โสด หย่าร้าง ไม่แต่งงาน ไม่มีลูก หรือลูกๆ แยกออกไปมีชีวิตครอบครัวของตัวเอง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้ชีวิตบั้นปลายของคนไทยยุคปัจจุบันเริ่มเป็นภาพการอยู่อาศัยคนเดียว หรืออยู่กันเพียงคู่สามีภรรยา และเน้นการพึ่งพาตัวเองมากขึ้น การรวมกลุ่มกันเป็นครอบครัวใหญ่ที่สมาชิกหลายรุ่นอาศัยร่วมกันในบ้านหลังเดียวอาจลดน้อยลงเรื่อยๆ ต่างจากอดีต

ยิ่งเมื่อประกอบกับการก้าวเข้าสู่ ‘สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์’ ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดเผยว่า ประเทศไทยเริ่มมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมดอย่างเป็นทางการในปีนี้ และยังคาดการณ์อีกว่า ราว 10 ปีข้างหน้า เราจะก้าวสู่การเป็น ‘สังคมผู้สูงวัยระดับสุดยอด’ คือมีประชากรสูงวัยมากกว่าร้อยละ 28 ซึ่งหมายถึงเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้น รวมถึงสมาชิกจำนวนมากกำลังจะก้าวเข้าสู่วัยเกษียณในเวลาอันใกล้ เมื่อชีวิตบอกพวกเขาว่ามันอาจจะดีกว่า หากในเวลาบั้นปลายจะอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร ที่อยู่อาศัยซึ่งจะเป็นบ้านหลังสุดท้ายจึงสำคัญ และเป็นคำถามใหญ่ที่แม้แต่คนเพิ่งเริ่มต้นชีวิตทำงานก็อาจต้องคิดตั้งแต่เนิ่นๆ

NAYA Residence เปลี่ยนภาพบ้านพักคนชรา สู่ที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ชีวิต ‘วัยอิสระ’

NAYA Residence (นายา เรสซิเดนซ์) เป็นโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อตอบคำถามสำคัญดังว่า โดยมี อรฤดี ณ ระนอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท นายณ์ เอสเตท จำกัด ผู้มีประสบการณ์พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์มาทุกรูปแบบ และ แพทย์หญิงนาฏ ฟองสมุทร ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้สูงวัย ที่ปรึกษาโครงการที่พักอาศัยผู้สูงวัยของสภากาชาดไทย เป็นผู้ริเริ่มและดูแลโครงการในนาม บริษัท ลิฟเวล ลิฟวิ่ง จำกัด

ทั้งหมดคือความน่าสนใจของบ้านหลังใหญ่นี้ ที่ตัั้งใจเป็นโครงการจุดประกายให้เห็นทางเลือกการใช้ชีวิตบั้นปลายของคน ซึ่งทั้งคู่ให้นิยามว่า ‘วัยอิสระ’ แม้จะตัวคนเดียว แต่ก็มีชีวิตอย่างมีคุณภาพได้ ในที่ที่ทั้งปลอดภัย ไม่เปล่าเปลี่ยว และออกแบบมาเพื่อคนวัยนี้อย่างแท้จริง

โดดเดี่ยว ไม่เดียวดาย

“วัยอิสระ คือวัยที่เรามีประสบการณ์ในชีวิต ทั้งในแง่ของการทำงาน ชีวิตครอบครัว ประสบการณ์ทุกอย่าง พอถึงเวลาที่เราจะมีอิสระจากภาระผูกพันทั้งการงาน ลูกก็โตหมดแล้ว มันเป็นความคิดว่า เออ เราน่าจะมาใช้ชีวิตอิสระ ทำสิ่งที่ไม่เคยได้ทำในวัยนี้”

อรฤดี ณ ระนอง ผู้พัฒนาโครงการเล่าถึงแนวคิดการสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อคนวัยเกษียณ ที่ไม่ใช่สถานที่อันเงียบเหงา หรือเศร้าสร้อยเหมือนสถานพยาบาล แต่จะเป็นที่ที่มีชีวิตชีวาด้วยการพบปะกันของผู้คน และมอบชีวิตคุณภาพในวัยที่ไม่ต้องรับภาระอื่นใดอีก

NAYA Residence เปลี่ยนภาพบ้านพักคนชรา สู่ที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ชีวิต ‘วัยอิสระ’

“เมื่อมีชีวิตอิสระ ต้องรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าด้วย โดยทุกวันมีเป้าหมายว่าตื่นขึ้นมาทำอะไร เพื่อใคร หรือทำประโยชน์อะไรให้กับคนรอบข้าง” แพทย์หญิงนาฏ ฟองสมุทร หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อหมอนาฏอธิบายเสริม ก่อนกล่าวถึงนิยามการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนวัยนี้อย่างเห็นภาพไว้ 3 ข้อ

“อันแรกคือ เขาพึ่งพาตัวเองได้ หมายความว่าเขามีสุขภาพกายที่แข็งแรง ดูแลตัวเองทำกิจวัตรประจำวัน ทำธุระอะไรต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง

“ต่อมาคือมีสุขภาพกระเป๋าที่ดี มีสุขภาพทางเศรษฐกิจที่ยังพึ่งพาตัวเองได้ มีเงินทองใช้เพียงพอ เพราะฉะนั้น การมาอยู่ในสังคมของ NAYA Residence จะเป็นการ Downsize หรือลดขนาดชีวิตลง ลดภาระของตัวเองจากการดูแลบ้านหลังใหญ่ๆ มาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อาจจะมีขนาดเล็กลง แต่ลดความน่ากังวลเรื่องค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงต่างๆ เป็นการลดภาระทางด้านการเงิน ทำให้มีเงินเพียงพอเพื่อดูแลชีวิตอย่างยืนยาว

NAYA Residence เปลี่ยนภาพบ้านพักคนชรา สู่ที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ชีวิต ‘วัยอิสระ’
NAYA Residence เปลี่ยนภาพบ้านพักคนชรา สู่ที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ชีวิต ‘วัยอิสระ’

“และอีกอย่าง หลังจากเกษียณแล้ว ส่วนใหญ่จะเจอปัญหาเรื่องความเหงา เนื่องจากไม่ได้ไปงานสังคม หรือไม่ได้ทำงานแล้ว ‘Loneliness is the Disease of the Age’ ความเหงาเองก็เป็นโรคของผู้สูงวัยด้วย เราพบว่าผู้สูงอายุที่แยกตัวขาดจากสังคมและขาดปฏิสัมพันธ์ต่างๆ สมองจะซึมค่อนข้างเร็ว ฉะนั้น ในการบำรุงรักษาฟังก์ชันของสมองให้ดีในระยะยาวจะต้องมีสองสิ่งนี้ การจัดชุมชนขึ้นก็จะทำให้ผู้สูงวัยได้มีกิจกรรม ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตทั้งในส่วนของสุขภาพกาย สุขภาพใจ และสุขภาพทางสมองด้วย”

NAYA Residence เปลี่ยนภาพบ้านพักคนชรา สู่ที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ชีวิต ‘วัยอิสระ’

ตึกเก่าแต่ไม่แก่

‘นายา’ เป็นคำสันสกฤต แปลว่า ปัญญา ความรู้ สิ่งที่คงอยู่อย่างมีจุดมุ่งหมาย 

การสร้างชุมชนคุณภาพอย่างที่ทั้งสองตั้งใจ จึงมุ่งถึงการมองปัญหาที่อยู่อาศัยเดิมของผู้คนก่อนก้าวเข้าสู่วัยเกษียณ โดยในวัยหนุ่มสาวใช้ชีวิตได้อย่างไม่เป็นอุปสรรค แต่เมื่อสภาพร่างกายถดถอยแล้ว บันไดที่ทำให้สะดุดล้มแม้เพียงขั้นเดียว ก็อาจเปลี่ยนชีวิตของผู้สูงอายุไปได้ 

การออกแบบทั้งหมดของ NAYA Residence จึงเป็น Universal Design หลีกเลี่ยงการสร้างอุปสรรคในการเดินของผู้สูงอายุต่างๆ รวมถึงรองรับว่า การใช้รถเข็นหรือวีลแชร์ จะใช้ชีวิตได้เสมือนใกล้เคียงปกติ

โครงการบ้านที่ออกแบบเพื่อดูแลคนสูงวัยครบด้าน ให้คนสูงวัยอยากมาใช้ชีวิตอยู่อย่างยืนยาว และไม่เป็นตราบาปสำหรับลูก
โครงการบ้านที่ออกแบบเพื่อดูแลคนสูงวัยครบด้าน ให้คนสูงวัยอยากมาใช้ชีวิตอยู่อย่างยืนยาว และไม่เป็นตราบาปสำหรับลูก
โครงการบ้านที่ออกแบบเพื่อดูแลคนสูงวัยครบด้าน ให้คนสูงวัยอยากมาใช้ชีวิตอยู่อย่างยืนยาว และไม่เป็นตราบาปสำหรับลูก

NAYA Residence เกิดจากการเข้าปรับปรุง Riverine Village โครงการคอนโดมิเนียมสูง 27 ชั้น 3 อาคาร ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทำเลชายขอบจังหวัดนนทบุรีเชื่อมต่อกรุงเทพมหานคร

โดยหลักๆ แล้วเป็นการนำพื้นที่ 1 จาก 3 ตึกของโครงการทั้งหมดมาปรับปรุงห้องพักผู้สูงวัย จำนวน 70 ยูนิตบนพื้นที่ 7 ชั้น แล้วปรับปรุงพื้นที่ส่วนกลาง ทั้งสวนกลางแจ้ง สระว่ายน้ำ รวมถึงอาคารสปอร์ตคลับเดิมให้เป็นส่วนใช้สอย เพื่ออำนวยความสะดวกใหม่ๆ ทั้งร้านอาหาร ร้านทำผม ห้องประชุม และพื้นที่กิจกรรมสำหรับการออกกำลังกาย ที่ลูกบ้านทุกคนทั้งใน NAYA และ Riverine เดิมมาใช้บริการร่วมกันได้

โครงการบ้านที่ออกแบบเพื่อดูแลคนสูงวัยครบด้าน ให้คนสูงวัยอยากมาใช้ชีวิตอยู่อย่างยืนยาว และไม่เป็นตราบาปสำหรับลูก
โครงการบ้านที่ออกแบบเพื่อดูแลคนสูงวัยครบด้าน ให้คนสูงวัยอยากมาใช้ชีวิตอยู่อย่างยืนยาว และไม่เป็นตราบาปสำหรับลูก
โครงการบ้านที่ออกแบบเพื่อดูแลคนสูงวัยครบด้าน ให้คนสูงวัยอยากมาใช้ชีวิตอยู่อย่างยืนยาว และไม่เป็นตราบาปสำหรับลูก

อรฤดีเล่าให้ฟังถึงโอกาสจากการนำอาคารที่มีอยู่เดิมมาใช้ปรับเป็นโครงการใหม่ เพื่อสนองลูกค้ากลุ่มใหม่ว่า ทั้งทำเลและความโชคดีที่เดิมอาคารนี้มีห้องขนาดใหญ่อยู่แล้ว จึงทำเพียงทุบผนังเพื่อปรับปรุงห้องให้กว้างขวาง อยู่สบายมากขึ้น โดยเชื่อมต่อห้องนั่งเล่นและครัวด้วยกันเพื่อเพิ่มความโปร่ง วัสดุปูพื้นที่เลือกใช้เป็นวัสดุลดการบาดเจ็บถ้าเกิดหกล้ม และทุบประตูเก่าออกหมด พร้อมขยายขนาดเพื่อรองรับรถเข็นในอนาคต

โครงการบ้านที่ออกแบบเพื่อดูแลคนสูงวัยครบด้าน ให้คนสูงวัยอยากมาใช้ชีวิตอยู่อย่างยืนยาว และไม่เป็นตราบาปสำหรับลูก
โครงการบ้านที่ออกแบบเพื่อดูแลคนสูงวัยครบด้าน ให้คนสูงวัยอยากมาใช้ชีวิตอยู่อย่างยืนยาว และไม่เป็นตราบาปสำหรับลูก

NAYA Residence มีห้องพักให้เลือก 2 รูปแบบ แบบ 1 ห้องนอนมีขนาดตั้งแต่ 62 – 76 ตารางเมตร และแบบ 2 ห้องนอนมีขนาด 105 – 120 ตารางเมตร ซึ่งถือว่าใหญ่กว่าห้องพักในอาคารชุดอื่น โดยเฉพาะในกลุ่มที่เพิ่งสร้างใหม่

นอกจากข้อได้เปรียบด้านกายภาพ ศักยภาพของที่นี่ อยู่ที่ลูกบ้านเดิมของ Riverine อยู่อาศัยมาเป็นเวลานาน จนกลายเป็นกลุ่มที่พร้อมก้าวสู่วัยเกษียณจำนวนมากกว่าครึ่ง ทุกคนจึงคุ้นเคยกัน มีความเป็นชุมชนที่เข้าใจ และพร้อมรับกิจกรรมสำหรับวัยอิสระที่ทางโครงการออกแบบไว้

โครงการบ้านที่ออกแบบเพื่อดูแลคนสูงวัยครบด้าน ให้คนสูงวัยอยากมาใช้ชีวิตอยู่อย่างยืนยาว และไม่เป็นตราบาปสำหรับลูก

ที่ขาดไม่ได้สำหรับคนสูงวัย คืองานบริการด้านสุขภาพ ที่นี่มีพยาบาลเป็น Registered Nurse หรือเป็นทีมพยาบาลประจำการตลอด 24 ชั่วโมง

“ทุกๆ ห้องใน NAYA Residence จะติดอุปกรณ์ทางด้านเทคโนโลยีของ ‘SCG DoCare’ ซึ่งแจ้งขอความช่วยเหลือฉุกเฉินได้จากอุปกรณ์ แล้ว DoCare เองก็ตรวจจับการหกล้ม หรือการเข้าห้องน้ำนานเกินไป และแจ้งเตือนอัตโนมัติไปยังพยาบาลเพื่อเข้าให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที” หมอนาฏอธิบายถึงสิ่งสำคัญที่มอบให้ผู้อยู่อาศัยในยามฉุกเฉิน 

โครงการบ้านที่ออกแบบเพื่อดูแลคนสูงวัยครบด้าน ให้คนสูงวัยอยากมาใช้ชีวิตอยู่อย่างยืนยาว และไม่เป็นตราบาปสำหรับลูก
โครงการบ้านที่ออกแบบเพื่อดูแลคนสูงวัยครบด้าน ให้คนสูงวัยอยากมาใช้ชีวิตอยู่อย่างยืนยาว และไม่เป็นตราบาปสำหรับลูก

หมู่บ้านส่งเสริมสุขภาพ

เพราะได้กล่าวว่า ความปลอดภัยด้านสุขภาพเป็นปัจจัยสำคัญสุดสำหรับกลุ่มคนที่ร่างกายต้องได้รับการดูแล

นอกจากบริการด้านการป้องกัน ที่นี่จึงมีบริการด้านการส่งเสริม เช่น มีนักกายภาพบำบัดดูแลสภาพร่างกาย มีนักโภชนาการดูแลเรื่องอาหาร รวมถึงการมีพื้นที่ออกกำลังกายที่เหมาะกับช่วงวัย เช่น การออกกำลังกายในสระว่ายน้ำ หรือ Aqua Exercise ที่หมอนาฏเล่าว่ากำลังได้รับความสนใจ และเป็นแนวคิดการดูแลเรื่องสุขภาพที่เหนือกว่าการรักษา

“เพราะเราไม่ต้องการรอไปจนถึงตอนป่วยหรือตอนเกิดเหตุ ซึ่งมันเป็นแนวคิดด้านการแพทย์สมัยก่อน คือเป็น Medical Paradigm การรอจนเป็นโรคแล้วค่อยรักษา แต่ตอนนี้เราต้องการเป็น Wellness Paradigm การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันการเกิดโรค”

โครงการบ้านที่ออกแบบเพื่อดูแลคนสูงวัยครบด้าน ให้คนสูงวัยอยากมาใช้ชีวิตอยู่อย่างยืนยาว และไม่เป็นตราบาปสำหรับลูก
NAYA Residence เปลี่ยนภาพบ้านพักคนชรา สู่ที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ชีวิต ‘วัยอิสระ’

แน่นอนว่าทั้งหมดเป็นไปได้ด้วยการออกแบบปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ส่วนกลางของโครงการใหม่ โดยเฉพาะในสวน ที่เดิมเป็นพื้นทรายล้าง ในแง่ของการออกกำลังเดินหรือวิ่งเบาๆ มีความเสี่ยงบาดเจ็บ จึงไม่ค่อยถูกใช้งาน พวกเขาเปลี่ยนเป็นพื้นยางและติดไฟเพิ่ม พร้อมคำนึงถึง Universal Design

นี่เป็นอีกข้อของการออกแบบ NAYA Residence ที่ทั้งคู่ให้ความสำคัญ จึงนำอุปกรณ์ส่งเสริมด้านสุขภาพและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครันมาติดตั้ง และยังรวมไปถึงห้องพักกับทุกๆ ส่วนของโครงการด้วย ซึ่งการทำเช่นนี้ สมาชิกที่ต้องการมาอยู่ใหม่ก็เบาใจได้ว่า เมื่อปลดเปลื้องภาระทั้งหลายเพื่อจะก้าวสู่วัยเกษียณแล้ว ที่นี่จะมอบคุณภาพของชีวิตอิสระได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง

NAYA Residence เปลี่ยนภาพบ้านพักคนชรา สู่ที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ชีวิต ‘วัยอิสระ’

ทางเลือกชีวิตคุณภาพในวัยอิสระ

“ในประเทศไทย ผู้สูงอายุโดยส่วนมากยังคงอยู่ในบ้านเดิม ส่วนใหญ่คงต้องปรับให้เหมาะสม แล้วก็ใช้งานได้สะดวกสบาย ปลอดภัย” หมอนาฏเกริ่นถึงความเป็นไปได้แบบต่างๆ ของชีวิตผู้คนในวัยเกษียณ

“สำหรับคนที่อยู่ในบ้านใหญ่ตัวคนเดียว รู้สึกว่าเป็นภาระทั้งการดูแลบ้าน ทั้งความปลอดภัย หรืออาจไม่มีคนช่วยเหลือเวลาจำเป็น นี่เป็นเลือกทางเลือกที่เรานำเสนอ คือการเป็น Senior Living เป็นชีวิตที่ Downsize หรือลดขนาดลงมาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีสังคมใหม่ อาจจะได้เพื่อนใหม่ รวมถึงมีน้องๆ พยาบาลผู้ดูแลให้มีความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย”

โครงการบ้านที่ออกแบบเพื่อดูแลคนสูงวัยครบด้าน ให้คนสูงวัยอยากมาใช้ชีวิตอยู่อย่างยืนยาว และไม่เป็นตราบาปสำหรับลูก

NAYA Residence เป็นรูปแบบให้เช่าในระยะยาว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการว่าจะเช่าเต็มที่ 30 ปีหรือน้อยกว่า แต่หากยังไม่แน่ใจ จะลองมาอยู่ก่อนในระยะไม่กี่เดือนก็ตกลงกับทางโครงการได้ และที่นี่ยังถือว่าเป็นรูปแบบชีวิตทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการมองหาอิสระในชีวิตหลังเกษียณ นั่นย่อมหมายถึงการละซึ่งสมบัติที่เคยถือครองมาในชีวิต และถือสัมภาระมาแต่พอควร สู่สถานที่ใหม่ที่ง่ายต่อการดูแลด้วย 

“สมาชิกส่วนใหญ่เป็นคนโสดหรือเป็นคู่สามีภรรยาที่ไม่มีลูก รวมถึงมีคู่ที่ลูกๆ แยกย้ายไปสร้างครอบครัวของตัวเอง โดยปัจจุบันสังคมเริ่มมองที่พักสำหรับผู้สูงอายุเปลี่ยนไป จากที่อาจเคยมองว่าเป็นการทอดทิ้ง แต่กลับกัน ผู้สูงวัยเองกลับเป็นผู้มองหาบ้านหลังสุดท้ายรูปแบบใหม่ที่จะมอบชีวิตเสรีให้พวกเขาได้สมบูรณ์กว่า” หมอนาฏผู้มีประสบการณ์เรื่องที่พักผู้สูงวัยอย่างยาวนาน เล่าให้ฟังถึงค่านิยมอันเปลี่ยนไปที่เธอสัมผัสได้ จนไม่รู้สึกว่าการมาอยู่บ้านพักคนชรา ทำให้ตัวเองด้อยหรือว่าถูกทอดทิ้ง

NAYA Residence เปลี่ยนภาพบ้านพักคนชรา สู่ที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ชีวิต ‘วัยอิสระ’
NAYA Residence เปลี่ยนภาพบ้านพักคนชรา สู่ที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ชีวิต ‘วัยอิสระ’

“หมอเริ่มทำงานกับผู้สูงอายุตั้งแต่สมัยที่ถ้าใครเข้ามาอยู่ในบ้านพักผู้สูงอายุ มีตราบาปติดอยู่ที่หน้าผากเลยว่าถูกทอดทิ้ง แต่สังคมเปลี่ยนไปแล้ว สังคมได้รับการให้ความรู้ ให้ข้อมูลเรื่องทางเลือกในการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุ ตอนนี้เขากลับรู้สึกว่าลูกได้ตอบแทนเขา ได้มอบสิ่งที่ดีๆ และคุณภาพชีวิตที่ดีให้ ในขณะเดียวกันลูกเองก็ไม่ได้ตัดสายใย ก็ยังเข้ามาดูแลกันอยู่เสมอ

“การที่เข้ามาทำงานตรงนี้ เรามาด้วยจุดมุ่งหมายที่พบว่าคนไทยอายุยืนขึ้น ในฐานะแพทย์ เราหวังว่าจะส่งเสริมให้ผู้สูงอายุอายุยืนอย่างมีคุณค่า มีสุขภาพดี แล้วก็ได้มีคุณภาพชีวิตดี”

NAYA Residence เปลี่ยนภาพบ้านพักคนชรา สู่ที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ชีวิต ‘วัยอิสระ’
โครงการบ้านที่ออกแบบเพื่อดูแลคนสูงวัยครบด้าน ให้คนสูงวัยอยากมาใช้ชีวิตอยู่อย่างยืนยาว และไม่เป็นตราบาปสำหรับลูก

จุดมุ่งหมายนี้ได้เป็นจริง ด้วยประสบการณ์ของนักพัฒนาโครงการอย่างอรฤดี ที่เล่าว่าตัวเองเป็นผู้หนึ่งซึ่งได้ก้าวเข้าสู่วัยอิสระแล้ว การพัฒนาโครงการนี้ นอกจากเป็นการริเริ่มโครงการรูปแบบใหม่ที่ตัวเองไม่เคยทำ ส่วนหนึ่งก็มาจากแรงผลักดันและความปรารถนาส่วนตัว ว่าต้องการเห็นที่อยู่อาศัยคุณภาพของผู้สูงวัยมีมากขึ้นในประเทศไทย และอีกส่วนหนึ่งก็เป็นความท้าทายของบทบาทนักพัฒนาโครงการเอกชน นำเสนอสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้

“เรามีความเชื่อตรงนี้ อาจเพราะเป็นวัยอิสระรุ่นใหม่ พอได้ส่งตัว NAYA Residence ไปให้คนรุ่นเราประมาณหกสิบต้นๆ ดู ทุกคนจะบอกว่าน่าสนใจมาก อยากจะย้ายไปอยู่ จะได้ไม่เป็นภาระใคร” ผู้พัฒนาโครงการวัยเก๋า เผยวิธีเก็บฟีดแบ็กจากวัยใกล้ตัวให้ฟัง ก่อนเสริมว่า นี่จะช่วยเปิดมุมมองใหม่ให้กับภาคเอกชนที่สนใจ อยากจะเข้ามาทำโครงการบ้านพักผู้สูงวัย 

“เป็นเรื่องที่ต้องปรับความคิด เราทำงานบริษัทเอกชน ด้วยความที่เคยทำแต่บ้านและคอนโดฯ ขาย ก็มีโมเดลการทำธุรกิจเรื่อง Maximize Profit หรือการทำกำไรสูงสุด แต่พอเรามาเจอบ้านพักผู้สูงวัย มันไม่ใช่เป็นการขายแบบตรงไปตรงมา แต่กลายเป็นการเช่าซื้อระยะยาว เพราะฉะนั้น โมเดลธุรกิจจะต้องเปลี่ยนไป ไม่ใช่เพื่อกำไรสูงสุดอย่างเดียว แต่ทำยังไงถึงจะยืดหยุ่นเพื่อลูกค้าเป็นหลัก 

“เรามองเห็นความยั่งยืนของธุรกิจ โดยต่อยอดจากการทำธุรกิจขายบ้านให้คนในวัยที่เริ่มต้นชีวิตครอบครัว แล้วเราก็ได้ดูแลเขาไปจนกระทั่งวัยที่เขาเกษียณ พออายุมากขึ้น คุณขายบ้าน ออกจากโครงการที่เคยซื้อเรานะ แล้วก็ย้ายเข้ามาอยู่ตรงนี้ ครบวงจรของชีวิตของมนุษย์ที่เราตอบโจทย์ได้ตั้งแต่หนุ่มจนแก่”

โมเดลธุรกิจที่คิดอย่างถ้วนถี่ ด้วยประสบการณ์หลากหลายด้าน ไม่เพียงทำให้ได้ฐานลูกค้าระยะยาวต่อเนื่อง แต่ตอบโจทย์การวางแผนชีวิตทุกสเต็ปของผู้คนเป็นอย่างดี

โครงการบ้านที่ออกแบบเพื่อดูแลคนสูงวัยครบด้าน ให้คนสูงวัยอยากมาใช้ชีวิตอยู่อย่างยืนยาว และไม่เป็นตราบาปสำหรับลูก

Writer

Avatar

กรกฎ หลอดคำ

เขียนเรื่องบ้านและงานออกแบบเป็นงานประจำ สนใจเรื่องราวทางสังคมและวัฒนธรรมในงานสถาปัตยกรรมเป็นพิเศษ

Photographer

Avatar

รัชต์ภาคย์ แสงมีสินสกุล

ช่างภาพที่มีร้านล้างฟิล์มเป็นของตัวเอง แต่นานๆจะถ่ายฟิล์มที เพราะช่วงนี้ฟิล์มมันแพง