ใกล้จะเข้าฤดูร้อนเต็มตัว แม้ยังมีฝนตกอยู่เรื่อย ๆ ต้นไม้ ใบหญ้า ยังหอมกลิ่นดิน มีดอกไม้ผลิออกมาให้ยลโฉม อยากจะเก็บมาทำอะไรสวย ๆ งาม ๆ ตามอารมณ์คนทำงานอยู่บ้านไปด้วย ชมสวนไปด้วย
ทุกทีที่คิดถึงหน้าร้อน ก็จะคิดถึงสีสันสด ๆ อยากให้อาหารที่กินอยู่ทุกวัน ให้มันมีสีสันสนุกขึ้นมาบ้าง
รอบนี้ลุงรีย์เลยขอพาไปเที่ยวสตูดิโอส่วนตัวของ แซนด์-สุวัลญา ศักดิ์สมบัติ แซนด์เป็นรุ่นน้องสมัยเรียนที่ศิลปากร ชอบท่องเที่ยว ทำงานกับชุมชนมาสารพัด ถ้าเป็นเรื่องสีน้ำในงานศิลปะ ตอนนี้แซนด์ดูเหมือนจะชำนาญเป็นพิเศษ
ดินแดนใหม่ของแซนด์อยู่ไม่ไกลจากฟาร์มของผมมาก อยู่แถวศาลายานี่เอง เป็นนอกเมืองที่เงียบสงบ สตูดิโอติดริมคลองเป็นบรรยากาศที่ทำงานศิลปะในฝันของหลาย ๆ คนเลย
แซนด์เป็นศิลปินที่หลงรักในสีสันของธรรมชาติ ทั้งสีของดิน สีของหิน สีของแร่ สีของเปลือกไม้ และสีของดอกไม้ในธรรมชาติ
เข้าทางเราพอดิบพอดีเลย เราเองก็ติดตามมาตลอด ตั้งใจจะให้แซนด์สอนถนอมเก็บสีสันจากธรรมชาติ เอามาทำเป็นแม่สีในการทำอาหาร
ผมบอกกับแซนด์ว่าอยากได้แบบง่าย ๆ ใกล้ตัว เอาแบบทำตามได้ ว่าแล้วไม่นาน เธอก็เดินเท้าเปล่าไปหยิบก้นกระทะมาขูด ๆ เอาผงสีดำมาให้ แล้วก็บอกว่า “อันนี้สีดำเสร็จแล้ว ง่ายพอไหมคะ”
เอาดี ๆ ทำแบบนี้ก็ได้หรอ-ผมถาม แซนด์ตอบว่า “ใช่ค่ะ”
และแล้วเราก็ได้สีดำจากเขม่าควันที่เกาะตัว เป็นคาร์บอนสี K100 ที่ใกล้ตัวมาก ๆ
แต่เขม่าที่เหมาะกับการทำสีน้ำเพื่อวาดรูป อาจจะรู้สึกไม่ปลอดภัยกับการกินสักเท่าไหร่ เลยแนะนำว่าใช้สีที่ได้จากการผสมน้ำของกาบมะพร้าวเผา หรือถ้าไม่มีสามารถใช้แก่นไม้สมุนไพรเผาน่าจะดีกว่า หรือจะใช้เมล็ดงาดำคั่วก็หอมไปอีกแบบ และใช้ผ้าขาวบางกรองเอาแต่น้ำสีดำมาใช้ คล้ายที่คนโบราณทำขนมเปียกปูน
ส่วนสีอื่น ๆ เราเริ่มควานหา เดินสำรวจพื้นที่รอบ ๆ สตูดิโอ แซนด์ปลูกดอกไม้ไว้บ้าง ใกล้ ๆ อาคารก็จะงามหน่อย ดูแลคนเดียว มีอัญชัน มีเฟื่องฟ้า ที่ดอกออกตลอดปี แซนด์บอกด้วยความภูมิใจว่า ฉันปลูกทั้งหมดนี่เอง
สรุปได้สีฟ้ากับสีออกชมพู ๆ มาเข้าคอลเลกชันสีสันตามที่เราต้องการ แต่ก็ยังขาดสีเหลือง! แซนด์บอกให้ลองดูที่ทำไว้ มีเพียบเลย เผื่อจะเจอสีที่ชอบ
โจทย์ข้อแรกคือต้องกินได้ไม่อันตราย ข้อสองคือขอสีสด ๆ และข้อสามต้องหาง่าย เลยถือโอกาสสำรวจสตูดิโอไปด้วยเลย ดูน่าสนใจไปหมด
พื้นที่ทำงานจะเป็นนั่งพื้นแทบทั้งหมด พอเราย่อตัวลงนั่ง ก็นึกตามได้ทันทีถึงปรัชญาชีวิตและแนวคิด ว่าแซนด์ตกผลึกคิดมาหมดก่อนทำพื้นที่นี้ขึ้นมา
“นั่งได้ไหมพี่ นั่งพื้นมันสะดวกดี พี่เตรียมครกหินรอแซนด์ได้เลย” แซนด์บอก “เดี๋ยวเรามาโขลกวัตถุดิบทั้งหมดทำแม่สีกัน โขลกกับพื้นนี่แหละ เดี๋ยวโต๊ะพัง” และแล้วทุกอย่างก็เฉลย ว่าทำไมต้องนั่งพื้น
จากของสะสมก็กลายเป็นตลับสีน้ำธรรมชาติ หลากหลายโทนสี มีแฟนสีน้ำธรรมชาติเฝ้าติดตามสั่งจองอยู่ประจำ ตอนนี้มีทั้งสีแบบแท่ง คล้าย ๆ สีเทียนสีชอล์ก ด้ามจับเป็นต้นอ้อ พอเห็นของสวย ๆ งาม ๆ งานคราฟต์ขนาดนี้ ทำให้แอบอยากได้กลับบ้านเพิ่มเลย เคยคิด ๆ ว่าอยากหาเวลาออกไปนั่งเพนต์สีน้ำ ให้เวลากับตัวเองบ้าง จนถึงก็มัววุ่นทำเกษตรหนักทุกวัน จนเคยอยากทำงานศิลปะมาก ๆ
เราชักจะหลงรักงานของแซนด์ ด้วยบรรยากาศต่าง ๆ ที่รายล้อม
ระหว่างนั่งพื้นกินน้ำอุณหภูมิห้อง กวาดตาไปทางไหนก็เหมือนจะเป็นบรรดาของสะสม เป็นสีจากดินสีต่าง ๆ สีจากแร่ละลานตาเต็มไปหมด นอกจากชอบเดินทาง น่าจะเก็บสะสมเก่งมาก ๆ ด้วย แซนด์บอกว่าเผลอแป๊บเดียวก็ข้าวของเยอะแบบนี้เลย ไม่รู้ตัว
ดูไปเรื่อย ๆ ก็เริ่มตาลาย เลือกไม่ถูก พอคิดถึงคนที่บ้านไม่มีที่ปลูกต้นไม้ ก็เลยตกลงกันว่า จะใช้สีเหลืองจากลูกพุดที่หาซื้อได้ตามร้านสมุนไพรทั่วไปได้
เป็นอันว่าได้สีครบ เลือกหลัก เอาหลักการเดียวกับเวลาซื้อหมึกมาเติมเครื่องพิมพ์ CMYK
C Cyan เลือก ดอกอัญชัน
M Magenta เลือก ดอกเฟื่องฟ้า
Y Yellow เลือก ลูกพุด
ส่วน K Black ได้จากการกรองเอาน้ำจากกาบมะพร้าวเผาหรืองาดำคั่วก็ได้
กว่าจะเลือกสีกันได้ก็หมดค่อนวัน ไม่รีรอแล้ว ช่วยกันรวมอุปกรณ์สำหรับทำแม่สีน้ำไว้ให้พร้อม
วัตถุดิบและอุปกรณ์ในการเตรียมแม่สีจากธรรมชาติ
วัตถุดิบ
1. ดอกอัญชัน
2. ดอกเฟื่องฟ้า
3. ลูกพุด
4. ผงถ่านจากกาบมะพร้าวหรืองาดำคั่วบดละเอียด
อุปกรณ์
1. ครกและสาก
2. ผ้าขาวบางและกระชอนกรองละเอียด
3. ถ้วย ขวดเล็ก ๆ หรือหลอดใส่สี
ขั้นตอนการเตรียมแม่สีจากธรรมชาติ
1. ทำความสะอาดดอกอัญชันและดอกเฟื่องฟ้า พร้อมเด็ดก้านออก
2. ตัดผ้าขาวบางไว้สำหรับกรองเนื้อสี
3. นำลูกพุดแช่น้ำแต่น้อย และเติมน้ำใส่เศษถ่านที่บดละเอียด รอให้อิ่มตัว ขับสีออกมา
4. หลังจากนั้นค่อย ๆ เติมน้ำทีละน้อย ใช้ผ้าหุ้มวัตถุให้สีทั้งหมด กรองและบีบคั้นแยกกากออกไป เก็บไว้แต่ส่วนที่เป็นน้ำข้น ๆ ทำให้สีที่ได้มีความละเอียด
5. เก็บสีน้ำในขวดมีฝาปิดสนิท พยายามไม่เก็บไว้นานจนเกินไป เก็บในตู้เย็นได้ประมาณ 3 – 7 วัน เกินจากนั้นสีจะซีดลงบ้างเป็นธรรมชาติ และไม่ค่อยเหมาะใช้ผสมของกิน
6. หากต้องการเก็บสีให้ได้นานยิ่งขึ้น ก็นำแม่สีธรรมชาติมาเทลงพิมพ์ขนม พิมพ์น้ำแข็ง และเก็บในช่องแช่แข็ง วิธีนี้ทำให้เก็บไว้ได้นานและหยิบใช้สะดวก แถมเมื่อพอเป็นก้อน ยังกะปริมาณผสมสีตอนหยิบมาใช้งานได้ง่ายขึ้นด้วย
สีที่ทำเสร็จแล้วก็พกกลับบ้าน มีสีธรรมชาติไว้เพิ่มสีสันในเมนูของเราเรียบร้อย
ตอนนี้เราอยากทดสอบสีจะแย่แล้ว สีที่ทำมาแช่แข็งเก็บไว้ ตั้งใจจะลองทำขนมปังจากโทนสีธรรมชาติ เป็นการทดสอบผสมสีลงของกิน มีสันที่ได้สดใสน้อยลงพอสมควร แต่ก็สวยไปอีกแบบ ดูไม่น่ากลัวแต่น่ากิน
เตรียมอุปกรณ์ในการขึ้นสูตรทำขนมปัง (ได้ขนมปังประมาณ 4 แถวเล็ก ๆ )
1. แป้งขนมปัง 250 กรัม
2. ยีสต์ 1½ ช้อนชา
3. น้ำตาล 45 กรัม
4. น้ำอุณหภูมิห้อง 110 กรัม
5. ไข่ไก่ 40 กรัม ( เกือบ 1 ฟอง )
6. พิมพ์ขนมปังและกระดาษรองอบ
7. เนย 45 กรัม
ขั้นตอนการทำ
1. นำแป้งขนมปัง 250 กรัม ยีสต์ 1½ ช้อนชา น้ำตาล 15 กรัม ใช้เครื่องตีแป้ง ตีรอบแรกประมาณ 5นาที (นวดมือให้เข้ากันก็ได้) หลังจากนั้นใส่น้ำอุณหภูมิห้อง 110 กรัมและไข่ไก่ (ทั้งไข่ขาวและไข่แดง) 40 กรัม เอาส่วนผสมทั้งหมดใส่รวมกันตีรวม แล้วจึงใส่เนย ใช้เครื่องตีแป้งตีต่ออีก 10 นาที
2. นำแม่สีที่ทำไว้เอาออก ตั้งทิ้งไว้รอละลาย ผสมสีตามใจชอบ โดยแบ่งแป้งขนมปังออกเป็นส่วน ๆ เพื่อนวดแม่สีจากธรรมชาติผสมเข้าไป
3. แหวกขนมปังเป็นหลุมและค่อย ๆ หยดสีลงไป ทดลองนวดให้เกิดเป็นลวดลายตามใจชอบระหว่างนวดรองพื้นด้วยแป้งขนมปังเล็กน้อย จะได้ไม่ติดมือและพื้น (ใส่ถุงมือได้ เพื่อสีจะได้ไม่ปนกัน)
4. ได้ขนมปังที่สีสันตามแม่สีที่ใส่ลงไป ออกลวยลายหินอ่อน มากน้อยตามจังหวะการนวด
5. เลือกคู่สีลองเอาขนมปังที่มีสีสันต่างกัน ปั้นเป็นตัวหนอนบิดพันกันเป็นเกลียว เรียงต่อกันหรือนวดผสมกัน รองกระดาษอบ นำใส่ลงในพิมพ์
6. หุ้มด้วยพลาสติกคลุมไว้ ให้ยีสต์ทำงานในอุณหภูมิห้อง หากทิ้งไว้ในเตาประมาณ 40 องศาเซลเซียส ใช้เวลาประมาณ 25 – 30 นาที พักแป้ง ให้ยีสต์ทำงานเต็มที่
7. สังเกตแป้งโดจะฟูตัวขึ้น มีเส้นใยขนมปังที่สวยงาม นำอบจริง 180 องศาเซลเซียส ประมาณ 20 นาทีจนแป้งสุกได้ที่ กลับฝั่งและอบอีกครั้งประมาณ 5 นาที
8. ตรวจสอบความสุกของก้อนขนมปัง ทิ้งให้เย็นตัวลง ก่อนจะหั่นด้วยมีดหั่นขนมปัง และชื่นชมสีสันสวยงามน่ากิน
ได้ขนมปังโทนจากโทนสีธรรมชาติสมใจ โลฟนี้ออกแบบเป็นลายงานเพนต์ของแวนโก๊ะ อันนี้ลองทำเป็นลายหินอ่อน ใช้สีดำมากหน่อยก็สวยไปอีกแบบ
หากทาเนยที่ละลายไว้ จะทำให้สีสดขึ้นอีกเล็กน้อย อย่าลืมจดสัดส่วนที่เราใส่สีลงไป จะทำให้สีสวยขึ้นได้ตามใจ
นี่เป็นการทำขนมปังครั้งแรกของเราเหมือนกัน อยากจะทำซ้ำ ๆ จนสวยขึ้นไปเรื่อย ๆ ตอนขึ้นขนมปังนวดสนุกมือดี ได้สาดสีผสมสีลงเฟรมที่เป็นขนมปังตามใจชอบ แม่สี CMYK และสีสันจากธรรมชาติอื่น ๆ ยังมีอีกมายมายรอให้เราไปเลือกใช้
อยู่บ้านครั้งนี้มีสีสันกว่าที่เคย ก่อนเข้าสู่ฤดูร้อนเต็มตัว มาลองทำขนมปังจากสีธรรมชาติไปด้วยกัน
ว่าแล้วก็ส่งขนมไปอวดแซนด์ดีกว่า