สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกากำลังสร้างอาคารหลังใหม่ในรอบเกือบ 30 ปี เป็นหนึ่งในอาคารที่ใหญ่ในเขตสถานเอกอัครราชทูตฯ ใจกลางถนนวิทยุ มูลค่าการก่อสร้างตึกนี้สูงถึง 625 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ และว่าจ้างคนงานไทยประมาณ 2,000 คนตลอดระยะเวลาการก่อสร้าง

เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นในแวดวงสถาปัตยกรรมร่วมสมัยในเมืองไทย หลายคนเมื่อนึกภาพสถานเอกอัครราชทูตของแดนอินทรี คงเห็นภาพเขตแดนต้นไม้ร่มรื่น บ้านโบราณที่เป็นที่พำนักเอกอัครราชทูต หรืออาคารสำนักงานสีขาวจากทศวรรษ 90 ตั้งตระหง่านในรั้วขาว

วันนี้ (7 ตุลาคม ค.ศ. 2021) พิธีตักหน้าดินเริ่มขึ้น และอาคารออฟฟิศหลังใหม่ที่รวมการออกแบบและเทคโนโลยีล้ำสมัยได้เริ่มก่อร่างสร้างตัวแล้ว ก่อนอาคารนี้จะเสร็จสิ้นและเผยโฉมสู่สายตาสาธารณชนในราวๆ ค.ศ. 2025 เราได้พูดคุยกับอุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต ไมเคิล ฮีธ (Michael Heath) รวมถึงต่อสายตรงถึงทีมสถาปนิกจากนิวยอร์ก คริสโตเฟอร์ ชาร์เปิลส์ (Christopher Sharples) หนึ่งในผู้ก่อตั้งและหัวหน้าบริษัท SHoP Architects และ นาดีน เบอร์เกอร์ (Nadine Berger) รองหัวหน้าและผู้จัดการโครงการนี้ เพื่อพาผู้อ่านไปทำความรู้จักออฟฟิศใหม่ที่รวมเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่กว่า 33 ไร่ ก่อนใคร 

The NOX ตึกออฟฟิศใหม่ล้อมด้วยต้นไม้ในสถานทูตอเมริกา ที่สร้างจากแนวคิดเพื่อสิ่งแวดล้อม
The NOX ตึกออฟฟิศใหม่ล้อมด้วยต้นไม้ในสถานทูตอเมริกา ที่สร้างจากแนวคิดเพื่อสิ่งแวดล้อม

The New Office 

แม้อาณาเขตของสถานเอกอัครราชทูตอเมริกากินบริเวณกว้างใหญ่มากทั้งสองฝั่งของถนนวิทยุ พื้นที่ส่วนใหญ่กลับไม่ใช่อาคาร แต่เป็นพื้นที่สีเขียวร่มรื่น บริเวณทำงานของเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ กระจายอยู่ในอาคารหลายหลัง 

พื้นที่ของออฟฟิศใหม่นี้อยู่ระหว่างทิศตะวันตกของถนนวิทยุ กับทิศตะวันออกของถนนร่วมฤดี เดิมบริเวณนี้เคยมีอาคารที่สร้างขึ้นในทศวรรษ 60 ต่อมาทีมสถาปนิก Kallmann McKinnell & Wood เข้ามาสร้างอาคารใหม่ในยุค 90 ให้มีพื้นที่ใช้งานมากขึ้น อาคารต่างๆ ที่กระจัดกระจายสามารถเดินถึงกันได้ภายใน 15 นาที แต่เนื่องจากสถานเอกอัคราชทูตแห่งนี้ทำหน้าที่ศูนย์กลางการดำเนินงานระดับภูมิภาคมาเป็นเวลานาน มากกว่าครึ่งของพนักงานสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยมีหน้าที่รับผิดชอบงานระดับภูมิภาค บริหารจัดการทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่ออฟฟิศผืนนี้จึงไม่เพียงพอต่อเจ้าหน้าที่จำนวนมากทั้งอเมริกันชนและชาวไทย

The NOX ตึกออฟฟิศใหม่ล้อมด้วยต้นไม้ในสถานทูตอเมริกา ที่สร้างจากแนวคิดเพื่อสิ่งแวดล้อม
The NOX ตึกออฟฟิศใหม่ล้อมด้วยต้นไม้ในสถานทูตอเมริกา ที่สร้างจากแนวคิดเพื่อสิ่งแวดล้อม

“เหตุผลที่ต้องสร้างอาคารใหม่คือเรามีภารกิจหลายสิ่งหลายอย่าง เรามีหน่วยงานสี่สิบเจ็ดหน่วยงานที่นี่ ดูแลทั้งภารกิจด้านเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ การทหาร สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งตอนนี้เราต้องกระจายกันอยู่ในหลายๆ ตึกในกรุงเทพฯ แต่ออฟฟิศนี้จะรวบรวมให้ทุกคนได้มาอยู่ร่วมกันในตึกเดียว ซึ่งจะทำให้การติดต่อทำงานสะดวกขึ้น และดูแลความปลอดภัยของทุกคนให้รัดกุมได้” อุปทูตไมเคิลอธิบายเบื้องหลังของโปรเจกต์ยักษ์ ซึ่งท่านได้ทราบข่าวมาตั้งแต่เป็นกงสุลใหญ่แห่งสหรัฐอเมริกาที่สถานกงสุลใหญ่สหรัฐฯ เชียงใหม่ใน ค.ศ. 2016 จึงคะเนได้ว่าโครงการนี้ได้เริ่มต้นตั้งแต่อย่างน้อยๆ 7 ปีก่อน 

“อาคารใหม่ของสถานทูตที่ออกแบบอย่างทันสมัยแห่งนี้ จะเป็นที่ตั้งของหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ร่วมมือกับประเทศไทยและอาเซียน เพื่อยกระดับประเด็นสำคัญของภูมิภาค รวมทั้งการปรับปรุงด้านสาธารณสุข การจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม และการต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติ อาคารนี้ออกแบบให้สะท้อนถึงสถาปัตยกรรมแบบไทยเดิม และผมหวังว่าอาคารหลังใหม่นี้จะเป็นสัญลักษณ์และศูนย์กลางของมิตรภาพระหว่างไทยกับสหรัฐฯ อย่างยืนยาวในอนาคต

The NOX ตึกออฟฟิศใหม่ล้อมด้วยต้นไม้ในสถานทูตอเมริกา ที่สร้างจากแนวคิดเพื่อสิ่งแวดล้อม
The NOX ตึกออฟฟิศใหม่ล้อมด้วยต้นไม้ในสถานทูตอเมริกา ที่สร้างจากแนวคิดเพื่อสิ่งแวดล้อม

“เราเรียกตึกนี้ว่า The NOX ย่อมาจาก New Office Annex” อุปทูตบอกชื่อเล่นของตึกนี้ให้ฟัง “ผมคิดว่าถ้าตึกนี้เสร็จ มันคงเป็นออฟฟิศที่สบายและน่าอยู่ มีวิวที่สวยงาม ดีไซน์ก็สวยงามด้วย ตึกนี้มีความหมายกับผมมาก ผมเติบโตที่เมือง Cerritos แคลิฟอร์เนีย ตอนอายุสิบสี่ปีใน ค.ศ. 1978 ศาลากลางของเมืองของผมเป็นศาลากลางแห่งแรกของโลกที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ มันอยู่ใกล้บ้าน ครอบครัวผมเลยเดินไปงานพิธีเปิดที่มีผู้ว่าฯ มาเปิดงาน ตอนนั้นเป็นเรื่องใหญ่มากที่คนเริ่มตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม และสี่สิบกว่าปีต่อมา ที่ทำงานของผมก็กำลังจะใช้พลังงานแสงอาทิตย์และเทคโนโลยีสีเขียวด้วยเหมือนกัน”

The NOX ตึกออฟฟิศใหม่ล้อมด้วยต้นไม้ในสถานทูตอเมริกา ที่สร้างจากแนวคิดเพื่อสิ่งแวดล้อม

จากนิวยอร์กสู่บางกอก

ทีมงานผู้ออกแบบตึกใหม่นี้คือ SHoP บริษัทสถาปนิกจากนิวยอร์กที่เคยทำงานออกแบบอาคารใหญ่หลากหลายรูปแบบมาแล้วใน 5 ทวีป มีชื่อเสียงเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ โจทย์ของพวกเขาคือการสร้างอาคารสำนักงานที่แข็งแรงทนทานต่อภัยพิบัติ ไม่ว่าพายุฝน น้ำท่วม ไปจนถึงเหตุก่อการร้ายต่างๆ งานนี้จึงลงทุนกับโครงสร้างเน้นความแข็งแรงทนทาน ใช้วัสดุก่อสร้างมาจากทั้งเมืองไทยและสหรัฐฯ ซึ่งทั้งหมดต้องผ่านมาตรฐานสหรัฐอเมริกา และทุ่มเทให้ระบบความปลอดภัยที่เข้มงวด โดย The NOX จะเป็นอาคารที่รองรับเจ้าหน้าที่กว่า 1,000 คน และใช้งานได้ยั่งยืนไปอีกอย่างน้อย 50 ปี 

“เราทำงานให้ฝ่ายสำนักปฏิบัติอาคารต่างประเทศ (Overseas Buildings Operations) หรือ OBO ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาในทั่วโลก แล้วเราก็ตระหนักดีว่าเราเป็นแขกในบ้านเมืองอื่น มรดกสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม และมิติต่างๆ ที่ส่งผลต่อสถาปัตยกรรมและสถานที่ จึงเป็นแรงบันดาลใจการออกแบบของเรา 

“กรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่ มีตึกสูงร่วมสมัยมากมายเหมือนเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก ซึ่งตึกกระจกเหล่านั้นไม่ได้แตกต่างกันมากนัก เป็นเรื่องไม่ยากที่จะสร้างตึกแบบนั้น แต่นั่นไม่ใช่ภารกิจของเราครับ หน้าที่ของเราคือสร้างตึกที่เป็นเครื่องหมายของมิตรภาพ ซึ่งต้องเป็นตึกที่ทนทาน ปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงแสดงออกคุณค่าของชาวอเมริกัน แสดงออกถึงผลงานของสถาปนิกและเทคโนโลยีวิศวกรรมอเมริกันด้วย 

“และเรายังใส่ใจกับบริบทรอบข้างเป็นพิเศษ คือความเป็นเมืองไทยและความเป็นกรุงเทพฯ ซึ่งมีวัฒนธรรมซับซ้อนปะปนมานับร้อยๆ ปี ทำให้กรุงเทพฯ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว พื้นที่และเป้าหมายภารกิจทำให้ที่นี่แตกต่าง” คริสโตเฟอร์อธิบายแนวคิดเบื้องหลังการออกแบบ

The NOX ตึกออฟฟิศใหม่ล้อมด้วยต้นไม้ในสถานทูตอเมริกา ที่สร้างจากแนวคิดเพื่อสิ่งแวดล้อม
คุยกับอุปทูตอเมริกา ไมเคิล ฮีธ และทีมสถาปนิกจากนิวยอร์ก ถึงการสร้างออฟฟิศใหม่เพื่อความยั่งยืนใจกลางถนนวิทยุ

 ก่อนตึกจะออกมารูปร่างหน้าตาแบบนี้ ทีมงาน SHoP เดินทางมาเมืองไทยราวๆ 7 ครั้งในเวลา 2 ปี เพื่อเก็บข้อมูลเมืองไทย กรุงเทพมหานคร และติดต่อประสานงานกับหน่วยงานท้องถิ่นต่างๆ เช่น ทีมสถาปนิก A49 

“เราใช้เวลาเดินทางและศึกษาสถาปัตยกรรมและมรดกวัฒนธรรมในเมืองและนอกเมือง ทั้งบ้านทรงไทย วัด ศาลา สถาปัตยกรรมล้านนา และเมืองหลวงเก่าอยุธยา วัตถุดิบ เครื่องตกแต่ง และสีสันที่รุ่มรวย เราศึกษาผ้าโบราณ กระเบื้อง ลวดลายพืชพรรณสัตว์ป่า ทำให้เราได้คิดถึงการผสมผสานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น และคิดว่าจะดึงภาพรูปทรง สีสัน ลวดลายที่เราเห็นเข้ามาในอาคารยังไง” นาดีนอธิบายเสริม

ทีมงานศึกษาดูงานสถาปัตยกรรมไทยจากที่ต่างๆ เช่น ปาร์คนายเลิศ พิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน และทำเนียบเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา พวกเขาชอบแนวคิดเรือนชานแบบไทยๆ ที่เชื่อมต่อพื้นที่ในบ้านอย่างชาญฉลาด ให้เป็นหนึ่งเดียวกับภูมิทัศน์ธรรมชาติข้างนอก ทั้งยังทำให้อากาศถ่ายเทหมุนเวียน เป็นวิธีการทำให้ผู้คนอยู่สบายในสภาพอากาศร้อนชื้นตลอดทั้งปี

The NOX

The NOX แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ 6 ชั้นแรกเป็นพื้นที่ส่วนกลาง เช่น โถง โรงอาหาร ห้องประชุม เป็นพื้นที่ที่เจ้าหน้าสถานเอกอัครราชทูตจำนวนมากใช้ร่วมกันกับสาธารณชน และชั้นบนจะเป็นส่วนออฟฟิศที่เป็นทาวเวอร์สูงขึ้นไป 

ชั้นล่างนี้เรียกว่าเป็น Village ที่ยืมไอเดียชานเรือนไทยมาดัดแปลงใช้งาน มีทางเดินกว้าง เพดานสูงโปร่ง เปิดสู่ภูมิทัศน์รอบข้าง 5 – 6 ชั้นแรกนี้จะสูงพอๆ กับสเกลต้นก้ามปูยักษ์ที่สูงราวๆ 20 เมตรที่อยู่รอบๆ และกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ส่วนออฟฟิศสูงขึ้นไปจากนั้นเป็นอาคาร 14 ชั้นที่จะอยู่ระนาบเดียวกับตึกสูงรอบๆ เขตปทุมวัน

คุยกับอุปทูตอเมริกา ไมเคิล ฮีธ และทีมสถาปนิกจากนิวยอร์ก ถึงการสร้างออฟฟิศใหม่เพื่อความยั่งยืนใจกลางถนนวิทยุ
คุยกับอุปทูตอเมริกา ไมเคิล ฮีธ และทีมสถาปนิกจากนิวยอร์ก ถึงการสร้างออฟฟิศใหม่เพื่อความยั่งยืนใจกลางถนนวิทยุ
คุยกับอุปทูตอเมริกา ไมเคิล ฮีธ และทีมสถาปนิกจากนิวยอร์ก ถึงการสร้างออฟฟิศใหม่เพื่อความยั่งยืนใจกลางถนนวิทยุ

“เรารู้สึกว่าอาคารนี้ไม่ควรเป็นอาคารกระจกที่เรียกร้องให้คนสนใจมันเพียงฝ่ายเดียว อาคารนี้ใหญ่มากนะครับ แต่เราก็อยากให้อาคารที่ออกมามีสเกลมนุษย์ เราสร้างตึกเพื่อมนุษย์ สัมพันธ์กับมนุษย์ และทำให้คนสัมพันธ์กัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อพนักงานทั้งชาวอเมริกันและชาวไทยที่ทำงานที่นี่ เลยออกแบบแท่งแผ่นอะลูมิเนียมเล็กๆ ห่อหุ้มรอบผนังกระจกของตัวอาคาร เพื่อสร้างร่มเงาให้อาคารเหมือนรั้วระเบียง แต่ขณะเดียวกันก็ยังมองเห็นวิว โดยไม่โดนแดดปะทะตรงๆ ในออฟฟิศ ซึ่งฟาซาดนี้จะลดอุณหภูมิตึกได้มาก และลดการทำงานของเครื่องปรับอากาศได้มากๆ เมื่อมองมาที่นี่คุณจะไม่เห็นตึกกระจก แต่เห็นพื้นที่เปิดกว้าง

“สีหนึ่งที่ผมเห็นจากเมืองไทยคือสีบรอนซ์ชุบเคลือบ (Anodized Bronze) เราทำฟาซาดสีนี้ ซึ่งจะมองว่าสว่างก็ได้ มืดก็ได้ สีสันของตึกจะเปลี่ยนไปตลอดวัน วันไหนฟ้ามีเมฆตึกก็หม่น วันไหนแดดจ้าสีก็จะสดใสอบอุ่น และเวลากลางคืนเราก็ออกแบบให้มันเรืองแสง สิ่งหนึ่งที่เราสังเกตเห็นในกรุงเทพฯ คือดราม่าและสีสันยามกลางคืน ตอนกลางคืนวัดส่องแสงสว่าง เราจับไอเดียว่าเมืองมีชีวิตในยามค่ำคืนด้วยออกมา 

คุยกับอุปทูตอเมริกา ไมเคิล ฮีธ และทีมสถาปนิกจากนิวยอร์ก ถึงการสร้างออฟฟิศใหม่เพื่อความยั่งยืนใจกลางถนนวิทยุ

“ในแง่การใส่ความเป็นอเมริกัน เราคิดว่าจะใช้เทคโนโลยีอย่างไรที่จะเก็บรักษาของดีเดิมให้มาอยู่ในตึกได้อย่างร่วมสมัยในศตวรรษนี้ แท่งอะลูมิเนียมรอบๆ ตึกใช้เทคนิคดิจิทัลสร้างทั้งหมด หยิบยืมรูปทรงและลวดลายของทั้งสองชาติมาใส่ไว้ และส่งไปที่เครื่องผลิตโดยตรง เทคโนโลยีอเมริกันมาช่วยให้การทำงานกับวัตถุดิบอย่างใกล้ชิดโดยตรงเกิดขึ้น เหมือนการทำงานของช่างงานคราฟต์ที่เกิดขึ้นมาแล้วเป็นร้อยๆ ปี

“ความท้าทายของอาคารนี้คือข้อกำหนดเรื่องความปลอดภัย และการออกแบบให้ตรงตามการใช้งานพื้นที่ สิ่งที่เราสนใจคือ ตึกนี้เป็นที่ทำงานของประชาชนคนอเมริกันและคนไทย ดังนั้น ต้องมีบรรยากาศของการอยู่ในประเทศอื่น และการอยู่ในประเทศตัวเอง ผสมผสานกัน” คริสโตเฟอร์อธิบายการดีไซน์อย่างชัดเจน

“โครงการนี้ซับซ้อนมาก โจทย์หลักๆ สามอย่างคือการเก็บรักษาสิ่งที่มีอยู่ ในพื้นที่มีต้นก้ามปูและทิวทัศน์สวยงามซึ่งต้องเก็บไว้ให้ใกล้ชิดและเป็นหนึ่งเดียวกับอาคาร อีกอย่างคือบรรจุทุกการใช้งานในตึกเดียว ให้ผู้ใช้งานทั้งพนักงานและผู้มาเยือนได้ประสบการณ์ที่ดี และสภาพภูมิอากาศที่เป็นความท้าทายใหญ่ที่สุด เพราะอากาศร้อนชื้น ฝนตกทั้งปี อาคารนี้ต้องทนทานต่อพายุฝน ใช้น้ำวนซ้ำ และต้องดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย” นาดีนกล่าวเสริม

คุยกับอุปทูตอเมริกา ไมเคิล ฮีธ และทีมสถาปนิกจากนิวยอร์ก ถึงการสร้างออฟฟิศใหม่เพื่อความยั่งยืนใจกลางถนนวิทยุ
คุยกับอุปทูตอเมริกา ไมเคิล ฮีธ และทีมสถาปนิกจากนิวยอร์ก ถึงการสร้างออฟฟิศใหม่เพื่อความยั่งยืนใจกลางถนนวิทยุ

“เราคิดว่า ‘คลอง’ เป็นคอนเซ็ปต์ที่เจ๋งมากในการรับมือกับพายุฝน และเวลาฝนไม่ตกก็ยังเป็นองค์ประกอบที่สวยงามมาก แต่ก็ยังไม่พอ เราต้องยกอาคารให้สูงเพื่อให้แน่ใจว่าถ้าฝนตกหนักมากๆ น้ำจะไม่ท่วม และหาวิธีจัดการระบายน้ำ ให้อากาศผ่านได้ด้วย” คริสโตเฟอร์แถมเรื่องการวางอาคารทั้งชุดบนแท่นสูงเหนือพื้นและคลองด้านล่าง ซึ่งสอดคล้องกับสถาปัตยกรรมล้านนา

สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปมากๆ และน่าจะทำให้คนไทยยิ้มกว้างคือแผนกกงสุล ต่อไปจะเข้าถึงง่ายขึ้นมาก อาคารใหม่นี้จะมีอาคารและทางเข้าส่วนของฝ่ายกงสุลโดยเฉพาะ พื้นที่รอขอวีซ่าจะได้รับการจัดการใหม่ ไม่ปะปนกับเจ้าหน้าที่ ไม่มีการต่อคิวยาวมาด้านนอก มีสวนที่เห็นวิวต้นไม้สวยงามให้เดินผ่านก่อนเดินเข้าล็อบบี้ การออกแบบนี้ผู้มาเยือนจะได้รับการปกป้องจากแสงแดดและฝนตั้งแต่ทางเข้า เป็นการออกแบบประสบการณ์การต้อนรับที่ดีขึ้นที่ทีมงานภูมิใจมาก

คุยกับอุปทูตอเมริกา ไมเคิล ฮีธ และทีมสถาปนิกจากนิวยอร์ก ถึงการสร้างออฟฟิศใหม่เพื่อความยั่งยืนใจกลางถนนวิทยุ

หนึ่งเดียวกับธรรมชาติ

“ตอนนาดีนกับผมมาเมืองไทยครั้งแรก สิ่งที่พวกเราประทับใจมากคือการเป็นหนึ่งเดียวกับระบบนิเวศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ขาดหายไปในหลายๆ เมืองของอเมริกา ผมรู้สึกว่าคอนเซ็ปต์การเข้าถึงธรรมชาติของคนไทยกับคนอเมริกันต่างกัน คนอเมริกันรู้สึกว่าตัวเราแปลกแยกจากธรรมชาติ หรือพยายามจะควบคุมธรรมชาติ ขณะที่คนไทยมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติมากกว่า 

“สวนลุมพินีเหมือนเซ็นทรัลพาร์กของเรา แต่มีผ้าเจ็ดสีพันรอบต้นไม้ ตามริมคลองก็มีต้นก้ามปู โรงแรมใกล้ๆ ก็มีต้นไม้ที่แผ่กิ่งก้านเข้ามา ทุกพื้นที่มีความเป็นป่าความเป็นธรรมชาติผสมกับความเป็นเมือง พลังงานแบบนี้ที่ทำให้เราตื่นเต้น ไม่ใช่ว่าเราไม่มีธรรมชาติ บ้านเรามีไคโยตี้ มีหนู แต่ธรรมชาติของไทยมันอยู่ร่วมทับซ้อนกันเป็นหนึ่งเดียวกับเมือง แถมยังมีนก งูยักษ์ ตัวเงินตัวทอง เมืองไทยมีความสัมพันธ์ของคนกับธรรมชาติที่ผมคิดว่าสวยงาม” 

คริสโตเฟอร์เล่าความประทับใจต่อพื้นที่สีเขียว หนึ่งในข้อกำหนดที่ทีมงานสถาปนิกหมายมั่นปั้นมือ คือการเก็บภูมิทัศน์ร่มรื่นและคลองที่มีแต่เดิมเอาไว้ รวมถึงศาลาไทยและศาลาเฉลิมพระเกียรติที่อยู่ในคลองด้วย

คุยกับอุปทูตอเมริกา ไมเคิล ฮีธ และทีมสถาปนิกจากนิวยอร์ก ถึงการสร้างออฟฟิศใหม่เพื่อความยั่งยืนใจกลางถนนวิทยุ
คุยกับอุปทูตอเมริกา ไมเคิล ฮีธ และทีมสถาปนิกจากนิวยอร์ก ถึงการสร้างออฟฟิศใหม่เพื่อความยั่งยืนใจกลางถนนวิทยุ

“ยิ่งมีโรคระบาด ชีวิตเรายิ่งต้องการต้นไม้ ต้องการพื้นที่สีเขียวมากขึ้น ผลวิจัยวิทยาศาสตร์ก็ชี้ว่าแค่มองเห็นต้นไม้ก็ทำให้อารมณ์ดีขึ้นได้ พืชพรรรณเหล่านี้ยังเติบโตเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ก็ส่งผลต่อคน ธรรมชาติคือหนึ่งในวัสดุสำคัญในโครงการนี้ครับ Faye Harwell นักออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมของเรา ออกแบบทางเดินที่เป็นเนินสูงขึ้นเป็นเกลียวขึ้นตึก เมื่ออาคารสร้างเสร็จ น่าจะสนุกถ้าได้ลองเดินในสวนแล้ววนขึ้นตึก ผ่านศาลาไทย เข้าไปในตึก เริ่มจากทางเข้ากงสุลแล้วเดินขึ้นไป” 

นาดีนรับช่วงอธิบายต่อ “เราอยากเก็บรักษาภูมิทัศน์สวยงามที่พนักงานคุ้นเคย และยังจะปลูกต้นไม้เพิ่มมากขึ้น เพราะต้นไม้ยังดูดซับน้ำฝนให้ด้วย พื้นที่นี้จะทำให้คนจากทั้งสองวัฒนธรรมต่างอยู่สบาย มี Public Space ทั้งในตึกและกลางแจ้ง ซึ่งช่วยทำให้คนใกล้ชิดธรรมชาติและสื่อสารกันมากขึ้น

“มีวิธีการหลายอย่างในการรับมือปัญหาสิ่งแวดล้อม งานนี้ไม่ใช่แค่การทำงานจากมุมมองของเราฝ่ายเดียว แต่ข้อกำหนดต่างๆ และแรงบันดาลใจจากเมืองไทย รวมถึงการเคารพสิ่งที่พื้นที่มีอยู่และมอบให้ ทำให้เราสร้างตึกที่ทนทาน ปลอดภัย และยั่งยืนขึ้นมาได้ ทั้งยังน่าอยู่ สวยงาม สง่างามทั้งกลางวันและกลางคืน” 

Green Working Space

คุยกับอุปทูตอเมริกา ไมเคิล ฮีธ และทีมสถาปนิกจากนิวยอร์ก ถึงการสร้างออฟฟิศใหม่เพื่อความยั่งยืนใจกลางถนนวิทยุ

สถานเอกอัครราชทูตอเมริกาได้ขึ้นทะเบียนเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ในธรรมชาติ หรือ Certified Wildlife Habitat กับสหพันธ์สัตว์ป่าแห่งชาติ (NWF) ในอเมริกา เพราะมีพื้นที่มีปัจจัยที่เป็นมิตรกับสัตว์ต่างๆ คือมีแหล่งอาหาร น้ำ พื้นที่หลบภัย และพื้นที่ให้สัตว์ได้เลี้ยงดูลูก ที่นี่จึงมีนกและปลาหลากหลายสายพันธุ์ รวมถึงงู เต่า และตัวเงินตัวทอง 

ความอุดมสมบูรณ์ที่มีเป็นทุนเดิม ยิ่งทำให้โครงการนี้มีเป้าหมายการก่อสร้างอาคารให้ได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมระดับ Silver ภายใต้มาตรฐาน Leadership in Energy and Environmental Design (LEED) และมีองค์ประกอบมากมายที่ออกแบบมาเพื่อให้อาคารมีความยั่งยืนยิ่งขึ้น 

เราอยู่ในศตรวรรษที่ 21 ที่วิกฤตสิ่งแวดล้อมเป็นวิกฤตอันดับหนึ่ง ถึงตอนนี้จะมีวิกฤตโควิด-19 ร่วมด้วย แต่วิกฤตที่เราจะเผชิญตลอดชีวิต ไปจนถึงรุ่นลูกหลานของเราคือปัญหาสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เราต้องพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายซึ่ง ก็คือการลดการปล่อยคาร์บอน ลดวิกฤตโลกร้อน” อุปทูตไมเคิลยืนยันเรื่องมาตรการสิ่งแวดล้อม 

คุยกับอุปทูตอเมริกา ไมเคิล ฮีธ และทีมสถาปนิกจากนิวยอร์ก ถึงการสร้างออฟฟิศใหม่เพื่อความยั่งยืนใจกลางถนนวิทยุ

“วัฒนธรรมสีเขียวของที่นี่ค่อนข้างแข็งแรง เรามีหน่วยงาน Greening Diplomacy Initiative (GDI) ที่สถานเอกอัครราชทูตอเมริกาทั่วโลกจะจัดการแข่งขันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกัน ว่าที่ไหนจะมีพื้นที่สีเขียว และลดการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่า สถานเอกอัครราชทูตอเมริกาในประเทศไทยชนะรางวัลมาแล้วสามครั้งในรอบแปดปี เราชอบแข่งขันมาก ทูตคนก่อนๆ ก็ชอบและใส่ใจการแข่งขันนี้ด้วย ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะเราแข่งกันทำเรื่องที่มีประโยชน์”

ท่านทูตเล่าว่าปัจจุบันอาคารในสถานเอกอัครราชทูตก็ลดใช้พลังงานแล้ว เช่น ใช้ไฟ LED ประหยัดพลังงาน รณรงค์ให้ทุกคนประหยัดไฟ ซึ่งทำให้ค่าไฟที่นี่ลดลงมา 12 เปอร์เซ็นต์ในรอบ 5 ปี เจ้าหน้าที่ต่างคนก็ต่างร่วมมือดูแลสิ่งแวดล้อมในแบบของตัวเอง เช่น เข้าร่วม World Car-Free Day และ World Cleanup Day ร่วมกันเก็บขยะพลาสติกในแม่น้ำเจ้าพระยา 

เมื่อประกอบกับการออกแบบและเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนจากสถาปนิก ออฟฟิศใหม่ของสถานเอกอัครราชทูตอเมริกาที่เราจะได้เห็นในอีก 4 ปีข้างหน้าจะเปี่ยมมาตรการเพื่อสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีสีเขียวอย่างแน่นอน

คุยกับอุปทูตอเมริกา ไมเคิล ฮีธ และทีมสถาปนิกจากนิวยอร์ก ถึงการสร้างออฟฟิศใหม่เพื่อความยั่งยืนใจกลางถนนวิทยุ

ภาพบางส่วน : สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา

ข้อมูลอ้างอิง

Th.usembassy.gov

OBO_Bangkok-Monograph_THAI_eBook.pdf

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล