ในแวดวงของงานออกแบบภูมิทัศน์ คงไม่มีใครไม่รู้จัก Piet Oudolf ภูมิสถาปนิกชาวดัตช์มือจัดสวนในโครงการ High Line ที่เปลี่ยนโลกทัศน์การจัดสวนแบบที่มนุษย์เป็นใหญ่ ไปสู่สวนที่เป็นธรรมชาติ 

Naturalistic Garden งานของ Oudolf ไม่ได้มองต้นไม้เป็นเพียงวัตถุเชิงองค์ประกอบศิลป์เพื่อสร้างความงาม เช่น รูปฟอร์มของต้น สีสันของดอก หรือผิวสัมผัสในช่วงเวลาที่ต้นชนิดนั้นสวยงามที่สุด แต่กลับกัน Oudolf มองว่าทุกห้วงจังหวะของชีวิตพืช ตั้งแต่ช่วงออกดอกและแห้งเหี่ยวโรยรานั้น มีความงดงามที่น่าชื่นชม ความงามของภูมิทัศน์จึงมีทั้งหมดของพืชแต่ละชนิดอยู่ในนั้น 

จัดสวน Naturalistic Garden แบบ High Line สไตล์ Piet Oudolf ด้วยดอกไม้ป่าไทย ๆ 15 ชนิด

ความพิเศษของสวนแบบ Oudolf อยู่ตรงการผสมผสานระหว่างต้นไม้หลากหลายชนิดกับระดับ ทั้งดอกหญ้า ดอกไม้ป่า และหญ้าพื้นถิ่นนานาชนิด ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่าเป็นวัชพืช ทักษะการจัดวางต้นไม้ให้อยู่เป็นกลุ่มตามสังคมพืชที่ส่งเสริมกัน ก็ทำให้การดูแลและแทรกแซงจากมนุษย์น้อยลงตาม ความสวยของสวนจึงมีอิสระที่จะเปลี่ยนไปตามฤดูกาลและปรากฏการณ์ของเวลา และความลับที่ทำให้สวนของ Oudolf สวยงามราวบทกวี คือเขาใช้เวลาเกือบ 10 ปี เก็บรวบรวมพืชพรรณทั่วทั้งยุโรป ทั้งจากสวนพฤกษศาสตร์ ป่าเขา พื้นที่รกร้าง รวมทั้งแหล่งเพาะพันธุ์ในแต่ละท้องถิ่น ทดลองปลูกเพื่อจะเข้าใจลักษณะของพืชแต่ละชนิด จัดวางในแบบที่เขาได้เรียนรู้จากนิสัยของพืช ลองผิดเรียนถูก จนค้นพบภาษาและวิธีการร้อยเรียงพืชพรรณ ที่ในวันต่อมากลายเป็นคลังถ้อยคำในบทกวีของเขา 

แนวทางการจัดสวนตามแบบฉบับของ Oudolf จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนในวงการจัดสวน (ที่ไม่ได้จำกัดแต่ในยุโรป) ให้ได้กลับมามองเห็นความงามของพืชพื้นถิ่นที่คนมองข้าม ดอกไม้บ้าน ๆ ที่เคยมีตามชายป่า หญ้าที่ดูรก ๆ และไม่เคยเห็นขายตามตลาดต้นไม้ เพื่อนำมาใช้ในงานสวนตามบริบทพื้นที่นั้น ๆ แทนการนำเข้าต้นไม้ต่างประเทศและพืชพรรณต่างถิ่นที่ต้องการการดูแลจนเกินพอดี

มองกลับมาที่เมืองไทยบ้านเรา เรามักรู้สึกเศร้าลึก ๆ เสมอ เมื่อเห็นผู้รับเหมางานสวนใช้ดอกไม้กระถางพันธุ์ต่างประเทศที่มีอายุสั้นและต้องเปลี่ยนอยู่บ่อย ๆ กับงานสวนสาธารณะที่เราจ่ายภาษี เห็นงานมหกรรมไม้ดอกที่ขนเอาดอกไม้เมืองหนาวมาจัดแสดง แต่ปลูกจริง ๆ ไม่ได้กับอากาศบ้านเรา เห็นทุ่งดอกไม้สีสวยที่พรมด้วยยาไล่แมลงในตอนค่ำเพื่อเปิดให้คนถ่ายรูปในวันรุ่งขึ้น หรือทุ่งหญ้าสีสดที่พ่นด้วยสีสเปรย์กระป๋องสีต่าง ๆ โดดเด้งอยู่กลางทุ่งแดดร้อน ๆ 

เราแอบคิดเอาเองเสมอว่า มันน่าจะดีกว่านี้แน่ ๆ ถ้าพวกเรารู้จักดอกไม้พื้นถิ่นและหญ้าพื้นบ้านให้มากขึ้น เห็นความงามของเขา รู้ประโยชน์ของเขา และนำเขามาปลูกและจัดวางให้เหมาะสมเลอค่า เชื่อเหลือเกินว่าโลกทัศน์และรสนิยมที่เรามีต่อสวน ในฐานะประตูสู่โลกธรรมชาติที่แท้จริงของเราจะเปลี่ยนไป สวนหน้าบ้านหรือตามที่สาธารณะต่าง ๆ ในเมือง จะกลายเป็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ ที่สำคัญของการฟื้นคืนธรรมชาติ (Rewilding) ในยุคสมัยของเรา

จัดสวน Naturalistic Garden แบบ High Line สไตล์ Piet Oudolf ด้วยดอกไม้ป่าไทย ๆ 15 ชนิด

คอลัมน์ตอนนี้จึงอยากชวนเพื่อน ๆ มารู้จักพืชพรรณธรรมดา ๆ 15 ชนิด ที่อาจจะหาไม่ได้ตามตลาดต้นไม้ เพราะเมล็ดและต้นพันธุ์เกือบทั้งหมดได้จากการขอแบ่งชาวบ้านมาบ้าง ซื้อมาจากเกษตรกรตามงานเกษตรอินทรีย์บ้าง หรือลักเก็บมาฟรี ๆ จากข้างทางหรือที่รกร้าง เราทดลองปลูกในแปลงเล็ก ๆ หน้าออฟฟิศของเรา ในบ้านของเรามาครบปี และเรียนรู้ว่าปลูกง่าย ดูแลง่าย แถมบ้างต้นยังดึงดูดเพื่อนแมลงตัวจิ๋วมาอยู่ในสวน 

เรามีสุขทุกครั้งที่ได้แบ่งปันเมล็ดพันธุ์นี้ต่อให้คนอื่น ๆ ให้ความรู้สึกว่าพวกเราไม่ต่างจากลม นก หรือผึ้ง คอยช่วยแพร่ขยายพันธุ์ไปตามที่ต่าง ๆ ถ้าพร้อมแล้วมารู้จักพืชทั้ง 15 ชนิดนี้เลย ก่อนเริ่มออกไปด้อม ๆ มอง ๆ หาเก็บเมล็ดเหล่านี้ในพื้นที่รกร้างที่กำลังจะกลายป่ากล้วยที่ปลูกเป็นแถว

พันงูเขียว
Brazilian Tea

จัดสวน Naturalistic Garden แบบ High Line สไตล์ Piet Oudolf ด้วยดอกไม้ป่าไทย ๆ 15 ชนิด

เราเห็นต้นนี้ครั้งแรกในพื้นที่รกร้างขึ้นแทรกอยู่กับไมยราบและต้นหิ่งหาย ชาวบ้านแต่ละที่เรียกชื่อแตกต่างกันออกไปตามบริบทที่พบ บ้างว่า ‘ควยงู’ ซึ่งอาจจะดูทะลึ่งหน่อย แต่ก็ให้ภาพที่ชัดเจนและตรงไปตรงมา ส่วนคนเหนือเรียก ‘หญ้าหนวดเสือ’ สิ่งที่ทำให้พันงูเขียวโดดเด่นเวลาอยู่ในแปลงดอกรวมกับต้นอื่น คือก้านดอกที่เป็นเส้นตั้งบาง ๆ มีดอกสีม่วงอ่อนเป็นกระจุกเล็ก ๆ กระจายรอบก้าน ด้วยเส้นสายที่แปลกตา ดอกน่ารัก และใบเขียวสว่างคล้าย ๆ พวกสะระแหน่ที่ขับเน้นดอกเล็ก ๆ สีม่วงให้โดดเด่น แตรดอกเล็ก ๆ ยังดึงดูดผึ้งจิ๋วและผีเสื้อตัวเล็กให้เข้ามาในสวนของเราได้ดี พันงูเขียวเป็นพืชล้มลุกอายุหลายปีและออกดอกทั้งปี จึงดีมาก ๆ สำหรับการเป็นไม้โครงสร้างในสวนดอกไม้

หงอนไก่ไทย
Wild Cockcomb

จัดสวน Naturalistic Garden แบบ High Line สไตล์ Piet Oudolf ด้วยดอกไม้ป่าไทย ๆ 15 ชนิด

ตามข้างทางหรือทุ่งร้าง เรามักจะพบหงอนไก่ไทยได้ไม่ยาก เพราะเป็นพืชที่ทนแล้งและกระจายเมล็ดมาก หงอนไก่ไทยมีหลากหลายสายพันธุ์ แม้จะไม่ได้เป็นไม้ไทยพันธุ์แท้ แต่ก็เข้ามาอยู่ในวัฒนธรรมไทยนานมาก จึงมีชื่อภาษาถิ่นและถูกใช้ในพิธีกรรมสำคัญ ๆ เช่น คนเหนือจะเรียกดอกหงอนไก่ว่า ‘ดอกด้าย’ คงเพราะมีดอกหลายสีสัน เป็นกระจุกฟู ๆ ดูคล้ายฝั้นฝ้ายที่เอามาทอผ้า ชาวปกาเกอะญอเรียกหงอนไก่สีแดงว่า ‘พอ-กวอ’ และ ‘พอ-บอ’ สำหรับหงอนไก่สีเหลือง ซึ่งจะเห็นดอกหงอนไก่ขึ้นแทรกในไร่หมุนเวียน และถูกใช้ในงานพิธีกรรม ตั้งแต่บูชาจิตวิญญาณในไร่ช่วงเบิกไร่จนถึงพิธีการเก็บเกี่ยว 

ดอกหงอนไก่เป็นพืชล้มลุกอายุสั้น ให้ทรงตั้งสูงและเหมาะเป็นฉากหลัง เวลาหว่านเมล็ดในแปลงควรแทรกอยู่กับกลุ่มต้นไม้ข้ามปีหรือไม้ล้มลุกอายุหลายปี ดอกที่หลากหลายรูปทรงและสีสัน รวมทั้งใบก็มีทั้งใบสีเขียวและใบสีม่วง จะช่วยขับเน้นพุ่มดอกระยะหน้าได้ดี ความสูงของต้นก็มีหลากหลายขนาดตั้งแต่เข่าจนท่วมหัว ดังนั้นการทดลองปลูกและคัดเมล็ดแยกประเภทไว้ จะช่วยทำให้ง่ายต่อการเอาไปใช้ในงานออกแบบ หงอนไก่ยังดึงดูดตัวมวนกระแท้มาในสวน ซึ่งไม่ได้เป็นแมลงมีพิษหรือทำลายต้นไม้อื่น ๆ

สังกรณีแดง
Fire-cracker flower

จัดสวน Naturalistic Garden แบบ High Line สไตล์ Piet Oudolf ด้วยดอกไม้ป่าไทย ๆ 15 ชนิด

สังกรณีแดงเป็นไม้พุ่มเตี้ยอายุหลายปี เหมาะเป็นไม้ระยะหน้า เพราะพุ่มลำต้นช่วยคลุมดินได้ดี หรือจะปลูกแทรกในระยะกลางผสมกับต้นอื่น ๆ ก็ได้ ด้วยว่าออกดอกตลอดทั้งปีและมีก้านชูดอกที่โดดเด่น เหมือนประทัดแตกสมชื่อภาษาอังกฤษ แม้ดอกไม่อลังการใหญ่โต แต่กระจุกดอกสีแดงก็สร้างความแปลกตาตัดกับสีอื่น ๆ ได้ดี หากมีไม้ระยะหลังเป็นสีขาวอย่างต้นตรีชวา 

สังกรณีนอกจากจะมีสีแดงแล้ว เรายังเคยเห็นสีเหลืองและสีส้ม แต่สองสีนี้ก้านชูดอกจะไม่ยาวเหมือนสีแดง ขยายพันธุ์ได้ง่ายจากเมล็ด ยังมีตำนานเกี่ยวกับสังกรณีที่เอาไว้เล่าเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยได้คือ สังกรณีและตรีชวา เป็นยาสมุนไพรที่ช่วยรักษาพระลักษณ์ที่ถูกหอกปักอก ซึ่งหนุมานต้องเหาะไปหาสมุนไพรทั้งสองต้นนี้ที่เขาสรรพยาเพื่อเอามาปรุงเป็นยารักษาบาดแผล สังกรณีและตรีชวาเป็นสมุนไพรที่ช่วยดับพิษร้อนได้ดี การปลูกทั้งสังกรณีและตรีชวาไว้ในแปลงจึงเป็นเรื่องที่ทั้งสนุกในแง่เรื่องเล่า และประโยชน์ใช้สอยของสมุนไพรไทยที่ทั้งสวยและมีประโยชน์

ตรีชวา
Squirrel’s Tail

จัดสวน Naturalistic Garden แบบ High Line สไตล์ Piet Oudolf ด้วยดอกไม้ป่าไทย ๆ 15 ชนิด

เราเห็นต้นตรีชวาครั้งแรกที่แถว ๆ แม่ทา เพราะเป็นต้นที่ชาวบ้านย่านนั้นปลูกไว้เป็นแนวหน้ารั้วไม้ไผ่ มันทำให้บ้านไม้ที่แม้ว่าจะเก่าขนาดไหนดูสว่างด้วยช่อดอกตั้งสีขาวของมัน และที่สำคัญ ต้นตรีชวายังทนมาก ๆ ซึ่งเหมาะกับการปลูกเป็นรั้วหรือปลูกเป็นกลุ่มในระยะแบกกราวนด์ เพื่อขับเน้นต้นไม้ที่มีทรงหรือดอกสวยในระยะหน้า เส้นตั้งของช่อดอกสีขาวที่ดูราวกับพวงหางกระรอก ก็ทำให้ตัวของตรีชวาเองโดดเด่น ตรีชวาขยายพันธุ์ได้ง่ายด้วยการตัดชำแช่น้ำให้รากงอก ก่อนเอาไปปลูกขยายพันธุ์

ฉัตรพระอินทร์
Klip Dagga

จัดสวน Naturalistic Garden แบบ High Line สไตล์ Piet Oudolf ด้วยดอกไม้ป่าไทย ๆ 15 ชนิด

ในแถบชนบทของภาคเหนือทั้งเชียงใหม่และเชียงราย เรามักจะพบฉัตรพระอินทร์ชูตุ้มช่อโดดเด่นอยู่ในดงบานชื่นหรือดาวกระจาย ความงามของฉัตรพระอินทร์ก็คือตุ้มดอกกลม ๆ สีน้ำตาลและกลีบดอกสีส้มบาง ๆ รอบตุ้มนั้น ต้นหนึ่งประกอบด้วยช่อดอกหลายช่อ ขึ้นสลับเรียงตัวกันเป็นแพตเทิร์นสวยงาม ซึ่งน่าจะถอดออกมาเป็นเลขลำดับของ Fibonacci ได้ 

อยากให้ลองไปสังเกตดู นอกจากโครงสร้างและเส้นสายแนวตั้งที่ฉัตรพระอินทร์สร้างให้กับสวน ตุ้มดอกพระอินทร์ตอนแห้งจนกลายเป็นสีถ่านก็สวยไม่แพ้กัน เป็นความงามของความตายท่ามกลางความมีชีวิต ถึงแม้จะเป็นพืชที่ไม่ได้มีถิ่นกำเนิดอยู่แถบนี้ แต่ฉัตรพระอินทร์ก็ไม่ได้เป็นพืชรุกรานที่เป็นภัยกับสวนเกษตร และที่สำคัญโครงสร้างที่สูงจนกลายเป็นชั้นเรือยยอดในสวนดอกไม้ของฉัตรพระอินทร์ ยังเป็นที่อยู่อาศัยของผู้ล่าในระบบนิเวศจิ๋ว อย่างเช่น ตั๊กแตนตำข้าวหรือแมงมุมปูขาว ที่เกาะอยู่ปลายยอดเพื่อซุ่มจับเหยื่อ

ไฟเดือนห้า
Butterfly Weed

จัดสวน Naturalistic Garden แบบ High Line สไตล์ Piet Oudolf ด้วยดอกไม้ป่าไทย ๆ 15 ชนิด

ตอนเด็ก ๆ เรามักเห็นไฟเดือนห้าขึ้นอยู่ตามสวนตีนบันไดที่ทิศที่แดดส่องถึง หรือขึ้นปะปนกับต้นอื่นในข่วงลานบ้านที่พื้นเป็นทรายหรือลานดินสะอาดที่กวาดเรียบ เราบังเอิญเจอไฟเดือนอีกครั้งตอนไปทำงานที่ตำบาลเวียงสรวย จังหวัดเชียงราย ชาวบ้านปลูกเป็นแนวหลังรั้วไม้ไผ่ เลยขอแบ่งมาปลูกในสวนของเรา ต้นนี้มีถิ่นกำเนิดจากละตินอเมริกา เป็นพวกเดียวกันกับต้น Milkweed ที่ผีเสื้อจักรพรรดิหรือผีเสื้อโมนาร์ช (Monarch butterfly) ใช้ในการวางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนจนเข้าดักแด้ 

หากใครพอจะทราบเรื่องราวการเดินทางข้ามทวีปหลายพันกิโลเมตร จากอเมริกาเหนือสู่อเมริกาใต้ของผีเสื้อจักรพรรดิ ก็จะทึ่งกับความสัมพันธ์ของสายใยอันเปราะบางของระบบนิเวศผ่านผีเสื้อและดอกไม้ชนิดนี้ ที่สร้างความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตายในวัฒนธรรมของชาวเม็กซิโก หรือ Movement ใหญ่ของอเมริกาที่ส่งเสริมให้คนอเมริกันช่วยกันปลูกต้นนี้ เพื่อให้ผีเสื้อจักรพรรดิมีแหล่งพักอาศัยระหว่างการเดินทางใหญ่ของชีวิต ต้นไฟเดือนห้าเป็นพืชอายุหลายปี และมีดอกที่น่ารักตลอดทั้งปี หากมองดูใกล้ ๆ จะคล้ายกับเด็กผู้หญิงในชุดกระโปรงสีเพลิงยืนจับมือกันเป็นวงกลม

หญ้างวงช้าง
Indian Heliotrope

จัดสวน Naturalistic Garden แบบ High Line สไตล์ Piet Oudolf ด้วยดอกไม้ป่าไทย ๆ 15 ชนิด

หญ้างวงช้างเป็นพืชล้มลุกอายุสั้น มักจะขึ้นตามที่ชื้นแฉะ งอกบานช่วงฤดูฝน ก่อนจะแห้งเหี่ยวและทิ้งเมล็ดไว้ในดินเพื่องอกอีกครั้งหลังได้น้ำ ความพิเศษของหญ้างวงช้างคือช่อดอกที่มีลักษณะคล้ายงวงช้าง ตรงก้านของช่อดอกจะมีดอกเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เรียงไล่ขนาดจากเล็กไปใหญ่ น้ำหวานของหญ้างวงช้างดึงดูดผีเสื้อได้ดีมาก ๆ โดยเฉพาะผีเสื้อหนอนใบรักสีฟ้า และชาวบ้านใช้เป็นสมุนไพรได้หลายขนาน แถมยังเป็นพืชที่ช่วยชี้วัดคุณภาพของดินได้อีกด้วย เพราะถ้าที่ตรงไหนมีหญ้างวงช้างขึ้น แสดงว่าดินมีความอุดมสมบูรณ์ดี การหว่านเมล็ดหญ้างวงช้างไว้ในระยะหน้าของแปลงดอกไม้ตรงที่พอได้น้ำ จะทำให้เราประหลาดใจทุกครั้งที่หญ้างวงช้างบาน

โทงเทง
Ground Cherry

จัดสวน Naturalistic Garden แบบ High Line สไตล์ Piet Oudolf ด้วยดอกไม้ป่าไทย ๆ 15 ชนิด

หากเราจินตนาการถึงการเก็บเบอร์รี่กินในป่าหรือเวลาไปปิกนิกเหมือนในหนังฝรั่ง โทงเทงน่าจะให้อารมณ์เดียวกันนั้นในฉากบรรยากาศแบบไทย ๆ เรามักจะเห็นโทงเทงขึ้นได้ทั่วไปตามที่ต่าง ๆ บนคันนา ริมแม่น้ำ หรือตามที่รกร้างที่มีนกช่วยขยายพันธุ์ 

โทงเทงเป็นพืชล้มลุกตระกูลเดียวกับมะเขือเทศ ลักษณะผลคล้าย ๆ กับเคปกูสเบอร์รี่ที่ปลูกบนดอยทางภาคเหนือ การมีโทงเทงในแปลงสวนจึงทำให้สวนของเรากินได้ และมีประโยชน์ทางโภชนาการและยา การปลูกนั้นง่ายแสนง่าย คือเลือกเอาผลสุกที่สมบูรณ์มาขยี้เพื่อเก็บเมล็ด และหว่านลงปลูกในแปลงแทรก ๆ กับดอกไม้อื่น ๆ ในระยะกลาง เชื่อเลยว่าหากเราปลูกโทงเทงวันนี้ สลัดผักที่เราทำกินเองจานหน้าจะมีโทงเทงอยู่ในนั้น

บานชื่น
Zinnia

จัดสวน Naturalistic Garden แบบ High Line สไตล์ Piet Oudolf ด้วยดอกไม้ป่าไทย ๆ 15 ชนิด

ในโลกนี้มีบานชื่นกว่าหลายร้อยสายพันธุ์ แต่บานชื่นที่เรากำลังพูดถึงคือบานชื่นแบบบ้าน ๆ พบได้ทั่วไปตามสวนทั่วภูมิภาคของไทย คือ มีดอกแบน ๆ และแผ่กว้าง ซึ่งมีทั้งแบบต้นเตี้ยคือสูงราวเข่า และแบบที่สูงขึ้นมาหน่อยประมาณระดับท้อง บานชื่นที่ว่านี้มีหลากหลายสีสัน ทั้งขาว เหลือง แดง ส้ม ชมพู และม่วงอ่อน ๆ การปลูกบานชื่นเป็นกลุ่ม ๆ คละสีให้อารมณ์สวนดอกไม้แบบชาวบ้าน ทำให้บ้านและพื้นที่ไม่ใหญ่มากดูสดใส บานชื่นเป็นไม้ดอกล้มลุก ดังนั้นการปลูกบานชื่นในแบบที่ไม่ต้องปลูกใหม่ทุกปี คือควรปลูกบานชื่นแทรกในกลุ่มไม้โครงสร้างที่มีอายุหลายปี หรือถ้าดอกแห้งโรยเราก็เก็บเมล็ดมาโรยใหม่ตรงจุดที่ต้องการเติมช่องว่างได้ ที่สำคัญคือผีเสื้อและผึ้งชอบดอกนี้มาก ๆ

คัตเตอร์ป่า
Wild Cutter

ชวนเก็บพันธุ์ไม้ป่าและหญ้าไพรรอบตัวมาปลูกเป็นสวน Naturalistic Garden ที่เป็นมิตรกับแมลง และสวยแบบไม่ซ้ำใคร

ต้นคัตเตอร์ป่า คล้าย ๆ ต้นคัตเตอร์ที่เป็นไม้ปลูกตัดดอกขาย เพียงแต่ดอกและต้นมีขนาดเล็กกว่ามาก ๆ เราสันนิษฐานเองว่าน่าจะเป็นต้นเดียวกัน แต่เขาปรับตัวเองให้เข้ากับสภาพของดิน พอไม่ได้อยู่ในแปลงปลูกที่ดูแลอย่างดี ต้นและดอกจึงมีขนาดเล็กมาก ๆ เรามักเห็นต้นนี้ในภาคเหนือที่มีอากาศเย็น เช่น เชียงดาว แม่ออน หรือจอมทอง ชาวบ้านเรียกว่าหญ้าดอกขาว ซึ่งเป็นคนละชนิดกับ หญ้าดอกขาว (Little Ironweed) 

ที่เราชอบคัตเตอร์ป่า เพราะมันดูแลง่ายและให้ความสว่างกับสวน ดอกเล็ก ๆ สีขาวเป็นกระจุกที่กระจายรับแสงแดด ช่วยเพิ่มรายละเอียดให้สวนดูน่ารัก และลดทอนความแข็งของเส้นตั้งในระยะหลัง พร้อมกับเชื่อมประสานจังหวะของต้นไม้ระยะหน้ากับระยะกลางได้ดี ต้นคัตเตอร์ป่าขยายพันธุ์โดยเมล็ด เมล็ดร่วงปลิวลมลงตรงไหน ก็จะขึ้นต้นอ่อนที่นั้น ซึ่งเราขุดมาปลูกเติมในจุดที่เราต้องการได้

บานไม่รู้โรยไทย
Bachelor’s button

ชวนเก็บพันธุ์ไม้ป่าและหญ้าไพรรอบตัวมาปลูกเป็นสวน Naturalistic Garden ที่เป็นมิตรกับแมลง และสวยแบบไม่ซ้ำใคร

บานไม่รู้โรยไทยน่าจะเป็นดอกไม้ต่างถิ่นที่อยู่คู่เมืองไทยมานาน เรามักจะเห็นได้ในงานบุญ งานร้อยมาลัยหรือพานพุ่ม รวมทั้งในกรวยดอกไม้วันไหว้ครู ที่แม่หรือยายจะต้องนำมาเสียบเตรียมไว้ให้เรา คนเหนือเรียกบานไม่รู้โรยไทยว่า ‘ดอกตะล่อม’ คงเพราะรูปทรงกลม ซึ่งฝรั่งจินตนาการว่าเป็นกระดุมของชุดครุย 

บานไม่รู้โรยไทยมีหลายสี ทั้งขาว ม่วงเข้ม ม่วงอ่อน ชมพู และหลัง ๆ มานี้เริ่มเห็นสีแดง บานไม่รู้โรยนี้ปลูกง่ายมากจากเมล็ด ชอบแดดจัดและน้ำไม่ขัง เหมาะกับการเป็นไม้ระยะหน้าแทรกกับไม้อื่น ๆ ที่เห็นใบได้ชัด เพราะดอกของบานไม้รู้โรยไทยจะชูแทรกออกมา ช่วยสร้างรายละเอียดของรูปทรงและสีที่น่าสนใจ บานไม่รู้ไทยจะต่างจากบานไม่รู้โรยฝรั่งอย่างชัดเจน บานไม่รู้โรยฝรั่งดอกเล็กและมีสีขาวอมเหลือง และกิ่ง ต้น ใบ จะเป็นสีม่วงแดง ซึ่งไม่แนะนำให้ปลูกเพราะเป็นพืชต่างถิ่น รุกลามได้เร็ว และส่งผลเสียต่อระบบนิเวศของพืชระดับล่าง หากเกิดรุกลามเข้าไปในพื้นที่ที่เปราะบางทางนิเวศอย่างในป่า

หญ้าน้ำดับไฟ

Lindenbergia philippensis

ชวนเก็บพันธุ์ไม้ป่าและหญ้าไพรรอบตัวมาปลูกเป็นสวน Naturalistic Garden ที่เป็นมิตรกับแมลง และสวยแบบไม่ซ้ำใคร

หญ้าน้ำดับไฟ เป็นหญ้าที่เราชอบมาก ๆ เราเจอต้นแม่ที่เราเก็บเมล็ดมา ขึ้นอยู่บนกองเศษอิฐและดินระหว่างการขุดค้นโบราณคดีคุ้มหลวงกลางเวียงเชียงใหม่ หญ้าน้ำดับไฟเป็นหญ้าอายุหลายปี ให้ดอกสวยสีเหลือง ดึงดูดผึ้งและมิ้มให้มากินน้ำหวานในช่วงดอกบาน ซึ่งถ้าเราเงียบพอที่จะได้ยิน สวนเราจะเป็นสวนที่มีเสียงหึ่ง ๆ ของเพื่อนตัวจิ๋วนับร้อย 

หญ้าน้ำดับไฟมีคุณสมบัติทางยาสมชื่อ คือ ใช้ถอนพิษร้อน และพอกแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกได้ น้ำดับไฟเหมาะกับการเป็นไม้โครงสร้างของสวนที่ปลูกไว้ในระยะกลางหรือระยะหลัง ช่อดอกที่แห้งแล้วตัดมาเคาะเมล็ดเล็ก ๆ มาเก็บไว้ขยายพันธุ์ต่อได้ เพียงแต่เมล็ดของน้ำดับไฟใช้เวลางอกนานมาก ๆ จนเราอาจจะคิดว่าคงไม่ขึ้น แต่พอถึงเวลาที่เหมาะสม เราจะเห็นความงามปรากฏแทรกขึ้นมาในดงดอกหลากสี ที่เราลืมไปแล้วว่าเราปลูกอะไรไว้บ้าง

หญ้าดอกขาว
Little Ironweed

ชวนเก็บพันธุ์ไม้ป่าและหญ้าไพรรอบตัวมาปลูกเป็นสวน Naturalistic Garden ที่เป็นมิตรกับแมลง และสวยแบบไม่ซ้ำใคร

หญ้าดอกขาวพบได้ง่าย ขึ้นได้เกือบทุกที่ตั้งแต่รอยร้าวของพื้นคอนกรีตไปจนสวนผลไม้ คงเพราะมีเมล็ดที่ลอยลมได้ง่าย คล้ายกับพวกต้น Dandelion ที่เด็ก ๆ ชอบเอามาเป่าเล่น หญ้าชนิดนี้มีสรรพคุณทางยา เราเคยเห็นชาวบ้านแถวแม่ทาเอามาสูบแทนบุหรี่ขี้โย (ยาเส้น) หญ้าดอกขาวเป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี ให้ดอกสีม่วงเล็ก ๆ ก่อนจะกลายเป็นปุยขนจิ๋วสีขาวเพื่อลอยลมกระจายพันธุ์ อารมณ์ของหญ้าดอกขาวในสวนคล้ายกับคัตเตอร์ป่า เพียงแต่ว่าขนาดและสัดส่วนเล็กกว่ามาก ๆ หากใครชอบเก็บดอกไม้มาทับกระดาษเป็น Herbarium ส่วนตัว ต้นนี้เหมาะสมยิ่งนัก เพราะกิ่งก้านและดอก ที่ทั้งบางและเหนียว ทับง่ายและแห้งง่าย และที่สำคัญคือมีรูปทรงสวยงาม

ดาวกระจายป่า
Wild Cosmos

ชวนเก็บพันธุ์ไม้ป่าและหญ้าไพรรอบตัวมาปลูกเป็นสวน Naturalistic Garden ที่เป็นมิตรกับแมลง และสวยแบบไม่ซ้ำใคร

ดาวกระจายป่า คล้ายดอกดาวกระจายสีส้ม สีเหลือง ที่เราเห็นอยู่ทั่วไป แต่ต่างกันตรงที่ลักษณะดอกที่จะมีช่อเกสรใหญ่และกลีบใบเล็กกว่ามาก และส่วนใหญ่จะมีสีชมพูและแดงอมม่วง ส่วนกิ่งก้านก็จะสูงโปร่งทรงระเกะระกะ ไม่ได้ขึ้นเป็นกิ่งเดี่ยวตั้งตรงอย่างดาวกระจายพันธุ์ฝรั่ง ไม่แน่ใจว่าการมีช่อเกสรที่ใหญ่กว่านั้นจะมีผลกับการดึงดูดผึ้งและผีเสื้อหรือเปล่า แต่ความน่าสนใจของดาวกระจายป่าสำหรับเรา น่าจะอยู่ตรงที่ความสวยที่ไม่สมบูรณ์แบบนี่ละมั้ง เวลาดาวกระจายป่าขึ้นแทรกอยู่กับต้นอื่น ๆ ดอกของดาวกระจายป่าไม่ได้อวดแข่งแย่งซีนดอกอื่น ๆ เพียงแต่บานอยู่เงียบ ๆ ในมุมที่บางทีเราไม่อาจจะเห็น เหี่ยวแห้ง ร่วงโรย เกิดงอกบานขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นลักษณะร่วมของความงามที่ดอกไม้ป่าเกือบทุกชนิดมอบให้

เจตมูลเพลิงแดง
Indian leadwort

ชวนเก็บพันธุ์ไม้ป่าและหญ้าไพรรอบตัวมาปลูกเป็นสวน Naturalistic Garden ที่เป็นมิตรกับแมลง และสวยแบบไม่ซ้ำใคร

เจตมูลเพลิงแดงเป็นต้นไม้อีกชนิดที่เรารักมาก ๆ คงเพราะมันเป็นต้นไม้ธรรมดา ๆ ที่เคยเห็นตามชายป่า แต่พอเอามาจัดวางในสวนดี ๆ แล้วสร้างความเชื่อมต่อระหว่างสวนของเรากับป่าหลังป่า เจตมูลเพลิงเป็นพืชอายุหลายปี เหมาะกับการเป็นไม้ระยะหน้า กิ่งก้านเอนอ่อนที่มีกระจุกดอกสีแดงประดับอยู่ทำให้เส้นสานในสวนดูพลิ้วไหว ดอกคล้าย ๆ กับพยับหมอกเพราะเป็นพืชตระกูลเดียวกัน เจตมูลเพลิงแดงจะบานช่วงปลายฤดูหนาว สวนในหน้าหนาวจึงถูกเติมด้วยสีโทนร้อนดูอบอุ่น

Writer & Photographer

Avatar

ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร

สถาปนิกผู้ก่อตั้งใจบ้านสตูดิโอและคุณพ่อลูกหนึ่ง ที่สนใจงานฟื้นฟูธรรมชาติผ่านงานออกแบบ กำลังหัดเขียนสื่อสารเรื่องราวการเรียนรู้จากธรรมชาติ และประสบการณ์ rewilding