ถ้ามีผู้หญิงสักคนที่เราอยากให้คุณรู้จักในวันสตรีสากลที่กำลังจะมาถึง คนคนนั้นคือ ผู้หญิงช่างสงสัยที่ชื่อ ผึ้ง-ณัฐยา บุญภักดี

จากสิ่งที่เธอพยามทำมาตลอดหลายปี หลายคนคงมองว่าเธอเป็นนักเรียกร้องสิทธิสตรีที่ดุดัน แต่เปล่าเลย เมื่อบทสนทนาเริ่มต้นขึ้น เราสัมผัสได้ว่าผู้หญิงตรงหน้าคือคนที่ยิ้มแล้วโลกสดใสมากคนหนึ่ง แถมเธอยังออกตัวตั้งแต่แรกว่า ก่อนจะมาทำงานด้านนี้ เธอไม่เคยอินกับปัญหาของผู้หญิง ไม่เคยสนใจสตรีศึกษา ไม่เคยศึกษาทฤษฎี Gender หรือ Feminism

ชีวิตเธอมาถึงจุดนี้เพราะความสงสัยว่า ‘ความไม่เท่าเทียมระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง…มีอยู่จริงไหม’

แล้วก็ออกตามหาคำตอบผ่านการทำงานกับผู้หญิงที่บาดเจ็บในชีวิตมากมาย ทั้งผู้หญิงที่ถูกล่อลวงไปขายแรงงาน ค้าประเวณี ติดเชื้อเอชไอวี โดนทารุณตบตี ไปจนผู้หญิงที่พลาดเป็นแม่วัยรุ่น

ปัจจุบันเธอคือผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้ทำงานในประเด็นเรื่องเพศ ผู้หญิง และอื่นๆ อีกมากมายกว่า 20 ปี ผลงานชิ้นโบแดงคือการผลักดันให้สังคมไทยหันมาสนใจประเด็นแม่วัยรุ่น จนเกิด พ.ร.บ. ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559

สิ่งสำคัญที่วัยรุ่นไทยได้รับจาก พ.ร.บ. ฉบับนี้ที่คุณผึ้งตั้งใจผลักดัน คือสิทธิในการเรียนรู้เพศศึกษารอบด้าน เข้าถึงการบริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์ และหากชีวิตพลั้งพลาด…แม่วัยรุ่นสามารถสามารถเรียนต่อได้หลังคลอดพร้อมช่องทางการคุ้มครองอีกมากมาย เพื่อให้พวกเขามีโอกาสแก้ไขชีวิตเมื่อผิดพลาดและเติบโตไปเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

เพราะคุณผึ้งเชื่อมั่นว่าในมนุษย์หนึ่งคน มากล้นด้วยเมล็ดพันธุ์ดีๆ

นี่คือเรื่องราวว่าด้วยการใช้ชีวิตเป็นเดิมพันในการหาคำตอบ

ณัฐยา บุญภักดี

สู่งานเพื่อสังคมเพราะทำงานบ้านทุกวัน…

ถ้าจะบอกว่าชีวิตการทำงานเพื่อสังคมกว่า 20 ปีของคุณผึ้งเริ่มต้นตั้งแต่ตอนเป็น ‘เด็กหญิงผึ้ง’ คงไม่ผิดนัก

เด็กหญิงผึ้งโตมาในครอบครัวที่เธอให้นิยามว่า ‘ติดกรอบเรื่องเพศ’ คือปฏิบัติกับลูกชายและลูกสาวตามกรอบทางเพศที่สังคมบอกว่าดี ลูกผู้หญิงต้องเรียบร้อย อ่อนหวาน ทำงานบ้านทุกอย่าง เหตุการณ์ซ้ำๆ อย่างกลับบ้านตอนเย็น น้องชายสามารถโยนกระเป๋าแล้วออกไปเล่นได้ ในขณะที่เธอต้องทำงานบ้านเต็มไปหมด มันสะสมจนเป็นคำถามในใจว่า

“ทำไมลูกชายกับลูกสาว…ไม่เท่าเทียมกัน”

สิ่งนี้ไม่ได้ทำให้เด็กหญิงผึ้งอยากลุกขึ้นมาตามหาคำตอบหรือเรียกร้องสิทธิสตรีตั้งแต่วันนั้น แต่มันทำให้เธอเป็นคนไวต่อ ‘ความไม่ยุติธรรม’ มาจนถึงวันนี้ เธอเล่าว่า ตัวเองมักจะยื่นมือเข้าไปช่วยคนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมเสมอ จนเลือกศึกษาต่อระดับปริญญาโทเกี่ยวกับการทำงานเพื่อสังคม

“ในวันนั้นเมื่อ 20 ปีก่อน สิ่งที่เราสนใจคือการช่วยชาวนา เราไม่ได้อินเรื่องเพศหรือเรื่องผู้หญิงเลย ไม่เฟมินิสต์ ไม่เคยเรียนทฤษฎีเจนเดอร์ ไม่เคยอ่านสตรีศึกษา เราก้าวเข้ามาทำงานตรงนี้ตามจังหวะชีวิต มันเป็นอะไรที่ตลกมากและยังไม่เคยเล่าให้ใครฟัง”

ณัฐยา บุญภักดี
ณัฐยา บุญภักดี

‘เรื่องของปราง’ สู่ ‘เส้นทางการทำงานเพื่อผู้หญิงของผึ้ง’

สิ่งหนึ่งที่คุณผึ้งเชื่อที่สุดคือเรื่องจังหวะชีวิต

จังหวะชีวิตที่เธอต้องหันเหจากความสนใจเรื่องชาวนาไปเดินในเส้นทางการทำงานเพื่อผู้หญิง ตอนที่เธอเรียนใกล้จบปริญญาโท คุณผึ้งพาคุณยายไปหาหมอ และโชคชะตาก็ชักพาให้คุณผึ้งนั่งติดกับคุณยายท่านหนึ่งซึ่งเป็น ‘ประธานมูลนิธิผู้หญิง’ เธอคอยช่วยเหลือคุณยาย คุยกันถูกคอมากจนท่านเอ่ยถามว่า

“เรียนจบปริญญาโทจะไปทำงานที่ไหน สนใจงานด้านผู้หญิงมั้ย ยายเป็นประธานมูลนิธิผู้หญิง”

“อ๋อ ไม่สนค่ะ เรื่องผู้หญิงมันเป็นประเด็นเล็กมากสำหรับหนู หนูสนใจประเด็นชาวนา”

คุณยายเลยยื่นหนังสือให้เล่มหนึ่งชื่อ เรื่องของปราง เป็นไดอารี่ของผู้หญิงที่อยากตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ เลยเข้าไปอยู่ในวังวนการขายบริการทางเพศ ตอนนั้นเธออ่านแล้วก็รู้สึกว่า ‘มันมีเรื่องแบบนี้ด้วยเหรอ’ คำถามนี้สะกิดใจจนคุณผึ้งเจอเลือกทำโปรเจกต์จบปริญญาโทเกี่ยวกับโรคเอดส์ที่เป็นปัญหายอดฮิตในเวลานั้น

“ตอนนั้นเราลงไปสัมภาษณ์คนเยอะมาก ทุกคนพูดตรงกันว่า ถ้าอยากให้ปัญหาเอดส์หมดไป ต้องรณรงค์การใช้ถุงยางอนามัย ปีนั้นคือปี 2538 คนยังไม่รู้จักเลยว่าถุงยางอนามัยคืออะไร เราจำตอนที่เขียนข้อเสนอแนะในเอกสารได้ชัดมาก เรานั่งนึกถึงพ่อกับแม่ว่าเขาจะใช้ถุงยางมั้ย แม่เป็นคนเรียบร้อยมาก จะกล้าพูดเรื่องถุงยางกับพ่อมั้ย แล้วถ้าพ่อไม่อยากใช้ แม่จะมีอำนาจบนเตียงจริงๆ เหรอ นาทีนั้นทำให้เราพบว่า ‘ความไม่เท่าเทียมทางเพศ’ มันมีอยู่จริงนี่นา แค่เรื่องถุงยางก็เห็นแล้วว่าใครมีอำนาจตัดสินใจ เราอยากหาคำตอบเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศมากขึ้น เลยไปสมัครงานที่มูลนิธิผู้หญิงของคุณยาย”

ณัฐยา บุญภักดี

ออกตามหาคำตอบผ่านมูลนิธิผู้หญิง – Population Council – มูลนิธิสร้างความเข้าใจสุขภาพผู้หญิง – UNFPA

ความไม่เท่าเทียมทางเพศ…มันมีอยู่จริง

คุณผึ้งเจอคำตอบที่สงสัยตั้งแต่งานแรกที่ได้ทำในมูลนิธิผู้หญิง โดยเธอเป็นนักวิจัยในโครงการวิจัยเกี่ยวกับผู้หญิงไทยที่ถูกล่อลวงไปขายบริการทางเพศหรือเป็นแรงงานทาสที่ต่างประเทศ ทำหน้าที่อ่านและวิเคราะห์บทสัมภาษณ์ชีวิตผู้หญิงเหล่านี้กว่า 100 คน

“หลังจากการอ่านชีวิตผู้หญิงกว่าร้อยคนทำให้เราเห็นสิ่งที่มันซ้ำๆ วนๆ ในชีวิตผู้หญิงกลุ่มนี้ คือไม่ได้รับความสำคัญเท่ากับพี่หรือน้องที่เป็นผู้ชาย ไม่ได้เรียนหนังสือหรือเรียนน้อยกว่า ไม่สามารถทดแทนบุญคุณพ่อแม่ได้ด้วยการบวช แต่ต้องทดแทนด้วยการทำให้พ่อแม่สุขสบาย มันซ้ำๆ จนทำให้เราเข้าใจตัวเองว่า…อ๋อ แม่กับพ่อไม่ได้รักเราน้อยกว่าน้องชาย แต่เราก็เหมือนชีวิตผู้หญิงเหล่านี้ที่ถูกเลี้ยงดูในครอบครัวที่ให้คุณค่าและปฏิบัติกับลูกชายหญิงไม่เท่ากัน”

หลังจากเจอคำตอบคุณผึ้งก็ทำงานให้ความรู้และปลุกพลังให้ผู้หญิงที่มีบาดแผลเห็นศักยภาพในตัวเอง ทำไปเรื่อยๆ จนเกิดคำถามใหม่ในชีวิตว่า ทำยังไงถึงจะแก้ปัญหาให้ถึงต้นตอมากกว่านี้

จากการวิเคราะห์ของตัวเธอเองในเวลานั้น เธอคิดว่าคงต้องปลูกฝังองค์ความรู้เรื่องเพศแบบรอบด้านของผู้หญิงทุกคนตั้งแต่วัยรุ่น และจังหวะชีวิตแปลกๆ ก็มาถึงอีกครั้งเมื่อองค์กรวิจัยระหว่างประเทศชื่อ Population Council ต้องการสำรวจสถานการณ์ว่าสุขภาพของผู้หญิงไทยเป็นอย่างไร และมีคนชวนให้คุณผึ้งร่วมโครงการวิจัยดังกล่าว

ตอนนั้นเธอสำรวจพบว่าปัญหาการท้องไม่พร้อมของวัยรุ่นไทยถูกละเลยเยอะมาก จึงทำโครงการวิจัยสัมภาษณ์ผู้หญิงที่มีประสบการณ์ท้องไม่พร้อมที่ทำแท้งและไม่ได้ทำแท้งเกือบ 80 คน

“เราได้เจอเรื่องราวของผู้หญิงซึ่งผ่านการทำแท้งมานับครั้งไม่ถ้วนแล้วก็ไม่รู้สึกอะไรกับมัน มีนักเรียนหลายเคสที่เต็มใจท้องกับผู้ชายที่รัก แต่เป็นพ่อแม่เขาที่ไม่พร้อมและอยากให้ลูกทำแท้ง มีเด็กที่ท้องแล้วพยายามใส่เสื้อพละคลุม ขี่มอเตอร์ไซค์ไปดึกๆ เพื่อทำแท้งเถื่อนแต่ไม่สำเร็จ พ่อแม่มารู้วันคลอดก็ช่วยเลี้ยงหลาน สิ่งที่เราเรียนรู้จากเรื่องนี้คือเราตัดสินผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมไม่ได้เลย บอกไม่ได้ว่าหลังจากท้องเส้นทางไหนคือเส้นทางที่ถูก เพราะจากการสัมภาษณ์มันมีเหตุผลที่ทับซ้อนกันจากคนหลายฝ่าย”

หลังจากจบโครงการวิจัยนั้นคุณผึ้งร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ ผลักดันให้ประเด็นแม่วัยรุ่นถูกพูดถึงและแก้ไขมากขึ้น เช่น ทำหลักสูตรเพศศึกษารอบด้านกับองค์กร Teenpath ผลักดันให้มีบ้านพักฉุกเฉินทุกจังหวัดสำหรับผู้หญิงท้องไม่พร้อม ก่อตั้งมูลนิธิสร้างความเข้าใจสุขภาพผู้หญิงเพื่อทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ จนได้เข้าไปช่วยผลักดันกฎหมายและนโยบายในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารแผนงานเยาวชน กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ หรือ UNFPA (United Nations Population Fund)

เธอทำทุกวิถีทางจน พ.ร.บ. แม่วัยรุ่นที่เรียกร้องสิทธิให้วัยรุ่นไทย คลอดออกมาในปี 2559

ณัฐยา บุญภักดี
ณัฐยา บุญภักดี

ทุกปัญหาเริ่มต้นแก้ได้ที่ครอบครัว” คำตอบที่พาชีวิตมาสู่งานเพื่อเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน

เมื่อ พ.ร.บ. แม่วัยรุ่นคลอดออกมา คุณผึ้งก็หมดไฟ

เมื่อกฎหมายผ่าน สิ่งที่คุณผึ้งต้องเจอคือระบบการทำงานไม่เอื้ออำนวยให้กฎหมายที่เธอตั้งใจถูกบังคับใช้จริง คุณผึ้งพยายามผลักดันให้เกิดการปฏิบัติจริงจากทุกฝ่ายแต่งานขยับไปน้อยนิด จนชีวิตมาถึงจุดที่หมดไฟอยู่ประมาณ 2 เดือน ในช่วงเวลานั้นเธอใช้วิธี ‘ถอดตัวเองออกจากสถานการณ์’ พูดภาษาบ้านๆ คือไปพัก ไปเที่ยว ไปเยียวยา จนพบว่าระบบที่เธออยู่ไม่ได้ผิดแต่มันเหมาะสำหรับการขยับในระดับนโยบาย หากเธออยากแก้ปัญหานี้ที่ต้นตอที่สุดเธอก็ต้องไปอยู่ที่ๆ ทำงานนี้ได้เหมาะกว่า

“เราเชื่อว่าทุกปัญหาเริ่มต้นแก้ได้ที่ครอบครัว เริ่มตั้งแต่เขาเป็นเด็ก”

คุณผึ้งตัดสินใจลาออกเพื่อจะก่อตั้งมูลนิธิที่ทำงานเพื่อเด็กและเยาวชน แล้วชะตาชีวิตก็เล่นตลกอีกครั้งเมื่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ประกาศหาผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว คุณผึ้งเลยได้เข้ามาทำงานที่เน้นดูแลเด็กและเยาวชนในทุกมิติจนถึง 25 ปีเต็ม

“ตอนนี้เราเหลือคำถามเดียวที่กำลังออกตามหาคำตอบ คือเราสามารถสร้างระบบที่สามารถสนับสนุนทุกครอบครัวให้เลี้ยงเด็กคนหนึ่งโตมาอย่างมีศักยภาพที่สุดได้ไหม และเรากำลังทำงานนี้อยู่ เราเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาไม่ได้เพื่อที่จะมาเป็นผู้หญิงหรือเป็นผู้ชาย มนุษย์ทุกคนเกิดมาเพื่อที่จะเป็นมนุษย์ เขาควรที่จะได้รับการเลี้ยงดูบ่มเพาะให้เติบโตขึ้นเต็มศักยภาพในความเป็นมนุษย์ของเขา ไม่ว่าเขาจะมีต้นทุนมากแค่ไหน เขามีเมล็ดพันธุ์ที่จะพัฒนาเป็นอะไรได้อีกมากมาย มันไม่ควรจะถูกบล็อกโดยเพศหญิงหรือเพศชาย”

ณัฐยา บุญภักดี
ณัฐยา บุญภักดี

พลังของผู้หญิงแห่งแรงบันดาลใจ

บทสนทนามาถึงช่วงท้าย เราได้รับพลังดีๆ มากมายจากผู้หญิงคนนี้

เป็นพลังดีๆ ที่ทำให้เราอยากย้อนมาสำรวจตัวเองว่ามีคำถามไหนในชีวิตที่เรียกร้องให้เราหาคำตอบ มีอะไรที่เราทำเพื่อผู้อื่นได้บ้าง และพลังที่คุณผึ้งส่งต่อในช่วงเวลาสั้นๆ ทำให้เราสงสัยอีกว่า ผู้หญิงคนไหนที่เป็นแรงบันดาลใจให้เธอ

“มีผู้หญิง 2 คนที่เป็นแรงบันดาลใจมากในการสู้ชีวิตของเรา คนแรกคือคุณยาย อีกคนชื่อสร้อย เป็นผู้หญิงคนแรกที่เราได้มีโอกาสช่วยเหลือเขา สร้อยถูกญาติหลอกให้ไปทำงานที่ต่างประเทศ บอกว่าให้ไปเป็นแม่ครัว แต่จริงๆ คือไปขายบริการ เขากลับมาได้และต้องการฟ้องญาติคนนี้ทั้งที่อ่านหนังสือไม่ออก ไม่เข้าใจระบบกฎหมาย เราก็ต้องช่วยดูแลเขาให้ปลอดภัย พาเขาขึ้นศาล เราต้องเป็นคนพิมพ์เรื่องของเขาเวลาเขาเล่า ต้องติดต่อทนาย อยู่กับเขาหลายปีจนเขาชนะคดี เราเห็นเขาสู้จนเขาได้ใช้ชีวิตของเขา มันเป็นแรงบันดาลใจให้เรามากๆ”

บทสนทนาเงียบไปครู่หนึ่ง คุณผึ้งมองออกไปนอกหน้าต่าง เราเลยขอให้เธอลองทบทวนว่าจากที่ทำงานในประเด็นเพื่อผู้หญิงมากว่า 20 ปี ได้สัมผัสและรับรู้เรื่องราวของผู้หญิงมานับร้อย คุณผึ้งคิดว่าพลังที่แท้จริงของผู้หญิงคืออะไร

“อืม” คุณผึ้งมองออกไปนอกหน้าต่างระหว่างใช้ความคิด “ถ้าให้นึกถึงผู้หญิงหลายร้อยคนที่ตัวเองสัมผัส ผู้หญิงที่ติดเชื้อเอชไอวี ผู้หญิงที่ถูกข่มขืน ผู้หญิงที่ถูกสามีทำร้าย ผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิด ผู้หญิงที่ถูกตีตรา พลังของผู้หญิงเนี่ยมันมาจากการที่ต้องการที่จะพิสูจน์กับตัวเองให้ได้ในวันหนึ่งว่า ไม่ว่าสังคม ไม่ว่าใคร จะทำยังไงกับฉันก็ตาม ฉันจะลุกได้ทุกครั้ง ฉันจะผงาดขึ้นมาให้ได้ทุกครั้ง ฉันจะสู้ไม่ถอย ถ้าฉันล้มฉันก็จะล้มไม่นาน ฉันจะลุกขึ้นมาให้ได้ทุกครั้งไม่ว่าใครจะทำยังไงกับฉันก็ตาม”

สิ่งเดียวที่รับรู้ในหัวใจเวลานี้…คือชีวิตมนุษย์นั้นสวยงามเหลือเกิน

ณัฐยา บุญภักดี

Writer

Avatar

วิภาดา แหวนเพชร

ขึ้นรถไฟฟ้าหรือไปไหนจะชอบสังเกตคน ชอบคุยกับคนแปลกหน้าโดยเฉพาะ homeless ชีวิตมนุษย์นี่มหัศจรรย์มากๆ เลย ชอบจัง

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan