ญดา-นริลญา กุลมงคลเพชร ปรากฏตัวครั้งแรกในซีรีส์ชุด เพื่อนเฮี้ยน โรงเรียนหลอน ตอน อจินไตย ก่อนจะกระโดดมาเป็นนางเอกละครครั้งแรกเรื่อง ‘นารีริษยา’ ที่ออกอากาศทางช่อง 3HD และเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากซีรีส์ Love Sick ซีซั่น 2 

7 ปีในวงการบันเทิง เธอเล่นละครหลายเรื่อง ซีรีส์อีกจำนวนหนึ่ง แม้จะไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่ทุกผลงานของญดาก็ได้พิสูจน์แล้วว่าฝีมือการแสดงของเธอไม่ธรรมดา และยังคงพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความรักในการแสดงของเธอ

บทบาทล่าสุดของญดาคือ ‘มิ้ง’ จากภาพยนตร์เรื่อง ‘ร่างทรง’ กำกับโดย โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล หนังสยองขวัญ สั่นประสาท เล่าเรื่องการทรงเจ้าของหมู่บ้านแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ซึ่งกลายเป็นกระแสหลังฉายที่เกาหลีมาสักพักใหญ่ๆ ทุกคนที่ได้ชมผลงานชิ้นล่าสุดของเธอต่างก็เอ่ยปากชม และนี่ถือเป็นผลงานคุณภาพอีกชิ้นของเธอ

ก่อนที่คนไทยจะได้ไปชมผลงานแสดงของญดาบนจอภาพยนตร์เร็วๆ นี้ เราชวนไปทำความรู้จักกับเธอให้มากขึ้นอีกสักนิด กับบทสัมภาษณ์ยาวชิ้นแรกของเธอ ที่ตลอดการสนทนาเผยให้เห็นทั้งหยดน้ำตาและช่วงเวลาที่เธอยิ้มกว้างที่สุด

ญดา นริลญา กับวัย 21 ที่ได้เรียนรู้การทิ้ง ‘อัตตา’ มาสวมบทบาทใหม่ใน ‘ร่างทรง’

คุณดูร่างทรงไปแล้วกี่รอบ

จริงๆ หนูยังไม่ได้ดูเลยค่ะ (หัวเราะ) ได้ดูแค่ตอนเพลย์แบ็กหลังกล้อง แต่แบบที่ตัดเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ยังเลยค่ะ 

คิดว่าผลงานเป็นอย่างไร 

วันงานเลี้ยงปิดกล้อง มีการตัดภาพบางส่วนของภาพยนตร์มาให้ดู หนูเห็นแล้วรู้สึกว่ามันเกินที่หนูคาดคิดมากๆ รู้สึกว่ามันเกินจากสิ่งที่หนูตั้งความหวังไว้อีก แล้วก็อธิบายไม่ถูก ความรู้สึกมันเหมือนตอนที่เราสอบติดแล้ว เราทำสำเร็จแล้ว เพราะว่าเรื่องนี้หนูตั้งใจมาก แล้วก็ทุ่มเทอะไรหลายๆ อย่างให้กับมันค่อนข้างเยอะ

คุณคิดว่าทำไม โต้ง บรรจง ถึงเลือกคุณมาแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้ 

หนูน่าจะเหมาะสมกับคาแรกเตอร์ของมิ้ง เพราะตอนที่แคสต์ หนูทำเต็มที่มากแล้วก็ตั้งใจมาก ตอนที่หนูได้รับข้อเสนอว่าให้ไปแคสต์บทนี้ เรามาดูบทที่หน้างานเลย ตอนอ่านบทเราก็รู้เลยว่ามันยากมาก และท้าทายความสามารถมาก หนูชอบความท้าทายอยู่แล้ว เลยยิ่งรู้สึกว่าอยากหาวิธีที่จะทำงานนี้สำเร็จให้ได้ ตอนนั้นจำได้ว่าเต็มที่มาก ไม่ได้กดดันหรือมีความเครียดเลย รู้สึกว่าสนุกมากกับบทที่มันท้าทายความสามารถเราขนาดนี้ 

ตอนที่มาแคสต์กับพี่โต้งอีกครั้ง นั่นเป็นครั้งที่หนูเพิ่งรู้ว่าพี่โต้งเป็นคนกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ยิ่งตื่นเต้นแล้วก็ดีใจมาก เพราะชื่นชอบพี่โต้งมาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว พอรู้ว่าจะได้ร่วมงานกับพี่โต้งก็ยิ่งอยากทำให้เต็มที่ ทำให้ดีที่สุดไปเลย 

อีกอย่างที่บอกว่าหนูชอบความท้าทาย เรื่องนี้มันเลยเป็นประสบการณ์ที่ดีของหนูมากๆ ตัดสินใจไม่ยากเลยว่าทำไมถึงรับเรื่องนี้

บทบาทของ ‘มิ้ง’ ท้าทายคุณอย่างไร

คาแรกเตอร์ของมิ้งไม่มีอะไรที่หนูเคยได้สัมผัสเลยตั้งแต่เด็กจนโต ตั้งแต่การพูด นิสัย หรือว่าการเดิน หนูต้องมาเรียนรู้ทุกอย่างใหม่หมดเลย บางทีมีท่าทางที่ไม่เหมือนมนุษย์ปกติ มีวิธีการเหลือกตามองข้างบนแบบไม่เห็นลูกตา จริงๆ ครั้งแรกที่ไปแคสต์กับพี่โต้ง หนูทำตาเหลือกไม่ได้ ไม่เคยทำมาก่อน พอไปเรียนกับ ครูเงาะ (รสสุคนธ์ กองเกตุ) ครูก็สอนวิธีให้ หลังจากนั้นก็กลับมาฝึกที่บ้าน แล้วก็ซ้อมหนักมากๆ จนมันชิน ตอนถ่ายทำมีฉากที่เราต้องนั่งรถไปแล้วถ่ายลองเทคยาวๆ หนูตาเหลือกอยู่อย่างนั้นประมาณสิบนาที จนทีมงานถามว่าทำได้ไง (หัวเราะ)

และช่วงครึ่งหลังมีการลดน้ำหนักไปประมาณสิบกิโลฯ ในระยะเวลาหนึ่งเดือน แต่ก็มีการดูแลจากนักโภชนาการและก็ผู้เชี่ยวชาญมาตลอด เลยไม่ได้เครียดและกังวลมากนัก แต่ก็เป็นประสบการณ์ใหม่ที่หนูไม่เคยทำ รู้สึกดีนะเพราะมันทำให้ตัวละครนี้มันสมจริงมากขึ้น

ญดา นริลญา กับวัย 21 ที่ได้เรียนรู้การทิ้ง ‘อัตตา’ มาสวมบทบาทใหม่ใน ‘ร่างทรง’

แล้วความเหมือนของ ‘มิ้ง’ และ ‘ญดา’ ล่ะ

อายุใกล้เคียงกัน และตอนเด็กหนูก็เคยอยู่ที่ต่างจังหวัด บ้านที่มิ้งอาศัยอยู่ก็จะมีความคล้ายคลึงกับชีวิตช่วงวัยเด็กที่หนูเคยได้สัมผัสมาบ้าง

วัยเด็กของญดาเป็นอย่างไร

หนูเกิดที่กรุงเทพฯ แล้วคุณแม่ก็แยกทางกับคุณพ่อ เลยย้ายไปอาศัยอยู่ที่บ้านของคุณยายที่จังหวัดชัยนาท ตอนนั้นเราได้เห็นธรรมชาติ ได้เห็นทุ่งนา ได้เล่นกับเพื่อน เรียนที่นั่น ใช้ชีวิตที่นั่นมาตลอด เพิ่งมารู้ว่าชีวิตของคนต่างจังหวัดแตกต่างกับชีวิตคนในเมืองอย่างไร ก็ตอนที่กลับเข้ามาในกรุงเทพฯ ตอนอายุประมาณสิบสี่ถึงสิบห้าปี เพราะตอนนั้นตัดสินใจย้ายกลับมาเริ่มงานจริงจังที่กรุงเทพฯ

ทำไมถึงตัดสินใจเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ

มีคนที่รู้จักบอกว่าจะลองพาไปถ่ายแบบ ตอนนั้นเรายังไม่รู้ว่ามันคืออะไร เพิ่งมารู้ทีหลังว่ามันคือการถ่ายแบบให้กับโมเดลลิ่ง แล้วเขาก็จะเรียกเราไปแคสต์งานต่างๆ ตอนนั้นก็เริ่มแคสต์โฆษณาโดยที่ไม่รู้จักมาก่อน แคสต์งานไปสิบสามตัว เราก็ได้งานโฆษณาตัวแรก หลังจากนั้นมันก็เริ่มได้งานมาเรื่อยๆ 

ตอนนั้นถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตอย่างหนึ่ง เพราะได้คำถามจากคุณแม่มาว่า ‘ให้เลือกระหว่างกลับไปเรียนต่อกับทำงานวงการบันเทิง จะเลือกอะไร’ หนูเลยตัดสินใจแบบคิดน้อยมาก แต่เป็นการตัดสินใจที่ดี คือหนูเลือกมาทำงานในวงการบันเทิง ก็เลยเติบโตมาในวงการบันเทิงตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงปัจจุบัน

อยากให้เล่าความรู้สึกตอนไปแคสต์งานครั้งแรก

จำได้แค่ว่าความรู้สึกแรกตอนที่เราได้เข้าไปแคสต์ มันคือความตื่นเต้น บอกไม่ถูก แต่เราชอบสิ่งนี้มากจริงๆ และอยากทำมันให้ได้ ทำมันให้สำเร็จ 

จำได้ว่ากลับบ้านมาทุกครั้งก็จะมาซ้อมเองหน้ากระจก ตั้งกล้องถ่ายตัวเอง แล้วดูว่าตัวเองแสดงเป็นอย่างไรไปเรื่อยๆ หาเรฟเฟอเรนซ์จากโฆษณาต่างๆ แล้วลองเลียนแบบ ทำตามเขา เพิ่งมารู้ตอนโตว่านั่นมันคือวิธีฝึกซ้อม วิธีเรียนรู้แบบของเรา

งานแรกที่ทำให้คุณเป็นที่รู้จักคืองานไหน

น่าจะเป็นซีรีส์วัยรุ่นเรื่อง Love Sick หนูจะอยู่ในซีซั่น 2 จริงๆ บทบาทไม่ได้มีเยอะมาก แต่ซีรีส์เรื่องนี้มันมีชื่อเสียงมาตั้งแต่ตอนแรกๆ ก็เลยทำให้เราเป็นที่รู้จักมาตั้งแต่ตอนนั้น 

ส่วนซีรีส์เรื่องแรกที่หนูเล่นคือเรื่องเพื่อนเฮี้ยนโรงเรียนหลอน ตอนอจินไตย ซึ่งตอนนั้น พี่จิม-โสภณ ศักดาพิศิษฏ์ เป็นคนกำกับ ถือว่าเป็นเรื่องที่เปิดโลกการแสดง แบบที่ไม่เหมือนกับที่เคยได้เล่นในโฆษณา ตอนนั้นได้ไปเวิร์คช็อปกับครูเงาะ พูดได้เลยว่าครูเงาะเป็นคนที่เปิดโลกให้หนูได้มาสัมผัสกับการแสดงที่เข้มข้นขึ้นและยากขึ้น จึงรู้สึกรักการแสดงมาตั้งแต่ตอนนั้น พูดได้ว่าเราขาดมันไม่ได้ และอยากทำมันจริงๆ 

หลังจากนั้นก็เริ่มได้รับการติดต่อจากหลายๆ ที่ให้ไปแคสต์ละครบ้าง แคสต์ซีรีส์บ้าง หลังๆ เริ่มไม่ได้แคสต์แล้ว เพราะว่าจะเป็นการชวนให้ไปรับบทที่เหมาะกับเรา 

ญดา นริลญา กับวัย 21 ที่ได้เรียนรู้การทิ้ง ‘อัตตา’ มาสวมบทบาทใหม่ใน ‘ร่างทรง’

ตอนนั้นญดาได้รับบทบาทแบบไหน

ละครเรื่องแรกของหนูค่อนข้างห่างไกลจากตัวหนูสุดๆ ไปเลย ตอนนั้นหนูอายุสิบห้าปี แล้วต้องมาเล่นเป็นคนอายุประมาณยี่สิบปลายๆ ต้องท้อง มีฉากตบตี แย่งชิงกัน บทค่อนข้างแตกต่างจากหนูตรงที่ว่าตัวละครจะค่อนข้างมองโลกในแง่ร้าย 

หลังจากนั้นก็จะได้รับบทคล้ายๆ กันมาตลอด ซึ่งเป็นบทร้ายนิดๆ น่าสงสาร แล้วกลับมาดีตอนหลัง เราเลยรู้สึกว่าเราถนัดกับการแสดงบทดราม่า เพราะเราได้รับบทแบบนี้เยอะ

คุณเล่นละครและซีรีส์มาหลายเรื่อง แต่ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง อะไรทำให้ยังคงเล่นต่อไป

คิดว่าก็คงเป็นความรักค่ะ หนูรักที่จะทำ เลยไม่รู้สึกว่าเหนื่อย แล้วก็ยังอยากทำต่อ เพราะหนูรู้สึกว่าการแสดงมันช่วยชีวิตคนได้ หรืออย่างน้อยที่สุดก็สามารถทำให้คนมีความสุขได้ชั่วขณะหนึ่ง 

ชีวิตคนเรามันไม่ได้มีความสุขตลอดเวลา สิ่งที่หนูสังเกตเห็นจากตัวเองและคนรอบข้างคือ เวลาที่เราได้ดูภาพยนตร์หรือเรื่องราวชีวิตของตัวละครมีบางจุดที่ใกล้เคียงกับตัวเรา บางทีเราจะได้รับความสุขกลับมาด้วย หรือบางทีเราก็จะลืมโลกที่มันเป็นโลกความเป็นจริงไปได้ชั่วขณะหนึ่งเลย เพราะเราจมดิ่งไปกับหนังเรื่องนั้น บางทีเราก็ได้ข้อคิดจากเรื่องที่เราดู มากที่สุดคือมันอาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของเราเลยก็ได้ หนูรู้สึกว่าอยากทำสิ่งนี้เพื่อให้คนได้มีความสุข หรืออาจจะทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้น แม้มันจะเป็นสิ่งเล็กๆ ก็ตาม

มีหนังเรื่องไหนบ้างที่ทำให้คุณรู้สึกแบบนั้น

จริงๆ ก็มีหลายเรื่องค่ะ แต่ล่าสุดที่ดูเป็นซีรีส์เกาหลีเรื่อง Reply 1988 หนูค่อนข้างอินกับวิถีชีวิตและความรักของกลุ่มเพื่อน เพราะทำงานในวงการตั้งแต่เด็ก เราใช้ชีวิตกับการทำงานมาโดยตลอด สิ่งที่ขาดหายไปก็คือช่วงชีวิตที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนรุ่นเดียวกัน พอดูซีรีส์เรื่องนี้มันเลยทำให้ได้รับความรู้สึกดีๆ ได้รับความอบอุ่นจากความสัมพันธ์แบบเพื่อน แล้วมันเติมเต็มหนูได้ ก็เลยประทับใจ

ก่อนจะได้เป็นนางเอก คุณมองคำว่า ‘นางเอก’ อย่างไร แล้วพอได้มาเป็นแล้วมันเปลี่ยนไปไหม

ในมุมมองของหนู ก็จะมองว่าบทเยอะแล้วเครียดกว่าเพื่อนเลย (หัวเราะ) มันคงจะเป็นการทำงานที่หนักขึ้น หนูมองแค่นั้น 

จริงๆ แล้วหนูมองว่าในเรื่องราวนั้นๆ ทุกตัวละครสำคัญหมด เพราะทุกตัวละครสามารถสื่อสารและถ่ายทอดให้ภาพยนตร์เรื่องนั้นมันดำเนินไปได้ หลังจากได้เป็นนางเอกแล้ว หนูเลยไม่ได้รู้สึกว่าแตกต่างมากเท่าไหร่ ไม่รู้ว่าคนอื่นมองยังไง แต่ในมุมมองของหนูคงมีแค่เรื่องบทที่มากกว่า

หลายๆ คนที่ได้ดูการแสดงของคุณ บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าคุณมีพรสวรรค์มาก คุณคิดอย่างไร

คิดว่ามันเป็นธรรมชาติด้วยส่วนหนึ่ง แต่คงจะไม่มากเท่ากับพรแสวง เพราะจริงๆ แล้วไม่ได้เก่งมาตั้งแต่แรก ยังจำได้ว่าโดนคุณแม่ดุด้วยว่าเล่นอะไรไม่ได้เรื่องเลย (หัวเราะ) แต่หลังจากที่หนูสนใจ ใส่ใจ แล้วก็ฝึกฝนมาโดยตลอด อาจทำให้หนูพัฒนาขึ้นตามลำดับ อีกอย่างคือหนูอยากจะทำสิ่งนี้มากจริงๆ เลยอาจทำให้ผลงานที่ออกมาเป็นที่ชื่นชอบของคน

ญดา นริลญา กับวัย 21 ที่ได้เรียนรู้การทิ้ง ‘อัตตา’ มาสวมบทบาทใหม่ใน ‘ร่างทรง’

คุณมีวิธีพัฒนาการแสดงของตัวเองอย่างไร

ถ้าเป็นเมื่อก่อน เราก็จะเล่นตามคนอื่นแบบ Copy and Paste ไปเลย อย่างละครเรื่องแรก หนูยังเล่นไม่เป็น หนูก็เลยเทียบเคียงจากบทที่มีปมคล้ายๆ กัน มีเรื่องราวชีวิตคล้ายๆ กัน แล้วก็ดูสีหน้า ท่าทาง แววตาของเขาแล้วเล่นตาม มันคือการเลียนแบบนั่นแหละค่ะ เราจะต้องเข้าใจความรู้สึกและเรื่องราวของตัวละครด้วยว่าดำเนินไปเป็นอย่างไร

แต่ปัจจุบันจะสังเกตจากการดูภาพยนตร์ที่มีเรื่องราวแบบที่ในชีวิตจริงเราคงไม่ได้เห็น แล้วก็ดูอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครนั้นๆ รวมถึงเหตุการณ์ที่เขาเจอ หนูจะโฟกัสทุกตัวละคร เพื่อเป็นการเก็บเรื่องราวเป็นความทรงจำ เผื่อเวลาที่เราต้องไปรับบทที่มีชีวิตใกล้เคียงกัน เราจะได้ดึงความรู้สึกนั้นออกมาใช้ได้ 

การแสดงภาพยนตร์ต่างจากการแสดงหลายๆ ครั้งที่ผ่านมาอย่างไร

มันก็มีจุดที่ใกล้เคียงกันแต่ว่าการแสดงออก บางครั้งก็อาจไม่เหมือนกัน สำหรับละครหนูจะได้รับบรีฟว่าให้แสดงออกเกินธรรมชาติขึ้นไปอีกหนึ่งสเต็ป แต่สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ ทุกอย่างมันเรียลมาก มันเหมือนชีวิตจริง ที่บางทีเราไม่ต้องแสดงท่าทางเยอะขนาดนั้น มันทำให้หนูได้รู้จักคำว่า ‘แสดงให้เหมือนไม่แสดง’ ซึ่งพี่โต้งก็มักจะให้เล่นแบบดิบๆ เลย ขอแบบเหมือนไม่แสดง

หนูมักจะผิดจังหวะ เพราะจังหวะละครบางทีเราต้องรอให้กล้องสวิตช์มาหาเรา ซึ่งมันคนละจังหวะกันกับแบบชีวิตจริงที่เราพูดคุยกันแบบนี้ ค่อนข้างต้องปรับตัวเหมือนกัน แต่ก็ใช้เวลาไม่นานมากโชคดีที่พี่โต้งเก่งมาก มีวิธีการอธิบายแล้วก็วิธีสอนที่ทำให้หนูซึมซับการแสดงแบบภาพยนตร์ได้อย่างรวดเร็วมาก

ญดา นริลญา กับวัย 21 ที่ได้เรียนรู้การทิ้ง ‘อัตตา’ มาสวมบทบาทใหม่ใน ‘ร่างทรง’

สิ่งที่คุณได้จากการแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้คืออะไร

ได้ประสบการณ์เยอะมากค่ะ แต่ภาพที่เห็นชัดที่สุดเป็นเรื่องของการทำงาน เพราะหนูไม่เคยร่วมงานกับทีมงานที่ทุกคนทุ่มเทและตั้งใจกันมากขนาดนี้ 

ตอนที่หนูลดน้ำหนักแล้วต้องถ่ายฉากที่ใช้แรงเยอะมากๆ ทั้งกรีดร้อง ทั้งต่อสู้ ตอนนั้นหนูยอมรับเลยว่าไม่มีแรงเลย พอถึงช่วงพักหนูก็นั่งมองพี่ๆ ทุกคน เขายังทำงานกันหนักมาก บางอย่างไม่ใช่หน้าที่ตัวเอง แต่ก็เต็มใจที่จะทำ แล้วก็ยิ้มตลอดเวลา หนูก็จะได้กำลังใจทุกเช้า กลางวัน เย็น หนูรู้สึกว่าตอนนั้นได้รับแรงบันดาลใจจากภาพที่เห็นจากพี่ๆ เยอะมาก กล้าพูดได้เลยว่าตอนนั้นที่หนูเล่นได้ถึงเบอร์ที่มันควรจะเป็นได้ ก็เพราะว่าทุกคนจริงๆ พูดแล้วจะร้องไห้ (จะร้องไห้จริงๆ) 

หนูเห็นทุกคนตั้งใจทำงานหนักมาก แล้วยังคอยให้กำลังใจหนู หนูรู้สึกว่าอยากตอบแทนเขา มันก็เลยทำให้ตอนนั้นหนูมีแรงฮึดขึ้นมา 

‘มิ้ง’ ดูเป็นบทที่ต้องใช้พลังเยอะมาก

หูย เยอะมากค่ะ มันต้องลดอัตตา ความเป็นตัวตนของเราออกไปเยอะมากๆ 

อยากให้ขยายความคำว่า ‘อัตตา’

หนูนับถือศาสนาพุทธ มีความเชื่อเรื่อง อัตตา ที่ว่าร่างกายมันไม่ใช่ของเรา เพราะพระพุทธเจ้าจะสอนว่าทุกชีวิตที่เกิดมาเดี๋ยวก็จะต้องตาย การลดอัตราคือลดทิฐิ ลดความเป็นตัวตนของเราลงไป

การลดอัตตาทำให้หนูไม่ได้ยึดว่าหนูคือตัวตนไหน ไม่มีความคิดที่ว่าไม่เอา ไม่อยากทำเพราะมันไม่ใช่เราเลย เพราะเราเป็นผู้หญิงนะ เราเป็นผู้ชายนะ เราเป็นเด็กนะ เราเป็นผู้ใหญ่นะ สิ่งเหล่านี้ไม่มีในความคิดหนูเลย

พอได้มาเล่นบทนี้ มีช่วงที่มิ้งถูกวิญญาณร้ายเข้าสิง มันเลยทำให้เราได้ใช้ความคิดนี้มาผสมผสานกับการที่เราได้รับบทเป็นมิ้ง เลยไม่ค่อยรู้สึกว่ามันยากเท่าไหร่ เราก็แค่สวมวิญญาณตัวนั้นเข้ามาในร่างกาย แล้วก็ไม่ได้คิดว่าเราเป็นเรา ก็เลยเป็นมิ้งได้ หลายๆ ฉากมันค่อนข้างรุนแรงแต่ว่าผ่านมาได้ด้วยความคิดนี้เลยค่ะ

นอกจากธรรมะแล้ว มีสิ่งไหนที่คุณหยิบมาใช้ในการแสดงอีก

จริงๆ มันเป็นการเก็บประสบการณ์จากหลายๆ อย่างในชีวิต ทั้งการเจอผู้คน ทั้งการเรียนรู้โลก แต่คำสอนหลักๆ ของหนูมาจากคุณแม่ เพราะคุณแม่อยู่กับหนูบ่อยที่สุด เป็นคนที่สอนให้หนูไม่มีความคิดที่ใหญ่เกินตัวหรือความฝัน 

ญดา นริลญา กับวัย 21 ที่ได้เรียนรู้การทิ้ง ‘อัตตา’ มาสวมบทบาทใหม่ใน ‘ร่างทรง’

ทำไมคุณแม่ถึงสอนให้ไม่มีความฝัน

แม่บอกเสมอว่าให้อยู่กับปัจจุบัน อย่าเพิ่งไปคิดถึงอนาคต ง่ายๆ ก็คือไม่ให้คาดหวังกับอนาคตมากจนเกินไป มีความฝันได้แต่ว่าต้องมีความสุขกับระหว่างทางด้วย เพราะว่าเราไม่รู้ว่าเราจะไปถึงความฝันนั้นหรือเปล่า อะไรจะเกิดขึ้นก็ไม่รู้ คุณแม่เลยสอนให้คิดถึงวันนี้กับพรุ่งนี้ก็พอแล้ว ไม่ต้องไปคิดเยอะ

คุณคิดเรื่องอนาคตเยอะไหม

หนูเป็นคนที่คิดเรื่องอนาคตค่อนข้างเยอะ คุณแม่ถึงต้องคอยเบรก หนูเคยวางแผนชีวิตตัวเองไว้ แต่สุดท้ายก็ได้เรียนรู้ว่าในระหว่างทางมันมีเรื่องราวและเหตุการณ์หลายๆ อย่างที่ไม่ได้คาดคิดเยอะมาก วันนี้เราคิดแบบนี้ แต่ในอนาคตอันใกล้ อาจจะแค่สักหนึ่งนาทีข้างหน้า เราไม่รู้เลยว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น ความคิดของเราอาจเปลี่ยนไปเลยก็ได้ หนึ่งนาทีข้างหน้า เราอาจจะหายไปก็ได้ เราเลยอยากใช้ทุกๆ ช่วงเวลาของชีวิตให้คุ้มค่าให้ดีที่สุด ไม่ต้องมีความสุขที่สุดก็ได้ แต่ว่าให้ตอนนี้เราไม่เครียดก็พอ

ในการถ่ายทำทุกๆ วันของหนู ถึงมันจะใช้พลังงานไปเยอะมาก แต่ว่าทุกอย่างจะจบแค่วันนั้น แล้วก็เริ่มใหม่ในวันต่อไป หนูไม่มีความเครียดระหว่างการทำงานเลย เพราะพอจบฉากนั้น หนูก็จบแล้วก็ลืม

ไม่เคยรู้สึกกดดันที่ต้องทำสิ่งที่รักเป็นอาชีพเลยหรือ

ไม่เลยค่ะ หนูไม่เคยรู้สึกว่าหนูมีความทุกข์กับการแสดง หนูมีความสุขกับมันตลอด

ฟังดูเหมือนเป็นสิ่งที่ใช่แล้วทำไปได้เรื่อยๆ 

เนอะ หนูมองเห็นภาพตัวเองในอนาคตด้วยว่าอยากเป็นนักแสดงที่มีอายุเยอะมากๆ สักแปดสิบ เก้าสิบปีก็ยังแสดงอยู่ หนูเคยดูการแสดงของนักแสดงฝรั่งที่อายุเยอะๆ แล้วเขาเล่นได้ดีมาก เลยอยากรู้ว่าร่างกายเราตอนนั้น ถ้ามันไม่พร้อมมากๆ แล้วต้องทำยังไง ถึงจะเล่นได้แบบนั้น หนูประทับใจมากๆ แล้วอยากเล่นได้แบบนั้นบ้าง

ชวน ญดา-นริลญา กุลมงกุฏเพชร จากภาพยนตร์เรื่อง ‘ร่างทรง’ มาเล่าเรื่องหนัง ตัวตน และเหตุผลที่ต้องเป็นคนไม่มีความฝัน

คุณจะเป็นนักแสดงแบบไหนตอนอายุเท่านั้น

อยากเป็นนักแสดงที่แสดงภาพยนตร์ค่ะ อยากถ่ายทอดชีวิตแล้วก็ความเป็นอยู่ของคนที่อายุเยอะขึ้น เวลาคนที่ไม่ได้อายุเท่านั้นมาดู คิดว่าเขาน่าจะได้เรียนรู้อะไรจากตรงนั้น ก่อนที่เขาเองก็จะพบเจอกับช่วงชีวิตนั้นเช่นกัน 

หนูคิดว่า ตอนเราอายุเยอะ มันจะมีหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปจากในตอนที่เรายังแข็งแรงอยู่ เรามีความสุขกับชีวิต เรามีความฝัน แต่ว่าตอนที่คนอายุเท่านั้น มันคือช่วงสุดท้ายของชีวิตแล้ว หนูอยากให้คนที่ได้ดูการแสดงเราในตอนนี้ เขาได้เตรียมพร้อม และได้เรียนรู้จากสิ่งที่เราได้ถ่ายทอดมา อาจจะแค่จากร่างกายที่ได้เห็น ว่าเมื่อก่อนเราเป็นหนุ่ม เป็นสาวนะ แต่ตอนนี้ร่างกายเรามันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว แต่หลักๆ อยากให้คนได้ความคิดและความรู้สึกต่างๆ ไป หนูว่าจุดนี้เป็นจุดที่สำคัญที่สุดในชีวิตหนูเลย

เป้าหมายในวงการบันเทิงของคุณคืออะไร

ไม่มีค่ะ นอกจากอยากได้รับบทบาทที่แตกต่างไปเรื่อยๆ หนูรู้สึกว่าหนูประสบความสำเร็จแล้วในการที่หนูได้เป็นนักแสดง แค่อยากลองอะไรที่มันไม่เคยลอง อะไรที่มันใหม่ขึ้นที่ท้าทายความสามารถหรือกระโดดไปอีกโลกหนึ่ง เพราะการแสดงมันก็คือการได้ไปเรียนรู้ในโลกหรือชีวิตที่เราไม่เคยได้สัมผัส

บทไหนที่คุณอยากเล่น แต่ยังไม่ได้เล่น

ไม่มีเป้าหมายเลยค่ะ (หัวเราะ) อะไรก็ได้ที่ยังไม่เคยเล่น เพราะอยากลองไปเรื่อยๆ 

สิ่งที่คุณทำได้ดีรองจากการแสดงคืออะไร

หนูชอบร้องเพลงค่ะ หนูร้องเพลงได้ แต่ไม่รู้ว่าร้องดีหรือเปล่า (หัวเราะ) 

รู้ตัวว่าชอบร้องเพลงตอนไหน 

ตั้งแต่จำความได้ก็ร้องเพลงมาโดยตลอด เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่หนูทำได้และมีความสุข แต่บางช่วงมันไม่ค่อยมีความสุขนัก คือเวลาที่ต้องไปแข่งขัน 

ทำไมคุณถึงไม่ชอบการแข่งขัน 

เราไม่อยากแข่งกับใคร เป็นคนขี้สงสารด้วย ไม่สงสารอื่น ก็สงสารตัวเอง เลยไม่ชอบการแข่งขัน ไม่ชอบการประกวดร้องเพลง แต่ว่าชอบร้องเพลงให้คนอื่นมีความสุข

ชวน ญดา-นริลญา กุลมงกุฏเพชร จากภาพยนตร์เรื่อง ‘ร่างทรง’ มาเล่าเรื่องหนัง ตัวตน และเหตุผลที่ต้องเป็นคนไม่มีความฝัน
ชวน ญดา-นริลญา กุลมงกุฏเพชร จากภาพยนตร์เรื่อง ‘ร่างทรง’ มาเล่าเรื่องหนัง ตัวตน และเหตุผลที่ต้องเป็นคนไม่มีความฝัน

แสดงว่าคุณเคยไปประกวดมาหลายเวที

ใช่ค่ะ แต่เป็นเวทีเล็กๆ ในงานโรงเรียนหรือระดับอำเภอ เพราะหนูอยู่ต่างจังหวัด มันเลยเป็นการประกวดแบบนั้น มีครั้งหนึ่งเป็นประสบการณ์ที่แย่มาก หนูเคยปวดท้องมากเพราะเกิดจากความเครียด จนขึ้นไปร้องเพลงก็ทำหน้าปวดท้องตลอดเวลา แต่ต้องฝืนร้องเพลง (หัวเราะ) หลังจากนั้นก็ไม่คิดที่จะประกวดอีกเลย

แต่ก็ยังมีความสุขกับการร้องเพลง

ใช่ค่ะ หนูเคยออกซิงเกิ้ลของตัวเองเมื่อประมาณสี่ปีที่แล้ว ชื่อเพลงว่า ‘ฝุ่น’ ตอนนั้นเป็นวงเกิร์ลกรุ๊ปชื่อ GELATO ของค่าย MONO MUSIC

ยังอยากทำงานเพลงต่ออีกไหม

อืม… ไม่รู้เหมือนกันว่าถ้าเกิดทำจริงจัง มันจะเกิดความรู้สึกที่เราไม่ชอบมันอีกหรือเปล่า ชอบร้องเล่นๆ มากกว่า แต่ก็อาจจะคิดอีกที ถ้าร้องแล้วทำให้คนมีความสุข

คุณอยากให้คนดูมีความสุข คนฟังมีความสุข แล้วความสุขของคุณล่ะ คืออะไร

ความสุขของหนูคือการอยู่กับปัจจุบัน การไม่มีอัตตา ไม่ยึดถือว่าเราจะมีชีวิตยาวไปถึงร้อยปี การได้นั่งเฉยๆ ได้มองดูต้นไม้ มองดูท้องฟ้า หรือสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต ก็ทำให้หนูมีความสุขแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะละเลยชีวิต ไม่ทำงานทำการแล้ว ไม่ใช่แบบนั้นนะคะ มันเป็นเรื่องการมองโลกมากกว่า

ชวน ญดา-นริลญา กุลมงกุฏเพชร จากภาพยนตร์เรื่อง ‘ร่างทรง’ มาเล่าเรื่องหนัง ตัวตน และเหตุผลที่ต้องเป็นคนไม่มีความฝัน

‘อัตตา’ ทำให้คุณมองโลกเปลี่ยนไปอย่างไร

พอพูดถึงอัตตาในตัวตน คนที่คิดว่าได้ใช้ชีวิตมาแล้วในระดับหนึ่ง มักจะมีการมองโลกที่แตกต่าง และมองคนแตกต่างกันออกไป ซึ่งใช่ คนเรามันแตกต่างกันออกไป แต่ในมุมมองของหนู ทุกชีวิต ทุกคนเท่าเทียมกันหมด เพราะทุกชีวิตมีลมหายใจ มีความรู้สึก มีจิตใจเหมือนกัน หนูเลยรู้สึกว่าให้รักคนอื่นเหมือนที่รักตัวเอง แต่ไม่ใช่ว่ารักคนอื่นเกินไป แล้วทำร้ายตัวเอง แบบนี้ก็ไม่ใช่ 

คำว่า ‘อัตตาในตัวตน’ มันครอบคลุมหลายอย่างมาก ให้นึกตอนนี้นึกไม่หมด แต่พูดไปก็นึกออกเรื่อยๆ

อายุ 21 ปี ของคุณเป็นอย่างไร เล่าให้ฟังหน่อย

เป็นช่วงชีวิตที่ค่อนข้างตื่นเต้นนะ เพราะตอนอายุยี่สิบ ทุกคนจะบอกว่าหลังยี่สิบมันจะเร็วมากนะ เลยสงสัยว่าเราจะเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง แต่ตอนนี้หนูรู้สึกว่าหนูมีความอิ่มเอมกับชีวิตวัยยี่สิบเอ็ดปี เพราะเราได้เรียนรู้ชีวิตเพิ่มขึ้น 

หนูเชื่อว่าชีวิตคือการเรียนรู้ หนูเคยเป็นคนที่ไม่ได้มองโลกในแบบที่เป็นในวันนี้มาก่อน ก็เลยอยากจะขอบคุณทั้งคน ขอบคุณสถานที่ ขอบคุณเหตุการณ์ ขอบคุณทุกๆ ประสบการณ์ที่หล่อหลอมให้หนูเป็นหนูในวันนี้ หนูคงต้องเรียนรู้อะไรอีกเยอะ แต่ไม่ว่าเหตุการณ์นั้นจะแย่ที่สุดหรือดีที่สุด หนูก็พร้อมที่จะเรียนรู้

หนูเคยเป็นคนที่มองโลกแคบมาก่อน แล้วหนูได้รู้ว่าการมองโลกแบบนั้นมันไม่มีความสุขเลย แต่พอการมองโลกของเราเปลี่ยนไป ก็เหมือนตายแล้วเกิดใหม่ หนูเลยให้ค่อนข้างให้ความสำคัญกับประสบการณ์และการมองโลกมากๆ

เร็วเหมือนกันนะ เหมือนอายุหกสิบแล้วเนี่ย (หัวเราะ)

จุดเปลี่ยนในชีวิตครั้งไหนที่ทำให้คุณได้เรียนรู้มากที่สุด

น่าจะเป็นช่วงอายุสิบสี่ปีที่ต้องตัดสินใจมาทำงานในวงการบันเทิง ตอนนั้นฐานะทางครอบครัวไม่ได้ดีเลยค่ะ คุณแม่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวมาโดยตลอด เราใช้ชีวิตอยู่ที่ต่างจังหวัดและมีภาระมากมาย ไม่ได้มีต้นทุนชีวิตที่ดีมาก คุณแม่ต้องไปขายของที่ตลาดนัดเพื่อหาค่าน้ำมันมาให้หนูเดินทางไปแคสต์งาน ตอนนี้ก็ยังสงสัยว่าทำไมคุณแม่ถึงยอมให้หนูมาทำสิ่งนี้ได้

ฮือ… ทำไมหนูเจอต่อมน้ำตาบ่อยจัง 

คุณเรียนรู้อะไรจากวันเหล่านั้นบ้าง

หนูได้รู้จักชีวิตมากขึ้นว่าชีวิตมันมีปัจจัยอะไรบ้าง มันสำคัญกับเรายังไงบ้าง เราได้เรียนรู้การเป็นผู้ให้ ได้เป็นผู้นำครอบครัว ประสบการณ์มันสอนให้หนูเข้าใจอะไรหลายๆ อย่าง มันเป็นข้อดีที่ทำให้วันนี้หนูแข็งแรง

ชวน ญดา-นริลญา กุลมงกุฏเพชร จากภาพยนตร์เรื่อง ‘ร่างทรง’ มาเล่าเรื่องหนัง ตัวตน และเหตุผลที่ต้องเป็นคนไม่มีความฝัน

อยากให้คนจดจำคุณแบบไหนจากเรื่อง ‘ร่างทรง’ 

อยากให้คนจดจำหนูในฐานะนักแสดงคนหนึ่ง ว่าหนูมีความรักในการแสดง และอยากแสดงให้ทุกคนได้ดู

เหตุผลที่ต้องไปดู ‘ร่างทรง’ คืออะไร

ร่างทรงแตกต่างจากภาพยนตร์เรื่องอื่นในหลายๆ ด้าน หนูคิดว่ายังไม่เคยมีภาพยนตร์ไทยแนวนี้มาก่อนเลย เพราะมันถ่ายทอดทั้งวัฒนธรรม ประเพณีของคนกลุ่มหนึ่ง ที่อาจจะเปิดไปอีกโลกที่เราไม่เคยได้สัมผัส คนดูอาจได้เข้าใจวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตแบบนี้เพิ่มมากขึ้น เหมือนที่หนูได้เรียนรู้จากตัวละครของ ‘มิ้ง’ เชื่อว่าคนดูจะได้ซึมซับ ดำดิ่งไปกับตัวละครไปเรื่อยๆ และได้อะไรกลับไปใช้ชีวิตเหมือนกัน

ที่สำคัญ ภาพยนตร์เรื่องนี้ภาพสวยมาก ต้องขอบคุณตากล้องที่เก่งมาก และสถานที่ถ่ายทำก็สวยมากจริงๆ ซึ่งบางมุมหนูเองก็ยังไม่เคยเห็นมาก่อนเลย

แล้วถ้าญดาเป็นคนดูเสียเอง คิดว่าคุณจะได้อะไรจากภาพยนตร์เรื่องนี้

ถ้าหนูเป็นคนดูหนู หนูคงมองว่าชีวิตไม่ได้มีอะไรแน่นอน บางทีตัวเรา อาจจะไม่ใช่ตัวเราก็ได้

ชวน ญดา-นริลญา กุลมงกุฏเพชร จากภาพยนตร์เรื่อง ‘ร่างทรง’ มาเล่าเรื่องหนัง ตัวตน และเหตุผลที่ต้องเป็นคนไม่มีความฝัน

Writer

Avatar

ซูริ คานาเอะ

ชอบฟังมากกว่าพูด บูชาของอร่อย เสพติดเรื่องตลก และเชื่อว่าชีวิตนี้สั้นเกินกว่าจะอ่านหนังสือดีๆ ให้ครบทุกเล่ม

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล