ถือมาแต่โบราณว่าอย่าซื้อรองเท้าให้กัน เพราะจะต้องเดินจากกันไป แต่รองเท้าคู่นี้ทำให้ทุกคนใส่…เพื่อเดินไปด้วยกัน

โรงงานรองเท้าหนัง

บักเซ้ง

ธุรกิจ : บักเซ้ง (พ.ศ. 2495)  Estate Footwear (พ.ศ. 2522)  Wagon Way (พ.ศ. 2533)  31 Thanwa / ๓๑ ธันวา (พ.ศ. 2555)  Youngfolks (พ.ศ. 2560)
ประเภทธุรกิจ : โรงงานผลิตรองเท้าหนัง
อายุ : 65 ปี
เจ้าของและผู้ก่อตั้ง : อากง งี่บั๊ก แซ่โง้ว
ทายาทรุ่นสอง : ไพฑูรย์ วิทยสัมฤทธิ์ (อาแปะ), ไพโรจน์ วิทยสัมฤทธิ์ (อาป๊า),  พิราภรณ์ วิทยสัมฤทธิ์
ทายาทรุ่นสาม : ซ้ง-ประสงค์ วิทยสัมฤทธิ์, เม้ง-ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์, เก๋-บุณยนุช วิทยสัมฤทธิ์

ยังจำไม่เคยลืมเลือน

“พวกเราโตมาในยุคที่โรงงานรุ่งเรืองสุดๆ และบ้านนี้เป็นที่ตั้งโรงงานเดิม ทุกพื้นที่เต็มไปด้วยคนงาน ที่จำได้ดีคือเราชอบไปวิ่งเล่นที่ตึกฝั่งนู้น เล่นซ่อนแอบในกล่องรองเท้า ซึ่งมีเยอะพอที่จะสร้างเป็นฐานทัพของเราได้เลย พอตกเย็นก็เล่นฟุตบอลกับพี่ๆ คนงานหน้าบ้าน” เฮียเม้ง พี่ชายคนรอง เล่าย้อนความทรงจำยุคเรอเนซองส์ของโรงงานที่บ้าน จากกำลังการผลิตรองเท้าของช่าง 1 คนใช้เวลาทำ 1 – 2 วันต่อรองเท้า 1 คู่ สู่การเป็นโรงงานผลิตรองเท้าวันละ 4,500 คู่ มีรายได้ 200 ล้านบาทต่อปี

เช่นเคย ใครสนใจอ่านเรื่องราวของป๊า ขอเชิญเลื่อนลงไปที่ล้อมกรอบด้านล่างก่อนได้เลย เรารอได้

“ตอนนั้นเราเด็กสุด เท่าที่จำได้เราเห็นป๊าทำงานหาเลี้ยงครอบครัวทุกอย่าง ไม่เคยบอกให้พวกเรามาช่วยเรื่องงานที่บ้าน ปล่อยให้พวกเราทำในสิ่งที่รัก และขอแค่พวกเราตั้งใจเรียน” เก๋ น้องสาวคนเล็กอดีตนักเรียนสถาปัตย์ที่เลือกเส้นทางนักออกแบบภายในงานอีเวนต์ เล่าเสริม

เช่นเดียวกับพี่ชายทั้งสองที่เลือกเดินในเส้นทางที่รักและชอบ เฮียซ้ง พี่ชายคนโตทำโรงงานสิ่งพิมพ์ และให้บริการดูแลการตลาดออนไลน์ ขณะที่เฮียเม้ง พี่ชายคนรองทำบริษัทโฆษณา ชูใจ กะ กัลยาณมิตร

จุดเริ่มต้นของการกลับมารวมตัว รองเท้าของพี่น้อง ไม่ได้ง่ายดายแบบในละคร ที่คิดอยากจะต่อยอดโรงงานรับผลิตรองเท้าหนังที่มีมานาน 65 ปี ด้วยการออกแบบและทำแบรนด์รองเท้าหนังตามสมัยนิยม ก็ทำได้เลยง่ายๆ

ก่อนจะมาเป็น Youngfolks …ยังก่อน เรามีเรื่องน่าสนใจก่อนหน้า ที่อยากเล่าให้คุณฟัง

ครอบครัววิทยสัมฤทธิ์ครอบครัววิทยสัมฤทธิ์

ยังยิ้มได้

หลังจากสนุกกับงานหนักจนล้มป่วย เก๋จึงพักงานกลับมาอยู่ที่บ้าน

เก๋บอกว่า เก๋วันนี้ กับ เก๋สมัยก่อน เป็นคนละเวอร์ชันกันอย่างสิ้นเชิง

“จากลูกสาวคนเล็กผู้สมบูรณ์แบบ ได้รับความรักและเอาใจใส่จากคนทั้งบ้านเสมอ ในวันที่ทั้งเราและป๊าไม่สบายหนักมาก เราจึงเห็นคุณค่าของชีวิตและเวลาแสนสั้น เราควรที่จักดูแลตัวเองและกันและกัน เราก็เปรี้ยวลุกขึ้นมาประกาศกร้าวว่าป๊าไม่ต้องทำงานแล้วนะ ต่อไปเราจะทำเอง เราจะทำแบรนด์กระเป๋า” เก๋เล่า ใช่แล้ว เธอประกาศออกไปแบบนั้นโดยที่ไม่เคยเรียนออกแบบกระเป๋าหรือมีความรู้ทำเครื่องหนังมาก่อน

นอกจากความชอบในเรื่องแฟชั่น เก๋เชื่อว่าคนเราเลือกหยิบของสำคัญในชีวิตประจำวันบรรจุลงในกระเป๋า เธอจึงสร้างแบรนด์ ‘๓๑ ธันวา’ (31 Thanwa) จากคนที่ไม่ได้เรียนทำรองเท้าหรือกระเป๋ามาก่อน โดยช่างทำรองเท้าที่ไม่เคยทำกระเป๋ามาก่อนเช่นกัน

รองเท้า กระเป๋าหนัง

ป๊าจึงให้อาจารย์ชาวสิงคโปร์ของป๊ามาสอนเก๋ทำรองเท้า

“กระเป๋าใบแรกของเราไม่ได้สวยงามเท่าไหร่ แต่เราภูมิใจมาก ป๊าตรวจดูและโยนทิ้ง บอกว่าทำแบบนี้ใครจะซื้อ ขายไม่ได้หรอก เท่านั้นแหละเราร้องไห้เลย ก่อนจะลงมือทำมาให้ป๊าดูอีก 30 ใบ และป๊าก็โยนทิ้งเหมือนเดิมทุกครั้ง ตอนนั้นเราคิดแต่ว่าถ้าป๊าผู้ซึ่งเชี่ยวชาญอยู่กับงานหนังมาตลอดชีวิตยังไม่โอเค เราก็ต้องทดลองทำอีก ทำอีก เพราะป๊าดูออกหมดนะว่าชิ้นงานที่เราทำออกมามีหรือไม่มีคุณภาพ”

ก่อนจะมาถึงกระเป๋าใบสุดท้าย เก๋คุยกับอาจารย์ช่างว่าถ้าไม่ผ่านอีกเธออาจจะขอเลิกล้มความตั้งใจแล้ว แต่ปรากฏว่าออกมาสวยมาก ป๊าหยิบดูและไม่พูดอะไร นอกจากคำว่า “เออ สวยดี” หลังจากนั้นเก๋จึงตัดสินใจกลับมาทำงานที่บ้านเต็มตัว

‘๓๑ ธันวา’ จึงเป็นแบรนด์กระเป๋าที่ใช้วิธีการทำแบบรองเท้าแทบทั้งหมด มีความแข็งแรงแบบเดียวกับที่ผูกเย็บส้นรองเท้าด้วยมือ ทั้งคอนเซปต์ที่ออกคอลเลกชันใหม่ทุกวันที่ 31 ธันวาคม และความประณีตเพราะใช้ช่าง 1 คนต่อกระเป๋า 1 ใบ เท่จนเข้าตานิตยสารแฟชั่นระดับโลกอย่าง Vogue ฉบับ UK จัดให้เป็นงานของนักออกแบบรุ่นใหม่ที่น่าจับตามองภายในปีแรกที่เปิดตัวแบรนด์

๓๑ ธันวา

31 Thanwa

You Make Me Feel So Young

หลังจากที่แบรนด์ ‘๓๑ ธันวา’ เติบโตในเส้นทางสายแฟชั่น 4 – 5 ปี

เก๋เริ่มกลับมาคิดถึงองค์ความรู้เรื่องรองเท้า สิ่งที่อากงและป๊ารัก และทำให้ทุกคนในครอบครัวมีชีวิตอย่างทุกวันนี้ ไม่อยากให้จางหายไป และอยากพัฒนาและทำให้ป๊าและช่างฝีมือทุกคนรู้สึกว่ามีอะไรใหม่ๆ ให้เรียนรู้

“เราเริ่มคุยกันว่าเราอยากทำรองเท้าให้มีประโยชน์ ไม่อยากให้เป็นแค่รองเท้า” เฮียซ้ง ผู้รับตำแหน่ง จิปาถะ manager ดูแลเรื่องการขายและส่งสินค้า เล่าจุดเริ่มต้นของรองเท้าที่พูดเรื่องความสัมพันธ์

“ส่วนตัวเราเองไม่ถนัดเรื่องแฟชั่นนัก และไม่ค่อยเห็นด้วยกับการมาเร็วไปเร็วของแฟชั่นเท่าไหร่ เมื่อคุยกันว่าอยากทำแบรนด์ ผมก็เสนอว่า หนึ่ง อยากทำรองเท้าที่เราถนัด และสอง เป็นรองเท้าที่ใส่ได้ทุกวัน ใส่วันทำงาน วันหยุด ไปจนถึงออกงานได้ และรองเท้าที่บ้านเราทำก็ตอบโจทย์นี้อยู่แล้ว เมื่อก่อนเรารับผลิตให้แบรนด์อื่นๆ พอมาทำแบรนด์ตัวเอง เราก็อยากทำออกมาให้ดีและเข้าถึงได้ วัตถุดิบที่เลือกใช้อาจจะไม่ใช่วัตถุดิบดีและแพงที่สุด แต่รู้ว่าอะไรดี อะไรใส่แล้วสบายและสวย” เฮียเม้งเสริม

นอกจากครอบครัววิทยสัมฤทธิ์แล้ว การทำ Youngfolks ก็ทำให้ช่างทุกคนรู้สึกกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง ได้ลองทำอะไรใหม่ๆ มีสีสันในครอบครัว เพราะทุกคนเรียนรู้ด้วยกัน ทำด้วยกัน ช่วยกันคิดช่วยกันทำในส่วนที่ตัวเองถนัด

เย็บรองเท้า โรงงานรองเท้า รองเท้าหนังทำมือ

เมื่อเรื่องงานออกแบบและการขายเป็นหน้าที่ของเก๋และเฮียซ้ง หน้าที่สร้างสรรค์และถ่ายทอดเรื่องราวจึงตกเป็นของเฮียเม้งอย่างไม่ต้องสงสัย

เฮียเม้งเล่าว่า สิ่งยากสุดในการทำแบรนด์นี้คือ ‘ชื่อ’

“ตอนทำงานโฆษณา การคิดชื่อ คิด branding ให้ลูกค้านั้นง่ายมาก แต่พอเป็นของตัวเองเรามักจะคิดเยอะ ต้องเป็นชื่อที่เรารักและคนอื่นก็รักด้วยมันถึงจะขายของ คิดขนาดวิธีออกเสียงมันเพราะหรือยัง เราเคยผ่านชื่อแม้กระทั่ง ‘ซ้งเม้งเก๋’ จนเก๋ไปเจอเพลง Young Folks ของ Peter Bjorn and John แปลว่าพี่น้อง เราอยากทำรองเท้าแบบคลาสสิก บ้านเรามีเรื่องราว คำว่า folk ดูเชยๆ ดูเก่าๆ แต่มีคำว่า young เราทำเรื่องเก่าๆ ให้ร่วมสมัย ก็ลงตัวมาเป็นชื่อ Youngfolks”

เช่นเดียวกับ โลโก้ โดยรูปปีกกามาจากหน้ากากรองเท้า moccasin และมีอีกความหมายหนึ่งว่า ความกลมเกลียว การอยู่รวมกันของพี่น้อง

รองเท้าหนัง Youngfolks

Way Back into Love

Youngfolks เป็นแบรนด์นำองค์ความรู้ของครอบครัวเรื่องการร้อยรองเท้าหนังแบบ moccasin หรือการแต่งรองเท้าด้วยการปัดสีหนังด้วยมือทีละคู่ มาทำในแบบที่เหมาะกับคนรุ่นใหม่

คอลเลกชันแรกของ Youngfolks เป็นรุ่นที่มีปีกนกคลาสสิกที่ทำมาตั้งแต่สมัยอากง เก๋ออกแบบให้มีทั้งแบบปิดส้นและเปิดส้น และตั้งใจให้ใส่ได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ส่วนคอลเลกชันที่สอง เพิ่มเติมสีพิเศษได้แก่ sugar จากเทคนิคพิเศษ เป็นหนังปัดสีด้วยมือ องค์ความรู้ดั้งเดิมที่ส่งต่อกันมา ซึ่งการปัดรองเท้าแต่ละครั้งใน 1 คู่จะเกิดแสงและเงาที่ไม่เหมือนกันเลยขึ้นกับช่างแต่ละคน ทำให้เห็นความเชี่ยวชาญและเรื่องราวอยู่ในนั้น นอกจากนี้ยังมีสีธรรมชาติ สีนู้ด สีน้ำตาลเข้ม

“เราอยากทำ Youngfolks ให้เป็นรองเท้าที่ทุกคนใส่ แล้วชวนคนที่เรารักมาใส่ด้วยกัน ใส่ร่วมกันเป็นครอบครัว ใส่เป็นคู่ ใส่เป็นกลุ่ม จึงออกมาเป็นรองเท้าแบบที่เข้าใจง่าย และราคาเข้าใจได้ ใส่ได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงเพราะมีตั้งแต่ไซส์ 36 – 45” เก๋เล่าที่มาของแบบทรงรองเท้าที่แม้ให้เลือกหลากหลาย แต่เป็นเพราะคัดสรรและคิดมาอย่างดีแล้ว

ธรรมชาติของการเลือกซื้อรองเท้า ไม่เหมือนกับเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายทั่วไป เพราะเต็มไปเป็นความรู้สึกส่วนตัว รองเท้าคู่นี้แบบทรงสวยทันสมัยพอที่จะส่งเสริมให้เรามั่นใจในการก้าวเดินมั้ย สวมใส่แล้วสบายเท้าไม่ว่าจะเดินเหินด้วยท้วงท่าแบบไหนหรือเปล่า

ไม่รู้ว่าเพราะเป็นเราได้ยินได้ฟังเรื่องราวความเป็นมาของรองเท้า จากทั้ง 3 พี่น้องมากเกินไป หรือเพราะรองเท้าหนังคู่ตรงหน้าส่งเสียงเล็กๆ เรียกเรา เราจึงรู้สึกไม่ได้อยากได้รองเท้าคู่นี้แค่คู่เดียว แต่อยากชวนให้คนรัก เพื่อนสนิท กัลยาณมิตร ใส่รองเท้าคู่นี้เหมือนกันกับเรา และนั่นเป็นสิ่งพิเศษที่ทำให้ Youngfolks มีชื่อเล่นอีกชื่อว่า รองเท้าที่เต็มไปด้วยความรัก

จึงไม่แปลกใจ ที่ไม่ว่า Youngfolks จะไปออกร้านในตลาดเทศกาลงานไหนๆ ก็มักจะมีลูกค้าเป็นกลุ่มครอบครัวเลือกและลองรองเท้ากันอย่างสนุกสนาน

“ครอบครัว The Cloud สนใจ ก็สั่งไปใส่เป็นกลุ่มได้นะครับ” เฮียซ้ง ปิดการขาย

Youngfolks

รองเท้าหนัง

ยังแอบเห็นและชื่นชม

เช่นเดียวกับเฮียซ้ง เฮียเม้ง และเก๋ ที่ใส่พลังและความเชี่ยวชาญของตัวเองลงไปใน Youngfolks ป๊าเองก็รู้สึกสนุกไปด้วย จนทำให้ป๊ากลับมาเปิดกระเป๋าเครื่องมือในรอบ 10 ปี ก่อนจะมอบหมายให้หาซื้อไส้ดินสอ และตามหานานาเครื่องไม้เครื่องมือที่เลิกผลิตไปแล้ว

“ป๊าเป็นคนละเอียด งานป๊าต้องเนี้ยบมาก” เฮียซ้งเล่าถึงการทำงานกับป๊า ก่อนที่เฮียเม้งจะเสริมว่า ป๊าเชื่อในการทำการตลาดแบบเดิมๆ โตมากับการถือสินค้าตัวอย่างไปเสนอกับห้างร้านสินค้าต่างๆ ไม่เข้าใจการเล่าเรื่องราวแบรนด์ในโซเชียล หรือสร้างจุดขายผ่านดึงประสบการณ์ร่วมกับลูกค้า

“แล้วทั้งสามพี่น้องมีวิธีพิสูจน์สิ่งที่ตัวเองเชื่ออย่างไง” เราถาม

“ก็ทำให้ดูเลย” เฮียซ้งตอบสั้นๆ

“ถ้าเป็นบ้านเรา เราเชื่อเรื่องการลงมือทำให้เห็น เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่ายังมีวิธีการอื่นใดอีกมาก”

“ถ้าเราเอาแต่พูด ยังไงป๊าหรือช่างที่ทำงานด้วยเขาก็จะมองว่าเราเป็นเด็กอยู่เสมอ การเอาชนะใจคนที่เพียรพยายามฝึกฝนทุกเรื่องอย่างอดทนแบบคนสมัยก่อน นั่นคือจงลงมือทำ ทำให้เขาเห็นและยอมรับความพยามยามของเรา” เก๋ยิ้มตอบ

บุณยนุช ประสงค์ ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์

Like Father, Like Son, Like Daughter

“ป๊าไม่เคยสอนว่าทำรองเท้ายังไง ทำธุรกิจยังไง ป๊าไม่เคยกดดันให้รวย ให้ประสบความสำเร็จ แต่สิ่งสำคัญที่สอนมาทั้งชีวิตคือให้พวกเราพี่น้องรักกัน” เก๋รีบตอบ ทันทีที่เราถามว่าอะไรคือสิ่งที่ป๊าสอนทั้งพวกเขาเสมอ

“ป๊าไม่ได้สอนวิธีทำงาน แต่ป๊าทำให้เห็น วิธีปฏิบัติกับคนที่ทำงานด้วย ดูแลและให้เกียรติคนทำงาน วิธีที่ป๊าให้แม่เป็นคนจ่ายค่าแรงช่างเพื่อให้ทุกคนเกรงใจอาซ้อ” เฮียเม้งเสริม

“ทุกครั้งที่พวกเราเจอเพื่อนหรือคนรู้จักของป๊า ทุกคนจะเข้ามาชื่นชมป๊าให้ฟัง ว่าป๊ากตัญญูดูแลอากงอาม่า ทุกวันนี้ป๊ายังให้เราไปเยี่ยม ไปทักทาย และเอากระเช้าไปให้นายช่างรุ่นอากงอยู่เลย” เฮียซ้งปิดท้ายสิ่งที่เรียนรู้และเห็นตัวอย่างจากป๊า

Youngfolks สำคัญกับชีวิตพวกคุณยังไง เราถาม

“สำหรับผม สิ่งที่ทำวันนี้มันทำให้ผมกลับบ้าน ทำให้รู้จักพ่อตัวเอง จากที่ได้ฟังเขาบ่อยขึ้น เขาจะนั่งอยู่ที่โต๊ะทำงานเล่าเรื่องที่เคยไปเก็บค่าแรง หรือการทำงานกับคน ผมว่าทำให้เรารู้จักรากเหง้าตัวเอง อายุเท่านี้ กว่าจะรู้ตัวว่าต้องกลับบ้านมันนานมากเลยนะ” คำตอบของเฮียเม้งชวนเราย้อนกลับมามองตัวเองว่าตอนนี้กำลังเดินทางไกลจากบ้านเท่าไหร่

“ส่วนตัวผมเกเรน้อยลงเยอะ กลับมาทำงานจริงจัง” เฮียซ้งสรุปกับตัวเองสั้นๆ ก่อนที่เอ่ยปากมอบมงให้เก๋ ที่ปิดท้ายบทสนทนาด้วยตาเป็นประกาย

“เราเห็นป๊ากลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหลังจากไม่สบายหนัก หลังช่วงยุครุ่งเรืองเรอเนซองส์สุดๆ ของป๊า เข้าสู่ยุคมืดเพราะป๊าไม่สบายหนัก และทุกคนก็สนใจสุขภาพป๊าเป็นสำคัญ มาถึงวันที่เราเริ่มทำอะไรใหม่ๆ จนเขาเห็นเป็นชิ้นเป็นอัน ป๊าก็ลุกขึ้นมามีชีวิตชีวา มีแรงเดินลงมาดูว่าช่างทำอะไรไปถึงไหน เหมือนสมัยก่อน”

วิทยสัมฤทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์

บักเซ้ง พ.ศ. 2495

หลังจากแบกเสื่อผืนหมอนใบนั่งมากับเรือสำเภาจากจีนแผ่นดินใหญ่ อากงเริ่มต้นชีวิตในแผ่นดินสยามด้วยเป็นหนึ่งในช่างโรงงานทำรองเท้าของญี่ปุ่นที่มาตั้งในช่วงสงคราม ก่อนจะร่วมกันกับเพื่อนที่เป็นช่างฝีมือเปิดโรงงาน ด้วยทักษะการบริหารที่มีทำให้อากงจับพลัดจับผลูจากช่างมาเป็นเจ้าของโรงงาน

ป๊าเล่าว่า ในสมัยก่อนอากงทำการตลาดง่ายๆ อย่างการเสนอขายร้านค้าต่างๆ แต่เพราะปัญหาเรื่องภาษาและระบบการเก็บเงิน อาแปะและป๊าจึงช่วยหาตลาดใหม่ๆ จนกลายเป็นรองเท้าหนังเจ้าแรกๆ ที่ขายในห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะห้างไทยไดมารูที่มียอดขายดีที่สุด ไม่ว่าจะออกแบบทรงล่าสุดรุ่นไหนมา เป็นต้อง sold out ทุกรุ่น

Estate Footwear พ.ศ. 2522

ป๊าเล่าว่า ยุครุ่งเรืองของโรงงานคือช่วงที่ผลิตรองเท้าส่งออกไปต่างประเทศ เริ่มจากประเทศในตะวันออกกลาง ซาอุดิอาระเบีย คูเวต จอร์แดน ก่อนจะขยายไปทางยุโรป

หลังจากสองพี่น้องทายาทรุ่นสองเข้ารับช่วงต่อจากอากงอย่างเต็มตัว ก็เริ่มสนใจตลาดต่างจังหวัด ทดลองนำเสนอสินค้าและส่งของด้วยตัวเอง ก่อนจะทำผลงานเข้าตา supplier เจ้าหนึ่งในประเทศซาอุดิอาระเบีย ทำให้มียอดสั่งผลิตหลักพันคู่ จนป๊าต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน จากที่ช่าง 1 คนใช้เวลาทำ 1 – 2 วันต่อรองเท้า 1 คู่ ต้องเร่งฝีมือเพื่อให้ทันกับความต้องการของตลาด และยังมีเรื่องขนาดมาตรฐานของรองเท้าที่ป๊าลงทุนไปเรียนกับช่างฝีมือชาวสิงคโปร์เมื่อครั้งสมาคมผู้ประกอบการเครื่องหนังจัดงานสัมมนา ป๊าจึงได้องค์ความรู้เรื่องการคำนวณ sizing ขนาดข้อเท้า กระดูกเท้า ตามหลักสากลเพื่อคุยกับลูกค้าทางยุโรป สร้างความน่าเชื่อถือให้กับโรงงาน และเป็นนักออกแบบรองเท้า ได้รางวัลออกแบบรองเท้า moccasin ระดับชาติมาแล้ว

รายการสั่งผลิตกว่าหมื่นคู่หรือจำนวนการผลิตวันละคู่เป็นวันละ 4,500 คู่ ยังไม่ใช่จุดสูงสุดของความสำเร็จที่อาแปะและป๊าพบเจอ เพื่อการเติบโตของโรงงานและการทำงานผลิตให้ได้มาตรฐาน ป๊าในวัยสามสิบกว่า ผู้มีวุฒิการศึกษาแค่ ป.2 ลงมือเรียนรู้วิธีจัดการคนและการผลิตในโรงงานด้วยตัวเองผ่านหนังสือระดับปริญญาโท แล้วชวนเพื่อนที่เป็นวิศวกรมาช่วยวางระบบ ก่อนจะนำมาซึ่งตัวเลข 200 ล้านบาทต่อปี ของหวานที่ดึงดูดนักลงทุนในตลาดหุ้น

หลังจากยื่นคำขาดว่าจะไม่นำโรงงานเข้าตลาดทุนได้ไม่นานป๊าก็ล้มป่วยหนัก เมื่อขาดคนดูแลตรวจสอบคุณภาพ อาแปะไม่สบายกะทันหัน ประกอบกับเศรษฐกิจที่แย่ลง จนมาถึงจุดที่ทายาทรุ่นสองต้องแยกย้ายจากกัน

Wagon Way พ.ศ. 2533

แม้ป๊าจะต้องเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการธุรกิจและตลาดซึ่งป๊าไม่ถนัด กิจการของโรงงานซึ่งย้ายกลับมาที่ตั้งเดิม ก็ยังคงดำเนินต่อมาถึงปัจจุบัน

ป๊าทำงานเหนื่อยขนาดนี้ เคยแอบคิดให้ลูกทั้งสามมาสานต่อสิ่งที่ป๊าวางรากฐานอย่างแข็งแรงนี้มั้ย เราถาม

“ไม่คิดเลย เพราะอุตสาหกรรมนี้เหนื่อยมาก อยากให้เขาทำอย่างอื่นมากกว่า ที่ป๊าทำได้เพราะ ป๊ามีใจรัก เราเป็นร้านเล็กๆ อยากขยายไปต่างจังหวัด อยากขายบนห้างใหญ่ อยากส่งขายไปต่างประเทศ มีความฝันและความตั้งใจที่อยากทำให้เป็นจริง เมื่อมีจังหวะเข้ามาและทำให้ดีที่สุด แต่จะเครียดมากนะ ช่วงที่มียอดสั่งผลิตเยอะๆ ป๊านอนวันละ 2 ชั่วโมง” ป๊าเล่า

จากคนที่ไม่สนใจกิจการที่บ้านเลย เกเรไปวันๆ จนอากงยังถามว่า ไปเข้าคอร์สทำไมตั้งหลายหมื่นบาท เรียนไปก็ทำรองเท้าไม่ได้หรอก มาถึงวันที่ป๊าพิสูจน์ให้อากงเห็นว่าสามารถพารองเท้าไปไกลถึงต่างบ้านต่างเมืองได้ แล้วกลายเป็นอากงเองที่ต้องเป็นคนบอกให้ป๊าพักผ่อนบ้าง

ในวันที่ลูกทั้งสามบอกว่าจะทำแบรนด์รองเท้า ป๊าบอกว่า ป๊ายังไม่มั่นใจ

“แต่ก็ยอมรับว่าเก๋ตั้งใจจริง ตอนที่ให้อาจารย์ที่สอนป๊ามาสอน เขายังบอกว่าไม่เคยเห็นใครเรียนทำรองเท้าเพื่อทำกระเป๋าเลย จริงๆ เป็นทั้งสามพี่น้องเลย พวกเขามีใจรัก ทุ่มเทในงานที่ทำ” ป๊ายิ้มปิดท้าย หลังเล่าเรื่องราวขนาดยาว 60 ปี ในเวลา 3 ชั่วโมง

 

Facebook: Youngfolks

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan