1 กุมภาพันธ์ 2022
5 K

ผมอยากชวนให้ทุกคนลองหลับตา แล้วนึกว่าละแวกบ้านที่เราอยู่อาศัย มีพื้นที่ธรรมชาติที่เป็นพื้นที่ธรรมชาติจริง ๆ แบบที่คนไม่ได้เข้าไปจัดการซะทั้งหมดอยู่ตรงไหนบ้าง หากใครนึกออกแล้ว ลองคิดต่อเล่น ๆ ดูซิว่า ระหว่างเรากับพื้นที่ธรรมชาตินั้น มีความสัมพันธ์กันในแง่ไหนบ้าง หากเป็นไปได้ลองเขียนใส่กระดาษเท่าที่นึกและรู้สึกได้ แต่ถ้าใครนึกสถานที่นั้นไม่ออก หรือถ้านึกออกแล้วแต่ไม่รู้สึกว่าสัมพันธ์กับเราก็ไม่เป็นไร

บทความนี้อาจจะเป็นเพื่อนออกเดินสำรวจพื้นที่ธรรมชาติรอบเมืองครั้งแรกของคุณ

คนเมืองเชียงใหม่อย่างผม (น่าจะรวมถึงคนอื่น ๆ) ดอยสุเทพคงเป็นภาพแรก ๆ ที่นึกถึงสถานที่ธรรมชาติใกล้เมือง เมืองเชียงใหม่มีความพิเศษก็ตรงนี้ มีดอยสุเทพเป็นจุดหมายตาที่เห็นได้เกือบทุกมุมไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของเมือง แถมยังเป็นป่าศักดิ์สิทธิ์หลังบ้านของเรา เป็นต้นน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตต่าง ๆ ในเมือง วันไหนฟ้าเปิดจนเห็นดอยทั้งลูก และเห็นยอดพระธาตุดอยสุเทพได้เต็มตา เราจะหายใจลึกและยาวกว่าปกติ ราวกับว่าเรา ดอย และเมือง ต่างหายใจด้วยมวลอากาศเดียวกัน ไม่รู้ว่าคนอื่นเป็นกันไหม

ช่วงไหนฟ้าปิดหม่นหมอกควัน ไม่เห็นดอย เราจะรู้สึกอึดอัดหายใจไม่ออก แม้จะอยู่ในห้องแอร์ที่เปิดเครื่องฟอกอากาศตลอดเวลา ในแต่ละช่วงฤดูที่เปลี่ยนแปลง ดอยมีผลกับอารมณ์ความรู้สึกของเรามากกว่าที่เราคิด การเห็นฟ้าโปร่งสีเข้มตัดกับดอยที่เริ่มเปลี่ยนสีในฤดูหนาว ทำให้จิตใจของเราออกเดินทางเหมือนนกอพยพ หรือลูกไม้ที่ลอยปลิวจากต้นแม่ ส่วนดอยเหลืองและแล้งหน้าร้อนนั้น ให้ความรู้สึกสงบนิ่งและเฝ้ารอคอย ดอยเขียวฉ่ำฝนให้ความรู้สึกชุ่มชื่นเติบโตที่เวียนกลับมาอีกครั้ง

วิธีตามหาจิตวิญญาณที่หลงทางของคนเมือง เยียวยาโรคขาดธรรมชาติ และอาการตาบอดสถานที่
วิธีตามหาจิตวิญญาณที่หลงทางของคนเมือง เยียวยาโรคขาดธรรมชาติ และอาการตาบอดสถานที่

ความสัมพันธ์ของเรากับสถานที่เป็นเรื่องแปลกประหลาดแต่ทว่าลึกซึ้ง นับวันเราก็ยิ่งค้นพบว่า ความสัมพันธ์ของเรากับสถานที่ที่เรารู้สึกสัมพันธ์ด้วย มีผลต่อความผาสุกในชีวิต ตัวเอกในวรรณกรรมรางวัลโนเบลเรื่อง The Lost Soul ของ Olga Tokarczuk และ Joanna Concejo พบว่าวันหนึ่งเขาสูญเสียจิตวิญญาณของตัวเองไปกับการทำงานหนัก แม้เขาจะยังทำงาน ขับรถไปไหนต่อไหน หรือตีเทนนิสได้ แต่เขารู้สึกว่า ชีวิตไม่เหมือนเดิม มันรู้สึกหนักมาก ๆ 

จนวันหนึ่งเขาตื่นขึ้นมาและพบว่าตัวเองสูญเสียการรับรู้ว่าตัวเองอยู่ที่ไหน ไม่รู้แม้กระทั่งว่าตัวเองชื่ออะไร หมอบอกเขาว่า “ถ้าหากมีใครสักคนมองพวกเราลงมาจากฟ้า เขาจะพบว่าโลกนี้เต็มไปด้วยผู้คนที่วิ่งอย่างกระหืดกระหอบ ชุ่มเหงื่อ เหน็ดเหนื่อย และอ่อนล้า พวกเขาต่างทำให้จิตวิญญาณของตัวเองสูญหาย และวิ่งตามหลังผู้เป็นเจ้าของไม่ทัน จิตวิญญาณนั้นรู้ว่าเขาหลงทางกับเจ้าของ แต่ตัวเจ้าของส่วนใหญ่ไม่รู้ว่ากำลังสูญเสียจิตวิญญาณของตัวเอง” 

หมอยังแนะนำต่อไปว่า คุณต้องหาสถานที่ของคุณ นั่งอย่างสงบ เพื่อรอจิตวิญญาณกลับมาหาคุณ มันเป็นคำแนะนำที่มีค่ามาก ๆ สำหรับเขา ที่ทำให้เรื่องราวเดินต่อและคลี่คลาย รวมทั้งเราทุกคนในชีวิตนอกวรรณกรรมเรื่องนี้ 

ผมเชื่อว่าทุกคนต่างเคยมีประสบการณ์การหลงทาง และถ้าหากย้อนกลับไปมองประสบการณ์ที่เราคลำหาทางออกถูกนั้น มักเริ่มต้นตรงที่เราได้ช้าลงและหยุด ใช้ผัสสะของเราเชื่อมโยงกับองค์ประกอบต่าง ๆ ของสถานที่นั้น ๆ เพื่อรับรู้ว่าเราอยู่ตรงไหน จากจุดนี้เองเราจึงเดินทางต่อไปในทิศและทางที่ถูกต้อง 

อารมณ์ความรู้สึกของการหลงทางและค้นพบเป็นเช่นนี้ เป็นอุปมาอุปไมยทั้งในแง่ของสถานที่ทางกายภาพ และกับมิติการเยียวยาทางจิตวิญญาณ

วิธีตามหาจิตวิญญาณที่หลงทางของคนเมือง เยียวยาโรคขาดธรรมชาติ และอาการตาบอดสถานที่

ริชาร์ด ลุฟว์ (Richard Louv) นักเขียนคนสำคัญของยุคสมัย ผู้สร้างการตื่นตัวและตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างเรากับธรรมชาติ ชี้ให้เราเห็นอาการของโรคขาดธรรมชาติ (Nature Deficit Disorder) เขียนถึงอาการตาบอดสถานที่ (Place Blindness) ไว้อย่างน่าสนใจว่า ในสังคมสมัยใหม่ที่เราใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่แต่ในอาคาร หรือพื้นที่ปิดที่มีระบบปรับอากาศที่ตัดขาดเราจากสภาพแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา เราจะขาดความสามารถที่จะเห็นหรือรู้สึกถึงความแตกต่างของสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นสภาพภูมิศาสตร์ พืชพันธุ์หรือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่อยู่ในสถานที่นั้น รวมถึงผิวสัมผัส อุณหภูมิ คุณภาพของแสง เสียง กลิ่น 

มันคล้ายอาการตาบอด แต่เป็นการตาบอดที่มีต่อสถานที่ (คนละแบบกับอาการ Topographic Agnosia) อาการแบบนี้ทำให้เราไม่เห็นความงาม และรู้สึกถึงความสัมพันธ์ของเรากับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า จึงเป็นสาเหตุหลักของความรู้สึกตัดขาด และเพราะการสูญเสียประสาทสัมผัสเชิงประสบการณ์ Sensory กับความเป็นสถานที่ ไม่น่าแปลกใจที่ในสมัยนี้เรามักดัดแปลงสถานที่ต่าง ๆ ตามใจปรารถนา ด้วยเครื่องมือและวิธีการสมัยใหม่ที่มีพลานุภาพและรวดเร็วกว่ายุคใด ประกอบกับ Mindset ที่ว่าสิ่งที่ดีกว่าและมีค่ากว่านั้นอยู่ไกลออกไป 

จิตใจของเราจึงไม่เคยพอใจและอยู่กับที่ที่เราอยู่จริง ๆ เราจึงถูกกระตุ้นและกระตุ้นตัวเองให้วิ่งวุ่นอยู่ตลอดเวลา โดยไม่รู้เลยว่าเรากำลังวิ่งไปไหน นี่ละมั้งที่เราต่างรู้สึกหลงทางในพื้นที่แคบ ๆ ที่เรารู้จักดี อยู่ในเมืองที่ดูเหมือนมั่นคงและปลอดภัย แต่ภายในรู้สึกขาดอะไรไปสักอย่างหนึ่งที่สำคัญ

ช่วงเวลาของการช้าลงและได้หยุดพักจึงเป็นของมีค่า เป็นของหรูหราที่ไม่ต้องแลกมาด้วยเงิน ที่เราทุกคนควรค่ากับการได้มอบให้ตัวเอง การพาตัวเองออกไปสำรวจพื้นที่ธรรมชาติที่ใกล้บ้าน อนุญาตให้ตัวเราได้หยุด แวะพัก และตั้งหลักเพื่อค้นพบจิตวิญญาณของตัวเองอีกครั้ง ผูกสัมพันธ์กับสถานที่ด้วยสายตาคู่ใหม่ในที่ทางของตัวเอง จึงเป็นคำเชิญชวนจากเพื่อนถึงเพื่อนที่ผมอยากมอบให้

ถ้าใครพร้อมหยิบหมวกสวมรองเท้าและตามมาได้เลย …

วิธีตามหาจิตวิญญาณที่หลงทางของคนเมือง เยียวยาโรคขาดธรรมชาติ และอาการตาบอดสถานที่

รัศมีของความสัมพันธ์

จากจุดที่เราอยู่อาศัย ลองลากเส้นรัศมีสัก 400 เมตร ออกไปให้เป็นวงกลมที่มีบ้านเราเป็นจุดศูนย์กลาง ลองค่อย ๆ ใช้จินตนาการเดินดูว่าในพื้นที่วงกลมรัศมี 400 เมตร เราสัมพันธ์กับสถานที่นั้นอย่างไรบ้าง มันอาจจะเป็นบ้านเพื่อน ตลาด ร้านค้า สวนเล็ก ๆ ในชุมชนที่เหม็นฉี่หมา หรือที่ที่เราพาลูกไปเดินเล่น ในรัศมีนั้นพอมีพื้นที่ธรรมชาติอยู่บ้างไหม หากลองสำรวจจนทั่วแล้วยังไม่มีอะไรที่น่าสนใจ ลองขยายรัศมีเพิ่มเป็น 800 เมตร แล้วลองสำรวจอีกครั้ง เราอาจจะเริ่มพบพื้นที่ธรรมชาติที่ว่านั้นก็เป็นได้ เพื่อออกไปสำรวจยังสถานที่จริง

ผมลองลากเส้นรัศมีสมมตินี้ แล้วพบว่าพื้นที่ธรรมชาติที่ใกล้บ้านที่สุดในรัศมีนี้ เป็นพื้นที่ก่อสร้างที่ร้างไปนาน ใกล้ ๆ กันเป็นหนองน้ำเก่า ซึ่งรอบพื้นที่ตอนนี้มีต้นจามจุรีขึ้นครึ้ม ผมค้นพบที่แห่งนี้ในช่วงฤดูหนาวเมื่อหลายปีก่อน ตอนเดินตามนกฝูงใหญ่ที่ร้องดังระงมช่วงหัวค่ำ มันร่อนลงที่หนองน้ำนี้ ผมเพิ่งรู้ว่ามันเป็นนกเป็ดน้ำที่มาอยู่ที่นี่เป็นประจำหลายปี และในช่วงฤดูหนาวฝูงมันจะใหญ่เป็นพิเศษ มีจำนวนหลายร้อยตัว เสียงของมันในตอนกลางคืนและเช้ามืดกลายเป็นเสียงเฉพาะของละแวกนี้ การได้ยินเสียงของมันกลายเป็นสัญลักษณ์ของฤดูหนาวในความรับรู้ของครอบครัวเรา 

เรื่องของความสัมพันธ์เล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ สร้างความพิเศษให้สถานที่ และเป็นประตูที่เชื่อมเราไปหาสิ่งต่าง ๆ อย่างน่าอัศจรรย์หลังจากประตูบานนี้ถูกเปิดออก ในพื้นที่ธรรมชาติไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ พืช สัตว์ และภูมิประเทศที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเรื่องบังเอิญ ทุกอย่างมีเหตุผลของการเกิด และหากเราเชื่อมโยงกับการเกิดขึ้นของสิ่งต่าง ๆ ได้ เราจะค่อย ๆ เห็นเงื่อนงำของเหตุผลในการมีชีวิตอยู่ ยอมรับและชื่นชมสิ่งต่าง ๆ อย่างที่มันเป็น และหลายครั้งความรู้สึกเชื่อมโยงนี้ ก็ช่วยบอกทาง หรือตั้งหลักกิโลเมตรที่ศูนย์ของความสัมพันธ์และอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นของเราได้

วิธีตามหาจิตวิญญาณที่หลงทางของคนเมือง เยียวยาโรคขาดธรรมชาติ และอาการตาบอดสถานที่

นิเวศแม่

หากใครพบพื้นที่ธรรมชาติในรัศมีของความสัมพันธ์ที่เราเดินไปสำรวจในระยะใกล้ ๆ บ้านได้แล้ว ผมอยากชวนให้ลองค่อย ๆ ขยายขอบของรัศมีนั้นออกไปเรื่อย ๆ เพื่อตามหานิเวศแม่ พื้นที่ธรรมชาติที่เป็นต้นธารสำคัญขององค์ประกอบในชีวิตของเรา อย่างเช่น น้ำที่เราใช้ อากาศที่เราใช้หายใจ แร่ธาตุหรือมวลชีวภาพที่หล่อเลี้ยงผืนดิน หรือแหล่งรวบรวมพันธุกรรมของทั้งพืชและสัตว์ที่หลากหลาย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของสภาพสมดุลของระบบนิเวศในธรรมชาติ

นิเวศแม่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตของเราคือสถานที่แบบไหนกันนะ บางคนเป็นภูเขา ป่า นาไร่ บ้างเป็นแม่น้ำ บึงใหญ่หรือลำคลอง สำหรับหลายคนอาจจะเป็นทะเล ป่าชายหาด หรือป่าชายเลน เรามีความสัมพันธ์กับสถานที่ที่เป็นนิเวศแม่ของเราอย่างไรบ้างในชีวิตแต่ละวัน เป็นคำถามที่อยากชวนถามต่อ 

สำหรับคนเมืองเชียงใหม่อย่างผม นิเวศแม่ของเราน่าจะหมายถึงดอยสุเทพและแม่น้ำปิง บรรพชนในอดีตจึงเลือกตั้งเมืองในหุบระหว่างนิเวศแม่ทั้งสอง และหาประโยชน์จากนิเวศนั้นในการสร้างบ้านแปงเมือง ด้วยความเข้าใจนี้ดอย-เมือง-แม่น้ำ ในโลกทัศน์ของผู้คนจึงไม่ได้แยกขาดจากกัน แต่เชื่อมโยงกันด้วยป้อมประตูคูคันคลองและเหมืองฝาย ที่ผ่านการออกแบบอย่างเข้าใจ บ่อน้ำที่ใช้อาบกินกันในอดีตจึงเป็นลูก ๆ ของนิเวศแม่ 

เทศกาลงานเมืองต่าง ๆ ที่จัดขึ้นโดยชุมชนก็เพื่อรักษาความหมายของความสัมพันธ์นั้นไว้ แม้ในสมัยนี้ที่เรามีระบบน้ำประปา และไม่ต้องเลี้ยงผีขุนน้ำเพื่อจะเปิดน้ำรดต้นไม้หรือล้างรถ แต่น้ำที่เราใช้ก็ยังมาจากนิเวศแม่นั้นอยู่ดี เพียงแต่เส้นใยของความรู้สึกที่เชื่อมโยงกันนี้ไม่ถูกเห็น การกลับมาค้นพบนิเวศแม่และได้สำรวจความสัมพันธ์นี้อีกครั้ง นอกจากจะทำให้เราเห็นคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ มันยังมีความหมายกับการมีอยู่ และอยู่ได้อย่างดีของพื้นที่ธรรมชาติรอบบ้านและเมืองของเราในอนาคต

สัมผัสที่เชื่อมโยงและพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์

ผมมักรู้สึกทึ่งและเคารพในความละเอียดละเมียดละไมของผู้คนในอดีต ที่สัมผัสและเชื่อมโยงกับธรรมชาติและสถานที่ด้วยวิธีต่าง ๆ อย่าง ‘เดปอทู่’ หรือ ‘ป่าสะดือ’ ของพี่น้องปกาเกอะญอ ที่สายรกของทารกเกิดใหม่จะถูกใส่ไว้ในกระบอกไม้ไผ่ผูกไว้กับต้นไม้ในป่า เพื่อเชื่อมขวัญของคนกับโลกธรรมชาติ ความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณในธรรมชาติและการเชื่อมโยงเรากับโลกนี้มีอยู่ในทุกวัฒนธรรม 

ครั้งหนึ่งผมมีโอกาสสำรวจบ้านไม้เก่าในเมืองเชียงใหม่ เห็นหิ้งพระของยายสะอาดเอี่ยม และมีดอกไม้ที่เก็บมาจากสวนสวยหน้าบ้านใส่พานถวายอยู่ ยายเล่าว่าบ้านคนเมืองเชียงใหม่จะหันหน้าพระไปทางตะวันออก เวลาไหว้พระในบ้านหรือกราบพระพุทธรูปในวัด จะได้ไหว้ทั้งพระพุทธรูป พระสถูปเจดีย์ที่อยู่หลังวิหาร และไหว้พระธาตุดอยสุเทพที่อยู่ทางตะวันตกไปพร้อม ๆ กัน วัตรปฏิบัติที่เล็กน้อยเหล่านี้สะท้อนโลกทัศน์ที่ประณีตบรรจง ในชุมชนเก่าของเมืองรวมทั้งบ้านของผมในอดีต เราจะมีการไหว้ผีหลายแบบมาก ๆ ตั้งแต่เก๊าผีหรือผีที่สืบสายตามเครือญาติ ผีที่เป็นจิตวิญญาณบรรพชนของเมือง รวมทั้งผีที่เป็นอารักษ์ดูแลพื้นที่ธรรมชาติอันศักดิ์สิทธิ์ของเมือง พิธีกรรมอันเก่าแก่เหล่านี้ช่วยผูกโยงจิตวิญญาณของปัจเจกบุคคล ให้เป็นส่วนหนึ่งของสถานที่ที่อยู่อาศัยในหลากหลายระดับ ทั้งในบทบาททางสังคม นิเวศวิทยา และมิติจิตวิญญาณที่เรากำลังพูดถึง

หลายปีก่อนตอนเรียนอยู่ที่อินเดีย ผมมีโอกาสไปร่วมและศึกษางานบูชาเจ้าแม่กาลี (Kali Puja) ในเขตเบงกอลตะวันตก หัวใจของพิธีกรรมที่เป็นปัญญาแฝงเร้นนี้คือ เครื่องบูชาเจ้าแม่ที่มาจากพืชพรรณที่หลากหลายจากพื้นที่นิเวศระดับย่อย 9 แห่ง การรักษาพื้นที่นิเวศย่อยที่มีพืชพรรณหลากหลายให้เก็บมาสรรเสริญบูชานี้ ก็เพื่อประกันความอุดมสมบูรณ์ของความเป็นทั้งหมดของสถานที่ เพื่อให้คนกับธรรมชาติยังอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล และการขาดหายไปของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง คือสัญญาณเตือนของความขาดพร่องในระบบนิเวศของสถานที่ที่เราอยู่อาศัยร่วมกัน ใด ๆ เหล่านี้คือพิธีกรรมที่พาผู้คนให้เชื่อมโยงกับสถานที่ เพื่อตระหนักถึงการมีอยู่ของตนเองในฐานะส่วนหนึ่งของสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวเอง

กลับมามองที่ความหมายของพิธีกรรมในโลกสมัยใหม่ ซึ่งถูกแทนที่ด้วยรูปเคารพหรือสัญลักษณ์เชิงตัวแทนที่ไร้รากความสัมพันธ์ใด ๆ ไม่ได้พาเราออกไปไหน นอกเหนือจากการหมกหมุ่นกับความต้องการอันไม่มีที่สิ้นสุดของตัวเอง จึงไม่น่าแปลกใจที่คนในยุคสมัยของเราปฏิเสธพิธีกรรม นี่จึงเป็นโจทย์สำคัญในยุคสมัยของเราที่รอการค้นพบและฟื้นฟูให้กลับขึ้นมาใหม่ 

ความศักดิ์สิทธิ์ที่ว่านี้อาจจะไม่ได้หมายถึงการได้รับสิ่งที่อ้อนวอนร้องขอ หากแต่บางครั้งเป็นความรู้สึกเชื่อมโยงสัมพันธ์ในความรู้สึกระดับลึกที่ก้าวพ้นภาษาของความคิด คำว่า ‘อธิษฐาน’ มีรากศัพท์เป็นภาษาสันสกฤต ซึ่งแปลว่า ‘การตั้งจิตมั่น’ เราจึงมีพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของเราเองได้ หากกระบวนการเหล่านั้นเชื่อมโยงเรากับมายังกิโลเมตรที่ศูนย์ ณ ตรงกลางของที่ว่างภายในใจของเรา ด้วยวิธีการของเราเองและสถานที่ที่เราเชื่อมโยงรู้สึก พร้อมด้วยพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของเราเอง จะช่วยทำให้เราช้าลงและเชื่อมโยงกับตัวเองได้มากขึ้น หรือผนวกรวมเราให้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มทางสังคมที่เห็นคุณค่าของสิ่งเดียวกัน 

เช่น การทำแนวกันไฟป่าก่อนช่วงแล้งที่สุดของปี การพายเรือเก็บขยะในแม่น้ำ การจัดทริปครอบครัวและชวนเด็ก ๆ ของเราไปชื่นชมและเรียนรู้ความงามของป่าใกล้เมืองในแต่ละฤดู ได้โอบกอดต้นไม้ใหญ่และให้ป่าทั้งป่าโอบกอดเรา พบเจอและเรียนรู้ว่านอกเหนือไปจากมนุษย์ ยังมีชีวิตอื่น ๆ ที่หายใจร่วมอยู่กับเราในสถานที่แห่งนี้ เหล่านี้ล้วนอาจจะกลายเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ในยุคสมัยของเรา

หากธรรมชาติเติบโตด้วยการน้อมรับความเปลี่ยนแปลงในแต่ละฤดูกาล เราในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติควรจะมีช่วงเวลาเหล่านั้นด้วยเช่นกัน ช่วงเวลาที่ใช้ในสถานที่ที่จิตวิญญาณจะตามหาเราเจอ การได้เดินด้วยกันในวันที่รู้สึกเน่าเปื่อยและผุพัง ได้นั่งเงียบ ๆ ด้วยกันในวันที่รู้สึกสูญเสีย ได้ออกเดินทางเพื่อค้นพบในทุกวันธรรมดาที่สำคัญของชีวิต อนุญาตให้ตัวเองได้หลงทาง หยุดอ่านสัญญาณจากสิ่งต่าง ๆ เพื่อกลับมาค้นพบ ได้มีชีวิตอยู่เพื่อที่จะเฉลิมฉลองทุกการเปลี่ยนแปลงและเติบโตภายในของเรา เหล่านี้คือพิธีกรรมที่เรามอบให้ตัวเองได้โดยมีธรรมชาติเป็นศาสดา

ช่วงท้ายการเดินทางสำรวจพื้นที่ธรรมชาติรอบเมือง ผมอยากชวนทุกคนนั่งลงเงียบ ๆ ลองหลับตา หายใจปกติสบาย ๆ รับรู้และสัมผัสธรรมชาติที่เราค่อย ๆ รู้จัก และค่อย ๆ ซึมซับความทรงจำและความรู้สึกเหล่านี้ในร่างกาย ก่อนที่เราจะแยกย้ายเดินทางกลับออกไปจากสถานที่แห่งนี้ หากใครนึกสนุกและอยากแบ่งปันตะกอนของความรู้สึกนี้ อาจจะเขียนบทกวี ถ่ายภาพ หรือวาดรูปส่งมาแบ่งปันความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้นะครับ 

หวังว่าเราจะค่อย ๆ มีพื้นที่ธรรมชาติรอบตัวเพิ่มขึ้นในแผ่นที่ความทรงจำ และหากวันเดินเรารู้สึกเหนื่อยล้าและหลงทาง เราจะเปิดแผนที่ลับที่มีแต่เราที่รู้ออกเดินทาง อีกครั้งและอีกครั้ง

Writer & Photographer

Avatar

ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร

สถาปนิกผู้ก่อตั้งใจบ้านสตูดิโอและคุณพ่อลูกหนึ่ง ที่สนใจงานฟื้นฟูธรรมชาติผ่านงานออกแบบ กำลังหัดเขียนสื่อสารเรื่องราวการเรียนรู้จากธรรมชาติ และประสบการณ์ rewilding