คอลัมน์ Heritage House คราวนี้มากันเป็นทีมครับ เพราะผมไม่ได้ฉายเดี่ยวเหงาๆ แบบคราวก่อนๆ แต่ได้ชวน โก้-ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์ และ ฐิ-ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ฐิติวุฒิ ชัยสวัสดิ์อารี หัวหน้าภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาพร้อมกันในเช้าวันเสาร์อันแสนสดชื่น

Newday Project รีโนเวตบ้านสุขุมวิทยุคโมเดิร์นหลังสงครามโลกกลายเป็นคาเฟ่ขนมปัง
Newday Project รีโนเวตบ้านสุขุมวิทยุคโมเดิร์นหลังสงครามโลกกลายเป็นคาเฟ่ขนมปัง

เป้าหมายของเราอยู่ที่ร้าน Newday Project ร้านกาแฟสุดคราฟต์แห่งย่านสุขุมวิทที่เพิ่งกลับมาเปิดทำการอีกครั้ง หลังเว้นระยะไปช่วงหนึ่งด้วยสถานการณ์โควิด-19 อันผันผวนชวนลุ้นว่าจะล็อกดาวน์หรือไม่ล็อกดี

ความสนใจของเราเช้าวันนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงขนมปัง Sourdough ที่เจ้าของร้านลงมือทำอย่างพิถีพิถันจนได้ขนมปังรสเลิศ ก่อนนำมาเสิร์ฟร้อนๆ พร้อมเนยและแยมผิวส้มฉบับโฮมเมดเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่ ‘ตัวบ้าน’ ซึ่งสะท้อนลักษณะของบ้านย่านสุขุมวิทที่สร้างขึ้นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ เมื่อกรุงเทพฯ เริ่มขยายเมืองออกไปทางทิศตะวันออก

Newday Project รีโนเวตบ้านสุขุมวิทยุคโมเดิร์นหลังสงครามโลกกลายเป็นคาเฟ่ขนมปัง
Newday Project รีโนเวตบ้านสุขุมวิทยุคโมเดิร์นหลังสงครามโลกกลายเป็นคาเฟ่ขนมปัง

อ้อ-จริยาวดี เลขะวัฒนะ สถาปนิกผู้ก่อตั้งบริษัทสถาปนิกคิดดี จำกัด กำลังรอเราอยู่แล้ว ครอบครัวของอ้อคือเจ้าของบ้านซึ่งพัฒนามาเป็นร้าน Newday Project ในวันนี้ และเป็นผู้ที่ปรับปรุงซ่อมแซมเพื่อรักษาบ้านแห่งย่านสุขุมวิทให้คงอยู่ต่อไป โดยไม่สูญสลายกลายเป็นตึกระฟ้า

Newday Project รีโนเวตบ้านสุขุมวิทยุคโมเดิร์นหลังสงครามโลกกลายเป็นคาเฟ่ขนมปัง

เมื่อขนมปัง Sourdough ลงไปนอนเรียงรายอยู่ในกระเพาะ ลาเต้ถ้วยโปรดกำลังวางอุ่นๆ อยู่ในอุ้งมือส่งกลิ่นหอมชื่นใจ วงสนทนาของเราก็เริ่มขึ้นในสวนอันร่มรื่น เพื่อพาผู้อ่านไปเรียนรู้เรื่องบ้านและย่านสุขุมวิทไปพร้อมกัน

ย้อนรอยความเปลี่ยนแปลงของทุ่งบางกะปิ เยี่ยมสถาปัตยกรรมโมเดิร์นบ้านสุขุมวิท จากบ้านให้ฝรั่งเช่า บ้านของครอบครัว สู่ Newday Project บ้านแสนอบอุ่นย่านทองหล่อ

วันวานสุขุมวิท

“บ้านหลังนี้มีอายุประมาณเจ็ดสิบปี เป็นสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์น ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อคนกรุงเทพฯ ย้ายมาอาศัยอยู่ในย่านสุขุมวิทกันมากขึ้น สมัยนั้นสุขุมวิทยังเป็นทุ่งอยู่เลย” อ้อเริ่มการสนทนา

จากหนังสือ บ้านในกรุงเทพฯ : รูปแบบและการเปลี่ยนแปลงในรอบ 200 ปี (พ.ศ. 2325-2525) โดย ผศ.ผุสดี ทิพทัส และ ผศ.มานพ พงศทัต แห่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ระบุว่า ใน พ.ศ. 2479 เนื้อที่ของกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นมาเป็น 26,790 ไร่ การขยายตัวของเมืองเกิดขึ้นทุกทิศทุกทาง สำหรับทิศตะวันออกคือจากบริเวณคลองผดุงกรุงเกษมมาทางปทุมวัน เพลินจิต เรื่อยมาจนสุขุมวิท

หนังสือเล่มเดียวกันยังได้ระบุว่าสุขุมวิทนั้นเดิมเรียกว่าทุ่งบางกะปิ มีสภาพเป็นท้องนาห่างไกลจากตัวเมือง ที่ดินก็มีราคาถูก ประชาชนจำนวนมากจึงนิยมเข้ามาจับจองไว้เพื่อปลูกบ้าน ยิ่งพอมีการตัดถนนสุขุมวิทจากกรุงเทพฯ มุ่งสู่ภาคตะวันออก ก็ยิ่งส่งผลให้ย่านนี้เติบโตขึ้นมาก

พ.ศ. 2488 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ย่านสุขุมวิทเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด กลายมาเป็นแหล่งพำนักของประชากรกลุ่มสำคัญ ซึ่งมีอิทธิพลต่อสถาปัตยกรรมของบ้านในย่านนี้อย่างน่าสนใจ 

ดร.วิมลสิทธิ์ หรยางกูร และคณะผู้วิจัย ได้กล่าวไว้ในหนังสือ พัฒนาการแนวคิดและรูปแบบของงานสถาปัตยกรรม อดีต ปัจจุบัน และอนาคต พอสรุปความได้ว่า กลุ่มประชากรที่ย้ายจากศูนย์กลางกรุงเทพฯ มายังย่านสุขุมวิทประกอบไปด้วยพ่อค้า คหบดี นายทุน ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นักธุรกิจ และนายธนาคาร เป็นต้น จัดว่าเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง กลุ่มคนเหล่านี้เป็นผู้ทำงานหนัก และเริ่มมีกำลังทรัพย์ในระดับที่สร้างที่อยู่อาศัยตามความต้องการของตนได้ โดยมีสถาปนิกเป็นผู้สนองความต้องการของพวกเขาให้ออกมาเป็นรูปธรรม

“หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นช่วงที่วงการการสถาปนิกเริ่มผันมือจากชาวต่างชาติมาสู่ชาวไทย มีสถาปนิกไทยจำนวนมากที่จบการศึกษาจากต่างประเทศ และเริ่มกลับมาทำงานออกแบบหรือเป็นอาจารย์สอนในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง สถาปนิกเหล่านี้ได้นำความรู้ใหม่ๆ ที่ทันสมัยเข้ามาเผยแพร่” ฐิกับโก้ช่วยกันเล่า

สุขุมวิทจัดว่าเป็นเขตเมืองใหม่ นอกจากจะมีถนนที่ทำให้การเดินทางสะดวกยิ่งขึ้นแล้ว ก็ยังมีรถขนส่งคงค้างจากสมัยสงครามโลกเป็นจำนวนมากที่นำมาดัดแปลงให้กลายเป็นรถเมล์หลายยี่ห้อ อย่างเช่น รถเมล์บุญผ่อง รถเมล์พีระ ที่คอยวิ่งรับส่งผู้โดยสารไปตามสถานที่ต่างๆ ชาวกรุงเทพฯ จึงย้ายออกมาอาศัยในย่านที่อยู่ห่างไกลเช่นนี้ได้ ความต้องการบ้านเดี่ยวจึงเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก รวมทั้งเกิดสิ่งใหม่ที่เรียกว่า ‘หมู่บ้านจัดสรร’ ด้วยเช่นกัน

ผลงานออกแบบของ A Quincy Jones ซึ่งมีอิทธิพลต่อการออกแบบบ้านในย่านสุขุมวิทช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ภาพ : www.dwell.com

“ช่วงก่อน พ.ศ. 2500 สถาปนิกชาวไทยน่าจะได้รับแรงบันดาลใจจากงานของสถาปนิกคนสำคัญอย่าง แฟรงก์ ลอยด์ ไรต์ (Frank Lloyd Wright) ส่วนช่วงหลังจาก พ.ศ. 2500 โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านในแถบสุขุมวิท น่าจะค่อนข้างอิงกับงานของ เอ. ควินซี โจนส์ (A. Quincy Jones) ซึ่งเป็นสถาปนิกที่พำนักอยู่ในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งในขณะนั้นเมืองต่างๆ ในแคลิฟอร์เนียเองก็เริ่มมีการขยายตัว คนเริ่มมีกำลังซื้อรถยนต์ส่วนบุคคลไว้ใช้เดินทาง ก็เลยออกมาตั้งชุมชนไกลจากเมืองมากขึ้น 

“สิ่งที่เกิดขึ้นในแคลิฟอร์เนียก็คล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับสุขุมวิท Archibald Quincy Jones และสถาปนิกร่วมสมัยคนอื่นสร้างงานออกแบบบ้านเดี่ยวและหมู่บ้านจัดสรรตอบสนองความเป็นอยู่ที่ทันสมัยขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งในการก่อสร้างรวมทั้งการดำรงชีวิต เป็นยุคที่เริ่มมีสุขภัณฑ์รุ่นฮิต เช่น Armitage Shank มีถ้วยชาม Tupperware มีเครื่องดูดฝุ่นหรือเครื่องปั่นรูปทรงอวกาศ จัดเป็นความล้ำที่เริ่มมาในยุคนั้น” ฐิกับโก้ช่วยกันเชื่อมบริบทแวดล้อมที่เกิดขึ้นในเวลานั้นอย่างน่าสนใจ

บ้านพ่อสร้าง

“คุณพ่อพี่เป็นสถาปนิกที่กรมโยธาธิการ สถาปนิกในยุคนั้นแทบทุกคนเริ่มต้นการเป็นสถาปนิกอาชีพที่กรมโยธา ฯ” อ้อกล่าวพร้อมรอยยิ้ม

คุณพ่อของอ้อคือ คุณสำราญ เลขะวัฒนะ คำว่า ‘ยุคนั้น’ หมายถึงช่วงประมาณ พ.ศ. 2490 โดยหลังจากที่คุณพ่อรับราชการที่กรมโยธาฯ ไประยะหนึ่ง คุณพ่อได้ตัดสินใจเข้าร่วมงานกับสำนักงานออกแบบจิระ ศิลป์กนก รับหน้าที่เป็นผู้จัดการบริษัท และได้มีส่วนร่วมสร้างผลงานสำคัญๆ ไว้มากมาย

“ตอนทำงานกับกรมโยธาฯ คุณพ่อเป็นหนึ่งในทีมผู้ออกแบบโรงแรมเอราวัณตึกเดิม ซึ่งเป็นอาคารทรงไทย และเป็นหนึ่งในโรงแรมที่จัดว่าหรูและทันสมัยมากในยุคนั้น ที่สำคัญคือมีร้านเบเกอรี่ที่อร่อยมากๆ (หัวเราะ) พอมาทำงานกับอาจิระ คุณพ่อก็ได้ร่วมออกแบบอาคารสำคัญ เช่น โรงแรมอินทรา ถนนราชปรารภ โรงแรมรินทร์คำ ที่เชียงใหม่ ฯลฯ เป็นยุคที่สถาปัตยกรรมโมเดิร์นกำลังได้รับความนิยม นอกจากนั้นยังมีการออกแบบบ้านส่วนบุคคล อย่างบ้านสมาชิกครอบครัวเพ็ญชาติหลายท่าน เช่น ศาสตราจารย์ นพ.ชัญโญ เพ็ญชาติ และ พล.ร.ต.ชาโณ เพ็ญชาติ ซึ่งก็เป็นบ้านแบบโมเดิร์นทั้งหมด”

“พ่อและเพื่อนสนิท คือ อาพล (คุณพล จุลเสวก) ได้ชวนกันมาซื้อที่ปลูกบ้านแถวสุขุมวิท คงเป็นความฝันของคนหนุ่มในสมัยนั้นที่ทำงานเก็บเงินได้ระดับหนึ่ง ก็ต้องการพื้นที่สร้างบ้านของตัวเอง เมื่อคุณแม่แต่งงานกับคุณพ่อใน พ.ศ. 2498 นั้น คุณแม่บอกว่าบ้านหลังนี้สร้างเสร็จแล้วเรียบร้อย”

ย้อนรอยความเปลี่ยนแปลงของทุ่งบางกะปิ เยี่ยมสถาปัตยกรรมโมเดิร์นบ้านสุขุมวิท จากบ้านให้ฝรั่งเช่า บ้านของครอบครัว สู่ Newday Project บ้านแสนอบอุ่นย่านทองหล่อ

บ้านที่คุณพ่อสร้างขึ้นหลังแรกเป็นบ้านปูนผสมไม้สองชั้น ตามรูปแบบสถาปัตยกรรมโมเดิร์นที่เรียบง่าย มีขนาดเล็กกว่าที่เห็นในวันนี้ ถ้าเทียบกับพื้นที่ปัจจุบัน ก็คือเฉพาะส่วนด้านหน้าของร้านกาแฟที่เป็นครัว เคาน์เตอร์รับออเดอร์ลูกค้า และบริเวณที่วางขายสินค้าที่ระลึก

ย้อนรอยความเปลี่ยนแปลงของทุ่งบางกะปิ เยี่ยมสถาปัตยกรรมโมเดิร์นบ้านสุขุมวิท จากบ้านให้ฝรั่งเช่า บ้านของครอบครัว สู่ Newday Project บ้านแสนอบอุ่นย่านทองหล่อ

“ถ้าไปศึกษาข้อเขียนของศาสตราจารย์ ดร.วิมลสิทธิ์ หรยางกูร อาจารย์เขียนอธิบายไว้ชัดเจนเลยว่า บ้านโมเดิร์นในยุคนั้นมักจะเป็นแนวทางการออกแบบที่เรียกว่าแนวสภาวะแวดล้อมสัมพันธ์หรือแนวภูมิภาคนิยม คือนำแนวคิดการออกแบบจากตะวันตกมาประยุกต์ให้เข้ากับบริบทแวดล้อมต่างๆ เช่น ตอนนั้นเพิ่งสิ้นสุดสงครามโลกใหม่ๆ เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว จึงต้องประหยัดทุกวิถีทาง คุณพ่อจึงสร้างบ้านเรียบๆ เข้าไว้ หรือการสร้างบ้านที่สอดคล้องกับสภาพดินฟ้าอากาศ เช่น คุณพ่อเลือกออกแบบให้มีหน้าต่างรับลมจากทิศใต้เป็นหลัก เพราะลมพัดเข้าทางทิศนี้ ทำให้รับลมเข้าสู่ตัวบ้านมากที่สุด หรือการใช้หลังคาตื้นและทำเป็นผืนเดียวแทนหลังคาทรงปั้นหยาหรือมนิลาที่เคยเป็นที่นิยมมาในยุคก่อนหน้านี้ โก้เชื่อว่าเมื่อก่อนที่บ้านต้องมีแผงกันแดด (Fin) ช่วยกันแดดกันฝนด้วยใช่ไหมคะ” โก้สันนิษฐาน ซึ่งอ้อยอมรับว่าบ้านต้นฉบับนั้นมีแผงกันแดดอยู่จริง แต่ปัจจุบันได้รื้ออกไปแล้ว

“หรือการสร้างบ้านปูนผสมไม้นั้นก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ ‘อินเทรนด์’ มาก และมาทดแทนการสร้างบ้านด้วยไม้ทั้งหลังอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต ทั้งนี้เพราะปูนซีเมนต์ไทยได้ผลิตปูนซีเมนต์ออกจำหน่ายในปริมาณมากยิ่งขึ้น จนเริ่มเป็นที่นิยม หรือการเลือกใช้หลังคาลอนลูกฟูกหรือหลังคาลอนเล็ก ก็เพราะว่าเป็นวัสดุที่ปูนซีเมนต์ไทยพัฒนาขึ้นใหม่ในขณะนั้นด้วย” ฐิเสริม และทำให้ผมเริ่มมองเห็นความสัมพันธ์ของรูปแบบสถาปัตยกรรมที่มาพร้อมกับวิวัฒนาการของวัสดุชนิดใหม่ๆ อันก่อให้เกิดตัวเลือกที่ทันสมัยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม บ้านที่คุณพ่อสร้างเป็นหลังแรกกลับไม่ได้ใช้เป็นที่พำนักของครอบครัว เพราะนำไปให้ฝรั่งเช่าอยู่แทน ส่วนครอบครัวได้ย้ายไปเช่าบ้านญาติในซอยเย็นอากาศแทน

“อันนี้ก็เป็นวิถีปฏิบัติของชนชั้นกลางในสมัยนั้นเช่นกันครับ เราเริ่มมีชาวต่างชาติเข้ามาอาศัยและทำงานในกรุงเทพฯ มากขึ้น มีบ้านหลายหลังโดยเฉพาะในย่านสุขุมวิทได้กลายมาเป็นบ้านเช่าของชาวต่างชาติ ตอนนั้นสุขุมวิทจัดว่าเป็นย่านอินเตอร์พอสมควรเลยทีเดียว” ฐิเสริม 

อีกสิบปีต่อมา ราวๆ พ.ศ. 2509 ครอบครัวจึงย้ายกลับมาที่บ้านหลังนี้อีกครั้ง หนนี้ได้กลายเป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัวอย่างแท้จริง

“คราวนี้คุณพ่อปรับแต่งบ้านอย่างเต็มที่เลย ต่างกับตอนแรกที่ลงทุนเพียงเพื่อจะทำบ้านให้ฝรั่งเช่าเท่านั้น แล้วคุณพ่อเองก็สนุกที่จะลงมือปรับแต่งเป็นระยะ ได้ทดลองใช้วัสดุใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ บ้านของเราเลยกลายเป็นบ้านแบบโมเดิร์นที่รวบรวมอะไรหลายอย่างของยุค 60 70 เรื่อยมาจน 80 ช่วงนี้เป็นช่วงที่พี่เติบโตขึ้นที่บ้านหลังนี้ เลยพอจะจำอะไรได้มากขึ้น และบ้านก็มีสภาพใกล้เคียงกับที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน” อ้อเล่า

ย้อนรอยความเปลี่ยนแปลงของทุ่งบางกะปิ เยี่ยมสถาปัตยกรรมโมเดิร์นบ้านสุขุมวิท จากบ้านให้ฝรั่งเช่า บ้านของครอบครัว สู่ Newday Project บ้านแสนอบอุ่นย่านทองหล่อ

การปรับแต่งบ้านที่อ้อจำได้คือการเพิ่มห้องรับแขกเข้าไป ซึ่งปัจจุบันนี้คือบริเวณห้องโถงติดกับสวนสวยหลังบ้าน สำหรับให้ลูกค้าดื่มด่ำกับขนมปังและกาแฟถ้วยโปรด

ย้อนรอยความเปลี่ยนแปลงของทุ่งบางกะปิ เยี่ยมสถาปัตยกรรมโมเดิร์นบ้านสุขุมวิท จากบ้านให้ฝรั่งเช่า บ้านของครอบครัว สู่ Newday Project บ้านแสนอบอุ่นย่านทองหล่อ

“สมัยนั้นเป็นคตินิยมว่าบ้านแถวสุขุมวิทในยุค 60 70 ต้องมีห้องรับแขกอย่างเป็นทางการ ส่วนจะใช้หรือไม่ใช้นี่อีกเรื่องหนึ่งนะ แต่ขอให้มีไว้ก่อน (หัวเราะ) วัสดุแห่งยุคนั้นคือกระจกบานเลื่อนกรอบอะลูมิเนียม ซึ่งพ่อก็นำมาใช้เพื่อเชื่อมห้องรับแขกกับส่วนเดิมของบ้าน พื้นตกแต่งด้วยกระเบื้องดินเผาแบบแกร่งสีแดง ซึ่งต่างกับกระเบื้องที่ใช้ด้านหน้า อันนั้นเป็นกระเบื้องดินเผาที่พ่อได้รับจากช่างศิลป์ที่บูรณะลานรอบพระปฐมเจดีย์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น สมัยก่อน สถาปนิกมักจะทำงานร่วมกับช่างศิลป์ พ่อเองก็ทำงานกับช่างศิลป์หลายท่าน ซึ่งมีส่วนร่วมในการเลือกใช้วัสดุตกแต่งบ้านหลังนี้ เช่น ฝาผนังประดับกระเบื้องดินเผาที่เห็นอยู่นี้ก็เป็นของดั้งเดิม ฝีมือช่างศิลป์จากด่านเกวียน และใช้ประดับห้องรับแขกมาจนถึงทุกวันนี้ พวกกระเบื้องดินเผาก็จัดว่าเป็นวัสดุแห่งยุคนั้นด้วยเช่นกัน”

ย้อนรอยความเปลี่ยนแปลงของทุ่งบางกะปิ เยี่ยมสถาปัตยกรรมโมเดิร์นบ้านสุขุมวิท จากบ้านให้ฝรั่งเช่า บ้านของครอบครัว สู่ Newday Project บ้านแสนอบอุ่นย่านทองหล่อ
งานกระเบื้องเผาฝีมือช่างศิลป์ด่านเกวียน
ย้อนรอยความเปลี่ยนแปลงของทุ่งบางกะปิ เยี่ยมสถาปัตยกรรมโมเดิร์นบ้านสุขุมวิท จากบ้านให้ฝรั่งเช่า บ้านของครอบครัว สู่ Newday Project บ้านแสนอบอุ่นย่านทองหล่อ
พื้นกระเบื้องจากการบูรณะพระปฐมเจดีย์

เมื่อชั้นล่างขยายพื้นที่โดยเพิ่มห้องรับแขกเข้าไป ชั้นบนก็เลยต้องขยายตามไปด้วย

“เริ่มจากหลังคาเลย หลังคาปรับเป็นหลังคายื่นยาวที่คลุมได้กว้างขึ้น ช่วยกันแดดกันฝนได้ดี ส่งผลให้มีนอกชานยื่นยาวรอบตัวบ้านตามไปด้วย มีเสาเหล็กที่ช่วยรับน้ำหนักเพียงบางจุด ไม่เกะกะ รกสายตา แต่พี่ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมพ่อไม่ทำนอกชานให้เป็นระเบียง แต่ทำเพียงแค่เป็นคานยื่นออกมา สงสัยลูกซน (หัวเราะ) อีกอย่างคือจั่วซึ่งก็ยื่นยาวออกไปได้ไกลขึ้น เพราะในยุคนั้นมีคอนกรีตเสริมเหล็กใช้แล้ว” อ้อเล่า

ย้อนรอยความเปลี่ยนแปลงของทุ่งบางกะปิ เยี่ยมสถาปัตยกรรมโมเดิร์นบ้านสุขุมวิท จากบ้านให้ฝรั่งเช่า บ้านของครอบครัว สู่ Newday Project บ้านแสนอบอุ่นย่านทองหล่อ

“นอกจากหลังคาและนอกชาน บนชั้นสองก็ต้องมีการจัดสรรพื้นที่ใหม่ ที่จำได้คือห้องนอนพ่อกับแม่จะกว้างขึ้น และมีที่เก็บเครื่องแต่งตัวแบบ Walk in Closet ขนาดใหญ่แบบเดินเข้าไปได้ และพ่อเป็นคนดีไซน์เอง ดีไซน์แม้กระทั่งราวแขวน” อ้อเล่าต่อ ซึ่งฐิช่วยเสริมว่า เครื่องเรือนแบบบิวด์อินอย่าง Walk in Closet ก็เป็นสิ่งที่ฮิตกันในยุค 70 และ 80 เช่นกัน ผมคิดว่าบ้านหลังนี้ได้รวบรวมอะไรหลายอย่างที่เป็นของ ‘ล้ำ’ ในยุคนั้นมาไว้รวมกัน

“คิดว่าเพราะพ่อเป็นสถาปนิก พ่อคงอยากทดลองอะไรใหม่ๆ กับบ้านของตัวเองก่อนเพื่อดูผลสัมฤทธิ์ ถ้าดีแล้วจึงนำไปออกแบบให้ลูกค้าก็เป็นได้” อ้อเผยถึงสาเหตุ

เราเดินอ้อมมาหลังบ้าน แล้วก็เห็นสิ่งที่สถาปนิกอย่างโก้กับฐิตื่นเต้นมากๆ นั่นคือผนังภายนอกหรือ Façade

ย้อนรอยความเปลี่ยนแปลงของทุ่งบางกะปิ เยี่ยมสถาปัตยกรรมโมเดิร์นบ้านสุขุมวิท จากบ้านให้ฝรั่งเช่า บ้านของครอบครัว สู่ Newday Project บ้านแสนอบอุ่นย่านทองหล่อ

“Façade นี้เป็นการจัดองค์ประกอบแบบสมดุลแต่ไม่สมมาตร หรือ Asymmetrical Balance ซึ่งได้รับความนิยมในยุคโมเดิร์นด้วยเช่นกัน เป็นการนำรูปทรงต่างขนาดต่างลักษณะมาจัดวางให้เกิดองค์ประกอบที่ออกมาแล้วดูสมดุล เราจะเห็นสี่เหลี่ยมหลากขนาดที่เกิดขึ้นจากผนังปูนและผนังไม้ หรือจากหน้าต่างบานเล็กบ้าง บานใหญ่บ้าง แต่นำทั้งหมดมาจัดเรียงให้เกิดสมดุลได้ อันนี้ก็เป็นลูกเล่นในเชิงสถาปัตยกรรมของยุคนั้นที่ทำให้อาคารดูสนุกขึ้น ส่วนเสารับที่ปลายชายคา อาจารย์วิมลสิทธิ์บอกว่าสถาปนิกรุ่นนั้นจะเรียกกันว่า ขาแมงมุม” โก้เล่ารัวๆ อย่างตื่นเต้น

อ้อเล่าว่าคุณพ่อเป็นสถาปนิกที่เน้นเรื่องการจัดวางองค์ประกอบ (Composition) และสนุกที่จะทดลองวิธีใหม่ๆ

“ถ้าพูดเรื่องคอมโพซิชัน หรือการจัดวางองค์ประกอบ ผมคิดว่าถ้ามองดีๆ Façade ที่เราเห็นนี้อาจอิงไปกับงานของ Mondrian ก็เป็นได้ Mondrian เป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น และสร้างสรรค์ผลงานด้วยภาพสี่เหลี่ยมหลากขนาดรวมทั้งเส้นสายต่างๆ สถาปนิกยุคโมเดิร์นในต่างประเทศหลายคน ก็ออกแบบอาคารโดยจัดวางคอมโพสิชันตามงานของ Mondrian อย่างเช่น Rietveld Schröder คุณพ่อของพี่ก็อาจได้รับอิทธิพลจากงานของ Mondrian ด้วยก็ได้ครับ” ฐิก็ตื่นเต้นไม่แพ้กัน ผมรู้สึกว่าบ้านเล็กๆ หลังนี้แอบซ่อนอะไรให้ตีความกันได้มากมาย โอย สนุกจริงๆ เลย

บนผนังมีหน้าต่างไม้บานใหญ่ปรากฏอยู่ ในวันนี้อาจดูเหมือนหน้าต่างไม้ธรรมดาๆ แต่ในสมัยนั้นถือว่าเป็นวัสดุแห่งยุค 70 และ 80 เช่นกัน นั่นคือหน้าต่างบานเปิดเดี่ยวหรือที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่าหน้าต่างบานพับวิทโก้ (Whitco) นั่นเอง

“หน้าต่างบานพับวิทโก้ที่เห็น ถือว่าเป็นความทันสมัยของยุค 70 มาจน 80 และบ้านแทบทุกหลังในสมัยนั้นก็จะใช้หน้าต่างวิทโก้ขนาดพอๆ กัน คือสูง 120 กว้าง 80 เซนติเมตร กันทั้งนั้น หน้าต่างต้นฉบับจะทาสีขาว พอจับแล้วเลอะมือ เป็นผงๆ สีขาวติดมือเลย ซึ่งไม่ชอบมากๆ (หัวเราะ) เพราะยุคนั้นสีน้ำมันกำลังฮิต ซึ่งสีชนิดนี้พอทาไปนานๆ เข้าก็จะแห้งเป็นผง ถ้าเผลอเอามือไปลูบไปโดนเข้า ผงสีก็จะติดมือมา ลองนึกถึงบานหน้าต่างตามโรงเรียนของเราในสมัยเด็กๆ สิ” พออ้อเล่าถึงประโยคนี้ เราทุกคนพยักหน้าหงึกหงักแล้วหัวเราะออกมา เพราะทุกคนล้วนมีประสบการณ์มือขาวเมื่อจับหน้าต่างที่โรงเรียนกันทั้งนั้น

“นอกจากเลอะมือแล้วยังฝืดอย่างแรงด้วย เปิดปิดที่เมื่อย (หัวเราะ) หน้าต่างวิทโก้มาแทนที่หน้าต่างบานเปิดคู่สับขอซึ่งเคยฮิตในสมัยก่อน แต่พอพี่ปรับปรุงบ้านครั้งล่าสุด พี่ก็ขัดสีขาวออกหมด เพราะนึกถึงตอนมือเปื้อนผงสีสมัยเด็กๆ คราวนี้พี่เลยขอโชว์เนื้อไม้ดีกว่านะ” อ้อเล่าไปหัวเราะไปอีกครั้ง

จากหลังบ้าน เมื่อเดินอ้อมไปทางด้านซ้ายมือก็จะเจอช่องสี่เหลี่ยมซึ่งปัจจุบันกรุกระจกใสไว้เรียบร้อย มีน้องแมวยืนส่งสายตาทักทายอยู่ ในอดีตคือช่องที่เจาะไว้สำหรับติดตั้งเครื่องปรับอากาศชนิดที่เรียกว่า Window Type

“ยุคนั้นเป็นยุคที่เริ่มติดเครื่องปรับอากาศกันที่บ้าน และต้องเป็นเครื่องปรับอากาศแบบเจาะผนังหรือ Window Type ด้วยนะ มาแทนที่เครื่องปรับอากาศแบบตั้งพื้น เป็นประดิษฐกรรมแห่งยุคที่บ้านในแถบสุขุมวิทใช้กันแทบทุกหลัง เด็กๆ สมัยนี้คงไม่รู้จักแล้ว 

“ความจริงเครื่องปรับอากาศแบบนี้ใช้งานได้ดีมาก เพราะเป่าความเย็นเข้ามาและนำความร้อนเป่าออกนอกตัวอาคารทันที เย็นสบายมาก” อ้อทำให้ผมนึกได้ว่าเครื่องปรับอากาศเครื่องแรกของบ้านผมเองก็เป็นประเภทนี้ ตอนเด็กๆ ผมจะชอบไปยืนรับลมเย็มที่เป่าออกมาแรงๆ ให้เย็นชื่นใจ

เราเดินต่อไปยังด้านหน้าเพื่อสำรวจบ้านหลังนี้กันต่อ แล้วก็เจอสรรพสิ่งที่บ่งบอกความเป็นบ้านสุขุมวิทแห่งยุคนั้นอีกหลายอย่าง

“อยากให้สังเกตทางเข้าบ้านที่เป็นผนังปูนเซาะร่องเป็นลายตามขวาง อันนี้เป็นของดั้งเดิมตั้งแต่พ่อเริ่มสร้างบ้านเลย ซึ่งเป็นการลงรายละเอียดตกแต่งผนังที่นิยมในยุคโมเดิร์นก่อน พ.ศ. 2500 ทางเข้าบ้านมีทางเดินเล่นระดับประดับด้วยกระเบื้อง ที่สำคัญคือมีบ่อน้ำปรุกระเบื้องสีเขียวชิ้นเล็กๆ ต้องเป็นสีเขียวด้วยนะ ไม่ก็น้ำเงินหรือฟ้า และจะทำทางเดินหินขัดเป็นช่วงๆ ต้องเป็นกระเบื้องกับหินขัดแบบนี้ด้วยนะ (หัวเราะ) อันนี้ก็เป็นสิ่งที่บ่งบอกความเป็นบ้านในยุคนั้นมากๆ โดยเฉพาะบ่อน้ำ เวลาพี่ไปบ้านเพื่อนหลังไหนๆ ก็จะมีบ่อน้ำลักษณะนี้แทบทุกหลัง แล้วก็จะอยู่ในตำแหน่งข้างบ้านแบบนี้เหมือนกัน” อ้อชี้ให้เราดู และทุกคนพยักหน้าอย่างเห็นด้วยอีกครั้ง 

ผมเชื่อว่าสมัยเด็กๆ ผู้อ่านหลายคนจะชอบมุมนี้มาก เพราะจะได้แอบคุณพ่อคุณแม่เอามือเอาขามาแหย่น้ำเล่น และก็จะแอบหลบเมื่อผู้ใหญ่เรียกมาช่วยล้างช่วยขัดทำความสะอาดกันมาแล้วใช่ไหมครับ ยอมรับมาเสียดีๆ

ย้อนรอยความเปลี่ยนแปลงของทุ่งบางกะปิ เยี่ยมสถาปัตยกรรมโมเดิร์นบ้านสุขุมวิท จากบ้านให้ฝรั่งเช่า บ้านของครอบครัว สู่ Newday Project บ้านแสนอบอุ่นย่านทองหล่อ

อีกอย่างหนึ่งที่ไม่อยากให้มองผ่านคือต้นไม้ เพราะเป็นต้นไม้สายพันธุ์ยอดนิยมที่ใช้ปลูกประดับบ้านช่วงยุค 60 ไปจนถึง 80 ด้วยเช่นกัน

“ต้องต้นแสงจันทร์กับชมพู่มะเหมี่ยวนี่เลย บ้านแถบสุขุมวิทจะมีต้นไม้สองชนิดนี้ปลูกประดับกันทั้งนั้น เวลาชมพู่มะเหมี่ยวออกลูกจะมีกลิ่นหอมมาก ส่วนแสงจันทร์ก็มักจะปลูกข้างบ้านหรือข้างโรงรถ ทั้งชมพู่มะเหมี่ยวกับแสงจันทร์ก็ยังรักษาไว้จนถึงทุกวันนี้” อ้อเล่าโดยโก้เสริมว่า ชมพู่มะเหมี่ยวเป็นต้นไม้ที่เด็กๆ ในยุคนั้นสนุกที่จะปีน ผมเองก็ชอบปีน และเชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านก็คงมีประสบการณ์ร่วมกับเรา

“มีอะไรที่มากับบ้านในช่วงนั้นอีกบ้างไหมครับ ที่วันนี้อาจรื้อออกไปแล้ว” ผมถาม

“สิ่งที่มาในยุค 70 และ 80 อีกอย่างคือพื้นปาร์เกต์ (Parquet) ความจริงตอนที่พ่อต่อเติมห้องรับแขก เดิมพ่อลองปูพื้นด้วยปาร์เกต์ก่อน แต่สิ่งที่มากับยุค 80 ก็คือน้ำท่วม โดยเฉพาะในย่านสุขุมวิท ตอนเด็กๆ จะรอประกาศว่าโรงเรียนหยุดเพราะน้ำท่วม ไม่ต้องไปเรียน แล้วน้ำจะท่วมเป็นประจำทุกปี ท่วมนานด้วย ท่วมจนพื้นปาร์เกต์ลอย แล้วพอน้ำเริ่มลด เราเดินบนฟื้นปาร์เกต์มันก็จะมีน้ำทะลักออกมา ปุด ปุด (หัวเราะ) 

“ความจริงสนุกมากนะ แต่พ่อคงทนรับสภาพแบบนั้นต่อไปไม่ไหว และตัดสินใจปูกระเบื้องดินเผาสีแดงแทนเพื่อหยุดปัญหานี้ นอกจากนี้สีของกระเบื้องดินยังเข้ากันได้ดีกับงานกระเบื้องด่านเกวียนที่ประดับบนผนัง” อ้อทบทวนความจำแล้วทำให้เราหัวเราะกันอีกครั้งพร้อมกับนึกถึงอดีตพื้นปาร์เกต์ที่บ้าน

ย้อนรอยความเปลี่ยนแปลงของทุ่งบางกะปิ เยี่ยมสถาปัตยกรรมโมเดิร์นบ้านสุขุมวิท จากบ้านให้ฝรั่งเช่า บ้านของครอบครัว สู่ Newday Project บ้านแสนอบอุ่นย่านทองหล่อ

“อีกอย่างที่เป็นของคู่บ้านกับยุคโพสต์โมเดิร์นน่าจะเป็นวอลเปเปอร์ พวกวอลเปเปอร์แนวตั้งที่มีลายกระจุกกระจิก ที่บ้านก็น่าจะเคยติดวอลเปเปอร์ด้วยไหมคะ” โก้แสดงความคิดเห็นเสริม อ้อพยักหน้ายอมรับ แต่ได้ลอกออกไปหมดแล้ว

บ้านยุค ‘บิล’

ครอบครัวได้อาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2509 จนราวๆ พ.ศ. 2531 เมื่ออ้อไปเรียนต่อต่างประเทศ หลังสำเร็จการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นบ้านก็ได้กลายสภาพมาเป็นบ้านเช่าอีกครั้ง โดยผู้เช่าในคราวนี้คือ วิลเลียม วอร์เรน (William Warren) ที่อ้อเรียกว่า ‘บิล’ อย่างคุ้นเคย

วิลเลียม วอร์เรน เป็นสหายรักของ จิม ทอมป์สัน (Jim Thompson) เป็นนักเขียนคนแรกที่เปิดเผยเรื่องราวอันเป็นชีวประวัติของจิม ทอมป์สัน ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงช่วงที่จิมหายสาบสูญอย่างลึกลับในประเทศมาเลเซีย ผ่านหนังสือ Jim Thompson – The Unsolved Mystery นอกจากนี้เขายังเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมของไทยอีกด้วย ผลงานสำคัญเล่มหนึ่งของเขาคือหนังสือ Heritage Homes of Thailand ซึ่งผมแอบดีใจว่าใกล้เคียงกับชื่อคอลัมน์ Heritage House ของ The Cloud ที่ทุกท่านกำลังอ่านอยู่ขณะนี้ ชื่อของเขายังเป็นชื่อของห้องสมุด (William Warren Library) ซึ่งตั้งอยู่ที่อาคารเฮนรี่ บี ทอมป์สัน ในซอยเกษมสันต์ 2

“คุณแม่ของพี่ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.พงษ์ศรี เลขะวัฒนะ กับบิลรู้จักกันเพราะเป็นอาจารย์ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยกันทั้งคู่ และสนิทกันมาก พอดีบ้านเช่าของบิลที่สุขุมวิท 31 ครบสัญญาและต้องส่งคืนเจ้าของ แม่กับพ่อเลยตัดสินใจให้บิลมาเช่าอยู่ บิลเป็นคนที่สนใจเรื่องราวของไทยมากๆ เป็นนักวิชาการยุคแรกๆ ที่เริ่มเก็บข้อมูลบ้านเก่าของไทยทั้งในเรื่องของสถาปัตยกรรมและประวัติผู้อาศัยอยู่ รวมทั้งเขียนหนังสือหลายเล่มเพื่อเผยแพร่ความรู้ในวงกว้าง เป็นสมาชิกคนสำคัญของสยามสมาคม (Siam Society) กลุ่มแรกๆ ที่ให้ความสำคัญกับการเก็บรักษาอาคารโบราณในภาคเอกชน พี่รู้สึกว่าเป็นเกียรติมากที่บิลเคยอาศัยอยู่ที่นี่”

ย้อนรอยความเปลี่ยนแปลงของทุ่งบางกะปิ เยี่ยมสถาปัตยกรรมโมเดิร์นบ้านสุขุมวิท จากบ้านให้ฝรั่งเช่า บ้านของครอบครัว สู่ Newday Project บ้านแสนอบอุ่นย่านทองหล่อ

“บิลสะสมของเก่าไว้มาก บ้านหลังนี้อยู่ในยุคโมเดิร์น อาจจะดูใหม่เกินไปกว่างานศิลปะที่เขาสะสม บ้านมันโปร่งและโล่งเกินไป แต่บิลก็เข้ามาปรับบ้านให้มีความทึมขึ้น เขาเป็นคนสร้างบรรยากาศบ้านขึ้นมาใหม่”

อ้อเล่าว่าขณะที่บิลอาศัยอยู่ที่นี่ เขาแทบไม่ได้ปรับปรุงลักษณะทางสถาปัตยกรรมใดๆ ของบ้านเลย แต่เลือกที่จะจัดการกับสภาพแวดล้อมรอบตัวบ้านแทน บิลคือผู้ที่ปลูกต้นไม้ใหญ่ๆ เพิ่มขึ้นมากมายจนร่มรื่น และใช้ไม้เลื้อยปลูกชิดตัวบ้านเพื่อให้เลื้อยขึ้นมาคลุมจนร่มครึ้ม

ย้อนรอยความเปลี่ยนแปลงของทุ่งบางกะปิ เยี่ยมสถาปัตยกรรมโมเดิร์นบ้านสุขุมวิท จากบ้านให้ฝรั่งเช่า บ้านของครอบครัว สู่ Newday Project บ้านแสนอบอุ่นย่านทองหล่อ

“ลักษณะของบ้านฝรั่งจะต่างกับเอเชีย บ้านพวกเราจะเน้นความโปร่งโล่ง อยู่ได้ด้วยลมและแสงธรรมชาติ ฝรั่งจะเน้นความมิดชิดและอยู่ด้วยแสงไฟ มันเป็นความ Homey ที่ฝรั่งคุ้นเคย ลองสังเกตบ้านฝรั่งที่อาจเคยผ่านตาในหนังสือหรือในภาพยนตร์ดูสิคะ ยิ่งบิลเป็นนักสะสมและมีงานศิลปะมากมายที่ต้องอาศัยการออกแบบแสงเพื่อขับงานศิลป์ให้สวยงาม บิลเลยปลูกต้นไม้คลุมบ้าน และต่อมาก็คลุมจนแทบไม่เห็นตัวบ้านเลย (หัวเราะ)”

บิลอาศัยอยู่บ้านหลังนี้อีกราว 30 กว่าปีจนเสียชีวิตไปเมื่อ 2 ปีก่อน ช่วงที่บิลอยู่เป็นช่วงที่สภาพแวดล้อมรอบบ้านได้รับการดูแลและปรับแต่งมากที่สุด ต้นไม้ใหญ่ๆ ที่พบในสวนทุกวันนี้ บิลเป็นผู้เลือกหามาปลูกและดูแลด้วยตนเอง ต้นหูกระจงต้นใหญ่หลังบ้านอายุราว 30 ปีก็เป็นฝีมือของบิลเช่นกัน ดังนั้น หากแวะมาที่ Newday Project ก็อย่าลืมเดิมอ้อมมาด้านหลังเพื่อชื่นชมไม้ใหญ่นานาชนิด โดยเฉพาะหูกระจงต้นยักษ์ที่พวกผมแหงนคอตั้งบ่าอ้าปากค้างกันมาแล้วนะครับ

ย้อนรอยความเปลี่ยนแปลงของทุ่งบางกะปิ เยี่ยมสถาปัตยกรรมโมเดิร์นบ้านสุขุมวิท จากบ้านให้ฝรั่งเช่า บ้านของครอบครัว สู่ Newday Project บ้านแสนอบอุ่นย่านทองหล่อ

“หลังจากที่บิลเสีย บ้านก็กลับมาเป็นของครอบครัวอีกครั้ง สภาพบ้านตอนนั้นคือปกคลุมไปด้วยตนไม้ ค่อนข้างผุพังและทรุดโทรมลงไปมากตามกาลเวลา เพราะอายุใกล้เจ็ดสิบปีแล้ว คุณแม่และเราสามพี่น้อง ซึ่งตอนนั้นต่างแยกย้ายไปมีบ้านเป็นของตัวเองแล้ว ก็คิดว่าไม่สามารถปล่อยบ้านให้อยู่ในสภาพนี้ได้ต่อไป เราจะต้องทำอะไรสักอย่าง” 

บ้านเลือกคน

“สิ่งแรกที่ตัดสินใจเลยคือจะไม่ขายโดยเด็ดขาด บ้านหลังนี้มีคุณค่าทางจิตใจ ที่ดินก็พ่อซื้อ ส่วนบ้านก็คือบ้านที่พ่อออกแบบมากับมือ และเป็นบ้านที่เราเติบโตมา แต่ก็พยายามหาหนทางว่าจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์ และสร้างรายได้ให้กับครอบครัวด้วย” อ้อเล่าถึงบ้านที่ผูกพันหลังนี้

การที่คุณพ่อเป็นสถาปนิกนั้นมีอิทธิพลต่อลูกๆ มาก และทั้งสามพี่น้องต้องการจะรักษาบ้านในอดีตหลังนี้เอาไว้ให้อยู่คู่สุขุมวิทต่อไป

“ตอนนั้นในใจลึกๆ ก็อยากซ่อมบ้านให้กลับมามีสภาพเดิมมากที่สุด อยากได้ผู้เช่าที่ชื่นชมกับเนื้อแท้และคุณค่าดั้งเดิมของบ้านจริงๆ และจะช่วยเรารักษาบ้านหลังนี้ต่อไป เขาควรเป็นคนที่รู้สึกกับบ้านเช่นเดียวกับเรา แต่การซ่อมบ้านเก่าต้องอาศัยงบประมาณไม่น้อย และยังไม่แน่ชัดว่าจะได้ผู้เช่าที่พร้อมจะชำระค่าเช่าในราคาเท่าไหร่ ถ้าลงทุนซ่อมแล้วจะคุ้มทุนหรือไม่ เมื่อไหร่ จึงยังไม่ได้ลงมือทำอะไร 

“วันหนึ่งพาคุณแม่มาที่บ้าน คุณแม่ก็พูดขึ้นมาว่า “นี่เป็นบ้านหลังแรกของพ่อกับแม่ เสียดายนะถ้ามันจะไม่อยู่ในสภาพที่เคยเป็น” แค่ประโยคนี้ประโยคเดียวที่ทำให้พี่ไม่ต้องคิดหน้าคิดหลังอะไรอีก พี่ตั้งใจเลยว่าจะเป็นคนซ่อม จะใช้เงินแค่ไหน จะได้เงินคืนมาเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ แต่ขอให้ฉันได้ลงมือทำสิ่งนี้ ไม่ต้องลังเลอะไรอีกแล้ว” อ้อเล่าถึงนาทีที่นำมาสู่การตัดสินใจครั้งสำคัญ

การซ่อมบ้านกับการหาผู้เช่าต้องดำเนินควบคู่กันไป เจ้าของบ้านซึ่งเป็นผู้ซ่อมนั้นมีภาพในใจที่ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าจะซ่อมให้บ้านออกมาเป็นอย่างไร จึงต้องหาผู้เช่าที่จะมองเห็นคุณค่าและเชื่อในสิ่งเดียวกัน อีกประการคือต้องรู้ว่าบ้านหลังนี้จะเป็นอะไรต่อไป เพื่อที่จะซ่อมให้เสร็จและพร้อมใช้งานได้ในขั้นตอนเดียว

 “มีคนติดต่อมาขอเช่าทำเป็นที่พักของพนักงาน ทำสปาหมา ทำโรงเรียนอนุบาล ฯลฯ มีบางรายที่เจรจากันจนเกือบจะลงเอยแล้ว แต่ก็มีเหตุให้ไม่สามารถทำสัญญาเช่าร่วมกันได้ คิดว่าบ้านเองก็กำลังช่วยเราเลือกผู้ที่จะมาอยู่ในพื้นที่นี้ต่อไป อย่างที่เราเคยได้ยินว่าบ้านก็เลือกคนเหมือนกัน”

ในที่สุดทั้งสองฝ่ายก็หากันจนเจอ และเป็นคนใกล้ตัวที่คุ้นเคยกันเสียด้วย

“เผอิญว่า คุณเกี๊ยก-อดิเทพ พินิจภิญโญ และ คุณปุ้ย-นงพรรณ ตั้งทวีกูล ทำร้านกาแฟ Ink & Lion ซึ่งตั้งอยู่ที่ชั้นหนึ่งของบริษัทพี่ และพี่เองก็เป็นลูกค้าประจำ พี่รู้สึกถูกชะตากับทั้งสองมากๆ ร้านกาแฟของเขาเป็นร้านที่ไม่ต้องพยายามทำตัวให้โดดเด่นเหมือนร้านกาแฟในยุคนี้ แค่เป็นตัวตนในแบบฉบับของเขาทั้งคู่ ลูกค้าก็เดินเข้าร้านมาเอง เลยลองสอบถามดูว่าสนใจบ้านของเราไหม กำลังจะซ่อมและปรับปรุง แต่ความจริงก็เล็งเขาไว้ละ (หัวเราะ)” 

วันที่พี่อ้อ คุณเกี๊ยก และคุณปุ้ย จับมือกันมาดูบ้านนั้น อ้อเล่าว่า “บ้านดูเหมือนเหลือแต่ซากจริงๆ เพราะให้ช่างมารื้อส่วนที่ชำรุดเสียหายออกไป บ้านผุเยอะมาก แทบจะต้องรื้อทิ้งหมด แม้กระทั่งโครงหลังคา จะเหลือก็แค่กรอบหน้าต่างกับส่วนที่เป็นปูนเท่านั้น ซึ่งน้อยมากๆ ตอนนั้นเขาทั้งสองคนต้องไว้ใจเรามากว่าจะซ่อมบ้านให้กลับมาสวยงามดังเดิมได้” 

หลักการซ่อมคือพยายามทำให้กลับไปเป็นตามแบบดั้งเดิมมากที่สุด และกำจัดสิ่งที่เคยรู้สึกว่ารกรุงรังออกไป โดยยังให้ความสำคัญกับการจัดองค์ประกอบและสัดส่วนตามลักษณะที่คุณพ่อได้ออกแบบไว้ ส่วนภายในนั้นจะปรับแต่งไปตามความเหมาะสม 

“เราซ่อมบ้านที่เป็นโครงหลักตามที่เราต้องการส่งให้กับคุณเกี๊ยกกับคุณปุ้ย ส่วนรายละเอียดภายในเขาก็เสริมแต่งตามประโยชน์ใช้สอยของการเป็นร้านกาแฟ เช่น ลงทุนเพิ่มในส่วนที่เป็นครัว แต่เราทั้งสามคนล้วนปรึกษาร่วมกันมาโดยตลอด”

ระหว่างซ่อม

การซ่อมใช้เวลาทั้งสิ้น 1 ปีเต็ม โดยทีมช่างที่ได้รับการแนะนำจากเพื่อนบ้านที่รู้จักและคุ้นเคยกันมาก่อน และก็โชคดีที่ได้ทีมช่างซึ่งรับผิดชอบตั้งแต่ขั้นตอนการรื้อจนถึงการซ่อมกลับมาให้สมบูรณ์

“ที่เราเดินดูบ้านกันเมื่อเช้านี้ จะเห็นว่าพี่พยายามเก็บรายละเอียดเดิมๆ เอาไว้หมด ต้นไม้ทุกต้นมีคุณค่า หน้าต่างประตู ผนัง กระเบื้องปูพื้น บ่อน้ำ ฯลฯ อย่างตอนนั้นก็มีการถกกันว่า บ้านเราอยู่สุขุมวิท แถมอยู่ในระดับต่ำ มีสิทธิ์จมน้ำเวลาฝนตก เราจะดีดบ้านขึ้นไหม แต่ถ้าดีดบ้าน เราก็ต้องเอากระเบื้องสีแดงของเดิมออกทั้งหมดนะ เราเลยตัดสินใจว่าจะไม่ดีดบ้าน แต่ทำระบบกันน้ำแทน มีประตูกันน้ำ มีเขื่อนเป็นแนวยาวและใช้ปั๊มน้ำช่วย คือน้ำท่วมมันไม่ได้เกิดขึ้นทุกวัน หรือถ้าท่วมจริงๆ วัสดุก็ยังเป็นกระเบื้องที่ขัดล้างได้ แต่เรายังรักษากระเบื้องชุดเดิม สีเดิม ซึ่งเป็นภาพจำของบ้านเอาไว้ได้ตลอดไป หรือบนชั้นสอง เรายังเก็บคานไม้เก่าเอาไว้ บนผนังก็เก็บผนังเดิมเอาไว้ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่อยู่กับเรา โตมากับเรา เป็นความทรงจำของเรา และมีคุณค่าสำหรับเรา”

ส่วนกองเชียร์และกำลังใจในภารกิจสำคัญครั้งนี้จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากคุณแม่นั่นเอง

“ระหว่างที่ซ่อมก็พาคุณแม่มาดูตลอด ในวันที่ซ่อมเสร็จแม่มีความสุขมากๆ ปีก่อนตอนที่แม่ครบเก้าสิบปี แม่จัดวันเกิดที่นี่ไปสามรอบ แม้แต่ตอนนี้แม่ก็ให้พี่ชายพามาที่นี่บ่อยๆ (หัวเราะ) พอมีธุระข้างนอก ก็จะขอแวะมาดื่มกาแฟที่นี่ เมื่อเห็นเขามีความสุข พวกเราลูกๆ ก็มีความสุข 

“สำหรับพี่ เวลามานั่งที่นี่ก็รู้สึกเหมือนกลับมาบ้านที่เราเคยอยู่และเติบโตมา และเป็นบ้านที่เราอยากให้เป็น ได้เอาอะไรที่เราเคยคิดว่ารกรุงรังออก อย่างพวกส่วนต่อเติมต่างๆ ที่ลดทอนความชัดเจนและเรียบง่ายของตัวบ้านดั้งเดิม หรืออย่างการได้กำจัดสีขาวเปื้อนๆ เลอะๆ ออกจากหน้าต่างวิทโก้ให้เห็นเนื้อไม้เสียที (หัวเราะ) ที่สำคัญคือได้ผู้เช่าอย่างคุณเกี๊ยกคุณปุ้ยซึ่งมีความคิดสอดคล้องกับเรา เขาคือคนที่เรามั่นใจว่าจะไม่ได้ทำการเปลี่ยนแปลงอะไรให้หวือหวาเพื่อเรียกแขก เขาก็ได้ร้านกาแฟที่สะท้อนตัวตนของเขา และเราเองก็ยังรักษาบ้านหลังเดิมเอาไว้ได้ให้อยู่คู่ย่านสุขุมวิท”

ผลสัมฤทธิ์ของการซ่อมบ้านครั้งนี้เติมเต็มหัวใจของทุกฝ่าย

คุณค่าอันคู่ควร

เวลาเราพูดถึงคำว่า Heritage ภาพจำของเราคืออาคารเก่าๆ มีอายุนานหลายปี มักเป็นอาคารสำคัญของบุคคลสำคัญ จึงจะมีคุณค่าคู่ควรที่จะได้รับการอนุรักษ์… เท่านั้นหรือ

“บ้านหลังนี้อาจเป็นตัวอย่างของ Heritage ที่ยังพัฒนาต่อไป คือเราไม่ได้จับแช่แข็งให้คงสภาพว่าเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น มันมีความต่อเนื่องและเติบโตจากยุคพ่อ มายุคบิล มายุคเรา และมายุคที่คุณเกี๊ยกคุณปุ้ยมาทำร้านกาแฟ ซึ่งอาจจะต้องเปลี่ยนวัสดุบางอย่างให้เหมาะกับการเป็นร้านกาแฟ แต่ก็ยังเก็บสาระสำคัญของพื้นที่เอาไว้ อย่างการจัดองค์ประกอบและสัดส่วนตามลักษณะที่คุณพ่อออกแบบไว้ รวมทั้งการเก็บวัสดุสำคัญๆ ที่สะท้อนเรื่องราวในยุคนั้น 

ย้อนรอยความเปลี่ยนแปลงของทุ่งบางกะปิ เยี่ยมสถาปัตยกรรมโมเดิร์นบ้านสุขุมวิท จากบ้านให้ฝรั่งเช่า บ้านของครอบครัว สู่ Newday Project บ้านแสนอบอุ่นย่านทองหล่อ

“การอนุรักษ์บ้านหลังนี้คือการอนุรักษ์สิ่งที่มีคุณค่าต่อจิตใจ อย่างน้อยก็ของเราเอง แต่สำหรับบ้านหลังนี้ พี่เชื่อว่าไม่เฉพาะตัวเราเท่านั้น คนที่เกิดและเติบโตมาในย่านสุขุมวิท ถ้ามาเห็นเข้าก็คงจะมีความสุขไปกับเราด้วยเช่นกัน พี่มีเพื่อนหลายคนที่เกิดและโตมาในสุขุมวิท และมีกำลังทรัพย์พอที่จะรื้อบ้านเก่าๆ แล้วสร้างขึ้นมาใหม่ แต่พวกเขาก็ยังเลือกที่จะอยู่บ้านเก่าๆ แบบเดิมๆ อย่างบ้านที่จมดินไปครึ่งหนึ่ง บ้านที่ยังมีน้ำท่วมเสมอเวลาเข้าหน้าฝน บ้านที่มีบ่อน้ำเก่าๆ ที่ยังต้องออกแรงขัด เพดานอาจจะเตี้ยไปบ้างจนต้องเดินระวังไม่ให้หัวชน มีต้นไม้รกครึ้มที่ต้องกวาดเช้ากวาดเย็น

  “คนเหล่านี้อาจต้องต่อสู้กับกระแสบางอย่างจากคนรอบตัวที่ เฮ้ย อย่าไปซ่อมเลย เก็บไว้ทำไม สร้างใหม่เหอะ การรื้อบ้านเก่าออกแล้วสร้างใหม่เป็นทางออกที่ง่ายกว่ามาก อาจใช้งบประมาณน้อยกว่าก็ได้ แต่ก็มีคนอย่างพวกเราที่คิดว่า ไม่ ฉันไม่รื้อ ฉันยังอยากซ่อมต่อไป ฉันอยากปั๊มน้ำออกจากบ้าน ฉันยังอยากกวาดใบไม้และล้างบ่อต่อไป แต่เรายังรักษาบ้านแบบเดิมๆ รวมทั้งบรรยากาศของสุขุมวิทเอาไว้ได้เหมือนสมัยรุ่นพ่อรุ่นแม่เรา” อ้อยิ้มกว้างก่อนการสนทนาจะจบลง

เราคงต้องขอบคุณบุคคลเหล่านี้ที่ทำให้ยังรักษาอดีตเอาไว้ให้เราได้มีโอกาสเห็น สืบค้น และศึกษาต่อไป รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้เมื่อนำมาร้อยเรียงต่อๆ กันไป ก็ช่วยให้เรามองเห็นคุณค่าเชื่อมโยงได้หลากมิติมากขึ้น เหมือนการมาเยี่ยมบ้านสุขุมวิทที่ Newday Project ในเช้าวันนี้ ที่พาเราให้ได้สนทนาต่อยอดกันไปถึงพัฒนาการของย่านและยุคต่างๆ ของสุขุมวิทไปพร้อมกันด้วย

ขอขอบพระคุณผู้ร่วมการสนทนา

อ้อ-จริยาวดี เลขะวัฒนะ สถาปนิก ผู้ก่อตั้งบริษัทสถาปนิกคิดดี จำกัด

โก้-ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์

ฐิ-ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ฐิติวุฒิ ชัยสวัสดิ์อารี หัวหน้าภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เอกสารอ้างอิง

ระลึกถึงบ้านซอย 6 โดย หม่อมราชวงศ์แน่งน้อย ศักดิ์ศรี พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในวาระที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์กิตติคุณ หม่อมราชวงศ์แน่งน้อย ศักดิ์ศรี 

บ้านในกรุงเทพ ฯ : รูปแบบและการเปลี่ยนแปลงในรอบ 200 ปี (พ.ศ. 2325-2525) โดย ผศ.ผุสดี ทิพทัส และ ผศ.มานพ พงศทัต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลงานวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องในวาระสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 200 ปี (ปัจจุบัน คือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ผุสดี ทิพทัส ราชบัณฑิต ประเภทวิชาสถาปัตยศิลป์ สาขาวิชาสถาปัตยกรรม สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสภา และรองศาสตราจารย์ มานพ พงศทัต ศาสตราภิชาน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

พัฒนาการแนวคิดและรูปแบบของงานสถาปัตยกรรม อดีต ปัจจุบัน และอนาคต คณะผู้วิจัย ดร. วิมลสิทธิ์ หรยางกูร กอบกุล อินทรวิจิตร ดร. สันติ ฉันทวิลาสวงศ์ และวีระ อินพันทัง พ.ศ. 2536 โดยสมาคมสถาปนิกสยามฯ ด้วยการสนับสนุนจากเครือซิเมนต์ไทย (ปัจจุบัน คือ ศาสตราจารย์ ดร.วิมลสิทธิ์ หรยางกูร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

Writer

Avatar

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป เลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker Instagram : LODE_OAK

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล