ขณะที่หลายคนมองหาสิ่งใหม่ มีสิ่งเก่ากำลังจากหายไป

แต่เราเชื่อในการอยู่ร่วมกันของสองสิ่งนี้ แนวคิดแบบเก่ากับแนวคิดแบบใหม่ ประสบการณ์แบบเก่ากับประสบการณ์แบบใหม่ การอยู่ร่วมกันขององค์ความรู้ทั้งเก่าและใหม่แบบนี้น่าสนใจ

อะไรที่เลือกรักษาไว้และอะไรที่ต้องเปลี่ยนแปลงใหม่ เราคงตอบเองไม่ได้ แต่คนที่มีประสบการณ์ทำธุรกิจต่อจากที่บ้าน หรือที่เราให้ชื่อเล่นไว้ว่า ทายาทรุ่นสอง จะตอบคุณได้

สิ่งที่ใกล้เคียงกับการรับหน้าที่ต่อจากพ่อแม่ได้ดีที่สุดของผู้เขียนก็คงเป็น การเป็นตัวแทนแม่ไปประชุมผู้ปกครองของน้องชาย แม้ดูเทียบกันไม่ได้ แต่เชื่อเถอะว่าความรู้สึกของการมีตราประทับพ่อแม่ติดอยู่กับตัวเราไม่ว่าเราจะทำอะไรนั้นไม่แตกต่างกัน

ทายาทรุ่นสองตอนแรกของเราคือ สำนักพิมพ์แสงแดด

ทายาททั้งสี่ของสำนักพิมพ์แสงแดดไม่เพียงรับช่วงเปลี่ยนโฉมกิจการที่บ้านให้สดใสทันสมัย แต่นำเอาส่วนผสมที่ทุกคนชอบและถนัดมาร่วมกันทำอย่างลงตัว เปลี่ยนสำนักพิมพ์ตำราอาหารให้มี โรงเรียนสอนทำอาหาร รายการทำอาหาร โปรดักชันเฮาส์ หน่วยผลิตสื่อภาพเคลื่อนไหวที่มีวิธีการเล่าเรื่องที่เป็นเอกลักษณ์ ผู้อยู่เบื้องหลังวิดีโอโปรโมตหนังสือใหม่ของสำนักพิมพ์ และเปลี่ยนโฉมนิตยสารของสำนักพิมพ์ให้มีหน้าตาเก๋ไก๋

ยิ่งได้พูดคุยกับทุกคนถึงเรื่องราวและบรรยากาศสมัยก่อตั้งบริษัท แรงบันดาลใจจากที่เห็นพ่อและแม่ทำงานสำนักพิมพ์ผลิตตำราอาหาร องค์ความรู้และจิตวิญญาณที่รุ่นแรกสร้างและรุ่นสองตั้งใจสานต่อ เราก็ยิ่งมั่นใจว่าต่อให้วันพรุ่งนี้ เดือนหน้า และต่อๆ ไป สำนักพิมพ์แสงแดดจะเป็นอย่างไร แสงแดดจากพระอาทิตย์ดวงเดิมก็ยังคงให้ความอบอุ่นขนาดพอดีๆ กับเราอยู่ ต่อให้เรายืนอยู่ในดินแดนส่วนไหนของโลกก็ตาม

เหมือนที่เพลง Here comes the sun ของ The Beatles บอกไว้ว่า “นั่นไง! พระอาทิตย์มาแล้ว และทุกอย่างจะราบรื่นดี”

ธุรกิจ
สำนักพิมพ์แสงแดด
ประเภทธุรกิจ
สื่อสิ่งพิมพ์
อายุ
32 ปี
เจ้าของและผู้ก่อตั้ง
นิดดา หงษ์วิวัฒน์, ทวีทอง หงษ์วิวัฒน์
ทายาทรุ่นที่สอง 
ตุลย์-ตุลย์ หงษ์วิวัฒน์
ต้อง-น่าน หงษ์วิวัฒน์
วรรณ-วรรณแวว หงษ์วิวัฒน์
แวว-แวววรรณ หงษ์วิวัฒน์

เด็กฝึกงานในสำนักพิมพ์แสงแดด

‘ห้องสต็อกหนังสือเป็นที่เล่นซ่อนหา’ วรรณ ฝาแฝดคนที่ผมสั้นกว่าบอกเราในทันที เมื่อถามถึงความทรงจำที่มีต่อสำนักพิมพ์แสงแดดในยุคการทำงานของคุณแม่นิดดา หงษ์วิวัฒน์

ถ้าเปรียบให้เห็นภาพแบบเร็วๆ จากการเล่าของน่าน พี่ชายคนรองผู้จดจำบรรยากาศช่วงนั้นได้ดีที่สุด

สำนักพิมพ์แสงแดดของแม่นิดดาเหมือน startup สมัยโบราณที่ทำระบบหลังบ้านทุกอย่างด้วยตัวเอง ในตึกแถวขนาด 4 ชั้นย่านสี่แยกลาดพร้าวที่มีพื้นที่ชั้นสามเป็นห้องเก็บหนังสือทั้งหมดของสำนักพิมพ์วางเรียงตั้งสูงจนถึงเพดาน

“ตอนเด็กๆ สงสัยเหมือนกันว่าที่ออฟฟิศแม่มีหนังสือมากมายขนาดนี้แล้วทำไมตึกไม่ถล่ม (หัวเราะ)” อดีตเด็กฝึกงานฝ่ายสต็อกเล่าความทรงจำให้เราฟัง หน้าที่ของน่านในวัย 9 ขวบคือช่วยฝ่ายสต็อกใช้เชือกฟางมัดหนังสือแล้วขนลงมาชั้นล่าง ก่อนจะนั่งไปกับรถจัดส่งหนังสือ “นอกจากสำนักพิมพ์แล้ว ตอนนั้นแม่ยังเป็นสายส่งเองด้วย”

ในขณะที่พื้นที่ชั้นสี่เป็นของฝ่ายงานศิลปกรรม ซึ่งเด็กฝึกงานฝ่ายนี้อย่างตุลย์ พี่ชายคนโต (ปัจจุบันบวชเป็นพระ) ต้องคอยใช้ก้อนกาวลบกาวที่ติดอยู่บนเพลตพิมพ์หนังสือ และศึกษาวิธีการตัดแปะเรียงพิมพ์อย่างใกล้ชิด

“เรียกได้ว่าผมและพี่ตุลย์โตมากับสำนักพิมพ์นี้ ขณะที่วรรณและแววโตมาในยุคที่กิจการเริ่มเฟื่องฟูแล้ว” แม้จะฟังดูโอดครวญที่เด็กชายวัยประถมต้องช่วยงานที่บ้านแทนการวิ่งเล่นกับกลุ่มเพื่อน เขาก็ยังรู้สึกภูมิใจที่ได้ทำในสิ่งที่เด็กคนอื่นไม่มีโอกาส

สำนักพิมพ์แสงแดด

ก่อนจะเป็นสำนักพิมพ์ที่ขายตำราอาหารมีชื่อ หนังสือช่วงแรกของสำนักพิมพ์เป็นหนังสือแปลและงานทั่วไป โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับจิตวิทยาเด็กและเรื่องเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ซึ่งหากใครทันดูรายการ รักลูกให้ถูกทาง ก็จะจำคุณแม่นิดดาในฐานะวิทยากรประจำรายการได้

“สิ่งที่จำได้เกี่ยวการทำงานของแม่คือ เวลาไปเที่ยวครอบครัวไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม พวกเราไม่เคยไปเที่ยวอย่างเดียวแต่จะมีการเก็บข้อมูลหรือทำอะไรสักอย่างอยู่ตลอดเวลา ของกินท้องถิ่นหรือตลาดเช้าประจำเมือง ทุกครั้งที่ไปเที่ยวพ่อกับแม่จะได้งานกลับบ้านตลอด” แวว ฝาแฝดคนที่ผมยาวกว่าบอกอีกว่า ไม่มีสักครั้งที่ไปเที่ยวแบบปราศจากงาน เพราะจนถึงวันนี้แม้พ่อและแม่จะไม่ได้ออกเดินทางด้วย ท่านก็ยังใช้วิธีมอบหมายให้ลูกๆ เก็บข้อมูลและถ่ายรูปกลับมา

“ส่วนของวรรณจำได้ว่าฝึกงานกองบรรณาธิการ จริงๆ ก็ไม่ได้ไปทำงานหรอก ไปเล่นกับพี่ที่ทำงานมากกว่า แต่จำได้ว่าต้องนั่งพิมพ์สูตรอาหารตามลายมือเขียน” วรรณ อดีตเด็กฝึกงานกองบรรณาธิการที่ปัจจุบันดูแลงานบรรณาธิการนิตยสาร ครัว ของสำนักพิมพ์แสงแดด รีบบอก

“เอาลายมือเขียนมาพิมพ์หรอ ทำไมจำกันได้ด้วย” แววร้องถาม

“จำได้ๆ จำได้ว่าต้องเคาะ ต้องเว้นวรรค” วรรณยืนยัน

และเพื่อไม่ให้คุณผู้อ่านทางบ้านสลับสับสนเหมือนผู้เขียน ที่ต้องพบกับบทสนทนาตัดสลับไปมาของคนทั้งสองที่เหมือนกันทั้งหน้าตาและน้ำเสียง เราขอแนะนำให้จำการแยกฝาแฝดคู่นี้ว่า แววผมสั้น วรรณผมยาว ไม่สิ คนที่ผมสั้นคือวรรณ และคนที่ผมยาวคือแวว โชคดีที่บทสนทนานี้อยู่บนหน้ากระดาษ คุณผู้อ่านจึงไม่ต้องเป็นห่วงว่าวรรณกับแววใครกล่าวก่อนกัน

เพราะสิ่งที่ฉันทำลงไปใจสั่งมา

ในวันที่เห็นและจดจำกระบวนการทำงานในสำนักพิมพ์ของที่บ้านตั้งแต่ต้นทางของเก็บข้อมูลไปจนถึงมือผู้อ่านผ่านร้านหนังสือและงานสัปดาห์หนังสือ เราสนใจว่าสิ่งเหล่านี้สร้างแรงบันดาลใจในการเลือกทางเดินชีวิตของแต่ละคนอย่างไร ก่อนจะกลับเข้าสู่สำนักพิมพ์ของที่บ้านอย่างเต็มตัว เพราะทั้งสี่พี่น้องยืนยันว่าไม่มีใครเลือกเรียนเพราะคิดว่าจะมารับช่วงต่อ ทุกคนเรียนในสิ่งที่ตัวเองสนใจ

“พี่ชายคนโตเรียนจบสายโฆษณา จากนั้นเริ่มงานบริษัทก่อนจะร่วมกับเพื่อนเปิดบริษัทกราฟิกของตัวเอง จนย้ายออฟฟิศมาที่เดียวกันซึ่งทำให้ต้องช่วยงานของที่บ้านเยอะขึ้น สุดท้ายพ่อก็ชวนมาเป็น Art Director เต็มตัวให้สำนักพิมพ์ แต่ถ้าลำดับการทำงานกับที่บ้านแล้ว ผมเป็นคนแรกที่มาช่วยงานที่บ้าน ก่อนหน้านี้เป็นวิศวกรบริษัทหนึ่ง แล้วพบว่าจริงๆ แล้วสนใจงานการตลาด แต่ยังไม่เคยลองทำและเป็นจังหวะเดียวกับที่บ้านกำลังหาคนมาช่วยงานส่วนนี้ เราจึงเริ่มต้นทำงานที่บ้านเต็มตัว” น่านเล่าเรียงเรื่องราวตามลำดับอาวุโส

“เราตั้งใจเข้านิเทศศาสตร์ เพราะแอบคิดเล็กๆ ว่าสาขาวารสารศาสตร์น่าจะใช้กับงานที่บ้านได้ ปรากฏว่าวารสารที่เข้าใจว่าเรียนเรื่องนิตยสารจริงๆ แล้วเป็นเรื่องหนังสือพิมพ์ พอเจอว่าเป็นข่าวเราก็ขอย้ายไปเรียนภาพยนตร์แทน (หัวเราะ) แต่เราก็ยังวนเวียนอยู่กับงานเขียน ปิดเทอมไปฝึกงานเป็น a team junior 2 พอเรียนจบก็ไปทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับโฆษณา แต่รู้สึกว่าชอบทำงานหนังสือมากกว่าเลยไปทำงานเป็นกองบรรณาธิการนิตยสาร ฟิ้ว ในเครือ BIOSCOPE ตอนนั้นแอบคิดว่าสักวันหนึ่งจะกลับมาช่วยที่บ้านแต่ยังไม่ไปกำหนดอะไรมากเพราะยังมาไม่ถึง

“และพอแววจะไปเรียนต่อก็ขอไปด้วย ตอนนั้นเริ่มชัดเจนกับตัวเองแล้วว่าจะทำงานสายภาพยนตร์ ได้ทำงานโปรดิวเซอร์และงานเขียนบท” วรรณเล่าถึงเส้นทางของตัวเองที่ฟังแล้วเฉียดใกล้กับเส้นทางของกิจการที่บ้านที่สุด

สำนักพิมพ์แสงแดด

“ส่วนเราเรียนเศรษฐศาสตร์ แล้วไปทำงานการตลาดสักพักก็รู้สึกชอบงานวิดีโอมากกว่า เพราะช่วงเรียนมหาวิทยาลัยมีโอกาสไปช่วยวรรณบ่อยๆ จึงตัดสินใจไปเรียนต่อเรื่องภาพยนตร์ก่อนจะกลับมาทำงานสื่อสักพักและเริ่มบริษัท production house ของตัวเอง” แววเล่าถึงช่วงเวลาที่ค้นพบความมีแววของตัวเอง

จนวันหนึ่งที่พี่น้องฝาแฝดคุยกันว่าอยากทำวิดีโอถ่ายอาหารสวยๆ โดยใช้สูตรของตำราอาหารที่บ้านทำตามรายสะดวก ก่อนจะชวนพี่ชายคนรองทำรายการทำอาหารบนยูทูบด้วยกัน จากทีมงานเล็กๆ จึงกลายเป็น Spoonful Production ซึ่งมีสถานะเป็นหน่วยหนึ่งที่จะทำสื่อเคลื่อนไหวให้สำนักพิมพ์แสงแดด เป็นจุดเริ่มต้นที่เปลี่ยนสำนักพิมพ์แสงแดดผู้ผลิตตำราอาหารมาอย่างยาวนาน ปลุกกระแสการถ่ายอาหารด้วยมุมภาพและเทคนิคการเล่าเรื่องแบบใหม่ที่น่าสนใจ สร้างความมีชีวิตชีวาแก่สำนักพิมพ์จนเริ่มเป็นที่รู้จักในกลุ่มคนรุ่นใหม่

“ก่อนหน้านี้พ่อพวกเราเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยด้านสังคมศาสตร์ ช่วงที่พ่อลาพักมาเขียนวิทยานิพนธ์ที่บ้านเป็นช่วงเดียวกับที่แม่เริ่มต้นนิตยสาร ครัว พอดี ไปๆ มาๆ พ่อสนุกกับการวิเคราะห์และจับประเด็นและเรื่องอาหารจนไม่เขียนงานวิจัยของตัวเอง สุดท้ายท่านก็ early retire มาทำสำนักพิมพ์กับแม่ เราคิดว่าพ่อรู้สึกสนุกเพราะพ่อมีอินเนอร์แบบนักวิจัย โดยพ่อจะดูงานบรรณาธิการเป็นหลัก ออกแบบเนื้อหาว่าตำราอาหารและนิตยสารแต่ละเล่มต้องไม่ใช่มีเรื่องสูตรอาหาร แต่ควรจะมีข้อมูลเชิงลึกว่าผู้อ่านต้องรู้เรื่องอะไรก่อนเล่มลงมือทำ” วรรณเป็นตัวแทนเล่าถึงพ่อ ผู้เป็นอีกคนหนึ่งที่เปลี่ยนสายงานมาร่วมสร้างความแข็งแรงให้สำนักพิมพ์แสงแดดด้วยกัน

“ด้วยความที่เราอยู่กับอาหารมาตลอดกับเรื่องนี้พวกเราเลยไม่ฝืนใจที่จะทำ ช่วงไหนที่นิตยสารครัวกำลังสนใจเรื่องปลาแม่น้ำ ก็จะมีปลาแม่น้ำเต็มโต๊ะที่บ้าน เพราะพ่อจะ experimental ไปด้วย ดังนั้นต่อให้สิ่งที่ทำไม่ใช่ที่สุดของความฝัน มันก็ไม่ได้คนละขั้วจนเกินไปก็ยังมีความสนุกอยู่” แวว เสริมหลังจากที่พี่น้องทั้ง 4 เริ่มประจำการทำงานในสำนักพิมพ์แสงแดด

เธอก็เสือ ฉันก็สิงห์ อันที่จริงไม่มีอะไร

“เราคุยงานการตลอดเวลาแม้บนโต๊ะอาหาร” แววเล่า และไม่ต้องนึกภาพไปไหนไกลที่ไหน เพราะระหว่างที่พูดคุยกันอยู่นี้ แววเองขีด-ปรับ-แก้ไขบางอย่างอยู่บนกระดาษใกล้ๆ เรานี่เอง

ใครที่คิดว่าทำงานที่บ้านเป็นเรื่องสนุก เราขอให้ลองนึกภาพการประชุมงานที่โต๊ะอาหาร 3 มื้อต่อวัน ยังไม่รวมช่วงเวลาเข้างานและเลิกงานที่ไม่มีสิทธิ์ตอกบัตรด้วย

“เรื่องการเตรียมส่งไม้ต่อจากพ่อแม่สู่พวกเราเต็มตัว จริงๆ เราก็เห็นด้วย แต่ในเชิงปฏิบัติมันคงวางแผนไม่ง่ายขนาดนั้น ช่วงที่วรรณรับโจทย์การเปลี่ยนโฉม ครัว จากพ่อ พ่อปัดไอเดียที่เสนอไปตกหมดเลย จากนั้นเราก็ค่อยๆ ปรับจูนท่าที ต้องค่อยๆ อาศัยการทำงานด้วยกันจริงๆ แล้วค่อยๆ เปลี่ยนไปสู่สิ่งที่เราอยากให้เป็น อีกอย่างเรารู้สึกว่าทุกครอบครัวมันก็จะมีความไม้เบื่อไม้เมากันเป็นธรรมดา และของเราพอมีกิจการครอบครัวมาเกี่ยวเรื่องการงานจึงเป็นหัวข้อหลักที่ทำให้คิดเห็นไม่ตรงกัน”

“ผมบอกเสมอว่าถ้าใครคิดจะทำงานกับที่บ้านคุณต้องยอมรับข้อนี้ให้ได้ คุณต้องมีความอดทน ใจเย็น และพยายามพิสูจน์ตัวเอง” น่าน พี่ชายคนรองผู้รับมือกับการตกลงกับแม่ได้น้อยที่สุดแนะนำทางออกที่ win-win ทุกฝ่าย

“พอทำงานกับที่บ้านแล้วมีข้อขัดแย้ง มันไม่ใช่แค่เจ้านายกับลูกน้อง แต่มันมีความเป็นพ่อแม่ด้วย ดังนั้นสิ่งที่พูด น้ำเสียงที่พูด ทั้งหมดส่งผลต่ออารมณ์ของผู้ฟัง (หัวเราะ) หรือท่าที ซึ่งจะซับซ้อนกว่าการอยู่ในองค์กรและเราเป็นเพียงพนักงานคนหนึ่ง ส่วนข้อดีก็คือไม่ว่าจะทำอะไรก็เป็นของเราเอง เราไม่ได้รู้สึกว่าเราทำเพื่อบริษัทหรือใครคนอื่น ดังนั้นจะเห็นว่ามีข้อดีข้อเสียต่างกัน” วรรณ ผู้เชี่ยวชาญการปรองดองในครอบครัวแนะนำข้อดีข้อเสียของการทำงานรับช่วงต่อกิจการที่บ้าน

อยู่ต่อเลยได้ไหม อย่าเพิ่งปล่อยให้ตัวฉันไป

และเมื่อบริบทของสังคมและทุกอย่างเปลี่ยนไปจากเดิม โดยเฉพาะจุดเปลี่ยนในช่วง 5 – 6 ปีที่ผ่านมา ประเด็นของการเข้ามาของ smartphone ที่กระทบธุรกิจหนังสือและนิตยสารซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอาจจะเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้กัน ที่น่าสนใจคือ บริษัทผู้ผลิตตำราอาหารที่เคยเฟื่องฟูมากในยุคหนึ่งจะมีท่าทีอย่างไรในยุคที่ทุกคนสามารถหาสูตรอาหารฟรีได้จากอินเทอร์เน็ต

“จริงๆ ถ้าเราไม่ได้รับช่วงกิจการ เราก็แอบคิดว่าหากไปเริ่มทำสิ่งใหม่ที่เข้ากับบริบทปัจจุบัน มันคงจะง่ายกว่าที่ต้องมารับช่วงและปรับเปลี่ยนบริษัทให้อยู่รอด” ก่อนที่วรรณจะเล่าถึงการแบกรับความคาดหวังจากบริษัท และการปรับตัวเข้าสู่โลกออนไลน์มากขึ้น “เราอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี สิ่งที่เคยทำแล้วว่าดีในยุคพ่อแม่มันไม่เวิร์กแล้วในตอนนี้ จริงๆ ก็เหมือนต้องเริ่มใหม่ ซึ่งขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงแบรนด์เก่าด้วย

“จริงๆ ยอดขายนิตยสาร ครัว เท่าเดิมนะ และการปรับโฉมจุดกระแสคนรุ่นใหม่และโลกออนไลน์มากขึ้น แต่ในแง่ธุรกิจ ด้วยโมเดลยุคหนึ่งที่ ครัว ทำหน้าที่เป็นแม่ทัพมีส่วนสำคัญในด้านเนื้อหาทำให้เกิดหนังสือเล่มอื่นๆ ของสำนักพิมพ์ไม่เป็นผลแบบแต่ก่อนแล้ว เราก็ต้องมาคิดต่อว่าจะทำอย่างไรดี ซึ่งคนตัดสินใจก็คือพ่อแม่ สำหรับคนทำงานอย่างเรา เราไม่รู้หรอกว่าการเปลี่ยนโฉม ครัว ถูกใจกลุ่มเป้าหมายอย่างไร เพราะมีทั้งเสียงติจากแฟน ครัว รุ่นเก่าที่ไม่ชอบใจการเปลี่ยนขนาดตัวหนังสือและรูปแบบการจัดหน้าแบบใหม่ ขณะที่มีเสียงชื่นชมจากกลุ่มแฟนครัวรุ่นใหม่ แต่สิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกก็คือ ทีมที่ทำงานด้วยกันมีพลังเปลี่ยนไป เพราะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลาจากโจทย์ที่เปลี่ยนไปทุกเดือน เรายังสนุกกันมากๆ จริงๆ” วรรณเล่าในฐานะผู้รับช่วงเปลี่ยนโฉมนิตยสาร ครัว ที่มีอายุ 24 ปีให้กลายเป็นสาววัยรุ่นผู้กระฉับกระเฉงและสดใส

สำนักพิมพ์แสงแดด

Here comes the sun

ไม่กี่วันก่อนหน้านี้ แววแจ้งข่าวสถานการณ์ของนิตยสาร ครัว กับเรา ด้วยห่วงว่าเรื่องราวที่พูดคุยนั้นจะตรงกับความตั้งใจของคอลัมน์เราหรือเปล่า

จากสถานการณ์ แม้ฟังดูอาจจะไม่ใช่เรื่องน่ายินดี แต่เราก็เผลอปากออกบอกยินดีมากและรอที่จะได้พูดคุยกันเรื่องนี้กลับไป นั่นเป็นเพราะเราติดตามผลงานของพี่น้องบ้านแสงแดดอยู่เสมอ ทั้งเชื่อมั่นว่าในทุกการตัดสินใจพวกเขาและเธอจะผ่านมันไปได้ด้วยดีอย่างแน่นอน ไม่ใช่เพราะเรามีตาทิพย์หรือจิตสัมผัส แต่สิ่งที่พวกเขาทำในช่วงเวลาที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นและบอกเราอย่างนั้น

สำนักพิมพ์แสงแดด

“หลังจาก ครัว ฉบับสุดท้าย เราตั้งใจที่จะทำเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับอาหาร ซึ่งระหว่างนี้เราก็ประมวณความคิดและทบทวนบทเรียนที่ผ่านมาจากการพูดคุยกับพ่อและแม่ จนได้เจอกับจิตวิญญาณของ ครัว และเราอยากรักษาสิ่งนี้ต่อไปแม้จะอยู่ใน platform ใหม่ โดยพูดถึงหัวใจของครัว 3 เรื่อง ได้แก่ หนึ่ง สานต่อเจตนารมณ์ของครัวที่สนับสนุนของท้องถิ่นของไทย ที่ผ่านมา ครัว พูดเรื่องชาวบ้าน ปลาแม่น้ำ การเก็บไข่มดแดง หรืออาหารท้องถิ่นตามที่ต่างๆ ที่เราไม่อาจเสิร์ชเจอบนอินเทอร์เน็ต เป็นของที่ชาวบ้านมากๆ และเขาไม่ได้สนใจอยากโปรโมตตัวเอง เรารู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เคยไปถึงคนรุ่นใหม่ เราอยากลองดูกับเว็บไซต์นี้ สอง สนับสนุนให้คนลุกขึ้นมาทำอาหารกินเอง และสาม อยากให้คนหันมาสนใจและมีความรู้กับสิ่งที่กิน ว่าสิ่งนั้นมาจากไหน หน้าตาที่แท้จริงเป็นอย่างไร” วรรณกล่าว

เมื่อถามถึงความมั่นใจของคนที่ทำเนื้อหาเรื่องอาหารและวัฒนธรรมอย่างเข้มข้น ถึงการเปลี่ยนสู่ออนไลน์ที่อาจจะเน้นความกระชับ น่านก็บอกกับเราว่า “ก็มีบ้างที่เรากังวลว่าเราจะทำได้ไหม คนจะรู้เรื่องและตามทันหรือเปล่า พวกเราจึงพูดคุยกันใหม่ว่าเราทำในสิ่งที่เราอยากทำกันดีกว่าไหม เรื่องกินเป็นเรื่องใหญ่นะ และเราต้องการคนที่ถ่ายทอดมันอย่างตรงไปตรงมา แบบที่ควรจะเป็น แบบที่ดีกับทุกคนโดยไม่ได้มีข้อความแฝงใดๆ พอมาคิดแบบนี้เราก็รู้สึกเป็นตัวเองขึ้นมา และเริ่มมีพลังพร้อมส่งต่อจิตวิญญาณที่มีในสมัยรุ่นพ่อแม่ แล้วถ้าเราทำและเชื่อมั่นอย่างแท้จริงรายได้ก็คงมาเอง จะบอกว่าเป็นทั้งวิกฤตและโอกาสในคราวเดียวกันก็ได้

“โลกออนไลน์ก็มีข้อดีคือการเข้าถึงง่ายและการสื่อสารที่เป็นกันเอง ในขณะที่สิ่งพิมพ์มีรายละเอียดต้องผ่านการพิสูจน์อักษรหลายรอบเป็นคนละธรรมชาติ” วรรณสรุปให้เราฟังว่าในส่วนของนิตยสาร ครัว จะทำออนไลน์เป็นหลักแต่ก็ยังอยากมีสิ่งพิมพ์อยู่ ซึ่งอาจจะทำในรูปแบบ bookazine ราย 3 – 4 เดือน

“อนาคตจะเป็นอย่างไรไม่รู้ รู้แต่ว่าต้องทำให้เต็มที่ มันถึงยุคที่เราต้องก่อร่างสร้างเองแล้ว เส้นทางที่พ่อแม่สร้างมาให้มันขีดมาจนถึงปลายเส้นแล้ว ด้วยอายุของพ่อแม่ ด้วยเรื่องเศรษฐกิจ ทำให้เราต้องปรับและเปลี่ยนไปจากเดิมสู่ยุคใหม่ มันไม่เหมือนการเปลี่ยนผ่านยุคก่อนๆ ที่ยังเก็บรักษาคุณค่าเดิมไว้ แต่ครั้งนี้แทบทุกอย่างเราต้องคิดใหม่หมด ท้าทายพอสมควร” แววทิ้งท้ายไว้ ซึ่งเป็นนาทีสุดท้ายของการสนทนาที่เราเริ่มแยกแววและวรรณออกด้วยน้ำในแววตาของแวว

“ในขณะที่เครียดเราก็อยากเห็นมันออกมาดีมากๆ อันดับแรกคือเราไม่ฝืนที่จะทำ อันดับสองคือเราอยากเห็นมันออกมาดี แม้ว่าสิ่งนี้จะไม่ใช่ความฝันสูงสุด” คำตอบสรุปของวรรณยิ่งทำให้เราเอาใจช่วยและรอคอยโฉมใหม่ของ ครัว นี้เข้าไปอีก ก่อนที่น่านจะรับหน้าที่เป็นคนสรุปสิ่งที่ทายาทรุ่นที่สองของสำนักพิมพ์แสงแดดกำลังจะไป

“สิ่งที่พ่อแม่สร้างมากำลังจะดำเนินต่อไปในอีกร่างหนึ่ง ด้วยรากฐานเดิมแต่เพิ่มเติมที่ส่วนประกอบใหม่จากพวกเราที่ถนัดกันคนละอย่าง เราทำเนื้อหา เราดูแลความสวยงาม เราเป็นคนจัดการ และเราเป็นคนทำอาหาร”

สำนักพิมพ์แสงแดด พ.ศ. 2528

 

ก่อนจะเริ่มสำนักพิมพ์แสงแดดอย่างเต็มตัว คุณแม่นิดดาเล่าให้ฟังว่า เธอเป็นผู้จัดการวารสาร เมืองโบราณ อยู่ถึง 6 ปี “เราเป็นคนทำงานแล้วทุ่มเพราะตื่นเต้นไปหมดที่จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ เราเรียนจบครุศาสตร์ฟิสิกส์จากจุฬาฯ แล้วมาทำงานในสายที่ไม่ตรงกับสิ่งที่เรียน แม่รู้สึกว่าห้องเรียนที่แท้จริงคือการทำงาน แม่จึงไม่เคยดูถูกใครที่เรียนจบอะไรมา แม่จะให้โอกาสทุกคนไม่ว่าคนนั้นจะมีพื้นฐานการเรียนอะไรมา”

 

ช่วงแรกสำนักพิมพ์แสงแดดทำหนังสือทุกแนว และด้วยความที่คุณแม่เป็นนักวิทยาศาสตร์ เธอจึงทำสถิติข้อมูลการขาย แล้วพบว่าตำราอาหารเป็นหมวดที่ขายดีที่สุดของสำนักพิมพ์ “จากนั้นเราตัดสินหยุดทำหนังสือประเภทอื่นๆ และพัฒนาตำราอาหารอย่างเดียว ช่วงนั้นมีคนดูถูกเรานะว่าทำตำราอาหารขายและขายอย่างเดียวด้วยจะไปได้สักเท่าไหร่ เราเองยังบอกเขาเลยว่าไม่เป็นไร ในเมื่อทำแล้วขายได้ก็ขอทำไปก่อนถึงวันที่จบก็ต้องจบ ปรากฏไม่ใช่เลย ตลาดตำราอาหารเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ไม่เช่นนั้นเราคงไม่สามารถมาถึงวันนี้ได้ด้วยตำราอาหารโดยที่แม่เป็นคนไม่ทำอาหาร เรื่องนี้นอกจากครอบครัว ไม่มีใครรู้เลยนะ (หัวเราะ)”

 

แต่ถึงอย่างนั้นคุณแม่ก็มีความรู้เรื่องอาหารอยู่พอตัว ซึ่งแม้แต่กับตำราอาหาร เธอก็ยังทำสถิติว่าอาหารชนิดไหนขายดี และพบว่าอาหารไทยขายดีและเป็นที่ต้องการในตลาด “มีเล่มหนึ่งที่แม่ทำชื่อว่าคานาเป้ ทำออกมาแล้วขายไม่ดี จึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นอาหารว่างและคานาเป้ เท่านั้นแหละ ขายดีมากๆ สมัยนั้นยังพิมพ์ขาวดำอยู่เลยนะ”

 

“สิ่งที่แม่รู้สึกเมื่อเห็นสำนักพิมพ์แสงแดดในยุคทายาทรุ่นสองคือ เขาเห็นในสิ่งที่แม่ไม่เห็น เช่น การนำเสนอตัวเอง การเขียนหนังสือเขาก็แหวกจากแม่ไปเลย แม่ยังคิดเลยว่า ถ้าแม่จะเขียนหนังสืออย่างพวกเขาจะทำได้ไหม ทำให้รู้สึกว่าคนเรามีสิ่งที่ซ่อนอยู่ข้างในและสิ่งนี้จะปรากฎต่อเมื่อเขาได้ทำมันออกมาแม่รู้สึกภูมิใจในตัวพวกเขานะ เพียงแต่ไม่ได้รู้สึกว่าที่พวกเขาเป็นแบบนี้ก็เพราะแม่ เขาเก่งแบบนี้เพราะตัวของเขาเอง”

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan