ทันทีที่เจ้าหุ่นยนต์แมวสีฟ้าข้ามเวลาจากโลกอนาคตมาสู่หน้าจอโทรทัศน์ไทย เมื่อเกือบ 40 ปีก่อน เด็กๆ จำนวนไม่น้อยต่างรอคอยวันเสาร์-อาทิตย์ด้วยใจจดใจจ่อ อยากรู้ว่าวันนี้โดเรมอนจะมีของวิเศษอะไรออกจากกระเป๋าหน้าท้องอีกบ้าง

เรื่องราวของเจ้าแมวพูดได้ ไม่ใช่สิ่งเดียวที่เด็กๆ รอคอย ‘ช่อง 9 การ์ตูน’ ยังมีการ์ตูนสนุกๆ อีกเพียบ ทั้ง หน้ากากเสือ, ดราก้อนบอล, ดร.สลัมป์ กับหนูน้อยอาราเล่, รันม่า ½, เซเลอร์มูน, กัปตันซึบาสะ, สแลมดังก์, หมัดเทพเจ้าดาวเหนือ หรือ ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน ที่พาเหรดกันเข้ามาสร้างความบันเทิงให้เด็กไทยจนได้รับความนิยมล้นหลาม บางช่วงมีจดหมายจากเด็กๆ เข้ามาที่ช่องสัปดาห์ละหลายพันฉบับ แถมยังทำให้ของเล่นของสะสมเกี่ยวกับตัวการ์ตูนขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

ปรากฏการณ์การ์ตูนญี่ปุ่นฟีเวอร์นี้คงเกิดขึ้นไม่ได้ หากขาดคนเบื้องหลังที่คอยสร้างสีสัน เสียงหัวเราะ เติมความสนุกให้เรื่องชวนติดตามมากยิ่งขึ้น หนึ่งในนั้นคือ ชายเจ้าของเสียงพากย์ผู้เปรียบเสมือนโลโก้ของการ์ตูนญี่ปุ่นอย่าง นิรันดร์ บุณยรัตพันธุ์ หรือ น้าต๋อย เซมเบ้

น้าต๋อย เซมเบ้

หลังจากหยุดพากย์ไปพักหนึ่งด้วยปัญหาสุขภาพ วันนี้น้าต๋อยกลับมาลงเสียงอีกครั้งให้กับ ซาเอบะ เรียว พระเอกในภาพยนตร์เรื่อง City Hunter สายลับคาสโนเวอร์ ยอดมนุษย์..คนธรรมดาเลยถือโอกาสชวนนักพากย์การ์ตูนเบอร์ 1 ของเมืองไทยนั่งไทม์แมชชีนกลับไปสู่ยุคเริ่มต้น โดเรมอน และรายการช่อง 9 การ์ตูน ซึ่งมีบทบาทสำคัญที่ช่วยส่งต่อแรงบันดาลใจและจินตนาการแก่คุณหนูๆ ในวันนั้น ให้เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่อย่างทุกวันนี้

น้าต๋อย เซมเบ้

1

ปรากฏการณ์ โดราเอมอน

หลายคนอาจไม่ทราบว่า โดเรมอน เกือบไม่ได้ออกอากาศทางช่อง 9 แล้ว

ถอยกลับไปเมื่อปี 2525 ฮิโรชิ คอนโด ประธานบริษัทแอนนิเมชัน อินเตอร์เนชันแนล ฮ่องกง ตัวแทนลิขสิทธิ์การ์ตูนของ TV ASAHI ได้นำการ์ตูนแมวหุ่นยนต์ซึ่งกำลังเป็นกระแสในหมู่นักอ่านการ์ตูนไทย มียอดพิมพ์กว่า 70,000 เล่มต่อฉบับ มาเสนอต่อ ประวิทย์ มาลีนนท์ แต่นายใหญ่แห่งช่อง 3 ยุคนั้นกลับปฏิเสธ และแนะนำให้ไปเสนอที่ช่อง 9 แทน

“ตอนนั้นเขาเอาไปเสนอคุณประวิทย์ก่อน เพราะช่อง 3 ซื้อ อิคคิวซัง เณรน้อยเจ้าปัญญา ซื้อ นินจาฮาโตริ จากเขา แต่คุณประวิทย์ทราบว่าช่อง 9 กำลังทำการ์ตูน ขณะที่ตัวเองกำลังทำหนังจีนแข่งกับช่อง 7 อาจจะด้วยน้ำใจ ก็เลยบอกให้คอนโดซังไปคุยกับช่อง 9 เพื่อให้ช่อง 9 เกิดดีกว่า” น้าต๋อยรำลึกความหลัง

หลังเจรจากับช่อง 3 ไม่สำเร็จ คอนโดซังจึงหันไปคุยกับผู้ใหญ่ของช่อง 9 ทันทีที่เสนอเรื่องเข้ามาก็ได้รับอนุมัติ เพราะทุกคนต่างมองว่า โดเรมอน เป็นการ์ตูนครอบครัวที่เต็มไปด้วยจินตนาการ ไม่มีพิษภัย และเข้าถึงกลุ่มผู้ชมทุกเพศ ทุกวัยมากกว่าการ์ตูนต่อสู้ ที่สำคัญคือ บุตรหลานของผู้บริหารหลายคนต่างก็เป็นแฟนประจำของแมวหุ่นยนต์ตัวนี้

ก่อนหน้าที่จะปรากฏตัวที่ช่อง 9 โดเรมอน เคยโลดแล่นบนจอทีวีไทยมาแล้วครั้งหนึ่งทางช่อง 5 เมื่อหลายปีก่อน แต่ไม่ได้รับความนิยมมากนัก เพราะเป็นเวอร์ชันเก่า ยุคออกอากาศครั้งแรกที่ NIPPON TELEVISION เมื่อปี 2516 มาฉาย ซึ่งถูกวิจารณ์อย่างหนัก ทั้งเรื่องเสียงพากย์ไม่ค่อยดี เพลงประกอบก็ไม่ค่อยโดน จึงถูกตัดจบในระยะเวลาอันสั้น กระทั่ง 6 ปีต่อมา TV ASAHI จึงนำมาปรับปรุงคุณภาพเสียงและเพลงใหม่ ปรากฏคราวนี้ฮิตติดตลาด และโด่งดังไปทั่วประเทศ ซึ่งเวอร์ชันที่ช่อง 9 หยิบมาฉายก็คือฉบับปรับปรุงนั่นเอง

หากแต่ความสำเร็จของเจ้าแมวสีฟ้าไม่ใช่เพียงเพราะหยิบการ์ตูนที่ดังอยู่แล้วมาฉายเท่านั้น แต่เกิดจากความพยายามของทุกฝ่ายในช่อง 9 ที่ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด

เริ่มตั้งแต่การตั้งชื่อเรื่อง ซึ่งช่อง 9 ใช้ชื่อว่า ‘โดเรมอน’ แทนที่จะเป็น ‘โดราเอมอน’ ตามชื่อภาษาญี่ปุ่น

จากข้อเขียนของ ดร.นิพนธ์ นาคสมภพ อดีตหัวหน้างานวิจัยและส่งเสริมการตลาด อสมท เล่าว่า ยุคนั้นหนังสือการ์ตูนของวิบูลย์กิจ ซึ่งขายดีสุด ใช้ชื่อว่า โดเรมอน แถมชื่อนี้ยังจำง่าย คล้ายๆ กับเสียงตัวโน้ตโดเรมี ทำให้ฝ่ายการตลาดตัดสินใจเลือกใช้ชื่อยอดนิยมแทนชื่อที่ถูกต้อง

การประชาสัมพันธ์ก็เช่นกัน ช่อง 9 พยายามป่าวประกาศสร้างความน่าเชื่อถือให้พ่อแม่ผู้ปกครองเห็นว่า โดเรมอน เป็นการ์ตูนดี มีประโยชน์ ด้วยการใช้สื่อหนังสือพิมพ์เข้ามาช่วยตั้งแต่ยังไม่ฉาย โดยเดินสายนำหนังสือการ์ตูนไปแจกตามหนังสือพิมพ์ต่างๆ จนหลายฉบับช่วยเขียนแนะนำว่า นี่เป็นหนังสือดีที่เด็กควรอ่าน

แต่สื่อที่ช่วยจุดกระแสได้อย่างแท้จริง คงต้องยกให้หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ซึ่งมียอดขายสูงสุดของประเทศ โดยเริ่มจากมังกรห้าเล็บ คอลัมนิสต์เบอร์ต้นๆ เขียนเชียร์ผ่านคอลัมน์ ‘ลั่นกลองรบ’ แถม ชัย ราชวัตร’ ก็นำ โดเรมอน ไปเขียนแทรกในการ์ตูนการเมือง และที่เด็ดสุดคือการนำการ์ตูนไปตีพิมพ์ในหน้าข่าวเยาวชน ตั้งแต่ฉบับวันที่ 29 กรกฎาคม 2525 จนเกิดกระแสเรียกร้องจากผู้ชม และโฆษณาต่างๆ ให้ช่อง 9 รีบนำ โดเรมอน มาฉาย ทีมงานจึงตัดสินใจเลื่อนเวลาออกอากาศ จากเดิมที่วางแผนไว้ในวันที่ 2 ตุลาคม 2525 มาเป็นวันที่ 4 กันยายน 2525

แต่ปัจจัยที่สำคัญสุดคือ บทโทรทัศน์และการพากย์เสียงภาษาไทย เพราะแม้เรื่องจะสนุก แต่ถ้าหากพากย์ไม่ดีก็มีสิทธิ์แป้กได้ ทางสถานีมอบหมายให้น้าต๋อย เซมเบ้ ที่มีลีลาการพากย์โดดเด่นและมีความสนใจเรื่องการ์ตูนเป็นพิเศษ มารับหน้าที่ดูแลเรื่องทุกขั้นตอน ตั้งแต่การวางคน จัดการบท รวมถึงวางแนวทางการลงเสียง พร้อมเปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงฝีมืออย่างเต็มที่ เมื่อทีมพากย์ได้ทำงานอย่างสบายใจ ก็ยิ่งเสริมให้งานออกมาดีขึ้น

สำหรับทีมพากย์ช่วงแรกมีสมาชิกเพียง 4 คนเท่านั้น คือตัวน้าต๋อยเองรับบทไจแอนท์กับซูเนะโอะ ส่วนบทโดเรมอนตกเป็นของ ฉันทนา ธาราจันทร์ แล้วก็ ศันสนีย์ สมานวรวงศ์ พากย์เป็นโนบิตะกับชิซูกะ สุดท้ายคือ เรวัติ ศิริสรรพ พากย์เป็นพ่อและครูใหญ่ กระทั่งภายหลังจึงมีการเสริมคนเข้ามา เช่น อรุณี นันมิวาส พากย์เป็นซูเนโอะกับโดเรมี ศรีอาภา เรือนนาค พากย์เป็นชิซูกะ และ สุลัคษณา เทพหัสดิน ณ อยุธยา พากย์เป็นแม่ของโนบิตะกับเดคิสุงิ จนกลายเป็นทีมที่สมบูรณ์

แม้ไม่ใช่การ์ตูนที่ให้เสียงยาก แต่นักพากย์ทุกคนก็สวมจิตวิญญาณลงไปในตัวละครเต็มที่ แต่ละคนจะพากย์โดยตีความอิงกับตัวละครนั้น อย่างโดเรมอนก็ต้องให้ความรู้สึกว่าเป็นแมวที่มีจิตใจดี ชอบช่วยเหลือคนอื่น โนบิตะจะงอแง ออดอ้อนให้โดเรมอนช่วย ขณะที่ไจแอนท์จะเป็นคนร่าเริง ข่มเพื่อนนิดๆ แต่ก็มีความเมตตาอยู่ในตัว

“ผมพากย์เป็นไจแอนท์ คิดว่าเด็กจะเกลียด แต่ทำไปเรื่อยๆ เด็กกลับชอบไจแอนท์เยอะมาก โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่เขียนจดหมายมาว่า ไจแอนท์ไม่ใช่คนไม่ดีนะคะ ไจแอนท์เป็นคนรักเพื่อนแต่เขากร่างไปงั้นเอง” น้าต๋อยเคยให้สัมภาษณ์ถึงความรู้สึกที่ผู้ชมวัยเยาว์มีต่อตัวละครในช่วงนั้น

ความเข้าขาไหลลื่นของทีมงานและการสร้างคาแรกเตอร์จนเป็นที่จดจำของเด็กๆ กลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ช่องอื่นไม่ซื้อการ์ตูนเรื่องนี้ไปออกอากาศ เพราะผู้ชมต่างติดเสียงพากย์ชุดนี้เรียบร้อยแล้ว

ขณะเดียวกัน ทางสถานียังลงทุนปรับปรุงอุปกรณ์และเปลี่ยนกระบวนการพากย์เป็นแบบใหม่ที่ดีขึ้น จากเดิมที่นักพากย์ 3 – 4 คนจะมารุมกันอยู่ที่ไมโครโฟนตัวเดียว ก็มีการจัดโต๊ะแยกออกมาสำหรับแต่ละคน ทำให้ใส่อารมณ์ และลีลาตามสไตล์ตัวเองได้เต็มที่ รวมทั้งยังแยกไลน์เสียงบรรยากาศกับเสียงพูดของตัวละครออกจากกัน เวลาพากย์จึงไม่ต้องหรี่เสียงบรรยากาศลง ทำให้ผู้ชมติดตามการ์ตูนอย่างเต็มอิ่มโดยไม่เสียอรรถรส ส่วนภาพก็นำต้นฉบับระบบ PAL มาออกอากาศเพื่อให้คงความชัดเจนมากที่สุด

ด้วยองค์ประกอบที่กล่าวมา จึงทำให้ โดเรมอน โด่งดังสุดขีด ขึ้นแท่นเป็นการ์ตูนเบอร์ 1 ของช่อง 9 นานหลายปี ยิ่งมาบวกกับความโด่งดังของการ์ตูนเรื่องถัดๆ มา ทำให้แต่ละสัปดาห์มีจดหมายเข้ามาถึงสถานีรวดเดียวเป็นหมื่นฉบับ ต่อมาก็เพิ่มเป็น 20,000 ฉบับ จนฝ่ายประชาสัมพันธ์ซึ่งมีอยู่เพียง 3 คน เขียนตอบกันไม่ไหว จึงแก้ปัญหาโดยให้น้าต๋อยมาอยู่หน้ากล้อง เลือกจดหมายของเด็กๆ มาตอบ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้น้าต๋อย เซมเบ้ เป็นที่รู้จักของทั้งเด็กและผู้ใหญ่

“พอออกทีวีก็มีเด็กโทรศัพท์มาคุยตลอด ครั้งหนึ่งมีเด็กโทรมาถามว่าการ์ตูนเรื่องนี้ต่อไปเป็นยังไง ผมก็บอก ‘พี่ไม่รู้นะ ไม่ตอบละกันนะ’ พอจะวางเขาก็ถามผมชื่ออะไร ‘พี่ชื่อนิรันดร์ ชื่อเล่นว่าต๋อย’ เด็กตอบทันทีว่า ‘ผมตั้งชื่อให้เป็นน้าต๋อย เซมเบ้ ล่ะกัน หน้าเหมือนดอกเตอร์เซมเบ้’ เพราะตอนนั้นดอกเตอร์สลัมป์เข้ามาแล้ว เด็กตั้งให้ทางโทรศัพท์ ตอนแรกให้เรียกพี่ เขาก็บอกไม่เอา หน้าแก่ เป็นน้าละกัน ตอนนั้นอายุยังไม่ถึง 30 เลย”

แต่ท่ามกลางกระแสชื่นชม ก็มีผู้ปกครองหรือคุณครูบางคนที่ท้วงติงว่า การ์ตูนเรื่องนี้อาจทำให้เด็กๆ ขี้เกียจทำการบ้านแบบโนบิตะ จนทีมงานต้องอธิบายว่า ถ้าลองดูจนจบจะพบว่าทุกครั้งที่โนบิตะขี้เกียจหรือไม่อยากไปโรงเรียนแล้วไปขอให้โดเรมอนช่วย สุดท้ายแล้วก็จะถูกแม่ดุ ถูกครูลงโทษ หรือสอบได้ศูนย์คะแนนเสมอ เพราะการ์ตูนต้องการสอนให้รู้ว่าของวิเศษโดเรมอนไม่สามารถช่วยให้เขาเก่งได้ เด็กๆ ต้องช่วยเหลือตัวเอง

ตอนหลังผู้ปกครองจึงมีความรู้สึกดีกับทีมงาน อย่างบางคนโทรศัพท์มาบอกว่าลูกไม่กินผัก ไม่แปรงฟัน ขอให้ช่วยหน่อย ทีมพากย์จึงจะบอกเด็กๆ ว่าจบการ์ตูนเรื่องนี้แล้วอย่าลืมไปอาบน้ำแปรงฟัน แล้วผักก็ต้องกินด้วยนะ

อาจกล่าวได้ว่า โดเรมอน ช่วยจุดกระแสความนิยมของการ์ตูนญี่ปุ่นให้โด่งดัง จากผู้ชมวงแคบไปสู่วงกว้าง รวมทั้งทำให้เกิดโฆษณาสำหรับเด็กขึ้นมาโดยเฉพาะ ท่ามกลางยุคที่เอเจนซี่ส่วนใหญ่ต่างมองว่าเด็กไม่มีกำลังซื้อ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่โด่งดังและขายดีมากคือขนมปักกิ่งของยูโรเปี้ยนฟู้ดและเซี่ยงไฮของยูไนเต็ดฟูดส์ แฟนช่อง 9 การ์ตูนทุกคนคงจำได้ดี

นอกจากนี้ โดเรมอน ยังเป็นผู้เปิดตลาดให้การ์ตูนดีๆ ถูกสั่งเข้ามาฉายในเมืองไทยอีกหลายเรื่อง ทั้ง ดร.สลัมป์ กับหนูน้อยอาราเล่ มูเตคิง ดราก้อนบอล จนรายการช่อง 9 การ์ตูนยืนหยัดอยู่บนจอต่อเนื่องมากว่า 30 ปี ซึ่งถือว่าน้อยมากที่จะมีรายการที่โด่งดังข้ามกาลเวลาเช่นนี้

“ผมว่ามันเป็นการ์ตูนประวัติศาสตร์ของช่อง 9 อสมท ไปแล้ว โดเรมอน ทำให้เกิดเงินแพร่สะพัดในเมืองไทยไม่ต่ำกว่า 3,000 – 4,000 ล้านบาท เหตุผลที่ช่อง 9 ยังอยู่ได้จนถึงปัจจุบันนี้ ต้องยอมรับว่ารายการอย่างข่าวนั้นเปลี่ยนแปลงตลอดตามผู้บริหารที่เข้ามาใหม่ แต่การ์ตูนไม่เคยเปลี่ยนแปลง มีแต่สนุกมากหรือสนุกน้อยเท่านั้นเอง”

น้าต๋อย เซมเบ้ น้าต๋อย เซมเบ้

2

กว่าจะเป็น ‘ช่อง 9 การ์ตูน’

แม้ โดเรมอน จะเป็นจุดพลิกสำคัญที่ทำให้ช่อง 9 หยัดยืนในสมรภูมิจอแก้ว ในยุคที่กำลังค้นหาจุดแข็งของตัวเอง แต่ถ้าเล่าถึงจุดเริ่มต้นของช่อง 9 การ์ตูนจริงๆ แล้ว คงต้องย้อนกลับไปในปี 2523 เมื่อ ประมุท สูตะบุตร ผู้อำนวยการองค์การสื่อมวลชนแห่งประเทศไทยคนแรก ดึง ร.ต.อ.อำพล ภูมิวสนะ จากข้าราชการตำรวจมาเป็นหัวหน้าแผนกธุรกิจ ของ อสมท โดยมอบหมายภารกิจให้หาวิธีดึงเรตติ้งของสถานีหลังจากอยู่รั้งท้ายมาตลอด

ช่วงแรกผู้กองอำพลใช้กลยุทธ์นำหนังจีนประเภทรักอมตะ รักนิรันดร์กาล มาฉายเพื่อดึงคน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร กระทั่งเมื่อสังเกตพฤติกรรมของบุตรชาย 4 คนที่วันๆ สนใจแต่การ์ตูนอย่างเดียว ก็เลยเกิดความคิดว่าบางทีนี่อาจเป็นทางรอดของช่อง 9 ก็เป็นได้

ตอนนั้นผู้กองอยากได้การ์ตูนแนวยอดมนุษย์มาต่อสู้กับหนังจีนกำลังภายในซึ่งกำลังฮิต โดยเล็งไปที่การ์ตูนญี่ปุ่นซึ่งมีราคาย่อมเยากว่าการ์ตูนฝรั่ง ส่วนเวลาออกอากาศวางไว้ที่ 8 – 10 โมงเช้าทุกอาทิตย์ ก่อนเพิ่มเวลาวันเสาร์เข้าไป ซึ่งข้อดีคือคู่แข่งน้อย อีกอย่างคือช่วยสร้างพฤติกรรมใหม่แก่เด็กๆ ให้รีบตื่นแต่เช้าเพื่อรอชมการ์ตูน

ความจริงช่วงนั้นช่อง 9 ฉายการ์ตูนอยู่ก่อนเรื่องหนึ่งแล้วคือ ไดมอส ยอดขุนพล โดยมีบริษัทเอกชนมาเช่าเวลา และขอใช้บุคลากรของช่องเป็นทีมพากย์ ต่อมาเมื่อเกิดการเปลี่ยนนโยบาย สถานีจึงดึงเวลากลับมาทำเอง โดยนำการ์ตูนเรื่อง หน้ากากเสือ ซึ่งเคยฉายฉบับขาว-ดำสมัยเป็นช่อง 4 บางขุนพรหม เมื่อปี 2511 มาออกอากาศซ้ำ

ความยากของการฉายการ์ตูนในยุคนั้นคือ ญี่ปุ่นจะส่งฟิล์มและบทภาษาญี่ปุ่นมาในเวลากระชั้นชิดมาก เช่นออกอากาศวันอาทิตย์ ฟิล์มมาถึงวันพฤหัสบดี หน้าที่หลักอย่างหนึ่งของน้าต๋อยคือการหาคนแปลบท ซึ่งยุคนั้นคนที่รู้ภาษาญี่ปุ่นมีน้อยมาก เขาเลยขอร้องให้ รศ.คงศักดิ์ สันติพฤกษวงศ์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วยแปลให้ในช่วงแรกๆ

“บทที่ได้มามักเป็นสคริปต์ถ่ายหนัง บางทีก็ขีดฆ่าซะมั่วเลย อาจารย์ที่แปลให้ท่านเป็นนักเรียนเก่าญี่ปุ่น อายุมากกว่าผมไม่กี่ปี ถือเป็นรุ่นพี่ พอผมส่งบทให้ แกก็ถามผมเลย คุณนิรันดร์จะให้ผมแปลยังไง มันขีดฆ่าแบบนี้ ผมก็บอกว่า ผมเชื่อมืออาจารย์ เผอิญลูกศิษย์ยืนกันเต็มเลย แกก็ยิ้ม แล้วก็นั่งปั่น 2 วันเสร็จ ผมก็พากย์สดเลยวันอาทิตย์”

แต่ปัญหาไม่จบเพียงแค่นี้ เพราะหลายครั้งบทที่ส่งมาจากญี่ปุ่นก็ไม่สมบูรณ์ บางทีการ์ตูนยังไม่จบ แต่ไม่เหลือบทให้พากย์แล้ว ทีมงานจึงต้องอาศัยความสามารถเฉพาะตัวในการเอาตัวรอดแต่ละครั้ง แต่ไม่มีครั้งใดที่ยากเท่ากับช่วงต้องพากย์ หน้ากากเสือ หลังพบว่าบทหายไปเป็นหลายหน้า ทั้งที่ยังเหลือเวลาอีก 15 นาที

“ผมก็มองหน้าคนพากย์ ตัวใครตัวมันแล้วกันนะ พอจบโฆษณามันฉายล็อตใหม่ขึ้นมา ก็เป็นฉากที่หน้ากากเสือกำลังนั่งกินข้าว แล้วมีนักปล้ำหัวม้าลายไม่ใส่เสื้อเดินเข้ามา หน้ากากเสือหันไปมอง นางเอกชื่อมิโดริก็ถามเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า นั่นใครคะ.. หน้ากากเสือตอบเสียงเข้มว่า ‘อะบูไน’ แปลว่า อันตราย ผมแปลไม่ออก ก็เลยตอบรับแบบนิ่มๆ ว่า เพื่อนผมครับ เสร็จปั๊บไอ้หน้ากากหัวม้าลายกระโดดถีบ เอาโต๊ะตีจนหน้ากากเสือล้มลงไปนอนตัวงอ นางเอกก็กระโดดมาพูดภาษาญี่ปุ่นซึ่งไม่รู้แปลว่าอะไร คุณศันสนีย์ก็เลยพูดว่า อ้าว! ไหนบอกว่าเป็นเพื่อนคุณไง ผมก็เลยตอบไปว่า เดี๋ยวนี้ผมเลิกคบมันละ คือมั่วทั้งเรื่อง” เขาเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ

พอการ์ตูนจบปุ๊บ สิ่งที่เขาไม่อยากให้เกิดก็เกิดขึ้น มีโทรศัพท์ดังมาจากอีกห้องหนึ่ง ขอสายคนที่พากย์เป็นหน้ากากเสือหน่อย น้าต๋อยจำได้ว่าตอนนั้นมือไม้สั่นไปหมด คิดว่าต้องโดนด่าแน่ พอรับมาปรากฏว่าปลายสายเป็นเด็กหนุ่มคนหนึ่ง

“น้องเขาบอกว่า ผมนั่งดูอยู่กับยาย ดูไม่รู้เรื่องเลย ผมก็ตอบไปว่า บทมันไม่ดี พี่ก็เลยว่าไปอย่างนั้น เขาบอกไม่เป็นไรหรอก  ดูไม่รู้เรื่อง แต่มันตลกดี ผมก็เลยมาจับจุดได้ว่าเด็กชอบอะไรตลก”

ตั้งแต่นั้นมา เขาก็เน้นพากย์ให้สนุก ตลก และเข้าใจง่าย คำภาษาญี่ปุ่นที่ยากๆ เช่นเขตอิเคะบุคุโร ก็เปลี่ยนเป็นหนองแขม สนามบินฮะเนดะก็เปลี่ยนเป็นดอนเมือง ชื่อคนก็เหมือนกัน เปลี่ยนสมชาย สมหญิง ทำทุกอย่างให้ตลก เด็กก็เลยยิ่งติด และนับว่าเป็นจุดเปลี่ยนวิธีพากย์การ์ตูนของช่อง 9 อย่างแท้จริง

แม้ หน้ากากเสือ จะฉายไม่จบเพราะถูกติติงเรื่องความรุนแรง แต่ช่อง 9 ก็ยังคงสั่งการ์ตูนมาฉายอย่างต่อเนื่อง ทั้ง เจ้าหญิงอัศวิน เจ้าหนูจอมพลัง อาเธอร์จอมกษัตริย์อัศวิน แต่ปัญหาเดิมที่ไม่เคยหายไปก็คือบท บางทีต้องเติมบทเองบ้าง ดำน้ำบ้าง และหลายครั้งก็เกือบเอาตัวไม่รอด อย่างเช่นตอนหนึ่งในเรื่อง เคนจิ ยอดนักสู้

ตอนนั้นเป็นฉากที่สถานีรถไฟแต่บทหายไปเป็นหน้า ทีมพากย์เข้าใจว่าคงเป็นฉากพ่อจะมาส่งเคนจิขึ้นรถไฟ เพราะก่อนหน้านี้มีเพื่อนของพ่อมาตามจะให้เคนจิไปเรียนหนังสือที่โตเกียวแล้วไปอยู่ค่ายมวยของเขา ทำให้พากย์ร่ำลากันเสียดิบดี  แต่พอรถไฟออกตัวพ้นไปเท่านั้น ปรากฏว่าเคนจิยังยืนอยู่กับพ่อที่เดิม คนที่ไปกับรถไฟมีแต่ลุงเพื่อนพ่อเท่านั้น คนพากย์ตกใจหันไปมองหน้ากัน น้าต๋อยคิดได้ก่อนจึงพากย์ถามว่า “อ้าว..ทำไมลูกไม่ไปกับรถไฟล่ะ” ศันสนีย์ก็รับมุกต่อทันทีว่า “ผมเปลี่ยนใจแล้วล่ะ ไปปีหน้าแล้วกัน กลับไปหาอะไรกินกันไหม” จนการ์ตูนจบตอนด้วยดี

“หลายคนนึกว่าเราพากย์กันเก่ง แต่ความจริงไม่ใช่ เป็นเพราะมั่วต่างหาก” น้าต๋อยกล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ

ด้วยลีลาที่เป็นเอกลักษณ์ บวกกับช่วงหลังที่ โดเรมอน, ดร.สลัมป์ กับหนูน้อยอาราเล่ และ ดราก้อนบอล ประสบความสำเร็จอย่างสูง ทำให้จำนวนผู้ชมช่อง 9 การ์ตูนพุ่งสูงขึ้น จนเมื่อพูดถึงการ์ตูน ทุกคนจะนึกถึงช่อง 9 ทันที ว่ากันว่าช่วงพีกสุดเคยมีการ์ตูนฉายทุกวัน วันธรรมดาเฉลี่ยวันละ 4 เรื่อง และวันเสาร์-อาทิตย์มีอีก 5 เรื่อง สูงกว่าช่องอื่นเกินเท่าตัว

แต่เมื่อกระแสการ์ตูนญี่ปุ่นฟีเวอร์ ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายคนก็เริ่มออกมาติติง ตั้งคำถามว่าการ์ตูนอาจทำให้เด็กๆ เสพติดและเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่ดี เช่นการทะเลาะวิวาท ชกต่อย หรือแต่งตัววับๆ แวมๆ หรือเปล่า ซึ่งทีมพากย์และสถานีก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เวลามีฉากที่ไม่เหมาะสม จะมีทีมเซนเซอร์คอยดูแล อย่างเรื่อง ซิตี้ ฮันเตอร์ ที่พระเอกชอบเปิดกระโปรงนางเอก ก็อาจตัดเอาฉากอื่นมาใส่แทน หรือพากย์ให้ตลกไปเลย อย่าง เซเลอร์มูน เวอร์ชันหลังๆ ที่มีฉากจูบ น้าต๋อยก็จะพูดแทรกขึ้นมาว่า “นักเรียนจูบกัน” จนฉากล่อแหลมกลายเป็นเรื่องตลกทันที

ซิตี้ ฮันเตอร์ พระเอกมันทะลึ่งมาก ตอนนั้นโดนผู้ใหญ่ในวงการตำหนิว่า เรื่องนี้ทะลึ่ง มันโป๊ เห็นกางเกงใน ผมก็บอกว่าจะเปลี่ยนให้เป็นมุก อย่างฉากเห็นกางเกงในนางเอกเป็นรูปหมีแพนด้า ผมพากย์ให้ดูเป็นเรื่องน่ารัก แบบหึ้ยยยย..หมีแพนด้า!! พอทำเสียงแบบนี้ไป เด็กก็ไม่สนใจเรื่องโป๊เลย”

นอกจากนี้ เวลามีตัวละครที่มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงมากๆ น้าต๋อยก็จะสร้างคาแรกเตอร์ขึ้นใหม่ ยกตัวอย่างฟรีซเซอร์ ตัวร้ายใน ดราก้อนบอล ซึ่งเวอร์ชันญี่ปุ่นค่อนข้างก้าวร้าวมาก เขาก็เลยพากย์ให้บุคลิกเป็นอีกแบบไปเลย เช่น “โมกุลมาซิ! วันนี้ฉันทาเล็บมาด้วยสีด๊ำดำ เห็นปะ นี่เอาดัชนีนางไปกินหน่อย” ทำให้บรรยากาศผ่อนคลายลง ที่สำคัญ ทีมพากย์จะไม่ใช้คำหยาบเด็ดขาด เพราะทุกคนต่างตระหนักดีว่ารายการนี้มีอิทธิพลต่อเด็กและครอบครัวช่วงนั้นมากเพียงใด

ในฐานะโลโก้การ์ตูนญี่ปุ่น ตอนนั้นเขาถูกเชิญให้ไปพูดถึงเรื่องนี้หลายครั้ง และเขามักจะอธิบายว่าการ์ตูนต้องมีอรรถรสในการต่อสู้บ้างถึงจะสนุก แต่ว่าเด็กต้องได้รับการปลูกฝังสิ่งที่ดีด้วย อย่าเพิ่งรีบตัดสินว่าเด็กๆ ที่ชอบดูการ์ตูนจะโตขึ้นเป็นอย่างไร เพราะต้องใช้เวลาพิสูจน์หลายสิบปี แต่ส่วนตัวเขาเชื่อว่าเด็กๆ จะโตขึ้นไปเป็นคนดีแน่นอน

ในทางกลับกันเมื่อมีคนถามว่า การ์ตูนให้อะไรบ้าง น้าต๋อยบอกว่า ความสนุกและความอบอุ่นในครอบครัว เพราะยุคนั้นแต่ละบ้านส่วนใหญ่มีโทรทัศน์เพียงเครื่องเดียว เด็กจึงมักดูการ์ตูนพร้อมกับพ่อแม่ สงสัยอะไรก็ถาม พูดคุยกัน พ่อแม่ก็ใช้โอกาสนี้สอนลูกๆ ยิ่งทำให้ครอบครัวเหนียวแน่นและผูกพันกันมากขึ้น

น้าต๋อย เซมเบ้ น้าต๋อย เซมเบ้

3

เส้นทางนักพากย์การ์ตูนเบอร์หนึ่งเมืองไทย

“ผมอยากพากย์การ์ตูนตั้งแต่อยู่ ป.4 แล้ว”

ปู่และพ่อของน้าต๋อยเป็นพนักงานรุ่นบุกเบิกของช่อง 4 บางขุนพรหม สมัยเด็กๆ เขาจึงติดสอยห้อยตามพ่อมาช่วยงานตัดต่อและฉายหนังที่แผนกภาพยนตร์อยู่เสมอ บางครั้งก็ถือโอกาสเยี่ยมชมการทำงานของฝ่ายต่างๆ ในสถานี แต่สิ่งที่โดนใจเขาที่สุดคือการพากย์การ์ตูน ซึ่งช่อง 4 นำเข้ามาหลายเรื่อง ทั้งจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น

ตัวละครที่เด็กชายนิรันดร์ติดใจและชื่นชอบที่สุดคือ ‘นาโอโตะ ดาเตะ’ จาก หน้ากากเสือ ฝีมือการพากย์ของนักบรรยายกีฬาชื่อดัง ประชา เทพาหุดี ซึ่งเต็มไปด้วยเทคนิค ลีลาเร้าใจ จนเขาฝันว่า หากโตขึ้นวันหนึ่งก็อยากเป็นนักพากย์หน้ากากเสือแบบนี้บ้าง

พอขึ้นปี 2 ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการราชดำเนิน จึงเริ่มมีโอกาสได้ฝึกใช้เสียงจริงจัง โดยได้ครูดีอย่าง ฉลอง สิมะเสถียร เจ้าของบทชายกลางแห่ง บ้านทรายทอง เมื่อปี 2501 และ 2513 มาช่วยฝึกเพื่อให้เป็นผู้ประกาศข่าว แต่ดูเหมือนเส้นทางนี้จะไม่เหมาะกับเขาเท่าใดจึงถูกจับโยกมาอ่านสารคดี ก่อนจะมีโอกาสได้ชิมลางการพากย์หนัง

ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ลงเสียงเป็นหนังฝรั่งชื่อ Little House in Paris จากนั้นก็มาพากย์หนังจีนเรื่อง ขบวนการเปาเปียว แล้วก็ข้ามฟากมาพากย์ให้ช่อง 3 เรื่อง เปาบุ้นจิ้น ส่วนใหญ่มักเป็นบทรองๆ มีประโยคพูดแค่ไม่กี่บรรทัด

น้าต๋อยเล่าว่า การพากย์ยุคนั้นไม่ง่ายเลย หนึ่งคือ ยังจับสไตล์ตัวเองไม่ถูก สองคือ มีไอเดียเยอะ แต่ใส่ลงไปไม่ค่อยได้ เนื่องจากทุกคนต่างถือคติว่าต้องพากย์ให้ตรงบท ไม่ควรสอดแทรกมุกเข้าไป แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ถือเป็นเรื่องดีที่เขาจะได้เรียนรู้เรื่องการพากย์อย่างเต็มที่ จนปี 2517 จึงได้พากย์เต็มตัวในเรื่อง พ่อลูกสาม ในบทของลูกชายคนโต

น้าต๋อยพากย์หนังอยู่หลายเรื่อง พร้อมเริ่มทำงานประจำเป็นมือตัดต่อของช่อง 9 ไปด้วย กระทั่งอายุ 25 ปีจึงได้รับโอกาสให้ฟอร์มทีมพากย์การ์ตูนเรื่อง ไดมอส ยอดขุนพล เนื่องจากช่วงนั้นทีมพากย์รุ่นใหญ่ๆ ไม่ค่อยอยากพากย์ บางคนบอกว่า ‘มันกินเสียง’ เนื่องจากต้องใช้พลังและอารมณ์สูงมาก

ช่วงนั้นเขารวบรวมทีมพากย์ได้ 4 คน โดยตัวเองรับบทเป็น กาซูย่า ตัวเอกของเรื่อง พากย์อยู่ปีหนึ่งเต็มๆ จนการ์ตูนจบชุด จึงได้รับความไว้วางใจให้ลงเสียงเรื่องที่ 2 ต่อ ในบทของนาโอโตะ ดาเตะ เรื่อง หน้ากากเสือ ซึ่งทันทีที่ทราบ ความทรงจำเก่าๆ ก็หวนกลับมาทันที

“มันเป็นเหมือนปาฏิหาริย์ ผ่านมา 10 ปีแล้วจากวันที่ผมไปยืนดูคุณประชาพากย์ มาวันนี้ ผมได้พากย์เป็นหน้ากากเสือ ขนลุกเลย และทำให้รู้สึกว่าตัวเองต้องเป็นนักพากย์แน่นอน ความจริงอาชีพหลักของผมไม่ใช่งานพากย์ แต่เป็น Copywriter Editor และต่อไปก็อยากเป็น Director แต่วันนั้นตัดทิ้งหมดเลย อยากเป็นนักพากย์อย่างเดียว”

แต่โลกความฝันกับความจริงนั้นต่างกัน เพราะช่วงแรกๆ ไม่ประสบความสำเร็จ เขายังใช้สไตล์แบบหนังฝรั่ง ทำให้เด็กไม่ติด ถึงขั้นเด็กๆ แถวบ้านบอกว่า สู้ ไอ้มดแดง ที่ฉายทางช่อง 5 ไม่ได้เลย แต่เขาก็ไม่เคยท้อถอย พยายามต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งพบสูตรสำเร็จเรื่องการใส่มุกตลกลงไป จากการดำน้ำในเรื่อง หน้ากากเสือ

หากถามว่าความตลกเหล่านี้มาจากไหน น้าต๋อยบอกว่า ไม่ได้มาจากตัวเอง เพราะนอกเวลางานเขาค่อนข้างนิ่ง ชอบฟังเพลงและอยู่กับตัวเองมากกว่า แต่ระหว่างนั้นก็จะคอยสังเกต เก็บข้อมูล สิ่งที่เกิดรอบตัวไว้ในหัว และเมื่อไปนั่งอยู่หน้าไมโครโฟน ทุกอย่างก็จะไหลออกมาเอง

“ผมไม่ได้เตรียมมุกตลก มันออกจากตัวละคร เขาเป็นคนสร้างเข้ามาในหัวผม ถ้าตลกมากๆ มันจะเปลี่ยนเป็นคำพูด น้ำเสียง พร้อมกับพยางค์ที่ยาวขึ้นกว่าเดิม ออกมาเองตามการแสดงของเขา.. เสียงผมมันเป็นแบบนี้ ซึ่งญี่ปุ่นตั้งให้เป็น Funny Man เสียงไม่ใช่คนเสียงหล่อ แต่เป็นเสียงที่ฟังแล้วมันร่าเริง สนุกสนาน แล้วเผอิญมันตรงกับคาแรกเตอร์ของตัวละครหลายๆ ตัว อย่างซาเอบะ เรียว หรือไจแอนท์ พอดี”

นอกจากนี้ เขายังพยายามเรียนรู้จากรุ่นพี่ๆ โดยเฉพาะหนังยอดมนุษย์อย่าง ไอ้มดแดง อุลตร้าแมน ซึ่งฉายทางช่อง 5 ทุกเย็นวันอังคาร-พฤหัสบดี เพื่อนำมาปรับให้การพากย์ของตัวเองให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

หลังทำงานประจำอยู่ที่ อสมท นานหลายปี ก็เริ่มอยากออกไปหาความท้าทายใหม่ๆ จึงตัดสินใจลาออก และหันมาตั้งบริษัทของตัวเอง ชื่อ Toontown Entertainment รับงานนำการ์ตูนเข้ามาฉาย แปลบทภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทย แต่งเนื้อเพลงประกอบ นำเข้าโชว์จากญี่ปุ่น ที่โด่งดังมากๆ ก็อย่างอุลตร้าแมนโชว์ และเจ็ทแมน รวมถึงสานฝันที่คั่งค้างมานาน ด้วยการสร้างซูเปอร์ฮีโร่เมืองไทยอย่าง Crystal Knights

การไม่อยู่ในสังกัดช่องใดช่องหนึ่งทำให้สามารถพากย์ได้อย่างอิสระ โดยนอกจากช่อง 9 การ์ตูน เขายังมีผลงานอีกเพียบ ว่ากันว่าตลอด 40 กว่าปี น้าต๋อยพากย์หนังพากย์การ์ตูนรวมกันเกือบ 10,000 เรื่อง โดยเฉพาะในยุคที่ Home Video บูมในบ้านเรา รับรองว่าทุกคนต้องเคยฟังเสียงน้าต๋อย

นักแสดงที่ลงเสียงให้ส่วนใหญ่มักมีบุคลิกสนุกสนาน เฮฮา ดูกวนๆ กุ๊กกิ๊ก น่ารัก อย่าง โจว ซิงฉือ, จิม แครี หรือ เอ็ดดี้ เมอร์ฟี บทพระเอกเท่ๆ ก็มีบ้างเหมือนกันอย่าง ทอม แฮงก์ หรือ ทอม ครูซ หากแต่ความจริงแล้ว น้าต๋อยเคยให้สัมภาษณ์ว่า ตัวเองไม่ค่อยชอบบทพระเอกเท่าใด ชอบบทพระรองกับผู้ร้ายมากกว่า เพราะผู้ร้ายในหนังฝรั่งมักจะเป็นคนธรรมดาแต่ซ่อนความรู้สึกในสีหน้า บางทีท้าทายกว่าบทพระเอกเสียอีก

“ส่วนมากผมจะเลือกบท เพราะเป็นคนแบ่งบทเอง ผู้ร้ายกวนๆ นี่ชอบมาก ผมคิดว่านักพากย์ไม่จำเป็นจะต้องพากย์เป็นตัวเอกเสมอไป จริงๆ ตัวไหนก็ได้ที่ให้เสียงเราตรงกับความรู้สึกของตัวแสดง มันก็จะประสบความสำเร็จเอง”

น้าต๋อย เซมเบ้

4

น้าต๋อย..หัวใจไม่ยอมแพ้

เสียงของน้าต๋อยมักมาพร้อมกับความสนุก ความสุข จนบางทีนึกไม่ออกว่ามุมอื่นๆ ในชีวิตของเขาเป็นอย่างไร

“ผมรู้สึกว่าไม่น่าเกิดขึ้นกับตัวผมอีกแล้ว มันเหมือนหมดยุคของผมแล้ว”  

ความรู้สึก ‘หมดไฟ’ เกิดขึ้นกับน้าต๋อยมาพักใหญ่ หนึ่งเพราะอิ่มตัวกับงานพากย์การ์ตูน ยิ่งช่วงหลังเริ่มรู้สึกว่า การ์ตูนยุคใหม่มุ่งขายแต่สินค้า ไม่ได้ใส่ใจเรื่องคุณภาพเมื่อตอนที่พากย์แรกๆ สองมาจากตัวเองเริ่มมีปัญหาสุขภาพ ทำให้ไม่สามารถทนอากาศหนาวๆ ได้นาน เขาจึงตัดสินใจถอนตัวจากรายการช่อง 9 การ์ตูน เมื่อปี 2554 เหลือเพียงแต่งานให้เสียงหนังจีนกับหนังเกาหลี ทางช่อง 7 สี ซึ่งสามารถปรับอุณหภูมิห้องให้สูงขึ้นได้

มาช่วงหลังอาการป่วยยิ่งหนักขึ้น มีโรคแทรกซ้อนหลายอย่าง ต้องเข้าโรงพยาบาลบ่อยครั้ง จึงพากย์น้อยลงเรื่อยๆ จนบางครั้งก็อดคิดไม่ได้ว่าอนาคตบนสายอาชีพนี้กำลังหมดลงแล้ว

แต่ด้วยความผูกพันของเด็กๆ ที่โตขึ้นมาพร้อมกับเสียงของน้าต๋อย กลายเป็นกำลังใจที่หล่อเลี้ยงให้เขายังคงยืนหยัดต่อสู้ อย่างในช่วงที่ผ่านมาเปิดร้านกาแฟ Time Machine Cafe by Natoi Sembe อยู่ปีหนึ่งเต็มๆ มีแฟนคลับบางคนบินตรงมาจากเชียงใหม่เพื่อมาเยี่ยมและพูดคุยกับน้าต๋อย พอคุยเสร็จบินกลับเลย

ที่สำคัญ ยังมีค่ายหนังหลายแห่งชวนให้กลับมาพากย์อีกครั้ง ทั้งเรื่อง Stand by Me Doraemon, Dragon Ball Super: Broly รวมทั้ง เซเลอร์มูน ที่พากย์ให้ช่อง 9 การ์ตูนอยู่สิบกว่าตอน และล่าสุดคือ City Hunter ซึ่งน้าต๋อยบอกว่าเคยมีคนติดต่อมาให้พากย์เวอร์ชันญี่ปุ่นครั้งหนึ่ง แต่ดูแล้วรู้สึกไม่ประทับใจเท่าที่ควรจึงปฏิเสธไป ทีมงานจึงให้ลองชมตัวอย่างเวอร์ชันใหม่ที่เป็นของฝรั่งเศสทาง YouTube ก่อน แล้วค่อยตัดสินใจ

“ผมเคยพากย์การ์ตูนเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2527 พอเข้าไปดูแล้วตกใจเลย เพราะทุกอย่างเหมือนการ์ตูนเลย และมันเล่นทะลึ่งได้เหมือนมากทีเดียว เพราะเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของ ซาเอบะ เรียว หรือ นิกกี้ ลาร์สัน ใน City Hunter คือ มันทะลึ่ง ก็เลยมีความรู้สึกว่ามันน่าพากย์ ก็เลยตอบตกลง

“แต่มีเงื่อนไขว่า ขอพากย์คนเดียวนะ คือไม่ใช่เก่งกาจอะไรหรอก แต่ถ้าพากย์ร่วมกัน ผมจะเทคบ่อยและอีกอย่างคือต้องปรับอุณหภูมิห้องให้สูงขึ้นด้วย แล้วอย่างเรื่องมุกก็ไม่ต้องมาคิดให้ผมนะ ผมขออิมโพรไวส์เองทุกอย่าง เพราะถ้ามาคิดให้ ผมพากย์ไม่ได้ ทุกอย่างต้องออกจากหัว เขาก็ยอมให้ผมเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับสถานการณ์ ทำให้พากย์ได้สนุกขึ้น”

สไตล์การพากย์ที่เป็นเอกลักษณ์จึงอยู่ครบ ทั้งการปรับเปลี่ยนเรื่องราวให้ใกล้กับคนดูมากขึ้น อย่างในหนังตัวอย่างจะมีฉากนางเอกเปิดตู้เสื้อผ้าแล้วเจอหนังสือโป๊ที่พระเอกสะสมไว้หล่นลงมากระจายเต็มพื้น น้าต๋อยก็แก้มุกให้สนุกยิ่งขึ้น

“ตามบทพระเอกต้องแก้ต่างว่า ไม่รู้ใครลืมวางไว้ ผมก็เปลี่ยนเลย เออ..เผอิญไปงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติมา มันก็เข้ามุกดีกว่า หรือตอนที่นางเอกเอาค้อนไล่ตีพระเอกไปโดนแจกันแตก แล้วเห็นบราเซีย กางเกงในผู้หญิงที่พระเอกซ่อนไว้ในแจกัน นางเอกก็ถามว่า นี่ของใคร ตามบทบอกว่า ไปถามคนจัดดอกไม้สิ แต่ผมบอกว่า ของคุณไง จำไม่ได้เหรอ ซึ่งพอยิ่งพากย์ก็ยิ่งมีความสุข เหมือนเป็นของขวัญปีใหม่เลย”

แม้วันนี้สุขภาพจะยังไม่สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่น้าต๋อยก็ไม่เคยหยุดความฝัน ยิ่งเวลาได้พากย์เป็นตัวละครที่สนใจ แรงบันดาลใจและไอเดียจะกลับมาขึ้นมาทันที สิ่งเหล่านี้ทำให้เขารู้สึกอยากต่อสู้ อยากมีชีวิตต่อไป

อย่างที่เขามักพูดเสมอ — หากซุนโงกุนใน ดราก้อนบอล สู้จนแขนขาดแล้วก็ยังคงลุกขึ้นสู้ได้ แล้วคนพากย์จะยอมแพ้ได้อย่างไร

น้าต๋อย เซมเบ้

เรียบเรียงจาก

  • บทสัมภาษณ์คุณนิรันดร์ บุณยรัตพันธุ์ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562
  • นิตยสารภาพยนตร์รีวิวทีวี ปีที่ 4 ฉบับที่ 54 สิงหาคม 2528
  • หนังสือพิมพ์สยามโพสต์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 เมษายน 2540
  • หนังสือประวัติศาสตร์ อสมท 59 ปี สื่อไทย 2495-2554
  • รายการชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร ตอน ชีวิตจริงยิ่งกว่าการ์ตูน สถานีโทรทัศน์ Thai PBS วันที่ 16 มิถุนายน 2558
  • นิตยสาร a day ปีที่ 2 ฉบับที่ 18 กันยายน 2545
  • นิตยสาร a day Bulletin ปีที่ 9 ฉบับที่ 457 วันที่ 13 มกราคม 2560
  • นิตยสาร ผู้จัดการรายเดือน ปีที่ 12 ฉบับที่ 138 มีนาคม 2538
  • เว็บไซต์ ผู้จัดการ Live วันที่ 6 ตุลาคม 2560
  • บทความชุด Doraemon: Design Thinking จาก Facebook Talk with Dr.Niphon Naksompop
  • วิทยานิพนธ์เรื่อง พัฒนาการของภาพยนตร์การ์ตูนนำเข้าจากต่างประเทศที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท. โดย จรรยา เหลียวตระกูล

Writer

Avatar

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เพจเล่าเรื่องที่เชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนต่างมีความเป็นยอดมนุษย์อยู่ในตัว

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan