“เรากำลังทำภารกิจเพื่อพิสูจน์ว่า การอาศัยอยู่ในบ้านพื้นที่เล็ก ๆ ไม่ใช่ความจำเป็นเท่านั้น แต่เป็นทางเลือกที่สนุกและน่าตื่นเต้น”

Colin Chee พูดเรื่องนี้ไว้ในบทสัมภาษณ์กับ Medium 

เขาเริ่มทำช่อง Never Too Small เมื่อ 4 ปีก่อนเป็นโปรเจกต์ส่วนตัว ในเวลาเดียวกันก็ทำงานประจำตำแหน่ง Video Editor ที่ New Mac Video Agency ในเมืองเมลเบิร์น 

ไอเดียตั้งต้นนั้นง่ายและไม่ซับซ้อน เพราะเพิ่งย้ายเข้าอพาร์ตเมนต์ขนาด 37 ตารางเมตร (เทียบเท่ากับที่จอดรถ 4 – 5 คัน ตามคำบอกเล่า) ได้หมาด ๆ เขาจึงชอบดูคอนเทนต์เกี่ยวกับการออกแบบบ้านหรืออพาร์ตเมนต์ขนาดเล็ก

“คอนเทนต์แบบนี้มีไม่มาก แต่พอมี ดูแล้วก็รู้สึกว่าตัวเองถ่ายได้ดีกว่านั้น” เขาเล่าด้วยเสียงหัวเราะ

Never Too Small รายการยูทูบพาทัวร์คอนโดสวยทั่วโลก แก้ปัญหาที่อยู่จิ๋วผ่านดีไซน์ฉลาด
Never Too Small รายการยูทูบพาทัวร์คอนโดสวยทั่วโลก แก้ปัญหาที่อยู่จิ๋วผ่านดีไซน์ฉลาด
ภาพ : Jourdain Apartment

Never Too Small เลือกเล่าเรื่องการจัดการที่อยู่อาศัยขนาดเล็กซึ่งแก้ปัญหาผ่านการออกแบบ ลบภาพจำของ American Dream ที่ต้องมีบ้านหลังใหญ่ มีสวนหลังบ้าน และนำเสนอทางเลือกการใช้ชีวิตอีกแบบหนึ่ง ซึ่งตัวเขาเองคุ้นเคยกับวัฒนธรรมการอยู่อาศัยหลากหลาย เพราะย้ายที่อยู่มาแล้วหลายที่ จากเกิดที่มาเลเซีย เคยใช้ช่วงวันหยุดในวัยเด็กกับญาติที่หาดใหญ่ ก่อนจะย้ายมาอยู่ออสเตรเลียจนปัจจุบัน

สำหรับคอลิน นี่เป็นเป็นมากกว่ารายการยูทูบ แต่เป็นช่องทางให้เขาได้ไปเจอกับสถาปนิกและนักออกแบบ ได้เรียนรู้จากพวกเขาเพื่อกลับมาทำให้อพาร์ตเมนต์ 37 ตารางเมตรของตัวเองน่าอยู่ยิ่งขึ้น

4 ปีผ่านไป จากคนติดตามหลักร้อย เป็นหลักแสน และกำลังจะแตะ 2 ล้านในเร็ว ๆ นี้ 

จากทีมงานคนเดียวคือคอลิน กลายเป็นธุรกิจสื่อที่มีพนักงาน 7 คน และมีเครือข่ายช่างภาพอยู่ในหลายประเทศ

จากบ้านและอพาร์ตเมนต์ดีไซน์ดีแค่ในออสเตรเลียก็ขยายเป็นทั่วโลก ตั้งแต่ฮ่องกง อิตาลี ฝรั่งเศส ไปจนถึงบัวโนสไอเรส

Never Too Small รายการยูทูบพาทัวร์คอนโดสวยทั่วโลก แก้ปัญหาที่อยู่จิ๋วผ่านดีไซน์ฉลาด
ภาพ : Jourdain Apartment

จากโปรเจกต์เล็ก ๆ ที่ได้แรงบันดาลใจจากห้องเล็ก ๆ ของตัวเอง วันนี้ Never Too Small เลือกพูดประเด็นที่ใหญ่ขึ้น เช่น เรื่อง Urban Planning พื้นที่สาธารณะ และความยั่งยืน เพราะการเลือกอยู่อาศัยในพื้นที่เล็ก ๆ คือการใช้ทรัพยากรที่น้อยกว่า ซึ่งหมายความว่าเราจะทิ้ง Footprint ไว้บนโลกนี้น้อยลง

เราขอให้คอลินพาทัวร์บ้านผ่าน Zoom บ้านขนาด 37 ตารางเมตรที่เขาอยู่มาตั้งแต่วันแรกที่ธุรกิจริเริ่ม เขาอวดชั้นวางใหม่ที่ต่อเองในช่วง Work from Home แล้วบทสนทนาก็ไหลไปเรื่อย ๆ

First Ten Episodes

เรื่องนี้คนทำสื่อคงรู้ดี ไม่ว่าจะเป็นคอลัมน์ รายการวิทยุ รายการโทรทัศน์ หรือรายการพอดแคสต์ 10 ตอนแรกคือการชี้เป็นชี้ตายว่าจะรอดหรือร่วง

คอลินส่งอีเมลไปหา 10 คน มีแค่คนเดียวที่ตอบกลับมา เมื่อได้ 4 ตอนแรกแล้ว เขาส่งอีเมลต่อไปยังสื่อต่าง ๆ สื่อที่ทำให้รายการกลายเป็นไวรัลคือ Tree Hugger ในประเทศแคนาดา

“ผมลงสี่ตอนแรกในยูทูบแล้วทิ้งระยะไว้เกือบครึ่งปี คิดว่าไม่มีใครดูหรอก ยังไม่มีคนรู้จักเรา แต่ก็ลองส่งไปหาสื่อต่าง ๆ บอกว่านี่เป็นดีไซน์ใหม่จากเมลเบิร์น ยังไม่เคยลงที่ไหนมาก่อน ถ้าคุณสนใจเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ สามารถใช้วิดีโอของเราประกอบได้เลย”

ผ่านไปปีกว่า ผู้ติดตามเพิ่มขึ้นเป็นหลักแสน 

เมื่อโปรเจกต์เดี่ยวประสบความสำเร็จ James McPherson เจ้านายของคอลินในตอนนั้นจึงลงทุนให้เขาแยกออกมาทำ Never Too Small อย่างเต็มตัว โดยสามารถใช้ทรัพยากรร่วมกับ New Mac Video Agency และแชร์พื้นที่ออฟฟิศด้วยกัน 

Never Too Small รายการยูทูบพาทัวร์คอนโดสวยทั่วโลก แก้ปัญหาที่อยู่จิ๋วผ่านดีไซน์ฉลาด
ภาพ : El Camarin

Small Living Concept

คอนเทนต์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยขนาดเล็กได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะตอบโจทย์คนยุคใหม่ที่กำลังเจอกับปัญหาราคาอสังหาริมทรัพย์สูงลิ่ว

ยกตัวอย่างเช่น เมลเบิร์นที่ติด 1 ใน 10 ของเมืองที่แพงที่สุดในโลก การคิดเรื่องซื้ออพาร์ตเมนต์เป็นของตัวเองแทบเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับบัณฑิตจบใหม่หรือคนที่เพิ่งเริ่มทำงาน

อพาร์ตเมนต์ขนาด 2 – 3 ห้องนอนเมื่อหลายปีก่อน ราคาอยู่ที่ประมาณ 7 แสนดอลลาร์ออสเตรเลีย (หรือประมาณ 17 ล้านบาท) ทางเดียวที่คนหนุ่มสาวจะเป็นเจ้าของอสังหาฯ ได้ คือต้องซื้อขนาดเล็กลง หรือไม่ก็อยู่นอกตัวเมือง

คอลินเล่าย้อนกลับไปช่วงก่อนปี 1990 ที่ตัวเมืองมีไว้สำหรับกิจการทางธุรกิจ ไม่มีบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ถึงเรียกกันรวม ๆ ว่า CBD ซึ่งย่อมาจาก Central Business District จนมาปี 1990 รัฐบาลออสเตรเลียมีนโยบายให้คนย้ายกลับเข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้น จึงเริ่มรีโนเวตตึกเก่าให้เป็นอพาร์ตเมนต์ จนปัจจุบันในตัวเมืองเมลเบิร์นมีอพาร์ตเมนต์มากกว่า 20,000 แห่ง เช่นเดียวกับเทรนด์ที่อยู่อาศัยในเมืองใหญ่ ๆ อย่างลอนดอน นิวยอร์ก และเซี่ยงไฮ้ ที่ผู้คนเลือกจะอยู่ในเมืองมากขึ้น

Small Living จึงเปลี่ยนความจำเป็นให้เป็นทางเลือกในวิถีชีวิตที่ตอบโจทย์ 2 ข้อใหญ่

ข้อแรก เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ตัวเอง

Never Too Small รายการยูทูบพาทัวร์คอนโดสวยทั่วโลก แก้ปัญหาที่อยู่จิ๋วผ่านดีไซน์ฉลาด
ภาพ : El Camarin

“ถ้ามีคนให้เงินผมสองล้าน แล้วบอกให้ไปอยู่บ้านใหญ่ชานเมือง ผมคงไม่ไป แต่ถ้าไปถามแม่ผม เขาต้องตอบว่าไปแน่นอน เขาอยากมีบ้านในสวน จะได้ปลูกทุเรียน ปลูกมะละกอ 

“ผมอยากมีชีวิตที่ตื่นมาตอนเช้าวันอาทิตย์ก็สามารถเดินไปร้านอาหารเช้า ทานมื้อสายกับเพื่อน แล้วค่อยนั่งแทรมฟรีไปดูนิทรรศการช่วงบ่าย ตอนกลางคืนอาจไปดูหนังหรือละครเวที แล้วจบวันด้วยบาร์บีคิวเกาหลี ดื่มจนเมา แล้วค่อยเดินกลับบ้าน เดินนะ ไม่ใช่ขับรถ นั่นคือวิถีชีวิตที่ผมชอบ ซึ่งแตกต่างกันไปตามเงื่อนไขชีวิตแต่ละคน

“ถ้าคุณมีลูกห้าคน ผมคงไม่บอกให้คุณอยู่บ้านหลังเล็กเพื่อความยั่งยืน เพราะทุกคนไม่มีความสุข นั่นก็ไม่ยั่งยืนแล้ว แต่ห้องสตูดิโอขนาดสามสิบเจ็ดตารางเมตรนั้นสะดวกสบายและเพียงพอสำหรับผม พาร์ตเนอร์ และหมาอีกตัว มันไม่มีไอเดียไหนที่จะเหมาะกับคนทุกคน”

ข้อสอง เพื่อลดการใช้ทรัพยากร ทิ้ง Footprint บนโลกให้น้อยลง 

“ปัญหาในออสเตรเลียคือการออกแบบอพาร์ตเมนต์ ถ้าออกแบบได้ดี คุณภาพชีวิตก็ดีไปด้วย แต่เรายังมีอพาร์ตเมนต์ที่ออกแบบลวก ๆ ทั้งแคบและไม่ยืดหยุ่น และมักมาพร้อมเฟอร์นิเจอร์เบื้องต้น ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการ เช่น มีเคาน์เตอร์ครัวมาให้ แต่เราไม่ได้ต้องการครัวใหญ่ขนาดนั้น หรืออย่างห้องผม ตอนแรกปูพรมใหม่เอี่ยมมา แต่ผมแพ้พรม ใช้แล้วคัน ก็ต้องรื้อออกแล้วเปลี่ยนเป็นพื้นไม้ทั้งหมด พรมที่ให้มาก็เสียเปล่า มันเปลืองทรัพยากรโดยใช่เหตุ แทนที่จะขายด้วยราคาถูกกว่าสำหรับคนที่ไม่ต้องการสิ่งเหล่านี้

“ผมรู้จักเพื่อนบ้านทั้งชั้นบนชั้นล่าง ช่วงล็อกดาวน์เราแอบเล่นเกมมาจองด้วยกัน เดี๋ยวจบสัมภาษณ์นี้ผมมีนัดกับเพื่อนบ้านชั้นบน วันนี้เป็นตาเธอทำอาหาร ส่วนเพื่อนบ้านห้องติดกันเป็นหมอที่ผมให้ยืมบันไดตลอด เขาจะได้ไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องเปลืองทรัพยากร ห้องเรามีอะไรขาดเหลือก็ยืมเขา”

สิ่งที่ Never Too Small ต้องการสื่อสารจึงไม่ใช่ชวนกันมาอยู่บ้านเล็ก ๆ แต่เป็นการนำเสนอไอเดียให้อยู่กับสิ่งที่มีอย่างมีความสุข หยิบจับเทคนิคการออกแบบมาทำให้พื้นที่เล็ก ๆ น่ารักและน่าอยู่ 

Never Too Small รายการยูทูบพาทัวร์คอนโดสวยทั่วโลก แก้ปัญหาที่อยู่จิ๋วผ่านดีไซน์ฉลาด
Never Too Small รายการยูทูบพาทัวร์คอนโดสวยทั่วโลก แก้ปัญหาที่อยู่จิ๋วผ่านดีไซน์ฉลาด
ภาพ : El Camarin

How Small is Small?

แต่ ‘เล็ก’ แค่ไหนถึงเรียกว่าเล็ก – เราถาม

เขาถึงกับหัวเราะ 

“บางคนบอกว่าห้าสิบตารางเมตรคือเล็ก อีกคนบอกห้าตารางเมตรต่างหากที่เล็ก ผมว่าชื่อ Never Too Small คือสปิริต คือการมองโลกด้านบวกว่าไม่มีอะไรเล็กเกินไปหรอก เหมือนกับสำนวนที่บอกว่า Never give up until you broke and died.

“สำหรับคนอเมริกัน เจ็ดสิบห้าตารางเมตรถือว่าเล็กมาก แต่ใหญ่สำหรับคนออสเตรเลียน หรือถ้าไปถามคนฮ่องกง ก็จะบอกว่าอพาร์ตเมนต์ห้องสตูดิโอของผมใหญ่แล้ว มันขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมและประเทศที่คุณอยู่ด้วย”

Never Too Small จึงเป็นไอเดียมากกว่าเป็นขนาด เขาตั้งใจตั้งแต่วันแรกว่าจะให้มันเป็นพื้นที่ที่คนจะแวะเวียนมาเมื่อคิดถึง Small Living

“ก่อนหน้านี้มีคนดูมาขอบคุณที่เราทำคอนเทนต์แบบนี้ออกมา แล้วเล่าว่าทีแรกเขาและภรรยากำลังคิดจะย้ายไปอยู่บ้านที่ใหญ่ขึ้นนอกเมือง แต่พอได้รู้จักรายการของเรา พวกเขาเลยลองตกแต่งบ้านใหม่ ซื้อเฟอร์นิเจอร์บางชิ้น ทำชั้นเก็บของเล่นให้ลูก จนสุดท้ายตัดสินใจอยู่ในเมืองต่อ เพราะตอนนี้บ้านน่าอยู่ขึ้น ไม่คับแคบเหมือนแต่ก่อนแล้ว”

บ้านที่เล็กที่สุดที่พวกเขา เคยถ่ายทำคือ 19 ตารางเมตร ในประเทศอิตาลี

Never Too Small รายการยูทูบพาทัวร์คอนโดสวยทั่วโลก แก้ปัญหาที่อยู่จิ๋วผ่านดีไซน์ฉลาด
ภาพ : El Camarin

To Curate, Not Collect

ตอนเริ่มทำธุรกิจ คอลินสัญญากับตัวเองว่า จะทำรายการเกี่ยวกับการออกแบบบ้านอันดับต้น ๆ และจะไม่ยอมให้น้อยไปกว่านั้น ทุกอย่างต้องคัดสรรอย่างพิถีพิถัน (Curate) ไม่ใช่แค่เลือก (Collect) มาให้ผ่านไป

บ้านในช่วงแรกมาจากเว็บไซต์และนิตยสารสถาปัตยกรรม Pinterest, Instagram และ Facebook เมื่อเจอที่ถูกใจ คอลินจะอีเมลติดต่อไป จน Never Too Small เป็นที่รู้จักมากขึ้น ก็เริ่มมีคนส่งเรื่องมาเสนอให้ บวกกับที่เขาตัดสินใจจ้าง Researcher พาร์ตไทม์มาหาข้อมูลในด้านต่าง ๆ สัปดาห์ละ 4 ชั่วโมง

ช่วงโควิด-19 ทำให้ทีมงานเดินทางไปถ่ายทำไม่ได้ คอลินจึงแก้ปัญหาด้วยการหาช่างภาพวิดีโอตามเมืองต่าง ๆ แล้ววางแผนการถ่ายทำอย่างละเอียด

“วิธีการทำงานคือ เราจะส่งอีเมลคำถามไปให้สถาปนิกในประเทศต่าง ๆ ถ้าเขาตอบมาแล้วมีตรงไหนที่เราไม่เข้าใจ เราจะโทรหาเขาเป็น Pre-interview พร้อมขอแปลนอพาร์ตเมนต์มาแล้วจดเลยว่า กล้องจะอยู่ตรงไหนบ้าง แต่ละจุดจะเขียนอย่างละเอียด เช่น กล้องหนึ่ง เลนส์มุมกว้าง ถ่ายสิ่งนี้ ๆ เวลาที่ช่างวิดีโอเห็นสิ่งนี้ เขาจะเห็นภาพเลยว่าต้องถ่ายยังไง 

“เรามีช่างภาพอยู่ทั่วโลก แต่ละคนมีสไตล์ไม่เหมือนกัน เราก็มีเรื่องที่อยากเล่า สิ่งที่ต้องทำคือใช้เวลาวางแผนเยอะหน่อย ผมเขียนละเอียดมาก ๆ จนถึงกับบอกเลยว่า มุมนี้ให้แขกเปิดตู้แล้วเดินออกฉากไป”

หลายครั้ง พวกเขาเลือกใช้เวลาในการถ่ายนานกว่าเพื่อให้ได้ช็อตที่ดีที่สุด เช่น รอให้แทรมเคลื่อนตัวผ่านตึก ทั้งยังให้ความสำคัญกับเสียงบรรยากาศ เพราะเชื่อว่าถ้ามีแค่ภาพกับดนตรี คนดูจะไม่รู้สึกว่าตัวเองอยู่ตรงนั้น

The Good Team

“ทีมเราคนไม่เยอะ เลยเหมือนเพื่อนมาทำงานด้วยกัน”

ทุกครั้งที่พูดถึงทีมงาน จะมีรอยยิ้มปรากฏบนหน้าของคอลินเสมอ

Never Too Small ค่อย ๆ โตขึ้นจากคนคนเดียวเป็น 7 คน และล่าสุดเพิ่งรับสมัครอีก 2 ตำแหน่ง แม้จะอยู่ในช่วงวิกฤต และออสเตรเลียมีนโยบายล็อกดาวน์ โพสต์รับสมัครงานของบริษัทนี้กลับได้รับความสนใจอย่างมากจากคนทั่วโลก แม้จะประกาศคุณสมบัติอย่างชัดเจนว่า ต้องมีใบอนุญาตทำงานในออสเตรเลียเท่านั้น

รายการยูทูบจากเมลเบิร์น เล่าเรื่องที่อยู่อาศัยขนาดเล็ก พื้นที่สาธารณะ และการวางแผนผังเมืองเพื่อความยั่งยืน

คอลินไม่ดู CV ตอนคัดเลือก เพราะอาจทำให้เขาเกิดอคติ เขาตัดสินจากผลงานที่ส่งมาโดยไม่สนใจว่าคนคนนั้นจะเรียบจบอะไรมา หรือเคยทำงานที่ไหนมาก่อน เพราะวันที่ตั้งตัว ไม่มีใครในวงการรู้จักเขา แต่จำผลงานได้ สถาปนิกบางคนยังคิดว่าเขาเป็นแค่ช่างภาพ เลยมักโดนถามตลอดว่า ‘คุณทำงานกับ Never Too Small มานานหรือยัง’

ส่วนเขาก็เพิ่งรู้ว่า Content Creator คนล่าสุดที่รับเข้ามาทำงานพูดภาษาญี่ปุ่นได้ตอนหลังนี่เอง

“ทีมงานผมส่วนใหญ่เราทำงานกันมานาน เรารู้จักกันดี รู้จักครอบครัวกันและกัน ทุกคนมีจุดแข็งของตัวเอง อย่างผมไม่ค่อยสันทัดเรื่องธุรกิจ เป็นแนวอยากเปลี่ยนแปลงโลกเหมือนมิสยูนิเวิร์ส ก็เลยต้องมีเจมส์คอยดูแลเรื่องนั้นแทน ส่วน Lindsay (Lindsay Bernard) จะเป็นนักวางแผน คอยดูแลให้ทุกอย่างเป็นไปตามตาราง ขณะที่ผมจะศิลปินมากกว่า เราต่างสร้างสมดุลให้กันและกัน เพราะพื้นที่แห่งนี้ไม่ใช่แค่เรื่องศิลปะ มันมีเรื่องธุรกิจและการทำงาน อยู่ด้วย”

เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้น เป็นธรรมดาที่ทีมงานข้างหลังต้องขยับขยาย คอลินพยายามจะไม่ก้าวกระโดดเร็วเกินไปเพราะ 2 เหตุผล

รายการยูทูบจากเมลเบิร์น เล่าเรื่องที่อยู่อาศัยขนาดเล็ก พื้นที่สาธารณะ และการวางแผนผังเมืองเพื่อความยั่งยืน

หนึ่ง อยากให้ลักษณะการทำงานใกล้ชิด สบาย ๆ ไม่มีเวลาทำงานที่ตายตัว แต่ทุก ๆ เช้าจะมีประชุมย่อยที่เรียกว่า Standup เพื่ออัปเดตงานที่ทำเสร็จแล้วเมื่อวาน พร้อมแจกแจงงานที่จะทำในวันนี้ ใครอยากพาหมามาทำงาน หรือจะเลิกงานบ่าย 2 โมงก็ได้ ตราบใดที่งานที่ได้รับมอบหมายมีคุณภาพ เพราะเชื่อว่าการปล่อยให้แต่ละคนมีพื้นที่ใช้จินตนาการ จะทำให้เกิดงานสร้างสรรค์ที่ดีได้

สอง คอลินมองว่าวิดีโอคืองานศิลปะ ค่าจ้างที่สมน้ำสมเนื้อคือการให้เกียรติศิลปินคนนั้น ๆ แม้ว่าเขาจะเป็นพนักงานฟรีแลนซ์ก็ตาม การขยายทีมอย่างรวดเร็วอาจทำให้บริษัทมีปัญหาด้านการเงิน จนไม่สามารถจ่ายเงินเดือนพนักงานได้อย่างที่เขาตั้งใจไว้ 

“เราต้องจ่ายเงินให้สมกับคุณภาพงานที่เราต้องการจากเขา และเขาต้องรู้สึกภูมิใจในสิ่งที่ทำ” ผู้ก่อตั้งคนนี้เน้นย้ำ “ผมไม่ใช่นักธุรกิจที่เก่งนัก”

Not Just about Money

กลุ่มผู้ชมส่วนใหญ่มีอายุตั้งแต่ 25 – 45 ปีจากทั่วโลก เพราะคอนเทนต์เป็นภาษาอังกฤษ 70 เปอร์เซ็นต์คือคนที่กำลังหาบ้านหลังแรกและมองหาแรงบันดาลใจ

รายได้ที่มีมาตั้งแต่วันแรกเริ่มมาจากช่องยูทูบ ซึ่งเพียงพอสำหรับคนเดียวในตอนนั้น แต่เมื่อทีมงานเพิ่มขึ้น จึงต้องมีโมเดลการหารายได้ใหม่ ๆ ตั้งแต่สปอนเซอร์ในวิดีโอ การขอทุน ทำงานร่วมกับแบรนด์ใหญ่ ๆ และเร็ว ๆ นี้คือการทำหนังสือ Never Too Small: Reimagining Small Space Living

รายการยูทูบจากเมลเบิร์น เล่าเรื่องที่อยู่อาศัยขนาดเล็ก พื้นที่สาธารณะ และการวางแผนผังเมืองเพื่อความยั่งยืน

“คอนเทนต์เกี่ยวกับดีไซน์ค่อนข้าง Evergreen เราเลยมีคนดูเรื่อย ๆ แม้จะเป็นตอนเก่า ๆ ยอดวิวน่าจะประมาณร้อยยี่สิบล้านต่อเดือน”

การเลือกลูกค้าในการทำงานด้วยเป็นเรื่องสำคัญสำหรับสื่อทุกรูปแบบ คอลินมีหลักการเลือกลูกค้าที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้ศูนย์เสียความเป็นแบรนด์ของตัวเอง ขณะเดียวกันก็นึกถึงจิตใจคนดูรายการไปด้วย

“เราจะเลือกแบรนด์ที่เกี่ยวกับสิ่งที่เราทำ และเป็นสิ่งที่เราใช้ เราเชื่อ สปอนเซอร์ของเราล่าสุดคือเกมการออกแบบภายใน ซึ่งผมเล่นจริง ๆ” เขาหัวเราะ “หรือก่อนหน้านี้เราทำสารคดีสั้นร่วมกับ Airbnb แต่หลายเจ้าเราก็ปฎิเสธ บางโครงการต้องการให้เรารีวิวห้องตัวอย่าง ซึ่งไม่ใช่แนวทางของเรา ลูกค้าบางคนขอโฆษณาสินค้าตอนต้นรายการ บางรายขอตอนกลาง แต่ผมต้องการให้อยู่ตอนท้าย เพราะรายการเราเป็นเหมือนหลุมหลบภัย ดนตรีช้า ๆ ภาพสวย ๆ เหมือนการเดินทางที่ไปได้ครึ่งทางก็เจอโฆษณา ผมว่ามันไม่ค่อยน่ารักต่อคนดูเท่าไหร่ จนผู้อำนวยการฝ่ายโฆษณาต้องบอกตลอดว่า จะหาเงินจากไหนมาจ่ายพนักงาน”

เขาย้ำอีกครั้ง “ผมอาจจะไม่ใช่นักธุรกิจที่เก่งเท่าไหร่”

รายการยูทูบจากเมลเบิร์น เล่าเรื่องที่อยู่อาศัยขนาดเล็ก พื้นที่สาธารณะ และการวางแผนผังเมืองเพื่อความยั่งยืน

The Bigger Plan

วันนี้ เป้าหมายของ Never Too Small ใหญ่ขึ้นกว่าเก่า ขยายจากการให้แรงบันดาลใจในการปรับเปลี่ยนบ้านขนาดเล็กของตัวเอง เป็นการพูดถึงพื้นที่สาธารณะที่ใช้ร่วมกัน ไปจนถึงการจัดการผังเมือง

ขยายช่องทางการสื่อสารจากรายการยูทูบเป็นหนังสือ และมีแพลนจะทำรายการทีวีเกี่ยวกับการรีโนเวตที่อยู่อาศัยขนาดเล็กในปีหน้า โดยเลือกคนอย่างคู่รักวัยรุ่น คนวัยเกษียณที่ชอบอยู่ในเมือง แม่เลี้ยงเดี่ยว คนพิการ แล้วเชิญนักออกแบบมาดีไซน์พื้นที่ให้เหมาะสม

ในอนาคต พวกเขาวางแผนอยากให้ความรู้ผู้คนมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น จัดคอร์สเรียนหรือเวิร์กชอปเกี่ยวกับการออกแบบพื้นฐาน หรือการใช้โปรแกรมดีไซน์ในราคาไม่แพง 

สำหรับคอลินและทีม การอยู่อาศัยในพื้นที่ขนาดเล็กจึงไม่ใช่เทรนด์ที่เข้ามาแล้วจากไป แต่เป็นความจำเป็นและเส้นทางที่นำไปสู่การพัฒนาเมืองให้ดีขึ้น

“ภายในปี 2050 เจ็ดในสิบของประชากรโลกจะย้ายเข้ามาอยู่ในตัวเมืองมากขึ้น นั่นคือเหตุผลที่ Small Space Living เป็นเรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญในการขยายตัวเมืองออกไป

“ความเป็นเมืองมีมาเป็นพันปีตั้งแต่ Civilisation เมืองใหญ่ๆ เช่น ลอนดอน ก็ประสบวิกฤตการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่ในช่วงไม่เกินสองร้อยปี คร่าชีวิตคนไปมหาศาล คนจำนวนมากย้ายออกไปชนบท แต่บางส่วนก็ย้ายกลับมา เพราะมนุษย์ยังต้องการไลฟ์สไตล์ที่ได้เจอผู้คนอยู่

“หลายคนบอกว่าคนจะเจอกันน้อยลงหลังจากนี้ เพราะเทคโนโลยีช่วยให้คนใกล้ขึ้นได้แล้ว แต่ผมว่าไม่จริงทีเดียว สุดท้ายเราอยากเจอคน เราอยากเชคแฮนด์ นั่งพูดคุย ทำความรู้จัก ดื่มกาแฟด้วยกัน ถ้าวันหนึ่งผมได้ไปกรุงเทพฯ ก็อยากเจอพวกคุณเหมือนกัน ประสบการณ์มันเทียบกันไม่ได้”

การรื้ออาคารเก่าเพื่อพัฒนาอาคารใหม่ทำให้เกิดขยะ 1 ใน 3 ทั่วโลก เป็นเหตุผลที่ Never Too Small มุ่งเป้าไปที่การรีโนเวตตึกเก่าให้เป็นอพาร์ตเมนต์เล็ก ๆ แทนการรื้อและสร้างใหม่ เวลาสัมภาษณ์สถาปนิกจึงเน้นประเด็นเรื่องการนำทรัพยากรต่าง ๆ กลับมาใช้ พร้อมกับชวนให้คนเห็นข้อดีของการรักษาตึกเก่า ซึ่งเป็นเสมือนเอกลักษณ์ของเมืองเอาไว้

“ถ้ามีแต่ตึกรูปแบบใหม่ ทุกเมืองคงหน้าตาเหมือนกันหมด” 

รายการยูทูบจากเมลเบิร์น เล่าเรื่องที่อยู่อาศัยขนาดเล็ก พื้นที่สาธารณะ และการวางแผนผังเมืองเพื่อความยั่งยืน
รายการยูทูบจากเมลเบิร์น เล่าเรื่องที่อยู่อาศัยขนาดเล็ก พื้นที่สาธารณะ และการวางแผนผังเมืองเพื่อความยั่งยืน
ภาพ : Tree House Apartment

Best Business Lesson

“ผมเตรียมคำตอบไว้นะ นี่เป็นคำถามที่ยากที่สุดในลิสต์” คอลินผู้ออกตัวว่าไม่ชำนาญด้านธุรกิจตลอดบทสนทนาตอบแบบนั้น

Never Too Small ประสบความสำเร็จทั้งทางธุรกิจและเป้าหมายทางสังคม มีทีมที่สนุกและภูมิใจกับงานที่ทำให้ผู้คนเห็นว่า ชีวิตที่ดีไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามแบบแผนเหมือนที่เห็นในโฆษณาอสังหาริมทรัพย์เสมอ เป็นแรงบันดาลใจให้เราเห็นคุณค่าของทรัพยากร และช่องทางที่จะลดการใช้ทรัพยากรเหล่านั้น

“ธุรกิจเรายังไม่เจออุปสรรคใหญ่ ๆ เพราะอายุยังน้อย ก่อนหน้านี้ผมเคยเป็นพนักงานประจำและทำร้านอาหารกับเพื่อนไปด้วย สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ เมื่อธุรกิจค่อย ๆ ใหญ่ขึ้น เรามักจะโฟกัสที่การเติบโตอย่างเดียว โดยไม่ได้เตรียมคนให้พร้อม สิ่งสำคัญคือทีมของคุณคือหน้าตาของธุรกิจ พวกเขาไม่ได้ทำงานให้คุณ แต่จะเป็นคนที่ยืนอยู่ข้าง ๆ คุณในวันที่เจอความยากลำบาก”

ตอนธุรกิจเจอกับวิกฤตโควิด-19 พนักงานทุกคนอาสาให้บริษัทลดเงินเดือน 20 เปอร์เซ็นต์ เพราะอยากให้ธุรกิจอยู่รอด สิ่งที่มีค่าสำหรับคอลินมากที่สุดคือ การที่บริษัทมีพนักงานที่อยู่ด้วยกันมานานกว่า 5 ปี เว้นแต่ว่าคนคนนั้นมีเป้าหมายใหม่หรืออยากไปทดลองด้านอื่น แต่มันจะเป็นความล้มเหลวทันที หากเขาจากไปเพราะงานที่เยอะเกิน หรือรู้สึกว่าบริษัทไม่เห็นคุณค่าในตัวเขา

“การเติบโตของธุรกิจก็ดีอยู่หรอก แต่ความสัมพันธ์กับผู้คนเป็นเรื่องสำคัญมากในธุรกิจของเรา ผมจึงไม่อยากให้เราโตเร็วเกินไปจนรับมือไม่ทัน”

ความสำเร็จของของธุรกิจนี้ไม่ใช่ยอดเข้าชมหรือจำนวนลูกค้าที่ติดต่อเข้ามา เพราะยกให้ความสุขและความภาคภูมิใจของพนักงานเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก ๆ ค่าตอบแทนที่เหมาะสมคือสิ่งที่องค์กรนี้ยึดมั่น ความรับผิดชอบต่อผู้ชมในการนำเสนอเนื้อหาที่มีประโยชน์ ไปจนถึงการเป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ในการพัฒนาเมืองสำหรับอนาคต

Never Too Small อาจไม่ได้ถูกต้องตามตำราธุรกิจ แต่เป็นตัวอย่างของบริษัทเล็ก ๆ ที่คิดการณ์ใหญ่ เริ่มต้นด้วยเจตนารมณ์ที่ดีและเห็นคุณค่าของผู้คน จนวันนี้มียอดผู้ติดตาม 1.9 ล้าน เป็นแรงบันดาลใจจนมีคนอยากร่วมงานด้วยจากทั่วโลก 

“แต่ก็นั่นแหละ ผมอาจจะไม่ใช่นักธุรกิจที่เก่งเท่าไหร่” คอลินยังย้ำเหมือนเดิม แต่เราไม่คิดแบบนั้น

Lessons Learned

  • หาเป้าหมายที่ไกลกว่าการทำธุรกิจ ค้นหาว่าธุรกิจตัวเองสามารถขับเคลื่อนสิ่งนั้นได้อย่างไร 
  • การเติบโตเป็นเรื่องสำคัญ แต่การเติบโตที่เร็วเกินไปโดยไม่ได้มีการเตรียมพร้อมล่วงหน้า อาจกลายเป็นจุดอ่อนของธุรกิจ ซึ่งจะทำให้ไม่ประสบความสำเร็จได้
  • เห็นคุณค่าของผู้คนที่ทำงานด้วย มอบคำชมและค่าตอบแทนที่เหมาะสมเพื่อแสดงความขอบคุณ และให้เกียรติในงานที่เขาทำ

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน