The Cloud x การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

ป้อม-เนติพงศ์ ไล่สาม เป็นเด็กชาวสงขลาคนหนึ่งที่บังเอิญเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่ทั้งรำและทำเครื่องแต่งกายมโนราห์

ในวันนี้ป้อมกลายเป็นหนุ่มหน้าใหม่ไฟแรงที่ชุมชนคราฟต์ของประเทศไทยรักและติดตาม เขาออกแบบโคมไฟ แจกัน กระเป๋า กระทั่งตุ้มหู ด้วยเทคนิคลูกปัดชุดมโนราห์ ขายให้ทั้งคนทั่วไปได้ใช้กันสนุกๆ และให้โรงแรมใหญ่แขวนประดับผนังและเพดาน

‘Natipong’ คือชื่อแบรนด์ของเขา

Natipong

ความพิเศษของแบรนด์เกิดจากการหยิบเอาเทคนิคเก่าแก่ของการร้อยลูกปัดชุดมโนราห์มาผสมผสานกับความรู้ด้านการออกแบบ ต่อยอดและตีความให้เป็นลวดลายกราฟิก จนชาวต่างชาติดูแล้วเห็นความงามอย่างเป็นสากล แต่พอเป็นคนไทยเห็นแล้วจะรู้ทันทีว่าได้แรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมภาคใต้

ไม่เพียงเท่านั้น แบรนด์ Natipong ยังสร้างรายได้ให้คนจำนวนหนึ่งในตำบลบ้านขาว บางคนที่ผ่านมาอยู่บ้านเลี้ยงลูกหรืออยู่ในช่วงระหว่างทำไร่นาก็มีโอกาสสร้างรายได้ขึ้นมา แต่รายได้นั้นยังไม่สำคัญต่อชุมชนเท่าการสร้างชื่อเสียงให้บ้านขาวเป็นที่รู้จัก เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดธุรกิจอื่นๆ ในจังหวัดตามมา

กว่าป้อมจะมาถึงจุดนี้ ต้องเกิดอะไรขึ้นบ้างระหว่างทาง ลองไปฟัง

Natipong Natipong

01

ภูมิปัญญาของชุดมโนราห์อยู่ที่เทคนิคการรูดกาวที่เชือก

หากพิจารณาเครื่องแต่งกายของนางรำทั้งหลายดีๆ จะพบว่าชุดทำจากลูกปัดเม็ดเล็กจำนวนมากเรียงร้อยต่อกันจนออกมาเป็นแผ่นผืน การร้อยลูกปัดดังกล่าวจึงอยู่ตรงกลางระหว่างการร้อยและการทอ ซึ่งจะทำได้ยากมากหากใช้วิธีร้อยลูกปัดบ้านๆ แบบที่เราทำกันเป็น

Natipong

นั่นเป็นสาเหตุที่ผ้าของชุดมโนราห์ต้องใช้เทคนิคพิเศษในการร้อย นั่นคือการนำก้อนขี้ผึ้งมารูดเชือกให้มีปลายแหลมเหมือนเข็ม เพื่อให้ร้อยรูลูกปัดเม็ดน้อยได้ง่าย แต่ถึงกระนั้นก็ยังต้องใช้ความสามารถในการค่อยๆ หยิบลูกปัดมาร้อยทีละเม็ด สลับกับผูกเชือกไขว้ไปมาคล้ายถักเปีย กว่าจะได้ออกมาเป็นผืนน้ำตาก็แทบไหลด้วยทั้งความเหนื่อยและความแสบตา

แต่ความยากก็อาจไม่ถูกเห็นค่า ในเมื่อนับวันโอกาสในการแสดงงานมโนราห์ก็มีน้อยลงทุกปี เพราะการจัดงานวัด งานทำบุญ ไม่ได้เกิดขึ้นถี่เหมือนเมื่อก่อน ในชุมชนเล็กๆ อย่างชุมชนบ้านขาว การทำงานมโนราห์เพื่อเลี้ยงชีพนั้นจึงแทบเป็นไปไม่ได้ จะเหลือก็เพียง 2 – 3 ครัวเรือนเท่านั้นที่ยังยึดมั่นในศาสตร์เก่าแก่นี้อยู่

Natipong

02

หนึ่งในครอบครัวที่ยังหลงเหลือ คือครอบครัวของป้อม

ครอบครัวนี้นำโดย คุณป้าหนูถวิลย์ สว่างจันทร์ ผู้มีความเชี่ยวชาญในทุกสิ่งที่เกี่ยวกับมโนราห์ ตั้งแต่การรำ ไปจนถึงการทำชุดมโนราห์ ตอนเด็กๆ คุณป้าพยายามถ่ายทอดศาสตร์อันล้ำค่านี้ให้ป้อม แน่นอนว่าเด็กชายป้อมยังไม่เข้าใจว่าคุณค่าของมันคืออะไร แต่หลังจากไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ แล้วหันกลับมามอง เขาจึงได้เข้าใจ

บางครั้งที่กลับบ้าน เขาหยิบพวงกุญแจมโนราห์ที่ป้าทำติดมือกลับมาฝากเพื่อนๆ ที่กรุงเทพฯ ด้วย แล้วนั่นก็ทำให้เขาเห็นโอกาส เมื่อเพื่อนๆ มีเสียงตอบรับที่ดีมาก วัดได้จากการพากันเข้ามาถามว่ามีสีอื่นและลวดลายแบบอื่นที่จะเหมาะกับคนวัยรุ่นบ้างหรือไม่

Natipong Natipong

พวงกุญแจเป็นของฝากจากชุดมโนราห์ที่ทางภาคใต้นิยมทำกันเยอะ แต่จากการสังเกตของเขา ป้อมก็พบว่า หากจะทำเป็นธุรกิจให้มีความเป็นสากลและอยู่ได้อย่างยั่งยืน เขาต้องไปให้ไกลกว่านั้น

เขาจึงกำความหวัง ความฝัน ความมุ่งมั่น ไว้ในมือ แล้วเดินทางกลับบ้าน

Natipong Natipong

03

ป้อมเริ่มจากการนั่งทำด้วยตัวคนเดียวก่อน

ในเวลากลางวันป้อมทำร้านกาแฟเพื่อเก็บเงินก้อนแรกสำหรับซื้ออุปกรณ์ แล้วเมื่อตกค่ำเขาก็ผันตัวมาเป็นนายช่าง ฝึกร้อยลูกปัดและทดลองร่างแบบที่ลดทอนลวดลายมโนราห์ดั้งเดิมให้เรียบง่าย เพิ่มกราฟิกร่วมสมัย ป้อมฝึกเองอยู่อย่างนั้นเป็นเวลา 3 เดือน จากผลงานชิ้นเล็กๆ ที่ใช้เวลารวมแล้ว 1 วันกว่าจะเสร็จ ตอนนี้เขาเชี่ยวชาญจนใช้แค่ 1 ชั่วโมงก็พอ

Natipong Natipong Natipong

ทำไปได้สักพักป้อมก็รู้ตัวว่าเขาทำงานนี้คนเดียวไม่ได้ หากเขาอยากให้งานนี้อยู่ไปได้ยั่งยืนกว่าตัวเขาเอง เขาต้องทำให้เกิดการเผยแพร่ความรู้สู่คนอื่นในชุมชนด้วย

เมื่อเรียนรู้จนทำเป็นแล้ว ป้อมจึงเปิดสตูดิโอผลิตงาน โดยเริ่มจากการชักชวนพี่ๆ ป้าๆ ที่ทำอยู่แล้วมารวมกันทำที่นี่ แล้วถ้าใครอยากมาร่วมทำด้วยก็ให้เดินเข้ามาเรียนที่สตูดิโอได้เลยฟรีๆ

Natipong Natipong Natipong

บางคนที่ทำเป็นจนเชี่ยวชาญแล้วจะทำหน้าที่เตรียมเชือกอย่างเดียว เพราะเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด ส่วนคนที่เหลือหากใครเรียนรู้เร็วจนร้อยถนัดมือแล้วจะให้ร้อยส่วนที่ซับซ้อน ในขณะที่คนยังไม่เก่งก็ฝึกมือด้วยงานชิ้นเล็กๆ หรือส่วนที่ง่ายไปก่อน จนทำได้แล้วค่อยขยับไปสู่ระดับความยากต่อไป

หลังจากเปิดสตูดิโอสอนมา 2 ปี Natipong จึงไม่ได้เป็นแค่ของเนติพงศ์ แต่เป็นของชาวบ้านขาวอีกอย่างน้อย 20 คน

อย่างน้อยๆ เทคนิคการร้อยลูกปัดมโนราห์ก็จะไม่หายไปจากชุมชนบ้านขาว

04

สินค้าของแบรนด์นี้ เชื่อว่าชาวฮิปปี้จะต้องหลงรัก

เมื่อป้อมตั้งใจออกแบบให้เป็นสากลขึ้น งานที่ออกมาจึงกลายเป็นสไตล์สดใส ขับสีให้เด่นขึ้นด้วยการแทรกลูกปัดสีดำ มองแล้วนึกถึงเทรนด์ของชาวบุปผาชนในช่วงยุค 80 ที่จะแต่งตัวด้วยลวดลายกราฟิกไล่สี ซึ่งก็เป็นเทรนด์ที่กำลังกลับมาฮิตพอดีเสียด้วย

งานชิ้นที่ยังคงความเป็นมโนราห์ที่สุดคือโคมไฟทรงชฎาสีขาวดำ ที่เอาไปแต่งบ้านแล้วช่วยให้ทั้งหรูหราและมีสไตล์ไทยอันเป็นเอกลักษณ์ด้วย

Natipong Natipong

นอกจากนั้น ป้อมยังหยิบภูมิปัญญาอีกอย่างของทางใต้มาใช้ นั่นคือกระจูด พันธุ์ไม้คล้ายกกที่คนใต้นิยมนำมาถักทอเป็นเสื่อหรือกระเป๋า แต่เมื่อต้องการแตกต่าง ป้อมเลยนำดีไซน์เข้ามาแต่งแต้มผลงาน ย้อมกระจูดให้สีสวย แล้วร้อยลูกปัดประดับเพิ่มไปอีกชั้นหนึ่ง ออกมาเป็นงานเก๋ไก๋ไม่เชยสักนิด

Natipong

ถ้าคุณยังนึกภาพไม่ออก ให้ลองคิดถึง Wonderfruit หรืองานเทศกาลดนตรีแบบฮิปปี้ของไทย ขอบอกเลยว่าสินค้าของ Natipong จะเหมาะกับการสวมใส่เพื่อไปงานนั้นอย่างสุดๆ

กลิ่นอายของมโนราห์ยังคงอยู่ก็จริง แต่ตัวผลงานไปไกลกว่าใช้เป็นชุดแสดงบนเวทีมากนัก

05

พอได้ของที่จะขายมาแล้ว ก็ต้องขายให้ออกด้วย

ป้อมทุ่มเทวิ่งไปขายงานตามที่ต่างๆ งานที่ SACICT ช่วยให้ได้ไปออกบูทเพิ่มโดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย รวมถึงการไปเป็นวิทยากรเล่าเรื่องลูกปัดมโนราห์ก็เป็นช่องทางให้เขาได้โปรโมทแบรนด์ตัวเองไปในตัว

วิธีการขายของเขาไม่ได้เน้นที่การออกแบบ เพราะสิ่งนั้นลูกค้าจะตัดสินด้วยตัวเอง แต่เขาหันไปพูดถึงเรื่องราวเบื้องหลังว่ากว่าจะได้ชิ้นหนึ่งต้องผ่านกระบวนการอันยากเย็นอย่างไรบ้าง

Natipong

คนที่ถูกใจงานของเขามีตั้งแต่คนตัวเล็กๆ ที่มาเดินช้อปปิ้งแล้วสนใจ ซื้อไปใช้เอง จนถึงโรงแรมขนาดใหญ่ที่ชวนให้เขาทำแชนเดอเลียร์ขนาดยักษ์ไปประดับตกแต่ง เช่น โรงแรมเกาะยาวใหญ่วิลเลจ และล่าสุดก็มีโรงแรมจากมัลดีฟส์เข้ามาจ้างวานแล้วด้วย

ผ่านมาเกือบ 3 ปีแล้ว แบรนด์เริ่มขยายขึ้นเรื่อยๆ ทั้งฝั่งคนทำและคนซื้อ ป้อมจึงมุ่งมั่นทำงานหนัก เผยแพร่ความรู้ และนำเสนองานตัวเองให้โลกรู้ต่อไป

ให้คนได้เห็นว่า มโนราห์สงขลายังไม่ตาย

Natipong

Natipong

ที่อยู่ 29/1 หมู่ที่3 ตำบลบ้านขาว อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา 90140
ติดต่อ 088 828 9922
Facebook : Natipong 

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล