24 พฤศจิกายน 2021
1 K

ช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ท้าทายอย่างมากสำหรับทุกธุรกิจ รวมไปถึงธุรกิจครอบครัวซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะเมื่อวิกฤตต่าง ๆ ถาโถมเขามาอย่างไม่หยุดยั้ง ธุรกิจครอบครัวจึงไม่ได้พบเพียงปัญหาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากของผู้คน สังคม วิถีชีวิต และโลกของเรา

ในปีนี้ งานเสวนา ‘ทายาทรุ่นสอง’ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 จึงมาในแนวคิด Future Possibilities หรือความเป็นไปได้ในอนาคต โดยเราตั้งใจนำเสนอนำเสนอแนวคิด เครื่องมือ และความเป็นไปได้ ของการทำธุรกิจครอบครัวในบริบทใหม่ของโลก

แม้ว่าปีนี้รูปแบบการจัดงานจะเป็นออนไลน์ต่างจากปีก่อน ๆ เราตั้งใจให้เป็นมากกว่างานเสวนา แต่เป็นพื้นที่ให้บรรดาผู้ประกอบการและทายาทธุรกิจได้พบปะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เหมือนที่ คุณสุวภา เจริญยิ่ง หนึ่งในวิทยากรของเราบอกไว้ในเลกเชอร์ของเธอว่า “สิ่งที่คนทำธุรกิจครอบครัวต้องการ คือการเอาประสบการณ์มาแชร์กัน ประสบการณ์ที่ครอบครัวเราเจอ เพื่อนเราเจอ”

ต่อจากนี้ คือสรุปบทเรียนฉบับพิเศษจากช่วง Lecture ที่ผู้ประกอบการไทยสามารถนำไปปรับใช้จริง 

15 บทเรียนเสวนา ‘ทายาทรุ่นสอง : Future Possibilities’ ให้ธุรกิจครอบครัวอยู่รอดในโลกใหม่

Lecture 01 : ธุรกิจครอบครัวไทยในบริบทโลกใหม่

โดย ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์
ศาตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ University of California San Diego

15 บทเรียนเสวนา ‘ทายาทรุ่นสอง : Future Possibilities’ ให้ธุรกิจครอบครัวอยู่รอดในโลกใหม่

01 โดน ‘ป่วน’ ต้อง ‘ปรับ’ อย่า ‘ป่วย’

สำหรับธุรกิจครอบครัว เส้นทางชีวิตของธุรกิจไม่ได้มีเพียงช่วงเริ่มต้น เอาตัวรอด เติบโต อิ่มตัว หรือถดถอยเหมือนธุรกิจทั่วไปเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีอีกเส้นทางที่เป็นเส้นทางชีวิตของครอบครัวนักธุรกิจนั้นด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจครอบครัวจึงไม่ได้พบเจออุปสรรคทั่วไปอย่างการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม หรือพฤติกรรมผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องพบกับ ‘ตัวป่วน’ ที่เป็นเอกลักษณ์กับธุรกิจครอบครัวอีกด้วย

3 ตัวป่วนที่จะเข้ามาท้าทายธุรกิจครอบครัวได้แก่ 

การตาย – การจากไปของก่อตั้งหรือผู้รับช่วงต่อธุรกิจ

การเข้ามาใหม่ – การเข้ามาของสมาชิกใหม่ในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นลูกสะใภ้ ลูกเขย ไปจนถึงลูกหลาน 

ความเหลื่อมล้ำ – เมื่อครอบครัวมีสมาชิกและความต้องการหลากหลายขึ้น การมีส่วนร่วม บทบาท ไปจนถึงมรดกจากธุรกิจก็อาจมีไม่เท่ากัน

แต่อย่าเพิ่งท้อหรือป่วยไป แม้ธุรกิจครอบครัวอาจดูเหมือนว่าจะต้องจัดการตัวป่วนที่มากกว่าธุรกิจทั่วไป แต่จริง ๆ แล้วกลับอยู่รอดได้ยาวนานกว่าธุรกิจประเภทอื่น เพราะแม้จะเจออุปสรรคที่หลากหลาย แต่ก็มีอาวุธเฉพาะตัวที่ช่วยให้ธุรกิจปรับตัวเพื่ออยู่รอดต่อไปได้

02 จุดเด่นของธุรกิจครอบครัว คือสินทรัพย์ที่ต้องรักษาและต่อยอด และอย่าทำให้กลายเป็นหนี้สิน

ธุรกิจครอบครัวมีสินทรัพย์ที่เป็นจุดเด่น และนำมาต่อยอดเพื่อเป็นอาวุธช่วยให้ธุรกิจปรับตัวได้ สินทรัพย์เหล่านี้คือ ความสัมพันธ์ในครอบครัว ความอดทน ทักษะการบริหารและแรงงาน ความสัมพันธ์กับ Stakeholders ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของ พนักงาน คู่ค้า ลูกค้า หรือชุมน และชื่อเสียงของผลิตภัณฑ์

แม้ว่าจะจับต้องไม่ได้ แต่ทั้ง 5 ข้อนี้เป็นสินทรัพย์สำคัญที่ธุรกิจครอบครัวต้องรักษาและต่อยอด เพราะสินทรัพย์เหล่านี้ คือดีเอ็นเอที่ช่วยให้ธุรกิจครอบครัวอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน

15 บทเรียนเสวนา ‘ทายาทรุ่นสอง : Future Possibilities’ ให้ธุรกิจครอบครัวอยู่รอดในโลกใหม่

03 มองอนาคต เพื่อกำหนดปัจจุบัน

เมื่อบริบทของโลกเปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่ธุรกิจครอบครัวต้องทำ คือประเมินสถานการณ์อย่างรอบด้าน รวมถึงปัจจุบันและอนาคตของครอบครัวและธุรกิจอย่างเป็นกลาง โดยมองถึงโครงสร้างธุรกิจและความสามารถในการแข่งขันในบริบทโลกใหม่ของธุรกิจ รวมถึงอนาคตของครอบครัวว่าจะมีการรับช่วงต่อหรือไม่ อย่างไร

หลังจากประเมินอนาคตแล้ว อนาคตจะเป็นตัวกำหนดปัจจุบัน โดยช่วยให้เราตั้งโจทย์ได้ว่า ธุรกิจมีอะไรที่ต้องปรับเปลี่ยนและเร่งด่วนแค่ไหน ส่วนครอบครัวต้องเตรียมปั้นทายาทหรือไม่ ซึ่งจะนำมาสู่คำตอบว่า ธุรกิจครอบครัวควรเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน ไม่ว่าจะเป็นการต่อยอด หรือการปฏิวัติธุรกิจก็ตาม

Lecture 02 : Disrupt ธุรกิจเพื่อลูกค้าในวันหน้า

โดย คุณนัฐธารี พันธุ์เพ็ญโสภณ
ทายาทรุ่นที่ 3 โคคาสุกี้

15 บทเรียนเสวนา ‘ทายาทรุ่นสอง : Future Possibilities’ ให้ธุรกิจครอบครัวอยู่รอดในโลกใหม่

04 ยึดมั่นใน Core Values และสื่อสารออกมา

สิ่งสำคัญที่สุดที่ทายาททุกรุ่นห้ามลืม คือ Core Values ซึ่งต้องสื่อสารออกไปอย่างสม่ำเสมอในทุก ๆ ส่วนของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการ

เมื่อโดนบีบให้เปลี่ยนแปลง สถานการณ์ย่อมตึงเครียด เพราะธุรกิจจะต้องแข่งกับเวลา คน และโลกใบนี้ แต่ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่จะช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจและทำให้อยู่รอดได้ คือสาเหตุที่ธุรกิจนั้นเกิดขึ้นมา อะไรคือเสน่ห์ของธุรกิจนั้น และทำไมเราถึงรับช่วงต่อ การทำให้ธุรกิจครอบครัวคงคุณค่าของธุรกิจนั้น และสื่อสารออกไปได้ในทุก ๆ รุ่น ทุก ๆ สถานการณ์ ไม่ว่ารูปแบบหรือบริบทใดก็ตาม

 05 ปรับตัวแบบ Real-time และกล้าที่จะ Disrupt ตัวเอง

ทันทีที่โลกใหม่ก้าวเข้ามา ธุรกิจครอบครัวต้องปรับเปลี่ยนอย่าง Real-time เพราะในทุกวัน สถานการณ์ ธุรกิจ และผู้คน เปลี่ยนแปลงไปเสมอ 

แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องง่าย เหล่าทายาทจึงต้องมีความกล้าที่จะ Disrupt ตัวเอง ถ้าทำผิดก็ต้องลุกขึ้นมาใหม่ แล้วสู้ต่อไปจนกว่าจะสำเร็จ แม้ว่าจะเป็นผลสำเร็จเพียงเล็ก ๆ ก็ตาม เพราะนั่นคือเครื่องพิสูจน์ว่าธุรกิจของคุณไม่ได้ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แต่กำลังก้าวเดินไปสู่อนาคตที่สดใสกว่าเดิม

15 บทเรียนเสวนา ‘ทายาทรุ่นสอง : Future Possibilities’ ให้ธุรกิจครอบครัวอยู่รอดในโลกใหม่

06 ความซื่อสัตย์คือหัวใจของความยั่งยืน

บทเรียนข้อสุดท้ายแต่สำคัญที่สุดในชั้นเรียนวิชานี้คือ ความซื่อสัตย์ แม้ว่าธุรกิจครอบครัวจะต้องต่อสู้ ดิ้นรน และฟันฝ่ามาแค่ไหน ความสื่อสัตย์กับธุรกิจของเรา ลูกค้าของเรา และคู่ค้าทั้งหมด คือหัวใจของความยั่งยืน เพราะในวันที่วิกฤตผ่านพ้นไป ทุกคนจะหันกลับมามองและประเมินว่าธุรกิจอยู่รอดมาได้อย่างไร หรือไม่รอดเพราะอะไร 

ถ้าหากธุรกิจนั้นอยู่รอดมาได้โดยไร้ความซื่อสัตย์ ก็จะกลายเป็นภาพจำในสายตาผู้คน และเป็นจุดเริ่มต้นของความเสื่อมถอย ในขณะที่หากธุรกิจนั้นยังสื่อสัตย์กับทุก ๆ คน แม้ในวันที่แสนยากลำบาก ผู้คนจะชื่นชมและเชื่อมั่นในธุรกิจนั้น และความเชื่อมั่นนี้ย่อมส่งผลดีต่อธุรกิจในระยะยาว

Lecture 03 : ข้อตกลงว่าจ้างกับรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป

โดย คุณประทินรัตน์ วัชรสินธุ์
ที่ปรึกษาด้านการจัดการและธุรกิจครอบครัว

บทเรียนจากวิทยากรงาน 'ทายาทรุ่นสอง : Future Possibilities' พร้อมรับช่วงต่อธุรกิจในบริบทโลกใหม่ ก้าวสู่อนาคตอย่างยั่งยืน

07 สัญญาจ้างงานที่ชัดเจน คือความสบายใจของทุกฝ่าย

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หนึ่งในคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับความท้าทายในการจัดการทรัพยากรบุคคลคือ สัญญาการจ้างงาน แม้ว่าสัญญาการจ้างงานเกิดได้จากการพูดคุยกันแบบปากเปล่า แต่การเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร คือจุดเริ่มต้นในการสร้างความชัดเจน ทั้งในเรื่องของบทบาท เงื่อนไข ค่าตอบแทน ทั้งยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและความเป็นมืออาชีพให้แก่บริษัท

เมื่อบริบทโลกใหม่ก้าวเข้ามา โดยเฉพาะกับธุรกิจครอบครัวเอง การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับการอยู่รอด สัญญาจ้างงานจึงต้องคำนึงถึงรูปแบบการจ้างงาน ค่าตอบแทน สวัสดิการ และภาระภาษี ที่ชัดเจนเป็นหลัก ซึ่งจะช่วยให้องค์กรและพนักงานตกลง อีกทั้งปรับเปลี่ยนให้เท่าทันสถานการณ์ได้อย่างสบายใจทั้งสองฝ่าย

08 ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ้าง เพื่อดึงดูดและรักษาคนที่เหมาะสมกับธุรกิจของเราที่สุด

อีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่สุดในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะผลพวงจากวิกฤตโควิด-19 คือการเปลี่ยนแปลงไปของรูปแบบการทำงาน การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เกิดความลำบากใจกับทั้งสองฝ่าย ลูกจ้างกลัวถูกเลิกจ้าง นายจ้างเองก็พบเจอกับความเปลี่ยนไปของพนักงานที่อาจคุ้นชิน และชอบการทำงานในรูปแบบนอกสถานที่ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงานจึงเป็นสิ่งที่ธุรกิจต้องคำนึงถึง เพื่อดึงดูดและรักษาบุคลากรไว้ให้ได้

ธุรกิจครอบครัวหลายแห่งมีพนักงานที่อยู่กับองค์กรมาอย่างยาวนานตั้งแต่รุ่นก่อน ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีพนักงานรุ่นใหม่ที่เพิ่งก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท ดังนั้น การตกลงรูปแบบการจ้างงาน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานประจำที่ออฟฟิศ การทำงานจากที่บ้าน ไปจนถึงการจ้างงานแบบฟรีแลนซ์ ควรกำหนดอัตราค่าตอบแทนและสวัสดิการของแต่ละรูปแบบที่ชัดเจน เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ทุกฝ่าย ทั้งกับพนักงานและนายจ้างด้วยเช่นกัน

บทเรียนจากวิทยากรงาน 'ทายาทรุ่นสอง : Future Possibilities' พร้อมรับช่วงต่อธุรกิจในบริบทโลกใหม่ ก้าวสู่อนาคตอย่างยั่งยืน

09 หากมีความชัดเจนและความเข้าใจซึ่งกันและกันก็จากกันด้วยดีได้

งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกราฉันใด การพบเจอย่อมมีการจากลากฉันนั้น เมื่อมาถึงวันที่ธุรกิจของเหล่าทายาทต้องบอกลาพนักงานที่ช่วยสร้างและขับเคลื่อนธุรกิจมา แน่นอนว่าไม่มีใครอยากจากกันด้วยความบาดหมาง โดยทั่วไปในกรณีที่ลูกจ้างเป็นฝ่ายลาออกนั้น ธุรกิจย่อมได้รับผลกระทบ แต่นั่นก็ยังไม่เท่ากับกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิก เพราะว่าการบอกเลิกสัญญาจ้างบุคคลโดยนายจ้าง ย่อมตามมาด้วยการชดเชยตามกฎหมาย

การเลิกจ้างที่ดีนั้นจึงเริ่มต้นตั้งแต่การเลือกรูปแบบการจ้างงาน หัวเรือของทุกธุรกิจต้องถามตัวเองว่าต้องการอะไรจากตำแหน่งงานนั้น ๆ หากเป็นโครงการเฉพาะหรืองานที่มีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ก็เลือกจ้างเป็นสัญญาแบบมีกำหนดระยะเวลาได้ หรือเลือกเป็นการจ้างบริการไป เพื่อสร้างความชัดเจนและลดความบาดหมางระหว่างสองฝ่าย ทำให้นายจ้างและลูกจ้างจากกันได้ด้วยดี

Lecture 04 : ความสัมพันธ์กับคู่ค้าที่มากกว่าความผูกพัน

โดย คุณนพนารี พัวรัตนอรุณกร
ทายาทรุ่นที่ 3 ร้านสมใจ เครื่องเขียน และอุปกรณ์ศิลป์

บทเรียนจากวิทยากรงาน 'ทายาทรุ่นสอง : Future Possibilities' พร้อมรับช่วงต่อธุรกิจในบริบทโลกใหม่ ก้าวสู่อนาคตอย่างยั่งยืน

10 เข้าใจคู่ค้า เพราะคู่ค้าคือคู่หู และคู่หูคือคู่คิด

เมื่อธุรกิจส่งผ่านมายังรุ่นถัดไป สิ่งที่ทายาทต้องดูแลต่อจากรุ่นก่อนหน้าไม่ใช่เพียงตัวธุรกิจ แต่รวมไปถึงคู่ค้าที่อยู่คู่ธุรกิจมา สิ่งที่สำคัญที่สุดในการรับช่วงต่อการดูแลคู่ค้าคือ อย่าคาดหวัง การที่คู่ค้าสนิทกับทายาทรุ่นก่อนหน้า ไม่ได้หมายความว่าเขาจะสนิทกับเราเหมือนกัน 

ในทางกลับกัน ทางเลือกที่ดีกว่าในการดูแลคู่ค้า คือการเข้าหาด้วยน้ำใจที่ดีต่อกัน และความตั้งใจจะเป็นคู่ค้าที่ดี คอยเกื้อกูลกัน ทายาทธุรกิจจึงต้องคิดว่าจะนำแต้มต่อหรือความสัมพันธ์อันดีนั้น มาต่อยอดอย่างไรให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด แม้ธุรกิจในรุ่นเราและรุ่นก่อนอาจจะไม่เหมือนกัน แต่ล้วนมีเป้าหมายเหมือนกัน คือร่วมกันสร้างสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ทั้งสองฝ่าย ซึ่งต้องอาศัยความนอบน้อม เข้าใจ และพร้อมที่จะปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป 

11 ดูแลเสมือนครอบครัว แต่ด้วยกรอบที่ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น

ความสนิทสนมระหว่างธุรกิจในหลาย ๆ ครั้งก็เป็นสิ่งที่ดี ทว่าในบางครั้งเมื่อสนิทกันมาก อาจทำให้บทบาทธุรกิจในฐานะลูกค้า และบทบาทของคู่ค้าในฐานะผู้ขายล้ำเส้นกันได้ เช่น คู่ค้าอาจมีความสนิทสนมกับเรามาก จนคิดไปว่าการให้ Exclusive Deal กับเจ้าอื่นด้วยก็คงไม่เป็นไร เพราะคงคุยกับเราได้ ทั้ง ๆ ที่อาจนำมาซึ่งความขัดแย้ง

ดังนั้น การสร้างขอบเขตระหว่างธุรกิจและคู่ค้าต้องทำให้ชัดเจนตั้งแต่แรกเริ่ม โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกธุรกิจ แม้แต่ผู้ผลิตก็ขายของได้ การกำหนดจุดยืนที่ชัดเจนจึงช่วยให้ธุรกิจของทั้งสองฝ่ายดำเนินการไม่ซ้อนทับกัน ลดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น และทำให้ธุรกิจครอบครัวรักษาคู่ค้าที่อยู่คู่กันอย่างยาวนานต่อไปได้

บทเรียนจากวิทยากรงาน 'ทายาทรุ่นสอง : Future Possibilities' พร้อมรับช่วงต่อธุรกิจในบริบทโลกใหม่ ก้าวสู่อนาคตอย่างยั่งยืน

12 ปรับตัวให้ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายเพื่อเติบโตไปด้วยกัน

หากปราศจากคู่ค้า ธุรกิจครอบครัวที่เราต้องดูแล รักษา และต่อยอด ก็คงไม่สามารถอยู่ต่อไปได้ ความสัมพันธ์ที่ดีต้องสร้างประโยชน์ทั้งสองฝ่าย โดยไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน 

สิ่งสำคัญที่จะทำให้เราปรับตัวเพื่อทำให้ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ คือ การเข้าใจความต้องการและสถานการณ์ของอีกฝ่ายจากการคิดในมุมกลับ เอาใจเขามาใส่ใจเรา และประเมินสถานการณ์นั้น ๆ ด้วยความเป็นกลาง ผ่านกฎ 5 ข้อ คือ ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ สนับสนุนซึ่งกันและกัน มีความเข้าใจ ช่างสังเกต ไปจนถึงรวดเร็วและแข็งแรง 

หากธุรกิจครอบครัวดำเนินการด้วยกฎ 5 ข้อนี้ได้ จะทำให้เข้าใจและเติบโตไปพร้อมกับคู่ค้า เคียงข้างกันและกันอย่างยั่งยืน

Lecture 05 : การบริหารจัดการเงินธุรกิจครอบครัวหลังวิกฤต

โดย คุณสุวภา เจริญยิ่ง
ที่ปรึกษาทางด้านการเงิน ผู้อยู่เบื้องหลังการนำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

13 คิดแบบมืออาชีพโดยเริ่มต้นจากการเงิน

เราทราบกันดีว่าธุรกิจครอบครัวมักเริ่มต้นจากการช่วยเหลือเกื้อกูลกันภายในครอบครัว ทำให้เกิดความสนิทสนมภายในธุรกิจ ทว่าเมื่อธุรกิจเติบโตถึงจุดหนึ่ง การทำงานแบบมืออาชีพเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การทำแบบธุรกิจครอบครัวให้เป็นการทำธุรกิจแบบมืออาชีพนั้น เริ่มได้โดยการถอดบทเรียนและเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์หรือกรณีศึกษา โดยใช้การเงินเป็นจุดตั้งต้น เพราะการเงินเป็นตัวเลข สามารถวัดและเปรียบเทียบสถานการณ์ของเรากับกรณีศึกษา เพื่อนำแนวทางมาประยุกต์ใช้ต่อได้

14 แผนธุรกิจ ก็คือตัวชี้วัดการเงินของธุรกิจในอนาคต

การเงินคือการนำตัวเลขในอนาคตมาคุยกัน เพราะฉะนั้น การทำธุรกิจจึงควรมีแผนอนาคตของตนเอง และควรเป็นแผนที่สามารถประมาณการณ์อนาคตได้ ยกตัวอย่างเช่น ในอีก 3 ปีข้างหน้า ธุรกิจจะหน้าตาเป็นอย่างไร โดยแผนธุรกิจนี้เอง คือสิ่งที่ทายาทนำมาใช้ในการสื่อสารกับสมาชิกในครอบครัว

การสื่อสารอย่างชัดเจนนี้ ไม่ได้เพียงช่วยให้ธุรกิจครอบครัววางแผนการดำเนินการ และเตรียมพร้อมปรับตัวในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังช่วยให้สมาชิกในครอบครัวเห็นภาพตรงกัน ช่วยลดความขัดแย้ง และทำให้ทุกคนช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทั้งยังเป็นการนำเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของธุรกิจครอบครัว มาเป็นอาวุธในการก้าวเข้าไปสู่อนาคตอย่างมั่นคงได้อีกด้วย

15 เงินหาได้ แต่สิ่งที่มีค่าที่สุดคือสิ่งที่เงินซื้อไม่ได้ 

ท้ายที่สุด คนในครอบครัวก็คือคนในครอบครัว และความสัมพันธ์ในครอบครัวคือสิ่งที่มีค่าที่สุด ซึ่งทำให้ธุรกิจครอบครัวแตกต่างจากธุรกิจอื่น ๆ ทายาทธุรกิจครอบครัวจึงไม่ควรให้เงินมาทำลายความสัมพันธ์นี้ลง

ธุรกิจครอบครัวที่เติบโตและยิ่งใหญ่ได้ มีสิ่งที่เหมือนกันอยู่หนึ่งอย่าง คือธุรกิจเหล่านั้นล้วนประสบความสำเร็จเพราะความรัก ในเมื่อมีสิ่งที่ทรงพลังอยู่ในมือแล้ว การเปลี่ยนความรักให้เป็นพลัง ทำให้ครอบครัวเข้มแข็ง ดูแลกัน และเข้าใจกัน ก็จะทำให้ธุรกิจครอบครัวเติบโตไปอย่างยั่งยืน

ทั้งหมดนี้คือ 15 บทเรียน จากผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจครอบครัวและทายาททั้ง 5 ท่าน ที่นำเครื่องมือในการบริหารธุรกิจครอบครัวมาเล่าสู่กันฟัง ก่อนจะเข้าสู่ช่วง Meet ของ ทายาทรุ่นสอง : Future Possibilities ซึ่งผู้เข้าร่วมงานทุกท่านได้ทำความรู้จัก แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเรียนรู้กันและกัน 

The Cloud หวังว่ากิจกรรมนี้จะช่วยแก้ปัญหาให้ธุรกิจครอบครัวไทย ได้ส่งต่อคุณค่าสู่รุ่นถัดไป ภายใต้บริบทโลกใหม่นี้อย่างยั่งยืน

Writer

Avatar

วุฒิเมศร์ ฉัตรอิสราวิชญ์

นักเรียนรู้ผู้ชื่นชอบการได้สนทนากับผู้คนและพบเจอสิ่งใหม่ๆ หลงใหลในการจิบชา และเชื่อว่าทุกสิ่งล้วนมีเรื่องราวให้ค้นหา

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ