เมื่อไม่นานมานี้ The Cloud เพิ่งนำเสนอเรื่องราวของ NAYA Residence ที่พักเพื่อผู้สูงวัยที่ใช้แนวคิด Universal Design (การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล) มาใช้ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยและส่งเสริมสุขภาวะให้ผู้เข้าพัก ซึ่งเป็นธุรกิจตอบโจทย์สังคมไทยที่ได้ก้าวเข้าสู่ความเป็นสังคมผู้สูงอายุไปเรียบร้อยแล้ว

หนึ่งในเบื้องหลังโปรเจกต์ดังกล่าวคือ แพทย์หญิงนาฏ ฟองสมุทร ผู้ใช้ชีวิตทำงานกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ในการผลักดันคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงวัย ผ่านสารพันโครงการทั้งร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน

โครงการสำคัญที่หมอนาฏเข้าไปก่อร่างด้วยตั้งแต่เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2539 และกลายมาเป็นต้นแบบที่พักผู้สูงอายุ คือ สวางคนิเวศ สภากาชาดไทย ด้วยแนวคิดบุกเบิกเรื่อง Active Aging สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อยู่อาศัยอื่นๆ และใช้ชีวิตอย่างสำราญ ปัจจุบัน เธอยังร่วมพัฒนาอีกหลายโครงการ Senior Complex หรือที่เรียกว่า ศูนย์ที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุแบบครบวงจร เช่น โครงการรามาฯ-ธนารักษ์ ที่พักอาศัยคนชรา ซึ่งเป็นโครงการนำร่องเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยไม่หวังกำไร ที่กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เป็นผู้รับผิดชอบร่วมกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล 

เรามีโอกาสพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้สูงวัยคนนี้อีกครั้ง จึงขอนำชีวิต ประสบการณ์ การทำงานทั้งหมดของเธอมาคั้นรวมกันอย่างเข้มข้น จนกลั่นออกมาเป็นคำแนะนำในการเตรียมตัว วางแผนชีวิตหลังเกษียณที่อยากให้ทุกคน ทั้งประชาชนและคนทำงานภาคนโยบายรัฐได้อ่าน

เพราะเด็กทุกคนในวันนี้คือคนแก่ในวันหน้า (มีใครล่ะหนีความแก่ได้บ้าง)

‘เตรียมตัวอย่างไรในสังคมที่ความตายมาช้าลง’ วางแผนชีวิตสูงวัยกับ พญ.นาฏ ฟองสมุทร

ได้ฟังหมอนาฏเล่าเรื่องราวการทำงานของตัวเองบนเวที TEDx มาบ้างแล้ว แต่อยากย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้น ก่อนเริ่มมาผลักดันเรื่องคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยอย่างจริงจัง

ตอนนั้นพูดแข็งมาก (หัวเราะ) หมอเรียนจบคณะแพทย์ฯ จุฬาฯ รุ่น 38 ลองนับย้อนดูจะพอรู้ว่านานแค่ไหน ช่วงเวลานั้นในประเทศไทยยังไม่มีการพูดถึงเรื่องผู้สูงอายุเลย สนใจกันแต่เรื่องเด็ก แต่มีสองปัจจัยหลักที่ทำให้เราสนใจเรื่องนี้ 

หนึ่งคือเมนเทอร์ของเราคือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ แพทย์หญิง ท่านผู้หญิงศรีจิตรา บุนนาค เป็นผู้นำการขับเคลื่อนด้านผู้สูงอายุในไทย ครอบครัวของหมอสนิทกับครอบครัวของท่านผู้หญิงศรีจิตรา เรานับถือท่านมาก เลยได้รับอิทธิพลมาจากท่าน

อีกส่วนหนึ่งคือเราจบแพทย์มาแต่ไม่ได้เรียนต่อเฉพาะทาง เราไปเรียนบริหารที่บอสตัน อเมริกา เพราะสนใจเรื่องต่างๆ จากมุมกว้างและบ้านมีธุรกิจอยู่แล้ว เราจึงตามหาว่าเส้นทางอาชีพของเราจะไปทางไหนได้ นั่นคงเป็นจุดเริ่มต้นให้เราสนใจเรื่องผู้สูงวัย

แล้วจุดเปลี่ยนจริงๆ คือตอนไหน

เมื่อเราได้ทำงานกับสภากาชาดไทย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับภารกิจของกาชาดที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ พระองค์ท่านให้คิดดูว่าจะทำโครงการอะไรที่ไม่ต้องพึ่งพางบประมาณของรัฐ แต่พึ่งพาตนเองได้ ตอนนั้น ศ.ดร.นายแพทย์ พิชิต สุวรรณประกร ซึ่งได้รับมอบหมายงานนี้ท่านมาคุยกับเราเพื่อหาความเป็นไปได้ ลงล็อกเลย โอกาสมาถึงแล้ว

‘เตรียมตัวอย่างไรในสังคมที่ความตายมาช้าลง’ วางแผนชีวิตสูงวัยกับ พญ.นาฏ ฟองสมุทร

เลยเป็นจุดเริ่มต้นของคอนโดฯ สำหรับผู้สูงวัย ‘สวางคนิเวศ สภากาชาดไทย’ ที่เล่าถึงบนเวที TEDx 

ใช่แล้ว ตอนนั้นเป็น พ.ศ.​ 2540 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งพอดี เราจะทำโครงการนี้เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายผู้สูงวัยกลุ่มไหนเพื่อให้ตอบโจทย์ ‘เลี้ยงตัวเองได้’ ตอนนั้นสภากาชาดคุ้นชินกับการทำงานสังคมสงเคราะห์ ซึ่งไม่ว่ามีงบประมาณเท่าไหร่ก็หมด แต่โจทย์ตอนนี้คือการทำงานกับกลุ่มที่มีเงิน อาจไม่ถึงขั้นรวยล้นฟ้า และเราทำหน้าที่บริหารจัดการเงินที่ท่านบริจาคมา สร้างที่พักที่ท่านอยู่ไปได้ตลอดชีวิต ให้ท่านได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเป็นที่พักเพื่อผู้สูงอายุในราคาจับต้องได้ แม้ผู้สูงวัยบริจาคเงินค่าที่พักมาแล้ว ก็ยังพอเหลือเงินเก็บบางส่วนเอาไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน นี่คือแนวคิดของที่พักผู้สูงอายุสวางคนิเวศ สภากาชาดไทย ซึ่งยังไม่มีใครทำเลยในเวลานั้น

ณ ตอนนั้นคนไทยน่าจะรู้จักแต่บ้านบางแค แล้วทำอย่างให้ให้คนเข้าใจคอนเซ็ปต์บ้านพักคนชราแบบใหม่

ช่วงที่เปิดตัว เมืองไทยยังไม่รู้จักแนวคิดที่พักผู้สูงอายุ ดังนั้น เราต้องให้ความรู้กับสังคมว่านี่คือทางเลือกใหม่ แต่คำถามก็ถาโถมเข้ามา อาจเพราะคนติดภาพสภากาชาดที่ทำแต่งานสังคมสงเคราะห์ อุปสรรคอื่นก็มีมาก ทั้งความเข้าใจของผู้เข้าพัก เมื่อยี่สิบปีที่แล้วผู้สูงอายุยังไม่ชินกับการลดขนาดชีวิตจากการอยู่บ้านมาอยู่ในคอนโดฯ ห้องขนาดสามสิบตารางเมตร เราประสบปัญหาชีวิตเยอะ แม้ไปดูงานต่างประเทศ ฮ่องกง อังกฤษ ออสเตรเลีย แต่มันไม่ได้เข้ากับบริบทของไทย เฟสแรกเราสร้างไว้เพียงร้อยหกสิบแปดห้องก็จริง แต่กว่าจะขายหมดใช้เวลาร่วมสิบปี 

นอกจากนั้น ยังมีประเด็นการบริหารจัดการดูแลผู้เข้าพัก ซึ่งเรายังทำได้ไม่ดีในตอนนั้น เสียงเชิงลบก็ส่งออกไปข้างนอก แต่เราเรียนรู้จากประสบการณ์ไปเรื่อยๆ จนเวลาผ่านมาถึงช่วง พ.ศ. 2550 Aging Society เริ่มเป็นประเด็นในสังคม ห้องพักเราก็ได้รับความสนใจไปด้วย จากที่เคยต้องอ้อนวอนให้มาอยู่กัน ก็มีคนเข้ามาดูมากขึ้น

ทำยังไงให้การมาอยู่บ้านพักผู้สูงอายุกลายเป็นทางเลือก ไม่ใช่ทางหนี

ช่วงแรกที่เราทำสวางคนิเวศเหมือนเราเป็นผู้ร้าย ถูกกล่าวหาว่าเรากำลังทำลายโครงสร้างครอบครัวของไทย แต่จริงๆ ธรรมชาติสังคมเรากำลังเปลี่ยน ครอบครัวมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ เราแค่นำเสนออิสระและทางเลือกให้กับผู้คน ล่าสุดคุยกับคุณป้าที่เข้าพักที่สวางคนิเวศ ท่านบอกว่าภูมิใจ ไม่ได้รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง นี่เป็นทางเลือกของท่าน กลายเป็นว่าลูกหลานเสียอีกที่ขอมาค้างกับพ่อแม่ปู่ย่าที่สวางคนิเวศช่วงเสาร์อาทิตย์

‘เตรียมตัวอย่างไรในสังคมที่ความตายมาช้าลง’ วางแผนชีวิตสูงวัยกับ พญ.นาฏ ฟองสมุทร
‘เตรียมตัวอย่างไรในสังคมที่ความตายมาช้าลง’ วางแผนชีวิตสูงวัยกับ พญ.นาฏ ฟองสมุทร

เหมือนจะได้บทเรียนเข้มข้นเลย อย่างนี้คุณหมอนำประสบการณ์จากเฟส 1 มาปรับปรุงเฟส 2 ในประเด็นใดบ้าง

เราได้รู้จักกับ รองศาสตราจารย์ ไตรรัตน์ จารุทัศน์ กรรมการบริหารหลักสูตรเคหพัฒนศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้าน Universal Design คราวนี้ล่ะ สภากาชาดรู้แท้รู้จริงเสียที เราจึงได้นำหลักการออกแบบที่ว่านี้มาใช้ปรับปรุงห้องที่เหลืออยู่ของเฟสแรกก่อน ยังไม่ได้เข้าเฟสสองด้วยซ้ำ (ยิ้ม) 

เมื่อห้องที่ปรับปรุงใหม่ดูน่าอยู่และปลอดภัยมากขึ้น มีบริการด้านสุขภาพจากส่วนกลาง ทีมพยาบาลทำงานได้ลงตัวแล้ว เลยเปิดขายอีกครั้ง คราวนี้เราขายห้องหมดได้อย่างรวดเร็ว น่าจะเป็นเพราะตลาดมีความพร้อมและเข้าใจประเด็นนี้แล้วด้วย ห้องที่มีจึงโดนใจเขามากขึ้นกว่าเดิม พอเห็นว่าเฟสหนึ่งขายหมดแล้ว สภากาชาดเลยรุกต่อด้วยการสร้างเฟสสอง เพราะเห็นว่านี่เป็นเวลาที่เหมาะสมแล้ว

จากที่ไม่ได้ดูด้านการออกแบบในเฟสหนึ่ง พอเฟสสองนี่เราได้เข้ามาดูแลเต็มตัวในฐานะ Project Manager ซึ่งเปิดเพิ่มอีกสามร้อยห้อง แต่ยังคงเน้นที่ความเป็นส่วนตัว ไม่หนาแน่น ราคาจับต้องได้กว่าเดิม เราไม่ได้เสนอให้เจนเนอเรชันที่สองเข้ามารับช่วงต่อจากผู้สูงวัยได้แบบเฟสแรก ซึ่งถือเป็นบทเรียนเช่นกัน รอบนี้เลยตีโจทย์แตกกว่าเดิม เฟสสองขายดี หมดภายในสิบสองเดือน ตอนนี้เรามีทั้งหมดเกือบห้าร้อยห้อง นั่นเท่ากับเรามี Economy of Scale (การประหยัดโดยเพิ่มขนาด) ให้บริการได้ครบครันมากขึ้น ตั้งแต่มีพยาบาลยี่สิบสี่ชั่วโมง ติดตั้งระบบขอความช่วยเหลือในห้อง รวมถึงการจัดกิจกรรมร่วมกับอาสากาชาด

จากสวางคนิเวศ ต่อยอดไปขนาดไหน

แม้สวางคนิเวศไม่ใช่บทเรียนที่ถูกต้องทั้งหมด แต่เป็นต้นแบบให้โครงการอื่นได้นำไปเรียนรู้และทำที่พักผู้สูงอายุต่อ หลังจากที่ทำสวางคนิเวศเฟสสองเสร็จแล้ว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็ให้ไปช่วยพัฒนาโครงการ Senior Complex ที่บางละมุง ซึ่งตอนนี้ทำ Master Plan ไว้แล้วประมาณหกร้อยห้อง แต่ต้องพับเอาไว้ก่อนเพราะเรื่องการเมือง นอกจากนี้ ก็มีเข้าไปช่วยโครงการที่พักผู้สูงอายุรามาฯ-ธนารักษ์ ที่เปิดตัวไปเมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งทั้งหมดนำบทเรียนจากสวางคนิเวศมาใช้ออกแบบ ทั้งการจัดการ การดูแลผู้เข้าพัก และการออกแบบกิจกรรมให้ผู้สูงอายุ

ชีวิตที่อุทิศเพื่อผลักดันทางเลือกในชีวิตให้กับผู้สูงวัย สู่คำแนะนำให้คนรุ่นใหม่ได้แก่และเตรียมตัวตายอย่างรู้เท่าทัน
ชีวิตที่อุทิศเพื่อผลักดันทางเลือกในชีวิตให้กับผู้สูงวัย สู่คำแนะนำให้คนรุ่นใหม่ได้แก่และเตรียมตัวตายอย่างรู้เท่าทัน

ทำไมจึงนำกิจกรรมเพื่อผู้สูงวัยมาเป็นแนวคิดหลักในการออกแบบที่พัก

กิจกรรมทั้งหมดเป็นอุบายเพื่อให้ผู้สูงอายุออกจากห้องมาเข้าสังคม มาออกกำลังกาย พูดคุยกันอยู่ริมสระ เพื่อสร้าง Active Aging Lifestyle ช่วยทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสมอง ของผู้สูงอายุ การออกกำลังใดๆ ในผู้สูงอายุควรจะจัดเป็นกลุ่ม เพราะทำเดี่ยวมันน่าเบื่อ ซึ่ง อาจารย์ไตรรัตน์ออกแบบสวางคนิเวศเพื่อสนับสนุนแนวคิดนี้อยู่แล้ว มีลู่เดินออกกำลังกาย มีสระว่ายน้ำเป็นมิตรกับผู้สูงอายุ ให้ยืนได้ มีราวให้จับ ทางเดินลงเป็นทางลาดแทนที่จะเป็นบันได ตอนนี้เรามีนักกายภาพบำบัดมานำกิจกรรมปั่นจักรยานในน้ำด้วย

ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่เราดูแล คือกลุ่มผู้สูงอายุที่ยังดูแลตัวเองได้ ไม่ได้เป็นกลุ่มนอนติดเตียงที่ต้องการบริการและการดูแลอีกแบบหนึ่ง มีบ้างที่เราถูกตั้งคำถามว่า เราจะเตะผู้สูงอายุออกจากที่พักหรือไม่ ถ้าท่านอยู่ในสภาวะติดเตียง จริงๆ แล้ว เรามีการจัดหาบริการอื่นเอาไว้รองรับ มีการประสานงานกับ Nursing Home ต่างๆ เพื่อดูแลท่านให้ดีที่สุดต่อไป

ดังนั้น แนวคิดของที่พักผู้สูงอายุลักษณะนี้ ไม่ใช่การสร้างโรงพยาบาลที่มีแพทย์และพยาบาลประจำเพื่อการรักษา แต่เป็นบ้านเพื่อส่งเสริมสุขภาพ เพื่อให้ผู้สูงอายุแข็งแรงได้นานที่สุด และมีสภาวะติดเตียงสั้นที่สุด 

ล่าสุดมี NAYA Residence ซึ่งจับตลาดกลุ่ม Upper-middle Class มาชวนไปร่วมงาน เราจึงได้มีโอกาสใส่บริการที่พรีเมียมเพิ่มเข้าไป เพราะกลุ่มลูกค้าเขามีกำลังซื้อ มีการนำเทคโนโลยีของทาง SCG เข้ามาช่วยดูแลผู้อยู่อาศัย เพื่อให้ทีมงานทำงานได้ดีขึ้น มีเซนเซอร์ทั้งในห้องและแบบที่สวมใส่ได้ เพื่อเอาไว้ขอความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน หรือแม้กระทั่งเก็บข้อมูลพฤติกรรม การก้าวเดิน ระยะเวลาการนอน หรือการเข้าห้องน้ำ มาใช้เป็นฐานข้อมูลวิเคราะห์ความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้สูงอายุได้ เป็นต้น 

ฟังดูเหมือนหมอนาฏให้ความสำคัญกับการป้องกันภาวะติดเตียงมาก

ใช่ค่ะ ในอนาคตการดูแลผู้สูงอายุจะไม่ใช่การทำงานตั้งรับ แต่เป็นการทำงานเชิงรุก เพื่อสร้างผู้สูงวัยที่มีสุขภาพดี ดูแลตัวเองได้ยาวๆ เทคโนโลยีที่ใช้ดูแลผู้สูงวัยลักษณะนี้ นำไปใช้ที่บ้านได้ด้วยเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องมาใช้บริการที่พักผู้สูงอายุของเรา เพราะผู้สูงอายุเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ใช้ชีวิตอยู่ที่บ้าน ก็อยู่ได้ตามปกติ แต่จะมีทีมงานคอยตรวจเช็กสุขภาวะให้ เป็นลักษะของ Virtual Care 

ถ้าไม่ไปอยู่ที่พักสำหรับผู้สูงอายุ เราต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างเพื่อให้พวกเขาอยู่ที่บ้านได้อย่างราบรื่น

แม้ว่าบางครั้งสังคมที่เปลี่ยนไปอาจทำให้ทุกคนไม่มีทางเลือก สมาชิกในครอบครัวมีภาระงานเพิ่มมากขึ้น แต่จริงๆ แล้วคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับผู้สูงวัย คือการได้อยู่กับครอบครัว 

สังคมไทยในชนบทเอื้อให้เราดูแลผู้สูงอายุที่บ้านอยู่แล้ว เพราะมีความเป็นชุมชนสูง คนในเมืองต่างหากที่เป็นปัญหา แต่เราปรับตัวได้ ตั้งแต่การปรับบ้านให้เหมาะสมกับวัยที่เปลี่ยนไปได้ ลูกหลานหรือผู้ดูแลเองก็ต้องมีความรู้ เพื่อดูแลท่านอย่างมีความสุข โดยอาจไปเข้าคอร์สเรียนต่างๆ เพิ่มเติม รวมถึงมีบริการบางประเภทช่วยแบ่งเบาได้ เช่น Senior Wellness Center ช่วยดูแลผู้สูงวัยในช่วงกลางวัน มีกิจกรรมต่างๆ ให้ผู้สูงอายุได้ทำเพื่อเข้าสังคม เพราะความเหงาเป็นโรคหนึ่งของผู้สูงวัยเช่นกัน

ชีวิตที่อุทิศเพื่อผลักดันทางเลือกในชีวิตให้กับผู้สูงวัย สู่คำแนะนำให้คนรุ่นใหม่ได้แก่และเตรียมตัวตายอย่างรู้เท่าทัน

เมื่อประเทศกำลังก้าวสู่สังคมสูงวัย คนรุ่นใหม่วันนี้ต้องรู้อะไรบ้าง

เด็กๆ เองต้องตระหนักว่า เด็กที่เกิดในวันนี้มีโอกาสอายุยืนถึงร้อยปี อายุเฉลี่ยของคนจะยาวมากขึ้นเรื่อยๆ วันหนึ่งเราจะตกอยู่ในสเปกตรัมของคนแก่เช่นกัน ดังนั้น สังคมสูงวัยเป็นเรื่องของทุกคน ทุกคนต้องเตรียมตัว ทั้งเรื่องเงินเก็บ ทักษะต่างๆ เพราะต่อไปคนจะไม่ได้มีอาชีพเดียวเหมือนคนรุ่นเก่า ความยืดหยุ่นและความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ช่วยให้เราอยู่ได้ รวมถึงทุนด้านสุขภาพที่ดีก็เป็นสิ่งสำคัญ เราคงไม่อยากเป็นคนอายุยืนที่เต็มไปด้วยโรค 

การมีผู้สูงอายุอยู่ในครอบครัวและเด็กได้มีส่วนร่วมในการดูแลนั้น เป็นประโยชน์ต่อชีวิตเขาเองในระยะยาว เพราะเขาได้เรียนรู้และเตรียมพร้อมสำหรับกลายผู้สูงวัยในอนาคต ขณะเดียวกัน ผู้สูงวัยเองต้องไม่ยึดติด ต้องเรียนรู้วิธีคิดของเด็กๆ ด้วย เราจะเห็นว่าน้องๆ ม็อบชูสามนิ้วทะเลาะกับผู้สูงวัยอยู่ทุกวันนี้ เป็นเพราะต่างฝ่ายต่างไม่ได้ทำความเข้าใจกัน 

เด็กปรับตัวแล้ว ผู้สูงวัยต้องปรับตัวด้วย

ใช่ค่ะ เพราะชีวิตมีความเป็นสเปกตรัม เหมือนมีจุดตัดที่วัยเกษียณนั้นเป็นเพียงเส้นแบ่งทางกฎหมาย ในความเป็นจริงเรามีชีวิตที่ต่อเนื่องจากวัยนั้นไปอีก ทุกวันนี้ชีวิตไม่ได้หยุดที่วันเกษียณ เลี้ยงหลาน ปลูกต้นไม้ อยู่บ้านเฉยๆ เหมือนสมัยก่อนอีกแล้ว 

อันที่จริงกลุ่มผู้สูงวัยรุ่นใหม่ที่อายุเพิ่งชนวัยหกสิบปีในตอนนี้ เขามีความคิดต่างจากผู้สูงวัยรุ่นก่อน เขายังมีสุขภาพที่ดี มีทัศนคติที่อยากทำงานต่อ มีการคิดถึงชีวิตครึ่งหลังของตัวเองว่าอาจมีอาชีพสองถึงสามต่อไปได้ คนกลุ่มนี้เป็น Active Aging มีช่วงเวลาทองยาวไปถึงอายุ 70 ปี แล้วจึงเริ่มโรยราลง

ประชาชนปรับตัวแล้ว ประเทศต้องปรับด้วยหรือเปล่า สำหรับคนที่ช่วงเวลาทองจะยาวนานขึ้น

นับจากนี้ไปอีกยี่สิบปี เราจะมีประชากรที่อายุชนวัยหกปีเพิ่มขึ้นปีละหนึ่งล้านคน ประเทศไทยควรสนับสนุนให้คนอายุสี่สิบถึงเจ็ดสิบปีมีกิจกรรม ได้ทำงาน เขาอาจไม่ได้ต้องการเงิน แต่ต้องการคุณค่าในตัวเองมากกว่า ตอนนี้เริ่มมีการก่อตั้งชุมชนผู้สูงอายุขึ้นมาในโซเชียลมีเดีย ทั้ง Young Happy, เกษียณเกษม, Happy Senior, Sixty Prompt เพื่อรวบรวมผู้สูงวัยให้มาทำกิจกรรมร่วมกัน

รัฐบาลต้องยอมรับว่า การส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุที่ดี คือการให้เขาพึ่งพาตัวเองได้ การออกแบบระบบขนส่งสาธารณะด้วยวิธีคิดแบบ Universal Design เพื่อเอื้อให้เขาไปไหนมาไหนเองได้เป็นสิ่งจำเป็น และ Digital Literacy การมีทักษะ รู้เท่าทันชีวิตในโลกดิจิทัลก็สำคัญ หากเขาใช้อุปกรณ์ดิจิทัลได้ เขาจะไม่หลุดไปจากโลกปัจจุบัน รวมถึง Financial Literacy การทำกิจกรรมทางการเงินต่างๆ บนโลกดิจิทัลก็จำเป็นไม่แพ้กัน หากมีสิ่งเหล่านี้ ผู้สูงวัยจะเข้าสังคมทางออนไลน์ได้ หรือมีส่วนร่วมในการซื้อขายสินค้า องค์ความรู้ ทักษะ ผ่าน Market Place ได้เป็นต้น

ชีวิตที่อุทิศเพื่อผลักดันทางเลือกในชีวิตให้กับผู้สูงวัย สู่คำแนะนำให้คนรุ่นใหม่ได้แก่และเตรียมตัวตายอย่างรู้เท่าทัน

การสนับสนุนให้ผู้สูงวัยทำกิจกรรมทางการเงินบนโลกดิจิทัล จำเป็นแค่ไหน

อีกบทบาทหนึ่งของเรา คือการเป็นกรรมการกองทุนผู้สูงอายุของประเทศไทย ซึ่งให้เงินกู้ไม่มีดอกเบี้ยกับผู้สูงอายุไปตั้งต้นในการประกอบอาชีพ เราได้เห็นว่าอาชีพส่วนใหญ่ที่มีการร้องขอเงินกู้เข้ามายังเป็นอาชีพแบบเดิม เช่น ทำเกษตร เปิดร้านโชห่วย ทำลูกประคบขาย ซึ่งถ้าทำแล้วไม่สามารถเข้าถึงตลาดได้ก็จะเติบโตยาก หากเราสามารถนำ Digital Market Place เข้าไปเชื่อมต่อกับงานที่ผู้สูงอายุทำได้ก็เป็นการขยายโอกาสที่ดี แต่ผู้สูงอายุเองต้องใช้งานเครื่องมือใหม่ๆ เหล่านี้ได้ด้วย

ดังนั้น เราต้องสนับสนุนให้ทุกคนเตรียมตัวในช่วง Pre-aging ได้ดี เพิ่มความมั่นใจ เห็นคุณค่าในตัวเอง มีความสามารถในการหารายได้ มีเงินเก็บมากพอ สังคมจะได้ประโยชน์ไปด้วย เพราะเมื่อเขามีงานมีสังคม เขาจะใช้ชีวิตในช่วงสูงวัยอย่างแข็งแรงได้ยาวนานที่สุด เป้าหมายคือการแทรกแซงเพื่อให้คนไทยนอนป่วยติดเตียงให้น้อยที่สุด

สุดท้ายแล้ว เราต้องสร้างปัจจัยให้ทุกคนพึ่งพาตนเองได้

ใช่ค่ะ ไม่มีใครอยากเป็นภาระให้กับใคร เราอาจพึ่งพารัฐบาลไปไม่ได้ตลอดเช่นกัน ลำพังแค่เบี้ยผู้สูงอายุจากรัฐไม่มีทางเลี้ยงทุกคนไปได้ตลอด แต่รัฐมีหน้าที่ต้องสร้างมาตรการ กฎหมายป้องกันปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ การเกิดโรค NCD (Non-communicable Diseases) เช่น เบาหวาน ความดัน หัวใจ ผ่านการออกนโยบายลดหย่อนภาษีให้กับประชาชนซึ่งรักษาสุขภาพได้ดี หรือเราแบ่งเงินจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่ทุกคนต้องจ่ายอยู่แล้วเวลาซื้อของ ให้กลายเป็นเงินออมสำหรับประชาชน เพื่อเอาไว้ใช้จ่ายยามเกษียณ เพราะการพึ่งพาตนเองเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ

ชีวิตที่อุทิศเพื่อผลักดันทางเลือกในชีวิตให้กับผู้สูงวัย สู่คำแนะนำให้คนรุ่นใหม่ได้แก่และเตรียมตัวตายอย่างรู้เท่าทัน

Writer

Avatar

เกวลิน ศักดิ์สยามกุล

นักออกแบบ-สื่อสารเพื่อความยั่งยืน ที่อยากเล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านชีวิต บทสนทนา และแบรนด์ยาสีฟันเม็ดเล็กๆ ของตัวเอง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล