อาจกล่าวได้ว่าชีวิตของ หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ โดดเด่นเป็นพิเศษด้วยชาติกำเนิดและอาชีพที่เลือกทำ

พูดอย่างภาษาสามัญ คุณหญิงเป็นเหลน รัชกาลที่ 5 เป็นหลานปู่ของ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เจ้าฟ้าอัจฉริยะทางการทหาร ผู้ทรงทำคุณประโยชน์แก่ประเทศจนถึงวันสิ้นพระชนม์ชีพ เป็นธิดาของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ นักประพันธ์ผู้ทรงนิพนธ์หนังสือไว้กว่า 33 เล่ม หลายเล่มเป็นบทบันทึกประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ทรงพยายามนิพนธ์ด้วยใจเป็นกลาง และเล่าความจริงด้วยสำนวนอ่านง่ายชวนติดตามอย่างยิ่ง

คุณหญิงสูญเสียพ่อเมื่ออายุ 7 ขวบ อีก 8 ปีถัดมาก็เสียแม่ไปอีกคน ด้วยความเป็นเด็กจึงยังไม่ทันได้ถามไถ่อะไรเกี่ยวกับประวัติครอบครัวมากนัก

อย่างไรก็ตาม หลายปีต่อมาคุณหญิงมีโอกาสได้รู้จักบุพการีอย่างใกล้ชิดจากหนังสือ ‘เกิดวังปารุสก์’ หญิงสาวสายเลือดไทย-อังกฤษ-รัสเซีย จึงได้ทำความรู้จักสมาชิกครอบครัวที่ไม่เคยพบหน้าค่าตา อีกทั้งหนังสือเล่มนี้ยังเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อหลายครั้ง เขียนโดยพระองค์จุลฯ ‘คนวงใน’ ตัวจริงเสียงจริง

ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ ผู้เก็บและแกะประวัติศาสตร์จากหนังสือ กับงานเปิดตำหนักให้คนชม

“เป็นเด็กกำพร้า ทั้งพ่อและแม่ ไม่เคยรู้จักทูลกระหม่อมปู่ หม่อมย่าก็เจอแค่ครั้งเดียว ฝ่ายแม่ ตาก็แทบจะไม่รู้จัก ยายก็ตายก่อนเราเกิด จึงขาดญาติจริง ๆ

“การศึกษาประวัติครอบครัวจึงอาจมีความหมายกับดิฉันมากกว่ากับคนอื่นที่อยู่ในครอบครัวที่มีความสุข มีพ่อแม่ปู่ย่าตายาย เราไม่มีอะไรเลย พี่น้องก็ไม่มี” หม่อมราชวงศ์นริศรากล่าว

ความรักแผ่นดินเกิดของพระองค์จุลฯ ที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนในหนังสือหลายเล่มที่ทรงนิพนธ์ รวมถึงความรักหนังสือและการขีดเขียน ได้ถูกถ่ายทอดมาสู่พระธิดาองค์เดียวอย่างเต็มเปี่ยม เพราะในกาลต่อมา พระธิดาองค์นั้นยึดอาชีพคนทำหนังสือ จัดพิมพ์หนังสือเล่มสำคัญ ๆ ที่บันทึกประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในนามสำนักพิมพ์ริมแม่น้ำชื่อ River Books สถานที่ที่คุณหญิงต้อนรับ The Cloud เพื่อเล่าเรื่องราวส่วนตัวของครอบครัว และแรงบันดาลใจที่จุดไฟให้ยังคงมุ่งมั่นทำหนังสือตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา

ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ ผู้เก็บและแกะประวัติศาสตร์จากหนังสือ กับงานเปิดตำหนักให้คนชม

เด็กโดดเดี่ยวที่เพิ่งรู้จักพ่อแม่ผ่านตัวหนังสือ

ชีวิตที่ต้องไป ๆ มา ๆ ระหว่างไทยและอังกฤษเริ่มตั้งแต่คุณหญิงยังอายุไม่กี่ขวบ และยังดำเนินมาจนปัจจุบันในวัยย่าง 65 ปี

เด็กหญิงตัวน้อยในวันนั้นกลายเป็นคุณย่าที่พาหลาน ๆ เสาะหาของอร่อยกิน นั่งดู The Lord of the Rings ด้วยกัน เดินทางท่องเที่ยวและใช้เวลาด้วยกัน แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับชีวิตวัยเด็กของคุณหญิง

“ตอนอยู่ Cornwall เป็นชีวิตแบบเด็กบ้านนอก ชอบวิ่งเล่นในสวน เป็นชีวิตง่าย ๆ จำได้ว่าไม่ค่อยได้เจอท่านพ่อเท่าไร มีความสุขไหม ไม่น่าจะมีเท่าไร” คุณหญิงหัวเราะแล้วเล่าต่อ “ตอนนั้นเขาเลี้ยงอีกแบบ สมัยนี้บูชาลูกกว่าทุกอย่าง แต่สมัยนั้นคือลูกมีพี่เลี้ยงอยู่ข้างบน อยู่ในห้องของตนเอง บางทีพ่อหรือแม่จะขึ้นมาอ่านนิทานให้ฟังแป๊บหนึ่งก่อนที่เราจะนอน แต่ที่จะทานข้าวด้วยกัน ซื้อของด้วยกัน ไม่มีเลย เป็นชีวิตที่ค่อนข้างโดดเดี่ยว”

“ครั้งสุดท้ายที่กลับมาเมืองไทยก่อนที่พ่อสิ้น น่าจะอายุประมาณ 4 – 5 ขวบ พยายามคิดย้อนหลังว่ากลับมากี่ครั้ง น่าจะกลับมาสัก 2 ครั้ง ที่นี่เงียบมาก พ่อแม่สนุกสนาน เจอเพื่อน เราก็อยู่ที่บ้านจักรพงษ์นี่แหละค่ะ ไม่ค่อยได้ออกไปไหน เล่นกับลูกของพนักงาน เป็นเพื่อนกัน เล่นในสวน

“แล้วก็จำได้ว่าไปหัวหิน ไม่นานมานี้ค้นรูปภาพเก่า เจอภาพตอนไปเที่ยวหัวหิน เป็นเวลาที่มีความสุขมาก ชอบเล่นทะเล ชอบนั่งชายทะเล พ่อแม่ก็จะอยู่กับเรามากกว่าตอนอยู่กรุงเทพฯ เพราะว่าไป Holiday จริง ๆ ก็เล่นกับลูกของพนักงานที่นี่ เหมือนขนครอบครัวไปเลย ทุกคนจะขนของลงไปเยอะมาก เพราะบ้านที่นั่นไม่ได้มีของอำนวยความสะดวกมากเท่าไร นั่งรถบรรทุกยกโขยงกันไป ไปทีก็ 3 – 4 สัปดาห์ สมัยนี้ไปมากันง่ายมาก แต่สมัยนั้นจะเดินทางทีเป็นเรื่องใหญ่เลย ดิฉันนั่งรถยนต์ไป ก็ผ่านรถบรรทุก รถสิบล้อที่พนักงานและลูก ๆ นั่งกันอยู่ โบกมือให้กัน สนุกมาก” คุณหญิงยิ้ม

คุณหญิงมีความทรงจำอะไรร่วมกับพระองค์จุลฯ บ้าง

“ท่านพ่อเป็นคนตรงเวลามาก ทุกคนในบ้านก็จะเกร็ง ๆ นาน ๆ ทีจะออกไปกินข้าวกลางวันด้วยกัน ทุกคนก็จะลงมานั่งรอ อีก 10 นาทีเที่ยง ทุกคนมารอแล้ว

“ท่านพ่อจะเล่านิทานเกี่ยวกับเมืองไทยให้ฟัง ชอบฟัง เล่าเรื่องที่ดึงมาจาก รามเกียรติ์ หรือนิยายไทย ท่านจะเล่าถึงเมืองไทยว่าน่าอยู่ ท่านเล่านิทานสนุก แต่ก็ขาดช่วงไป เล่าไม่พอ คือท่านเล่าค้างไว้ เช่นท่านขึ้นมาเล่า 10 นาที แล้วเดี๋ยวแขกจะมา ท่านก็จะลงไป เป็นชีวิตที่คนรุ่นนี้จะไม่ค่อยเข้าใจ

“พ่อเคยรับสั่งว่า อยากรู้สึกว่าพอลูกโตสัก 7 ขวบขึ้นไปก็อยากจะสนิทสนม แต่น่าเสียดายที่ไม่เกิดขึ้น ก็เศร้านิดหน่อย ตอนที่ท่านไม่สบายก็มีเขียนไปหาหมอว่า รู้สึกว่าตอนนี้ลูกก็รักฉัน เสียใจที่จะต้องจากลูกไป ก็เป็นสิ่งที่น่าเสียใจ เป็นบทเรียนสำหรับทุกคน ว่าอะไรที่ทำได้วันนี้ อย่าผลัดไปข้างหน้า” คุณหญิงให้ข้อคิด

แต่เป็นที่ชัดเจนว่า พระองค์จุลฯ ทรงทุ่มเทแรงกายแรงใจเขียนหนังสือ นอกจากเพื่อบันทึกประวัติศาสตร์ชาติแล้ว ยังทรงทำเพื่อพระธิดาองค์เดียว ดังส่วนหนึ่งของคำอุทิศในหนังสือ ‘เจ้าชีวิต’ (พิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2503) ที่กล่าวว่า

“…ถึงลูกสาวที่รักยิ่ง ยังจะต้องเป็นเวลานาน กว่าลูกจะอ่านหนังสือเล่มนี้ได้ และที่จะเข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้ง ก็จะต้องนานไปกว่านั้นอีก พ่อหวังว่า เมื่อลูกสามารถจะอ่านและเข้าใจข้อความในหนังสือเรื่องนี้ได้ ลูกจะรู้สึกอิ่มเอิบภูมิใจจริง ๆ และโดยสมควรยิ่งที่ได้มีกำเนิดมาเป็นเชื้อพระวงศ์ในพระบรมราชจักรีวงศ์…”

ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ ผู้เก็บและแกะประวัติศาสตร์จากหนังสือ กับงานเปิดตำหนักให้คนชม

คุณหญิงเล่าต่อว่า “ตอนพ่ออยู่ก็ไม่ค่อยได้คุยกับท่านพ่อ เพราะยังเด็กมาก พอพ่อสิ้นแล้วก็จะได้นั่งกินข้าวกับหม่อมแม่ (หม่อมเอลิสะเบธ จักรพงษ์ ณ อยุธยา) ตลอดเวลา เลยกลายเป็นสนิทกันมาก เราสองคนต่อสู้มาด้วยกัน ไปเที่ยวด้วยกัน ทำทุกอย่างด้วยกัน พอแม่ตายแล้วก็ไม่มีใครเล่าว่าเรื่องราวเป็นยังไง

“สิ่งเดียวที่มีก็คืออ่าน ‘เกิดวังปารุสก์’ ตอนนั้นอายุ 20 กว่า กลับอยู่เมืองไทย พออ่านแล้วก็ติดใจ ชอบวิธีเขียนของพ่อ พ่อเขียนหนังสืออ่านง่าย เป็นทางหนึ่งที่ทำให้ได้รู้ว่าพ่อเป็นคนอย่างไร

“สำหรับดิฉัน การอ่านหนังสือเล่มนี้จึงเป็นทั้งการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และเป็น Therapy ด้วย…”

หนังสือประวัติศาสตร์ที่เล่าแบบตรงไปตรงมา แต่สนุกจนวางไม่ลง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า จุดเด่นประการหนึ่งทำให้หลายคนอ่าน ‘เกิดวังปารุสก์’ แบบชนิดวางไม่ลง คือเรื่องราวของเจ้าฟ้าหนุ่มที่เกิดไปหลงรักสาวสามัญชนขณะทรงศึกษาวิชาทหารอยู่ที่นั่น จนทำให้รัชกาลที่ 5 กริ้วหนักหนา

“เรื่องของทูลกระหม่อมปู่น่าสนใจมาก เป็นคนไทยที่ไปรัสเซีย หนีไปแต่งงาน แหม! ก็อดตื่นเต้นไม่ได้ ใช่ไหม เวลาศึกษาประวัติ หากจะคิดว่านี่คือปู่และย่า ก็ประหลาดน่ะ ดิฉันคิดว่าตัวเองเป็นคนธรรมดามาก แต่มีปู่ที่สูงส่ง หนีไปแต่งงานกับหม่อมย่า มันเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับใครก็ตาม นั่นเป็นสิ่งหนึ่งที่ดึงดูด” คุณหญิงเล่าถึงสีสันหนึ่งของประวัติราชสกุลจักรพงษ์

นอกจากเรื่องราวความรักที่คนอ่านติดตามช่วยลุ้นกันตัวโก่งแล้ว กลวิธีประพันธ์ ‘เกิดวังปารุสก์’ และเล่มอื่น ๆ ของพระองค์จุลฯ ยังโดดเด่นมาก เพราะทรงนิพนธ์อย่างตรงไปตรงมา จึงปรากฏเนื้อความเช่น

ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ ผู้เก็บและแกะประวัติศาสตร์จากหนังสือ กับงานเปิดตำหนักให้คนชม
ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ ผู้เก็บและแกะประวัติศาสตร์จากหนังสือ กับงานเปิดตำหนักให้คนชม

“…เนื่องด้วยการหย่าร้างต่อกันระหว่างพ่อกับแม่ของข้าพเจ้านั้น ปรากฏว่า มีคนเอาใจใส่ถึงมิใช่น้อย แต่มักจะเข้าใจผิด ไม่ทราบเรื่องราวละเอียด จับต้นชนปลายไม่ถูก ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงเห็นว่า ควรจะบรรยายให้ทราบโดยสังเขปให้ถูกต้องเป็นการยุติธรรมแก่ทั้งพ่อและแม่…”

หรือแม้แต่เรื่องที่เจ้าคุณชาวไทยออกปากสั่งสอนพระองค์จุลฯ ท่านก็บันทึกไว้เพื่อให้เห็นกิจกรรมที่นิยมกันในสมัยนั้น โดยมิได้รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ทำให้เสียเกียรติ

“…ครั้งหนึ่งไปเที่ยวกันนอกลอนดอน หยุดรถยนต์ กินอาหารปิกนิก ข้าพเจ้ารีรออยู่ครู่หนึ่ง ยังไม่ถนัดและไม่ทราบว่าจะต้องช่วยเหลือในทางใด ท่านก็ว่า ‘ในโอกาสนี้ กระหม่อมต้องทูลสั่งสอน ฝ่าพระบาทต้องทรงช่วยเหลือมากกว่านี้ ต้องช่วยปูผ้าสักหลาด ช่วยขนหีบอาหารมาจากรถ ที่เมืองนอกนี้ เขาไม่มีเจ้ามีไพร่กันหรอก การมาปิกนิกอย่างนี้ ทุก ๆ คนต้องช่วยกัน ไม่มีมหาดเล็กตามเสด็จอย่างที่เมืองไทย…”

นอกจากนั้นยังมีเกร็ดต่าง ๆ ที่มีแต่พระองค์จุลฯ เท่านั้นที่จะทรงทราบในฐานะ ‘คนวงใน’

เกร็ดเหล่านั้นก็เช่น ลายพระราชหัตถ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงส่งมาถึงพระองค์จุลฯ เกี่ยวกับข่าวลือที่ว่าจะมีเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงถูกฆ่าในงานฉลองพระนคร 150 ปี หรือแม้แต่ลายพระราชหัตถ์ที่สะท้อนความหนักพระทัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

“ประวัติศาสตร์สังคมก็น่าสนใจอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นคนที่อยู่ในเหตุการณ์ เห็นด้วยตาของตนเอง หรือเขียนจดหมายถึงรัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 เอง แล้วได้รับจดหมายตอบกลับมา มันเป็นข้อมูลที่มีค่ามาก ตอนรัชกาลที่ 7 เป็นกษัตริย์ ยังเป็นสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็อยู่ในการตัดสินพระทัยของท่าน ท่านเป็นคนสำคัญที่สุดแล้ว ดังนั้นท่านรู้สึกอย่างไรในสถานการณ์นั้น ๆ จึงเป็นเรื่องน่าสนใจ” คุณหญิงระบุ

อีกเกร็ดหนึ่งคือเรื่องที่ ‘ทูลหม่อมอาแดง’ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) ทรงมักถกกับพระองค์จุลฯ ว่าเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทรงถูกลอบปลงพระชนม์หรือไม่ ซึ่งพระองค์จุลฯ ได้ทรงนิพนธ์อย่างนักประวัติศาสตร์ คือบันทึกข้อเท็จจริง และได้ให้ความเห็นของท่านอย่างตรงไปตรงมา

“นี่เป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ก็น่าสนใจว่าคนที่อยู่ในตำแหน่งสำคัญ อาจจะถูกวางยาหรือเปล่า สำหรับพ่อ เหตุการณ์นี้ก็ทำลายชีวิตเขา เพราะทำให้เขาเป็นเด็กกำพร้า แม่ก็ไม่อยู่แล้ว ก็เสียดายตรงนี้ ว่าไม่ทันได้แลกเปลี่ยนกับพ่อ ว่าตอนนั้นพ่อรู้สึกอย่างไร อยากจะได้ถามด้วยตนเอง

“ท่านพ่อจะพูดความจริง บางสิ่งบางอย่างที่คนอื่นอาจจะไม่กล้าพูด เช่น ทำไมมีคนชอบพูดว่าน่าจะเป็นกษัตริย์ ทำไมไม่เป็น ทำไมเป็นไม่ได้ มีคนเคยสัมภาษณ์ดิฉันว่า ทำไมเอาแง่ไม่ดีของครอบครัวมาพูด ดิฉันตอบว่า เพราะมันเป็นความจริง เราต้องพยายามพูดความจริง ถ้าปิดไปเรื่อย ๆ ในที่สุดความจริงก็จะหายไปหมด” หม่อมราชวงศ์นริศราอธิบายถึงคุณค่าของหนังสือชุด ‘เกิดวังปารุสก์’ ที่หนังสือรวมเล่ม 1 และ 2 ได้รับความนิยมมากถึงขั้นพิมพ์ครั้งที่ 18 แล้ว

จากเด็กที่รู้จักพ่อแม่ผ่านตัวหนังสือ ถึงคนพิมพ์หนังสือเพื่อบันทึกประวัติศาสตร์ชาติ

แรงบันดาลใจสู่การทำสำนักพิมพ์ River Books

เมื่อถามถึงแนวทางการเลือกทำหนังสือแต่ละเล่มของสำนักพิมพ์ หม่อมราชวงศ์นริศราตอบว่า

“สิ่งหนึ่งที่เราคำนึงถึงตลอดเวลาคือ เราอยากทำเรื่องที่คนอื่นอาจจะมองข้าม หรือเรื่องที่ถ้าไม่บันทึกไว้ อาจจะสูญเสียไป เช่น ภาพโบราณ อาคารโบราณ บางทีคนมองว่าเมืองไทยมีอาหาร ทะเล และผู้หญิงสวย เราในฐานะที่เป็นผู้หญิงและเป็นคนไทยคนหนึ่ง ก็ไม่ชอบ เรามีอะไรเยอะกว่านั้นอีกมากมาย”

บนหน้าปกหนังสือของ River Books จึงปรากฏเรื่องราวของคนทุกชนชั้นและหลากหลายสาขาอาชีพ ตั้งแต่เรื่องของช่างภาพฝรั่งที่เข้ามาบันทึกภาพเมืองไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2408 ประวัติศาสตร์การทหารจากประสบการณ์ของพลตรีชาวไทยที่เป็นหน่วยสืบราชการลับ เสี่ยงชีวิตบุกเข้าไปในดงศัตรูช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ‘เกิดวังปารุสก์’ เล่มสาม สมัยยุทธภัย ที่พระองค์จุลฯ เล่าเหตุการณ์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สตรีทอาร์ตในกรุงเทพฯ นวนิยายสุดสะเทือนใจของนักเขียนซีไรต์ วีรพร นิติประภา ไปจนถึงประสบการณ์ท่องล้านนาบนหลังช้างของวิศวกรผู้บุกเบิกพัฒนาเส้นทางรถไฟในพม่า พ.ศ. 2427

แม้กระทั่งป๊อปคัลเจอร์อย่างการ์ตูนเล่มละบาทก็มี

หนังสือ ‘การ์ตูนไทย ศิลปะและประวัติศาสตร์’ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2564) บันทึกพัฒนาการอย่างละเอียดของการ์ตูนไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2443 ทำให้รู้ว่าการ์ตูนไทยสมัยก่อนนิยมเล่าเรื่องอะไร เนื้อหาของ ‘การ์ตูนเล่มละบาท’ ล่อแหลมอย่างไร ไปจนถึงนักเขียนการ์ตูนไทยยุคสงครามเย็นต่อต้านคอมมิวนิสต์ในลายเส้นของตนเองอย่างไร

“คนถามว่าทำหนังสือเกี่ยวกับหนังสือการ์ตูนเล่มละบาททำไม มันไม่มีค่า แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นสิ่งแสดงให้เห็นว่า ในยุคนั้นคนไทยสนใจเรื่องอะไร อะไรที่สูงส่งมันก็เป็นของคนกลุ่มหนึ่ง แต่มันไม่ได้แสดงถึงความสุข สนุกสนาน หรือความลำบากของคนกลุ่มใหญ่ ยังมีอย่างอื่นมากมายที่แสดงให้เห็นชีวิตประจำวันของคนเรา

“เราไม่ได้บอกว่าไม่ต้องทำหนังสือวัดวัง เพราะเราก็ทำ แต่ก็อยากให้คนมองสิ่งที่อยู่รอบตัวด้วย มันทำให้ชีวิตน่าสนใจกว่า แทนที่จะมองแต่สิ่งที่ถูกกำหนดให้มองว่าสวยงาม ถ้าเราสนใจหลายอย่าง จะทำให้ชีวิตเราสดชื่นขึ้น” หม่อมราชวงศ์นริศรายิ้ม

จากเด็กที่รู้จักพ่อแม่ผ่านตัวหนังสือ ถึงคนพิมพ์หนังสือเพื่อบันทึกประวัติศาสตร์ชาติ

งาน ‘วันจุลจักรพงษ์’ ประจำปี 2565 จะจัดขึ้นในวันที่ 11 – 13 มีนาคม พ.ศ. 2565 ต้อนรับผู้สนใจเข้าชมตำหนัก ฟังเรื่องราวที่ทั้งสนุกน่าติดตามและทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ผ่านข้าวของต่าง ๆ และร่วมพูดคุยกับทายาท

เปิดให้เข้าชมภายในตำหนักวันละ 6 รอบ รอบละ 30 ท่าน (สำรองบัตรล่วงหน้า มีจำนวนจำกัด)

*ค่าบัตรเข้าชมภายในตำหนักราคา 1,500 บาท ต่อท่าน รับหนังสือ เกิดวังปารุสก์ เล่ม 3 หรือเล่มอื่น ๆ พร้อมอาหารกลางวัน (ก๋วยเตี๋ยวไก่หรือข้าวซอยไก่) มีรอบดังนี้

1) 11.30 – 12.00 น. (ภาษาไทย)

2) 12.30 – 13.00 น. (ภาษาอังกฤษ)

3) 14.30 – 15.00 น. (ภาษาไทย)

4) 15.30 – 16.00 น. (ภาษาไทย)

5) 16.30 – 17.00 น. (ภาษาไทย)

*ค่าบัตรเข้าชมภายในตำหนักราคา 2,500 บาทต่อท่าน รับหนังสือ เกิดวังปารุสก์ เล่ม 3 หรือเล่มอื่น ๆ พร้อมอาหารค่ำ (ยำส้มโอ / ต้มยำกุ้ง / ปลาราดพริก / ผัดผักเบญจรงค์) มีรอบดังนี้

6) 17.30 – 18.00 น. (ภาษาไทย)

สำรองบัตรเข้าชมตำหนักและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม Line ID : @chakrabongsevillas https://bit.ly/2Ig1PJy โทรศัพท์ 0 2222 1290 และ 08 6987 0493

Writer

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

นักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแนวไปเรียนทำอาหารอย่างจริงจัง เป็น introvert ที่ชอบงานสัมภาษณ์ รักหนังสือ ซื้อไวกว่าอ่าน เลือกเรียนปริญญาโทในสาขาที่รู้ว่าไม่มีงานรองรับคือมานุษยวิทยาอาหาร มีความสุขกับการละเลียดอ่านหนังสือและเรียนรู้สิ่งใหม่ผ่านภาพถ่ายเก่าและประวัติศาสตร์สังคม

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล