01 ความรัก ความยุติธรรม และแรงบันดาลใจในการเก็บเมล็ดพันธุ์
ยังจำความรู้สึกวันนั้นได้อยู่เลยว่าตื่นเต้นขนาดไหน…
วันนั้นเป็นวันที่ได้รับอีเมลจากคนต้นแบบของเราคนหนึ่ง ทำให้เราตื่นเต้น จองตั๋วจากอินเดียไปลงเดลี แล้วจองรถไฟจากเดลี ไปที่เมืองเดราดุน (Dehradun) ทางตอนเหนือของอินเดียในวันเดียวกัน ครั้งนั้นเป็นทริปที่ไปอินเดียครั้งที่เท่าไหร่นับไม่ถ้วน แม้ว่าทุกครั้งจะมีเรื่องราวน่าประทับใจไม่ซ้ำกัน แต่ครั้งนี้ฉันกำลังจะได้ไปพบกับป้าคนแกร่งคนหนึ่งของอินเดียชื่อ วันทนา ศิวะ เธอตอบอีเมลด้วยตัวเอง และบอกว่ายินดีมากที่จะให้ฉันเข้าพบและสัมภาษณ์ ในช่วงบ่ายของวันหนึ่งที่ศูนย์การเรียนรู้ ‘นวธัญญะ’ (Navdanya) ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยมุนาที่ไหลมาจากเทือกเขาหิมาลัย และมาหลอมรวมเป็นแม่น้ำคงคา ได้ยินมาว่าเมืองนี้สวยมาก
นวธัญญะ หมายถึง เมล็ดพันธุ์เก้าเมล็ด และ ของขวัญใหม่ เป็นสัญลักษณ์ของการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ผู้รักษาเมล็ดพันธุ์คือผู้ให้เมล็ดพันธุ์ที่แท้จริง
แม้เหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางจากไทยไปถึงที่นั่นรวดเดียว เพื่อพบ ป้าวันทนา ศิวะ เช้าวันนั้นเราก็ไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเลย ถ้าใครรู้จักเธอจากภาพข่าว บทความสัมภาษณ์ หรือสารคดีต่างๆ บทสัมภาษณ์และท่าทางของเธอออกรสออกชาติดุเดือด เมื่อเธอพูดถึงปัญหาการตัดต่อ ครอบครองเมล็ดพันธุ์ของบรรษัทยักษ์ข้ามชาติและรัฐ แต่วันนั้นเธอเดินเข้ามาหาเราด้วยรอยยิ้มเปี่ยมความเมตตาเอ็นดู
คำถามแรกที่พุ่งไปหาเราพุ่งไปหาเธอเลยคือ “อะไรทำให้เธอมีความกล้าและอาวุธ ที่จะต่อสู้กับบรรษัทยักษ์ใหญ่ที่จ้องจะครอบครองเมล็ดพันธุ์บนโลกใบนี้”
เธอยิ้มอีกครั้ง แต่สายตาเธอเปลี่ยนไป ความดุดันเอาเรื่องและจริงจังส่อมาในแววตา
คำตอบของเธอมี 3 ข้อ
ข้อที่ 1 ‘ความรัก’ เธอบอกว่า เพราะว่าเธอเคยเป็นแม่คน และเป็นลูกสาวมาก่อน เธอทั้งรู้จักและให้และรับ ความรักแบบที่ไม่มีเงื่อนไข เธอบอกว่าเมล็ดพันธุ์ก็มีความรักแบบนั้นให้กับผืนดิน มนุษย์ และสรรพสิ่ง เมล็ดพันธุ์เป็นสิ่งที่ไม่ควรมีใครครอบครอง ตัดต่อ และหาผลประโยชน์
ข้อที่ 2 ‘ความยุติธรรม’ ถึงให้เราแสร้งปิดตา เราก็ต้องเห็นความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับชาวนา เกษตรกรในอินเดียที่ฆ่าตัวตายปีละเป็นแสน เพราะการหลอกลวงของบรรษัทข้ามชาติเหล่านี้ การตัดต่อพันธุกรรมเมล็ดพันธุ์ทำให้วิถีการปลูก การกิน การขาย เป็นไปทางที่พวกเขากำหนดได้ ไม่ว่าจะเป็นราคา วิถีการปลูกที่ต้องใส่ปุ๋ย ยา และตลาดที่พวกเขาสร้างกลไกตลาดขึ้นมา ถ้ามองเห็นความยุติธรรมนี้แล้วไม่ทำอะไร จะมีไปสู่หน้ากับชาวนาที่ปลูกข้าวให้เรากินอยู่ทุกวันได้อย่างไร
ข้อที่ 3 ‘แรงบันดาลใจ’ เธอได้แรงบันดาลใจจากคานธีที่ต่อสู้กับราชอาณาจักรอังกฤษ โดยใช้เมล็ดฝ้ายเล็กๆ ทำให้คนกลับมาปั่นฝ้าย ทอผ้าฝ้ายใช้เอง ไม่ใช้ผ้านำเข้าจากราชอาณาจักรในยุคสมัยนั้น และปลุกประเทศให้ได้รับเอกราชในเวลาต่อมา
เธอคิดว่าโรงเรียนเก็บเมล็ดพันธุ์นวธัญญะ กำลังต่อสู้เพื่อเอกราชอีกครั้งของประเทศอินเดีย ด้วยการเก็บเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน
02 ความฝันเปลี่ยนไป เมื่อรักษาภูเขาลูกนั้นไว้ได้
คำถามที่สอง 2 เราคือ “อะไรที่เป็นจุดเปลี่ยนให้ ป้าวันทนา ศิวะ ทำในสิ่งที่ทำทุกวันนี้ ครอบครัว การศึกษา หรืออะไร”
เธอเล่าให้ฟังว่าเคยฝันจะเป็นนักฟิสิกส์ เรียนตรงมาทางสาขานั้น แต่ว่าเติบโตมาในครอบครัวนักกิจกรรมยุคคานธีที่ต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราช จุดเปลี่ยนจากนักฟิสิกส์ของเธอเริ่มจากงานวิจัยชิ้นหนึ่ง เธอต้องออกไปเก็บข้อมูลที่หมู่บ้านในหุบเขาแห่งหนึ่งหกเดือน แทนที่เธอจะได้งานวิจัยฟิสิกส์ของเธอกลับมา เธอกลับได้มีส่วนร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเข้าร่วมขบวนการต่อสู้เพื่อรักษาภูเขาและป่าไม้ตรงนั้น ไม่ให้ถูกสัมปทานโดยบริษัทข้ามชาติ ตั้งแต่นั้นการอยู่ในห้องแล็บไม่มีความหมายกับเธออีกต่อไป
เธอเริ่มการทำงานกับขบวนการภาคสังคม เพื่อต่อสู้เรียกร้องเรื่องอธิปไตยในการเก็บเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม เพื่อรักษาเมล็ดพันธุ์อันอุดมสมบูรณ์ของอาหารที่หลากหลาย เธอทำงานในท้องไร่ ท้องนา สวนของเกษตรกรเป็นเวลาหลายปี จนเห็นว่ามันจับต้องและเห็นเป็นรูปธรรมได้ยาก จึงตั้งนวธัญญะขึ้นมา
นวธัญญะเป็นทั้งโรงเรียนเรื่องเมล็ดพันธุ์ มหาวิทยาลัยเรื่องนิเวศวิทยาในการดูแลโลก ฟื้นดูดิน น้ำ และความหลากลายทางชีวภาพ ผู้สอนและผู้เรียนส่วนใหญ่เป็นคุณย่าคุณยายชาวนา เกษตรกรชาวบ้านกันเอง รื้อฟื้นความรู้พื้นเมืองที่อุดมไปด้วยอารยธรรมเชิงนิเวศของคนรุ่นก่อน
นวธัญญะ มีธนาคารเก็บเมล็ดพันธุ์พื้นเมืองจากชุมชนทั่วอินเดียกว่า 150 แห่ง โดยการออม แบ่งปัน และเพาะพันธุ์พันธุ์พื้นเมืองจาก 22 รัฐในอินเดีย เก็บโดยการ ปลูก กิน แจกจ่าย เมล็ดพันธุ์จึงจะมีวงจรชีวิตจริง
นวธัญญะ ทำให้อาหารไม่ใช่สินค้าที่ผลิตด้วยสารพิษและสารเคมีสังเคราะห์ ซึ่งผลักดันให้สัตว์สูญพันธุ์ ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แพร่โรคภัยไข้เจ็บ และโรคระบาดใหญ่
อาหารคือชีวิต อาหารคือสุขภาพ การปลูกอาหารในระบบนิเวศ คือการดูแลโลกและการฟื้นฟูดิน น้ำ และความหลากหลายทางชีวภาพ เมื่อคุณเชื่อมต่อโดยตรงผ่านการรับประทานอาหารออร์แกนิก เพื่อดูแลสุขภาพและสุขภาพของผู้ผลิต เกษตรกร ผู้บริโภค และโลก ไปด้วยกัน
03 กลับมาเรียนรู้จากคนรุ่นย่ายาย
คำถามที่ 3 คือ “เธอเรียนรู้เรื่องการเก็บเมล็ดพันธุ์นี้จากไหน”
เธอชี้ไปยังผู้หญิงคนหนึ่งที่กำลังนั่งแกะเมล็ดข้าวโพด เธอบอกว่าป้าคนนั้นชื่อ บิจา (Bija) เป็นคนทำงานในบ้านของเธอตั้งแต่ยังเล็ก ลำพังเธอเองโตมากับการศึกษากระแสหลักในโรงเรียน ไม่เคยได้เรียนรู้เรื่องเหล่านี้หรอก ตอนที่เธอประกาศว่าจะทำโรงเรียนเก็บเมล็ดพันธุ์ เธอก็ให้ป้าบิจาพาไปที่หมู่บ้านที่ป้าเกิด และเรียนรู้เรื่องการเก็บเมล็ดพันธุ์ที่นั่น
เธอได้เห็นพันธุ์ข้าวที่ไม่กลัวน้ำท่วม แต่จะสูงกระโดดยืดขึ้นมาในเวลาที่น้ำหลาก ได้เห็นพันธุ์มะเขือเทศหลายสิบชนิด และพืชพรรณธัญญาหารอื่นๆ ที่เธอไม่เคยได้กินมาก่อนในชีวิต เธอจึงขอให้ป้าบิจามาเป็นครูคนแรกของโรงเรียนเก็บเมล็ดพันธุ์แห่งนี้ รวมทั้งเชิญคุณป้าคุณย่าคุณยายที่อยู่ในหมู่บ้านทั่วประเทศอินเดียมาเป็นครู และแลกเปลี่ยนรวบรวมความรู้เรื่องการเก็บเมล็ดพันธุ์ โดยทุกคนนำเมล็ดพันธุ์ที่ตัวเองและบรรพบุรุษเก็บสะสมต่อเนื่องกันไว้มาที่นี่ด้วย การเรียนรู้เรื่องการเก็บเมล็ดพันธุ์เหล่านี้จากบรรพบุรุษ ได้ถูกส่งต่อไปให้กับชาวนาเกษตรกรทั่วประเทศอินเดียแล้ว
ที่นี่ยังทำงานวิจัย มีอาสาสมัครนักฝึกงานที่มาทำฐานข้อมูลเรื่องความหลากหลายทางชีวิภาพของเมล็ดพันธุ์อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเธอเคยเป็นนักฟิสิกส์มาก่อน เธอจึงต้องการฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ เหล่านี้ไว้ด้วย
วันที่เราไป เรายังได้พบกับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยในฝรั่งเศส อเมริกา เยอรมนี ที่มาเข้าเรียนโปรแกรม Earth Democracy University พวกเขาบอกว่าคอร์สเรียนมีระยะเวลา 6 เดือน ในช่วง 2 เดือนแรกต้องเขียนหลักสูตรการเรียนรู้ขึ้นมาเอง จากการได้ลงภาคสนามไปอยู่กับชาวนา เกษตรกร สืบค้นปัญหา ทดลองปฏิบัติ จนเข้าใจชีวิตและกลไกและหายนะของการครอบครองตัดต่อพันธุกรรมของเมล็ดพันธุ์ในสังคมอินเดียก่อน จากนั้นพวกเขาถึงจะได้เริ่มสืบค้นหาคำตอบ และวิธีการที่จะนำเมล็ดพันธุ์ดั้งเดิมและความหลากหลายกลับมา
04 การศึกษาผลิตผู้บริโภคที่เชื่อง
คำถามสุดท้าย “การศึกษาในกระแสหลักมีส่วนทำให้เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านและความหลากหลายหายไปได้อย่างไร”
เธอหัวเราะให้คำถามนี้ และมีคำตอบที่ทำให้เรายิ้มไม่ออก เธอบอกว่าการศึกษาในโรงเรียนในสถาบันทุกวันนี้ ได้แต่สอนให้เราไปเป็นลูกจ้างของบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่เหล่านั้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และเปลี่ยนวิถีให้เราเป็นผู้บริโภคที่เชื่อง เราคิดว่าเราเป็นผู้มีการศึกษาเลือกอยู่เลือกกินได้ แต่ที่ไหนล่ะ ในตลาดทุกวันนี้มีพืชพันธุ์ผักอยู่ไม่กี่ชนิด ล้วนเป็นพืชพันธุ์ผักที่ตัดต่อพันธุกรรมเพื่อให้ขนส่งและเก็บได้นาน แต่หารสชาติที่แท้จริงของพืชพันธุ์เหล่านั้นไม่ได้เลย เราจึงต้องพึ่งสารปรุงรสต่างๆ ในอาหาร ซึ่งก่อให้เกิดโรคอีกมากมาย การศึกษาส่งเราไปในวิถีชีวิตที่เร่งรีบ และสุดท้ายเก็บเงินเพื่อรักษาตัวในบั้นปลายชีวิต
นวธัญญะนอกจากเป็นโรงเรียนสำหรับชาวนา เกษตรกร นักกิจกรรมแล้ว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ให้คนที่มีการศึกษาแล้วรู้ตัวว่าได้เดินออกไปไกลจาก ปัจจัยพื้นฐานในการมีชีวิตที่แท้นั่นก็คือ ปัจจัย 4 อาหาร บ้าน ยา และความสุขเรียบง่ายที่ได้กลับมาใช้ชีวิตที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติรอบตัว ดิน น้ำ อากาศบริสุทธิ์ ผีเสื้อ ดอกไม้ มากกว่านี้ อะไรอีกที่ชีวิตเราต้องการนักหนา
และที่นี่ทำให้คนเห็นว่า เมื่อเรามีพื้นฐานในชีวิตที่เรียบง่ายมากเท่าไหร่ เราก็จะแบ่งปันได้มากกว่า
05 การส่งต่อเมล็ดพันธุ์
หลังจากได้พบกับ ป้าวันทนา ศิวะ ที่นวธัญญะในทริปอินเดียครั้งนั้น ฉันก็ไม่ได้กลับอินเดียอีกเลยในอีกหลายปี
เมล็ดพันธุ์ที่ ป้าวันทนา ศิวะ ได้มอบให้ ไม่ได้เป็นเมล็ดพันธุ์สักเมล็ดที่จับต้องได้ในวันนั้น สิ่งที่ป้าวันทนาได้ส่งต่อให้ฉัน อาจจะเป็นเมล็ดพันธุ์ที่เติบโตอยู่ในใจของฉันมาตลอด วันหนึ่งที่ฉันได้มีโอกาสปักหลักลงดิน สร้างอาณาจักรเล็กๆ สวนศิลป์บินสิ Films Farm School ของฉันเอง ฉันก็ได้เริ่มเก็บเมล็ดพันธุ์ และส่งต่อของขวัญและเมล็ดพันธุ์ให้กับคนอื่นๆ ด้วยเช่นกันทั้งในไร่นาสวน และในใจของพวกเขา