12 มิถุนายน 2020
45 K

ห้างนิวเวิลด์จะกลับมาเปิดใหม่อีกครั้งหนึ่งในช่วงอาทิตย์หน้านี้!

เป็นสิ่งที่ทำให้ผมตกใจพอสมควรเมื่อได้ยินว่าห้างร้างแห่งนี้จะกลับมาใหม่ แม้จะเป็นเพียงการเปิดเพื่อจัดนิทรรศการเล็กๆ ที่น่าสนใจอย่างมากร่วมกับทางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในชื่อ ARCH SU FEST: 2020 | New World x Old Town ระหว่างวันที่ 13 – 21 มิถุนายน 2563 ก็ตาม เพราะเป็นห้างที่มีเรื่องราวที่น่าสนใจมาโดยตลอด และนอกจากการจัดนิทรรศการแล้ว นี่เหมือนเป็นการทดลองเปิดชิมลางอีกครั้ง เพราะทางเจ้าของที่ (ซึ่งเป็นคนละคนกับเจ้าของห้างในอดีต) นั้น อยากจะรีโนเวตห้างแห่งนี้ให้กลับมาเปิดต้อนรับผู้คนได้อีกครั้งหนึ่ง

หลายคนอาจจะไม่รู้จักห้างนิวเวิลด์ ห้างแห่งนี้เคยเป็นห้างที่ตั้งอยู่ใจกลางเขตเมืองเก่า และเคยเป็นห้างที่แสนหรูหราโก้เก๋ของชาวเมือง ในยุคที่ย่านบางลำพูยังเป็นย่านการค้าสำคัญของกรุงเทพฯ ด้วยความสูง 11 ชั้น และมีลิฟต์แก้วเป็นแห่งแรกๆ ในประเทศไทย แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงด้านผังเมืองและอุบัติเหตุของการรื้อถอนอาคาร ทำให้ห้างแห่งนี้ก็ต้องปิดตัวลง ก่อนจะเปลี่ยนภาพจำของคนจากห้างสรรพสินค้ากลายมาเป็นวังมัจฉาหรือบ่อปลาขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแบบลับๆ ของบรรดานักท่องเที่ยวอยู่นาน ก่อนที่จะมีการสั่งปิดตึกถาวรและย้ายปลาออกไป ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยของคนที่เข้าไปในอาคารนั่นเอง 

นิวเวิลด์ โอลทาวน์ เมื่อห้างร้างกลับมาเปิดอีกครั้ง เพื่อจัดนิทรรศการของชาวบางลำพู, ห้างนิวเวิลด์, New world, บางลำพู
นิวเวิลด์ โอลทาวน์ เมื่อห้างร้างกลับมาเปิดอีกครั้ง เพื่อจัดนิทรรศการของชาวบางลำพู, ห้างนิวเวิลด์, New world, บางลำภู

เมื่อห้างนี้จะได้กลับมาเปิดอีกครั้ง นี่จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมาก และวันนี้เราจะพาทุกท่านไปดูเบื้องหลังที่มาที่ไปของการกลับมาเปิดนิทรรศการแห่งนี้กัน 

บางลำพู 200 ปีก่อน

ในสมัยรัชกาลที่ 1 หลังจากย้ายเมืองหลวงกลับมาที่ฝั่งพระนครแล้วก็มีการสร้างบ้านแปงเมือง ด้วยการขุดคลองรอบกรุง สร้างป้อมและแนวกำแพงพระนครตามแนวลำคลองขุดใหม่ บริเวณช่วงคลองตั้งแต่วัดบางลำพูไปจนถึงวัดสระเกศฯ เรียกกันว่า ‘คลองบางลำพู’ มีการย้ายมาตั้งถิ่นฐานของทั้งเจ้านายและขุนนางในบริเวณนี้ ทำให้ต่อมาเริ่มมีชาวบ้านหลากหลายเชื้อชาติเข้ามาตั้งรกรากตามๆ กัน ทั้งชาวไทย ชาวมอญ ชาวมลายู และชาวจีน พอมีคนเริ่มมาอาศัยจึงเกิดการค้าขายกันในลักษณะของตลาดน้ำในคลองบางลำพู ที่มีทั้งเรือขนผักผลไม้จากฝั่งธนฯ และนนทบุรีเข้ามาขาย มีการนำข้าวสารมาขายที่บริเวณตรอกข้าวสาร (อันเป็นชื่อของถนนข้าวสารในยุคถัดไป) 

ต่อมาเริ่มมีการขยับขยายการค้าขายขึ้นมาเป็นตลาดบนบก จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 มีการตัดถนนสายใหม่ นั่นคือถนนราชดำเนิน พร้อมกับตัดถนนตะนาว ยาวลงมาถึงวัดบวรนิเวศฯ รวมไปถึงถนนจักรพงษ์ ถนนสามเสน ถนนพระสุเมรุ ถนนพระอาทิตย์ ถนนข้าวสาร ถนนรามบุตรี และถนนสิบสามห้าง ส่งผลให้พื้นที่บางลำพูเป็นจุดผ่านและจุดเชื่อมของเส้นทางคมนาคมสายใหม่ และรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตลาดแบบทันสมัยในพื้นที่บางลำพู โดยให้ชื่อว่า ‘ตลาดยอดพิมาน’ เรียกกันสั้นๆ ว่า ‘ตลาดยอด’ ส่งผลให้บางลำพูกลายมาเป็นย่านการค้าที่สำคัญมากของไทย มีทั้งห้างร้านขายสินค้าชั้นนำและมีชื่อเสียงหลายร้าน โดยร้านชื่อดังประจำย่าน เช่น ห้างเสื้อนพรัตน์ ร้านสมใจนึกบางลำพู ห้าง ต.เง็กชวน และแหล่งรวมมหรสพหลากหลาย ทั้งลิเก ละครร้อง และสื่อบันเทิงสมัยใหม่อย่างโรงภาพยนตร์ ซึ่งได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่อง แต่ช่วงหลังด้วยการที่เป็นเขตอนุรักษ์การขยับขยายทางด้านธุรกิจนั้นทำได้ยาก ผสมกับการย้ายถิ่นฐานของคนในเมือง จึงมีการลงทุนในย่านการค้าแห่งใหม่ ทั้งบริเวณประตูน้ำ ราชประสงค์ สีลม สาทร สุขุมวิท แทน ทำให้บางลำพูในยุคปัจจุบันนั้นลดความสำคัญในด้านการเป็นย่านการค้าสำคัญลงไป

บางลำพู พ.ศ. 2526

เมื่อ 30 กว่าปีก่อน บางลำพูก็ยังคงเป็นแหล่งการค้าที่สำคัญอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน พ.ศ. 2526 มีการเปิดห้างใหม่บริเวณแยกบางลำพู นั่นคือห้างนิวเวิลด์ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงจากคนกรุงเทพฯ เพราะมีร้านค้าและสินค้าใหม่ๆ วางขาย และมีลิฟต์แก้วแสนโก้เก๋ให้บริการอยู่ด้านหน้าห้างด้วย ด้วยเสียงตอบรับที่ดีทำให้ทางเจ้าของห้างได้ขออนุญาตต่อเติมอาคารจากทางเขตให้มีความสูงจากเดิม 4 ชั้น เพิ่มขึ้นไปเป็น 11 ชั้น แม้ทางเขตไม่อนุญาต แต่ทางเจ้าของห้างก็ทำการต่อเติมห้างไปโดยพลการ จนทำให้เกิดการฟ้องร้องต่อศาลโดยทางกรุงเทพมหานคร ก่อนจะผ่านกระบวนการทางชั้นศาลทั้งอุทธรณ์และฎีกา จนศาลตัดสินให้ทางห้างรื้อถอนส่วนต่อเติมชั้น 5 – 11 ออกไป ซึ่งทางห้างก็ได้ดำเนินการรื้อถอน โดยที่ยังคงเปิดให้บริการชั้น 1 – 4 ควบคู่กันไปด้วย 

นิวเวิลด์ โอลทาวน์ เมื่อห้างร้างกลับมาเปิดอีกครั้ง เพื่อจัดนิทรรศการของชาวบางลำพู, ห้างนิวเวิลด์, New world, บางลำภู
นิวเวิลด์ โอลทาวน์ เมื่อห้างร้างกลับมาเปิดอีกครั้ง เพื่อจัดนิทรรศการของชาวบางลำพู, ห้างนิวเวิลด์, New world, บางลำภู

บางลำพู พ.ศ. 2547

ในวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2547 การรื้อถอนชั้น 5 – 11 ยังคงดำเนินไป แต่ทางช่างที่ทำงานนั้นได้วางเศษวัสดุที่รื้อถอนจากชั้นบนๆ ไว้ในจุดที่รับน้ำหนักไม่ไหว ทำให้พื้นแตกและถล่มลงไปยังชั้นล่าง ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและร้านค้าชั้นล่างได้รับความเสียหาย ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ห้างนิวเวิลด์จึงปิดตัวลง ก่อนกลายมาเป็นบทบาทใหม่หลังจากปิดห้าง นั่นคือบ่อปลากลางกรุงนั่นเอง 

ด้วยความที่ห้างกำลังรื้อถอนชั้นด้านบนออกและต้องปิดให้ดำเนินการ ด้านบนของห้างจึงไม่มีการปิดช่องหลังคา และด้วยการออกแบบห้างสมัยนั้นที่มีโถงกลางเปิดโล่ง ทำให้เมื่อเข้าสู่หน้าฝน น้ำฝนจะตกและขังอยู่ที่ชั้นล่างสุดของห้าง เมื่อน้ำฝนตกลงมาขังมากขึ้นก็มียุงมากขึ้นด้วย แม่ค้าและชาวบ้านแถวนั้นเลยนำปลามาปล่อยเพื่อกำจัดลูกน้ำไม่ให้กลายเป็นยุง หลายคนบอกว่าเริ่มแรกมีแค่ปลาหางนกยูง ก่อนที่จะมีปลาแปลกๆ และขนาดใหญ่ขึ้นเพิ่มมาเรื่อยๆ ทั้งปลาคาร์ฟ ปลานิล ปลาทับทิม และอีกหลากหลายสายพันธุ์ จนกลายมาเป็นวังมัจฉากลางกรุงเก่า ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวของเหล่านักท่องเที่ยวในประเทศและต่างชาติ

แต่ด้วยความปลอดภัยของผู้ที่มาเยี่ยมชมอาคารนี้อยู่ตลอด ทำให้สำนักงานเขตประกาศสั่งปิดตึกร้างดังกล่าวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 30 มิถุยายน พ.ศ. 2557 และขนย้ายปลา รวมถึงสูบน้ำออกทั้งหมด เป็นการปิดตำนานบ่อปลากลางกรุงเก่าไป

นิวเวิลด์ โอลทาวน์ เมื่อห้างร้างกลับมาเปิดอีกครั้ง เพื่อจัดนิทรรศการของชาวบางลำพู, ห้างนิวเวิลด์, New world, บางลำภู

บางลำพู พ.ศ. 2563 

ตัดกลับมาในปัจจุบันนี้ที่ห้างนิวเวิลด์จะกลับมาเปิดใหม่เพื่อจัดนิทรรศการ ARCH SU FEST: 2020 | New World x Old Town เราจึงมีโอกาสได้คุยกับ อาจารย์หน่อง-ผศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ สถาปนิกผู้เชี่ยวชาญการออกแบบและพัฒนาชุมชนด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมและการพัฒนาเมือง ซึ่งเป็นที่ปรึกษาในการรีโนเวตห้างนิวเวิลด์แห่งนี้ และยังเป็นคนดูแลการจัดนิทรรศการ ARCH SU FEST: 2020 | New World x Old Town ในครั้งนี้อีกด้วย เราเลยถามอาจารย์ถึงที่มาในการจัดนิทรรศการแห่งนี้ว่ามันคืออะไร

“เริ่มจากที่ตัวอาจารย์ชอบทำงานในส่วนของการฟื้นฟูย่านเก่าอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้เคยทำงานโปรเจกต์ที่ช่วยจุดประกายย่านเก่าต่างๆ มาบ้าง และก่อนหน้านี้ในช่วงที่กรุงเทพฯ มีแผนการจัดระเบียบทางเท้าย่านบางลำพูอาจารย์ที่สอนวิชาเกี่ยวกับการอนุรักษ์และสถาปัตยกรรมชุมชนก็เลยชวนนักศึกษามาลงพื้นที่ เพื่อสำรวจและทำแผนที่ของบรรดาอาหารข้างทางในย่านนี้ ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจที่ได้พบก็คือเรื่องของวัฒนธรรมที่สะท้อนออกมาทางอาหาร ซึ่งที่นี่ค่อนข้างเด่นเรื่องอาหารข้างทางที่มีที่มาจากวัฒนธรรมต่างๆ ที่หลากหลายออกมาเป็นอาหารอย่างไส้กรอกปลาแนม ขนมเบื้อง ข้าวแช่ มีอาหารที่ใช้ส่วนผสมที่หายากอย่างส้มซ่าในอาหาร คือมันมีประวัติศาสตร์ก้อนใหญ่อยู่ภายในย่านที่หาที่อื่นไม่ได้อีกแล้ว

“หลังจากนั้นมาอาจารย์เห็นว่าเพื่อนสมัยเรียนประถมคนหนึ่งโพสต์ภาพด้านในห้างนิวเวิลด์ขึ้นมา ก็เลยถามเจ้าของภาพว่าเข้าไปได้ยังไง เพราะว่าเราชอบที่นี่มานานแล้วแต่ไม่เคยได้เข้ามา เพราะตั้งแต่ที่อาจารย์เรียนที่ศิลปากรก็เห็นห้างนี้มาโดยตลอด เลยได้คุยกันว่าที่นี่เป็นโลเคชันที่มีศักยภาพสูงมากในย่านเมืองเก่า มันเหมือนเป็นโลเคชันในฝันของคนทำงานสถาปัตยกรรมน่ะ ด้วยตำแหน่งที่ตั้งอยู่ในเมืองเก่า ใกล้รถไฟฟ้าในอนาคต และเป็นอาคารร้างที่มีพื้นที่ใหญ่มากเกือบจะที่สุดในย่านเมืองเก่าแล้ว จึงมีศักยภาพในการพัฒนาย่านเมืองเก่าเป็นอย่างมาก 

“เจ้าของภาพเลยค่อยมาบอกว่าเป็นที่ดินมรดกของที่บ้าน และคิดอยากรีโนเวตห้างนี้อีกครั้ง พอได้เจอเจ้าของเราเลยขออาสามาช่วยดูเรื่องของการรีโนเวตและคิดโปรแแกรมการใช้งาน ก็เลยชวนให้เขามาคุยกับอาจารย์ด้านผังเมืองและกฎหมายควบคุมอาคารต่างๆ ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรเพื่อให้เห็นแนวทางและเงื่อนไขของการพัฒนาอาคารต่างๆ หลังจากนั่งคุยปรึกษากันอยู่สักพักก็เหมือนมองเห็นภาพค่อนข้างตรงกันทั้งเจ้าของที่และตัวอาจารย์เองว่า อยากให้ห้างนี้ไม่แปลกแยกออกจากชุมชน อยากพัฒนาให้เป็นสถานที่ที่เป็นมิตรกับคนในย่าน ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนบางลำพู เช่น อาจจะมีการจ้างงานคนในย่าน มีพื้นที่นิทรรศการของย่าน และในขณะเดียวกันก็หารายได้และเลี้ยงดูพื้นที่ห้างทั้งหมดได้” อาจารย์หน่องเล่าให้ฟังถึงความสนใจแรกต่อทั้งบางลำพูและห้างนิวเวิลด์

ผมถามอาจารย์หน่องต่อว่า ทำไมต้องพัฒนาย่านเมืองเก่า การเป็นชุมชนที่ตั้งมาตั้งแต่สมัยเก่ามีปัญหาอะไรบ้าง

“ปัญหาหนึ่งของย่านเมืองเก่า คือทุกคนโดนย้ายหรือย้ายออกโดยสมัครใจออกจากเมืองเก่ากันไปหมด เมืองเก่าเหมือนเป็นตุ๊กตาที่ไม่มีชีวิต คือถูกฟรีซบ้านเมืองไว้ให้ดูสวยงามเรียบร้อย แต่ว่าไม่มีชีวิตจริงๆ อยู่ในเมืองเก่าแล้ว แล้วด้วยความที่มีพื้นที่ส่วนอื่นของเมืองที่รองรับกิจกรรมทางการค้าได้อย่างเข้มข้นกว่าหรือการอยู่อาศัยที่หนาแน่นกว่า ย่านเก่าเลยเป็นพื้นที่ที่รอวันเสื่อมลง โดยเฉพาะในย่านบางลำพู มันยังเป็นย่านที่ยังมีชีวิตอยู่ คือยังมีผู้คนที่อยู่อาศัยในพื้นที่มานานและยังใช้ชีวิตอยู่ในย่านจริงๆ” ที่ปรึกษาโครงการอธิบายถึงปัญหาของย่านเมืองเก่า

แล้วไอเดียการทำนิทรรศการครั้งนี้เกิดขึ้นมาจากอะไร ผมถามต่อ

“คือตัวห้างมันถูกปิดมานาน เราอยากค่อยๆ แง้มเปิดอาคารนี้ออกสู่ผู้คนและชุมชนโดยรอบ และอย่างที่เราได้รู้เรื่องราวปัญหาต่างๆ ในอดีตของห้าง เอาจริงๆ ตอนแรกอาจารย์ก็ไม่แน่ใจว่าคนในชุมชนจะมีความรู้สึกบวกหรือลบกับอาคารนี้นะคะ ด้วยอดีตของห้างต่างๆ ก็พอดีได้เจอกับชมรมเกสรลำพู ซึ่งนำโดย ต้า-ปานทิพย์ ลิกขะไชย ที่เป็นคนกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในชุมชน โดยใช้ไกด์เด็กในย่านพานักท่องเที่ยวไปเชื่อมกับผู้ใหญ่ในชุมชน ต้าจึงเป็นคนที่ใกล้ชิดผู้ใหญ่ในย่านนี้มาก และแทบทุกคนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นที่ห้างนิวเวิลด์แห่งนี้ อยากให้ห้างนี้มีชีวิตอีกครั้ง อยากได้มีโอกาสเดินกลับเข้ามาในห้างนี้ใหม่อีกครั้ง เพราะการที่มีห้างร้างปิดไว้ มันทำให้บรรยากาศแถวนี้มันดูไม่ค่อยเจริญหูเจริญตา 

“อาจารย์กับเพื่อนที่เป็นเจ้าของที่ก็เลยอยากจะหากิจกรรมอะไรสักอย่างมาจัด เพื่อเปิดช่องให้อาคารนี้ได้ค่อยๆ เปิดต้อนรับคนในย่านบางลำพูนี้อีกครั้ง เพื่อให้คนที่เคยมาเดินห้างได้กลับมาเห็นมาเจอหน้ากันอีกครั้ง เกิดเป็นไอเดียว่าจะลองจัดนิทรรศการดูก่อน ก็เลยเกิดเป็นนิทรรศการ ARCH SU FEST: 2020 | New World x Old Town ขึ้นมา” 

อาจารย์หน่องอธิบายถึงแนวคิดในการทำนิทรรศการ และอธิบายถึงกิจกรรมทั้งหมดที่มีในงานนี้ และทำให้เราตื่นเต้นจนอยากจะเห็นเลยว่าต่อไปห้างแห่งนี้จะเปลี่ยนแปลงออกมาเป็นอย่างไรบ้าง 

ซึ่งรายละเอียดของนิทรรศการทั้งหมดมีดังต่อไปนี้

1. ผลงานการออกแบบเสนอแนวคิดปรับปรุงอาคารนิวเวิลด์ โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 3 และ 4 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

“ทีแรกสุดเราในฐานะอาจารย์ก็คิดว่ามันเป็นโจทย์ที่สนุกดี เลยหยิบเอาอาคารนี้ไปเป็นโจทย์ผลงานการออกแบบเสนอแนวคิดปรับปรุงอาคารนิวเวิลด์ โดยนักศึกษาชั้นปีที่สามและสี่ คณะสถาปัตย์ฯ ศิลปากร ให้ได้ลองออกแบบและคิดฟังก์ชันการใช้งานลงไป ซึ่งหลังจากที่ทำส่งมาแล้ว เราก็คิดว่ามันคงจะดีถ้าจะเอามาจัดแสดงให้คนแถวนี้ รวมถึงเจ้าของได้เห็นว่าห้างนี้มันเปลี่ยนแปลงไปเป็นอะไรได้บ้างจากไอเดียของนักศึกษาซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่” 

2. นิทรรศการ 20×20

“ผลงานนักศึกษานั้นก็สนุกดี แต่เรามาคิดกันว่ามันค่อนข้างจำกัดคนมาดูมากเลย งานแสดงผลงานนักศึกษาสถาปัตย์ฯ ก็คงมีแต่นักศึกษาสถาปัตย์ฯ ด้วยกันมาดู เราเลยมาคิดว่าน่าจะต้องหาอะไรอย่างอื่นที่น่าสนใจมากกว่ามาจัดแสดง แล้วงานอะไรที่คนทั่วไปน่าจะอยากมาดู เลยมาคิดว่าน่าจะเป็นการลองเล่าเรื่องราวของบางลำพูในสายตาของคนภายนอกอย่างเรา ด้วยการใช้สิ่งของยี่สิบสิ่ง เล่าเรื่องราวของกลุ่มคนยี่สิบ คน ที่สะท้อนความเป็นย่านแห่งนี้ โดยเราเริ่มคิดจากคีย์เวิร์ดที่คนภายนอกจะนึกถึงเกี่ยวกับบางลำพู ว่าเกี่ยวข้องกับ ‘คน’ กลุ่มใดบ้าง จากนั้นจึงไปหาสิ่งของที่สามารถ Represent กลุ่มคนต่างๆ ได้ อย่างธง ชุดนักเรียน เสื้อกล้ามข้าวสาร ขนมหวาน อุปกรณ์ถักไหมพรม เป็นต้น 

“โดยในการหาข้อมูลเพื่อจัดนิทรรศการส่วนนี้ ถือเป็นขั้นตอนหนึ่งของการประชาสัมพันธ์กิจกรรมที่จะเกิดขึ้น และเป็นการชวนคนในชุมชนต่างๆ พูดคุยเกี่ยวกับย่านบางลำพูและห้างนิวเวิลด์ด้วย คือเราตั้งใจให้กระบวนการทำนิทรรศการเป็นการสร้างปฎิสัมพันธ์กับชุมชนไปด้วย

3. นิทรรศการ 40 คนสำคัญแห่งย่านบางลำพู โดยทีมชมรมเกสรลำพู

“ตอนที่เริ่มคิดทำตัวนิทรรศการเพิ่มเติมก็พอดีเจอต้ามาเล่าว่า เขาทำงานวิจัยเกี่ยวกับ Key Person สี่สิบคนในย่านบางลำพูอยู่ ก็เลยคิดว่าในสายตาของคนที่อยู่ย่านนี้มานาน น่าจะรู้จักบางลำพูในอีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างจากสิ่งที่คนนอกอย่างเรามองเข้าไป งานวิจัยของต้าเป็นการการสัมภาษณ์คนสำคัญแห่งย่านบางลำพูสี่สิบคน เราเลยคิดกันขึ้นมาว่ามันคงจะน่าสนใจดีที่จะเอาเนื้อหาของนิทรรศการมาจัดแสดงร่วมกัน จะได้เห็นมุมมองของความเป็นบางลำพูทั้งจากคนภายนอกชุมชนและคนในชุมชน

4. Lighting Installation ตีความความเป็นย่านบางลำพูจากอดีตสู่อนาคต โดยทีมศิษย์เก่าสถาปัตย์ศิลปากร

“ด้วยความที่ห้างมันมืดมากและมีพื้นที่ค่อนข้างใหญ่ เราเลยอยากให้บรรยากาศมีชีวิตชีวาขึ้น ก็เลยคิดถึงการใช้แสงมาสร้างบรรยากาศในพื้นที่ เลยชักชวนศิษย์เก่าให้มาร่วมด้วยสองกลุ่ม โดยให้โจทย์เป็นการใช้แสงเล่าเรื่องของบางลำพูออกมา ซึ่งกลุ่มแรกจะฉายโปรเจกเตอร์ลงบนพื้นผิวย้อนให้เห็นสมัยยังเป็นวังมัจฉา เพราะคนรุ่นใหม่ๆ ส่วนมากจะจดจำนิวเวิลด์จากการเป็นวังมัจฉามากกว่าห้างสรรพสินค้า ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งทำเป็นลักษณะใช้แสงสร้างรูปทรงบันไดผสมกับการใช้ผ้า ซึ่งเป็นของขึ้นชื่อในย่านบางลำพู มาสร้างให้เห็นชีวิตของผู้คนที่อาศัยในย่านนี้ เหมือนชี้ให้เห็นถึงอนาคตการเปลี่ยนแปลงต่อไปของบางลำพู” 

5. วงสนทนาเกี่ยวกับย่านบางลำพูในรูปแบบ Facebook Live

วันที่ 14 มิถุนายน 2563 เวลา 14.00 น. หัวข้อ “บางลำพูของฉัน และวันนั้นที่นิวเวิลด์” จะชวนคนในชุมชนมาคุยเรื่องความทรงจำสนุกๆ ที่มีกับห้างแห่งนี้กัน 

ส่วนวันที่ 20 มิถุนายน 2563 เวลา16.00 น. หัวข้อ “Newเวิลด์ โอลด์Town” ชวนนักวิชาการ สถาปนิก (Hypothesis) และตัวแทนคนรุ่นใหม่จากำชมรมเกสรลำพู ในชุมชนมาคุยเรื่องอนาคตและห้างและย่านแห่งนี้

6. การทดลองจัดนิทรรศการรูปแบบใหม่

อาจารย์หน่องยังอธิบายถึงรูปแบบการจัดนิทรรศการที่จะแตกต่างออกไป เพราะได้ทดลองจัดนิทรรศการรูปแบบใหม่ขึ้นมาภายใต้สถานการณ์โรคระบาดอย่าง COVID-19 ที่ทำให้การเข้าชมนิทรรศการมีข้อจำกัด จึงเกิดการทดลองปรับเปลี่ยนรูปแบบการเข้าชมโดยไม่เปิดเป็นนิทรรศการสาธารณะ แต่เป็นการเชิญแขกรับเชิญ โดยเน้นที่คนในชุมชนและคนที่อาจจะมีมุมมองที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เข้าไปดูนิทรรศการในแต่ละวัน แล้วให้คนเหล่านั้นเล่าเรื่องราวในนิทรรศการออกมาตามมุมมองของตัวเอง ผ่านทางเพจ Facebook : บางลำพู everyday

นิวเวิลด์ โอลทาวน์ เมื่อห้างร้างกลับมาเปิดอีกครั้ง เพื่อจัดนิทรรศการของชาวบางลำพู, ห้างนิวเวิลด์, New world, บางลำภู

ห้างสรรพสินค้านิวเวิลด์ บางลำพู ร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ประชาคมบางลำพู และชมรมเกสรลำพู จัดนิทรรศการ ARCH SU FEST: 2020 | New World x Old Town ในวันที่ 13 – 21 มิถุนายน 2563 ที่ห้างสรรพสินค้านิวเวิลด์ บางลำพู ติดตามช่องทางการเผยแพร่นิทรรศการได้ตลอดเดือนมิถุนายนนี้ ที่ Facebok : บางลำพู everyday 

อาคารนิวเวิลด์ได้รับการตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้างจากทางวิศวกร และได้รับการยืนยันแล้วว่าปลอดภัยต่อการใช้งาน พร้อมทั้งมีการติดตั้งอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยไว้ตลอดในระหว่างที่ติดตั้งและจัดงานนิทรรศการแห่งนี้

Writer & Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan