ก่อนหน้านี้เวลาพูดถึงคำว่า มรดก ผมมักนึกถึงเงินทอง ที่ดิน และทรัพย์สินอื่นๆ

แต่จากการพูดคุยกับ ตี๋-นภัทร เลิศเสาวภาคย์ และ พึ่ง-ณัฐพร เทพรัตน์ ซึ่งเป็นเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อชื่อแปลกหูอย่าง ร้านยี่สับหลก ทำให้ผมนึกขึ้นได้ว่าสิ่งมีค่าที่ตกทอดมาจากคนรุ่นก่อนเป็นอะไรได้มากนั้น

ตอนที่มาถึงร้าน ผมเห็นตัวอักษรภาษาอังกฤษทำด้วยอะคริลิกเรียงตัวกันบนผนังร้านอ่านได้ว่า ‘ON THE LEGACY OF NAI SOIE BRAISED BEEF’

ป้ายอะคริลิก

สูตรน้ำแกง ความแรงของไฟ เวลาที่ใช้ในการต้ม ประสบการณ์ที่เพาะบ่มยามยืนหน้าเตา เหล่านี้คือสิ่งที่ตี๋ซึ่งเป็นทายาทของร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อชื่อดังย่านถนนพระอาทิตย์อย่าง ร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อนายโส่ยได้รับตกทอดจากพ่อและแม่

ฟังเผินๆ เหมือนไม่มีอะไรยาก ก็แค่หาทำเลเหมาะๆ แต่งร้านสวยๆ แล้วเอาสูตรก๋วยเตี๋ยวที่ได้รับมาทำขายใครๆ ก็ทำได้

ไม่มีอะไรง่ายหรอก” ตี๋เอ่ยประโยคนี้ในบทสนทนา คล้ายกับเขารู้ว่าคนอื่นคิดอะไร

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมเดินทางมาเยือนร้านของเขาที่อยู่ตรงแยกสี่กั๊กพระยาศรี แต่ต่างกันตรงที่เขาไม่ได้ยืนอยู่หน้าเตาอย่างเช่นทุกครั้ง เมื่อได้นั่งคุยกันทำให้ผมรู้ว่าเรื่องราวเบื้องหลังกว่าจะกลายมาเป็นร้านที่เรานั่งอยู่มันไม่ได้ราบรื่นนัก แต่เรื่องราวเหล่านั้นก็ทำให้อาหารจานต่างๆ ของร้านนี้ที่ผมเคยกินมีความพิเศษขึ้นมา

นั่นคือนอกจากทำให้อิ่มท้องแล้วมันยังพาให้อิ่มใจ

ธุรกิจ : ร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อนายโส่ย

ประเภท : ร้านก๋วยเตี๋ยว

อายุ : 41 ปี

เจ้าของและผู้ก่อตั้ง : วรพล วรไพศาล (นายโส่ย) และ ปิยนุช ตติยปัญญาเลิศ

ทายาทรุ่นที่สอง : ร้านยี่สับหลก :   ตี๋-นภัทร เลิศเสาวภาคย์ และ พึ่ง-ณัฐพร เทพรัตน์

ร้านยี่สับหลก
ตี๋-นภัทร เลิศเสาวภาคย์

-ลูกไม้-

น้ำเดือดแล้ว”

ระหว่างนั่งพูดคุย ลูกน้องในร้านก็เดินมาตามชายหนุ่มไปควบคุมไฟ เขาจึงรีบลุกไปหลังร้านด้วยทีท่ากระตือรือร้น

นาทีนั้นผมแอบอยากเดินตามเขาไปแล้วแอบถามว่า น้ำซุปของเขาใส่อะไร ทำไมอร่อยนัก

แต่ผมก็ได้แค่คิดในใจ ของแบบนี้ใครเขาจะบอกกัน รอไม่นานเขาก็เดินกลับมายังโต๊ะที่เรานั่งอยู่ หลังจากนั้นบทสนทนาจึงดำเนินต่อไปอย่างออกรส

ย้อนกลับไปในวัยเด็ก ตี๋เติบโตมาในครอบครัวที่ยึดอาชีพขายก๋วยเตี๋ยวหาเลี้ยงชีพ ด้วยรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ซึ่งได้สูตรมาจากรุ่นอากงของเขาที่มาจากเมืองจีน ทำให้ชื่อเสียงของร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อนายโส่ยโด่งดังคับถนนพระอาทิตย์ ใครที่อยู่ย่านนั้นและไม่ได้นับถือเจ้าแม่กวนอิมต่างเคยฝากท้องไว้กับร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อร้านนี้

ด้วยความที่โตมาในร้านที่อวลไปด้วยกลิ่นควันหอมฉุยจากน้ำซุป เขาจึงค่อยๆ ซึมซับวิชาการทำก๋วยเตี๋ยวจากพ่อแม่โดยวิธีครูพักลักจำ จนตัดสินใจปักหลักสานต่อกิจการของที่บ้านกิจการที่ครั้งหนึ่งเขาเคยอายที่จะบอกใคร

เด็กๆ เราอายอยู่แล้ว เราไม่เคยบอกเพื่อนหรอกว่าบ้านเราขายก๋วยเตี๋ยว ตอนนั้นพอดีแม่เปิดบริษัทยาม เราก็บอกเพื่อนๆ ว่า แม่กูทำบริษัท รปภ. แต่สุดท้ายแม่ก็เลิก แล้วมาทำร้านก๋วยเตี๋ยวอย่างเดียว พอเริ่มโตถึงเริ่มคิดได้ ว่ามันไม่ใช่เรื่องน่าอาย เราขายก็ได้เงิน” ชายหนุ่มเล่าด้วยรอยยิ้มที่ทำให้ดวงตาของเขาเล็กลงกว่าเดิม

อาจกล่าวได้ว่าสำหรับคนที่เรียนจบเพียงชั้นมัธยม 6 อย่างเขา ร้านก๋วยเตี๋ยวบนถนนพระอาทิตย์เป็นคล้ายโรงเรียนสอนทำอาหาร หรือกล่าวให้เฉพาะเจาะจงลงไปก็คือ ที่นั่นคือโรงเรียนสอนทำก๋วยเตี๋ยว

ยิ่งฟังสิ่งที่ชายตรงหน้าได้เรียนรู้มา ผมยิ่งรู้สึกว่ามันเป็นศาสตร์ที่ลึกลับซับซ้อนไม่น้อย

แม้กระทั่งการลวกเส้นก็ใช่ว่าจะทำลวกๆ ได้

ตอนลวกเส้นสายตาเราต้องดูว่าพอเอาขึ้นมาแล้วเส้นเป็นยังไง อย่างเส้นเล็ก เวลาไม่สุกมันจะดูกระด้างๆ แข็งๆ หน่อย เราจะเห็นเลย ถ้าลูกค้าสั่งแห้งต้องลวกยังไง สั่งน้ำต้องลวกยังไง มันไม่เหมือนกัน อย่างเล็กแห้งถ้าสะเด็ดน้ำจนแห้งมันไม่อร่อย พอให้มันมีน้ำขลุกขลิกนิดหนึ่งในเส้น พอใส่น้ำมัน ใส่ซีอิ๊วมันจะนวล จะอยู่ข้างในของมัน ถ้าแห้งไปก็ไม่อร่อย”

ร้านยี่สับหลก

เมื่อผมถามว่าแล้วเราจะเรียนรู้วิธีการที่ถูกต้องได้ยังไง ตี๋ตอบอย่างเรียบง่ายแต่ทำยาก

เขาบอกว่า ก็แค่ทำทุกวัน

ช่วงแรกแม่เขาก็ปล่อยให้เราทำช่วงเวลาที่ร้านคนไม่เยอะมาก ทำไม่ดีลูกค้าก็บ่น เราก็ฟังทุกวัน เส้นนิ่มไป เส้นแข็งไป เส้นเยอะไป เราก็ค่อยๆ ปรับ จนเริ่มรู้ว่าต้องลวกยังไง

แม่ก็สอนเราทุกวันว่าทำยังไง เลือกเนื้อยังไง ทุกอย่างต้องดี ต้องสะอาด เวลาทำอะไรต้องใส่ใจกับมันจริงๆ ต้องจริงจัง

เราต้องใส่ใจ” เขาย้ำคำเดิมที่ว่าไปแล้วอีกครั้งคล้ายว่ามันมีความสำคัญพิเศษ

ตอนนั้นคล้ายผมได้คำตอบของคำถามในใจที่ว่า “น้ำซุปของเขาใส่อะไร ทำไมอร่อยนัก”

ก๋วยเตี๋ยวเนื้อ

-หล่นไม่ไกล-

ร้านยี่สับหลก ที่เรานั่งคุยกันอยู่ไม่ไกลจาก ร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อนายโส่ย บนถนนพระอาทิตย์มากนัก

หลังจากยืนลวกก๋วยเตี๋ยวอยู่ที่ถนนพระอาทิตย์อยู่ราวสิบปี ตี๋บอกว่าเขาเริ่มอิ่มตัว นั่นเป็นที่มาของการมองหาที่ทางใหม่ๆ เพื่อขยับขยายกิจการ

ผู้ที่มีบทบาทไม่น้อยในช่วงรอยต่อคือ พึ่ง ซึ่งเป็นคนรักของเขาที่เข้ามาช่วยดูในแง่คอนเซปต์ร้านและการจัดการระบบหลังบ้าน

“ตอนนั้นเราเห็นว่าร้านเดิมไม่มีระบบ แล้วธุรกิจแบบเก่ามันคือซื้อมาขายไป เราไม่ได้เพิ่มคุณค่าให้มัน ผู้ใหญ่เขาก็คิดว่า ของกูขายดี กูก็ขายอยู่เรื่อยๆ เรากับพี่ตี๋ก็คุยกันเรื่องนี้อยู่ปีหนึ่ง วันหนึ่งเราก็คุยกันว่าลองมาสร้างแบรนด์เพิ่มอีกดีไหม” พึ่งย้อนเล่าถึงที่มาในการทำร้านยี่สับหลกร่วมกันจนทั้งสองเริ่มมองหาทำเลที่เหมาะสม

ด้วยความที่ทั้งสองเติบโตในย่านเมืองเก่า หลงใหลถิ่นแถวนี้เป็นทุนเดิม ทำให้เมื่อมาเจอร้านขายทองเก่าบริเวณสี่กั๊กพระยาศรีปล่อยพื้นที่ให้เช่าจึงตัดสินใจได้ไม่ยาก

ก๋วยเตี๋ยวเนื้อ

เราสองคนชอบย่านนี้ เราไม่ได้อยากอยู่ย่านพระอาทิตย์หรือถนนข้าวสาร เพราะมันใกล้รัศมีร้านเดิมเกินไป เดี๋ยวตีกันเอง คนอื่นอาจจะเลือกที่ที่คนพลุกพล่านใช่มั้ย แต่เราเลือกที่ที่คนน้อย เพราะว่ามันไม่วุ่นวาย” พึ่งบอกเมื่อผมตั้งข้อสังเกตเรื่องทำเลร้านซึ่งค่อนข้างเงียบยิ่งในยามค่ำคืน ก่อนที่ตี๋จะเสริม “เรามั่นใจว่าของเราดี อยู่ที่ไหนคนก็มา ไม่ใช่ต้องมานั่งเรียกร้องให้เขามากิน เราแค่ทำให้เขาเห็นก็พอว่า ร้านเรามีคนมาลองกินแล้วอร่อย พอเขาเห็นเดี๋ยวเขาก็มาเอง”

ในด้านการตกแต่งร้าน ด้วยความที่หญิงสาวเคยไปเรียนปริญญาโทและทำงานที่ฮ่องกงมา 4 ปี เขาจึงแชร์ความชอบที่ได้ซึมซับมากับชายหนุ่ม จนทั้งสองเห็นตรงกันว่าคอนเซปต์ร้านใหม่จะดึงเอากลิ่นความเป็นฮ่องกงมาใช้ในทุกรายละเอียด ตั้งแต่การตกแต่งภายใน กราฟิกดีไซน์ในเมนูอาหาร ไปจนกระทั่งชื่อร้าน

ใช่, ยี่สับหลก ซึ่งเป็นคำที่หลายคนคงสงสัยถึงที่มาเป็นภาษาจีนกวางตุ้ง แปลว่า ยี่สิบหก

ร้านยี่สับหลก

“มันเริ่มต้นมาจากเราคุยกันว่าร้านจะชื่ออะไรดี ปัญหาคือเราจะใช้คำว่า โส่ย เหมือนเดิมไหม ถ้าใช้จะใช้ในแนวไหน หรือถ้าไม่ใช้ จะทำยังไงดีให้มีเชื้อของโส่ย โดยที่เราไม่ต้องพูดคำว่าโส่ย ซึ่งเราก็นึกถึงตัวพี่ตี๋ เพราะคนที่มาร้านก็จะมาเห็นพี่ตี๋ จำหน้าพี่ตี๋ได้ แล้วอยู่ดีๆ เราก็นึกขึ้นมาว่าเอาวันเกิดมั้ย วันเกิดพี่ตี๋ คือ 26 เดือน 4 เราก็เลยส่งข้อความไปปรึกษาเพื่อนที่เป็นคนฮ่องกง ว่า 264 ที่อ่านว่า ยี่หลกเส่ โอเคมั้ย แล้วเพื่อนก็ตอบกลับมาว่าเอา เลข 26 มั้ย เป็น ยี่สับหลก พอเพื่อนพูดยี่สับหลกเราก็ เฮ้ย เอา เพราะคำนี้มันพ้องเสียงกับคำที่แปลว่า ‘Easy to cook’ หรือ ‘หุง ต้ม ง่าย’ พอดี

“เราชอบความหมายของมัน” พึ่งยืนยันด้วยรอยยิ้ม

ร้านยี่สับหลก
ร้านยี่สับหลก

-ต้ม-

หุง ต้ม ง่าย

คำสามคำแสนเรียบง่ายแต่แฝงไปด้วยความหมายอบอุ่นกลายเป็นสิ่งที่เป็นแก่นแกนหลักของร้านยี่สับหลก

“เราเอาไอเดียจากคำว่า Easy to cook มาคิดต่อจนได้คอนเซปต์ร้านว่าร้านนี้ต้องเป็นร้านที่สืบต่อมา เป็นมรดกทางอาหาร ความหุง ต้ม ง่าย มันคือความเคยชินของการอยู่บ้าน ที่เราสองคนเลือกย่านนี้กันเพราะเราผูกพันกับย่านนี้ บ้านพี่ตี๋อยู่แถวเยาวราช เราอยู่แถวศาลเจ้าพ่อเสือ แล้วเราชอบกินข้าวบ้าน ซึ่งบ้านพี่ตี๋ทำอาหารอร่อยมาก ทั้งหมดมันเชื่อมโยงกลับไปยังเรื่องความทรงจำของเรา

ถ้าอย่างนั้นร้านนี้เรามาพูดถึงอาหารที่กินง่ายๆ เป็นข้าวอบง่ายๆ กินกับซุป มีก๋วยเตี๋ยว เป็นของที่ทำเสร็จเร็วเหมือนเวลากลับมาบ้านแล้วเราบอกว่า แม่หิวข้าว แล้วก็มีข้าวกิน ร้านนี้เหมือนเป็นมรดกทางอาหารที่เราย้อนให้คนได้กลับไปกินข้าวบ้าน อาหารทุกเมนูเราทำเองกับมือ เราเลือกของ ประณีตกับการทำ แล้วก็เสิร์ฟ” พึ่งขยายความคอนเซปต์

นั่นทำให้เมนูของร้านยี่สับหลกแตกต่างจากร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อนายโส่ย หลายๆ เมนูถูกพัฒนามาจากสิ่งที่แม่ของตี๋เคยทำให้กินแล้วอยากแบ่งคนอื่นกินบ้าง อย่างเช่นเมนูข้าวอบ หรือขาหมูต้มเค็มหมั่นโถว

ยำ
ข้าวอบหน้าเนื้อ

“เมนูของเราจะหนักไปทางข้าวอบกับหม้อไฟ อย่างร้านเดิมจะเน้นก๋วยเตี๋ยวเป็นหลัก หรืออย่างน้ำซุปก็ไม่เหมือนกัน เพราะร้านนั้นขายทั้งวัน น้ำซุปมันออกจากหม้อเร็ว เลยไม่เค็มมาก แต่ร้านเราถ้าต้มค้างไว้ แล้วรอลูกค้ามากินรอบเย็นมันจะเค็มมาก ซึ่งมันไม่เหมาะกับที่นี่ เราก็เปลี่ยนสูตร แต่ว่าวิธีการทำเหมือนกัน” ตี๋อธิบายถึงการบิดเมนูให้เข้ากับร้าน

“การคิดว่าจะทำอาหารเหมือนทำให้คนที่บ้านกินมันทำให้วิธีการทำอาหารเปลี่ยนไปจากตอนทำร้านเดิมไหม” ผมสงสัย

“เอาอย่างนี้ อะไรที่เราไม่กิน เราก็ไม่ทำให้คนอื่นกิน อย่างข้าว วันไหนหุงแฉะไปเราก็ไม่ขายนะ เป็นพวกโรคจิต” พึ่งหัวเราะหลังคำตอบ ก่อนตี๋จะขยายความ “อย่างเราทำข้าวอบ เราอยากให้ข้าวเรียงเม็ดสวยๆ แรกๆ หุงแล้วแตกครึ่ง เดี๋ยวแฉะ เดี๋ยวแข็ง เดี๋ยวไม่สุก เราก็ต้องตามหาข้าวจนเจอยี่ห้อที่ใช้อยู่ ที่ไม่ว่าจะใส่น้ำเยอะน้ำน้อยมันก็เรียงเม็ด สวยงาม ช่วงหลังลูกค้ามากินเริ่มเบิ้ลสอง ชมว่าข้าวอร่อยมาก เรียงเม็ด โอเค เราเจอข้าวที่ใช่แล้ว คือถึงแม้เราจะเน้นอาหารง่ายๆ แต่ถ้าทำอุบาทว์ ไม่อร่อย ก็โดนเขาด่านะ”

อาหารง่ายก็ต้องอร่อย-ตี๋ว่าอย่างนั้น

ต้มหมู

“แล้วความสุขของการยืนทำก๋วยเตี๋ยวคืออะไร ทำไมถึงยืนอยู่ที่เดิมมาได้เป็นสิบปี” ผมถามคำถามนี้กับชายหนุ่มหลังคุยกันจนถึงเวลาที่เขาจะต้องกลับไปยืนที่ตำแหน่งเดิมในครัวเพื่อหุงและต้มอะไรง่ายๆ ให้ลูกค้าที่แวะเวียนมาได้อิ่มท้อง

“ความสุขของเรามันอยู่ที่เวลาคนมากินแล้วเราเห็นเขามีความสุข เขาเดินมาหาเราแล้วบอกว่าข้าวอร่อยมาก อาหารอร่อยมาก แค่นี้เราก็แฮปปี้แล้ว” ตี๋ตอบก่อนที่พึ่งซึ่งนั่งฟังอยู่จะช่วยเสริม “เราจะขำเวลาลูกค้ากินเสร็จแล้วพี่ตี๋จะดูว่าข้าวหมดไหม แค่นี้เลยความสุขของทุกวัน เก็บจานแล้วไม่ต้องกวาดอาหารเหลือ”

เมื่อสิ้นสุดบทสนทนา ตี๋เดินเข้าครัวไปทำอาหารเมนูต่างๆ มาเสิร์ฟบนโต๊ะตัวเดิมที่เรานั่งพูดคุยกันมา

แล้วก็ได้เวลาที่ผมจะทำให้เขามีความสุข

กุ้ง
 

ร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อนายโส่ย พ.ศ. 2519

ก่อนที่ร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อนายโส่ยจะย้ายมาปักหลักอยู่บนถนนพระอาทิตย์อย่างที่เราคุ้นเคย หลายคนอาจไม่ทันช่วงจุดเริ่มต้นที่นายโส่ยยังถีบรถขายอยู่หน้ากองพลาธิการตำรวจจนกระทั่ง สันติ เศวตวิมล หรือแม่ช้อยนางรำมาชิมแล้วนำไปแนะนำต่อในคอลัมน์ร้านจึงเป็นที่รู้จัก ก่อนจะขยายกิจการจนมาได้ที่แถวถนนพระอาทิตย์

ตี๋เล่าว่า “สูตรก๋วยเตี๋ยวมาจากอากง แกเอาสูตรมาจากเมืองจีน แล้วก็ตกทอดมา เมื่อก่อนพ่อขายพวกโอเลี้ยงกับกาแฟโบราณ พอเก็บเงินได้ก้อนนึงถึงมาเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวกับแม่ที่ถนนพระอาทิตย์ ขายอยู่ตรงนั้นสิบกว่าปีก็โดนเจ้าของที่กลั่นแกล้งจนต้องย้ายที่ พอเราย้ายออกมาเจ้าของที่เก่าเขาก็เปิดร้านขายเองอยู่ปีกว่าแล้วก็เจ๊ง ส่วนร้านเราย้ายมาอยู่ที่ใหม่ติดกับบ้านพระอาทิตย์ ซึ่งเป็นออฟฟิศของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ แล้วก็อยู่ตรงนั้นจนถึงทุกวันนี้”

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan