ก่อนอื่น ขอความร่วมมือปิดเครื่องมือสื่อสารและงดใช้เสียงระหว่างรับชม

เดิมทีเราตั้งใจจะเล่นใหญ่ เปิดบทความด้วยการแห่กลองยาวให้สมความดีใจที่ Netflix ชวน The Cloud ไปเยี่ยมชมกองถ่ายละครชุดเรื่องล่าสุด ซึ่งเป็น Original Netflix เรื่องแรกของเกาหลี

พล็อตเรื่องซอมบี้ของเกาหลีอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ซอมบี้เกาหลีในยุคโชซอนใส่ฮันบกนี่สิน่าสนใจ

นอกจากเยี่ยมชมกองถ่าย ปะทะไหล่กินข้าวกองกับผู้กำกับ นักเขียน และทีมงานแล้ว ยังถือโอกาสนี้พูดคุยกับทีมงานและนักแสดง ถึงวิธีคิดและทำงานเบื้องหลังละครฟอร์มยักษ์แห่งปี

เบื้องหลัง Kingdom, Netflix

จากบางส่วนของบันทึกแห่งราชวงศ์โชซอน ในรัชสมัยของพระเจ้าซุนโจ (พ.ศ. 2343 – 2377) เมื่อ 500 ปีก่อน ความว่า

In the fall, a mysterious disease began to spread from the west, and 10 days, tens of thousands of people died in Hanyang” 

ในฤดูใบไม้ร่วง, โรคระบาดที่ไม่อาจทราบสาเหตุ ซึ่งแพร่มาจากภาคตะวันตกของเมือง คร่าชีวิตผู้คนในเมืองฮันยาง (ชื่อเดิมของเกาหลี) ร่วมหมื่นคนในเวลา 10 วัน 

จุดประกายให้ คิมอึนฮี นักเขียนบทคนดังของเกาหลีจากเรื่อง Signal (2016) และ Three Days (2014) ต่อยอดเป็นเว็บตูนเรื่อง Land of the Gods (2011) ก่อนดัดแปลงเป็นบทละครชุดฟอร์มยักษ์แห่งปีเรื่อง Kingdom ซึ่งเป็น Original Netflix เรื่องแรกของเกาหลี ใช้ทุนในการสร้างตอนละ 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ละครและภาพยนตร์ ผลงานการกำกับของ คิมซองฮุน ผู้กำกับภาพยนตร์สายภาพสวยโหดจากเรื่อง The Tunnel (2016) และ A Hard Day (2014)

โดยละครชุดจำนวน 6 ตอนจบนี้ออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 มกราคมพร้อมกันทั่วโลก เรื่องราวเล่าถึงซอมบี้ในยุคโชซอน (ค.ศ. 1319 – 1910) และการสืบหาความจริงเกี่ยวกับโรคระบาดและเชื้อร้ายที่กัดกินร่างคนตาย ขององค์ชายรัชทายาทผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏจากปริศนาการสิ้นพระชนม์ของพระราชา เพื่อช่วยเหลือประชาชนและอาณาจักรจากเหตุการณ์ประหลาดนี้ เรื่องราวทั้งหมดจึงเกิดขึ้น

เบื้องหลัง Kingdom, Netflix
เบื้องหลัง Kingdom, Netflix
เบื้องหลัง Kingdom, Netflix

สิ่งที่น่าสนใจภายใต้เรื่องย่อขนาด 3 บรรทัดนี้คือ เรื่องของซอมบี้ที่ร่วมสมัยกับละครย้อนยุคเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร

“ในอดีตเรามักจะได้ยินเรื่องโรคระบาดที่คร่าชีวิตผู้คนมากมายโดยไม่ทราบสาเหตุ เราก็คิดต่อ เชื่อมโยงกับจินตนาการและหาเหตุผลที่น่าจะเป็นไปได้ เช่น หากซอมบี้คือสาเหตุของการตายโดยไม่ทราบสาเหตุนั้นเรื่องราวจะเป็นอย่างไร” คุณคิมอึนฮีเล่าถึงที่มาของพล็อตเรื่องซึ่งเธอตั้งใจสื่อสารความเศร้าของบ้านเมืองที่เกิดจากระบบอันไม่มีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดความลำบากและยากแค้น ความหิวโหยและอดสู โดยใช้แรงบันดาลใจจากหนังสือ ภาพยนตร์ ละคร ที่ดูมาทั้งชีวิต

ในฐานะผู้กำกับศิลป์ที่รับหน้าที่สร้างสรรค์องค์ประกอบฉากและสิ่งแวดล้อมให้ออกมาเหมือนจริงมากที่สุด ลีกุกฮยอน เล่าวิธีการทำงานให้ฟังว่า เขาเริ่มจากศึกษาบทพร้อมคิดหาเหตุและผลของตัวละครและเรื่องราว ตั้งสมมติฐานจากจินตนาการผสมสารคดีเรื่องประวัติศาสตร์เพื่อศึกษาลักษณะทางกายภาพของคนในอดีต ซึ่งนอกจากการย้อนดูละครย้อนยุคของเกาหลีกว่าร้อยเรื่อง ลีกุกฮยอนเล่าว่า เขาใช้ข้อมูลอ้างอิงจากหนังสือในห้องสมุดและเลือกที่จะใช้เวลาส่วนใหญ่เดินชมพิพิธภัณฑ์เพื่อทำงานนี้ให้ดีที่สุด เช่นเดียวกับการยืนยันว่าจะใช้สถานที่จริงในการถ่ายทำเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งต่างจากละครทั่วไปที่ถ่ายทำในโรงถ่าย

เบื้องหลัง Kingdom, Netflix
เบื้องหลัง Kingdom, Netflix
เบื้องหลัง Kingdom, Netflix

สำหรับการทำงานของฝ่ายเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ควอนเฮจิน หัวหน้าทีมออกแบบ เล่าให้ฟังว่า เธอไม่ได้สนใจหรือยึดติดรูปลักษณ์ภายนอกของซอมบี้มากไปกว่าการศึกษาและทำความเข้าใจตัวละคร ก่อนที่เขาหรือเธอผู้ที่ครั้งหนึ่งเป็นมนุษย์มีจิตใจ มีชีวิตชีวา และร่างกายแข็งแรง จะค่อยๆ กลายร่าง เพราะซอมบี้จะไม่เปลี่ยนเสื้อผ้า ก่อนตาย ใส่ชุดไหนก็จะใส่ชุดนั้นทั้งเรื่อง

นอกจากนี้ เรามักจะเห็นสีชุดฮันบกองค์ชายรัชทายาทเมื่อออกมาเที่ยวเล่นเยี่ยงสามัญชนแตกต่างจากตอนเข้าเฝ้าพระมเหสี ทีมออกแบบเล่าเหตุและผลของการใช้สีบนเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายให้ฟังว่าเป็นผลมาจากชนชั้นที่แตกต่างกันในสังคม นั่นคือสามัญชนคนทั่วไปจะใช้เพียงสีน้ำตาลหรือสีขาว ขณะที่พระราชาเมื่ออยู่ในพระราชวังจะใช้เครื่องแต่งกายสีแดงและทอง รวมถึงวัสดุที่แตกต่างกันอย่างผ้าไหมและผ้าฝ้าย

เบื้องหลัง Kingdom, Netflix
เบื้องหลัง Kingdom, Netflix

จากนั้น มาฟังการทำงานของทีมนักแสดง ซึ่งนำทีมโดยองค์ชายรัชทายาท รับบทโดย จูจีฮุน จาก Along with the Gods, Dark Figure of Crime และ Princess Hours แบดูนา นักแสดงสาวชาวเกาหลีที่ร่วมงานกับฮอลลีวูดมามากมาย เช่น Sense8 และ Cloud Atlas ในบทโซบี รยูซึงรยอน จาก Miracle at Cell No. 7  คิมซางโฮ จาก The Beauty Inside และ The Happy Life ฮโยจุนโฮ จาก Jumong และ จยอนซอกโอ จาก The Good Wife ซึ่งทุกคนตัดสินใจเข้าร่วมโปรเจกต์นี้เพราะชอบพล็อตเรื่องและต่างเป็นแฟนคลับของนักเขียนและผู้กำกับ

เบื้องหลัง Kingdom, Netflix

เมื่อถามถึงสิ่งที่ยากและการเตรียมตัวสำหรับละครเรื่องนี้ แบดูนาเป็นตัวแทนเล่าว่า นอกจากทำความเข้าใจตัวละคร เธอและทีมนักแสดงต้องเตรียมร่างกายให้พร้อม เพราะอากาศที่หนาวเย็นจากการถ่ายทำนอกสถานที่ รวมถึงการใช้สำเนียงโบราณในเรื่อง ซึ่งต่างจากการทำงานในละครเรื่องก่อนหน้าที่เธอต้องเรียนศิลปะการต่อสู้กว่า 7 เดือน

Cut! ระหว่างรอผู้กำกับและนักแสดงเช็กความเรียบร้อยผ่านจอมอนิเตอร์ และพักเตรียมพร้อมรอเข้าฉากต่อไป พวกเราใช้เวลาสั้นๆ นี้หลบกล้องแฝงตัวในสถานที่ถ่ายทำ ซึ่งเป็นบ้านหลังจริงของเสนาบดีในยุคนั้น

เบื้องหลัง Kingdom, Netflix
เบื้องหลัง Kingdom, Netflix
เบื้องหลัง Kingdom, Netflix

“ก่อนเดินเข้ามา เราเห็นกล้องเลนส์ยาวๆ ตั้งอยู่บนภูเขาเพื่อเก็บภาพกว้างด้วย” แพรวา-ณิชาภัทร ฉัตรชัยพลรัตน์ ชี้ชวนพวกเราให้หันมองตาม เช่นเดียวกับ หน่อง-ธนา และ ภัทร ฉัตรบริรักษ์ สองนักแสดงหนุ่มผู้ร่วมทริปที่หันมาบอกเราด้วยสีน้ำเสียงตื่นเต้นว่าคิวนักแสดงประกอบเขาเยอะมากแค่ไหน

จากนั้น ไปดูจอมอนิเตอร์แบบเรียลทามที่จัดแยกออกมาอยู่ด้านนอกกองถ่าย ซึ่งไม่เพียงมุมมองจากกล้องถ่ายภาพยนตร์ที่แสดงผลผ่านจอจะชวนเราให้ตื่นเต้นตาม การแบ่งปันประสบการณ์จากมุมมองโปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ และนักเขียนบทละครชุด ของ ปิง-เกรียงไกร วชิรธรรมพร ยังช่วยให้เรามองการทำงานเบื้องหลังกองถ่ายละครเปลี่ยนไป

เบื้องหลัง Kingdom, Netflix

“วิธีคิดในการทำงานของ Kingdom มีความคราฟต์ไม่ต่างจากงานภาพยนตร์ นั่นคือ ขณะที่ละครไทยถ่ายทำวันละยี่สิบซีน การถ่ายทำภาพยนตร์จะใช้เวลาถ่ายเพียงสองถึงสี่ซีนต่อวันเท่านั้น” ปิงเล่าเปรียบเทียบการทำงานของ 2 ประเทศ

ระหว่างที่เห็น Break Down ของกองถ่าย ปิงและนักแสดงผู้ร่วมทริปของเราก็ยิงคำถามถึงสตอรี่บอร์ดและขั้นตอนการทำงานที่ละเอียดยิบแบบนี้ โดยเบรกดาวน์สุดแสนจะละเอียดนี้เหมือนกันกับที่ใช้ในงานภาพยนตร์โฆษณา ซึ่งไม่ใช่วิธีทำงานปกติของละครเกาหลี หรือแม้แต่เป็นเพราะชื่อเสียงเรื่องคุณภาพของ Netflix แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเจ้าใหญ่ของโลก แต่เป็นเพราะทีมงานส่วนใหญ่มีประสบการณ์ในการทำงานภาพยนตร์ และทุกคนมีเป้าหมายร่วมกันที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในละครเกาหลี รวมถึงการลงทุนมหาศาลของ Netflix ในขั้นกระบวนการผลิต

แม้ Kingdom จะเป็นละครย้อนยุคที่พล็อตเรื่องแปลกไปจากที่คุ้นเคย แต่เชื่อว่าคนไทยอย่างเราก็อินตามไปด้วยได้ เพราะเต็มไปด้วยองค์ประกอบที่คนไทยน่าจะชอบ ทั้งเรื่องสืบสวนสอบสวน ปมชิงบัลลังก์กันในราชสำนัก ความหรูหราสวยงามของพระราชวัง ความเป็นมนุษย์ ความเหลื่อมล้ำในสังคม ยิ่งรวมกับเรื่องซอมบี้ที่ร่วมสมัยสุดๆ ก็ทำให้อดใจรอไม่ไหว

เบื้องหลัง Kingdom, Netflix
เบื้องหลัง Kingdom, Netflix
เบื้องหลัง Kingdom, Netflix

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ