ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน หลายคนคงทันดูรายการ Disney Club ทุกเสาร์-อาทิตย์ตอนเช้าตรู่ที่มี ส้ม-ณัฐวรา หงษ์สุวรรณ เป็นหนึ่งในพิธีกร โตขึ้นมาหน่อยคงได้เห็นเธอในภาพยนตร์ เกิร์ลเฟรนด์ 14 ใสกำลังเหมาะ ละคร ทีเด็ด ครูพันธุ์ใหม่จิตพิสัยเดือด และบทตัวร้ายในละครหลายเรื่องหลังจากนั้น ผลงานสุดท้ายของเธอคือใน พ.ศ. 2554 ก่อนจะเดินทางไปเรียนต่อทางด้านการแสดงที่ Stella Adler Academy of Acting & Theatre ที่ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา และปริญญาโทคณะศิลปศาสตร์ สาขา Western Classics มหาวิทยาลัย St. John’s College

ชีวิตของเธอในอเมริกา ฟังเผินๆ อาจจะไม่ต่างจากเด็กไทยคนอื่นที่ไปเรียนต่อ ทำงานพิเศษที่ร้านอาหาร ใช้ชีวิตส่วนหนึ่งเรียน อีกส่วนท่องเที่ยวและปาร์ตี้กับเพื่อนๆ แต่พอได้มานั่งคุยกับเธอจริงๆ ถึงได้รู้ว่า ชีวิตที่โน่นนำมาซึ่งหลายอย่างที่ทำให้เธอเป็นตัวเองในทุกวันนี้ เธอเคยตัดสินใจโกนหัวบวชในวัดเซน เคยย้ายไปอยู่ในเมืองเล็กๆ ที่ไม่มีแม้แต่ไฟฟ้า และกลายเป็นตัวตั้งตัวตีในการเคลื่อนไหวสิทธิสตรีของมหาวิทยาลัย 

ปัจจุบันส้มเป็นครูสอนการแสดงและผู้ก่อตั้งสตูดิโอ The Cave นำเสนอเทคนิคการแสดงจากประสบการณ์และสิ่งที่เธอได้เรียนมา โดยผสมผสานปรัชญาตะวันตกกับแนวทางปฏิบัติแบบตะวันออก ออกมาเป็นบทเรียนหลายรูปแบบหรือแม้กระทั่ง Book Club ที่เธอและนักเรียนร่วมกันตั้งขึ้นมา

เธออยู่เบื้องหลังนักแสดงดังรุ่นใหม่หลายคน และเพิ่งแปล Plato’s Meno เสร็จ ตอนนี้กำลังแปลบทละครคลาสสิกและหนังสือปรัชญากรีก พร้อมเขียนบทละครเวทีเรื่องหนึ่งอยู่

Is this the real life? Is this just fantasy?”

การกลับมาของ ส้ม ณัฐวรา หงษ์สุวรรณ อดีตพิธีกร Disney Club ในฐานะครูผู้เชื่อในจิตวิญญาณการแสดง
การกลับมาของ ส้ม ณัฐวรา หงษ์สุวรรณ อดีตพิธีกร Disney Club ในฐานะครูผู้เชื่อในจิตวิญญาณการแสดง

เพลง Bohemian Rhapsody ของวง Queen ดังขึ้นภายในสตูดิโอสีดำที่อยู่บนชั้น 4 ของอาคารขนาดหนึ่งคูหา สิ่งที่อยู่ตรงหน้าคือคลาสเรียนหนึ่งของส้ม เธอนัดเรามาล่วงหน้าเพื่อให้มาสังเกตการณ์สิ่งที่เธอทำ

สปอตไลต์ 2 ดวงฉายจ้าลงมาบริเวณเวที นักแสดงที่มาในวันนั้นมีประมาณ 10 คน (ส้มเรียกนักเรียนว่านักแสดง) หนึ่งในนั้นเป็นนักแสดงตาบอด คลาสเริ่มจากการให้นักแสดงวอร์มร่างกายผ่านเสียงเพลง ทันทีที่เพลงขึ้น นักแสดงทุกคนต่างทิ้งบุคลิกตัวตนที่มี และถ่ายทอดอารมณ์ผ่านร่างกายตามโจทย์ของแต่ละเพลง หลังจากนั้น เธอให้นักแสดงขึ้นไปแสดงบนเวทีคราวละ 3 คน โดยไม่มีอุปกรณ์อื่นนอกจากเก้าอี้ หน้ากาก และสิ่งที่เธอตะโกนบอกนักแสดงตลอดคือ “อย่าคิด… อย่าคิด” 

การกลับมาของ ส้ม ณัฐวรา หงษ์สุวรรณ อดีตพิธีกร Disney Club ในฐานะครูผู้เชื่อในจิตวิญญาณการแสดง
การกลับมาของ ส้ม ณัฐวรา อดีตพิธีกร Disney Club ในฐานะครูผู้เชื่อในจิตวิญญาณการแสดง

ประสบการณ์ 2 ชั่วโมงในคลาสของเธอวันนั้น เปิดโลกให้เรารู้จักศิลปะที่เรียกว่า ‘การแสดง’ ขึ้นมาก ได้เห็นการแสดงที่ไร้ซึ่งคอสตูมหวือหวา เสียงดนตรี และฉากตระการตา แต่เป็นอารมณ์และพลังของนักแสดงล้วนๆ มันเป็นประสบการณ์ที่เรารู้ทันทีเลยว่า คงไม่สามารถบอกเล่าเป็นตัวอักษรได้อย่างสมบูรณ์ ส้มเองก็คิดแบบนั้น แต่เราทั้งคู่ได้พยายามถึงที่สุดจนออกมาเป็นบทสนทนาต่อไปนี้ ที่จะทำให้คุณรู้ว่าการแสดงคือการเข้าใจมนุษย์

การกลับมาของ ส้ม ณัฐวรา อดีตพิธีกร Disney Club ในฐานะครูผู้เชื่อในจิตวิญญาณการแสดง

เราเห็นคุณมาตั้งแต่เด็กๆ เหมือนคุณเข้าวงการบันเทิงมาตั้งแต่อายุยังน้อยมาก

เราเข้าวงการตอนอายุสิบเอ็ดขวบ เริ่มจากถ่ายโฆษณาก่อน ตอนนั้นไปแคสเพราะที่บ้านล้มละลาย เราเลยต้องช่วยคุณพ่อคุณแม่หาเงิน คิดอย่างเดียวว่าต้องได้งานๆ พออายุประมาณสิบสองก็ได้เป็นพิธีกรรายการ Disney Club เราไม่เคยออกสื่อว่าในขณะที่เรายิ้มในรายการ ที่บ้านลำบากมาก วงการบันเทิงตอนนั้นเลยเป็นงานที่ต้องทำ เป็นหน้าที่ ไม่เหมือนหลายๆ คนที่มีความฝันโตไปอยากเป็นนักแสดง 

แล้วความรักต่องานแสดงเริ่มเข้ามาตอนไหน

มันค่อยๆ เกิดขึ้น เราเล่นหนังเรื่องแรกแล้วได้รางวัลสุพรรณหงส์เลย แต่ชื่อเสียงเป็นเหมือนกับดัก เพราะเราเป็นคนอ่อนไหว ชอบอยู่คนเดียว เป็นคนอินโทรเวิร์ต (Introvert) มาก จำได้ว่าเคยออกงานที่ศูนย์วัฒธรรมแห่งชาติแล้วไปซ่อนตัวเองอยู่ในห้องน้ำ คุยกับพนักงานทำความสะอาด (หัวเราะ)

ซ่อนตัวยังไง

ซ่อนตัวจริงๆ งานแบบนี้ทำให้เรารู้สึกไม่สบายตัว เพราะคนชอบชม แล้วเราไม่เชื่อ ตอนนั้นไม่รู้ว่าความรู้สึกที่ไม่เชื่อเป็นเพราะอะไร แต่รู้สึกว่าการที่คนรอบข้างหรือผู้ใหญ่พูดเยินยอ มันมีอะไรบางอย่างผิดปกติ พอเดินพรมแดง ถ่ายรูป ทำหน้าที่อะไรของเราเสร็จ ก็เลยไปเข้าห้องน้ำเสียส่วนใหญ่ ได้คุยกับแม่บ้านแล้วรู้สึกสบายใจกว่า คุยเรื่องจิปาถะนี่แหละ แต่มันจริง มันเพียว (Pure) 

หรือวงการบันเทิงสำหรับคุณตอนนั้นมันเป็นโลกมายา

ใช่ ในมุมมองของเด็กมันเป็นโลกมายา ตอนนั้นก็จดโน้ตกับตัวเองเหมือนกันนะว่า นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น คนอยากมาเดินพรมแดง ทุกคนดูสวยงามมาก เราเองก็ได้แต่งตัวสวยๆ แต่เรากลับไม่ได้มีความสุขกับมัน ที่ต้องอยู่เพราะเป็นหน้าที่ จนอายุสิบหก เราตัดสินใจไปเรียนที่อเมริกาเพราะได้ทุน และต้องการหนีจากโลกมายานี่แหละ อยากเจอความจริง อยากใช้ชีวิตที่เดินถนนแล้วไม่มีคนจำได้ เพราะตอนนั้นเรามีชื่อเสียงขนาดที่มีคนส่งจดหมายมาที่บ้าน อยู่โรงเรียนเราก็เป็นคนเดียวที่ได้ไว้ผมยาว คนอื่นผมสั้น เพื่อนก็เขม่น ทั้งๆ ที่เราอยากมีเพื่อนมาก เราเลยพยายามตามหาอิสรภาพอีกรูปแบบหนึ่ง 

พอไปก็ไม่ได้บอกใครที่โน่นเลยว่าเคยเป็นดารา และเข้าใจผิดไปเองว่าถ้าไม่มีใครรู้จัก เราจะเจอเพื่อน จะมีชีวิตที่มีความสุข มันดีขึ้น สบายมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ใช่ เพราะชีวิตทุกชีวิตต่างก็มีปัญหา แล้วเราก็กลับมาเมืองไทย ทำงานทุกอย่างเหมือนเดิม จนสอบเข้าที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้

การกลับมาของ ส้ม ณัฐวรา หงษ์สุวรรณ อดีตพิธีกร Disney Club ในฐานะครูผู้เชื่อในจิตวิญญาณการแสดง
การกลับมาของ ส้ม ณัฐวรา หงษ์สุวรรณ อดีตพิธีกร Disney Club ในฐานะครูผู้เชื่อในจิตวิญญาณการแสดง

ทำไมเลือกเรียนเอกภาษาอังกฤษ แทนที่จะเป็นเอกศิลปการละคร

ความรู้มีเยอะมากบนโลกใบนี้ แต่มันไม่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย ไม่ครบ เราเลยรู้สึกว่าตัวเองต้องอ่านภาษาอังกฤษให้เก่ง จะได้อ่านวรรณกรรม วรรณคดี ให้เข้าใจมนุษย์มากขึ้น อันนี้คือความอยาก แต่เราเลือกเรียนโทรัฐศาสตร์ เพราะยังอยากหาอิสรภาพอยู่ ตอนนั้นเข้าใจว่าอิสรภาพอยู่ในการเมือง มันคือประชาธิปไตย คือความเท่าเทียม แต่สุดท้ายก็ไม่ใช่อยู่ดี

พอเรียนจบมีงานละครเยอะมาก ตัวร้ายทั้งนั้นเลย แล้วเราเป็นคนเซนซิทีฟอยู่แล้ว พอเล่นเป็นตัวร้ายมันดิ่ง ออกมาจากตัวละครยาก เพราะเราไม่ได้มีทักษะการแสดงจริงๆ เลยเริ่มสนใจด้านนี้อย่างจริงจัง อีกเหตุผลคือได้อ่านบทละครที่คณะ มี อีดิปุส จอมราชัน, Death of a Salesman พวกคลาสสิกต่างๆ พออ่านแล้วรู้เลยว่าสกิลล์การแสดงที่มีอยู่มันไม่เพียงพอต่อการเล่นบทเหล่านี้ 

ที่บอกว่าไม่พอ ไม่พอยังไง

เทคนิคหลักในไทยตอนนั้นที่เราเจอ คือการใช้ความทรงจำและสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตเพื่อเชื่อมต่อกับตัวละคร ทีนี้พอเป็นบทละครคลาสสิก ไม่ว่าจะเป็นเชกสเปียร์หรือกรีกก็แล้วแต่ ตัวละครคือพระราชินีแห่งเดนมาร์ก มันใหญ่โตเกินกว่าประสบการณ์ในชีวิตเราไปแล้ว แม้กระทั่งเราตกหลุมรักแฟนเรา ก็ไม่ใช่ที่โรมิโอรักจูเลียตหรือจูเลียตรักโรมิโอ เราคิดว่ามันต้องมีเทคนิคอื่นที่พาเราไปถึงจุดนั้น เราแค่ยังไม่เจอเท่านั้นเอง 

อีกอย่างคือที่ตอนนั้นเล่นบทตัวร้ายเยอะๆ มันรู้สึกถอยหลังเข้าคลอง ตัวละครควรจะพาเราไปเจอกับประสบการณ์ใหม่ๆ ควรจะทำให้นักแสดงมีประสบการณ์มากขึ้นโดยที่ไม่ต้องไปใช้ชีวิตเอง เลยตัดสินใจไปเรียนต่อด้านการแสดงที่อเมริกาโดยมีเงินเก็บสำหรับแค่หกเดือนเท่านั้น

แล้วไม่กลัวเหรอ

เราใช้ชีวิตแบบนี้มาตลอด มีแพสชัน เชื่อว่าจะทำได้ก็ไปตายเอาดาบหน้าแล้วกัน ตอนแรกทำงานเยอะมาก ทำงานร้านอาหาร แล้วอยู่ๆ ก็ได้ทุนเต็มจำนวน 

เราใช้ชีวิตสุดทุกด้าน ตอนอายุยี่สิบห้า ตัดสินใจโกนหัวบวชที่วัดเซนเพื่อหาคำตอบ หาอิสรภาพบางอย่าง เคยไปปฏิบัติธรรมในความเงียบติดต่อกันสิบวัน แต่ปาร์ตี้ไลฟ์ก็มีนะ ชีวิตที่โน่นสุดจริงๆ มันไม่เพอร์เฟกต์ เราแค่อยากใช้ชีวิตตามใจตัวเอง เอาจริงๆ เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าหัวใจของมันคืออะไรกันแน่

ต่อให้ใช้ชีวิตขนาดนั้นก็ยังไม่ได้คำตอบ

No (ยิ้ม) ทุกครั้งที่พลาด มันหมายความว่าเราเข้าใกล้ความจริงมากขึ้น คำตอบจริงๆ อาจจะไม่มีก็ได้ มันอาจจะเป็นการเดินทางสู่อะไรบางอย่าง ความล้มเหลวจะช่วยกะเทาะสิ่งที่ไม่สำคัญออกไป ตอนนี้เข้าใจแล้วว่าเราต้องทำ ต้องลอง ถ้าพบว่าไม่ใช่ก็แค่ปล่อยมันไป 

การกลับมาของ ส้ม ณัฐวรา หงษ์สุวรรณ อดีตพิธีกร Disney Club ในฐานะครูผู้เชื่อในจิตวิญญาณการแสดง

เหตุการณ์ที่ทำให้เข้าใกล้คำตอบนั้นที่สุดคืออะไร

จะประหลาดนิดหนึ่งนะ (หัวเราะ) เป็นช่วงที่ไปบวชที่ Deer Park Monastery ของท่าน Thich Nhat Hanh เราต้องอยู่เต็นท์คนเดียวท่ามกลางป่าธรรมชาติ ทำอาหารให้ทุกคน ทำความสะอาดห้องน้ำเป็นร้อยห้อง มันดีมาก เราแทบไม่ต้องคิดถึงอะไรเลย หน้าก็ไม่ต้องแต่ง วันหนึ่งเราเดินขึ้นเขาไปคนเดียวก็เริ่มรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนของโลก คือทุกอย่างบนโลกนี้มันมีแรงอยู่แล้ว ทุกอย่างเป็นควอนตัม ที่เราไม่รู้สึกเพราะเราไม่เซนซิทีฟพอ แต่พอเราใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติด้วยการตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป อย่างต้นไม้เรารู้อยู่แล้วว่าเขามีชีวิต แต่ก้อนหินนี่สิ เราจับก้อนหินแล้วมันสั่น วันนั้นเลยคิดว่าเราต้องปรับเปลี่ยนชีวิตตัวเองให้สอดคล้องกับสิ่งนี้

เราเลยมาสำรวจตัวเองเพื่อพบว่า สเตลลา แอดเลอร์ (Stella Adler) สอนเราทุกอย่างในฐานะนักแสดงแล้ว แต่เรารู้สึกว่าแอลเอไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป แม้จะเริ่มมีงานโฆษณา มีงานแคสติ้ง เล็กๆ น้อยๆ เลยตัดสินใจไป Santa Fe รัฐ New Mexico ด้วยเหตุผลเล็กๆ ข้อเดียวคือ อ่านหนังสือแล้วนักเขียนมาจากเมืองนี้ (หัวเราะ)

ก็เลยไปอยู่ Airbnb ที่ Taos เมืองที่คนใช้ชีวิตแบบไม่มีไฟฟ้า เจ้าของบ้านที่เราไปอยู่ด้วยเป็นผู้หญิงแก่ที่ปลูกสมุนไพรเยอะๆ บ้านไม่มีไฟ ต้องจุดไฟเอา แต่มันสวยมากนะ ชิลล์ ฮิปปี้ เดือนนั้นที่ไปคืออ่านหนังสือ เขียนหนังสือ อยู่กับธรรมชาติ อยู่กับตัวเองอย่างเดียว

คิดว่าจะได้อะไรจากการย้ายไป Taos

เราอยากสะท้อนชีวิตที่แอลเอกับชีวิตทั้งหมดที่ผ่านมา ความเปลือก ความไม่จริง และอยากหาคำตอบว่าจะเอายังไงกับชีวิตต่อ ชีวิตคืออะไร อิสรภาพคืออะไร ความเท่าเทียมคืออะไร ธีมเดิมในชีวิตที่ตามหาก็ยังอยู่ (หัวเราะ)

ก่อนมาเรียนต่อเข้าใจว่าอิสรภาพจะหาได้จากละครเวที มันก็ได้บ้าง เพราะเป็นการค้นหาอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ แต่มันยังขาดอีกเสาหนึ่ง พอได้ไปอยู่ซานตาเฟก็เริ่มรู้ตัวว่า จริงๆ แล้วสมองเราไม่ได้ฉลาดเท่าไหร่ เราอ่านบทละคร เราเข้าใจตัวละคร แต่การวิเคราะห์บทละครมันไปได้ลึกกว่านั้น เลยคุยกับคุณพ่อว่าขอเวลาหนึ่งปี อ่านหนังสือที่มีหลักๆ ของโลก ตั้งใจจะทำอย่างนั้นจริงๆ แต่วันหนึ่งนั่งรถไปเจอกับมหาวิทยาลัย St. John’s College มหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่ซ่อนอยู่บนเขา แล้วเขามีสอนปริญญาโทสาขา Western Classics หรือ The Great Books Programs คือต้องศึกษาหนังสือคลาสสิกของโลกทุกเล่ม โดยเฉพาะปรัชญาตะวันตกกรีกโรมัน แล้วเขาไม่มีอาจารย์มาเลกเชอร์ ไม่ให้อ่านบทวิจารณ์ด้วย แต่ให้นักศึกษาอ่านด้วยตัวเอง คุยกับคนเขียนด้วยตัวเอง ในคลาสมีแค่สิบสี่ถึงสิบหกคน

คนที่เรียนสาขานี้เขาเป็นใครกันบ้าง

หลากหลายมาก บางคนจบปริญญาเอกแล้ว บางคนเป็นทนาย เป็นทหาร เป็นหมอ แต่มันดีมากเลยนะ เพราะเราได้เห็นมุมมองจากคนแต่ละอาชีพต่องานเขียนชิ้นเดียวกัน ตอนไปทดลองเรียนก็รู้เลยว่า Love it! Love (ร้องเป็นเพลง) นี่คือสิ่งที่ฉันตามหา ตอนนั้นก็ไม่มีเงินเรียนหรอก ไปคุยกับคณบดีเพื่อขอทุน บอกเขาว่านี่เป็นวิชาที่น่าสนใจมาก ประเทศเราไม่มีอะไรแบบนี้ เราอยากรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้โลกตะวันตกมีอำนาจ อิทธิพลบางอย่างที่ส่งผลมาถึงชาวตะวันออกอย่างเราเหมือนกัน เราเรียนไปสองปีจนจบ แล้วก็ตัดสินใจกลับเมืองไทยในปีที่ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีพอดี 

แปลว่าคุณทันได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมอเมริกันอยู่พักหนึ่ง

มันเปลี่ยนไปจริงๆ ระหว่างก่อนทรัมป์กับหลังทรัมป์ เราทำเรื่องสิทธิสตรีที่มหาวิทยาลัยอยู่แล้ว เพราะมันเป็นมหาวิทยาลัยที่มีคนขาวกับผู้ชายเยอะ อย่างในคลาสปรัชญาจะมีผู้หญิงหนึ่งหรือสองคนเท่านั้น คนเอเชียนี่ไม่ต้องพูดถึง น้อยมาก (ลากเสียง) พอทรัมป์ได้รับเลือกตั้ง การเหยียดกันมันเพิ่มขึ้นจริงๆ 

ตอนเรียนเราสร้าง Movement เกี่ยวกับผู้หญิงไว้ จนได้รับการโหวตให้เป็น Phenomenal Woman on Campus โดยที่ไม่ได้ตั้งใจเลย เราแค่กล้าพูดในสิ่งที่เรารู้สึก มีเหตุการณ์หนึ่ง ปกติเวลาเรียนเราต้องแสดงความเห็น มันเป็นเรื่องยากเพราะเราต้องพูดกับทั้งอาจารย์และเพื่อนร่วมชั้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ไอเดียเราบางทีก็ต่างจากคนอื่น เหมือนต้องต่อสู้เพื่อความคิดตัวเองตลอดเวลา และวันนั้นหลังจบคลาส เขาคุยถึงนักปรัชญาที่ชอบ มีให้เลือกระหว่าง อิมมานูเอล คานต์ (Immanuel Kant) นักปรัชญาชาวเยอรมันกับอีกคน เราตอบไปว่า “I love Kant.” แบบ K-A-N-T แล้วเพื่อนฝรั่งผู้ชายคนหนึ่งที่ดูมีการศึกษาก็พูดขึ้นมาว่า “You love cunt?” ใส่หน้าเราเลย ตอนนั้นอึ้งมากนะ ออกมาจากห้องเรียนไปร้องไห้ในห้องน้ำแล้วถามตัวเองว่า เราจะทำอะไรกับมันไหม หรือจะทำเป็นลืมๆ นิ่งๆ ไป แต่ปล่อยไม่ได้ ก็เลยไปคุยกับคณบดี คุยกับเพื่อนผู้หญิง ทำให้หลายๆ คนออกมาเล่าประสบการณ์ว่าเคยเจอมาเหมือนกัน 

เราเริ่มจากการรวมตัวกันที่บ้าน มีสิบกว่าคนได้ เป็นพื้นที่ปลอดภัยของผู้หญิงก่อน แต่มันไม่ง่ายนะ จากที่เรามีชีวิตที่สงบมาเป็นคนที่ใครๆ ก็รู้จักในฐานะผู้เรียกร้องสิทธิสตรี มันโดนต่อต้านอยู่แล้ว แต่ถ้าจะเปลี่ยนแปลง เราต้องทำใจกับแรงต้านที่จะเกิดขึ้น

การกลับมาของ ส้ม ณัฐวรา หงษ์สุวรรณ อดีตพิธีกร Disney Club ในฐานะครูผู้เชื่อในจิตวิญญาณการแสดง
การกลับมาของ ส้ม ณัฐวรา หงษ์สุวรรณ อดีตพิธีกร Disney Club ในฐานะครูผู้เชื่อในจิตวิญญาณการแสดง

จากพื้นที่ปลอดภัยขนาด 10 คน การเคลื่อนไหวนี้มันไปไกลแค่ไหน

ไกลมาก มีกรณีที่อาจารย์คนหนึ่งมีประเด็น Sexual Harassment นักศึกษาเอเชีย เด็กปริญญาตรีเจอก็ร้องไห้ ไม่ได้ทำอะไรต่อ แต่ตอนเราเจอเราไม่ยอม แม้กระทั่งกลับมาเมืองไทยแล้วก็ยังพยายามตามเรื่องอยู่ แล้วอาจารย์คนนี้เคยมาสอนที่มหาวิทยาลัยในไทยด้วย แต่ไม่! เราไม่ควรยกย่องคนแบบนี้ สุดท้ายเขาก็ถูกเชิญให้ออกจริงๆ 

คุณทิ้งโอกาสใหญ่ๆ ในชีวิตเพื่อไปเจอกับสิ่งใหม่ๆ ตลอดเลย เคยเสียดายบ้างไหม

เราเพิ่งคุยกับลูกศิษย์เรื่องนี้ไป ตอนที่เล่นละคร เรารักการแสดงนะ แต่มันเป็นความรู้สึกเห็นแก่ตัว ทุกครั้งที่ไปกองถ่าย จะมีความรู้สึกบางอย่างที่ไม่ใช่ มันอึนๆ แต่ไม่รู้ว่าอะไร จนมาตอนนี้เข้าใจแล้วว่าเราต้องเป็นครู 

ตอนแรกๆ ก็อาจจะยากหน่อย แต่ตอนนี้เห็นแล้วว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิต ทั้งการค้นหาสิ่งต่างๆ มันเกิดขึ้นเพื่อให้เราได้สอนต่อ และให้นักแสดงที่เป็นนักเรียนได้ออกไปข้างนอก ความรู้สึกอึนๆ ที่รู้สึกมาเป็นสิบปีเพิ่งจะหายไปในปีนี้ ปีที่นักแสดงของเราได้โดดเด่นโลดแล่น ช่วงปีแรกเราต้องต่อสู้กับเสียงลือเสียงเล่าอ้างรอบข้าง เพราะทำสิ่งที่ต่างจากคนอื่น ถามว่าเจ็บไหม เจ็บ แต่ก็ต้องปล่อยไป เพราะเรามีเป้าหมาย ถ้าเราไม่สอนเทคนิคนี้ใครจะสอน จนนักแสดงเป็นคนพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าเทคนิคนี้มันเวิร์กผ่านผลงานของเขา ซึ่งเราไม่เคยคิดว่าจะเป็นครูเลยนะ (หัวเราะ)

แล้วกลับมาเป็นครูได้ยังไง

ตอนกลับมา เรารู้แค่ว่าต้องทำงานอาร์ต แต่ไม่รู้ว่าในรูปแบบไหน มีบริษัทใหญ่มาชวนให้ไปดูแลด้านศิลปะการละครให้เขา แต่ยังไม่ใช่ งานอาร์ตสำหรับเรามันต้องโบฮีเมียนเบาๆ (หัวเราะ)

เราเลยได้ทำงานกับสตูดิโอการแสดงเล็กๆ ที่หนึ่ง น่ารักมาก มันตอบโจทย์เราที่อยากเรียนรู้และเติบโตไปกับองค์กร พอเขาเริ่มใหญ่ขึ้นเราก็เลยออกมาทำเองเป็น The Cave สอนเทคนิคการแสดงในแบบของเรา

เทคนิคของคุณคืออะไร

จะพยายามอธิบายนะ เพราะยากมาก (คิดนาน) ถ้าพูดถึงวิทยาศาสตร์ เซอร์ไอแซก นิวตัน (Sir Isaac Niwton) เป็นคนที่พูดถึงกฎที่จับต้องได้ใช่ไหม แต่โลกไม่ได้หยุดแค่นั้น โลกมีอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) กับสตีเฟน ฮอว์กิง (Stephen Hawking) ที่พูดเรื่องควอนตัมฟิสิกส์ อะไรที่มากกว่าสิ่งที่จับต้องได้ก็คือพลังงาน และเพราะวิทยาศาสตร์กำลังเดินไปทางนั้น ศิลปะก็เช่นกัน เราอยู่ในเจเนอเรชันที่ไม่ได้แค่แสดงแล้ว เราต้องเข้าสู่จิตวิญญาณ

พลังงานเป็นสิ่งที่จับต้องได้ เช่น จักระ (ศูนย์รวมพลังในร่างกายมนุษย์) ที่คัมภีร์นาฏยศาสตร์ (คัมภีร์ที่ว่าด้วยการฟ้อนรำ) เคยพูดถึงว่า เป็นเทคนิคให้นักแสดงแสดงออกมาได้อย่างทรงพลัง คนดูสามารถลิ้มรสอารมณ์ของนักแสดง และการแสดงเปลี่ยนบรรยากาศโดยรอบได้ ทั้งดนตรีหรือการแสดงละคร สิ่งที่เราทำคือการพานักแสดงไปถึงตรงนั้น แต่มันยาก เพราะทุกคนต้องผ่านหน้ากาก (Persona) ที่มนุษย์ทุกคนสวมใส่ในสังคมว่าเราเป็นคนดี พอถอดปุ๊บจะเจอกับจิตใต้สำนึก (Subconscious) 

การกลับมาของ ส้ม ณัฐวรา หงษ์สุวรรณ อดีตพิธีกร Disney Club ในฐานะครูผู้เชื่อในจิตวิญญาณการแสดง

จิตใต้สำนึกที่มีทุกอารมณ์ รัก โลภ โกรธ หลง ดี เลว

คาร์ล ยุง (Carl Jung) คือนักจิตวิทยาที่พูดเรื่องนี้เป็นคนแรก เขาบอกว่าจิตใต้สำนึกเป็นพื้นที่ที่มนุษย์มีร่วมกัน และเพราะเรามีร่วมกัน แปลว่าฮิตเลอร์ก็อยู่ในตัวเรา แม่ชีเทเรซ่าก็อยู่ในตัวเรา เราจะเป็นตัวละครอะไรก็ได้ 

ลองนึกภาพว่ามนุษย์ทุกคนเป็นภูเขาน้ำแข็ง ที่ผ่านมาเราอาจจะแสดงผ่านแค่ยอดภูเขาที่พ้นน้ำ ตอนนี้เราพยายามจะใช้ทั้งหมด มันคือความสนุกที่กรีกพูดถึง สมัยกรีกเขาทำโรงละครเป็นหินขนาดใหญ่โตมโหฬารมาก มีที่ให้คนดูเป็นหมื่นเพื่อจะดูนักแสดงสามคนเล่น เพราะนักแสดงเขาเข้าถึงบทและถ่ายทอดออกมาได้จริงๆ คนดูเชื่อมโยงได้ หลังจากนั้นคือการที่นักแสดงและคนดูค่อยๆ โตไปด้วยกันในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

สเตลลา แอดเลอร์ (Stella Adler) อาจารย์ของเราเชื่อว่าละครเวทีเป็นหนึ่งในไม่กี่ศาสตร์ที่ทำให้เกิดประสบการณ์นี้ ไม่นับเรื่องของศาสนานะ เทคนิคของเราตอนนี้ก็พัฒนาจากที่เคยเรียนมา อย่างการเอาหน้ากากมาใช้ประกอบการสอน เป็นต้น แต่มันยังมีอีกหลายอย่างที่พัฒนาจากประสบการณ์ยี่สิบปีและการเดินทางของเรา

นี่คือเหตุผลที่เวลาคุณสอน คุณจะบอกนักแสดงตลอดว่า “อย่าคิด อย่าคิด อย่าคิด” เพราะอยากให้มันออกมาจากจิตใต้สำนึก

ถูกต้อง แต่นักแสดงก็ต้องกระโดดมาด้วยครึ่งหนึ่ง บางคนรับไม่ได้กับตัวตนที่แท้จริงของเขา บางคนไม่กล้าเข้าไปเจอตั้งแต่แรก ก็ไปต่อไม่ได้ ต้องล้มเลิกไป

เราเข้าใจถูกไหมว่า การแสดงมีหลายเทคนิค เทคนิคที่เราคุ้นเคยกันดีคือการใช้ประสบการณ์หรือแม้กระทั่งไปจำลองใช้ชีวิตเหมือนตัวละครจนชิน ในขณะที่เทคนิคของคุณใช้จินตนาการเป็นหลัก โดยไม่ต้องมีประสบการณ์เหมือนตัวละครมาก่อนก็ได้

เราเชื่อในจินตนาการ ไอน์สไตน์เคยบอกว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” เราต้องพัฒนาจินตนาการของนักแสดง ซึ่งไม่ค่อยได้รับการฝึก เพราะจินตนาการนำไปสู่อิสรภาพบางอย่างเรียกว่า Freedom of The Mind ถ้านักแสดง ศิลปิน หรือใครก็ตามที่จินตนาการได้เรื่อยๆ ก็จะควบคุมคนเหล่านี้ได้ยากกว่าเดิม แต่เราชอบ เพราะเขาจะคิดเองได้

เข้าใจเลยว่าทำไมระบบการศึกษาบ้านเราถึงตัดวิชาศิลปะออกไป เพราะจินตนาการคือเครื่องมือที่มีพลัง เราพยายามเอาสิ่งนี้กลับมา สร้างพื้นที่ให้ศิลปินเป็นได้มากกว่าสิ่งที่สังคมบอกว่าเขาเป็น และจินตนาการสอนกันได้ ซึ่งอธิบายไม่ถูกเหมือนกัน ต้องลองมาเรียน

ยิ่งมีความรู้มากเท่าไหร่ ความสามารถในการจินตนาการจะเพิ่มไปด้วยไหม

อันนี้น่าสนใจ (นิ่งคิด) เราเชื่อเสมอว่านักแสดงต้องฉลาด อย่างน้อยก็ต้องรู้ว่าคนเขียนบทต้องการสื่อไอเดียอะไร แล้วไอเดียนี้ ธีมนี้ สำคัญยังไงกับโลกใบนี้ ถ้าไม่มีความรู้ด้านประวัติศาสตร์เลยก็ต้องหาข้อมูล เพื่อให้เห็นคุณค่าและความสำคัญ

การกลับมาของ ส้ม ณัฐวรา หงษ์สุวรรณ อดีตพิธีกร Disney Club ในฐานะครูผู้เชื่อในจิตวิญญาณการแสดง

เมื่อกี้ตอนดูคลาสของคุณจบ เรารู้ทันทีเลยว่าบทสัมภาษณ์นี้จะไม่สามารถอธิบายสิ่งที่คุณทำอย่างดีเยี่ยม เพราะมันคือประสบการณ์ที่ต้องมาเห็นตรงหน้าจริงๆ

เข้าใจยากมาก ทุกอย่างเป็นประสบการณ์ แต่สิ่งเหล่านี้มีอยู่บนโลกมานานแล้ว ไม่ใช่อยู่ๆ ก็มีคนคิดเรื่องจักระขึ้นมา ถ้าลองไปเดินบนถนนแล้วสังเกตร่างกายคน บางคนฟังก์ชันจากสะโพกจะเซ็กซี่ๆ บางคนคือจักระที่หกตรงดวงตา แปลว่าคิดเยอะ บางคนอีโก้สูงใช้จักระที่สามตรงช่องท้อง บางคนรู้สึกรักก็จักระที่สี่บริเวณหัวใจ มันเป็นแค่ฟังก์ชันการทำงานของแต่ละคน ในคลาสของเรามีทั้งหมดเจ็ดจักระที่ผสมเป็นตัวละครทุกตัวบนโลกใบนี้ได้

ความสำเร็จของครูส้มคือการที่นักแสดงเล่นได้ทุกบทบาทหรือเปล่า

จริงๆ มันมีความสำเร็จบางอย่างที่เกิดขึ้นตลอดเวลาอยู่แล้ว ทุกครั้งที่นักแสดงยอมรับความจริงในตัวเองได้ นั่นคือความสำเร็จทั้งของครูและของเขา แต่ถ้าต้องตอบจริงๆ มันคือการที่นักแสดงเป็นมากกว่าที่เขาคิดว่าตัวเองจะเป็นได้ ซึ่งเราไม่รู้หรอกว่าคืออะไร เทคนิคของเราก็จะได้ส่งต่อผ่านนักแสดงเหล่านี้ เป็นอีกพื้นที่เล็กๆ อีกทางเลือกหนึ่งในวงการการแสดงของประเทศไทย โดยที่เราไม่ตั้งใจจะแข่งขันกับใคร ขออยู่ใน Cave ของเรานี่แหละ (หัวเราะ)

การแสดงสำหรับคุณเปลี่ยนไปไหมหลังจากได้ไปค้นหา มีประสบการณ์มากมาย จนถึงวันนี้ได้นำสิ่งเหล่านั้นมาส่งต่อให้นักแสดงคนอื่นๆ

ไม่เลย เราเชื่อเสมอว่าการแสดงคือการเข้าใจมนุษย์ คือการค้นหาความจริง และเป็นการเจริญเติบโตทางจิตวิญญาณ เราแค่หาวิธีการที่จะพาเราไปถึงตรงนั้น การแสดงของเรามันเลยจริงมาตลอด เรามองตัวละครเป็นมนุษย์ เป็นอีกชีวิตที่มีความซับซ้อนไม่ต่างจากเรา

จากทุกอย่างที่ผ่านมา คุณเจออิสรภาพและความหมายของชีวิตที่เคยตามหามาตลอดแล้วหรือยัง

จะดูน้ำเน่าหน่อยๆ นะ แต่เราเป็นคนที่อุดมคติมากๆ (หัวเราะ) อิสรภาพไม่ใช่สิ่งที่ได้มาแล้วจบไป มันคือทุกๆ วันที่เราทำงานที่ชอบ ที่เราให้ความรู้ ให้ความจริงใจกับคนอื่น นั่นคือความอิสระ มันไม่ใช่สิ่งที่จับต้องได้ แต่เป็นความรู้สึกบางอย่างที่จะได้ผ่านการทำงานเท่านั้น เราไม่คิดว่าจะได้มันจากการนั่งเฉยๆ แล้วแค่มีเงิน รวย ชิลล์ๆ สำหรับเรามันคือการทำงาน มันคือการได้ทำอาชีพที่เราเชื่อและช่วยคนอื่นได้ และเราได้เจอกับภาวะ Flow ของตัวเองครั้งแรก เจอเส้นทางชีวิตที่ลงตัวมากๆ จนคิดกับตัวเองว่า ถ้าต้องตายวันนี้มันก็โอเคแล้วแหละ

การกลับมาของ ส้ม ณัฐวรา หงษ์สุวรรณ อดีตพิธีกร Disney Club ในฐานะครูผู้เชื่อในจิตวิญญาณการแสดง

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล