8 พฤศจิกายน 2019
706

อาจารย์ณรงค์ เทียมเมฆ คือตัวอย่างของนักวิ่งเพื่อสุขภาพ ที่ออกกำลังกายด้วยการวิ่งมายาวนานทั้งชีวิต

ในวันที่การวิ่งกลายเป็นแพสชันของคนรุ่นใหม่ แต่สำหรับนักวิ่งวัยเก๋าที่ขยับสองเท้ามาแต่เยาว์วัย การวิ่งเป็นการออกกำลังทางกายที่สะดวก ง่าย และทำให้ร่างกายแข็งแรง

จากจุดเริ่มต้นในการวิ่งเพื่อสุขภาพดีอย่างเอาจริงเอาจังในวัย 35 ปี กลายมาเป็นจุดสตาร์ทของงานวิ่ง ‘จอมบึงมาราธอน’ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในงานวิ่งที่เป็นเป้าหมายของนักวิ่งทั่วประเทศ

แม้คลุกคลีกับวงการงานวิ่งมานานหลายสิบปี แต่มาราธอนแรกของอาจารย์เริ่มต้นที่วัยเกษียณ!

การวิ่งมาราธอนไม่ได้หยุดเพียงแค่ครั้งนั้น เพราะอาจารย์ณรงค์ยังคงวิ่งมาราธอนต่อเนื่องปีละ 1 ครั้ง แม้วันนี้อายุ 73 ปี อาจารย์ยังมุ่งมั่นที่จะวิ่งต่อไป

ที่น่าสนใจคือ การวิ่งของนักวิ่งระยะยาวชนิดตลอดชีวิตคนนี้ ไม่ได้วิ่งเพราะกระแส ไม่ได้วิ่งด้วยแพสชัน ไม่ได้วิ่งเพื่อทำลายสถิติ แต่เป็นการวิ่งอย่างพอดี ในระยะทางที่พอเหมาะ 

เพราะสิ่งสำคัญที่สุดของการวิ่งคือ สุขภาพที่ดี และการมีชีวิตที่ห่างไกลโรคภัยไข้เจ็บ

อาจารย์ณรงค์ เทียมเมฆ นักวิ่งเพื่อสุขภาพผู้ก่อตั้งงานวิ่งที่จอมบึง สู่การวิ่งถึงระยะมาราธอนตอนเกษียณ

01

จุดสตาร์ท

“อาจารย์ดูแข็งแรงกว่าคนอายุเจ็ดสิบสามปีทั่วไป” เราบอกอาจารย์ณรงค์เมื่อแรกพบกันในวันที่นัดหมาย

เพราะชายท่าทางใจดีตรงหน้ายังคงมีรูปร่างสมส่วนจากการดูแลสุขภาพอย่างดี และมีความกระฉับกระเฉง แข็งแรง

ในวัยเด็ก อาจารย์ณรงค์เติบโตท่ามกลางภูเขาและทะเลในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชีวิตการสัญจรประจำวันใช้การเดินและวิ่งเป็นหลัก เนื่องจากหมู่บ้านอยู่ในเขตห่างไกลชนิดที่ไม่มีรถเข้าถึง “ไปไหนมาไหนในระยะห้ากิโลสิบกิโลคือต้องเดิน แล้วทุกคนเดินเท้าเปล่า ฝ่าทรายร้อนก็ต้องวิ่ง” อาจารย์ย้อนเล่าถึงความจำเป็นในการวิ่งเมื่อวัยเยาว์

เมื่อวิถีชีวิตคุ้นชินกับกิจกรรมทางกาย อาจารย์ณรงค์จึงเริ่มเล่นกีฬาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา จนถึงระดับมหาวิทยาลัย เข้าสู่วัยทำงานก็ยังคงเล่นกีฬาสม่ำเสมอ จนกระทั่งอายุ 35 ปี จึงต้องเริ่มหยุดกีฬาที่หนักเกินไป และเริ่มหันมาจริงจังกับการวิ่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในการออกกำลังกายที่คุ้นเคยอยู่แล้ว

“การเล่นกีฬาต้องวิ่งอยู่แล้ว เพราะการวิ่งเป็นพื้นฐานของการสร้างความแข็งแรงของกีฬาทุกชนิด แต่การเริ่มวิ่งในวัยสามสิบกว่านั้นเป็นการวิ่งเพื่อสุขภาพ”

หลังจากวิ่งเพื่อสุขภาพมาได้ 4 ปี อาจารย์ณรงค์ซึ่งขณะนั้นสอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จังหวัดราชบุรี จึงริเริ่มการจัดวิ่งระยะ 10 กิโลเมตร โดยจัดงานวิ่งเล็กๆ นั้นที่หมู่บ้านจอมบึง

“เริ่มแรกเป็นระยะสิบกิโลเมตร และเชิญชวนให้คนมาวิ่งด้วยการทำโบรชัวร์ ใช้เขียนลงกระดาษไขแล้วโรเนียว งานแรกมีคนมาวิ่งไม่ถึงหนึ่งร้อยคน แต่มีนักวิ่งจากกรุงเทพฯ มาวิ่งด้วย เพราะโบรชัวร์นี้มาถึงสวนลุมพินี โดยเชิญคุณหมออุดมศิลป์ (ศาสตราจารย์ นายแพทย์อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม) มาเป็นวิทยากรที่จอมบึง เวลานั้นคุณหมอกำลังส่งเสริมการวิ่งภายใต้โครงการวิ่งสู่ชีวิตใหม่ จึงส่งข่าวให้กับนักวิ่งที่สวนลุมฯ ด้วย”

ต่อมางานวิ่งเล็กๆ ที่จอมบึงได้จัดต่อเนื่องทุกปี จนงานเติบโต มีการเพิ่มระยะการวิ่งขึ้นตามลำดับ ในที่สุดก็กลายมาเป็น ‘งานจอมบึงมาราธอน’ หนึ่งในงานใหญ่ที่เป็นความใฝ่ฝันของนักวิ่งทั่วประเทศ ถึงขนาดว่ากันว่า “ใครไม่เคยวิ่งงานจอมบึง ไม่ใช่นักวิ่งที่แท้จริง” รวมถึงเป็นงานต้นแบบที่แสดงถึงความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้าน และเป็นงานวิ่งที่ริเริ่มงานเลี้ยงสังสรรค์นักกีฬาในเย็นวันเสาร์ก่อนแข่งขันในเช้ามืดวันอาทิตย์ เนื่องจากนักวิ่งจำนวนมากต้องเดินทางมาพักค้างคืนในพื้นที่ใกล้เคียง

สสส นักวิ่งเพื่อสุขภาพผู้ก่อตั้งงานวิ่งที่จอมบึง สู่การวิ่งถึงระยะมาราธอนตอนเกษียณ
อาจารย์ณรงค์ เทียมเมฆ นักวิ่งเพื่อสุขภาพผู้ก่อตั้งงานวิ่งที่จอมบึง สู่การวิ่งถึงระยะมาราธอนตอนเกษียณ

02

จาก 10 K สู่ 42.195 K

เนื่องจากจุดมุ่งหมายในการวิ่งของอาจารย์ณรงค์ไม่ใช่วิ่งเพื่อสร้างสถิติใหม่ หรือเร่งท้าทายตัวเองให้ไปสู่ชัยชนะของการวิ่งระยะไกลให้ได้เร็วที่สุดอย่างคนสมัยใหม่ ช่วงเวลาของการขยายระยะทางในการวิ่งจึงเป็นไปแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่เร่งรัด 

“แม้เป็นการวิ่งเพื่อสุขภาพก็มีการแข่งขันอยู่ในตัวอยู่แล้ว” อาจารย์ไม่ปฏิเสธ 

“เพราะนักวิ่งจะทำสถิติกับตัวเองหรือเอาชนะคนอื่น การวิ่งจึงพัฒนาขึ้นมาตามลำดับ ผมเองอยู่ในแวดวงการวิ่ง เมื่อไปวิ่งสิบกิโลเมตรบ่อยๆ ก็อยากไปยี่สิบเอ็ดบ้าง พอวิ่งได้แล้วบ่อยครั้งก็อยากไปสี่สิบสองกิโลเมตร แต่ก็รู้ว่ามาราธอนไม่ใช่สำหรับทุกคน เพราะต้องผ่านการซ้อมจริงจัง ไม่ใช่ของเล่น

“แต่นักวิ่งสมัยนี้ไม่ใช่ พอวิ่งจบสิบกิโลได้ ก็อยากไปมาราธอนเลย บางครั้งก็เกินพอดี” อาจารย์เอ่ยขึ้นอย่างเป็นห่วง

แล้วอาจารย์เริ่มวิ่งมาราธอนครั้งแรกตอนไหน เราถาม

“อายุหกสิบปี” คำตอบนี้ทำเราทึ่งไม่น้อย

“การวิ่งมาราธอนตอนอายุมากเป็นเรื่องที่ทำได้” อาจารย์เล่าต่ออย่างยิ้มๆ เมื่อเห็นเรามีทีท่าตกใจ 

“ปู่คนหนึ่งซึ่งเป็นคนจอมบึงชื่อว่า ปู่เป็ง วิ่งมาราธอนตอนอายุหลังเจ็ดสิบห้า และวิ่งอยู่จนถึงอายุเก้าสิบห้า และเสียชีวิตตอนอายุเก้าสิบเก้าปี ทำให้เราไม่รู้สึกว่าหกสิบปีเป็นเรื่องยากอะไร”

สสส นักวิ่งเพื่อสุขภาพผู้ก่อตั้งงานวิ่งที่จอมบึง สู่การวิ่งถึงระยะมาราธอนตอนเกษียณ

03

มาราธอนเมื่อตอนเกษียณ

อาจารย์ณรงค์เล่าว่า ที่เริ่มวิ่งเมื่อวัยเกษียณ เนื่องจากตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาอาจารย์มีภารกิจเป็นผู้จัดงานวิ่งที่หมู่บ้านจอมบึง จึงไม่มีโอกาสได้ลงวิ่งในงานของตัวเอง 

“จนกระทั่งเกษียณราชการ จึงคิดว่าหกสิบปีนี้เราต้องฉลองให้ตัวเองด้วยการวิ่งมาราธอน” อาจารย์เล่าถึงจุดเริ่มต้นของมาราธอนแรกในวัยที่น้อยคนนักจะคิดวิ่งระยะไกลเช่นนี้

“การวิ่งมาราธอนครั้งแรกนั้นก็เพื่อไปทักทายคนทำงาน เพราะในงานจอมบึงมีอาสาสมัครหลายพันคนอยู่บนเส้นทาง เราอยากไปขอบคุณและให้กำลังใจเขา ในขณะเดียวกัน เราก็ใช้การวิ่งเพื่อเยี่ยมเยียนนักวิ่งเวลาที่วิ่งสวนกันบนเส้นทาง เราจะเห็นนักวิ่งทุกคน ได้ทักทายแตะมือกัน ถึงเขาจะรู้จักหรือไม่รู้จักเรา แต่เขาจะรู้สึกได้ว่ามีเจ้าภาพมาดูแล”

สำหรับมาราธอนครั้งแรก นักวิ่งวัยเกษียณคนนี้เข้าเส้นชัยด้วยเวลา 5.15 ชั่วโมง ส่วนครั้งล่าสุดเมื่อปีที่แล้วนั้น ใช้เวลา 5.21 ชั่วโมง

“มาราธอนครั้งแรกยาก เพราะเราไม่เคยวิ่งมาก่อน รองเท้าก็กัด อยากจะออกมาตั้งหลายครั้ง แต่ไม่กล้า เพราะที่เส้นชัยประกาศตลอดว่าอาจารย์ณรงค์อยู่ตรงไหนแล้ว” อาจารย์หัวเราะก่อนเล่าต่อว่า “พอครั้งหลังๆ จะสบาย เรารู้แล้วว่าจะเจออุปสรรคอะไรบ้าง แล้วเราจะทำใจให้พ้นกับอุปสรรคนั้นได้อย่างไร”

อาจารย์เจอปีศาจตามระยะต่างๆ ของมาราธอนอย่างที่นักวิ่งบอกเล่ากันไว้บ้างไหม-เราถามในฐานะนักวิ่งหน้าใหม่ที่ยังไปไม่ถึงมาราธอน

“ผมไม่เจอ เมื่อเราไม่นึกถึงมัน อยู่กับตัวเอง และใส่สมาธิไปกับการวิ่ง ก็ผ่านมาได้” อาจารย์ตอบอย่างมั่นใจเพราะได้พิสูจน์มาแล้ว

จากมาราธอนแรกในครั้งนั้น อาจารย์ณรงค์ตั้งใจที่จะวิ่งระยะนี้ให้ได้เป็นประจำทุกปี ซึ่งอาจารย์ทำได้บรรลุเป้าหมายเกือบทุกครั้ง

สสส นักวิ่งเพื่อสุขภาพผู้ก่อตั้งงานวิ่งที่จอมบึง สู่การวิ่งถึงระยะมาราธอนตอนเกษียณ
อาจารย์ณรงค์ เทียมเมฆ นักวิ่งเพื่อสุขภาพผู้ก่อตั้งงานวิ่งที่จอมบึง สู่การวิ่งถึงระยะมาราธอนตอนเกษียณ

04

วิ่งสู่ชีวิตใหม่เกิดขึ้นได้แม้ไม่ได้ไปถึงมาราธอน

ถึงตรงนี้ เราชวนอาจารย์คุยว่ามีนักวิ่งหลายคนได้รับแรงบันดาลใจในการวิ่งสู่มาราธอนจากคำพูดของ เอมิล ซาโตเปก (Emil Zátopek) นักวิ่งชาวเชโกสโลวะเกียที่กล่าวไว้ว่า “ถ้าคุณอยากจะวิ่ง ก็วิ่งสักไมล์ แต่ถ้าคุณอยากมีชีวิตใหม่ ก็จงวิ่งมาราธอน” และนักวิ่งมากมายที่ไปถึงจุดนั้นต่างยืนยันว่าจริง

แต่สำหรับอาจารย์ณรงค์แล้ว ชีวิตใหม่ไม่จำเป็นต้องรอให้ผ่านการวิ่งระยะ 42.195 ก็ได้ เพราะเพียงคุณออกมาวิ่งอย่างจริงจังและตั้งใจ ก็จะได้สัมผัสชีวิตใหม่เช่นกัน

“เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณดื่มด่ำกับการวิ่ง แล้วปล่อยวางจากทุกสิ่งทุกอย่าง แม้เพียงเวลาห้านาทีสิบนาที ชีวิตใหม่ก็เกิดขึ้นแล้ว” อาจารย์เกริ่นขึ้นก่อนอธิบาย

“การที่หัวใจเต้นแรงขึ้น ปอดได้รับออกซิเจนมากขึ้น เลือดสูบฉีดไปเลี้ยงทุกส่วน ทุกเซลล์ประสาท ได้ดีขึ้น สมองปลอดโปร่ง ก็ได้ชีวิตใหม่แล้ว ไม่ต้องรบให้จบมาราธอน แค่เพียงคุณก้าวออกไปวิ่ง สลัดความเหนื่อยล้า คับข้องใจ จากที่ทำงาน ที่บ้าน จากผู้คน แล้วอยู่กับการวิ่งครั้งนี้ ชีวิตใหม่ก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน”

ชีวิตใหม่ที่ว่านี้ไม่ได้เกิดเพียงในห้วงเวลาของการวิ่งเท่านั้น แต่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันจากวินัยที่ต้องเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการวิ่งเสมอ

“การวิ่งไม่ใช่แค่เพื่อวิ่ง แต่เราวิ่งเพื่อสร้างวินัย บังคับตัวเอง ร่างกายก็ได้ประโยชน์จากการมีวินัยด้วย การกินดีขึ้น การนอนหลับดีขึ้น ถ้าเราจะวิ่งให้ได้ดี ต้องนึกถึงสุขภาพ อย่างน้อยตอนเริ่มต้นวิ่ง คนจำนวนมากเลิกบุหรี่ได้ ลดการดื่มเหล้าลงจนถึงไม่ดื่มเลย บางคนอาจติดพันเรื่องสังสรรค์บ้าง แต่ก็ดื่มน้อยลง เพราะดื่มแล้วพรุ่งนี้จะวิ่งไม่ไหว ตรงนี้เป็นการควบคุมตัวเอง 

อาจารย์ณรงค์ เทียมเมฆ นักวิ่งเพื่อสุขภาพผู้ก่อตั้งงานวิ่งที่จอมบึง สู่การวิ่งถึงระยะมาราธอนตอนเกษียณ

“เรื่องอาหารการกิน คนวิ่งจะรู้ว่าขั้นสุดของการดูแลสุขภาพคือ อาหาร ที่บอกว่าวิ่งแล้วกินอะไรก็ได้เป็นเรื่องพูดกันเล่นๆ ที่คนไม่น้อยเชื่อว่าจริง วิ่งเสร็จก็ไปกินกันโต๊ะใหญ่ แต่นักวิ่งที่ถึงจุดที่มีวินัย เวลาเขาเข้าไปร้านอาหารจะไม่ได้มองอาหารที่สีสันหรือรสชาติ แต่มองว่าได้สารอาหารอะไรบ้าง ออกกำลังกายไปเท่าไหร่ ต้องเติมอะไรเท่าไหร่” อาจารย์ณรงค์อธิบายถึงชีวิตที่เปลี่ยนไปเมื่อเข้าสู่วินัยการวิ่งอย่างจริงจัง

และสิ่งที่ได้เกินคาดหวัง มีมากกว่าร่างกายที่แข็งแรง 

“นอกเหนือจากวิ่งแล้วทำให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้น การวิ่งทำให้สังคมกว้างขึ้นด้วย เพราะปัจจุบันนักวิ่งมีเป็นพันเป็นหมื่นคน และนำไปสู่สิ่งสูงสุดในการวิ่ง คือเกิดจิตตปัญญา นักวิ่งมีความเสียสละ รวมตัวกันทำกิจกรรมเพื่อสาธารณะ หรือแม้แต่เรื่องการให้ และเมตตา 

“นักวิ่งคนหนึ่งเจอลูกหมาอายุสักสองเดือนข้างทางขณะวิ่งถึงกิโลที่สิบในการวิ่งที่จอมบึง เขาก็อุ้มไว้เพราะกลัวคนจะเหยียบ ถามหาเจ้าของก็ไม่มี วิ่งอุ้มไปสามสิบกิโลจนถึงเส้นชัยก็หาเจ้าของไม่เจอ จึงต้องอุ้มลูกหมาตัวนั้นมาเลี้ยงที่กรุงเทพฯ เสาร์-อาทิตย์ก็พากลับไปตามหาเจ้าของ แต่ก็ไม่เจอ เขาจึงตั้งชื่อมันว่า จอมบึง วันนี้มันอายุหนึ่งขวบแล้ว เดือนมกราคมปีหน้าเขาจะพาจอมบึงกลับไปที่บ้านเกิดของมัน” 

อาจารย์ณรงค์ เทียมเมฆ นักวิ่งเพื่อสุขภาพผู้ก่อตั้งงานวิ่งที่จอมบึง สู่การวิ่งถึงระยะมาราธอนตอนเกษียณ

05

ThaiHealth Day Run วันแห่งการวิ่งเพื่อสุขภาพของคนไทย

จากการจัดงานวิ่งที่หมู่บ้านจอมบึงและการวิ่งเพื่อสุขภาพที่มีมาตลอดนั้น เป็นปัจจัยที่ทำให้อาจารย์ได้เข้ามาร่วมงานกับ สสส. เพื่อส่งเสริมแผนการออกกำลังกายของคนไทย โดยได้ร่วมมือขับเคลื่อนงานกับคุณหมออุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ผู้เขียนหนังสือ วิ่งสู่ชีวิตใหม่ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการวิ่งของนักวิ่งมากมาย รวมถึงอาจารย์เองด้วยเช่นกัน

จากการทำงานตาม ‘ยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา’ ที่ขับเคลื่อนด้วยการใช้องค์ความรู้ การผลักดันมาตรการ และการสื่อสารรณรงค์ เมื่อ 8 ปีที่แล้ว จึงเกิดงานวิ่ง ThaiHealth Day Run ซึ่งจัดให้ใกล้เคียงกับวันสถาปนา สสส. ในวันที่ 8 พฤศจิกายน โดยตั้งชื่อไทยว่า ‘วิ่งสู่ชีวิตใหม่’ ด้วยอยากกระตุ้นให้คนไทยตื่นตัวออกมาดูแลสุขภาพด้วยการวิ่ง

“งานวิ่งนี้ไม่เน้นวิ่งระยะไกล จึงมีระยะเพียงสามกิโลเมตร ห้ากิโลเมตร และสิบกิโลเมตร และเก็บค่าวิ่งไม่แพง เพราะอยากดึงคนใหม่ๆ ให้หันมาออกกำลังกายจากการวิ่งด้วยกัน แม้แต่ ตูน อาทิวราห์ ก็เริ่มวิ่งจากงานนี้ในปี 2555 นะ”

จบประโยคนี้เราเห็นรอยยิ้มภูมิใจของอาจารย์ ที่อย่างน้อยงานวิ่งครั้งนั้นน่าจะเป็นหนึ่งในก้าวแรกที่สำคัญของนักร้องไอดอลด้านการวิ่งคนสำคัญของไทย

ในปีนี้ งานวิ่ง ThaiHealth Day Run จัดวิ่งในเส้นทางบนสะพานพระราม 8 ซึ่งมีนักวิ่งทุกเพศทุกวัยเข้าร่วมเต็มโควตาเป็นจำนวนถึง 6,000 คน แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการส่งเสริมให้คนไทยหันมาออกกำลังกายด้วยการวิ่งที่อาจารย์ร่วมทำงานกับ สสส. อย่างต่อเนื่องมาตลอดเกือบ 20 ปี

อาจารย์ณรงค์ เทียมเมฆ นักวิ่งเพื่อสุขภาพผู้ก่อตั้งงานวิ่งที่จอมบึง สู่การวิ่งถึงระยะมาราธอนตอนเกษียณ

06

วิ่งอย่างพอดีได้ ไม่เดือนร้อนตัวเอง

ทุกวันนี้อาจารย์ณรงค์ยังคงออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ หากไม่ต้องเดินทางเข้ามาทำภารกิจการงานต่าง ๆ ที่กรุงเทพฯ อาจารย์จะพักอยู่บ้านสวนที่จอมบึง จังหวัดราชบุรี  ซึ่งมีทั้งที่ออกกำลังกายและปลูกพืชผักสวนครัวกินเอง

“ชีวิตประจำวันปกติเมื่ออยู่บ้านก็จะเดินดูแลงานรอบสวน วันหนึ่งก็รวมได้หลายกิโลเมตรนะ ส่วนการวิ่งประจำวัน ตอนเช้าจะวิ่งให้ได้หนึ่งชั่วโมง โดยไม่ได้กำหนดว่ากี่กิโลเมตร ตอนเย็นก็วิ่งให้ได้อีกสักครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมง แต่ถ้าต้องเดินทาง ก็อาจจะได้วิ่งเพียงตอนเย็น ส่วนวันหยุดมักจะมีโปรแกรมวิ่ง ซึ่งจะได้ซ้อมยาวเป็นสิบกิโลเมตรส่วนใหญ่ อาจจะมียี่สิบกิโลเมตรบ้าง เพื่อเตรียมไปมาราธอนในแต่ละปี”

แน่นอนว่า งานวิ่ง ‘จอมบึงมาราธอน’ครั้งที่ 35 ในเดือนมกราคมปีหน้านี้ อาจารย์ไม่พลาดที่จะลงสนามในระยะมาราธอนเช่นเคย แม้จะมีอาการเจ็บข้อเข่าจากอิริยาบถในชีวิตประจำวัน แต่อาจารย์พยายามฟื้นฟูร่างกายให้ดีที่สุด

“แต่ถ้าฟื้นฟูไม่ทันก็ไม่ฝืน ถ้าจบจนเกิดความเสี่ยงก็ยกธงขาว” อาจารย์เล่าพลางหัวเราะ

เพราะสิ่งสำคัญที่สุดของการออกกำลังกายของคนทุกวัย คือความพอดี

“แม้เป็นการออกกำลังกายก็ต้องยึดหลักพอดี พอดีกับวัย พอดีกับร่างกายของเรา อะไรที่หนักเกินไปก็ไม่ดี น้อยเกินไปก็ไม่ดี รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสแก่ข้าราชบริพารว่า ‘การออกกำลังกายนั้น ถ้าทำน้อยเกินไปร่างกายและจิตใจจะเฉา ถ้าทำมากเกินไปร่างกายและจิตใจก็จะช้ำ’ นี่คือหลักพอเพียงที่พระองค์ทรงนำมาใช้ทั้งทางเศรษฐกิจและการดำรงชีวิต”

ความพอดีที่ว่านี้หมายรวมถึงการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการออกกำลังกาย โดยเฉพาะกีฬาวิ่ง ที่นักวิ่งในปัจจุบันเสียค่าใช้จ่ายกันมากมายตามกระแส

“ผมเริ่มต้นวิ่งด้วยรองเท้าผ้าใบนันยาง ดีที่สุดแล้วในสมัยนั้น เพราะเดิมวิ่งด้วยเท้าเปล่า แต่ต่อมาสิ่งมาห่อหุ้มเท้าของเราต้องมีมูลค่าเป็นหมื่นเชียวหรือ นี่คือเรื่องที่ต้องย้อนถาม สิ่งที่พยายามทำอยู่ในตอนนี้คือหาวิธีกระตุกให้สังคมการวิ่งไทยใช้หลักพอดี 

“รองเท้าเสื้อผ้าสำหรับวิ่งใช้อย่างประหยัดได้ ระยะการวิ่งก็ควรเป็นไปอย่างเหมาะสม ไม่แข่งกันว่าฉันวิ่งได้กี่นาที ระยะทางเท่าไหร่ วิ่งดีกว่าเดิมแค่ไหน หรือสะสมระยะว่าวิ่งกันกี่ร้อยมาราธอน บางคนก็สมัครวิ่งล่วงหน้าเป็นปี สมัครหลายรายการ แล้วยังต้องเสียค่าที่พัก ค่าอาหารอีก ซึ่งทุกอย่างควรทำอย่างพอดี ให้เหมาะกับสภาพร่างกาย สุขภาพ และเศรษฐกิจของตัวเอง”

แม้เทรนด์การวิ่งจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ตั้งแต่วันที่เริ่มวิ่งจริงจังจนกระทั่งอายุ 73 ปี และอีกต่อไป เป้าหมายในการวิ่งของอาจารย์ณรงค์ยังคงเป็นการวิ่งเพื่อสุขภาพเสมอ 

ไม่จำเป็นต้องมีแพสชัน ไม่ได้ไปตามกระแส แต่เป็นการออกกำลังกายที่ปรับเปลี่ยนเหมาะสมตามวัยซึ่งอาจารย์ณรงค์จะยังคงวิ่งเป็นประจำต่อไปตราบเท่าที่ร่างกายยังทำได้ไหว

“การวิ่งของผมไม่ได้เป็นไปเพราะความหลงใหล แต่เป็นการวิ่งออกกำลังกายเพื่อคงสภาพที่ดีของร่างกาย เพื่อให้เป็นคนชราที่ไม่เป็นภาระลูกหลาน” อาจารย์ณรงค์ทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

Writer

Avatar

เชิญพร คงมา

อดีตเด็กยอดนักอ่านประจำโรงเรียน ชอบอ่านพอๆ กับชอบเขียน สนุกกับการเล่าเรื่องราวรักการเที่ยวเล่น ติดชิมของอร่อย และสนใจธรรมะ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล