เริ่มต้นที่ท่านปู่ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ละกัน

นักธรรมชาติวิทยาระดับตำนาน บิดาแห่งวิวัฒนาการ ผู้ค้นพบกระบวนการธรรมชาติที่คัดสรรให้กำเนิดความสารพัดสารพันของสิ่งมีชีวิต นักคิดผู้เบิกเนตรและเปลี่ยนแปลงมุมมองของมนุษยชาติไปตลอดกาล

วิวัฒนาการหม้อข้าวหม้อแกงลิง จากพืชกินแมลง สู่หม้อเปิบพิสดารที่ไม่ได้กินแค่มดธรรมดา

นั่นคือภาพจำที่คนทั่วไปมักมีต่อปูชนียบุคคลเครางามท่านนี้

แต่จริง ๆ แล้ว คุณชาร์ลส์ ดาร์วิน ยังมีอีกมุมที่เป็นคนบ้างานอดิเรกมาก ๆ ด้วย

ในปี 1859 หลังจากบ่ม กรำ เคี่ยว และอู้ จากการส่งต้นฉบับหนังสือเล่มสำคัญนานเป็นสิบ ๆ ปี ในที่สุดคุณชาร์ลส์ ดาร์วิน ก็ได้ตีพิมพ์ผลงานสะท้านโลกอย่าง On the Origin of Species ออกสู่สาธารณะ (รู้สึกโล่งแทน) หลังจากนั้น แกก็ใช้เวลาฟินและหมกมุ่นอย่างเต็มที่แบบเช้าจรดค่ำ อยู่กับงานอดิเรกใหม่ซึ่งเพิ่งจะตกหลุมรักหมาด ๆ นั่นก็คือการเลี้ยงพืชกินแมลง

ถ้าไปอ่านบันทึกและจดหมายต่าง ๆ ของแกในยุค 1860 จะเต็มไปด้วยถ้อยคำพรรณนาถึงความฟินในการเลี้ยงน้องหยาดหรือหยาดน้ำค้าง (Sundews) พืชกินแมลงที่ดักจับเหยื่อด้วยหยดน้ำเหนียว ๆ ตรงปลายขน

วิวัฒนาการหม้อข้าวหม้อแกงลิง จากพืชกินแมลง สู่หม้อเปิบพิสดารที่ไม่ได้กินแค่มดธรรมดา
ภาพจากหนังสือพืชกินแมลงของชาร์ลส์ ดาร์วิน

ต่อจากนี้เป็นตัวอย่างคำของคุณดาร์วินที่ผมอ่านเจอจากหนังสือ Darwin’s Most Wonderful Plants

ข้าพเจ้า ‘เพลิดเพลินไม่รู้จบ’ (แกใช้คำว่า infinitely amused) กับการปลูกและทำการทดลองในต้นหยาดน้ำค้าง ข้าพเจ้าเฝ้าแต่ศึกษาหยาดน้ำค้าง ‘เหมือนคนบ้า (working like a madman)’

สมัยก่อนหน้านั้นสัก 10 กว่าปี แกเคยหมกมุ่นศึกษาเพรียงแล้วเรียกพวกมันว่า ‘เหล่าเพรียงที่รักของข้าพเจ้า (my beloved barnacles)’ แต่มายุคนี้แกเบื่อหน้าเพรียงแล้ว เปลี่ยนเป็น ‘หยาดน้ำค้างที่รักของข้าพเจ้า (my beloved Drosera)’ แทน ในจดหมายฉบับหนึ่งแกเขียนว่า “ณ นาทีนี้ ข้าพเจ้าสนใจเรื่องหยาดน้ำค้างมากกว่าเรื่องกำเนิดสายพันธุ์ทั้งหมดบนโลกเสียอีก” “โอ้หยาดน้ำค้างเอ๋ย ข้าจะรักเจ้าอย่างเหนียวแน่นจนวันตาย”

ความรักในพืชกินแมลงของปู่ดาร์วินนั้นลากยาวต่อมาเป็นทศวรรษ และช่วงหลังยังลามต่อไปถึงสายพันธุ์อื่น ๆ ด้วย ในปี 1874 แกเขียนบันทึกถึง 1 วันเต็ม ๆ ที่นั่งศึกษาสาหร่ายข้าวเหนียว (Utricularia) ซึ่งเป็นพืชกินแมลงอีกกลุ่มว่า “ในชีวิตของข้าพเจ้า ไม่เคยมีวันไหนทำงานแล้วมีความสุขเท่าวันนี้เลย” ให้ตายเถอะ จะฟินไปถึงไหน ถัดจากสาหร่ายข้าวเหนียว แกก็ยังลามต่อไปกาบหอยแครง และบรรยายถึงการงับด้วยกาบจับแมลงของมันไว้ว่า “ช่างเป็นการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วและแข็งแกร่ง ควรได้รับชื่อว่าเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลก”

ผมดีใจมากที่คุณชาร์ลส์ ดาร์วิน หลงใหลในพืชกินแมลงขนาดนี้ เพราะผมเองก็ชอบและปลูกไว้เต็มบ้านเหมือนกัน โดยไม่ได้รู้มาก่อนด้วยว่าเป็นไม้กลุ่มโปรดของท่านปู่ เพิ่งมารู้ไม่นานนี้เองและแอบตัวลอยเล็กน้อยเมื่อพบว่าตนเองบังเอิญมีรสนิยมตรงกับปู่ อย่างไรก็ตาม ความฟินของผมไปได้ไม่สุด เพราะพืชกินแมลงที่ผมชอบเลี้ยงหลัก ๆ คือหม้อข้าวหม้อแกงลิง (Nepenthes) ซึ่งปู่ชาร์ลส์ ดาร์วิน แทบไม่ได้เขียนอะไรถึงพวกนี้ไว้เลย นอกจากบอกว่ามันมีน้ำย่อยในหม้อที่ย่อยแมลงได้

แอบเซ็งเล็กน้อยที่ไม่ได้เห็นปู่ดาร์วินเขียนเรียก โอ้ ‘หม้อที่รักของข้าพเจ้า’ แต่ก็เข้าใจได้ เพราะหม้อเป็นพืชเขตร้อนชื้นที่เลี้ยงยากพอสมควร โดยเฉพาะถ้าปลูกในภูมิอากาศแบบอังกฤษ ปู่อาจเคยพยายามเลี้ยงแล้วไม่รอดเลยถอดใจ แม้ปู่จะไม่ได้เลี้ยงเอง แต่ก็ยังเขียนจดหมายไปถามถึงหม้อที่เพื่อน (คุณโจเซฟ ฮุกเกอร์) ปลูกไว้ในกรีนเฮาส์ของสวนพฤกษศาสตร์คิวแห่งสหราชอาณาจักรอยู่เป็นระยะ ๆ

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะบอกว่า แม้ปู่จะไม่มีโอกาสได้สัมผัสหม้อมากระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ดวงวิญญาณของปู่จะต้องฟินมากแน่ ๆ หากรู้ว่าในช่วง 150 ปีที่ผ่านมา เหล่านักชีววิทยารุ่นหลังได้ค้นพบอะไรที่น่ามหัศจรรย์เกี่ยวกับหม้อบ้าง พืชกลุ่มนี้เป็นแหล่งรวมตัวอย่างการปรับตัวทางวิวัฒนาการที่เจ๋ง ๆ ทั้งนั้น ไหนจะหม้อที่เปลี่ยนตัวเองเป็นกระโถน หม้อที่ประกอบอาชีพเสริมเปิดโรงแรมให้ค้างคาวมาเช่า หม้อที่กลายเป็นหมู่บ้านมดชาวประมง หม้อที่กลายเป็นไหหมักกิมจิ และอื่น ๆ อีกมากมาย เดี๋ยวผมจะเล่ารายละเอียดเพิ่มเติม

ในทางวิวัฒนาการ อวัยวะใดที่เกิดขึ้นมาแล้ว พอกระจายไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างหลากหลาย มันจะค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนดัดแปลงไป กลายเป็นเครื่องมือที่เหมาะกับสิ่งแวดล้อมนั้น ๆ เช่น กระดูกมือของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่กลายเป็นทั้งปีกค้างคาว อุ้งตีนหมี ครีบพะยูน และอื่น ๆ อีกมากมาย กรณีของหม้อก็เช่นกัน มันเริ่มจากเบสิก ถังใส่น้ำมีผนังลื่น แมลงตกลงไปก็ขึ้นมาไม่ได้ หม้อก็ย่อยและดูดซึมไปเป็นปุ๋ยไนโตรเจนให้ตัวเอง ซึ่งจากเบสิกนี้มันผันแปรไปได้อีกสารพัด ที่สำคัญคือแม้วงการวิทยาศาสตร์จะรู้จักและวิจัยหม้อมาเป็นร้อย ๆ ปีแล้ว แต่เราก็ยังค้นพบตัวอย่างใหม่ ๆ อยู่เรื่อย ๆ

ล่าสุดเมื่อเดือนที่ผ่านมานี้ มีรายงานการค้นพบ ‘หม้อใต้ดิน’

เพื่อนในอินเทอร์เน็ตที่รู้ว่าผมบ้าหม้อ กดส่งลิงก์ข่าวนี้มาให้ผมอ่านกันอย่างกระหน่ำ จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผมเริ่มคิดเขียนบทความนี้

หม้อใต้ดินเป็นหม้อชนิดใหม่ที่มีชื่อว่า Nepenthes pudica โดยคำหลังที่เป็นนามสกุล (พูดิกา) มีความหมายว่า ‘เหนียมอาย’ ก็คืออายจนมุดลงดิน (พืชอีกชนิดหนึ่งที่ได้สมญานี้คือไมยราบ Mimosa pudica ซึ่งอันนั้นก็เหนียมอายเหมือนกัน แต่อายแบบแตะแล้วม้วนต้วน)

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2012 คณะวิจัยจากมหาวิทยาลัย Palacký University Olomouc แห่งสาธารณรัฐเช็ก ชวนกันไปสำรวจป่าบนภูเขาแห่งหนึ่งที่จังหวัดกาลีมันตัน เกาะบอร์เนียว ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างเดินสำรวจ สิ่งหนึ่งที่สะดุดสายตาทีมวิจัยในตอนนั้นก็คือ พวกเขาเจอต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงหลายต้นที่ไม่มีหม้อเลย แต่ดูจากลักษณะใบแล้วใช่หม้อแน่ ๆ

ตอนแรกทีมวิจัยสันนิษฐานว่า บนภูเขาความสูงระดับ 1,100 – 1,300 เมตร มีอากาศเย็น แมลงก็อาจจะมีน้อย บางทีหม้อพันธุ์นี้อาจวิวัฒนาการเลิกประกอบอาชีพดักแมลงไปแล้วก็ได้ เพราะผลิตหม้อไปก็ไม่คุ้ม ซึ่งก็ถือว่าเป็นสมมติฐานที่น่าคิดดี จนกระทั่งหนึ่งในสมาชิกคณะสำรวจ คุณ Ľuboš Majeský ได้พยายามถ่ายรูปต้นหม้อดังกล่าวใกล้ ๆ แล้วเผลอซุ่มซ่ามไปก่ายหรือเหยียบชั้นมอสส์ที่ปกคลุมโคนมันอยู่จนยุบพรวดลงไป ซึ่งเอ้า! ปรากฏว่าเผยให้เห็นหม้อจำนวนมากเรียงสลอนอยู่ในโพรงใต้ดิน

วิวัฒนาการหม้อข้าวหม้อแกงลิง จากพืชกินแมลง สู่หม้อเปิบพิสดารที่ไม่ได้กินแค่มดธรรมดา
Nepenthes pudica กับหม้อเหนียมอายที่ซ่อนอยู่ใต้ดิน
ภาพ : งานวิจัย phytokeys.pensoft.net/article/82872/

หม้อใต้ดินเหล่านี้มีรูปทรงเหมือนแจกันสีแดงเลือดหมู แต่ละใบขนาดยาวประมาณ 10 กว่าเซนติเมตร และมีจำนวนยุ่บยั่บดกดื่นมาก จังหวะที่ค้นพบนี้คงเป็นจังหวะยูเรก้าพอสมควรสำหรับทีมวิจัย หลังจากกรี๊ดกร๊าดกันเสร็จ พวกเขาก็ลองเช็กหม้อต้นอื่น ๆ ในบริเวณนั้นดู ปรากฏว่าเจอหม้ออีกมากมายที่ฝังอยู่ใต้ดินในลักษณะเดียวกัน แสดงว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญแล้ว

เมื่อสังเกตอย่างละเอียดยิ่งขึ้น ทีมวิจัยพบว่าหม้อใต้ดินเหล่านี้ล้วนงอกออกมาจากลำต้นและใบสีขาว ๆ ซีด ๆ ซึ่งก็ถูกกลบฝังอยู่ใต้ดินเช่นกัน ในรายงานวิจัยบอกว่า หม้อพันธุ์นี้อาจมีวิวัฒนาการยอดพิเศษสำหรับงอกลงดินโดยเฉพาะ คือยอดหลักที่งอกขึ้นฟ้าก็งอกไป แต่ยอดที่มุดดินน่าจะมีกลไกของฮอร์โมนที่พาหนีแสงแทนที่จะชูเข้าหาแสง ใบใต้ดินมีจุดสังเกตคือลดรูปเหลือเล็กลีบกระจึ๋งเดียวและมีสีขาวจั๊วะ เพราะไม่จำเป็นต้องสร้างคลอโรฟิลล์มาสังเคราะห์แสงอีกต่อไป แต่ขณะเดียวกันหม้อที่งอกจากใบเหล่านั้นกลับเป็นหม้อที่พัฒนาดีตามปกติ ทั้งยังมีผนังหนากว่าหม้อทั่วไปด้วย เพราะต้องแหวกดินในระหว่างที่มันป่องโตขึ้นมา ลงทุนขนาดนี้ทำให้น่าสงสัยมากว่าพวกมันมีหม้อไว้ดักจับอะไรกันนะ

ทีมวิจัยเก็บตัวอย่างมา 5 หม้อ แล้ววิเคราะห์ดูคอนเทนต์ที่อยู่ภายในอย่างละเอียด ก็พบว่าเหยื่อที่หม้อใต้ดินเหล่านั้นจับได้ส่วนใหญ่คือมด โดยมีด้วงกับสัตว์ตัวจิ๋วอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ใต้ดินปะปนมาบ้างนิดหน่อย และที่น่าสนใจคือ มีพวกลูกน้ำยุงอาศัยอยู่ในหม้อแบบเป็น ๆ โดยไม่ถูกย่อยด้วย นี่เป็นปรากฏการณ์ที่พบได้บ่อยในหม้อหลายสายพันธุ์อยู่แล้ว แต่กรณีนี้น่าสนใจมากว่ายุงมุดลงไปวางไข่ในน้ำของหม้อที่อยู่ใต้ดินได้ยังไงกันฟะ (Life finds a way คิดแล้วรู้สึกเกลียดยุงยิ่งกว่าเก่า)

สรุปแล้ว หม้อที่มุดลงดินน่าจะเป็นวิวัฒนาการของการปรับตัวตามสภาพแวดล้อมบนเขาสูง ซึ่งในดินมีแมลงให้จับมากกว่าในอากาศ (ใต้ดินน่าจะมีอุณหภูมิและความชื้นเหมาะสมกว่า) ถือเป็นการปรับตัวที่แยบยล ซึ่งถ้าท่านปู่ดาร์วินได้มาเห็นก็น่าจะชื่นชอบใช้ได้ แต่ผมว่าปู่ต้องฟินยิ่งกว่านี้อีกถ้าได้รู้จักหม้อกระโถน

Nepenthes lowii ชื่อเล่นสั้น ๆ ว่าน้องโลวี่ เป็นหม้ออีกสายพันธุ์ที่ต้องเผชิญโจทย์การอยู่รอดบนภูเขาสูงซึ่งแมลงไม่ค่อยชุกชุม แต่แทนที่มันจะวิวัฒนาการมุดลงดินไปล่ามดแบบเหนียม ๆ มันกลับใช้วิธีห้อยหม้อใหญ่ ๆ เด่น ๆ แล้วเปลี่ยนหม้อเป็นส้วมสาธารณะเสียเลย

วิวัฒนาการหม้อข้าวหม้อแกงลิง จากพืชกินแมลง สู่หม้อเปิบพิสดารที่ไม่ได้กินแค่มดธรรมดา
Nepenthes lowii หม้อที่วิวัฒนาการเป็นโถส้วมให้กับกระแต
ภาพ : photos.chienclee.com/

ทุก ๆ เช้า กระแตแถวนั้นจะแวะเวียนมาที่หม้อ เพราะฝาหม้อจะผลิตผลึกน้ำตาลหวาน ๆ กลิ่นฟรุตตี้ออกมาเรียกลูกค้า ระหว่างที่กระแตนั่งเลียฝาหม้อและอ่านข่าวจากมือถือ ตูดของมันจะอยู่ในตำแหน่งหย่อนอุนจิตุ๋ม ๆๆ ลงหม้อได้พอดี บางแหล่งบอกว่าของหวานที่หม้อปรุงให้กระแตกินนั้นมียาถ่ายปนอยู่ด้วย ที่แน่ ๆ รูปทรงของหม้อน้องโลวี่นี้วิวัฒนาการจนกลายเป็นโถส้วมจริง ๆ ไปแล้ว ไหนจะขอบโถที่กว้างกระชับรับสัดส่วน ถังพักคอนเทนต์ที่มีน้ำรองรับ และรูที่คอดเป็นคอห่านเพื่อป้องกันการตกส้วม ให้คุณกระแตได้นั่งปลดทุกข์อย่างปลอดภัยและมั่นใจ เริ่มต้นวันใหม่อย่างสดใสเอร็ดอร่อย จะขาดก็แค่ที่กดชักโครกกับสายฉีดตูดเท่านั้น

วิวัฒนาการหม้อข้าวหม้อแกงลิง จากพืชกินแมลง สู่หม้อเปิบพิสดารที่ไม่ได้กินแค่มดธรรมดา
หม้อทรงโถส้วมพันธุ์ Nepenthes Lowii
ภาพ : www.facebook.com/californiacarnivores/

ในทางนิเวศวิทยา นี่ถือเป็นการแลกเปลี่ยนกันที่แฟร์มาก หม้อผลิตน้ำตาลได้ไม่ยากจากกระบวนการสังเคราะห์แสงตามปกติ แต่ปุ๋ยไนโตรเจนเป็นปัจจัยที่จำกัดสำหรับมัน ส่วนกระแตวิ่งไล่จับแมลงกินเอาไนโตรเจนได้ไม่ยาก แต่น้ำตาลที่ให้พลังงานเป็นปัจจัยที่จำกัดสำหรับมัน เมื่อเจอพาร์ตเนอร์ที่เหมาะสมกันขนาดนี้ หม้อโลวี่ก็เลยวิวัฒนาการเปลี่ยนอาชีพจากพืชกินแมลงกลายเป็นพืชกินขี้อย่างเต็มตัว

งานวิจัยพบว่ากว่าครึ่งถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ของไนโตรเจนที่โลวี่ใช้ในการเติบโต ได้มาจากขี้กระแตนั่นเอง และโครงสร้างที่หม้อทั่วไปมีในโลวี่ก็ลดรูปหายไปหมดแล้ว เช่น ปากหยัก ๆ แหลม ๆ เอาไว้กันแมลงปีนออก เหมือนพอเปลี่ยนอาชีพ เครื่องมือเก่า ๆ ก็ถูกโละทิ้ง

อาชีพพืชกินขี้ถือว่าฮิตพอสมควรบนเขาโคตา คินาบาลู เพราะยังมีหม้ออีกชนิดที่ผันตัวมาเข้าวงการนี้เหมือนกัน ชื่อว่าน้องราจา (Nepenthes rajah) ซึ่งเป็นหนึ่งในหม้อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และบางใบใหญ่เกือบเท่าหม้อหุงข้าวจริง ๆ วิธีกินขี้ของราจาต่างจากโลวี่เล็กน้อย คือแทนที่จะเป็นส้วมลอยฟ้า หน้าตาอย่างกับเครื่องเล่นสวนสนุก หม้อราจากลับมีลักษณะเป็นกระโถนยักษ์ที่วางนอนไว้กับพื้นอย่างมั่นคง แต่ดีไซน์คอนเซ็ปต์อื่น ๆ ก็คล้ายกัน คือมีองศาของฝาผลิตน้ำหวานที่พอดีกับการเลียของลูกค้า และมีพื้นที่แห้งให้นั่งขับถ่าย พร้อมรับประทานอาหารได้อย่างสบายโดยไม่ต้องกลัวตูดเปียก

ทีนี้เนื่องจากหม้อของราจาอยู่ติดดิน จึงได้ลูกค้าประจำนอกเหนือจากกระแต นั่นก็คือหนู แต่คุณผู้อ่านไม่ต้องกลัวว่าหนูกับกระแตจะทะเลาะตบตีแย่งส้วมกันจนเกิดภาพน่ารัก เพราะหนูส่วนใหญ่จะมาขี้กลางคืน ส่วนกระแตจะชอบขี้กลางวัน

วิวัฒนาการหม้อข้าวหม้อแกงลิง จากพืชกินแมลง สู่หม้อเปิบพิสดารที่ไม่ได้กินแค่มดธรรมดา
หนูกำลังอุนจิใส่กระโถนซึ่งเป็นหม้อของ Nepenthes rajah
ภาพ : photos.chienclee.com

กิจการส้วมสาธารณะของราจาที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมงนี้ดูจะไปได้ฉลุย อย่างไรก็ตาม จากสถิติที่นักวิจัยสำรวจหม้อราจาทั้งหมด 42 หม้อ พบว่าส่วนใหญ่ได้ผลประกอบการดีจริง แต่มีอยู่หม้อหนึ่งที่ผลประกอบการดีเกินคาดไปนิด คือมีลูกค้าตกลงไปตายในหม้อด้วย ขอดวงวิญญาณน้องกระแตจงไปสู่สุขาวดี

เนี่ย! ปู่ดาร์วินจะไม่ฟินได้ยังไงถ้าได้ยินเรื่องแบบนี้

แต่ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ยังมีหม้อเฮ็มสลียาน่า (Nepenthes hemsleyana) ที่ลดระดับน้ำข้างในลง และดึงดูดให้ค้างคาวบางชนิดเข้ามาใช้เป็นโรงแรมสำหรับนอนกลางวันอย่างปลอดภัย โดยเก็บค่าห้องพักเป็นปุ๋ยขี้ค้างคาวแค่ไม่กี่ก้อน หม้อชนิดนี้มีช่วงฝาที่สะท้อนเสียงอัลตราโซนิกโดยเฉพาะ เพื่อให้ลูกค้าที่จะใช้โซนาร์หาเจอง่าย ๆ นี่ถ้าค้างคาวมีสื่อโซเชียลคงเป็นโรงแรมที่ได้รีวิวดีมาก

วิวัฒนาการหม้อข้าวหม้อแกงลิง จากพืชกินแมลง สู่หม้อเปิบพิสดารที่ไม่ได้กินแค่มดธรรมดา
หม้อ Nepenthes hemsleyana ที่ให้ค้างคาวมาเช่านอนกลางวัน
ภาพ : www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0960982215006697

หม้ออีกพันธุ์ชื่อไบคาลคาราต้า (Nepenthes bicalcarata) หรือย่อสั้น ๆ ว่าไบคาล จากที่เคยจับมดกิน ตอนหลังกลับกลายเป็นพันธมิตรกับมด โดยสร้างโพรงในกิ่งให้มดมาทำรังอยู่ติดกับหม้อเลย และมดชนิดนี้ก็ไม่ธรรมดา (Colobopsis schmitzi) เป็นสายพันธุ์เฉพาะเจาะจงที่ดำน้ำเก่ง ส่วนไบคาลก็วิวัฒนาการลดความรุนแรงของน้ำย่อยลง ทำให้เวลามีตัวอะไรตกลงมาในหม้อ หรือมีลูกน้ำยุงมาโตอยู่ในหม้อ พวกมดประดาน้ำก็จะกรูกันลงไปล่า จากนั้นจะจับเหยื่อขึ้นมาหั่นเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย บ้างกินเอง บ้างร่วงกลับลงหม้อในสภาพที่ย่อยง่ายขึ้น อีกทั้งขี้กับฉี่ของมดก็ไม่ได้ไปไหนเสีย แต่ร่วงกลับลงไปเป็นปุ๋ยให้กับหม้อนั้นแล

วิวัฒนาการหม้อข้าวหม้อแกงลิง จากพืชกินแมลง สู่หม้อเปิบพิสดารที่ไม่ได้กินแค่มดธรรมดา
หม้อ Nepenthes bicalcarata เลี้ยงมดไว้ให้ดำน้ำลงไปเก็บเหยื่อตัวใหญ่ ๆ ขึ้นมาหั่นเป็นชิ้น ๆ
ภาพ : www.nbcnews.com/id/wbna47362396

นี่เองคือหม้อหมู่บ้านมดชาวประมงที่ผมเกริ่นไว้ในตอนแรก ซึ่งผมว่ายากที่จะหาความสัมพันธ์ระหว่างคู่อริเก่าที่สวยงามและซับซ้อนไปกว่านี้ ปัจจุบันไม่พบมดพันธุ์นี้อาศัยอยู่ที่อื่นเลยนอกเหนือจากในหม้อของไบคาล และหม้อไบคาลต้นที่มีมดก็เติบโตได้ดีกว่าต้นที่ไม่มีมดอย่างบุมบาราเฮ่มาก (ถ้าลองนึกตามดู ลูกน้ำที่ปกติแค่มาอาศัยในน้ำของหม้อ แล้วกลายเป็นยุงบินจากไป พอมีมดก็จับมาแปรรูป กลายเป็นอาหารเสริมให้หม้อได้ด้วย)

สืบสานความหลงใหลในพืชกินแมลงของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ศึกษาวิวัฒนาการหม้อข้าวหม้อแกงลิงที่เปิบพิสดารขึ้นเรื่อย ๆ
หม้อ Nepenthes bicalcarata ที่มีมดคอยจับลูกน้ำยุงขึ้นมาแปรรูปเป็นปุ๋ย
ภาพ : journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0063556

ยังไม่หมด ยังมีหม้อไหกิมจิ (Nepenthes ampullaria) ซึ่งมักขึ้นใต้ต้นไม้ใหญ่แล้วผลิตหม้อทรงไหป้อม ๆ เล็ก ๆ ผุด ๆๆๆ ขึ้นมาจากดินเรียงรายติดกันหลายสิบใบ แต่ละใบเปิดฝาอ้าปากพร้อม ๆ กัน เป็นภาพที่ไม่เหมาะกับคนกลัวรูเป็นอย่างยิ่ง หม้อเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นถังรองรับเศษใบไม้ หรือเศษอะไรก็ตามที่ร่วงหล่นมาจากข้างบน แล้วก็นำมาบ่มหมักเป็นปุ๋ยให้ตัวเองได้ดูดซึมใช้ต่อไป เรียกว่าเปลี่ยนจากพืชกินแมลงกลายเป็นพืชกินพืชก็พอจะว่าได้

สืบสานความหลงใหลในพืชกินแมลงของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ศึกษาวิวัฒนาการหม้อข้าวหม้อแกงลิงที่เปิบพิสดารขึ้นเรื่อย ๆ
ข้าพเจ้ากับหม้อ Nepenthes ampullaria ที่มาเลเซีย
ภาพ : แทนไท ประเสริฐกุล

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้เป็นหม้อที่เปลี่ยนอาชีพจากกินแมลงไปประกอบกิจการอย่างอื่นสารพัด แต่ในบรรดาพืชที่ยังคงกินแมลงอยู่ก็ไม่ได้หยุดนิ่ง หลายสายพันธุ์มีวิวัฒนาการเฉพาะทางแบบไปให้สุด เช่น ผลิตสารเคลือบปากหม้อมาล่อปลวกกินโดยเฉพาะ (Nepenthes albomarginata) บ้างก็มีนวัตกรรมสารเหนียวสำหรับจับแมลงมีปีกโดยเฉพาะ บ้างปล่อยสารระเหยที่แมลงดมแล้วเวียนหัวจนเดินเซตกหม้อ (นักวิจัยที่ดมนาน ๆ บางทีก็มึนด้วย) หรือบางชนิดอย่าง Nepenthes gracilis ก็ใช้กลยุทธ์ ‘ฝาเด้งฝน’ คือวันใดที่ฝนตกแล้วมีมดกำลังเกาะเลียน้ำหวานอยู่ใต้ฝาหม้อ ก็จะเหมือนมีนิ้วเทพเจ้ามาดีดเป๊าะให้มดหลุดกระเด็นลงไปในหม้ออย่างง่ายดาย

สืบสานความหลงใหลในพืชกินแมลงของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ศึกษาวิวัฒนาการหม้อข้าวหม้อแกงลิงที่เปิบพิสดารขึ้นเรื่อย ๆ
ซ้าย-หม้อล่อปลวก Nepenthes albomarginata ขวา-หม้อดีดมดตกลงหม้อด้วยฝาเด้งฝน Nepenthes gracilis
ภาพ: www.nature.com/articles/415036a
และ journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0038951

สิ่งหนึ่งที่น่าคิดคือ พืชพวกนี้มีพฤติกรรมราวกับผู้ล่าที่ชาญฉลาด แต่ก็ไม่ได้ฉลาดอยู่ในสมองด้วยนะ (ชัดเจนว่าหม้อไม่มีสมองอยู่แล้ว) มันเป็นความฉลาดที่อยู่ในงานออกแบบ ซึ่งก็ไม่ได้เป็นผลงานของนักออกแบบชาญฉลาดที่ไหน แต่ออกแบบโดยความโง่ของแมลงที่ตกลงมาตายซ้ำ ๆ ด้วยความตะกละนั่นแหละ แมลงถูกหลอกแบบไหนง่าย หม้อก็จะถูกคัดเลือกออกมาเป็นแบบนั้น เพราะฉะนั้น ความโง่นั่นเองที่เป็นบ่อเกิดแห่งความฉลาด

แต่ถ้าให้พูดอย่างยุติธรรมกับแมลงหน่อย ถ้าแมลงโง่มากจริง ๆ หม้อก็คงไม่ต้องฉลาดขนาดนี้ แค่เปิดหม้อไว้เฉย ๆ แมลงโง่ก็คงเดินมาตกแล้ว แต่นี่เป็นเพราะแมลงยังฉลาดอยู่ ล่อเฉย ๆ ไม่หลงกล หม้อก็เลยถูกปั้นออกมามากมายหลายทรงและหลากคุณสมบัติขนาดนี้ แล้วแต่จุดอ่อนของแมลงเป็นตัวกำหนด

นานมาแล้ว ท่านปู่ดาร์วินได้จบหนังสือ On the Origin of Species ด้วยย่อหน้าที่เขียนว่า “…จากต้นกำเนิดอันแสนสุดเรียบง่าย รูปแบบชีวิตอันสุดแสนงดงาม อีกทั้งมหัศจรรย์ไร้สิ้นสุด ยังคงวิวัฒน์เรื่อยมาและเรื่อยไป”

ผมไม่เชื่อเรื่องวิญญาณ แต่ผมเชื่อในสปิริตความฟินของท่านปู่ที่ส่งต่อมายังผมและผู้ชื่นชอบศึกษาธรรมชาติรุ่นหลังอีกนับไม่ถ้วน และผมเชื่อว่าสปิริตนี้จะยังอยู่กับมนุษยชาติสืบไป จนถึงรุ่นที่พวกเราไปสำรวจใต้น้ำแข็งบนดวงจันทร์ยูโรปานู่นแหละ

ตราบใดที่เราไม่ทำลายตนเองหรือธรรมชาติทิ้งเสียก่อน

Writer & Photographer

Avatar

แทนไท ประเสริฐกุล

นักสื่อสารวิทยาศาสตร์สาขาชีววิทยา ผู้เคยผ่านทั้งช่วงอ้วนและช่วงผอมของชีวิต ชอบเรียนรู้เรื่องราวสนุกๆ ที่แฝงอยู่ในธรรมชาติแล้วนำมาถ่ายทอดต่อ ไม่ว่าจะผ่านงานเขียน งานแปล และงานคุยในรายการพอดแคสต์ที่ชื่อว่า WiTcast