The Cloud x TAT Contact Center เพื่อนร่วมทาง
ในฐานะจังหวัดเล็ก ๆ มีสายน้ำบางนราไหลซอกซอนจากผืนป่า เลาะเลียบผ่านใจกลางเมือง เรียงรายด้วยอาคารรูปทรงโบราณแปลกตา ‘นราธิวาส’ กลายเป็นชุมชนมากเสน่ห์ชวนใจให้ใครหลายคนหลงใหลอยากมาเยือน
บางคนอาจชมชื่นศิลปวัฒนธรรม ประเพณีที่โดดเด่น ทั้งการเชิดสิงโตงานศาลเจ้าโก้วเล้งจี่ การเล่นดิเกร์ฮูลู รำรองเง็ง ในเทศกาลสำคัญของพี่น้องมุสลิม สารทเดือนสิบชาวไทยพุทธ หรืองานบูชาพระพิฆเนศของชาวฮินดู
บางคนหลงใหลความหลากหลายของวิถีผู้คน อันเป็นพลังสำคัญร่วมขับเคลื่อนเมือง คนไทยเชื้อสายจีนเปิดร้านจำหน่ายสินค้านานาชนิด คนมุสลิมขายอาหารพื้นถิ่นหอมกลิ่นเครื่องเทศ หรือชาวฮินดูเปิดร้านขายผ้าลวดลายแปลกตา
ใช่เพียงรอยจำจากอดีตที่เป็นเพียงชุมชนประมงมะนารอเล็ก ๆ ก่อนจะเป็นบางนราและนราธิวาสในที่สุด พร้อมภาพการเติบโตของเมืองที่เป็นไปอย่างเนิบช้า หากทว่ารากเหง้าหยั่งลึกดั้งเดิมกำลังแตกกิ่งก้านสาขารอบทิศ
ปัจจุบันนราธิวาสมีทิศทางเคลื่อนตัวน่าสนใจในมือคนรุ่นใหม่ หลังเดินทางไกลไปเสาะแสวงหาประสบการณ์ต่างถิ่น หรือรับไม้สืบต่อกิจการจากครอบครัว ถึงเวลาได้สานต่อสร้างธุรกิจในกระแส ผสมผสานความชอบส่วนตัวกับสไตล์นิยมร่วมสมัย เน้นรูปแบบชมงานศิลปะและกินดื่มท่องเที่ยวในมุมมองใหม่ที่ฟื้นชีวิตชีวาให้ถิ่นเกิด
คอลัมน์ Take Me Out จะชวนกันไปเที่ยวนราธิวาสแบบชิลล์ ๆ ตั้งแต่หอศิลป์และร้านกาแฟในเมือง ที่พักชายทะเล ไปจนถึงการตั้งแคมป์กลางหุบเขา หรือสัมผัสบรรยากาศเหนือทิวเขาที่โอบล้อมด้วยสายหมอก
01
De’ Lapae Art Space Narathiwat
หอศิลป์ท้องถิ่นกึ่งคาเฟ่ สถานีสื่อศิลปะชายแดนใต้
สถานที่แห่งนี้นับเป็นหอศิลป์แห่งแรกในจังหวัดนราธิวาส ดำเนินงานโดย ปรัชญ์ พิมานแมน ศิลปินหนุ่มซึ่งกำลังทำปริญญาเอกด้านศิลปะอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ควบคู่ไปกับการเป็นอาจารย์สอนศิลปะ ม.อ.ปัตตานี เริ่มรีโนเวตอาคารเก่า ซึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัว ให้กลายเป็นหอศิลป์เต็มไปด้วยสุนทรียะและอาร์ตสเปซ ตั้งแต่ตนเองศึกษาเล่าเรียนอยู่ปี 2 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เพื่อสานฝันของคุณพ่อที่อยากให้มีหอศิลป์ดี ๆ เกิดขึ้นในบ้านเกิด
“ผมเชื่อว่าพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีดีมากมาย ทั้งทรัพยากร ประเพณีต่าง ๆ แต่ขาดพื้นที่การนำเสนอเพื่อจัดแสดงผลงาน รวมถึงพื้นที่จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ทางสังคม” อ.ปรัชญ์ บอกเล่าถึงแนวคิดของอาร์ตสเปซแห่งนี้
ช่วงที่ผ่านมา เดอลาแป อาร์ต สเปซ ทำหน้าที่ฟื้นคืนสีสันด้านศิลปะให้เมืองนราธิวาสอย่างต่อเนื่อง ตามแนวคิดผู้ก่อตั้งที่ต้องการให้มีการแสดงผลงานศิลปะทุก ๆ 3 เดือน มีนักวิชาการหรือภัณฑารักษ์ รวมถึงศิลปินทั้งในและนอกประเทศ มาแลกเปลี่ยนถ่ายทอดความรู้มุมมองใหม่ ๆ ให้เยาวชน มีกิจกรรมมอบความรู้ให้เด็กนักเรียนและนักศึกษา จากวิทยากรผู้มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในศาสตร์ศิลปะ
นอกจากนี้ ภายหอศิลป์ยังมีคาเฟ่ชื่อ De’ Art Cafe & Coffee Lab เสิร์ฟกาแฟรสชาติหอมกรุ่นเย้ายวนชวนลิ้มรส ในบรรยากาศงานศิลป์สไตล์โมเดิร์นคลาสสิก และ ART LIBRARY ห้องสมุดศิลปะที่มีหนังสือศิลปะจากทั่วทุกมุมโลก
“จุดเด่นของเราคือ ผลงานที่จัดมาแสดงล้วนเป็นผลงานที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจ ต้องการเผยแพร่ให้ผู้มาเยี่ยมชมได้สัมผัสความงามในพื้นที่ ภายในหอศิลป์มีเรื่องราวและเรื่องเล่าแสดงผ่านศิลปกรรมทุกรูปแบบ และยังมีคาเฟ่ที่เป็นเอกลักษณ์เคียงคู่กัน” คำของ อ.ปรัชญ์ ดั่งเชื้อเชิญให้ผู้มาเยือนได้เข้าถึงความหมายของงานศิลปะและสุนทรียรสในชีวิตอย่างแท้จริง
ที่ตั้ง : 78 ถนนสมัยอาณาจักร ตำบลบางนาค อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส (แผนที่)
เวลาเปิด-ปิด : เปิดตั้งแต่เวลา 09.00 – 18.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์) เข้าชมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย
โทรศัพท์ : 08 4193 3651
Facebook : De’ Lapae Art Space Narathiwat
02
Middle Man Coffee
ร้านกาแฟคนเล่นกล้อง ของทายาทธุรกิจร้านถ่ายรูป
จากที่เคยทำงานอยู่ในเมืองกรุงต่อเนื่องมาหลายปี วันหนึ่ง ซูม-วัฒกร เสาร์ศรีอ่อน คิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตอีกครั้ง จึงตัดสินใจเดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อมาสานต่อธุรกิจของครอบครัว
ด้วยนิยมชมชอบรสชาติกับบรรยากาศการดื่มกาแฟ และอยากให้คนในจังหวัดนราธิวาสมีโอกาสลิ้มรสชาติกาแฟดี ๆ ในราคาไม่สูงเกินไป ทุกคนจับต้องได้ รวมถึงสร้างแหล่งถ่ายรูปสวย ๆ รองรับความนิยมของคนรุ่นใหม่ทั้งในและนอกพื้นที่ ซูมจึงเปิดร้านกาแฟด้วยเสน่ห์แปลกใหม่ บรรยากาศเหมาะกับการนั่งพบปะพูดคุย ทำงาน หรือพักผ่อนหย่อนใจแบบสบาย ๆ กับคอนเซ็ปต์ ‘เราอยากให้คุณรู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่มาหาเรา’
ความเป็นมาของชื่อร้าน Middle Man Coffee หัวใจสำคัญคือคำว่า Middle หรือตรงกลาง นั่นเพราะเจ้าของร้านเป็นลูกคนกลาง พ่อแม่มีธุรกิจร้านถ่ายรูป จึงตั้งชื่อลูกแต่ละคนให้เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพของครอบครัว นั่นคือ พี่ชายเจ้าของร้านชื่อ ฟิล์ม เจ้าของร้านชื่อ ซูม และน้องชายชื่อ ชัตเตอร์
ชื่อร้านและไลฟ์สไตล์จึงหลอมรวมกันลงตัว เนื่องจากเจ้าของร้านเป็นช่างภาพอยู่แล้ว ย่อมเข้าใจคนที่ชื่นชอบเกี่ยวกับการถ่ายภาพเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเลือกสถานะเป็นคนถ่ายภาพ หรือชมชอบการเป็นแบบให้ถ่าย บรรยากาศภายในร้านมีให้เลือกหลายมุม ไม่ว่ามุมใต้แสงไฟชั้น 2 มุมดาดฟ้า มุมใต้ต้นไม้ ไม่ว่ามุมไหนก็ถ่ายรูปขึ้นไปหมด
เมนูเครื่องดื่มแนะนำ ได้แก่ Dirty Brick Light และ Middle Man เมนูเครื่องดื่มขายดีที่สุดของร้าน พิเศษมากกว่านั้นคือรสชาติกาแฟ โดยเฉพาะ ซันเซ็ต ยูสุ ซันไรส์ สตรอว์เบอรี ซึ่งฟังชื่อแล้วเหมือนมีประกายแสงประดับภาพถ่ายในจินตนาการ ล่องลอยมาพร้อมกลิ่นหอมสุดรัญจวน
ที่ตั้ง : 143/26 ตำบลบางนาค ถนนสุริยะประดิษฐ์ อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส (แผนที่)
เวลาเปิด-ปิด : ตั้งแต่เวลา 10.00 – 21.00 น. ปิดทุกวันพุธ
โทรศัพท์ : 06 1947 8163
Facebook : Middle Man
03
10th Coffee Brew Lab
คาเฟ่วันที่ 10 เปิดประสบการณ์กับกาแฟแก้วใหม่
จากชอบดื่มกาแฟ นำไปสู่ความคิดอยากมีร้านกาแฟเป็นของตนเอง สุปวีณ์ สายบัณฑิต ผู้มีวันเกิดตรงกับวันที่ 10 จึงนำวันสำคัญที่มีความหมายยิ่ง มาตั้งชื่อ 10th Coffee Brew Lab ร้านกาแฟที่จุดเด่นของร้านคือการขายความสบายใจ
“การขายรสนิยมไม่เพียงแค่การขายกาแฟเท่านั้น เพราะกาแฟคือปัจเจกส่วนตัว บางคนไม่ชอบกินกาแฟ ฉะนั้น 10th Coffee Brew Lab จึงเป็นที่มาของคำว่าการขายความสบายใจให้กับลูกค้า” นี่คือนิยามชัดเจนของเธอ
ร้านกาแฟแห่งนี้ให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด กาแฟแต่ละแก้วชงตามความต้องการของลูกค้าและตามคำแนะนำของบาริสต้า มีการหมุนเวียนเมล็ดกาแฟไปเรื่อย ๆ โดยคัดเลือกเมล็ดกาแฟ คั่ว และปรุงรสชาติอย่างพิถีพิถัน ตามคอนเซ็ปต์ของทางร้านที่ตั้งไว้ว่า ‘เปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ กับกาแฟแก้วใหม่’
นอกจากนี้ ทีเด็ดของร้านคือชีสเค้กหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น New York Cheesecake ชีสเค้กอบเนื้อเนียนนุ่ม Rare Cheesecake ชีสเค้กแบบไม่อบให้เนื้อสัมผัสที่ละมุ่นลิ้น Basque Cheesecake ชีสเค้กหน้าไหม้เนื้อสัมผัสครีมมี่ชุ่มฉ่ำ หรือ Basque Cheesecake ชีสเค้กหน้าไหม้และบลูเบอร์รีที่เสริมรสชาติและตัดกันกำลังดี
ที่ตั้ง : 217 ถนน ณ นคร ตำบลบางนาค อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส (แผนที่)
เวลาเปิด-ปิด : เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00 – 17.00 น.
โทรศัพท์ : 08 4180 5989
Facebook : 10th Coffee Brew Lab
04
Mur-sea Resort & Restaurant
รีสอร์ตริมทะเลที่โดดเด่นเรื่องสระน้ำเกลือและ Mini Water Park
แม้ไม่ใช่ทำเลที่พักริมทะเลฝั่งอันดามันแบบที่ อัจฉรา บินแวดาโอะ ชมชอบไปเที่ยวไปสัมผัส แต่การตัดสินใจเปิดรีสอร์ตและภัตตาคารติดชายหาดและฝั่งทะเลอ่าวไทยในจังหวัดนราธิวาส ก็หล่อเลี้ยงความฝันของเธอได้เป็นอย่างดี และกลายเป็นจุดเช็กอินที่หลายคนกล่าวถึงด้วยความประทับใจ
Mur-sea Resort & Restaurant คือ Mur sea เป็นรากศัพท์ของภาษาอาหรับ Mur คือชื่อลูกชายของเจ้าของกิจการ Sea คือที่ตั้งของรีสอร์ตอยู่ติดกับทะเล จึงกลายเป็น Mur-sea Resort
ด้วยความที่เจ้าของกิจการรับราชการด้านสาธารณสุข เธอจึงให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยเป็นอันดับต้น ๆ สิ่งที่ขึ้นชื่อคือสระน้ำเกลือคลอรีน 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีแห่งเดียวในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้กลายเป็นจุดไฮไลต์ของรีสอร์ต นอกเหนือจาก Mini Water Park สำหรับเด็ก ๆ แถมยังเป็นจุดแคมปิงริมทะล ทุกอย่างผสมผสานเพื่อสร้างความสุขจากการพักผ่อนที่ดีที่สุด
“Mur-sea Resort & Restaurant เป็นสถานที่พักผ่อนลักษณะครอบครัว เน้นเรื่องการใช้เวลาว่างอยู่กับครอบครัว มีพร้อมทั้งที่พัก สิ่งอำนวยความสะดวก และห้องอาหาร” เธออธิบายแนวคิดการต้อนรับลูกค้า โดยห้องอาหารนั้นไม่เพียงให้บริการคนที่มาพัก แต่ยังเปิดให้บริการลูกค้าข้างนอกด้วย เมนูหลักยึดโยงวัตถุดิบในท้องถิ่น เช่น ข้าวผัดน้ำพริกตามฤดูกาล หรือการประกอบอาหารทั้งกุ้ง หอย ปูปลา สด ๆ จากชาวประมงพื้นถิ่น จึงกลายเป็นเมนูพิเศษ สดอร่อยน่าประทับใจเสมอ
ที่ตั้ง : 4084 ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส (แผนที่)
เวลาเปิด-ปิด : ห้องอาหาร เปิดตั้งแต่เวลา 10.00 – 18.00 น. การเข้ามาเช็กอินที่พักต้องมาก่อน 20.00 น. จำกัดจำนวนการเช็กอิน 80 คนต่อวัน และรับลูกค้าที่จองเข้ามาทางเฟซบุ๊กเพจเท่านั้น
โทรศัพท์ : 08 0336 3596
Facebook : Mur-sea Resort & Restaurant
05
ไร่แอลอง AirLong Farm
สวน 100 ปีที่พัฒนาเป็นห้องพัก ลานกางเต็นท์ และคาเฟ่กลางหุบเขา
จากพื้นที่ทำนาทำไร่ ทำสวนผลไม้ ในเนื้อที่กว้างกว่า 80 ไร่ พัฒนาเป็นห้องพัก ห้องประชุมสัมมนา พื้นที่ทำกิจกรรมทั้งแบบส่วนตัวและหมู่คณะ พร้อมลานกางเต็นท์ ร้านกาแฟในลักษณะคาเฟ่เล็ก ๆ น่ารัก กลายเป็นสถานที่พักผ่อนที่มีเสน่ห์ท่ามกลางธรรมชาติร่มรื่น โอบล้อมด้วยบรรยากาศอันเงียบสงบและอากาศบริสุทธิ์
“แอลอง มาจากคำว่า แอฆอง หรือ โต๊ะแอฆอง ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่แห่งนี้มีอาชีพเป็นเกษตรกร ลูกหลานจึงนำมาพัฒนา เพราะเห็นจุดเด่นว่าพื้นที่เราตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขา มีลำธารไหลผ่าน น่าจะทำเป็นห้องพักให้บริการ ลูกค้าได้พักผ่อนโดยแวดล้อมด้วยธรรมชาติ ดื่มกาแฟ นั่งชิลล์” อัมเลาะห์ จูมะห์ เจ้าของไร่แอลองกล่าวถึงจุดเด่นของพื้นที่
สิ่งที่น่าสนใจโดยรวมของไร่แอลอง คือที่พักแบบโฮมสเตย์ (Homestay) ลานกางเต็นท์ (Camp Ground) ห้องประชุม (Auditorium) หลากหลายราคา รสชาติกาแฟจากร้านกาแฟแอลองคาเฟ่ก็หอมกรุ่น พร้อมเมนูเบเกอรีให้เลือกมากมาย นั่งดื่ม นั่งกิน มีโอกาสได้เอนตัวนอนมองวิวธรรมชาติทั้งแบบอินดอร์และเอาต์ดอร์ หรือจุดชมวิวท่ามกลางความร่มรื่นของผืนป่าแห่งเทือกเขาบูโดอย่างชัดเจน ชนิดที่เรียกได้ว่าชาวแคมปิงไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
ที่ตั้ง : 40/3 หมู่ที่ 3 ซอยไร่แอลอง ตำบลสุวารี อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส (แผนที่)
เวลาเปิด-ปิด : 08.30 – 17.00 น.
โทรศัพท์ : 09 3748 4390
Facebook : ไร่แอลอง
06
Saloma Patek
แบรนด์ผ้าปาเต๊ะในมือทายาท เติมลายพิมพ์ใหม่ร่วมสมัย
หลังจากคุณพ่อ นายรอมลี ยูโซะ ริเริ่มก่อตั้งโรงงานปาเต๊ะเมื่อประมาณ 40 ปีก่อน บุกเบิกงานปาเต๊ะซึ่งแตกต่างจากงานบาติกโดยสิ้นเชิง แต่เป็นการทำงานโดยไม่มีต้นแบบและรูปแบบที่ชัดเจน ไม่มีแม้กระทั่งร้านเป็นของตัวเอง ได้แต่อาศัยรับจ้างผลิตอย่างเดียว ผ่านมาจนถึง พ.ศ. 2558 กิจการก็ถูกถ่ายทอดสู่ทายาทรุ่นสอง ไบซูรา ยูโซะ บุตรคนที่ 3 ของตระกูลยูโซะ
และนั่นคือการเริ่มต้นปรากฏการณ์ใหม่ครั้งสำคัญเชิงธุรกิจในมือทายาทคนรุ่นใหม่ที่มีมุมมองยาวไกล
ผ้าปาเต๊ะ คือการพิมพ์ลายเทียนด้วยบล็อกทองแดงหรือแผ่นโลหะ ซึ่งดัดเชื่อมจนเกิดลวดลาย เอกลักษณ์ชัดเจนคือลวดลายที่แตกในเทียน คล้ายดินแตกระแหงในฤดูแล้ง ซึ่งปกติมีการทำลวดลายอิสระไม่มีรูปแบบชัดเจน ดังเช่นคุณพ่อของไบซูรา แต่เมื่อธุรกิจนี้ตกทอดมาถึงมือเธอ ก็เกิดความคิดรีแบรนด์สินค้าใหม่ โดยเฉพาะการสร้างแบรนด์เพื่อความชัดเจน
“เราเน้นการดีไซน์และรูปแบบที่ให้ลูกค้ามองภาพออก ว่าเราคือปาเต๊ะรูปลักษณ์แบบไหน การตั้งแบรนด์ SALOMA เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2559 เป็นความตั้งใจให้เป็นปาเต๊ะแนวใหม่ เน้นความร่วมสมัยเป็นหลัก ลายคมชัด บ่งบอกตัวตนอย่างชัดเจน เพื่อพัฒนาสู่สากล เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ” ไบซูราเล่าที่มาของมรดกทางธุรกิจและทางวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณะเฉพาะพื้นที่ พร้อมกับอรรถาธิบายความหมายของโลโก้ร้านที่มีนัยอย่างลุ่มลึกว่า เป็นตัวเลข 1 อาหรับ เลข 1 อารบิก และเลข 1 ไทย มารวมกัน
“เป้าหมายเพื่อต้องการสื่อว่าเราจะเป็นที่หนึ่งในงานปาเต๊ะ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมมลายูระดับสากลและในประเทศไทย ส่วนชื่อแบรนด์ SALOMA เป็นการนำตัวอักษรของชื่อคุณพ่อและคุณแม่มาใส่ในชื่อแบรนด์”
เส้นทางของผ้าปาเต๊ะลายพิมพ์ร่วมสมัย Saloma Patek เป็นมุมมองน่าสนใจทั้งการต่อยอดด้านธุรกิจและศิลปวัฒนธรรมบนผืนผ้าด้วย
ที่ตั้ง: ตึกโรงแรมวาเลนไทน์ หน้าโรงเรียนบ้านสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส (แผนที่)
เวลาเปิด-ปิด : 9.30 – 17.30 น.
โทรศัพท์ : 09 9319 3410
Facebook : Saloma Patek
07
The garden camp – sukhirin
ลานกว้างข้างน้ำตก แหล่งรวมฝันของคนรุ่นใหม่
ความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติของอำเภอสุคิริน ทั้งสายน้ำ ภูเขา ป่าไม้ สายหมอก หรือตำนานเหมืองทองโต๊ะโมะ เหล่านี้ล้วนกลายเป็นจุดดึงดูดให้ผู้คนสนใจไปเยี่ยมเยือนอย่างไม่ขาดสาย และนั่นเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ อุสมาน สะมะ ผู้ก่อตั้ง The garden camp – sukhirin มองเห็นศักยภาพของหมู่บ้านที่ตนเองอยู่อาศัย ว่ามีโอกาสพัฒนาให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ หรือเป็นสถานที่รวมตัวของกลุ่มเพื่อนนักทำกิจกรรมทางสังคมได้
“ก่อนจะทำเป็นสวน The garden camp ผมทดลองไปตั้งแคมป์พักผ่อนก่อน ทำให้สัมผัสได้ว่าบรรยากาศที่นี่ดีสุด ๆ ไม่แพ้ที่อื่นเลย จึงลองชักชวนเพื่อน ๆ มาเที่ยวพักผ่อน ก็ปรากฏว่าดึงความสนใจของเพื่อนได้ลงตัว จึงปรับปรุงพื้นที่ทำให้เป็นลานกว้าง เพื่ออำนวยความสะดวกในการตั้งแคมป์และทำกิจกรรม”
จากนั้นมา สถานที่แห่งนี้จึงกลายเป็นแหล่งรวมพลของเหล่านักแคมปิงและคนรุ่นใหม่ที่ชอบความท้าทายและรักธรรมชาติ เพราะจุดเด่นคือบรรยากาศที่โอบล้อมด้วยหมอกขาวพราว ให้ความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของป่าลึกฮาลา-บาลา มีน้ำตกอยู่ริมลานกางเต็นท์ ท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์ นอกจากนี้ยังมีการให้บริการแบบ คาร์ แคร์ แคมป์ ซึ่งเป็นโปรแกรมพานักท่องเที่ยวที่มาพักทัวริ่งทั่วเมืองสุคิริน ได้สัมผัสเรียนรู้ทั้งตำนานเรื่องเล่า วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม และแหล่งท่องเที่ยวแปลกตาละลานใจ
ที่ตั้ง : ตำบลมาโมง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส (แผนที่)
เวลาเปิด-ปิด : วันศุกร์-วันจันทร์ รับจำนวนจำกัดเพียง 30 คนต่อวันเท่านั้น
โทรศัพท์ : 06 5054 4785
Facebook : The garden camp – sukhirin
ภาพ : มาหามะสาบรี เจ๊ะเลาะ และ รัชต หะยีมามุ