The Cloud x TAT Contact Center เพื่อนร่วมทาง 

นราธิวาส ตั้งอยู่ในพื้นที่ปลายแหลมบนคาบสมุทรมลายู (Malay Peninsula) หนึ่งในสามจังหวัดปลายด้ามขวาน มีพรมแดนติดประเทศมาเลเซีย 

นอกจากจะมีทรัพยากรธรรมชาติสวยงามหลากหลายเป็นเอกลักษณ์ ทั้งแม่น้ำ ทะเล ป่าไม้ ภูเขา สายธารทางประวัติศาสตร์ยังเชื่อมร้อยเรื่องราวจากทั่วทุกสารทิศมาบรรจบกัน ผ่านเส้นทางการค้าที่ถูกเรียกขานว่า ‘เส้นทางสายไหมทางทะเล’ 

จากแผ่นดินไร้พรมแดน สู่ส่วนหนึ่งของอาณาจักรลังกาสุกะ ปาตานีดารุสสลาม กระทั่งร่วมสมัยรัตนโกสินทร์

จากชนพื้นเมืองดั้งเดิมชาติพันธุ์เนกริโต (เซมัง-โอรังอัสลี) ชาวมลายู ชาวฮินดู-พราหมณ์ ชาวจีน ชาวสยาม หรือชาวยุโรป

และจากความเชื่อในการนับถือผีสางนางไม้ สิ่งเร้นลับเหนือธรรมชาติ สู่ศรัทธาความเชื่อใหม่จำหลักมั่น ทั้งพุทธ ฮินดู-พราหมณ์ คริสต์ และอิสลาม

บนแผ่นดินเดียวกัน โชคชะตาเดียวกัน วิถีชีวิตผู้คนจึงได้อยู่อาศัยร่วมกันมาอย่างผูกพันกลมเกลียว 

คอลัมน์ Take Me Out จะชวนไปสัมผัสแหล่งเรียนรู้ชีวิตและมรดกวัฒนธรรม ประกอบสร้างจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ ศาสนสถาน ภาษา วัฒนธรรมผ้าและอาหาร รวมถึงจุดเด่นทางธรรมชาติอย่างกลมกลืนลงตัวในความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ในพื้นที่ที่มีความหมายว่า ที่อยู่ของคนดี-นราธิวาส

01 

มัสยิดวาดีลฮูเซ็น หรือ มัสยิดตะโละมาเนาะ

หนึ่งในสถาปัตยกรรมมัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดในแหลมมลายู

9 แหล่งเรียนรู้ชีวิตและมรดกวัฒนธรรม ที่จะทำให้เข้าใจนราธิวาสมากขึ้น

ผู้สร้างมัสยิดที่ว่ากันว่าเก่าแก่ที่สุดในแหลมมลายูแห่งนี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2167 นับเนื่องถึงปีปัจจุบัน 2564 มีอายุรวม 397 ปี คือ วันฮูเซ็น อัส-ซานาวี ผู้อพยพมาจากบ้านสะนอยานยา จังหวัดปัตตานี แรกสร้างมีลักษณะเป็นเพียงหลังคามุงใบลานแบบเรียบง่าย ก่อนจะเปลี่ยนเป็นกระเบื้องดินเผา 

9 แหล่งเรียนรู้ชีวิตและมรดกวัฒนธรรม ที่จะทำให้เข้าใจนราธิวาสมากขึ้น

หลักฐานสำคัญที่น่าสนใจคือ ครั้งหนึ่งบริเวณชุมชนข้างเคียงเคยเป็นแหล่งผลิตคัมภีร์อัลกุรอานที่เขียนด้วยมือ มีชื่อเสียงขจรกระจายไกล และสิ่งโดดเด่นประการหนึ่งที่มักถูกหยิบยกมากล่าวถึงกันเสมอของมัสยิดแห่งนี้ คือลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่แตกต่างจากมัสยิดทั่วไป 

ด้วยเป็นอาคาร 2 หลังติดต่อกัน สร้างด้วยไม้ตะเคียนทั้งหลัง ใช้ไม้สลักแทนตะปู รูปทรงอาคารเป็นแบบไทยพื้นเมืองประยุกต์เข้ากับศิลปะจีนและมลายู ได้รับการออกแบบอย่างลงตัว เหนือหลังคามีฐานมารองรับจั่วบนหลังคาอยู่ชั้นหนึ่ง กลายเป็นส่วนเด่นสุดของอาคาร หออาซานหรือที่ใช้สำหรับประกาศเรียกคนมาละหมาด มีลักษณะเป็นเก๋งจีนตั้งอยู่บนหลังคาส่วนหลัง ฝาเรือนใช้ไม้ทั้งแผ่นแล้วเจาะหน้าต่าง ช่องลมแกะเป็นลวดลายใบไม้ ดอกไม้ สลับลวดลายจีนอย่างกลมกลืนเป็นเอกลักษณ์ 

ปัจจุบัน ชาวบ้านตะโละมาเนาะ ยังคงใช้มัสยิดแห่งนี้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจอยู่เป็นประจำ โดยทั่วไปเข้าชมได้บริเวณภายนอกเท่านั้น หากต้องการเข้าชมภายใน ต้องได้รับอนุญาตจากอิหม่ามประจำหมู่บ้าน

ที่ตั้ง : บ้านตะโละมาเนาะ ตำบลลูโบะสาวอ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส (แผนที่)

เวลาเปิด-ปิด : ตั้งแต่เวลา 09.00 – 17.00 น.

โทรศัพท์ : 0 7352 2411

02

ขนมอาเก๊าะ – เจ้ายะกัง บาโง

มรดกขนมพื้นบ้านมลายู จากบรรพบุรุษสู่ทายาทรุ่นใหม่

รู้จักเสน่ห์ดั้งเดิมของนราธิวาส ผ่าน 7 แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ ตั้งแต่ในเมือง ถึงผืนป่าและทะเล

“ครอบครัวของเราทำขนมอาเก๊าะมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ แม้จะมีกระบวนการขั้นตอนที่ยุ่งยาก แต่เป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้ครอบครัว จึงตั้งใจสานต่อสืบทอดมาถึงคนรุ่นใหม่ คือรุ่นลูกหลานในปัจจุบัน”

เมาะจิ สเปีย ผู้อาวุโสจากร้านอาเกาะ ฮัจญะห์ ยามีล๊ะ ยะกัง เจ้าเก่า บอกเล่าเรื่องการสืบทอดวิชาทำขนมโบราณในพื้นที่ชายแดนใต้ ขึ้นชื่อในลิสต์ลำดับต้น ๆ ของขนมช่วงเดือนรอมฎอน (เดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม) จะขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ลูกค้าโทรศัพท์สั่งจองกันข้ามวัน ใครไม่จองก่อน รับรองอดแน่นอน

9 แหล่งเรียนรู้ชีวิตและมรดกวัฒนธรรม ที่จะทำให้เข้าใจนราธิวาสมากขึ้น

 อาเก๊าะ คือขนมโบราณชนิดหนึ่ง เป็นที่นิยมกันมากในจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส สันนิษฐานว่าชื่อนี้อาจเพี้ยนมาจากคำภาษามลายูว่า อาเก๊ะ ที่แปลว่า ยกขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะสะท้อนถึงกรรมวิธีการผลิตที่ต้องยกไฟที่วางอังไว้ข้างบนออกทุกครั้งเมื่อขนมสุก ด้วยการผิงไฟบนล่างด้วยเชื้อไฟจากกาบมะพร้าวให้ความร้อนทั่วถึง เห็นควันลอยโขมงอยู่รอบบริเวณ และถึงแม้เวลาจะผ่านไป บรรดาแม่ค้าที่ทำขนมอาเก๊าะก็ยังคงใช้วิธีแบบดั้งเดิม เพราะเป็นที่มาของกลิ่นหอมเย้ายวนชวนให้ลอง

9 แหล่งเรียนรู้ชีวิตและมรดกวัฒนธรรม ที่จะทำให้เข้าใจนราธิวาสมากขึ้น

อาเก๊าะที่สุกได้ที่แล้วจะมีลักษณะเหมือนคัสตาร์ดหรือขนมหม้อแกงเนื้อแน่น กลิ่นหอม รูปทรงรีและแบน แต่ละร้านมีสูตรการทำแตกต่างกันไป เพื่อทำให้ขนมอาเก๊าะมีเนื้อและรสแตกต่างกันไป กระทั่งทุกวันนี้ขนมอาเก๊าะ ยะกัง เป็นที่รู้จักและมีออเดอร์จำนวนมาก ทั้งในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะช่วงเดือนรอมฎอน มียอดสั่งถึงวันละ 2,000 – 3,000 ลูก ถึงขั้นต้องเร่งการผลิต ผลัดเวรทำทั้งวันทั้งคืน

ที่ตั้ง : บ้านบาโง ชุมชนยะกัง 1 ตำบลบางนาค อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส (แผนที่)

เวลาเปิด-ปิด : ประมาณ 09.00 – 17.00 น. 

โทรศัพท์ : 08 1599 2010

03

ภัตตาคารมังกรทอง

ร้านอาหารเก่าแก่สะท้อนจีนวิถี แต่มีเมนูสมานฉันท์ ไทย จีน และปักษ์ใต้ 

รู้จักเสน่ห์ดั้งเดิมของนราธิวาส ผ่าน 7 แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ ตั้งแต่ในเมือง ถึงผืนป่าและทะเล

ร้านอาหารไทย-จีนชื่อเสียงในระดับต้น ๆ อยู่คู่เมืองนรามายาวนานตั้งแต่ พ.ศ. 2518 จากบ้านอยู่อาศัย ปรับปรุงกลายเป็นร้านอาหารชื่อดังสไตล์จีนร่วมสมัย ให้บริการแบบอบอุ่นเป็นกันเอง 

ที่นี่คือร้านอาหารจีนที่ได้รับการยอมรับว่ารสชาติดีที่สุดในนราธิวาส เน้นหนักอาหารประเภทปลา กุ้ง เมนูเด็ด เช่น ขนมจีนแกงไตปลาปักษ์ใต้ มีไข่ต้มทานประกอบ แกงส้มปลากะพงยอดมะพร้าว แกงไตปลา เป็ดกรอบ สลัดกุ้งทอด ปลาสำลีทอด ไก่สับเบตง ยำผักกูด ผัดสะตอกุ้งสด หรือปลากุเลาตากใบ และปลาหมอหยองแดดเดียวทอด

ป้ามะลิ หรือ คุณมะลิวัลย์ คือผู้ริเริ่มสร้างภัตตาคารมังกรทอง ลงมือทำเครื่องแกงเอง จึงได้รสชาติหอมกรุ่นชวนหิวตามต้องการ จนติดใจลูกค้าทั้งในและนอกพื้นที่ โดยเฉพาะเวลามีงานเทศกาลต่าง ๆ 

ร้านมังกรทองมี 2 ชั้น ชั้นบนเป็นห้องจัดเลี้ยงส่วนตัว เป็นร้านสำหรับต้อนรับนักชิมทั้งชาวไทย จีน และปักษ์ใต้พื้นถิ่น บรรยากาศก็เยี่ยมเพราะทำเลที่ตั้งอยู่ติดริมน้ำบางนรา มีระเบียงโล่งและเป็นแพยื่นลงไปในแม่น้ำ ยามเย็นลมโปร่งพัดสบาย ได้ชมวิวและวิถีชีวิตของชาวนราธิวาสเพลิน ๆ กันไป 

9 แหล่งเรียนรู้ชีวิตและมรดกวัฒนธรรม ที่จะทำให้เข้าใจนราธิวาสมากขึ้น

บางช่วงจะเห็นเรือกอและของชาวบ้านวิ่งผ่านไปมาช่วงพระอาทิตย์ใกล้ลับขอบฟ้า และบางคืนเห็นพระจันทร์ที่ค่อย ๆ โผล่พ้นเขาตันหยง ทอดเงาพลิ้วไหวในสายน้ำบางนรา กลายเป็นสถานที่ของความทรงจำระหว่างอาหารรสชาติอร่อยและหัวใจอิ่มสุขได้ดื่มด่ำรสธรรมชาติ

ที่ตั้ง : 433 ถนนภูผาภักดี ตำบลบางนาค อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส (แผนที่)

เวลาเปิด-ปิด : เปิดบริการทุกวัน 11.00 – 22.00 น.

โทรศัพท์ : 0 7351 1835

Facebook : มังกรทอง นราธิวาส Mangkorntong Narathiwat

04

บาติกอ่าวมะนาว

ร้านผ้าบาติกของชุมชนมุสลิมริมทะเล 

รู้จักเสน่ห์ดั้งเดิมของนราธิวาส ผ่าน 7 แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ ตั้งแต่ในเมือง ถึงผืนป่าและทะเล

อ่าวมะนาว ชายหาดสวยงามด้วยเม็ดทรายขาวละเอียดเหยียดยาวขนานไปกับน้ำทะเลสีคราม และมีหมู่บ้านชายทะเลน่ารักอยู่ชิดริมอ่าวชื่อว่า บ้านอ่าวมะนาว 

ที่นี่คือแหล่งผลิตผ้าบาติกที่เต็มไปด้วยความสดใสของเส้นสาย ประหนึ่งวาดสีสันชีวิตใหม่ให้ผู้คน จากหมู่บ้านที่มีประชากรแทบทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลาม ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ยึดอาชีพการประมง (ลูกจ้างเรือประมง) เป็นหลัก แต่รายได้ก็ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ ชาวบ้านส่วนหนึ่งจึงตัดสินใจเดินทางไปขายแรงงานในประเทศมาเลเซีย ทำให้ชุมชนเงียบเหงา เหมือนไร้ความหวัง

9 แหล่งเรียนรู้ชีวิตและมรดกวัฒนธรรม ที่จะทำให้เข้าใจนราธิวาสมากขึ้น
9 แหล่งเรียนรู้ชีวิตและมรดกวัฒนธรรม ที่จะทำให้เข้าใจนราธิวาสมากขึ้น

ทว่าจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2536 เมื่อ พิสชัยวุธ และ มีนะ หะยีกะจิ ซึ่งในขณะรับราชการ แต่สมาชิกในครอบครัวลองทำงานอดิเรกด้วยการทำผ้าบาติก จนเห็นว่าหากทำอาชีพนี้อย่างจริงจัง น่าจะสร้างรายได้ได้ ประกอบกับมีชาวบ้านที่เคยทำงานในโรงงานบาติกในประเทศมาเลเซียเดินทางกลับมาบ้าน จึงชักชวนและรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่ม และได้รับการช่วยเหลือในการรวมกลุ่มดำเนินงานอย่างจริงจังจากทางราชการ

เรื่องราวเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และภูมิปัญญาพื้นบ้าน จึงปรากฏผ่านลายผ้าบาติกที่ถูกนำมาแปรรูปเป็นสินค้าหลากหลายชนิด ทั้งเสื้อผ้า ผ้าคลุม กระโปรงฝ้าย กระเป๋าผ้าบาติก ฯลฯ

ที่ตั้ง : 24/15 หมู่ 7 ตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส (แผนที่)

เวลาเปิด-ปิด : 09.00 – 17.00 น. (ปิดทำการวันอาทิตย์)

โทรศัพท์ : 09 8019 6952, 08 1275 5399

Facebook : Aomanao Batik

05

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขุนละหาร

แหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมชุมชนของทายาทท่านขุน

รู้จักเสน่ห์ดั้งเดิมของนราธิวาส ผ่าน 7 แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ ตั้งแต่ในเมือง ถึงผืนป่าและทะเล

ด้วยเป้าหมายเพื่อมุ่งรักษาศิลปะ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ให้เยาวชนรุ่นหลังได้ศึกษารากเหง้าในอดีต ผู้ใหญ่มิง-รัศมินทร์ นิติธรรม จึงตัดสินใจก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขุนละหาร ใน พ.ศ. 2552 และเปิดตัวเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ.​ 2555 หวังสืบทอดเจตนารมณ์บรรพบุรุษ ในฐานะบุตรชายของ มนูญธรรม นิติธรรม (หลานชายคนโตของขุนละหาร) และ มีนา นิติธรรม จนนับเป็นตัวอย่างที่ดีในการเคลื่อนไหวของคนในชุมชน 

“ทั้งคุณค่าวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ เรื่องราวเหล่านี้เป็นอัตลักษณ์สำคัญและมีคุณค่ามาก ผมจึงตั้งใจอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น ความเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมของชุมชน และมุ่งถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนและสังคม” รัศมินทร์ นิติธรรม บอกเล่าถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ

9 แหล่งเรียนรู้ชีวิตและมรดกวัฒนธรรม ที่จะทำให้เข้าใจนราธิวาสมากขึ้น

ภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งเป็น 6 ห้อง เช่น ห้องภูมิหลัง จัดแสดงเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องปั้นดินเผายุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยลังกาสุกะ ห้องเครื่องใช้ไม้สอย จัดแสดงเครื่องมือ เครื่องใช้ ของชาวมลายูในชายแดนใต้ ห้องพิธีกรรม จัดแสดงแบบประเพณี พิธีกรรมของชาวมลายูในชายแดนภาคใต้ ห้องสายน้ำ จัดแสดงวัสดุ อุปกรณ์ การประกอบอาชีพ ประมงน้ำจืด ประมงน้ำเค็ม และห้องศาสตราวุธ จัดแสดงศาสตราวุธชาวมลายูในอดีต 

รูปแบบของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้แตกต่างจากพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอื่น ๆ ในอดีต เพราะนอกจากจัดแสดงโบราณวัตถุแล้ว ยังจัดกิจกรรมสร้างความผูกพันกับชุมชนและกลุ่มวัฒนธรรมอื่น และแสดงองค์ความรู้ทางด้านการเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่น เช่น ด้านการปกครอง สังคม ประเพณี ความเชื่อ และพิธีกรรม อย่างต่อเนื่อง 

9 แหล่งเรียนรู้ชีวิตและมรดกวัฒนธรรม ที่จะทำให้เข้าใจนราธิวาสมากขึ้น

ผู้มาเยือนพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะเข้าใจวิถีชีวิต ศรัทธาความเชื่อของผู้คน ผ่านศิลปวัฒนธรรม ประเพณี อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ และประการสำคัญ ได้มองเห็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ที่เชื่อมต่อแต่ละยุคสมัย ภายใต้สายรากวัฒนธรรมมลายูได้อย่างชัดเจนขึ้น

ที่ตั้ง : บ้านกาเด็ง หมู่ 7 ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส (แผนที่)

เวลาเปิด-ปิด : เปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น.

โทรศัพท์ : 0 7359 1222, 08 9656 9957

Facebook : พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขุนละหาร Khun Laharn Local Museum

06

พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์การเรียนรู้อัล-กุรอาน

แหล่งเก็บคัมภีร์อัล-กุรอานโบราณอายุกว่าพันปี ตำรายา และตำราดาราศาสตร์

รู้จักเสน่ห์ดั้งเดิมของนราธิวาส ผ่าน 7 แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ ตั้งแต่ในเมือง ถึงผืนป่าและทะเล

ย้อนหลังไปเมื่อ 500 ปีก่อน เมื่อพญาอินทิราแห่งอาณาจักรลังกาสุกะ ได้ปฏิญานตนเข้ารับศาสนาอิสลาม และเปลี่ยนชื่อเป็น สุลต่านอิสมาอีลชาห์ อาณาจักรลังกาสุกะถึงคราเปลี่ยนเป็น ปาตานีดารุสสาลาม ผู้คนส่วนใหญ่ในพื้นที่จึงเข้ารับนับถือศาสนาอิสลามตราบกระทั่งทุกวันนี้ 

เรื่องราวเกี่ยวกับคัมภีร์อัล-กุรอาน (Al-Quran) คัมภีร์ในศาสนาอิสลามกลายเป็นเรื่องสำคัญ ชาวมุสลิมเชื่อว่าเป็นพระวจนะของอัลลอฮ์ ที่ประทานผ่านเทวทูตญิบรีลมาสู่นบีมุฮัมมัด เพื่อเป็นทางนำในการดำเนินชีวิตของชาวมุสลิมผู้ศรัทธาเมื่อ 1,400 ปีก่อน

“ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน อัล-กุรอาน จึงสำคัญต่อวิถีชีวิตของชาวมุสลิม” โต๊ะครู มาหามะลุตฟี หะยีลาแม ผู้บริหารสถานศึกษาสอนศาสนาอิสลามโรงเรียนสมานมิตรวิทยา ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ร่วมกับคณะครูโรงเรียนสมานมิตร กล่าวถึงความสำคัญของคัมภีร์ที่เป็นทางนำในชีวิตของผู้นับถือศาสนาอิสลาม เป็นความตั้งใจที่จะรวบรวมประเภทคัมภีร์อัล-กุรอานโบราณ มรดกทางศิลปวัฒนธรรมอิสลามที่ตกทอดจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

จากเริ่มแรกรวบรวมได้ 13 เล่ม เป็นสมบัติของโรงเรียนและจากสุเหร่าเก่าแก่ในชุมชน ต่อมาจึงมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งจากชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และชาวต่างชาติแถบประเทศอาเซียน ทยอยนำมามอบให้ กระทั่งสามารถรวบรวมคัมภีร์ได้มากกว่า 70 เล่ม 

9 แหล่งเรียนรู้ชีวิตและมรดกวัฒนธรรม ที่จะทำให้เข้าใจนราธิวาสมากขึ้น
9 แหล่งเรียนรู้ชีวิตและมรดกวัฒนธรรม ที่จะทำให้เข้าใจนราธิวาสมากขึ้น

“คัมภีร์อัล-กุรอาน ที่เก่าแก่ที่สุดของโรงเรียนสมานมิตรวิทยามีอายุกว่าหนึ่งพันปีจากประเทศอียิปต์ หรือคัมภีร์โบราณจากรูสะมีแล ปัตตานี อายุกว่าสามร้อยปี ได้รับคัดเลือกจากสถาบันหอสมุดสุไลมานียะห์ ประเทศตุรกี ให้เป็นคัมภีร์ที่มีความสวยงามที่สุดในประเทศโลกมุสลิม เมื่อ พ.ศ. 2559 นอกจากนี้ ยังมีเอกสารโบราณที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตมุสลิมที่ชาวต่างชาติมามอบให้ เช่น จากอียิปต์หรืออินโดนีเซีย ชาวมุสลิมที่มีโอกาสเดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ หรือในอดีตเคยติดต่อกับประเทศไทย มีทั้งตำรายา ตำราดาราศาสตร์ และตำราต่าง ๆ ที่ล้วนมีอายุเก่าแก่มาก” 

เอกสารโบราณเหล่านี้ ทางกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้เข้ามาดูแลเรื่องการเก็บรักษา บูรณะ ซ่อมแซม ตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง แต่หากเป็นคัมภีร์อัล-กุรอาน ที่ชำรุดและไม่สามารถซ่อมแซมเองได้ ก็จะจัดส่งไปให้ช่างผู้ชำนาญการในประเทศตุรกีซ่อมแซม 

ผู้มาเยือนสถานที่แห่งนี้จะได้เรียนรู้วิถีมุสลิม หรือสถานที่น่าสนใจเกี่ยวเนื่องกับมุสลิมในจังหวัดนราธิวาส กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมของชาติที่สำคัญแห่งหนึ่ง

ที่ตั้ง : โรงเรียนสมานมิตรวิทยา ชุมชนบ้านศาลาลูกไก่ ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส (แผนที่)

เวลาเปิด-ปิด : เปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 – 17.00 น.

โทรศัพท์ : 08 4973 5772

07

เกาะยาว 

เกาะแห่งตากใบ ดินแดนแสงอาทิตย์ แสงดาว และชาวประมง

รู้จักเสน่ห์ดั้งเดิมของนราธิวาส ผ่าน 7 แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ ตั้งแต่ในเมือง ถึงผืนป่าและทะเล

เกาะยาวหรือบ้านเกาะยาว มีลักษณะพื้นที่แคบยาว ส่วนกว้างสุดไม่ถึง 1 กิโลเมตร ยาวประมาณ 9 กิโลเมตร ตั้งอยู่ตรงข้ามที่ว่าการอำเภอตากใบ ฝั่งหนึ่งติดทะเลอ่าวไทย ส่วนอีกฝั่งด้านหนึ่งติดแม่น้ำตากใบ มีชายหาดทรายขาวสะอาด ทิวมะพร้าวเรียงรายเป็นแนวยาวสวยงาม บรรยากาศร่มรื่นเหมาะเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ 

“จากลักษณะพื้นที่ขนานฝั่งทะเล ทำให้เกิดเป็นลำคลอง มีเกาะกำบังลมและคลื่นจากทะเล ชาวประมงจึงนิยมนำเรือมาจอดหลบคลื่นลมในฤดูมรสุม” มะสือลัม สาแลแม อิหม่ามมัสยิดบนเกาะ หนึ่งในแกนร้อยรัดศรัทธาของผู้คนในชุมชนสะท้อนบางมุมของเกาะยาว

ปัจจุบันการเดินทางจากแผ่นดินใหญ่สู่เกาะยาวเข้าได้ 2 ทาง รถยนต์เข้าทางหาดท่าเสด็จ ส่วนทางเท้าหรือมอเตอร์ไซค์จะผ่านทางสะพานเกาะยาวฝั่งตากใบ ก่อนหน้านี้การเดินทางจากเกาะยาวมายังฝั่งที่ว่าการอำเภอ ชาวบ้านต้องใช้เรือสัญจร กว่าจะมีการสร้างสะพานไม้เชื่อมทางต้องคอยถึง 100 ปี จึงเป็นสาเหตุให้ประชาชนเรียกสะพานดังกล่าวว่า ‘สะพานคอยร้อยปี’

เมื่อการก่อสร้างสะพานเกาะยาวเสร็จสิ้น ประกอบกับแผนผลักดันให้พื้นที่นี้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ทุกวันนี้จึงมีผู้คนเข้ามาท่องเที่ยวบนเกาะยาวมากขึ้น ทั้งคนต่างพื้นที่ พี่น้องชาวมาเลเซีย ชาวจีน ฝรั่งต่างชาติ ชาวบ้านเองเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับคนภายนอกมากขึ้น เพราะภาพของชุมชนที่มีสภาพแวดล้อมสวยงามสดชื่น ภายใต้บรรยากาศร่มรื่น อุดมสมบูรณ์ด้วยต้นมะพร้าวรายเรียงและป่านิเวศริมฝั่งทะเล สัมผัสชุมชนที่มีเรื่องเล่าจากชุมชนเป็นประวัติศาสตร์มายาวนาน ผู้คนดำรงชีวิตอย่างมีอัตลักษณ์ และยังคงรักษาความสะอาดและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างดี

9 แหล่งเรียนรู้ชีวิตและมรดกวัฒนธรรม ที่จะทำให้เข้าใจนราธิวาสมากขึ้น

สำหรับผู้พิสมัยเรื่องดาวเดือน ช่วงเดือนหงาย ท้องฟ้าเกาะยาวมีดวงดาวพราวแสงอร่ามเต็มฟ้า เป็นห้วงแห่งการตักตวงความสุข เมื่อทอดสายตามองบนฟากฟ้าเห็นทะเลดาว และเมื่อทัศนาวิถีโดยรอบ จะสัมผัสได้ถึงความเงียบสงบ งดงาม อวลด้วยมนต์เสน่ห์จากหาดทรายขาว ทิวมะพร้าว และคลื่นขาวลมสงบ

และจากค้นหาข้อมูลการขึ้นของดวงอาทิตย์จากสมาคมดาราศาสตร์ไทย พบว่าในช่วงปลายปี พื้นที่บนเกาะยาวแห่งนี้จะเห็นแสงแรกของดวงอาทิตย์ก่อนจังหวัดอื่น ๆ นับเป็นจังหวัดแรกที่ดวงอาทิตย์ดั่งขึ้นจากท้องทะเลสู่ฟากฟ้า

9 แหล่งเรียนรู้ชีวิตและมรดกวัฒนธรรม ที่จะทำให้เข้าใจนราธิวาสมากขึ้น

ประการสำคัญ เมื่อยืนทัศนามุมกว้างจะเห็นภาพ ‘วัดชลธาราสิงเห’ กับ ‘มัสยิดนูรุลบะรีย์’ ตั้งเด่นอยู่คนละฝั่งของลำน้ำ โดยมีสะพานคอยร้อยปีเป็นเส้นทางเชื่อมวิถีของผู้คนต่างศาสนา สะท้อนถึงการอยู่ร่วมกันอย่างงดงาม

ที่ตั้ง : หมู่ที่ 8 ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส (แผนที่)

เวลาเปิด-ปิด : 06.00 – 19.00 น.

08

วัดชลธาราสิงเห

พระอารามหลวงที่ผสานศิลปะพุทธ มุสลิม และจีน

9 แหล่งเรียนรู้ชีวิตและมรดกวัฒนธรรม ที่จะทำให้เข้าใจนราธิวาสมากขึ้น

ทั้งเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ งานจิตรกรรม รูปแบบสถาปัตยกรรม พิพิธภัณฑ์ ภูมิทัศน์รอบวัดซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำตากใบ ทำให้บรรยากาศวัดเงียบสงบ ร่มรื่นด้วยร่มเงาจากพรรณไม้ สร้างความโดดเด่นให้กับสถานที่สำคัญแห่งนี้ 

วัดชลธาราสิงเห หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย เป็นพระอารามหลวง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2403 ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 สมัยดินแดนตากใบยังเป็นรัฐกลันตัน โดย ท่านพระครูโอภาส พุทธคุณ (พุด) ขอที่ดินมาจากพระยากลันตัน 

9 แหล่งเรียนรู้ชีวิตและมรดกวัฒนธรรม ที่จะทำให้เข้าใจนราธิวาสมากขึ้น

วัดโดดเด่นเรื่องสถาปัตยกรรม อาคารแต่ละหลังมีเอกลักษณ์ ผสมผสานความเป็นพุทธ มุสลิม และจีน เป็นศูนย์กลางด้านภูมิทัศน์วัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมท้องถิ่น ที่สำคัญ มีความเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ของชาติ ครั้งถูกหยิบยกเป็นเหตุผลอ้างอิงในการปักปันเขตแดนระหว่างไทย-มาเลเซีย ใน พ.ศ. 2441 ที่ส่งผลให้ดินแดนส่วนนี้ไม่ถูกผนวกเข้าในเขตของประเทศมาเลเซียยุคอาณานิคมอังกฤษ

9 แหล่งเรียนรู้ชีวิตและมรดกวัฒนธรรม ที่จะทำให้เข้าใจนราธิวาสมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีกุฏิสิทธิสารประดิษฐ์หรือกุฏิพระครสิทธิสารวิหารวัตร ซึ่งมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเก่าแก่งดงาม เดิมเป็นอาคารไม้ทั้งหลัง ต่อมากุฏิพังทลายลง ทางวัดจึงสร้างขึ้นใหม่แต่รูปแบบค่อนข้างต่างไปจากเดิม ปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากรให้เป็นพิพิธภัณฑสถานวัดชลธาราสิงเห เพื่อเก็บโบราณวัตถุชิ้นสำคัญของวัดจากภาพถ่ายเก่า รวมถึงภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เขียนโดยพระภิกษุชาวสงขลา เป็นพุทธประวัติที่สอดแทรกภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสมัยนั้นไว้เด่นชัดและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง 

ที่ตั้ง : หมู่ที่ 3 ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส (แผนที่)

เวลาเปิด-ปิด : 08.00 – 17.00 น.

โทรศัพท์ : 0 7358 1238

09 

ทะเลหมอกเขาน้ำใส

ส่วนหนึ่งของป่าฮาลา-บาลาอันยิ่งใหญ่ 

รู้จักเสน่ห์ดั้งเดิมของนราธิวาส ผ่าน 7 แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ ตั้งแต่ในเมือง ถึงผืนป่าและทะเล

สุคิริน…

ชื่อนี้มีเรื่องเล่า ตำนาน และเรื่องราวน่าสนใจอยู่มากมาย ทั้งตำนานเหมืองทอง ล่องแก่งต้นน้ำสายบุรี และหนึ่งในนั้นคือเรื่องราวเกี่ยวกับทะเลหมอก โดยเฉพาะที่กำลังโด่งดังคือ ทะเลหมอกเขาน้ำใส ที่บ้านน้ำใส ตำบลเกียร์ สถานที่สัมผัสบรรยากาศธรรมชาติ สีเขียวห่มดิน อากาศสุดบริสุทธิ์ โดยเฉพาะผืนป่าสำคัญ ฮาลา-บาลา ผืนป่าดงดิบที่กล่าวได้ว่าอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ครอบคลุมผืนป่าบริเวณเทือกเขาสันกาลาคีรี อันเป็นเส้นแบ่งพรมแดนทางธรรมชาติระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย ส่วนที่นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสจากจุดชมวิวทะเลหมอกเขาน้ำใสคือส่วนของป่าบาลา

9 แหล่งเรียนรู้ชีวิตและมรดกวัฒนธรรม ที่จะทำให้เข้าใจนราธิวาสมากขึ้น

เส้นทางและสถานที่ตั้งของทะเลหมอกเขาน้ำใส ไม่ได้ลำบากยุ่งยากอะไรมากสำหรับนักเดินทาง แต่คุณค่าของการมีโอกาสได้สัมผัสช่างคุ้มค่ายิ่งนัก เพราะผู้มาเยือนจะได้สัมผัสบรรยากาศยามเช้า พร้อมกับรับประทานอาหารเช้าเคล้าสายหมอก ณ จุดชมวิว ได้พูดคุยกับผู้นำชุมชนและเยาวชนบ้านน้ำใส หัวเรี่ยวหัวแรงในการดูแลจัดการบริหารอำนวยความสะดวกในเรื่องสถานที่ 

ทะเลหมอกแห่งนี้ สะท้อนถึงความร่วมมือของชุมชน ผ่านผู้นำชุมชนและกลุ่มเยาวชนบ้านน้ำใส พร้อมอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้นิยมการตั้งแคมป์ ก่อกองไฟปิ้งย่าง จิบชากาแฟร้อน ๆ กางเต็นท์นอนดูดาว ยามค่ำคืนเห็นดาวบนดิน พอชื่นเช้าเห็นหมอกเต็มฟ้า ก็เลือกมุมเซลฟี่กับทะเลหมอกสวยงามแบบ 360 องศา เห็นหมอกขาวม้วนตัวราวกับเกลียวคลื่นเต็มฟ้าฟากทั้งที่ไม่ใช่ฤดูหนาว มุมถ่ายภาพกว้างไกลสุดสายตา ถ่ายภาพมุมไหนก็ประทับใจ เสร็จแล้วก็ทานข้าวยำหรืออาหารพื้นบ้านท่ามกลางสายหมอก 

เช่นที่กล่าวกันว่า ยิ่งเข้าใกล้ธรรมชาติ ความทุกข์ก็น้อยลงเท่านั้น

“ขอให้รักป่า รักเขา รักเรา ทะเลหมอกเขาน้ำใส” ถ้อยเชิญชวนจาก โกเมท เจ๊ะตือเงา แกนนำเยาวชนบ้านน้ำใสที่พร้อมต้อนรับผู้มาเยือนทุกคนด้วยหัวใจไร้พรมแดน

9 แหล่งเรียนรู้ชีวิตและมรดกวัฒนธรรม ที่จะทำให้เข้าใจนราธิวาสมากขึ้น

ที่ตั้ง : หมู่ 3 บ้านน้ำใส ตำบลเกียร์ อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส (แผนที่)

เวลาเปิด-ปิด : 05.00 – 18.00 น.

โทรศัพท์ : 06 5753 4379, 09 9306 0038

Facebook : จุดชมวิว ทะเลหมอกเขาน้ำใส

ภาพ : มาหามะสาบรี เจ๊ะเลาะ และ รัชต หะยีมามุ

Writer

Avatar

ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์

ชาวดุซงญอ-นราธิวาส โดยกำเนิด ชอบอ่าน เขียน ถ่ายภาพ เดินทาง และทำกิจกรรมทางสังคมในนามกลุ่มหัวใจเดียวกัน

Photographers

Avatar

มูหมัดซอเร่ เดง

ช่างภาพอิสระจากจังหวัดปัตตานี เริ่มต้นถ่ายภาพเพื่อช่วยเหลือคนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากพายุดีเปรสชันถล่มปัตตานีใน พ.ศ. 2553 เพราะเห็นพลังของภาพถ่ายที่ช่วยเหลือสังคมได้ โดยไม่ต้องอาศัยสื่อกระแสหลัก

Avatar

ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์

ชาวดุซงญอ-นราธิวาส โดยกำเนิด ชอบอ่าน เขียน ถ่ายภาพ เดินทาง และทำกิจกรรมทางสังคมในนามกลุ่มหัวใจเดียวกัน