กาตาร์ คือประเทศที่เต็มไปด้วยความใหม่

หลังจากที่ประกาศอิสรภาพจากสหราชอาณาจักร กลายเป็นรัฐอิสระในปี 1971 กาตาร์ก็เติบโตอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ชั่วพริบตาเดียว ตอนนี้ประเทศนี้มีทั้งสายการบินที่ดีเป็นลำดับต้นๆ ของโลก สถานีข่าว Al Jazeera ที่เสนอข่าวจากโลกมุสลิมอย่างละเอียดครบถ้วน และเมืองหลวงใหม่เอี่ยมที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในสายตานักท่องเที่ยว ทำให้เต็มไปด้วยซอกมุมให้ค้นหา

ไม่เพียงเท่านั้น เรายังได้มีโอกาสบินมากาตาร์บน Business Class แบบใหม่ล่าสุดของสายการบิน Qatar Airways ในชื่อว่า Qsuite เป็นชั้นธุรกิจที่ไม่เคยมีที่ไหนมาก่อน เพราะตกแต่งด้วยบรรยากาศหรูหรา มีประตูเปิด-ปิดช่วยให้เป็นส่วนตัว มีเก้าอี้ที่ปรับให้นอนราบได้อย่างกับเตียงที่บ้าน และมีอาหารอร่อยๆ ให้เลือกร้อยแปด ดูเผินๆ แล้วเหมือนนั่ง First Class เลยทีเดียว พอลงมาถึงก็เที่ยวต่อได้ทันที

National Museum of Qatar

ภาพ : @sixtysix

แต่สิ่งที่ใหม่ที่สุดในทริปนี้ คือจุดหมายปลายทางที่ชื่อว่า National Museum of Qatar

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เริ่มออกแบบตั้งแต่ปี 2003 และใช้เวลาสร้างยาวนานถึง 8 ปี จนปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเพิ่งจะพร้อมเปิดให้เข้าเยี่ยมชม งานเปิดล้นหลามไปด้วยผู้คน มีดาราดังอย่าง จอห์นนี่ เดปป์ (Johnny Depp) และ วิกตอเรีย เบคแฮม (Victoria Beckham) มาร่วมพิธี และมีสำนักข่าวทั่วโลกมาทำข่าว นี่คือพิพิธภัณฑ์ที่คนทั่วโลกจับตารอคอย เพราะเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศที่ขึ้นชื่อว่ารวยที่สุดในโลก

เราได้โอกาสเป็นคนไทยกลุ่มแรกที่มาดูให้เห็นถึงความพิเศษของสถานที่แห่งนี้ และประเทศใหม่เอี่ยมนี้

นี่คือเรื่องราวของกาตาร์แบบที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน

National Museum of Qatar

 

01

สิ่งแรกสุดที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือตัวอาคาร

สถาปัตยกรรมอันโดดเด่นนี้เป็นงานของ ฌอง นูแวล (Jean Nouvel) สถาปนิกชาวฝรั่งเศสผู้ออกแบบ Lourve ที่อาบูดาบี และ Arab World Institue ที่ปารีส นอกจากงานนี้แล้ว ยังมี Burj Doha ตึกสูงทรงข้าวโพดอันเป็นสัญลักษณ์ประจำเส้นขอบฟ้าของโดฮา ที่เป็นผลงานเขาเช่นกัน

ผลงานของนูแวลอาจไม่ได้มีจุดร่วมชัดเจนเหมือนงานของอันโดะหรือฮาดิด นั่นเป็นเพราะเขาเลือกที่จะใส่ใจบริบทของงานเป็นสำคัญ อย่างงานนี้ เขาหยิบแรงบันดาลใจมาจากกุหลาบทะเลทราย หินรูปทรงพิเศษที่ฟอร์มตัวจากทราย เกลือ และลม แน่นอนว่าทะเลทรายกลางทะเลอย่างกาตาร์มี 3 สิ่งนี้เยอะมากๆ ทำให้มีหินชนิดนี้เกิดขึ้นทั่วไป ในแง่หนึ่งจึงเป็นเหมือนตัวแทนของวิถีชีวิตอันงดงามที่งอกเงยขึ้นมาจากธรรมชาติอันแห้งแล้ง

ภาพ :  National Museum of Qatar

National Museum of Qatar National Museum of Qatar

เทคนิคอันชาญฉลาดคือการใช้แค่แผ่นกลมๆ ขนาดและรูปทรงต่างกันไป รวมทั้งหมด 539 แผ่น ทำเป็นทั้งฐานให้ยืน ตัวรับน้ำหนัก กำแพง และหลังคา ยิ่งเมื่อขยายขนาดหินก้อนเล็กที่ประคองได้ในมือ ให้เป็นสเกลมโหฬารขนาดเขาไปข้างในได้ ยิ่งสร้างอารมณ์เหนือจริงให้ผู้เยี่ยมชมอย่างเรา

ตัวอาคารล้อมรอบลานกว้างตรงกลาง เป็นแนวคิดที่นำมาจากสถานีคาราวาน (Caravanserai) สิ่งก่อสร้างที่มีอยู่ทั่วกาตาร์ มักใช้เป็นที่พบปะของคาราวานซึ่งใช้ชีวิตเร่ร่อนตามทะเลทราย ลานนี้มีจุดประสงค์คล้ายกัน คือใช้จัดกิจกรรมระดับประเทศ พาผู้คนจากทุกสารทิศมาเจอกันนั่นเอง

National Museum of Qatar

อาคารสุดแนวแบบนี้ไม่ได้สร้างกันง่ายๆ รัฐบาลต้องมีทั้งเงินลงทุน และเทคโนโลยีในการคำนวณทั้งระหว่างออกแบบและระหว่างก่อสร้าง ผลงานที่ออกมาจึงโดดเด่นและทำซ้ำเลียนแบบได้ยาก

เป็นสถาปัตยกรรมที่สะท้อนประเทศกาตาร์เองอย่างดี

 

02

คำถามต่อมาคือ กุหลาบทะเลทรายหน้าตาเป็นอย่างไรเมื่อมองจากข้างใน

แน่นอนว่าก้อนหินไม่มีรูกลวงข้างใน แต่ถ้าจะสร้างอาคารนั้นต้องมีพื้นที่ภายใน ผู้ออกแบบจึงต้องจินตนาการเอาเองว่าจะสรรค์สร้างพื้นที่นั้นอย่างไรNational Museum of Qatar National Museum of Qatar

ผลที่ออกมาคือทางเดินยาว 1.5 กิโลเมตรที่เชื่อม ‘ห้อง’ 11 ห้องเข้าด้วยกัน บางห้องกว้าง บางห้องแคบ และไม่มีห้องไหนเลยที่เป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าตรงๆ การไม่มีประตูทำให้เรื่องราวต่อเนื่องกัน แต่ในขณะเดียวกัน ทางเดินที่กว้างและแคบเป็นระยะก็ช่วยแบ่งเนื้อหาให้เข้าใจได้ทีละลำดับอย่างไม่ยากเย็น

เมื่อห้องไม่เป็นสี่เหลี่ยม ผนังที่โย้เย้ไปมาทำให้วางตู้หรือแขวนอะไรไม่ได้เลย ผู้ออกแบบนิทรรศการจึงใช้วิธีฉายหนังสั้นเชิงสารคดีลงไปบนผนังทั่วทุกด้าน ช่วยเพิ่มการเคลื่อนไหว ทำให้นิทรรศการมีชีวิตชีวา โบราณวัตถุที่จัดแสดงอยู่ในตู้ดูไม่เหงา และพื้นที่แคบๆ ก็กว้างขึ้นมาถนัดตา

ประสบการณ์ที่ได้จากการเยี่ยมชมจึงเต็มไปด้วยสีสันไม่สิ้นสุด

National Museum of Qatar National Museum of Qatar

 

03

เรื่องราวที่พิพิธภัณฑ์เล่า คือประวัติศาสตร์ทั้งหมดของกาตาร์

ระหว่างที่เดินผ่านแต่ละห้อง เราค่อยๆ เห็นวิวัฒนาการของประเทศนี้ เริ่มตั้งแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ ที่มีสัตว์หน้าตาแปลกๆ ทั้งบนบก ในน้ำ และบนท้องฟ้า เช่น ตัว Oryx สัตว์หน้าตาคล้ายกวางที่เป็นสัตว์ประจำชาติของกาตาร์

ห้องต่อๆ มาจึงค่อยเป็นเรื่องของผู้คน ที่เริ่มจากการใช้ชีวิตเร่ร่อนไปตามฤดูกาล ช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว พวกเขาจะเดินทางไปในทะเลทรายเพื่อล่าสัตว์และค้าขาย ส่วนในฤดูร้อน พวกเขาจะออกสู่ทะเลเพื่อหาปลาและงมไข่มุก นี่คือวิถีชีวิตของชาวกาตาร์มาตลอดพันกว่าปี

นี่คือที่มาของชิ้นงานอันสุดอลังการของพิพิธภัณฑ์ นั่นคือพรมที่ทำจากไข่มุกกาตาร์ 1,500,000 เม็ด โดยพรมนี้ มหาราชาในอินเดียสั่งทำเพื่อตั้งใจให้เป็นผ้าคลุมหลุมศพของนบีมูฮัมหมัด ศาสดาแห่งอิสลามนั่นเอง

National Museum of Qatar

ภาพ : @sixtysix

ระหว่างทางมีวิดีโอที่คนรุ่นก่อนเล่าความทรงจำของตนให้ฟัง เป็นการย้ำเตือนว่าประวัติศาสตร์ที่ดูห่างไกลจากกาตาร์ในปัจจุบัน แท้จริงแล้วเป็นวิถีชีวิตที่เพิ่งเปลี่ยนแปลงไปหยกๆ เท่านั้น

กาตาร์เผชิญความเปลี่ยนแปลงใหญ่ในช่วงศตวรรษที่ 20 เมื่อญี่ปุ่นผลิตไข่มุกได้เอง ทำให้การงมไข่มุกไม่มีค่าอีกต่อไป ประเทศจึงต้องดิ้นรนหาทางออกอื่น จนกระทั่งในปี 1938 กาตาร์ค้นพบน้ำมัน และใช้ทรัพยากรอันทรงคุณค่าช่วยพลิกฟื้นชีวิตของประเทศกลับมา

แน่นอนว่าน้ำมันย่อมมีวันหมด กาตาร์เองก็รู้ดี และกำลังพยายามปรับแนวคิดการสร้างประเทศไปในเชิงยั่งยืนอยู่อย่างขมักเขม้น

ส่วนสุดท้ายของอาคาร ยังเหลือทิ้งไว้เป็นห้องโล่งๆ รอคอยประวัติศาสตร์หน้าต่อไปของกาตาร์

 

04

เมื่อออกมานอกอาคาร จะพบประวัติศาสตร์สำคัญอีกส่วนหนึ่งของประเทศนี้

นี่คือพระราชวังของ Sheikh Abdullah bin Jassim Al Thani กษัตริย์องค์แรกของกาตาร์ผู้ทรงเป็นต้นสายราชวงศ์ Al Thani ที่ยังคงปกครองประเทศมาตลอดจนถึงปัจจุบัน

ระบบการปกครองของกาตาร์ มีสถาบันกษัตริย์เป็นผู้ปกครองหลัก และมีรัฐบาลช่วยสนับสนุน โดยตำแหน่งกษัตริย์จะสืบทอดจากพ่อสู่ลูก จนถึง Sheikh Tamim bin Hamad Al Thani กษัตริย์คนปัจจุบันที่ขึ้นครองราชย์ในปี 2013 และเป็นผู้รับหน้าที่ประคับประคองพากาตาร์ผ่านการถูกปิดล้อมจากประเทศเพื่อนบ้านในปี 2016 ทำให้ประชาชนรักพระองค์อย่างยิ่ง จนจะเห็นพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของพระองค์อยู่บนอาคารบ้านเรือนทั้งน้อยใหญ่มากมาย

ในพิพิธภัณฑ์ที่เล่าเรื่องชาติกาตาร์ จึงจะไม่พูดเรื่องราชวงศ์ Al Thani ไม่ได้ นอกจากในนิทรรศการแล้ว เรื่องราวก็เล่าผ่านการบูรณะพระราชวังเก่าตั้งแต่ปี 1906 ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ ที่จริงแล้ว อาคารหลังนี้เคยทำหน้าที่เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งชาติมาตั้งแต่ปี 1975 อีกด้วย

เมื่อถึงครั้งสร้างพิพิธภัณฑ์ใหม่อันแสนอลังการ ตัวอาคารจึงถูกเก็บไว้แบบโล่งๆ ให้ผู้คนที่มาชมได้พิจารณาตัวสถาปัตยกรรมอย่างเต็มที่ และรำลึกถึงประวัติศาสตร์อันสมถะ ก่อนที่จะมาเป็นประเทศอันเต็มไปด้วยวิทยาการล้ำยุคอย่างทุกวันนี้

พระราชวังเก่าจึงเป็นสัญลักษณ์ที่ยึดโยงอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ของประเทศไว้ด้วยกัน

National Museum of Qatar

ภาพ : @rockkhound

National Museum of Qatar

05

ในเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เราได้มองเห็นประเทศนี้ชัดเจนขึ้น

แม้กาตาร์จะเป็นประเทศ ‘เศรษฐีใหม่’ ที่เติบโตเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนจำสภาพเดิมแทบไม่ได้ แต่เมื่อมองย้อนกลับไปก็พบว่าทะเลทรายแห่งนี้มีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตอันมากด้วยสีสันมายาวนานไม่แพ้ประเทศอื่นใด

ก่อนที่คนรุ่นใหม่จะหลงลืมไปว่าประเทศตนเองเติบโตขึ้นมาบนแผ่นหลังของนักผจญทะเลทรายและนักงมไข่มุก ชาวกาตาร์รุ่นก่อนหน้าเลยต้องรีบสร้างพิพิธภัณฑ์ บันทึกความทรงจำเอาไว้ให้ครบถ้วนชัดเจนที่สุด เป็นการส่งต่อประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่านี้ให้ชาวกาตาร์รุ่นต่อๆ ไปยังจำตัวตนของตัวเองได้

หากจะยิ่งใหญ่ได้อย่างยั่งยืน ก็ต้องอยู่บนรากที่มั่นคง

National Museum of Qatar

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

www.jeannouvel.com

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเทียมเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ