เมื่อพูดถึง Influencer เราทุกคนคงมีชื่อในใจผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด พูดถึง Content Creator ก็คงมีหลายสิบชื่อที่ยอดวิวหลายล้านในยูทูบ แต่ถ้าถามถึง Influencer ที่ทำงานแบบ Content Creator บนอินสตาแกรม เราเชื่อว่าหลายคนคงจะตีวงแคบเข้ามาจนแทบไม่เหลือ หนึ่งในนั้นคือ นัท-นัทธมน โชคจินดาชัย หรือ นัทควอน เจ้าของไอจี @nkwww หญิงสาวผู้เข้ามาเขย่าวงการการทำสื่อออนไลน์ ด้วยลีลาการทำโฆษณาจากโลกอนาคตที่เธอรับบทเป็นคนทั้งกองถ่าย

‘นัทควอน’ ครีเอเตอร์ผู้คิดงานแบบครีเอทีฟโฆษณาและทำทุกหน้าที่ในกองถ่าย

Sign Up

นัทธมนบอกความลับหนึ่งข้อที่ทำให้เราตกใจว่า เธอเล่นอินสตาแกรมแอคเคาท์นี้มานานกว่า 11 ปีแล้ว 

ในยุคสมัยที่อินสตาแกรมไม่มี Story ไม่มี Reel ไม่มี Live เป็นเพียงอัลบั้มออนไลน์ที่บันทึกเรื่องราวทุกช่วงชีวิต ตั้งแต่เธอเรียนมัธยม เล่นกีฬา ไปเชงเม้ง ไปทัศนศึกษา สอบติดมหาวิทยาลัย เธอเปิดเผยตัวตนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แม้ฟังก์ชันของอินสตาแกรมไม่ได้หยุดอยู่แค่การลงรูปอีกต่อไป เส้นทางการเปลี่ยนผ่านจากเด็กหญิงนัทธมนสู่นัทควอนที่มียอดติดตามมากกว่า 2 แสนจึงเป็นถนนที่ไม่ชัดเจนเท่าไหร่นักสำหรับเธอ 

“เราค่อย ๆ โตขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งที่ทำให้เรามีสถานะคือ Followers ที่หลั่งไหลเข้ามา เพราะ Followers เป็นคนสร้าง Influencers แรก ๆ อาจจะเป็นเพราะสไตล์ การแต่งตัว ลงรูปอาร์ต ๆ เหมือนแกลเลอรี่ หลัง ๆ เราเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ เพราะเราไหลไปตามจังหวะชีวิตมากกว่า แต่ผู้ติดตามนี่แหละที่เริ่มเข้ามาให้ค่างานของเรามากขึ้น”

‘นัทควอน’ ครีเอเตอร์ผู้คิดงานแบบครีเอทีฟโฆษณาและทำทุกหน้าที่ในกองถ่าย

ในยุคสมัยที่อินสตาแกรมมี Story มี Reel มี Live ภาพชีวิตประจำของเด็กวัยรุ่นก็ค่อย ๆ ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นภาพการโฆษณาสินค้าของบรรดาแบรนด์ เริ่มจากการโพสรูปคู่รอให้เราไปกดไลก์ บรรยายสรรพคุณตามสั่งที่ได้รับมอบหมาย จนถึงทำคลิปวิดีโอโปรโมตสินค้าราวกับหนังโฆษณา เพราะอินสตาแกรมเป็นแค่ช่องทางนำเสนอ ไม่ใช่เครื่องมือวิเศษเรียกลูกค้า แต่ความคิดสร้างสรรค์ของตัวผู้ใช้งานหรือคำฮิต ๆ ที่เราเรียกกันว่า Content Creator ต่างหาก ที่จะบอกได้ว่ารุ่งหรือร่วง โจทย์ของแบรนด์ในปัจจุบันจึงไม่ใช่แค่ประโยคคำสั่ง แต่เป็นประโยคคำถามว่า Content Creator จะผลิตชิ้นงานให้ตอบโจทย์อย่างไร

อาจดูเหมือนเข้าทางนัทธมน เจ้าของรางวัลใหญ่จากเวที B.A.D Student Workshop สนามแข่งของครีเอทีฟรุ่นเยาว์ทั่วประเทศ พ่วงกับการเป็นนิสิตจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม ที่ร่ำเรียนเรื่องการออกแบบให้ตอบสนองความต้องการมนุษย์จนช่ำชอง เพียงแต่ความจริงไม่ง่ายดายอย่างนั้น

เมื่อชีวิตมาถึงทางแยก วงการโฆษณาแทบจะปูพรมแดงต้อนรับหลังเธอได้รับคำชื่นชมท่วมท้วน ขณะเดียวกัน นัทก็มีผู้ติดตามอยู่ในมือราว 8 หมื่นคน 

“เราอยากเป็นครีเอทีฟ แต่เขาดันหลังให้เราเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ เราไม่เคยวางแผนว่าต้องเป็นสิ่งนี้”

หากคุณสงสัยว่าเขาคนนั้นคือใคร เรากำลังจะเฉลยให้คุณทราบในไม่ช้า

Edit Profile

“ตอนที่เขาคิดจะปั้นเรา เขาบอกว่าเราควรมี Identity คนอื่นวาดรูปเก่ง เล่นเกมเก่ง ทำกับข้าวเก่ง แล้วตัวตนของเธอคืออะไร ซึ่งสิ่งเดียวที่เรากำลังฝึกฝนตอนนั้น คือการคิดงานแบบครีเอทีฟโฆษณา” 

ชายหนุ่มผมยาวเซอร์ พัท-นนทพัทธ์ ชลวิทย์ คือเขาคนนั้น ผู้อยู่เบื้องหลังทุกอย่างของนัทควอน

“เราเป็นคนที่ทำงานในมือให้ดีที่สุด ไม่ค่อยคิดถึงเรื่องอนาคต แต่พัทมองเห็นไกลกว่านั้น เห็นภาพใหญ่ เขาเหมือนโค้ชนักกีฬา” นัทรับหน้าที่อธิบายให้คุณมองออกชัดขึ้น

‘นัทควอน’ ครีเอเตอร์ผู้คิดงานแบบครีเอทีฟโฆษณาและทำทุกหน้าที่ในกองถ่าย

สำหรับเธอ งานอินฟลูฯ เคยเป็นงานที่ไม่ทำให้รู้สึกมีคุณค่าหรือภูมิใจในตัวเองได้ จากรางวัลและประสบการณ์ที่เธอมี นัทเชื่อว่าเธอไปได้ดีกว่าในสายงานครีเอทีฟ เพื่อสานต่อความต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมในสเกลที่ใหญ่ขึ้น แต่พัทกลับมองเห็นโอกาสในสิ่งที่เธอถือไว้อยู่ในมือ

“พัทบอกว่าเขาไม่ได้เห็นภาพเราถ่ายรูปรีวิวไปวัน ๆ แต่เราครีเอทีฟต่อยอดได้ ทำไมไม่ลองให้สุดทาง เขาใช้เวลากล่อมเราอยู่หลายเดือน เขาเข้ามาวางกลยุทธ์ให้เราทำอินฟลูเป็นงานประจำ เขาสร้างแบรนด์ให้เรา เช่น จากไม่รูปเลย 3 เดือน ต่อไปนี้เธอต้องลงรูปอาทิตย์ละ 2 ครั้งนะ แล้วเขาก็ช่วยทำ Proposal ให้ถ้ามีงานถ่ายรูป แล้วก็ขอทำคลิปวิดีโอด้วยได้ไหม เหมือนเป็นการขอโอกาส” 

ผู้คนมักเข้าใจว่าอินฟลูฯ คือคนที่มียอดผู้ติดตามเยอะ มีหน้าที่ในการรับงาน ลงรูป รับเงิน แค่นั้นจบ และพื้นที่ของ Content Creator คือยูทูบ ไม่ใช่อินสตาแกรม การทำคลิปวิดีโอในฐานะอินฟลูเอนเซอร์ จึงเป็นเรื่องที่ใหม่มากในตอนนั้น นัทไม่ได้ต้องการแค่เอารูปมาลงเหมือนคนอื่น แต่เธออยากใส่ความเป็นตัวเองลงไปในงาน ผ่านการเล่าเรื่องที่มีสไตล์ไม่เหมือนใคร เพราะสิ่งที่เป็นอาวุธของเธอ คือการคิดงานแบบครีเอทีฟโฆษณา 

ทำไมต้องตั้งใจทำงานทุกขั้นตอนขนาดนั้น – เราถาม และพัทเป็นคนแก้คำถามให้

“เราว่าไม่ใช่ถามว่าทำไม แต่เพราะเราเป็นแบบนี้ ทำงานแบบนี้ คนถึงมาจ้าง การทำบรีฟด้วยการคิดทุกขั้นตอน ไอเดียของคลิปนี้คืออะไร Target มี Insight แบบไหน Product นี้เหมาะจะ Ride on เทรนด์อะไร นี่แหละคือ Branding ของเรา  มันคือทุกความสามารถที่เรามีและทุกความอยากทำ ต่อให้เหนื่อย แต่มันก็สนุกมาก”

หลังผ่านการตระเวนตอบคำถามว่า ‘นิยามสิ่งที่นัทควอนทำอยู่ว่าอะไร?’ มาเป็นสิบเป็นร้อยครั้ง พัทให้คำตอบที่ต่างออกไปกับเราว่านัทไม่ใช่ทั้ง Influencer และ Content Creator 

ในมุมมองของโค้ชนักปั้นที่มองเห็นนัทควอนจนถึงแก่น “นัทเป็นแค่คนที่อยากทำอะไรด้วย Creativity ซึ่งมันทำอะไรไปเรื่อยก็ได้ พอใช้คำว่าอินฟลูฯ มันเหมือนเราตีกรอบตัวเอง เราอาจจะเป็นแค่คนที่มี Followers เยอะ เป็นคนที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในโลกโซเชียล”

หากคุณเริ่มสงสัยอีกครั้งว่าทำไมพัทจึงเป็นโค้ชที่เก่งกาจและกล่อมเกลานัทควอนได้สำเร็จ 

ก็เพราะว่าเขาคือเจ้าของรางวัลใหญ่ที่สุดจากเวที B.A.D Student Workshop สนามแข่งของครีเอทีฟรุ่นเยาว์ทั่วประเทศในปีเดียวกัน

คุยกับ ‘นัทควอน’ (@nkwww) ถึงเบื้องลึกคนทำงาน คลิปโฆษณาที่ทั้ง Feed สั่นสะเทือน และชายผู้ผลักดันให้เธอเป็นเธอ
คุยกับ ‘นัทควอน’ (@nkwww) ถึงเบื้องลึกคนทำงาน คลิปโฆษณาที่ทั้ง Feed สั่นสะเทือน และชายผู้ผลักดันให้เธอเป็นเธอ

Posted!

หลายคนมองผิวเผินแล้วยังคิดว่าสิ่งที่เธอทำเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ใครก็ทำได้ โปรดตั้งใจฟังกระบวนการที่นัททำเองทั้งหมด หลังได้รับโจทย์จากลูกค้าที่ให้เพียงข้อมูลผลิตภัณฑ์กับ Key Message เพียงเท่านั้น (ใส่ทำนองได้ตามชอบ)

“เรามีหน้าที่คิดต่อ คิดไอเดียจาก Benefit ของสินค้า ให้มีลูกเล่นการนำเสนอที่ไม่ซ้ำกันในแต่ละคลิป ไอเดียที่เชื่อมโยงกับสินค้าคือหัวใจที่ทำให้คนดูจดจำแบรนด์ไปพร้อมกับเรา งั้นเราจะทำไอเดียนี้ให้เห็นภาพยังไง เอาสตอรี่ไลน์มาแตกเป็นช็อต เป็นสตอรี่บอร์ด ถ่ายแบบไหนบ้าง บางทีก็ถ่ายมาเลยทุกระยะ เพื่อให้ตัดสลับกันได้ คิด Transition ว่าจะเชื่อมซีนแบบไหน แล้วก็เตรียมทุกอย่างเองหมด หาโลเคชั่น หาชุด ทำพร็อพ โดยต้องคุมให้อยู่ใน Corporate Identity ของแบรนด์ 

“แล้วก็มาถึงขั้นตอนการถ่ายทำ ซึ่งกินพลังมาก อุปสรรคเยอะมาก คลิปแค่ 1 นาที แต่เราถ่าย 6 – 10 ชั่วโมง เราทำทุกอย่างเองคนเดียวเป็นปี เริ่มจากนั่งอยู่ในครัวร้อน ๆ มือซ้ายถือสินค้า มือขวาประคองรีเฟลกซ์ เท้าก็หนีบขาตั้งกล้อง แล้วถ้าแสงหมดทำยังไง ก็ต้องเริ่มใหม่ เราละเอียดในขั้นตอนนี้มาก เพราะเราไม่ได้เป็นแค่นักแสดง เราต้องกำกับ เช็กฟุตเทจ สคริปต์ก็ต้องท่อง ถ้าแววตากังวลนิดหน่อยก็ดูออกแล้ว แค่เทโปรดักใส่มือก็ถ่ายเป็นสิบ ๆ เทก เพราะเราสั่งให้ตัวเองเล่นใหม่อีกกี่ครั้งก็ได้ พูดคำว่าถ่ายใหม่จนชิน กว่าจะได้เทกที่ใช่ หรือต่อให้เจอเทกที่ใช่แล้วแต่แสงตอนเย็นดีกว่า เราก็ลุกมาถ่ายใหม่ เหมือนมีคนมาสะกดจิตว่าต้องทำให้ดีที่สุด”

นัทควอนหยุดพักหายใจเพียงเล็กน้อย พร้อมกันกับที่คุณเองคงกลืนน้ำลายลงคออึกใหญ่ เมื่อรู้ว่าเธอยังว่าต่อไม่หมด

“จนเราเริ่มมาถึงสเกลที่ถ่ายคนเดียวไม่ได้ เช่น ตอนเราเดินนอกสถานที่ มันเล่าเรื่องเยอะขึ้น ก็เลยให้พี่เลี้ยงช่วยถ่าย การเดินทะลุเสาครั้งหนึ่งเราเดินไม่ต่ำกว่า 50 ครั้ง คูณไป 7 ชุด ไป 9 โลเคชั่น 3 จังหวัดใน 1 คลิป มีอุปสรรคมาก ฝนตกก็กลับไปรอถ่ายที่โลเคชั่นเดิม 4 วันติด มีคลิปหนึ่งไฟล์เสียต้องถ่ายใหม่ 3 ครั้ง เราร้องไห้เลย หรือเรื่องความอันตราย ก็มีฉากที่เราต้องวิ่งบนสะพานทะเลสาปลึก 30 เมตร ซึ่งเราว่ายน้ำไม่เป็น คนดูแลก็ยังบอกว่ารับผิดชอบไม่ได้นะถ้าเราเป็นอะไรไป แต่เราก็ต้องวิ่งเพราะถ้าเดินมันจะไม่มีไดนามิก เราเลยรู้สึกว่าสิ่งที่ทำให้งานของเรามันเวิร์ก คือความพยายาม”

เสียงแอร์ดังหึ่งเหมือนรอให้ใครสักคนปรบมือให้กับความพยายามนั้น เพียงแต่เป็นพัทอีกครั้งที่มักจะเอ่ยเสียงเรียบด้วยประโยคที่ทำให้นัทได้ฉุกคิด บ่งบอกถึงการมองเห็นภาพใหญ่ของเขาได้เป็นอย่างดี

“เรารู้สึกว่าเขาเป็น Perfectionist ซึ่งไม่ใช่ในเรื่องที่ดี หมายถึงหลาย ๆ เรื่อง อย่างไปเดินบนสะพาน บอกว่าฮาร์ดเวิร์กแต่อันตรายมันก็ผิด ชีวิตคนเรามันต้องสำคัญกว่าการทำงานอยู่แล้ว”

คุยกับ ‘นัทควอน’ (@nkwww) ถึงเบื้องลึกคนทำงาน คลิปโฆษณาที่ทั้ง Feed สั่นสะเทือน และชายผู้ผลักดันให้เธอเป็นเธอ

นัทไม่เพียงเอาหน้าที่ทุกตำแหน่งในกองถ่ายมากองไว้ที่เธอเพียงคนเดียว สิ่งหนึ่งที่เธอยังละวางไม่ได้คือการตัดต่อ เพราะเธอเชื่อในจังหวะของตัวเองมากกว่าใคร และต้องการให้ภาพออกมาอย่างที่คิดไว้ทุกอย่าง ขณะที่พัทมองว่านี่ไม่ต่างอะไรกับการไม่เชื่อใจคนอื่น ซึ่งเป็นข้อเสียที่นัทเองพยายามแก้ไข

“พอเราทำอะไรแปลก ๆ คนดูก็จะลุ้นว่างานหน้าเราจะขายอะไร เป็นหนึ่งในคำตอบว่าทำไมเราต้องตั้งใจทำคลิป เรารู้สึกว่าดูถูกคนดูไม่ได้ เราอยากให้คนเห็นว่าเราตั้งใจ จริงจังกับอาชีพ จริงใจกับคนดู เราไม่ได้รับเงินเยอะ ๆ มาง่าย ๆ คนอื่นคงไม่เคยรู้ แต่ความกดดันมันเพิ่มขึ้น เราต้องไปให้ถึงความคาดหวังของตัวเอง แล้วก็ต้องไปให้ถึงความคาดหวังคนอื่น ถึงเขาจะไม่ได้ขอ แต่เวลาเขาพิมพ์ว่าไม่เคยผิดหวังเลย ดีขึ้นทุกครั้ง เรารู้สึกว่ามีอะไรบางอย่างคอยบอกว่าเราต้องทำให้แกรนด์กว่านี้

“เราว่ามันผูกกับอีโก้เราส่วนหนึ่ง มันเป็นจิตใต้สำนึก คนดูจะมองงานเราเปลี่ยนไปไหม เขาจะคิดว่าเราเก่งน้อยลงไหม ถ้าเราไม่ทำงานเอง เพื่อนเราบางคนคิดว่าอินฟลูฯ เป็นงานง่าย ๆ สบาย ๆ แต่ลองคิดถึงกองหนังโฆษณาว่ามันมีกี่อาชีพ กี่ตำแหน่ง กี่คน หน้าที่ของคนทั้งบริษัทต้องมาอยู่ในคนคนเดียว มันเหนื่อยมากนะ”

การขยายทีมจึงเป็นสเต็ปต่อไปที่จำเป็นของพวกเขา มีอีกหลายสิ่งอย่างที่ทั้งพัทและนัทฝันอยากทำ วิดีโอในอินสตาแกรมเป็นเพียงผลลัพธ์หนึ่งที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ ในอนาคตพวกเขาอยากแปลงไอเดียให้กลายเป็น Activation ทำในสิ่งที่ใหญ่กว่าแค่จอมือถือ นอกจากต้องพิสูจน์ให้ใครต่อใครเห็นว่ามีศักยภาพมากพอ นัทกระซิบกับเราว่าเธอพร้อมรับสมาชิกใหม่มาร่วมหัวจมท้ายไปด้วยกัน

“เราอยากรวย เลี้ยงหมา เลี้ยงแมว ไปเที่ยว ซึ่งอาชีพนี้มันทำได้นะ” นัทว่า

“จริง ๆ มันก็เป็นหน้าที่ผมด้วยแหละ” พัทสานฝัน

“หน้าที่ในการพาไปเที่ยวเหรอ เปล่า เคี่ยวเข็นในการทำงาน เขาเป็นคนคิด ส่วนเราทำหน้าที่เป็นก้อนหิน” เธอหัวเราะร่วน

Met you at your worst. But still thought you were the best.

พัทอธิบายเสริม ก่อนที่คุณจะเข้าใจเธอผิดไปมากกว่านี้

“นัทไม่ค่อยมีเวลาคิดภาพใหญ่ ๆ ทั้งเรื่องงาน เรื่องชีวิต ซึ่งเรามองเห็นว่ามันมีหลายอย่างที่ทำได้ อย่างงานเราก็ไม่ได้อยากช่วยเขาแค่คลิปเดียว แต่เราจะเสนอวิธีคิดให้เขาเอาไปต่อยอด”

เล่าย้อนไปก่อนที่เราจะเปิดบทสนทนา สมุดบันทึกเล่มเล็กของนัทควอนเต็มไปด้วยคำตอบที่เขียนด้วยมือ จากชุดคำถามที่เราส่งให้ดูเบื้องต้น นัทสารภาพกับเราว่าเธอค่อนข้างประหม่าทุกครั้งที่ให้สัมภาษณ์จึงต้องทำการบ้านอย่างหนัก แต่จะมั่นใจขึ้นมาหากมีพัทอยู่ด้วย และเธอเองเป็นคนระบุความต้องการว่าถ้าวาระการพูดคุยของวันนี้คือ @nkwww ยังไงก็ต้องมีพัท 

ความต่างของคนทั้งคู่คือพัทเป็นคนขวนขวายเรียนรู้สิ่งใหม่ ไม่เคยหยุดนิ่ง ทั้งศึกษางานเขียน เรียนการแสดง เวิร์กชอปจัดดอกไม้ ชงดริปกาแฟ หรือคอยส่งประกวดงานโฆษณาอยู่เนือง ๆ ตัดภาพมาที่ฝ่ายหญิง ผู้กลัวเสมอเวลาต้องพบเจออะไรใหม่ ๆ 

เราจึงถือโอกาสถามสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้จากกันและกัน 

นัท : เราชอบกังวลถึงผลลัพธ์ ตอนจะมาสัมภาษณ์ เราก็กังวลว่าเราจะตอบได้ไหม ทั้งที่ถ้าคิดแบบเขา ก็แค่เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ เราเรียนที่จะไม่รู้ ไม่ต้องกลัวว่าเราจะดูโง่ไหม แล้วก็เรื่องความผิดพลาด เราไม่เคยพอใจในงานไหนร้อยเปอร์เซ็น เวลาย้อนไปดูงานเก่า ๆ เราเห็นแต่ข้อผิดพลาด ไม่สามารถปล่อยผ่านได้ พัทเป็นคนคอยเตือนสติเราว่ามันไม่ได้ทำให้ Performance ต่างไป เขาทำให้เราปล่อยวาง กล้าที่จะผิดพลาด

พัท : เรียนรู้การทำงานกับอีกคน อย่างที่เห็นว่าเราต่างกันมาก แต่เราได้รู้จัก Empathy (ความเข้าอกเข้าใจ) ทุกคนไม่ใช่แบบเรา เรามีข้อเสีย เขามีข้อดี ต่างคนต่างมีและไม่มี ทุกคนแตกต่างกัน แค่เอาใจเขามาใส่ใจเรา 

นัท : เวลามีคนถามในไอจีว่าอยากเป็นคนแบบไหน เราจะตอบว่าอยากเป็นคนที่พึ่งพาคนอื่นให้น้อยลง พึ่งพาตัวเองให้มากขึ้น แต่พอมาคิดดู มันก็ไม่ค่อยดีนะ สำหรับงาน คือมันไม่พอใจแหละ แต่ต้องเรียนรู้ที่จะพอใจ เรามีปมกับคำว่า ตัวเองมีคุณค่าไม่พอตลอด มันเป็นอีกอย่างที่ได้เรียนรู้จากพัท เขาโชว์ให้เราเห็นว่าคุณค่ามันมีอยู่ในทุกอย่าง ไม่ใช่แค่สิ่งที่เราเห็น ไม่ได้มีแค่เส้นทางเดียว อย่างที่เราเคยคิดว่าถ้าทำงานเอเจนซี่เราคงจะเปลี่ยนแปลงสังคมในสเกลที่ใหญ่กว่าได้ ถึงงานที่ทำอยู่ตอนนี้มันจะสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมที่เล็กลง แต่มันก็เป็นสิ่งที่เราทำได้ในฐานะคนที่มีสื่ออยู่ในมือ

คุยกับ ‘นัทควอน’ (@nkwww) ถึงเบื้องลึกคนทำงาน คลิปโฆษณาที่ทั้ง Feed สั่นสะเทือน และชายผู้ผลักดันให้เธอเป็นเธอ
คุยกับ ‘นัทควอน’ (@nkwww) ถึงเบื้องลึกคนทำงาน คลิปโฆษณาที่ทั้ง Feed สั่นสะเทือน และชายผู้ผลักดันให้เธอเป็นเธอ

Keep roll

พูดถึงแรงกระเพื่อมในสังคมที่เธอว่า เมื่อ 3 ปีก่อนนัทได้ทำโปรเจกต์ Flaws ขึ้นมา โดยหยิบเรื่องไม่ลับอีกอย่างของนัทควอนคือสิวกว่าร้อยเม็ดบนใบหน้า มาสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ติดตามของเธอหันมาโอบกอดตำหนิบนร่างกาย เป็นพัทอีกครั้งที่ผลักดันให้เธอทำมันอย่างจริงจังและสื่อสารออกไปในวงกว้าง เพราะเขาเชื่อว่าจะเปลี่ยนแปลงค่านิยมของสังคมได้ไม่มากก็น้อย

แม้ในวินาทีที่เราคุยกันนี้ ทัศนคติต่อความสวยงามของพวกเขาจะเปลี่ยนไป แต่ยังคงไว้ซึ่งการสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้สังคมอยู่เช่นเคย ทั้งคู่ให้ความคิดเห็นต่อโปรเจกต์ของตนว่า “ยุคนี้ไม่ควรเรียกรอยสิว จุดด่างดำ ว่า Flaws (ตำหนิ) อีกแล้ว มองมันเป็นสิ่งธรรมดาได้ไหม มันยังไม่ไปถึงความสวยงามหรอก เพราะมันเป็นสุขภาพผิวที่ไม่ดี แต่มาถึงจุดหนึ่งมันก็วัดไม่ได้ว่าใครสวยกว่าใคร”

จากคนที่เคยผูกคุณค่าในตัวเองไว้กับความคิดเห็นของคนอื่น รู้สึกเก่งก็ต่อเมื่อคนอื่นบอกว่าเก่ง และต่อให้เก่งจริง ๆ ก็จะคิดว่าแค่โชคช่วย หลังได้เห็นกระแสตอบรับจากโปรเจกต์นี้ เช่น เรื่องของผู้ติดตามที่เคยเกลียดหน้าตัวเองจนไม่กล้าถ่ายรูปตัวเอง แต่กลับมาจากทริปล่าสุดพร้อมรูปเป็นอัลบั้ม เรื่องของผู้ติดตามที่เคยปิดบังหน้าจากคนอื่นด้วยความไม่มั่นใจ และมีผู้ติดตามเดินทางมาพบเพื่อขอบคุณเธอด้วยตัวเอง เธอก็เริ่มภาคภูมิใจกับการเป็นอินฟลูเอนเซอร์ เมื่อได้ยินว่า การติดตามตัวตนและผลงานของนัทควอน ไม่ได้ทำให้ตกหลุมรักนัทควอนเพียงคนเดียวเท่านั้น แต่ยังได้ย้อนกลับมารักตัวเองด้วย 

คุยกับ ‘นัทควอน’ (@nkwww) ถึงเบื้องลึกคนทำงาน คลิปโฆษณาที่ทั้ง Feed สั่นสะเทือน และชายผู้ผลักดันให้เธอเป็นเธอ

“ก่อนหน้านี้เราเคยคิดว่าการมียอดติดตามเยอะ มันก็คงชี้นำคนได้เล็ก ๆ น้อย ๆ แต่เราเคยถาม Followers ว่าเรามีอิทธิพลต่อเขายังไง แล้วเราก็ได้คำตอบที่ทำให้เราทึ่งมาก เขาเอาตัวตนเราไปเป็นพลังงานมากกว่าที่เราจินตนาการไว้ ตอนที่เราลงรูปอ่านหนังสือสอบ มีคนเอารูปเราไปเป็นแรงฮึด ตอนที่เราเข้ามหาลัยแล้ว มันมีผลกับการเลือกคณะของเขา ตอนที่เราทำแอดให้ดีที่สุดก่อนจะปล่อยออกไป เขาก็มีกำลังใจในการทำสิ่งที่ทำอยู่ให้ดีที่สุดตาม และขอบคุณที่เราทำงานให้เกียรติคนดู การที่เขาได้เห็นเราตลก ก็ทำให้เขาได้มีวันที่ดีไปด้วย หรือตอนที่เราเหนื่อยจนร้องไห้ ก็มีคนส่งเข้ามาขอบคุณที่เปิดเผยด้านนี้ให้เห็น ให้รู้ว่าเขาไม่ได้เหนื่อยอยู่คนเดียว เรามีอิทธิพลกับเขาแม้เราจะไม่ตั้งใจ เราเลยรู้สึกว่าเราไม่ได้มีอิมแพคแค่ให้คนซื้อของตาม ทำผมตาม แต่งตัวตาม ตัวตนและผลงานของเรามันไม่ใช่แค่เรื่องของเราคนเดียวอีกแล้ว”

ด้วยความแปลกใหม่และความพิถีพิถันที่สะท้อนออกมาในงาน ไม่แปลกที่เธอจะได้รับเชิญให้ไปเป็นวิทยากรสอนเรื่องการทำสื่อ เพียงแต่กลับมาหารือกับพัทเมื่อไรก็ไม่เคยเป็นผล เทคนิคของเธอไม่มากความ ไม่มีการตัดต่อที่แพรวพราวโลดโผน วิธีคิดที่เธอใช้ได้มาจากการตกผลึกตัวตนของเธอเองทั้งสิ้น สิ่งแรกที่นักอยากทำสื่อทุกคนเริ่มได้ทันทีคือการกลับไปพูดคุยกับคนในกระจกว่า เป็นใคร เป็นคนแบบไหน ชื่นชอบอะไรเป็นพิเศษ หากเราถามตัวเองอย่างจริงจัง พัทยืนยันว่าไม่มีทางที่จะไม่รู้

แพสชันและการตื่นมาด้วยไฟในการทำงานอย่างแรงกล้า อาจเป็นเรื่องเพ้อฝันที่มีไว้สำหรับคนโชคดี สำหรับพวกเขา การที่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรแล้วได้ลองทำมัน แค่อย่างสองอย่าง ก็เพียงพอแล้ว

คุยกับ ‘นัทควอน’ (@nkwww) ถึงเบื้องลึกคนทำงาน คลิปโฆษณาที่ทั้ง Feed สั่นสะเทือน และชายผู้ผลักดันให้เธอเป็นเธอ

ภาพ : นัทและพัท

ติดตามนัทควอนได้ที่ 

Instagram : nkwww

YouTube : NKW

Writer

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

นักอยากเขียน บ้านอยู่ชานเมือง ไม่ชอบชื่อเล่นที่แม่ตั้งให้ มีคติประจำใจว่าอย่าเชื่ออะไรจนกว่าหมอบีจะทัก รักการดูหนังและเล่นกับแมว