มีคนเคยกล่าวไว้ ถ้าอยากรู้จักใครสักคนให้ดูหนังสือที่เขาอ่าน เพลงที่เขาฟัง หนังที่เขาดู

แต่ถ้าอยากรู้ว่าไต้หวันเป็นอย่างไร ให้ลองมา ‘พิพิธภัณฑ์วรรณกรรมแห่งชาติไต้หวัน’ อันนี้ไม่มีใครกล่าว ฉันกล่าวเอง

พิพิธภัณฑ์วรรณกรรมแห่งชาติไต้หวัน พิพิธภัณฑ์วรรณกรรมแห่งชาติไต้หวัน

พิพิธภัณฑ์วรรณกรรมแห่งชาติไต้หวัน (National Museum of Taiwan Literature) เป็นตึกสถาปัตยกรรมยุโรป ตั้งตระหง่านอยู่ตรงวงเวียนที่ถนนจงเจิ้ง เมืองไถหนาน ไต้หวัน เป็นแลนด์มาร์กที่นักท่องเที่ยวต้องมาหยุดถ่ายรูปค่าที่มันหน้าตาฝรั่งสะดุดตาเหลือเกิน เพราะถ้าเดินไปทางด้านขวาของพิพิธภัณฑ์ คุณก็จะเจอกับสถาปัตยกรรมแบบจีนสีแดงที่เป็นวัดขงจื๊อเก่าแก่ และถ้าหากเดินไปทางซ้ายคุณก็จะเจอตึกญี่ปุ่นที่ชื่อว่า ห้างฮายาชิ

สถาปนิกผู้ออกแบบพิพิธภัณฑ์หน้าตาตะวันตกเช่นนี้คือคนญี่ปุ่นที่ชื่อว่า Moriyama Matsunosuke คนเดียวกับที่ออกแบบทำเนียบประธานาธิบดีไต้หวันที่ไทเปนั่นแหละ

ฉันบังเอิญเจอที่นี่เพราะความใหญ่โตของมันเตะตา จึงสาวเท้าก้าวเข้าไปตัวอาคารอย่างง่ายดายเพราะว่าที่นี่ไม่เก็บค่าเข้าชม แต่โปรดวางแก้วน้ำและขวดน้ำที่ถือไว้ก่อนเข้าชม เพื่อไม่ให้ก่อความเสียหายต่อตัวชิ้นงาน

พิพิธภัณฑ์วรรณกรรมแห่งชาติไต้หวัน พิพิธภัณฑ์วรรณกรรมแห่งชาติไต้หวัน พิพิธภัณฑ์วรรณกรรมแห่งชาติไต้หวัน

นิทรรศการหลักของที่นี่ชื่อว่า ‘The Inner World of Taiwan Literature’ ตามชื่อของพิพิธภัณฑ์ ไล่เรียงงานวรรณกรรมมาตั้งแต่ยุคชนเผ่าพื้นเมือง ยุควรรณกรรมการเมืองสมัยญี่ปุ่นเป็นเจ้าอาณานิคมที่มีจอ LCD เล็กๆ เป็นภาพการ์ตูนแอนิเมชันตอนสั้นๆ ประกอบ ตามมาด้วยยุคผสมผสานกับภาษาถิ่นที่มีฉากประกอบเป็นโต๊ะทำงาน เพียงแค่แตะมือลงไปบนโต๊ะก็จะมีไฟสว่างวาบขึ้นมาที่แก้ว ปากกา และที่เขี่ยบุหรี่ซึ่งวางอยู่บนโต๊ะ ตัวอักษรค่อยๆ ปรากฏบนโต๊ะทีละตัวราวกับมีเวทมนตร์ ประกอบด้วยเสียงขีดเขียนปากการาวกับว่ามีมือที่มองไม่เห็นกำลังเขียนตัวอักษรอยู่ เมื่อตัวอักษรถูกเขียนจนครบก็จะมีเสียงคนอ่านเป็นภาษาถิ่นไต้หวัน หรือที่คนไทยเรียกว่า ภาษาฮกเกี้ยนพิพิธภัณฑ์วรรณกรรมแห่งชาติไต้หวัน พิพิธภัณฑ์วรรณกรรมแห่งชาติไต้หวัน

ถ้าจินตนาการไม่ออกว่าสำเนียงและโทนเสียงเป็นแบบไหน ให้คุณลองมองหาแมลงสาบบนพื้นและพูดว่า กระจั๊ว คนไต้หวันจะตกใจระคนปลาบปลื้มว่าคุณพูดภาษาถิ่นของเขาได้

ถ้าถามฉันว่าคนไต้หวันเป็นคนยังไง หนึ่งในคำคุณศัพท์ที่ฉันจะใช้มาขยายคือคำว่า รักษ์โลก เพราะในชีวิต 1 วันของคนไต้หวัน เขาพยายามทำร้ายสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ตั้งแต่การแยกขยะ การพกกระติกน้ำของตัวเอง การใช้ชุดตะเกียบแบบพกพาได้ ชุดหลอดสำหรับใช้ซ้ำ

แม้แต่ฉันเองก็ยังมีถุงผ้าสำหรับใส่แก้วชา 2 ใบและทำท่าว่าคงจะมีเพิ่มเติมขึ้นอีกในไม่ช้า ต้องโทษว่าเป็นเพราะนักออกแบบผลิตภัณฑ์ที่นี่ใช้ความน่ารักของดีไซน์สู้กับปัญหาที่ไม่น่ารักอย่างขยะล้นโลก

ฉันจึงไม่แปลกใจที่เห็นป้ายเขียนบอกว่า ไต้หวันมีวรรณกรรมพิทักษ์สิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ยุค 1980 แล้ว ถ้าการเลือกอ่านหนังสือคือการบอกตัวตนของคนอ่าน พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็คงบ่งบอกตัวตนของชาวไต้หวันได้ดีระดับหนึ่ง

พิพิธภัณฑ์วรรณกรรมแห่งชาติไต้หวัน พิพิธภัณฑ์วรรณกรรมแห่งชาติไต้หวัน

เดินทางมาถึงห้องสุดท้าย นอกจากวรรณกรรมเฟมินิสม์แล้ว เรายังได้เห็นการพูดถึงความรักระหว่างเพศเดียวในวรรณกรรมตั้งแต่ยุค 1990 แม้ว่าการลงประชามติเรื่องสิทธิของคนรักเพศเดียวที่ผ่านมาจะไม่ได้เสียงส่วนใหญ่ไปครอบครอง แต่ก็ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ดีที่ความหลากหลายทางเพศกำลังจะได้รับการยอมรับอย่างถูกกฎหมายครั้งแรกในเอเชีย ในช่วงก่อนลงประชามติ ฉันเห็นสัญลักษณ์สายรุ้งสัญลักษณ์ LGBT พาดผ่านไปทั่วมหาวิทยาลัย ทั่วหน้านิวส์ฟีดเฟซบุ๊ก และแม้แต่บอร์ดใต้หอที่มีโปสเตอร์สีรุ้งเขียนไว้ว่า

“ไม่ใช่เพียงแค่ความรัก แต่มันคือสิทธิ์พลเมืองของคนรักเพศเดียวกัน”

ถึงวันนี้ภาพสายรุ้งยังไม่แจ่มชัด แต่ฉันเชื่อว่าวันหนึ่งมันคงค่อยๆ กระจ่างชัดเจนขึ้นมาเอง

ฉันมาที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว สังเกตว่านิทรรศการหมุนเวียนได้เปลี่ยนไปจากครั้งแรกที่แล้วที่ฉันมา ครั้งนั้นเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับภาษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เลยได้เห็นภาพวาด พี่เบิร์ด ธงไชย ลายเส้นน่ารัก ยืนอยู่กับภาพวาดนักร้องคนอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน เมื่อลองกดปุ่มเล็กๆ ที่อยู่ด้านข้างก็จะได้ยินเพลง คู่กัด ดังออกมา

ตอนนั้นเป็นช่วงเดือนแรกๆ ที่มาอยู่ไถหนาน การได้ฟังเพลงไทยทำนองคุ้นหูในเมืองที่คนไทยไม่ค่อยรู้จักของไต้หวันนี้ ก็ทำให้รู้สึกอบอุ่นใจอย่างบอกไม่ถูก

วันนี้ฉันเดินขึ้นไปที่ชั้นสอง หัวข้อนิทรรศการหมุนเวียนเปลี่ยนเป็นเรื่องอื่นแล้ว และฉันก็ได้เจอคนที่ฉันไม่คาดคิดว่าจะได้เจอ

เขาคือ Yeh Shih Tao นักเขียนในยุคบุกเบิก ชาวเมืองไถหนาน

อันที่จริงก็ไม่แปลกหรอกที่เขามายืนอยู่ตรงนี้ได้ เขาคือความภาคภูมิใจของคนไถหนาน ตึกอิฐสีส้มที่อยู่ด้านหลังพิพิธภัณฑ์นี้ก็สร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแก่เขา

พิพิธภัณฑ์วรรณกรรมแห่งชาติไต้หวัน พิพิธภัณฑ์วรรณกรรมแห่งชาติไต้หวัน

เรารู้จักกันครั้งแรกก็ที่นี่แหละ อันที่จริงน่าจะเป็นฉันที่รู้จักเขาฝ่ายเดียวมากกว่า เพราะเขาเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2008 เราเจอกันในร้านขายของที่ระลึกของพิพิธภัณฑ์ จริงๆ ถ้าจะพูดให้ถูกคือฉันเจอวาทะดังของเขาบนโปสการ์ดแผ่นหนึ่ง

และแน่นอนว่าฉันอ่านไม่ออก

ในทีแรกฉันไม่ได้สังเกตโปสการ์ดพื้นขาวที่มีอักษรจีนอยู่ 1 ประโยค และมีรูปวาดเก้าอี้ที่แสนธรรมดานี่ด้วยซ้ำ เทียบกับโปสการ์ดภาพวาดตัวพิพิธภัณฑ์สีสันสดใส หรือโปสการ์ดที่กางออกมาเป็นภาพป๊อปอัพที่วางอยู่ข้างๆ ยังน่าดึงดูดใจให้เสียสตางค์มากกว่า

พิพิธภัณฑ์วรรณกรรมแห่งชาติไต้หวัน

แต่เพื่อนคนไทยของฉันมองเห็นมัน และหันไปถามเพื่อนไต้หวันที่ไปด้วยกันวันนั้นว่ามันแปลว่าอะไร

“วรรณกรรมคือเกลือที่อยู่บนดิน” เธอแปลให้ฟัง แต่เธอไม่สามารถอธิบายเพิ่มว่าทำไมวรรณกรรมคือเกลือที่อยู่บนดิน

ฉันเก็บความสงสัยนั้นกลับมาจากพิพิธภัณฑ์ ส่งกลับไปถามเพื่อนชาวจีนที่ไทย จนได้รู้ว่าคนที่กล่าวประโยคนี้คือ Yeh Shih Tao คนนี้แหละ

Yeh Shih Tao อธิบายเพิ่มเติมว่า “ผมเชื่อเสมอว่าวรรณกรรมคือเกลือที่อยู่บนพื้นดิน เกลือเป็นสิ่งเล็กๆ ที่ไม่มีค่า แต่จำเป็นต่อร่างกาย วรรณกรรมก็เหมือนเกลือหนึ่งกอบมือที่พบได้ในดิน ประโยชน์ของมันต่อสังคมอาจจะมองไม่เห็นชัดเจน แต่เชื่อว่าวรรณกรรมสามารถเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางจิตใจของมนุษย์ ให้เกิดพลังพัฒนาได้อย่างมหาศาล”

ประโยคที่ประกอบด้วยตัวอักษรจีน 6 คำที่ฉันเคยไม่เห็นค่าของมันนี้ จู่ๆ ก็สามารถสร้างความสั่นสะเทือนในใจฉันได้อย่างมหาศาล

หลังจากที่รู้ความหมาย ฉันก็วิ่งกลับไปที่พิพิธภัณฑ์อีกครั้ง ตรงไปที่ร้านขายของที่ระลึกโดยเฉพาะ แล้วซื้อโปสการ์ดหน้าตาธรรมดาที่เคยค่อนขอดในใจกลับมา 3 แผ่น

พิพิธภัณฑ์วรรณกรรมแห่งชาติไต้หวัน

แผ่นหนึ่งฉันใช้เข็มหมุดปักไว้ที่บอร์ดบนโต๊ะเขียนหนังสือเทิดทูนไว้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์กราบไหว้บูชา ขาดก็แต่วางขวดน้ำแดงถวาย

อีกแผ่นฉันส่งกลับไปให้เพื่อนที่จบปริญญาตรีคณะเดียวกันที่ตอนนั้นเธอกำลังจะเรียนจบปริญญาโทที่คณะเดิม ฉันเขียนขึ้นต้นว่า ‘แด่เธอผู้รักในวรรณคดี โปสการ์ดแผ่นนี้เหมาะสมกับเธอเป็นที่สุด’

และแผ่นสุดท้ายฉันเขียนไปให้เขา เขาที่เคยถามหาความสำคัญว่าฉันร่ำเรียนสิ่งนี้ไปเพื่ออะไรกัน วันนั้นฉันโกรธ ไม่ได้โกรธเพราะเขาถามคำถามนั้นกับฉัน แต่ฉันโกรธตัวเองที่ไม่สามารถหาประโยคดีๆ มาตอบเขาได้เลย กลับฟูมฟายเป็นเด็กที่พูดจาไม่เป็นภาษา จนกระทั่งวันนี้ฉันเจอคำตอบที่เรียบง่ายและลึกซึ้งเท่าที่คนรักวรรณกรรมคนหนึ่งจะเขียนมันขึ้นมาจากตัวอักษรได้ ไม่ใช่เพียงแต่เขา แต่ฉันหวังว่าประโยคนี้จะตอบคำถามของคนอีกหลายคนที่เคยสงสัยถึงการมีอยู่ของวรรณกรรม

ก็เพราะเกลือไม่ใช่หรือที่หล่อเลี้ยง เติมเต็ม และชูรสชาติอาหาร ไม่ให้รู้สึกว่าชีวิตในทุกวันนั้นจืดชืด ไร้รสชาติ และแห้งผากจนเกินไป

พิพิธภัณฑ์วรรณกรรมแห่งชาติไต้หวัน พิพิธภัณฑ์วรรณกรรมแห่งชาติไต้หวัน

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเทียมเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

ศิรินันท์ วนิชนนทกุล

นักศึกษาป.โทเรียนอยู่เมืองไถหนัน,ไต้หวัน เสพติดชา เล่นกับหมาชิบะ(ของชาวบ้าน) และยังคงตกหลุมรักความน่ารักของเมืองนี้